เนื้อหาวันที่ : 2010-06-30 17:03:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9922 views

แนวทางและมาตรการอนุรักษ์พลังงานในอุตสาหกรรมเหล็ก (ตอนที่ 1)

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของประเทศไทยจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้านั้นเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ อาหารกระป๋อง (บรรจุภัณฑ์) เครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกโดยรวมมากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี

แนวทางและมาตรการอนุรักษ์พลังงานในอุตสาหกรรมเหล็ก
ตอนที่ 1 ภาพรวมและการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมเหล็ก

.
จุฑามาศ ส่งศรี
.

.

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของประเทศไทยจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้านั้นเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ อาหารกระป๋อง (บรรจุภัณฑ์) เครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกโดยรวมมากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี

.

แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กของไทยจะมีเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางและขั้นปลาย โดยไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น (การถลุงเหล็ก) เท่านั้น แต่อุตสาหกรรมเหล็กก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่มีการฟื้นตัวขึ้น ทั้งธุรกิจภาคก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ

.

ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งปริมาณการผลิตที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปซึ่งเป็นวัตถุดิบเหล็กแผ่นเคลือบ, เหล็กแผ่นรีดร้อน, เหล็กทรงยาวซึ่งเป็นที่ต้องการใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ดังตัวอย่างจากโครงการสนามบินสุวรรณ ภูมิ, โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นจึงทำให้อุตสาหกรรมเหล็กมีการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

.
โครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทย 

ปัจจุบันกระบวนการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจัดเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ   สัดส่วนการใช้พลังงานต่อมูลค่าการผลิตหรือที่เรียกว่าความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) นั้น อุตสาหกรรมกลุ่มนี้จัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าความเข้มข้นเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอื่นโดยรวม

.

โครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นด้วยกันคือ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ซึ่งไม่รวมเหล็กแผ่นไร้สนิม โดยอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น เป็นอุตสาหกรรมเหล็กถลุง (Pig Iron) และเหล็กพรุน (Sponge Iron) ซึ่งจัดได้ว่าเป็นกระบวนการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีความสำคัญอย่างมากต่อศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็ก      

.

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเหล็กขั้นต้น โดยแต่เดิมนั้น แนวทางการพัฒนาถูกกำหนดโดยความต้องการของตลาดในประเทศมากกว่าจากนโยบายของภาครัฐ จึงทำให้อุตสาหกรรมเหล็กเริ่มต้นพัฒนาจากขั้นปลาย เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศแทนการพัฒนาจากอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น

.

อุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางเป็นขั้นที่นำผลิตภัณฑ์จากการผลิตเหล็กขั้นต้นทั้งที่เป็นของเหลวและของแข็ง รวมถึงเศษเหล็ก (Scrap) มาหลอมปรับปรุงคุณสมบัติและส่วนผสมทางเคมีให้ได้เป็นเหล็กกล้า (Steelmaking) สำหรับประเทศไทย ผู้ผลิตขั้นกลางทุกรายจะผลิตด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า โดยใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุหลักในการผลิต

.

นอกจากการผลิตเหล็กกล้าแล้ว อุตสาหกรรมขั้นกลางนี้ยังรวมถึงการหล่อเหล็กกล้าให้เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ เหล็กแท่งยาว (Billet) เหล็กแท่งแบน (Slab) และเหล็กแท่งใหญ่ (Bloom) โดยเหล็กแท่งยาวจะนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สำหรับการผลิตเหล็กแท่งแบนจะต้องใช้ระดับเทคโนโลยีที่สูงกว่าการผลิตเหล็กแท่งยาว และจะเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนเท่านั้น ส่วนเหล็กแท่งใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนขนาดใหญ่ 

.

อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลายเป็นขั้นของการแปรรูปผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปด้วยกระบวนการต่าง ๆ ได้แก่ การรีดร้อน การรีดเย็น การเคลือบผิว การผลิตท่อเหล็ก การตีเหล็กขึ้นรูป รวมไปถึงการหล่อเหล็ก เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เป็นต้น ซึ่งจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทางการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น  

.

รูปที่ 1 โครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทย

.
การใช้พลังงานต่อหน่วยผลผลิตของอุตสาหกรรมเหล็ก
(Specific Energy Consumption: SEC) 

สำหรับค่า SEC จะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพพลังงานในระดับรายผลผลิต โดยเป็นการวัดปริมาณพลังงานที่ใช้เทียบกับหน่วยนับของผลผลิตทางกายภาพ เช่น ต่อตัน ต่อตารางเมตร ต่อลิตร ฯลฯ เป็นการวัดประสิทธิภาพพลังงานในระดับมูลฐานที่สุด ในระดับโรงงานหรือกลุ่มโรงงานที่มีผลผลิตเหมือนกัน โดยในที่นี้คิดจากการนำพลังงานไฟฟ้าของทุกโรงมารวมกันและหารด้วยผลรวมของการผลิตสินค้าเหล็กของกลุ่มนั้นทั้งหมด

.

และในกรณีที่ต้องการหาพลังงานรวมที่กลุ่มอุตสาหกรรมใช้ในการผลิตต่อตัน ก็จะสามารถคำนวณโดยการแปลงทั้งพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ให้อยู่ในหน่วยเดียวกัน (MJ) และรวมพลังงานของทุกโรงงานเข้าด้วยกัน แล้วจึงหารพลังงานด้วยผลรวมของการผลิตสินค้าเหล็กเส้นทั้งหมดทุกโรง ดังสมการ

.
* การคำนวณภาพรวมการใช้ไฟฟ้าและพลังงานของกลุ่ม

หมายเหตุ: A, B และ C หมายถึง โรงงานแต่ละราย
.

สำหรับการแปลงหน่วยของการใช้พลังงาน จะแปลงค่าการใช้ไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปของเมกะจูล (MJ) เพื่อใช้ในการคำนวณค่า SEC ของอุตสาหกรรมเหล็กแต่ละกลุ่ม

.
* การแปลงหน่วย (Conversion Factor)

.

จากข้อมูล SEC ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เมื่อนำมาคำนวณรวมกับประมาณการผลผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในแต่ละปี จะสามารถประมาณการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมเหล็กไทยได้ จากข้อมูลตามการสำรวจในปี 2547 มีการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมประมาณ 613 ktoe ขณะที่ตามประมาณการผลผลิตของทั้งประเทศที่ได้จากการประมาณของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย การใช้พลังงานของทั้งอุตสาหกรรมเท่ากับ 939 ktoe ซึ่งข้อมูลที่จากการสำรวจในโครงการนี้จะมีสัดส่วนคิดเป็น 65% ของประมาณการใช้พลังงานทั้งประเทศ

.
* สรุป SEC กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และประมาณการใช้พลังงานอุตสาหกรรมเหล็กไทย

.
ข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงเปรียบเทียบ (Benchmarking)

ข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงเปรียบเทียบ (Benchmarking) ในส่วนนี้ จะนำเสนอข้อมูลในกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานมากที่สุดสองส่วน คือ การหลอมเศษเหล็กและการอบผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป โดยจะแยกกลุ่มระหว่างบิลเล็ตซึ่งเป็นตัวแทนของการผลิตเหล็กทรงยาว (เหล็กเส้น เหล็กลวดและเหล็กรูปพรรณรีดร้อน) และแสลปซึ่งเป็นตัวแทนของการผลิตเหล็กทรงแบน (เหล็กแผ่นรีดร้อน)

.
1. การหลอมเศษเหล็ก (Steelmaking)
*  การหลอมเศษเหล็ก–บิลเล็ต
ตาราง เปรียบเทียบการใช้พลังงานในการหลอมเศษเหล็กระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

ที่มา: สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย: 2547
.

สำหรับการเปรียบเทียบข้อมูล Benchmarking ของกระบวนการหลอมเศษเหล็กของกลุ่มผู้ผลิตเหล็กทรงยาว พบว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยของผู้ผลิตเหล็กไทยที่ได้จากการสำรวจอยู่ที่ 547 kWh/ton ซึ่งสูงกว่าการเปรียบเทียบกับการหลอมของผู้ผลิตในสหรัฐฯ (Chaparrel Steel) ญี่ปุ่น (Tokyo Steel) รวมถึงเยอรมัน (BSW) โดยโรงหลอมของ BSW จะมีประสิทธิภาพของการใช้ไฟฟ้าในการหลอมที่ดีมากโดยใช้พลังงานเฉลี่ยเท่ากับ 363 kWh/ton

.

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบการใช้ปริมาณก๊าซออกซิเจนสำหรับช่วยในการหลอมเศษเหล็ก พบว่า ผู้ผลิตไทยมีการใช้ก๊าซออกซิเจนเฉลี่ย 44 Nm3/ton ซึ่งใกล้เคียงกับสหรัฐฯ และเยอรมัน     

.

ส่วนปริมาณแท่งอิเล็กโทรด ผู้ผลิตไทยมีอัตราการใช้เฉลี่ยสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกันประเทศอื่น และสูงกว่าเยอรมันถึง 80% ในส่วนของอัตราผลผลิตต่อวัตถุดิบ (% yield) ในการหลอมเศษเหล็ก ผู้ผลิตไทยผลิตทำได้ในช่วง 88.5% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ สามารถทำได้ในอัตราที่สูงกว่า โดยผู้ผลิตของสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำได้ 93.5%

.
* การหลอมเศษเหล็ก–แสลป
ตาราง เปรียบเทียบการใช้พลังงานในการหลอมเศษเหล็กระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

ที่มา: สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย: 2547
.

การเปรียบเทียบข้อมูล Benchmarking ของกระบวนการหลอมเศษเหล็กของกลุ่มผู้ผลิตเหล็กทรงแบน ซึ่งโรงงานที่เปรียบเทียบด้วย คือ Nucor-Yamato ที่มีขนาดของเตาหลอม 150 ตัน ใกล้เคียงกับผู้ผลิตไทย โดยถึงแม้ว่า Nucor-Yamato จะเป็นโรงงานผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณที่มีเตาหลอม

.

แต่ขนาดของเตาหลอมจะใกล้เคียงกับโรงหลอมเหล็กทรงแบนของไทย จึงสามารถเปรียบเทียบกันได้ โดยพบว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยของผู้ผลิตเหล็กไทยในส่วนของการหลอมของเตาอาร์กไฟฟ้าที่ได้จากการสำรวจจะอยู่ที่ 419 kWh/ton ขณะที่ Nucor-Yamato ใช้พลังงานเพียง 316 kWh/ton

.

โดยผู้ผลิตไทยใช้ไฟฟ้ามากกว่าถึง 103 kWh/ton หรือคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าถึง 33% การใช้ปริมาณก๊าซออกซิเจนสำหรับช่วยในการหลอมเศษเหล็ก พบว่า ผู้ผลิตไทยมีการใช้ก๊าซออกซิเจนเฉลี่ย 35 Nm3/ton ขณะที่ Nucor-Yamato ใช้ 44.6 Nm3/ton โดยออกซิเจนที่มากกว่าจะมีส่วนที่ช่วยให้การใช้ไฟฟ้าลดลงได้ ส่วนปริมาณแท่งอิเล็กโทรดใช้เพียง 1.55 kg/ton เท่านั้น

.

อัตราผลผลิตต่อวัตถุดิบ (% Yield) ในการหลอมเศษเหล็ก ผู้ผลิตไทยผลิตได้ในอัตรา 90.7% ซึ่งแม้ว่าระบบการจัดการกับเศษเหล็กของโรงงานในกลุ่มนี้จะดีกว่าโรงงานในกลุ่มที่หลอมบิลเล็ต แต่ก็ยังมี Yield ที่ต่ำกว่า Nucor-Yamato ที่สามารถทำได้ในอัตราที่สูงมากที่ คือ 92%

.
2. การอบร้อน (Reheating)
* การอบร้อนบิลเล็ต
ตาราง เปรียบเทียบการใช้พลังงานในการอบร้อนบิลเล็ตระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

ที่มา: สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย: 2547
.

การอบร้อนบิลเล็ตเป็นขั้นตอนก่อนที่จะนำบิลเล็ตไปรีดร้อนเพื่อลดขนาดเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว โดยความร้อนที่ใช้มาจากเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งในส่วนของผู้ผลิตไทยที่ทำการสำรวจข้อมูล จะประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ ผู้ผลิตที่มีเตาหลอม ซึ่งจะผลิตบิลเล็ตเอง และผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมซึ่งซื้อบิลเล็ตมาจากทั้งในและต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าบิลเล็ตจากต่างประเทศ)

.

พลังงานที่ผู้ผลิตกลุ่มที่มีเตาหลอมใช้ในการอบจะคิดเป็นพลังงานเฉลี่ยได้เท่ากับ 1,538 MJ/ton ขณะที่ผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมจะใช้พลังงาน 1,630 MJ/ton ซึ่งเป็นการใช้พลังงานที่สูงกว่าโรงเหล็กที่มีเตาหลอมประมาณ 6% ทั้งนี้คาดว่า มีสาเหตุมาจากการที่โรงงานที่ไม่มีเตาหลอมจะมีทั้งผู้ประกอบการขนาดต่าง ๆ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการรายเล็กจะมีประสิทธิภาพของการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้ภาพรวมการใช้เชื้อเพลิงของผู้ผลิตไม่มีเตาหลอมค่อนข้างสูง

.

ขณะที่โรงงานที่มีเตาหลอมจะเป็นโรงงานที่มีขนาดการผลิตใหญ่กว่า ดังนั้นความสามารถในการผลิตจะอยู่ในระดับที่ดีกว่า และเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตในต่างประเทศ พบว่าในส่วนของผู้ผลิตไทยกลุ่มที่มีเตาหลอมจะมีระดับการใช้เชื้อเพลิงสูงกว่า Tokyo Steel ของญี่ปุ่นเล็กซึ่งมีการใช้พลังงานประมาณ 1,500 MJ แต่จะสูงกว่า BSW ของเยอรมันมาก     

.

ซึ่งการใช้พลังงานปริมาณน้อยในการเผาบิลเล็ตได้ เนื่องจากผู้ผลิตของประเทศเยอรมนีใช้เหล็กแท่งที่มีอุณหภูมิ 345 oC (จากเครื่องหล่อ) ประมาณร้อยละ 46 ป้อนเข้าเตาเผาเพื่อลดการใช้พลังงานความร้อน (ระบบ Hot Charge) ซึ่งลักษณะ Layout ของโรงเหล็กในไทยจะไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตในลักษณะเดียวกับเยอรมัน

.
* การอบร้อนแสลป
ตาราง เปรียบเทียบการใช้พลังงานในการอบร้อนแสลประหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

ที่มา: สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย: 2547
.

การอบร้อนแสลปเป็นขั้นตอนก่อนที่จะนำไปรีดร้อนเพื่อลดขนาดเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดเย็น โดยความร้อนที่ใช้มาจากเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งในส่วนของกลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทย จะประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ ผู้ผลิตที่มีเตาหลอม ซึ่งจะผลิตแสลปเองและไม่สามารถนำแสลปจากที่อื่นมาใช้ได้เพราะเป็นการผลิตแบบต่อเนื่อง และผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมซึ่งจะซื้อแสลปมาจากต่างประเทศทั้งหมด

.

โดยทั้งสองกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน ค่อนข้างมาก คือ ผู้ผลิตที่มีเตาหลอมจะมีสองราย รายแรก ผลิตแสลปที่มีขนาดบาง (หรือเรียกว่า Thin Slab) โดยความหนาอยู่ที่ประมาณ 50-60 มิลลิเมตร  ขณะที่ผู้ผลิตอีกรายจะผลิต Medium Slab ที่มีความหนาแสลป 80-100 มิลลิเมตร โดยทั้งสองรายเมื่อหล่อแสลปแล้ว จะต้องผ่านแสลปที่ยังคงมีอุณหภูมิสูงอยู่ประมาณ 1,000–1,100 oC เข้าต่อไปยังเตาอบ Tunnel Furnace ทันที

.

ดังนั้นการใช้เชื้อเพลิงของกลุ่มนี้จะน้อยเมื่อเทียบกับผู้ผลิตอีกกลุ่มที่ใช้แสลปหนา (หรือเรียกว่า Thick/Conventional Slab) ที่มีความหนาประมาณ 220–250 มิลลิเมตร และในการอบต้องอบเริ่มต้นจากอุณหภูมิห้อง เนื่องจากเป็นแลลปที่ซื้อมา

.

พลังงานที่ผู้ผลิตกลุ่มที่มีเตาหลอมใช้ในการอบจะคิดเป็นพลังงานเฉลี่ยได้เท่ากับ 866 MJ/ton  (เฉพาะผู้ผลิตที่ผลิต Thin Slab) โดยหากเปรียบเทียบกับผู้ผลิต Thin Slab ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี Thin Slab Casting อย่างมาก พบว่า โรงงานของไทยใช้พลังงานเชื้อเพลิงสูงกว่าถึง 127 MJ/ton หรือคิดเป็นพลังงานที่สูงกว่าถึง 17%

.

ขณะที่ผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมจะใช้พลังงาน 1,629 MJ/ton ขณะที่หากเปรียบเทียบกับข้อมูลผู้ผลิตของสหรัฐฯ (อ้างอิงจาก Table 7-1: Average energy intensity of rolling and finishing processes; Energy and Environmental Profile of the U.S. Iron and Steel Industry, August 2000, U.S. Department of Energy, Office of Industrial Technologies) พบว่า ผู้ผลิตไทยใช้พลังงานเชื้อเพลิงสูงกว่าเล็กน้อยประมาณ 46 MJ/ton หรือคิดเป็น 3% 

.

การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์
1. ความเข้มข้นการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมเหล็ก (Energy Intensity)
ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) คือ สัดส่วนการใช้พลังงานต่อมูลค่าการผลิต เพื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้พลังงานต่อหนึ่งหน่วยของมูลค่าการผลิตในแต่ละอุตสาหกรรม 

.

ค่าความเข้มข้นการใช้พลังงาน (Energy Intensity Indicators) เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและสามารถนำมาประเมินประสิทธิภาพในการใช้พลังงานได้ทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค กล่าวคือ ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรม ระดับกลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ระดับกระบวนการผลิต จนกระทั่งระดับผู้ประกอบการผลิต

.

อันที่จริงค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานก็คือ สัดส่วนของการใช้พลังงานในการผลิตสินค้าต่อผลผลิต (Energy Use/Output) ซึ่งส่วนกลับของสัดส่วนนี้ก็คือ มูลค่าการผลิตต่อการใช้พลังงานหนึ่งหน่วยหรือประสิทธิภาพและผลิตภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency and Energy Productivity) นั่นเอง

.

เมื่อค่าของ Energy Intensity เปลี่ยนแปลงไป ประสิทธิภาพและผลิตภาพของการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตหรืออุตสาหกรรมย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย กล่าวคือ หากความเข้มข้นของการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมลดลง ประสิทธิภาพและผลิตภาพการใช้พลังงานก็จะเปลี่ยนแปลงในทางกลับกันคือ เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีที่มาจากหลายแหล่ง การวิเคราะห์จะสามารถแยกแยะองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงทำให้เข้าใจปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ดี 

.

การศึกษาความเข้มข้นการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กโดยรวม ได้คำนวณค่า Energy Intensity โดย 3 วิธี คือ
     1. การวัดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อมูลค่าผลผลิต ณ ราคาปีปัจจุบัน (Energy Intensity) และราคาปีฐาน
     2. การวัดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อมูลค่าเพิ่ม
     3. การวัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานต่อมูลค่าผลผลิต 

.

การศึกษาได้จำแนกอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยออกเป็น 15 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อยตามลักษณะผลิตภัณฑ์สินค้า 7 ชนิด และในบางกลุ่มอุตสาหกรรมได้แยกย่อยตามกระบวนการผลิตออกเป็นอีก 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีเตาหลอมและกลุ่มที่ไม่มีเตาหลอม การคำนวณใช้ข้อมูลปฐมภูมิที่ได้รับจากการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่ดำเนินการผลิตในช่วงปี 2548 ถึง 2549

.

โดยข้อมูลที่เก็บรวบรวมมีลักษณะเป็นข้อมูลอนุกรมเวลาที่ย้อนหลังไปเริ่มต้นที่ปี 2542 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวจากสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 

.

ตาราง แสดงความเข้มข้นการใช้พลังงาน ณ ราคาปัจจุบัน (Energy Intensity) ของอุตสาหกรรมเหล็ก จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

.

ตาราง แสดงความเข้มข้นการใช้พลังงาน ณ ราคาปีฐาน (Energy Intensity 1.2) ของอุตสาหกรรมเหล็ก จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

.

ตาราง แสดงความเข้มข้นการใช้พลังงานคำนวณจาก มูลค่าเพิ่ม (Energy Intensity) ของอุตสาหกรรมเหล็ก จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

.

ตาราง แสดงความเข้มข้นการใช้พลังงานคำนวณจาก ค่าใช้จ่ายพลังงาน (Energy Intensity ) ของอุตสาหกรรมเหล็ก จำแนกตามกลุ่ม

.
* ข้อสรุปค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมเหล็ก

จากผลการคำนวณค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมเหล็กโดยใช้วิธีการที่ 1 พบว่า ค่าความเข้มข้นมีแนวโน้มลดลงทั้งที่วัด ณ ราคาปัจจุบันและ ณ ราคาปีฐาน ค่าความเข้มข้นที่วัดจากผลผลิต ณ ราคาปีปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงมากกว่าค่าที่วัดจากราคาปีฐาน เนื่องจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มสูงขึ้นมากภายหลังปี 2545 โดยเฉลี่ยแล้ว ค่า Energy Intensity ของอุตสาหกรรมโดยรวมของ 15 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย

.

ซึ่งคำนวณจากผลผลิตราคาปัจจุบันสูง 4.5 ค่าที่คำนวณจากปีฐานสูง 5.7 ส่วนค่า Energy Intensity ของอุตสาหกรรมซึ่งไม่รวมกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กลวดมีเตาหลอมและเหล็กแผ่นรีดร้อนมีเตาหลอม ซึ่งคำนวณจากผลผลิตราคาปัจจุบันสูง 5.8 และค่าที่คำนวณจากปีฐานสูง 5.5 จะเห็นได้ว่า ความเข้มข้นที่คำนวณจากราคาปีฐานมีค่าสูงกว่าที่คำนวณจากราคาปัจจุบัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเหล็กดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

.

การวัดความเข้มข้นการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมเหล็กโดยรวมทั้งวิธีการคำนวณที่ 2 และ 3 ต่างพบว่า ความเข้มข้นมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังปี 2544 จากการคำนวณค่าความเข้มข้นจากกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยทั้งหมด 15 กลุ่มพบว่า ในช่วงปี 2542 ถึง 2547 Energy Intensity ที่คำนวณจากมูลค่าเพิ่มมีค่าเฉลี่ยสูงประมาณ 17.1 ค่าความเข้มข้นที่คำนวณจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายการใช้

.

พลังงานต่อมูลค่าผลผลิตโดยเฉลี่ยแล้วสูงประมาณ 5.8 หากคำนวณค่า Energy Intensity ของอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งรวมเฉพาะ 13 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย พบว่า Energy Intensity ที่คำนวณจากมูลค่าเพิ่มมีค่าเฉลี่ยประมาณ 16.9 และค่าความเข้มข้นที่คำนวณจากสัดส่วนการใช้พลังงานต่อมูลค่าผลผลิตโดยเฉลี่ยแล้วสูงประมาณ 5.7 

.

จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะคำนวณค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานโดยวิธีการใด Energy Intensity ของอุตสาหกรรมเหล็กมีแนวโน้มลดลง ค่า Energy Intensity ลดลงเป็นอย่างมากภายหลังปี 2544 เมื่อคำนวณโดยอาศัยมูลค่าการผลิต ณ ราคาปัจจุบันทั้งนี้เพราะราคาสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

.

แต่หากคำนวณจากการผลิต ณ ราคาปีฐาน เพื่อขจัดปัจจัยอันเกิดจากความผันผวนของราคาสินค้า ค่า Energy Intensity กลับลดลงไม่มาก จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมเหล็กของไทยมีการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างช้า ๆ และยังคงมีศักยภาพที่จะลด Energy Intensity หรือเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกมาก

.

การศึกษาความเข้มข้นการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมเหล็กเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมย่อย พบว่าค่าความเข้มข้นที่คำนวณจากวิธีต่าง ๆ มีความแตกต่าง แต่ถ้าเปรียบเทียบระดับสูงต่ำของค่าความเข้มข้นแล้ว แต่ละวิธีให้ผลที่มิได้แตกต่างกันมาก จึงสรุปการเปรียบเทียบค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานของกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยต่าง ๆ ได้ดังนี้

.

หมวดที่ 1 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตสูง สัดส่วนการใช้พลังงานสูงและค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานสูง ได้แก่ เหล็กเส้นมีเตาหลอมและเหล็กแผ่นรีดร้อนมีเตาหลอม

.

หมวดที่ 2 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตปานกลาง สัดส่วนการใช้พลังงานสูงและค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานสูง ได้แก่ เหล็กลวดมีเตาหลอม เหล็กรูปพรรณรีดร้อนมีเตาหลอม 

.

หมวดที่ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตสูง สัดส่วนการใช้พลังงานสูงและค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานต่ำ ได้แก่ เหล็กเส้นไม่มีเตาหลอม เหล็กแผ่นรีดร้อนไม่มีเตาหลอมและเหล็กแผ่นม้วนรีดเย็น

.

หมวดที่ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตปานกลาง สัดส่วนการใช้พลังงานปานกลางและค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานสูง ได้แก่ เหล็กลวดไม่มีเตาหลอม เหล็กรูปพรรณรีดร้อนไม่มีเตาหลอม

.

หมวดที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตสูง สัดส่วนการใช้พลังงานต่ำและค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานต่ำ ได้แก่ ท่อเหล็ก REW

.

หมวดที่ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตต่ำ สัดส่วนการใช้พลังงานต่ำและค่าความเข้มข้นการใช้พลังงานต่ำ ได้แก่ เหล็กชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เหล็กแผ่นชุบสังกะสีแบบเคลือบด้วยไฟฟ้า เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก/โครเมียม เหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็น และท่อเหล็กชุบสังกะสี

.

สังเกตได้ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่กระบวนการผลิตใช้เตาหลอมมี ค่า Energy Intensity สูงกว่ากระบวนการผลิตที่ไม่มีเตาหลอม ทั้งนี้เนื่องจากการผลิตด้วยเตาหลอมใช้พลังงานความร้อนและไฟฟ้าในปริมาณสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเส้น การผลิตของผู้ประกอบการที่มีเตาหลอม จะนำเศษเหล็กมาหลอมเป็นน้ำเหล็กในเตาหลอมก่อนที่จะนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป      

.

ซึ่งกระบวนการหลอมเหล็กนี้จำเป็นต้องใช้พลังงานเป็นอย่างมาก ส่วนการผลิตโดยไม่มีเตาหลอมจะมีการนำ Billet ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้นมาใช้รีดเพื่อให้ได้สินค้าสำเร็จรูปคือ เหล็กเส้น การผลิตโดยวิธีนี้เป็นการซื้อวัตถุดิบจากในและต่างประเทศจึงไม่ต้องใช้พลังงานในการผลิตวัตถุดิบเอง

.
2. การคำนวณหาค่าความยืดหยุ่นพลังงาน

การคำนวณความยืดหยุ่นพลังงานจะเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างร้อยละของการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้พลังงานเทียบกับร้อยละของการเปลี่ยนแปลงระดับผลผลิต เป็นการแสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ประกอบการต้องการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นจะต้องมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ในการคำนวณหาค่าความยืดหยุ่นพลังงาน () จะอาศัยผลจากการคำนวณค่าการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงาน (E) มาใช้ ในสมการดังนี้   

.

.
โดยที่ E0 และ Q0 คือ การใช้พลังงาน และ มูลค่าผลผลิตในปีอ้างอิง ตามลำดับ และ Q = Qt – Q0
.

ค่าความยืดหยุ่นการใช้พลังงานที่คำนวณได้จะแสดงถึงสัดส่วนร้อยละของการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้พลังงานเทียบกับร้อยละการเปลี่ยนแปลงระดับผลผลิต โดยในกรณีที่  > 0 แสดงว่า ถ้าผู้ประกอบการต้องการเพิ่มระดับผลผลิตร้อยละ 1 จะทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น

.

ส่วนในกรณีที่  = 1 แสดงว่า ถ้าผู้ประกอบการต้องการเพิ่มระดับผลผลิตร้อยละ 1 จะทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 1 และในกรณีที่  < 0 แสดงว่า ถ้าผู้ประกอบการต้องการเพิ่มระดับผลผลิตร้อยละ 1 จะทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง

.
นอกจากนี้ ผลจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้พลังงานจากสมการ (1) นำค่า  คูณทั้งสมการ และจัดรูปสมการใหม่ จะได้

         คือ ความยืดหยุ่นพลังงานในของการเปลี่ยนแปลงระดับผลผลิต
           คือ ความยืดหยุ่นพลังงานของการเปลี่ยนแปลงความเข้มพลังงาน 
         คือ ความยืดหยุ่นพลังงานของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต
.

ค่า  แสดงว่า การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปีที่ t เทียบกับปีอ้างอิงจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตร้อยละเท่าใดเทียบกับปีฐาน ค่า  แสดงให้เห็นว่า การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปีที่ t เทียบกับปีอ้างอิงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้พลังงานร้อยละเท่าใดเทียบกับปีฐาน โดยการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้พลังงานที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมย่อยในปีที่ t เทียบกับปีอ้างอิง   

.

ดังนั้น ถ้าอุตสาหกรรมย่อยมีแนวโน้มความเข้มข้นการใช้พลังงานที่ลดลงก็จะทำให้ค่า  มีค่าเป็นลบ และค่า  เป็นค่าที่แสดงว่า การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปีที่ t เทียบกับปีอ้างอิงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้พลังงานร้อยละเท่าใดเทียบกับปีฐาน  

.

โดยการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้พลังงานที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต ดังนั้นในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตจากการผลิตสินค้าในกลุ่มที่มีความต้องการใช้พลังงานสูงไปผลิตสินค้าในกลุ่มที่มีความต้องการใช้พลังงานต่ำจะทำให้ค่า SE มีค่าเป็นลบ และส่งผลให้  มีค่าน้อยกว่า 0

.
ตาราง แสดงความยืดหยุ่นการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมเหล็กโดยรวม

.

ผลจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้พลังงานที่ได้เมื่อนำไปคำนวณค่าความยืดหยุ่นการใช้พลังงานและการวิเคราะห์ค่าความยืดหยุ่น สามารถสรุปได้ว่า ในปี 2543 และปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวจึงทำให้ค่าความยืดหยุ่นการใช้พลังงานมีค่าเป็นลบ แต่ในปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่อุตสาหกรรมเหล็กเริ่มมีการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปี 2545 การเพิ่มขึ้นของการผลิตร้อยละ 1 ของปีฐานส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.33 ของปีฐาน

.

แต่อย่างไรก็ตามความต้องการใช้พลังงานมีอัตราที่ลดลง เห็นได้จากค่าความยืดหยุ่นการใช้พลังงานลดลงเหลือ 1.33 แสดงให้ว่าการเพิ่มขึ้นของการผลิตร้อยละ 1 ของปีฐานส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.33 ของปีฐาน เป็นการแสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้พลังงานต่อผลผลิตมีแนวโน้มที่ลดลง

.

เห็นได้จากค่า Q-Elasticity หรือ  ที่มีค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นการแสดงให้เห็นว่า การขยายการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในช่วงปี 2545 ถึงปี 2547 ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ของการใช้พลังงานขึ้น จึงทำให้การขยายการผลิตส่งผลให้ความต้องการใช้พลังเพิ่มขึ้นแต่การเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานมีแนวโน้มที่ลดลง

.

เอกสารอ้างอิง

1. เอกสารเผยแพร่ โครงการศึกษาเกณฑ์การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมเหล็ก, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน, (www.dede.go.th)
2. สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, (
www.isit.or.th)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด