เนื้อหาวันที่ : 2010-07-21 17:43:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8444 views

นิเวศอุตสาหกรรมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

แนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม (Industrial Ecology) ถือเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่ให้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งให้เกิดการใช้วัสดุและพลังงานอย่างเป็นวงจร (Close-loop Material Flow) เพื่อลดความเข้มข้นของการใช้วัสดุในระบบอุตสาหกรรม (Dematerialization) อันเป็นหนทางที่ช่วยประกันว่า อุตสาหกรรมในอนาคตจะสามารถพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนโดยไม่ขาดแคลนวัสดุและพลังงาน และยังเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติไปพร้อม ๆ กันด้วย

ศิริรัตน์ ศิริพรวิศาล
Sirirat2@yahoo.com

.

.

แนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม (Industrial Ecology) ถือเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่ให้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งให้เกิดการใช้วัสดุและพลังงานอย่างเป็นวงจร (Close-loop Material Flow) เพื่อลดความเข้มข้นของการใช้วัสดุในระบบอุตสาหกรรม (Dematerialization) อันเป็นหนทางที่ช่วยประกันว่า อุตสาหกรรมในอนาคตจะสามารถพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนโดยไม่ขาดแคลนวัสดุและพลังงาน และยังเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติไปพร้อม ๆ กันด้วย 

.

แต่ปัญหาสำคัญในการปิดวงจรการไหลของวัสดุคือ การสูญหายระหว่างการผลิตและการบริโภค ด้วยเหตุที่ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการผันกลับไปใช้ใหม่ การผลิตใหม่ หรือการรีไซเคิล วัสดุส่วนใหญ่ในระบบอุตสาหกรรมปัจจุบันจึงมักจะสูญหายไปจากระบบ ยิ่งไปกว่านั้น แบบแผนการไหลของวัสดุในระบบอุตสาหกรรมยังเป็นไปในลักษณะเส้นตรง (Linear Flow)     

.

เริ่มจากการถลุง แปรรูป ผลิต บริโภค แล้วที่สุดก็ถูกทิ้งโดยไม่มีการหมุนเวียนมาใช้ใหม่ วัสดุเศษเหลือจากผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการบริโภคแล้วจำนวนมหาศาลถูกทิ้งให้กระจัดกระจายไปโดยไม่มีการหมุนเวียนไปใช้ใหม่ ในขยะชุมชน (Municipal Waste) โดยทั่วไปมักจะพบเศษวัสดุหลายประเภทปะปนอยู่ เช่น เศษพลาสติก เศษโลหะ เศษกระดาษ ฯลฯ เศษวัสดุเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกนำไปทำลายโดยการเผาหรือฝังกลบ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นสามารถหมุนเวียนกลับไปใช้ใหม่ 

.

การที่ไม่สามารถนำวัสดุกลับไปหมุนเวียนใช้ได้ นอกจากจะทำให้วัสดุสูญหายไปจากระบบอุตสาหกรรมแล้ว เศษวัสดุบางประเภทที่มีองค์ประกอบของวัตถุมีพิษหรือสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ยกตัวอย่าง เช่น ถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่ที่มีส่วนประกอบของโลหะหนัก หรือ ภาชนะบรรจุสารกำจัดแมลง เป็นต้น     

.

ดังนั้น การแก้ปัญหาวัสดุสูญหายจากระบบอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งจึงต้องแก้ที่ผลิตภัณฑ์ โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด ผลิตภัณฑ์สีเขียว และ ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้สามารถวางแผนทิศทางการไหลเวียนของวัสดุได้ตั้งแต่ต้น ก่อนการผลิตจริงจะเริ่มขึ้น

.
นิเวศอุตสาหกรรมกับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ระหว่างที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น แนวคิดเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly Product) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) ได้ถูกริเริ่มขึ้น และได้กลายเป็นหัวข้อขบคิดพิจารณาอย่างกว้างขวางในสังคมธุรกิจและอุตสาหกรรม     

.

ผลิตภัณฑ์สีเขียว หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้สามารถสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือก่อผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น การออกแบบรถยนต์ประหยัดพลังงาน การออกแบบเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการเผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างหมดจด การพัฒนาสารกำจัดแมลงที่สามารถสลายตัวได้เร็วตามธรรมชาติ หรือ การออกแบบเครื่องทำความเย็นที่ปลอดสาร CFC เหล่านี้เป็นต้น 

.

โดยรายละเอียดแล้ว นิยามเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์สีเขียว ค่อนข้างหลากหลายและแปลกแยกพอสมควร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักการที่นำมาอธิบาย เช่น ถ้าหากนำหลักการ ประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-efficiency) มาอธิบาย ก็จะได้ความหมายว่า ผลิตภัณฑ์สีเขียว คือ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และในเชิงนิเวศ                 

.

หรือถ้าหากนำหลัก การคิดแบบครบวงจร (Life Cycle Thinking) มาอธิบาย ผลิตภัณฑ์สีเขียวก็จะหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบขึ้นโดยคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ 

.

ผลิตภัณฑ์สีเขียวยังสามารถอธิบายภายใต้บริบทของทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมได้ด้วย โดยทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมจะมองผลิตภัณฑ์ในเชิงของการไหลเวียนของวัสดุและพลังงาน กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์สีเขียว จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะที่เอื้อให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุและพลังงาน อย่างเป็นวงจรปิด ช่วยลดการสูญหายของวัสดุและพลังงานในรูปของเสียต่าง ๆ ตลอดวงจรผลิตภัณฑ์นั้น ๆ 

.

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายผลิตภัณฑ์สีเขียวตามนิยามนี้ก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้ หรือสามารถนำกลับไปผลิตใหม่ได้ หรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ซ้ำได้หลายรอบ 

.

ผลิตภัณฑ์สีเขียวตามแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Product) ทั้งนี้เพราะว่า ผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ นำกลับไปผลิตใหม่ได้ หรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ซ้ำได้หลายรอบจะช่วยลดการผันทรัพยากรใหม่ (Virgin Resources) จากธรรมชาติเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ช่วยลดความเข้มข้นของวัสดุที่ไหลเวียนอยู่ในระบบอุตสาหกรรม และที่สำคัญที่สุดคือช่วยลดปริมาณของเสียในสายธารของเสียให้น้อยลงได้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงระบบอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนขึ้น นั่นเอง

.
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

บทนิยามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สีเขียวและผลิตภัณฑ์ยั่งยืนที่อธิบายมาข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นให้เห็นว่า ความยั่งยืนของระบบอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งต้องเริ่มมาจากการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบช่วยให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดคุณลักษณะและวงจรของผลิตภัณฑ์ที่เอื้อต่อการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาระบบอุสาหกรรมอย่างยั่งยืน 

.

และที่ผ่านมาก็ได้มีการพัฒนาหลักการในการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนขึ้นมาหลากหลายหลักการ ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้เป็น 2 ส่วนดังนี้ สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนตามแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม นักออกแบบจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงวงจรการไหลวัสดุที่ประกอบอยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย  

.

ดังนั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนจะต้องรวมเอาแนวคิดเรื่อง การออกแบบวงจรผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Design) เข้าไปพิจารณาด้วย ซึ่งหัวใจสำคัญของการออกแบบวงจรผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนก็คือการวางแผนให้วิถีการไหลของผลิตภัณฑ์มีความเป็นวัฏจักรมากที่สุดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ โดยอาศัยหลักการของการ 13 ประการ ดังนี้

.

1. การบรรลุขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อม ต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรผลิตภัณฑ์ เช่น กรรมวิธีในการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามต้นแบบ ต้องใช้พลังงานน้อยกว่าหรือประหยัดกว่า และก่อให้เกิดของเสียน้อยกว่า โอกาสในการกู้คืนวัสดุหลังจากเลิกใช้ต้องอยู่ในอัตราที่สูง หรือถ้าหากจำเป็นต้องทำลาย ต้นทุนพลังงานในการทำลายผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ต้องต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นต้น

.

2. การประหยัดทรัพยากร ต้นแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องใช้วัสดุน้อยกว่า ใช้พลังงานในการผลิตน้อยกว่า หรือต้องการพลังงานระหว่างการใช้งานน้อยกว่า เป็นต้น 

.

3. การใช้วัสดุหมุนเวียน และวัสดุที่มีอยู่อย่างเพียงพอ ต้นแบบของผลิตภัณฑ์ยั่งยืนควรเน้นการใช้วัสดุหมุนเวียนแทนวัสดุสิ้นเปลืองหรือใช้วัสดุที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นอย่างเพียงพอเพื่อประหยัดพลังงานในการขนส่ง 

.

4. การเพิ่มความคงทนถาวรของผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยั่งยืนควรเน้นที่ความคงทนถาวรเพื่อยืดอายุการใช้งาน เพื่อลดการใช้พลังงานในการผลิตทดแทน ทั้งนี้เพราะว่า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่คงทนจะมีอายุการใช้งานสั้น จึงจำเป็นต้องมีการผลิตทดแทนถี่ขึ้น และการผลิตที่ถี่ขึ้นทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น 

.

5. การเพิ่มโอกาสในการนำกลับไปใช้ใหม่ หมายถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีลักษณะเอื้อให้เกิดการนำกลับไปใช้ซ้ำ เช่น การออกแบบให้มีความทนทาน มีสมรรถนะสูง และมีอายุการใช้งานยาวนาน มักจะถูกนำมาใช้หมุนเวียนใช้ซ้ำได้หลายรอบ ยกตัวอย่าง รถยนต์สมรรถนะสูงบางรุ่นมีโอกาสขายต่อได้หลายทอด ซึ่งการในขายต่อหนึ่งทอดก็หมายถึงการใช้ซ้ำหนึ่งรอบ นั่นเอง

.

6. การเพิ่มโอกาสในการรีไซเคิล ต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่จะต้องเอื้อต่อการนำไปรีไซเคิล โดยการเลือกใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือการออกแบบให้สามารถแยกวัสดุที่รีไซเคิลได้และวัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้ออกจากกันได้ง่าย เป็นต้น

.

7. การเพิ่มความสะดวกในการแยกชิ้นส่วน การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนควรมุ่งเน้นความสะดวกในการแยกชิ้นส่วน เพราะจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการซ่อมแซม อัพเกรด และการรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานขึ้น และลดการใช้วัสดุลงได้ ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบให้สามารถแยกชิ้นส่วนได้เมื่อเกิดการชำรุดจะสามารถซ่อมแซมได้ง่าย เพียงแต่เปลี่ยนอะไหล่ชิ้นส่วนที่ชำรุดเท่านั้น  

.

การแยกชิ้นส่วนได้มีส่วนช่วยการหมุนเวียนวัสดุมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะชิ้นส่วนต่าง ๆ ในผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ จะมีโอกาสนำกลับไปหมุนเวียนใช้ใหม่ในลักษณะที่ต่างกัน เช่น บางชิ้นส่วนอาจนำกลับไปใช้ใหม่ได้ทันที แต่บางชิ้นส่วนต้องกระบวนการรีไซเคิลเสียก่อน การแยกชิ้นส่วนจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนวัสดุไปในช่องทางที่เหมาะสมมากที่สุด 

.

8. การลดการใช้สารที่เป็นอันตราย การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนควรมุ่งเน้นการลดการใช้สารหรือวัสดุที่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะโดยการเลิกใช้ การใช้ในปริมาณที่น้อยลง หรือการใช้วัสดุทดแทนที่ปลอดภัยกว่า

.

9. สนับสนุนให้ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ใหม่ควรถูกออกแบบให้มีคุณลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการผลิตที่สะอาด (Cleaner Production) เช่นสามารถนำไปผลิตได้ง่าย ช่วยลดการใช้พลังงานระหว่างการผลิตได้ และช่วยลดการเกิดของเสียหรือมลสารระหว่างการผลิตเป็นต้น 

.

10. การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างการบริโภค ผลิตภัณฑ์ใหม่ควรถูกออกแบบให้สามารถนำไปบริโภคได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงนิเวศของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น เช่น ความประหยัดพลังงาน การลดการเกิดมลพิษหรือวัสดุเศษเหลือจากการบริโภคที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

.

11. การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ ซึ่งถูกผลิตขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ 2 การคือ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและเพื่อถนอมสินค้า ในปัจจุปัน บรรจุภัณฑ์กำลังกลายเป็นปัญหาหลักอย่างหนึ่งของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เพราะบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่จะกลายเป็นวัสดุเศษเหลือหลังจากการบริโภค และมักจะถูกทิ้งกระจัดกระจายมากที่สุด 

.

ในขยะจากชุมชนจะพบเศษบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปะปนอยู่มากที่สุด โดยเฉพาะหีบห่อที่ทำจากแก้ว พลาสติก และกระดาษ เศษวัสดุเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกนำไปเผาทำลายหรือฝังกลบมากกว่าการหมุนเวียนไปใช้ใหม่ ดังนั้น ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนจึงควรมุ่งเน้นให้เกิดการใช้บรรจุภัณฑ์ในลักษณะที่หมุนเวียนมากขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ที่คืนได้ (Take Back) หรือ บรรจุภัณฑ์สำหรับการเติมใหม่ (Refill) เป็นต้น

.

12. สนับสนุนให้ใช้กรรมวิธีกำจัดอย่างปลอดภัย โดยธรรมชาติของผลิตภัณฑ์บางชนิด เมื่อผ่านการบริโภคแล้วจะยากต่อการนำกลับไปรีไซเคิลใหม่ เช่น สารซักล้าง สารกำจัดแมลง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรถูกออกแบบให้สามารถย่อย หรือบำบัดได้ด้วยกรรมวิธีที่ปลอดภัย เช่น การใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้โดยกระบวนการทางชีวภาพ เป็นต้น 

.

13. สนับสนุนให้เกิดโครงข่ายลอจิสติกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในระบบอุตสาหกรรม การขนส่งและการถ่ายโอนสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคเป็นกิจกรรมที่สามารถก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากมายหลายประการ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหลัก ๆ จากกิจกรรมทางลอจิสติกส์ ได้แก่  

.

ความเข้มข้นของการพลังงานที่ต้องในการขนถ่ายและขนย้ายสินค้า และความต้องการวัสดุหีบห่อขั้นที่สอง (Secondary Packaging) สำหรับป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผลิตภัณฑ์ระหว่างการขนส่ง เช่น วัสดุกันกระแทก หีบห่อกันความชื้น หรือห้องควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น   

.

ดังนั้น ถ้าสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติที่เอื้อต่อการขนส่งสะดวก ก็จะสามารถลดความเข้มข้นของการใช้วัสดุและพลังงานในการขนส่งลงได้ เช่น การออกแบบให้มีขนาดเล็กลงช่วยให้สามารถขนส่งผลิตภัณฑ์ได้คราวละมาก ๆ หรือการออกแบบให้เบาลงก็จะช่วยประหยัดพลังงานในการบรรทุก หรือการออกแบบให้ทนต่อการกระแทกมากขึ้น ก็จะช่วยลดความต้องการวัสดุหีบห่อพิเศษในการขนย้าย เป็นต้น

.
การออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์ (End-of-Life Design)

ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ จุดวิกฤติที่มักจะเกิดการสูญหายของวัสดุมากที่สุดก็คือ จุดที่เรียกว่า บั้นปลายผลิตภัณฑ์  (Product End-of-Life Stage) หมายถึง จุดที่ผลิตภัณฑ์ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครายแรก (The First Consumer) ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะด้วย การหมดอายุ เทคโนโลยีที่ตกรุ่นลงไป หรือ จากการชำรุดเสียหาย เมื่อมาถึงจุดผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะถูกเลิกใช้และถูกทิ้งไป ก่อนจะถูกทำลายด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น ฝังกลบ ทิ้งลงมหาสมุทร หรือ เผาทำลาย

.

การทิ้งโดยไม่มีการหมุนเวียนมาใช้ใหม่ทำให้มีวัสดุจำนวนมากสะสมอยู่ในสายธารของเสีย และทยอยหายไปจากระบบอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่วัสดุมีการสูญหายมากในช่วงบั้นปลายผลิตภัณฑ์ ดังนั้นแนวทางการออกแบบวงจรผลิตภัณฑ์การในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับช่วงบั้นปลายผลิตภัณฑ์เป็นพิเศษ และนำไปสู่การพัฒนาหลักการ การออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์ (End-of-Life Design) ขึ้นมา

.

รูปที่ 1 รูปแบบวงจรผลิตภัณฑ์ และทางเลือกในการออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์

.

การออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์ เป็นงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงกระบวนการที่วัสดุหรือผลิตภัณฑ์จะถูกส่งต่อไป ภายหลังจากไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครายแรกได้  ซึ่งโดยทั่วไปปลายทางของผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครายแรกได้อีกต่อไปแล้ว มีด้วยกัน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่

.

1. การกู้คืนผลิตภัณฑ์ (Product Recovery) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยงคงสภาพดี สามารถรถใช้งานได้ แต่ขีดความสามารถเชิงฟังก์ชันเสื่อมถอยลงจนไม่สามารถตอบสนองผู้บริโภครายแรกได้อีก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถที่จะถูกนำกลับไปใช้ใหม่ได้ในหลายแนวทาง เช่น การซ่อมแซมเพื่อฟื้นฟูฟังก์ชัน การอัพเกรดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การจำหน่ายต่อในรูปสินค้ามือสอง หรือ การนำกลับไปผลิตใหม่ในโรงงาน

.

ในการออกแบบผลิตภัณฑ์สามารถกู้คืนได้ในช่วงบั้นปลาย ทีมงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จะต้องพยายามกำหนดคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้มีโอกาสที่จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุด  โดยกลยุทธ์การออกแบบที่สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีนี้ ได้แก่ 

.

* การออกแบบเพื่อให้ใช้ใหม่ได้ (Design for Reusability) หมายถึง การออกแบบโดยมุ่งที่จะทำให้เกิดการนำผลิตภัณฑ์ที่ถูกเลิกใช้แล้วกลับไปใช้ซ้ำหลาย ๆ รอบได้ โดยกรณีที่จะเรียกเป็นการนำกลับไปใช้ใหม่ ก็คือ ผลิตภัณฑ์ต้องยังคงลักษณะตามแบบดังเดิม (Original Design) แต่ถูกเลิกใช้เนื่องจากไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ เช่น มีสภาพที่โทรมลง หรือไม่ทันสมัย เป็นต้น แต่ผลิตภัณฑ์นั้น ยังสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้รายอื่นได้ อย่างเช่นกรณีของผลิตภัณฑ์มือสอง ทั่ว ๆ ไป เป็นต้น         

.

การออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์เพื่อเพื่อให้ใช้ใหม่ได้ นอกจากจะอาศัยการออกแบบวงจรผลิตภัณฑ์แล้ว บางครั้งอาจต้องอาศัยกิจกรรมด้านการตลาดและการบริการร่วมด้วย เช่น การสร้างตลาดมือสองขึ้นมารองรับ และการใช้นโยบายซื้อคืน เพื่อนำกลับไปจำหน่ายเป็นสินค้ามือสอง เป็นต้น

.

* การออกแบบเพื่อขยายอายุการใช้งาน (Design for Extension of Useful Lifetime) หมายถึง การออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นให้ผลิตภัณฑ์ขยายอายุการใช้งานออกไปได้ภายหลังจากผ่านการใช้งานจนหมดอายุ ซึ่งการขยายอายุการใช้งานอาจทำได้โดย การซ่อมบำรุง การเปลี่ยนอะไหล่ หรือโดยการอัพเกรด เป็นต้น         

.

ดังนั้น จึงมีการจำแนกแนวคิดการออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์เพื่อขยายอายุการใช้งานออกเป็นแนวคิดที่จำเพาะลงไปอีก เช่น การออกแบบเพื่อให้ซ่อมได้ (Design for Maintainability) และการออกแบบเพื่อให้อัพเกรดได้ (Design for Upgradeability) เป็นต้น

.

* การออกแบบเพื่อให้สามารถนำไปผลิตใหม่ได้ (Design for Remanufacturing) หมายถึง การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถแยกชิ้นส่วนกลับไปผลิตใหม่ หรือประกอบเป็นเครื่องใหม่ได้ โดยคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์จะต้องเอื้อให้เกิดการแยกชิ้นส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้หลายรอบออกจากชิ้นส่วนอื่น ๆ ได้ง่าย และเกิดการรวบรวมชิ้นส่วนที่ต้องการจำนวนมาก ๆ กลับไปยังสถานที่ผลิตใหม่                

.

เพื่อนำชิ้นส่วนจากผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วไปใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การรวบรวมมอเตอร์จากพัดลมเก่ากลับสู่โรงงานผลิต เพื่อใช้ในการผลิตพัดลมตัวใหม่ หรือการรวบรวมขวดน้ำอัดลมกลับไปบรรจุใหม่ เป็นต้น

.

2. การกู้คืนวัสดุ (Material Recovery) เป็นปลายทางสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้งานจนไม่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีก แต่สามารถที่จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการรีไซเคิลได้ แนวทางการออกแบบเพื่อการกู้คืนวัสดุจะเป็นไปใน 2 ลักษณะ คือ 

.

* การออกแบบเพื่อการรีไซเคิลโดยไม่แยกชิ้นส่วน (Recycle without Disassembly) หมายถึง การนำผลรีไซเคิลผลิตภัณฑ์เก่าทั้งมวลโดยไม่มีการแยกชิ้นส่วนก่อน แต่จะทำการแยกชนิดของวัสดุระหว่างกระบวนการรีไซเคิลแทน เช่น การนำเครื่องเล่นวิทยุสเตอริโอไปรีไซเคิลทั้งชุด 

.

โดยเริ่มจากการบดย่อยรวมกันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และค่อยแยกชนิดวัสดุออกจากกันด้วยกรรมวิธีเชิงกลหรือทางเคมี เช่น แยกวัสดุที่เป็นโลหะแม่เหล็ก แยกชนิดพลาสติกโดยการหลอมเหลวที่อุณหภูมิที่ต่างกัน หรือการแยกโลหะหนักด้วยกรรมวิธีการถลุงโลหะเช่นเดียวกับการถลุงจากสินแร่เป็นต้น

.

* การออกแบบเพื่อการรีไซเคิลโดยมีการแยกชิ้นส่วน (Recycle with Disassembly) หมายถึง การรีไซเคิลที่มีการแยกชิ้นส่วนก่อน ซึ่งเป็นแนวทางในการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการรีไซเคิลแบบไม่แยกชิ้นส่วน เพราะการแยกชิ้นส่วนก่อนจะช่วยให้สามารถแยกแยะหมวดหมู่วัสดุก่อนการรีไซเคิล ทำให้วัสดุผลลัพธ์ที่ได้มีความบริสุทธิ์สูง และยังประหยัดพลังงานในการรีไซเคิล ด้วย

.

3. การกำจัด (Disposal) เป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับการออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงการนำผลิตภัณฑ์หรือองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุการใช้งานแล้วและไม่สามารถหมุนเวียนกลับไปใช้ได้อีกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม วัสดุเหล่านั้นจะต้องถูกกำจัดทิ้งด้วยกรรมวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งโดยทั่วไป การกำจัดจะเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับการวางแผนบั้นปลายผลิตภัณฑ์

.
กรณีศึกษา: การออกแบบวงจรชีวิตของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer) จัดเป็นเครื่องใช้สมัยใหม่ที่มีอัตราการบริโภคขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในภาคธุรกิจและการบริโภคในครัวเรือน และด้วยการที่เทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีการพัฒนาเร็วมากหรือที่เรียกว่า มีวงรอบเทคโนโลยีสั้น ทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีวงจรชีวิตที่สั้น ภายในเวลาเพียง 2-3 ปีก็จะตกรุ่นและไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของผู้ใช้ได้ นั่นทำให้มีปริมาณคอมพิวเตอร์ที่ถูกเลิกใช้อย่างถาวรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว   

.

มีรายงานฉบับหนึ่งที่นำเสนอในปี ค.ศ. 1991 โดยสถาบันคาเนกีเมลอน คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2005 จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในสหรัฐ ฯ ประมาณ 148 ล้านเครื่องถูกปลดระวาง ซึ่งหมายความว่าจะมีวัสดุส่วนหนึ่งกระจุกตัวอยู่กับซากคอมพิวเตอร์เหล่านี้โดยเปล่าประโยชน์ระหว่างที่รอการนำไปแปรสภาพ   

.

และหลายฝ่ายเป็นกังวลว่า ถ้าหากซากคอมพิวเตอร์เหล่านั้นถูกนำไปทำลายโดยการเผาหรือฝังกลบ วัสดุจำนวนมหาศาลก็จะหายไปจากระบบอุตสาหกรรมโดยปริยาย เพื่อรับมือกับปัญหานี้ผู้คอมพิวเตอร์จะต้องแสดงความรับผิดชอบในการสร้างหลักประกันว่า วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตคอมพิวเตอร์จะถูกต้องนำกลับมาใช้ใหม่ และนั้นก็ต้องพึ่งพาเทคนิคการออกแบบวงจรผลิตภัณฑ์และการวางแผนบั้นปลายผลิตภัณฑ์อย่างเป็นระบบ 

.

การออกแบบเพื่อแยกชิ้นส่วน (Design for Disassembly) เป็นกลยุทธ์การออกแบบวงจรผลิตภัณฑ์และการวางแผนบั้นปลายผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสมัยใหม่ ดังจะเห็นว่า ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสมัยใหม่จะประกอบไปด้วยระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แยกหน้าที่ชัดเจน    

.

อุปกรณ์แต่ละชิ้นจะทำหน้าที่โมดูลระบบย่อย (Modular Sub-system) เช่น ไมโครโปรเซสเซอร์ทำหน้าที่เป็นระบบประมวลผลส่วนกลาง กราฟิกการ์ดทำหน้าที่เป็นระบบประมวลผลภาพ และเมนบอร์ดทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของระบบบัสหรือชุมทางการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างหน่วยต่าง ๆ เป็นต้น     

.

การที่ระบบย่อยถูกแยกส่วนกันชัดเจนในทางกายภาพช่วยให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นระบบที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ (Customizable) ตามความต้องการของผู้ใช้ โดยขีดความสามารถโดยรวมของระบบจะขึ้นอยู่กับความสามารถของระบบย่อย นอกจากนั้น การแยกชิ้นส่วนยังช่วยให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นระบบที่สามารถต่ออายุการใช้งานได้โดยการอัพเกรด 

.

ด้วยการออกแบบเพื่อแยกชิ้นส่วนยังเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนบั้นปลายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ดังรูปที่ 2  จะเห็นว่า การออกแบบเพื่อการแยกสิ้นส่วน ช่วยให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของซากคอมพิวเตอร์ถูกแยกจากกัน และมีการแยกแยะหมวดหมู่ตามชนิดวัสดุ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อการหมุนเวียนวัสดุกลับไปใช้ใหม่ตามกรรมวิธีที่จำเพาะ เช่น ชิป (Chip) หน่วยความจำสามารถที่จะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ได้ เช่น ปริ๊นเตอร์ หรือ เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น

.

ส่วนมอนิเตอร์ CRT ก็ถูกนำไปแยกชิ้นส่วนและรีไซเคิลในโรงงานรีไซเคิลด้วยระบบเดียวกับการรีไซเคิลเครื่องรับโทรทัศน์ ผลจากการออกแบบวงจรผลิตภัณฑ์และการวางแผนบั้นปลายผลิตภัณฑ์อย่างรัดกุม ทำให้ในปัจจุบันหมุนเวียนวัสดุในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีอัตราสูงขึ้นจากเดิมมาก ดังข้อมูลเชิงประมาณการในตารางที่ 1

.

รูปที่ 2 ทางเลือกในการออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

.

ตารางที่ 1  การประมาณอัตราการหมุนเวียนวัสดุจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเทียบระหว่าง คอมพิวเตอร์ตามดีไซน์เดิม และดีไซน์ใหม่

.

จากที่อธิบายมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า แนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมได้ให้กรอบแนวคิดที่ชัดเจนแก่นักออกแบบ เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ที่สามารถตอบสนองได้ทั้งความต้องการของผู้บริโภค และยังช่วยให้เกิดการหมุนเวียนวัสดุอย่างเป็นวงจรด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง

.

การออกแบบและวางแผนผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยให้การนำกลับไปใช้ใหม่ ผลิตใหม่ หรือการรีไซเคิลทำได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น วัสดุถูกหมุนเวียนใช้มากขึ้น มีของเสียสะสมในสายธารของเสียน้อยลง และช่วยลดพื้นที่สำหรับการฝังกลบ ลดต้นทุนในการบำบัด และลดพลังงานในการจัดการของเสียได้มาก

.

ดังนั้น การออกแบบและวางแผนผลิตภัณฑ์จึงถือเป็นงานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างระบบอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในยุคปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมีความรอบรู้ในหลักการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ซึ่งก็รวมถึง ความเข้าใจในหลักทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมด้วย

.
เอกสารอ้างอิง

* Catherine MR, Ishii K and Stevels A (2002) Influencing design to improve product End-of-Life stage. Research in Engineering design 13: 83-93
* Hundal M (2000) Design for recycling and remanufacturing. Proceeding of International Design Conference–DESIGN 2000, Dubrovnik.
* Kobayashi H (2005) Strategic evolution of eco-products: a product life cycle planning methodology. Research in Engineering design 16: 1-16
* Lee CH, Chang SL, Wang KM and Wen LC (2000) Management of scrap computer recycling in Taiwan. J. Hazard. Material A73: 209-220
* O’Rourke D, Connelly L and Koshland CP (1996) Industrial Ecology: a critical review. Int. J. Environment and Pollution 6(2): 98-112
* O’Shea MA (2002) Design for Environment in conceptual product design – a decision model to reflect environmental issues of all life-cycle phases. J. Sust. Product Design 2: 11-28
* Torres F, Gil P, Puente ST, Pomares J and Aracil R (2004) Automatic PC disassembly for component recovery. Int. J. Manuf. Technol. 23: 39-46
* Wang X, Qin Y, Chen M and Wang CT (2005) End-of-Life vehicle recycling based on disassembly. J. Cent. South Univ. Technol. 12:153-156
* Weaver PM, Gabel HL, Bloemhof-Ruwaard JM and van Wassenhove LN (1997) Optimizing environmental product life cycle–a case study of the European pulp and paper sector. Environ. Resource Econ 9:1999-224 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด