เนื้อหาวันที่ : 2010-06-21 09:47:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7104 views

ยุทธศาสตร์การบริหารองค์กรและการจัดการธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์

การบริหาร คือ การหาทางทำงานให้สำเร็จ การทำงานให้สำเร็จได้นั้น มีวิธีการอยู่มากมายหลายวิธีที่ผู้บริหารทั้งหลายได้ใช้ความรู้ ความสามารถ เลือกวิธีที่เหมาะสมตามสภาพความรู้ ความสามารถ เลือกวิธีที่เหมาะสมตามสภาพความต้องการและสภาพแวดล้อมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

นายสนั่น เถาชารี
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,
nutphysics@hotmail.com

.

.
การบริหารองค์กรในยุคโลกาภิวัตน์

การบริหาร คือ การหาทางทำงานให้สำเร็จ การทำงานให้สำเร็จได้นั้น มีวิธีการอยู่มากมายหลายวิธีที่ผู้บริหารทั้งหลายได้ใช้ความรู้ ความสามารถ เลือกวิธีที่เหมาะสมตามสภาพความรู้ ความสามารถ เลือกวิธีที่เหมาะสมตามสภาพความต้องการและสภาพแวดล้อมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

.

แต่เดิมแนวความคิดว่าองค์ประกอบสำคัญที่เป็นปัจจัยช่วยให้การบริหารงานใด ๆ สำเร็จได้โดยง่าย คือ คน (Man) งบประมาณ (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Material) และการจัดการ (Management) แนวคิดนั้นรู้โดยทั่วกันว่า 4 M's

.

ปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้สามารถทำงานสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น มีเพิ่มอีก 2 ประการ คือ ข้อมูลสารสนเทศ (Information) และเทคโนโลยี (Technology) ซึ่งหมายถึงการนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ 2 ประการหลังนี้โดยทั่ว ๆ ไป เรียกกันว่า Information Technology (IT)

.

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากองค์ประกอบทั้ง 6 ประการแล้ว ยังมี องค์ประกอบที่สำคัญมากที่สุดคือ ไหวพริบ ประสบการณ์ และปฏิภาณในการบริหารการจัดการ และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการทำงานของตัวผู้บริหาร นั้น

.

โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการผลิตและการบริการทุกด้านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยลดต้นทุนด้านแรงงาน และด้านวัสดุลง นอกจากนั้น ยังสามารถแพร่สินค้า สิ่งผลิตบริการ แม้กระทั่งแนวความคิดให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปได้ง่าย การบริหารในยุคปัจจุบันจึงคงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการไปต่าง ๆ พอสมควร เพื่อให้องค์กรสามารถทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

.

ซึ่งในส่วนนี้มุ่งเสนอแนวความคิด 4 ประเด็น คือ (1) โลกาภิวัตน์และความหมาย (2) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ (3) ยุทธศาสตร์การบริหาร (4) ข้อคิดเพื่อประกอบการพิจารณา

.
โลกาภิวัตน์และความหมาย

ราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นให้มีความหมายใกล้เคียงกับต้นศัพท์ Globalization คือ ให้หมายถึง การแผ่ถึงกันทั่วโลก การเข้าถึงโลก การเอาชนะโลก ซึ่งคงมีนัยว่า ล่วงรู้ความเป็นไปของโลกหรือก้าวทันโลก กล่าวคือ ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในประเทศของตนเองและประเทศต่าง ๆ เมืองต่าง ๆ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ สามารถรับรู้รับทราบได้ในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ๆ หากเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ ก็สามารถนำมาปรับใช้หรือประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้โดยเหมาะสม

.

จากการพัฒนาหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และด้านระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นยุคที่ผู้คนทั้งโลกที่สามารถสื่อสาร ขนส่ง เดินทางไปมาหากันได้ คิดคล้าย ๆ กัน มีอุปกรณ์การดำรงชีวิตที่เป็นสินค้า สิ่งผลิตคล้าย ๆ กัน ดูภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ฟังเพลงเพลงเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นหนึ่งสามารถแพร่ไปได้รับการยอมรับอีกที่หนึ่งได้ง่าย ซึ่งต่อไปวิถีชีวิต การกินอยู่ การแต่งกายก็จะคล้าย ๆ กันยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีภาษากลางใช้ในการสื่อความหมายทั่วโลกไม่กี่ภาษา หรือเป็นภาษาเดียวกันมากขึ้นด้วย

.
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้ผู้คนรู้เท่า ๆ กัน หรือเกือบเท่ากันแต่งกายเหมือนกัน มีวิถีชีวิตที่กำลังปรับเปลี่ยนไปใกล้เคียงกันมากขึ้นนั้น มีหลายประการที่สำคัญ คือ 

.

1. เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีนี้ครอบคลุมเรื่องการทำให้ตัวเลข ตัวอักษร หรือข้อความ สัญลักษณ์ รวมทั้งภาพและเสียง ที่ผ่านการวิเคราะห์ จัดกลุ่ม เลือกสรรแล้ว โดยระบบคอมพิวเตอร์ (Computerized System) หรือโดยเครื่องมืออุปกรณ์อื่นสามารถส่งผ่าน หรือนำเสนอให้ผู้รับ ผู้ใช้ หรือผู้ต้องการได้กว้างขวางและรวดเร็วมาก เทคโนโลยีนี้เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า IT

.

2. เทคโนโลยีโทรคมนาคม ส่วนนี้คือ สะพานหรือทางเดินของข้อมูลข่าวสาร ภาพ เสียง จากผู้ส่งไปยังผู้รับ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งทางอากาศ ผ่านเครือข่ายดาวเทียม (Satellite Systems) หรือทางบก ทางน้ำ ผ่านเครือข่ายสายใยแก้ว (Fiber Optics) ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเริ่มดำเนินการทั้งสองระบบที่จะช่วยเป็นทางเดินให้ข้อมูลข่าวสาร ภาพ เสียง รับส่งได้โดยสะดวก และรวดเร็วมาก ซึ่งต่อไปอาจจะใช้คำว่า Information Superhighways ได้

.

3. เทคโนโลยีอื่น ๆ อาทิ เทคโนโลยีการผลิตสินค้า ทำให้ผลิตได้มาก ๆ โดยมีมาตรฐานและคุณภาพเหมือนกัน ใช้หุ่นยนต์ (Robot) และแรงคนประกอบกัน เทคโนโลยีการเรียนการสอน ครูคนเดียวผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ เครือข่ายดาวเทียม สายใยแก้ว ไปถึงนักเรียนจำนวนมาก ๆ ได้ในเวลาเดียวกัน นักเรียนหรือผู้เรียน (ทั้งในระบบและนอกระบบ) ได้รับรู้ รับทราบ เช่นเดียวกัน สามารถถาม-ตอบ ในช่วงเวลาเรียนจากระยะทางไกล ๆ ได้ด้วย

.

การลงทะเบียนเรียน การเลือกวิชาเรียน อาจจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบรหัสแท่ง (Bar Code) ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วมาก ประหยัดเวลา และเป็นระบบ ระเบียบดูผลง่าย นอกจากนี้ยังมี เทคโนโลยีการบริหาร เทคโนโลยีการก่อสร้าง ฯลฯ ที่ทำให้ผู้คนรับรู้รับทราบคล้าย ๆ กัน ใช้สินค้าและบริการเกือบเหมือนกัน อยู่อาศัยหรือทำงานในอาคารมีลักษณะคล้าย ๆ กัน รวมทั้งทำให้ภาพการดำรงชีวิตของผู้คนในที่ห่างไกลจากเมือง ต่างเมือง หรือต่างประเทศค่อนข้างใกล้เคียงกันด้วย

.
ยุทธศาสตร์การบริหาร

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การบริหาร หมายถึง การทำงานให้สำเร็จ แต่จะมีกลวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้งานสำเร็จได้นั้น โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกเสมือนเล็กลง (Global Village) ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรการผลิตลดลงด้วยนั้น นักบริหารในระยะหลัง ๆ นี้ พยายามใช้ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อมุ่งบรรลุประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้คือ

.
-  ใช้คนเท่าเดิมทำงานได้มากขึ้น
-  งานเท่าเดิม แต่ใช้คนน้อยลง และ
-  คุณภาพของงานต้องดีเท่าเดิม หรือดีกว่า
.
การจะบรรลุประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ดังกล่าวนั้น จำต้องอาศัยยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้ คือ

1. การใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศ (Information Utilization) เพื่อประกอบการตัดสินใจให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องมีข้อแม้ว่า ข้อมูลสารสนเทศนั้น ๆ ต้องรวดเร็ว ถูกต้อง ทันสมัย และใช้ประยุกต์ได้ ปัญหาคือ ข้อมูลสารสนเทศบางอย่างรวบรวมได้ง่าย ถ้าครอบคลุมเนื้องานน้อย แต่บางอย่างก็ได้มายาก ต้องอาศัยเวลาสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ ก่อนนำมาใช้ได้     

.

ในส่วนนี้ต้องอาศัยระยะเวลาและศึกษาว่าข้อมูลสารสนเทศเรื่องใดจำเป็นและครอบคลุมพื้นที่ใดมากน้อยเพียงใด จากผู้บริหารหรือผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลด้วย ปัจจุบันข้อมูลต่าง ๆ นอกจากจะสามารถเก็บได้ในหน่วยความจำของระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ยังสามารถเก็บไว้ใน CD-ROM (Compact Disk Read-Only-Memory) ซึ่งนำไปใช้ได้สะดวก รวดเร็วและราคาไม่แพงนัก

.

2. การบริหารทางไกล (High-Tech Administration) ในยุคนี้เครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อสื่อสารสะดวก รวดเร็วมาก อยู่ไกลกันก็สามารถทำงานเรื่องเดียวกันได้ ประชุมร่วมกันได้ (Teleconference) ดังนั้น สื่อหลายอย่าง อาทิ โทรศัพท์มือถือ โทรสาร วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เครือข่ายการเชื่อมโยงอุปกรณ์เหล่านี้ควรหาไว้ใช้ตามสมควร เพราะจะช่วยประหยัดเวลาเข้าใจกันง่ายและสะดวก เรื่องนี้ปัญหาคือ ต้องมีการจัดระบบ ระเบียบ และเครือข่ายการรับส่งให้ดีพอ

.

3. การหาความรู้ทำงานกับระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) ปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์เป็นส่วนสำคัญในการทำงานสำหรับผู้บริหารมากขึ้น คาดว่า ผู้บริหารในช่วง 3-5 ปี ข้างหน้า ควรมีทักษะทำงานกับระบบคอมพิวเตอร์บางประการ อาทิ การเรียกข้อมูลสำคัญมาใช้ การแก้ไขข้อมูลบางรายการ ฯลฯ ซึ่งทักษะดังกล่าวสามารถฝึกอบรมได้ภายในเวลาไม่นานนัก โปรแกรมสำเร็จรูปจำนวนมากสามารถฝึกฝนใช้ได้โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อใช้บ่อย ๆ ทักษะด้านนี้จะพัฒนาขึ้นได้

.

4. การมองการณ์ไกล (Introspection) ดังที่ใช้กันอยู่ว่าผู้บริหารและคณะต้องมีวิสัยทัศน์ (Vision) กว้างไกล ไม่นึกแต่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องคาดการณ์ในอนาคต 10 ปี 15 ปี 30 ปี บนฐานของความเป็นจริงในปัจจุบัน ผนวกกับความเปลี่ยนแปลงทุกด้านในอนาคตจากการคาดเดาเชิงวิทยาศาสตร์ ได้ใกล้เคียง และมีแนวปฏิบัติที่จะไปสู่เป้าหมาย หรือความคาดหวังในอนาคตนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน

.

5. การใช้หน่วยงาน/องค์กรอื่นทำงาน (Decentralization) งานบางงานที่หน่วยงานอื่น ๆ ทำได้ดีกว่า เนื่องจากหลายหน่วยงานที่ตั้งภายหลังหรืออยู่ในพื้นที่เป้าหมาย มีวัตถุประสงค์เฉพาะสามารถทำงานได้ดีกว่า ปัจจุบันภาคเอกชนที่ทำงานเฉพาะบางเรื่องได้ดีกว่า ควรได้รับโอกาสให้ทำงาน Privatization เนื่องจากคล่องตัวกว่า ปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่า แต่ทั้งนี้ควรต้องมีการวิเคราะห์ลักษณะงานอย่างรอบคอบด้วย แนวคิดพื้นฐานของเรื่องนี้คือ การกระจายอำนาจให้ผู้ที่เหมาะสมรับผิดชอบ

.

6. การจัดรูปองค์กรที่ทำงานได้ฉับไว (Organization Development) ให้มีลักษณะขั้นตอนการบังคับบัญชาไม่ซับซ้อนนัก องค์กรปัจจุบันควรต้องปรับโครงสร้างองค์กร (Re-structuring) และปรับวิธีหรือกระบวนการการทำงาน (Re-engineering) ให้เหมาะสมกับยุคและสมัยนี้ด้วย มีนักบริหารบางท่านเสนอว่าองค์กรอาจจัดให้มีความยืดหยุ่น สามารถสนองตอบความต้องการของผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี หน่วยงานย่อยควรจะมีความสำคัญทัดเทียมกันและลักษณะงานประจำ     

.

ดังเช่นเป็นสายงานหลัก (Line) และสายงานรอง (Staff) ที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการปรับตัว น่าจะค่อย ๆ หายไป องค์กรใดใหญ่มาก อุ้ยอ้าย ปรับตัวช้า ก็ควรแยกองค์กร (Spin Off) ให้เป็นองค์กรย่อยหลายองค์กร งานก็จะฉับไว รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ระบบสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation) ที่เชื่อมโยงกันได้ทั้งสำนักงาน ควรได้รับการพิจารณาในการปรับปรุงองค์กรด้วย

.

7. การพัฒนาบุคลากร (Personnel Development) บุคลากรในหน่วยงานควรได้รับการศึกษา ฝึกฝน อบรมอย่างสม่ำเสมอ ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และความต้องการของหน่วยงาน มิฉะนั้นอาจจะปรับเปลี่ยนได้ไม่ทันหรือไม่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรมิใช่แนวคิดใหม่ 

.

แต่ปัจจุบันวิธีพัฒนาบุคลากรนั้นอาจจะทำได้โดยรูปแบบใหม่ ทำให้สามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ขององค์กร แนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พื้นฐานการศึกษาที่สูง การสร้างความเข้าใจทำได้น่าจะง่ายขึ้น และช่วยปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น

.

ในส่วนนี้การให้โอกาสบุคลากรได้ทำงาน การสนับสนุนให้ได้เรียนต่อ หรือได้ฝึกอบรมในระดับสูงขึ้น รวมทั้งให้โอกาสเรียนภาษาที่ใช้ในระดับนานาชาติ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาสเปน ภาษาอาหรับ ภาษารัสเซีย ให้เก่งเท่าหรือเกือบเท่าภาษาแม่ของแต่ละคน จะช่วยให้รับรู้และทำงานได้ดีขึ้น

.
ข้อคิดเพื่อประกอบการพิจารณา

การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ที่จะมีการพัฒนาทั้งคน วิธีการ เครื่องมือเทคโนโลยี และระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อทำงานได้สำเร็จรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยใช้ต้นทุนด้านแรงงานและทรัพยากรน้อยลงได้นั้น มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงด้วยหลายประการ คือ 

.

1. การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) ไม่ว่าท้องถิ่นในเมืองหรือในชนบท จะมีบุคลากรที่มีความรู้ และประสบการณ์ที่สั่งสมกันต่อ ๆ มา สามารถช่วยแก้ปัญหาหรือเสนอแนะสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมกว่าได้ในหลายเรื่อง ดังนั้น การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น องค์คณะอื่น จะช่วยให้งานบางงานสำเร็จได้โดยง่าย ทั้งนี้ เนื่องจากว่าองค์ความรู้ในท้องถิ่นนั้น เป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริงที่สืบทอดกันมา และสามารถปรับใช้ในหลายสถานการณ์ได้

.

2. การถนอมใช้ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสภาพแวดล้อม แนวคิดนี้สอดแทรกเข้ามาอยู่ใน      ยุทธศาสตร์การบริหาร เนื่องจากว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ต้นไม้ สัตว์ป่า แม่น้ำ ลำคลอง ภูเขา อากาศบริสุทธิ์ ฯลฯ นั้น นับวันแต่จะลดลงหากใช้ไม่ถนอม และไม่บูรณะทดแทน ปัจจุบันมีการนำพลังงานที่มิใช่สิ่งหมดเปลือง           

.

อาทิ พลังน้ำ พลังลม พลังแสงอาทิตย์ และพลังคลื่นในมหาสมุทรมาใช้มากขึ้น นักบริหารต้องรู้จักใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า แนวคิดหนึ่งในเรื่องนี้ คือ 3 Re's คือ Reduce: ใช้ให้น้อยลง, Re-used: ใช้แล้วใช้อีก (ในรูปเดิม) และ Recycle: ใช้แล้วเปลี่ยนรูปเป็นอย่างอื่นเพื่อใช้อีก

.

3. การปลูกฝังจริยธรรมและคุณธรรม ผู้บริหารและผู้ใช้เทคโนโลยีควรต้องเป็นผู้มีจริยธรรมและคุณธรรมสูงยิ่ง เนื่องจากอยู่ใกล้หรืออยู่กับต้นตอของความได้เปรียบทางสังคม องค์กรที่มีเครื่องมือ เครื่องใช้ในการคมนาคมติดต่อสื่อสารที่สมบูรณ์ จะได้เปรียบองค์กรที่ด้อยกว่ามาก

.

ดังนั้นการใช้ข้อมูลสารสนเทศ หรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ จึงต้องใช้เพื่อกระจายคุณภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม สำหรับผู้รับบริการหรือส่วนรวมมากกว่า จะบริหารหรือใช้เทคโนโลยีฉกฉวยความได้เปรียบในเชิงการบริหาร การค้า หรือผลกำไรทางเศรษฐกิจแต่ประการเดียว ความสำนึกเรื่องความถูกต้อง การตอบแทนชุมชน สังคม ควรต้องมีอยู่ในใจทุกคน

.

4. ยุคโลกาภิวัตน์ อาจจะมิใช่ยุคที่ดีที่สุดในการพัฒนาของโลกโดยภาพรวม เพราะหากยุคนี้เป็นตัวแทนของการรวมตัวเป็นบริษัทข้ามชาติ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มหาศาล และเป็นยุคที่ผู้ด้อยโอกาสมิได้รับความเสมอภาคตามสิทธิของตนเองแต่เพียงลักษณะเดียวแล้ว

.

ยุคนี้จะเป็นยุคที่ทำลายองค์กร ธุรกิจ กลุ่มงานขนาดเล็กให้สลายตัวไปได้ในไม่ช้า และส่วนเล็ก ๆ หลายส่วน เช่น สถาบันครอบครัว ธุรกิจขนาดย่อม ชุมชนเล็ก ๆ ก็จะอยู่มิได้ไปด้วย  ซึ่งอันที่จริงในยุคนี้ต้องคำนึงถึงหน่วยย่อย ธุรกิจย่อย ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของแต่ละสังคม ด้วยสิ่งเล็ก ๆ เหล่านั้นมีความดีงาม ความพอดี เป็นหลักแฝงอยู่ (Small is Beautiful)

.
การจัดการธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์

ถึงเวลาแล้วที่องค์กร วิสาหกิจจะต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เป็นสากลมากขึ้น โดยนำเอาวิธีการบริหารจัดการเข้ามาประยุกต์ใช้ การจัดการธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจัดการที่เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายไปจากการจัดการในศตวรรษที่ผ่านมาแต่อย่างใด เพราะหลักการและวิธีการปรับปรุงงานในอดีตล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อองค์กรที่ได้นำแนวคิดและวิธีการนั้น ๆ ไปใช้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแบบญี่ปุ่น

.

อาทิเช่น 5S, Kaizen, JIT, TQC หรือ TPM และการจัดการแบบตะวันตก อาทิเช่น Re-Engineering, Lean management, TQM, Benchmarking, ERP หรือ CRM เพียงแต่ว่าหลักการจัดการที่ได้พิสูจน์แล้วว่าดีในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมานั้นจะต้องบูรณาการให้เป็นระบบ และนำมาใช้ให้สอดคล้องประสานกันอย่างลงตัว อาจเรียกว่าเป็น ระบบการจัดการแบบครบวงจร (Integrated Management System–IMS)

.

สรุปเป็นวลีสั้น ๆ ได้ว่า จะต้องเป็นการจัดการที่เป็นระบบ ทันสมัย โปร่งใส และเทียบเคียงกับมาตรฐานอยู่ตลอดเวลา คำว่าเป็นระบบในที่นี้อาจกล่าวได้ว่าทำตามวงจรการบริหารงาน (หรือวงจรเดิมมิ่ง) PDCA (Plan Do Check Act) นั่นเอง โดยแผนกต่าง ๆ ในบริษัทเปรียบได้กับกลุ่มของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดของวงดนตรีขนาดใหญ่ มีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ควบคุมวง (Conductor) ถึงแม้ว่าแต่ละแผนกจะมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความสามารถในการทำงานได้ดี

.

แต่เมื่อต้องทำงานร่วมกับแผนกอื่นแล้วไม่สามารถเข้ากันได้ ก็ไม่ต่างกับวงออร์เคสตร้าที่เล่นเพลงคนละเพลง หรือเล่นเพลงเดียวกันแต่ไปคนละคีย์คนละจังหวะ แบบนี้เห็นทีคงไม่มีใครฟัง ในขณะเดียวกันระบบก็จะต้องมีความทันสมัย หมายถึงยืดหยุ่นเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทันกับสถานการณ์รอบข้าง ไม่ใช่ใช้วิธีการทำงานแบบเดิม ๆ เป็นเวลานาน ๆ หลายปีโดยไม่มีการปรับปรุง

.

ขณะเดียวกันต้องมีความโปร่งใส คือตรวจสอบได้ สามารถรับรู้ได้ถึงสถานะและความเป็นไปของการบริหารงานภายในตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้แสดงออกมาได้ผ่านตัวชี้วัดที่เหมาะสม (Key Performance Indicators) และเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้อยู่เสมอ รวมถึงการเทียบเคียง (Benchmark) กับตัวอย่างที่ดีกว่า หรือดีที่สุด (Best Practices) ในเรื่องนั้น ๆ 

.
จากที่กล่าวมาข้างต้นเราสามารถอธิบายความหมายถึงขั้นตอนของระบบการจัดการธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์  ได้ดังนี้
เริ่มที่ลูกค้า (Customer Needs and Values) สำรวจความต้องการและแนวทางการตอบสนองต่อลูกค้า เช่น คุณค่าของสินค้าที่ต้องการ ความพึงพอใจที่ผ่านมา ข้อร้องเรียนที่มี การจัดทำฐานข้อมูลและรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า
.

รู้สถานะตนเอง (Business Assessment) นั่นคือต้องวิเคราะห์เพื่อหาสถานะปัจจุบันของตนเอง ที่ภาษานักธุรกิจเรียกว่า วิเคราะห์หา SWOT (จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค)

.

สร้างภาพฝัน (Vision, Mission and Value) เมื่อรู้สถานะและความต้องการของลูกค้าแล้ว ผู้บริหารก็ควรจะร่วมกันฝัน แล้วก็ฝันว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้าธุรกิจของเราจะไปอยู่ในตำแหน่งใดในตลาด ผู้นำ ผู้ตาม (อันดับ 2 หรือ 3) จะทำอะไร เพื่อใคร และทำไม (ฝันที่ดีต้องตอบคำถาม 3 ข้อนี้ให้ได้) แล้วก็ทำนายฝันออกมาเป็นข้อ ๆ ที่เรียกว่า ภารกิจ หรือสิ่งที่จะต้องทำ 

.

หาทางไป (Strategic Plan) เมื่อทำนายฝันเป็นข้อ ๆ ได้แล้ว ก็มาคิดหาทางให้ฝันนั้นเป็นจริง โดยกำหนดเป็นกลยุทธ์ เพื่อลดช่องว่าง (Gap) หรือระยะห่างระหว่างปัจจุบันกับความฝัน

.

จัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan) เมื่อมีกลยุทธ์แล้วก็นำมาจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อจะได้รู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และที่สำคัญจะต้องใช้งบประมาณสนับสนุนแผนงานนั้น ๆ มากน้อยแค่ไหน ถึงขั้นตอนนี้ก็คงพอเห็นภาพแล้วว่าในปีหนึ่งจะต้องทำอะไรบ้าง แล้วใครมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร อาจเรียกแผนธุรกิจนี้ว่าเป็นแผนที่ในการเดินทาง หรือโน้ตดนตรีสำหรับวงดนตรีเพื่อให้บรรเลงเพลงสอดประสานกันก็ได้

.

ตั้งเป้าหมาย (Strategic Objectives) เมื่อได้แผนงานหรือแผนที่เดินทางแล้ว ควรระบุเป้าหมายของการเดินทางให้ชัดเจนว่าจะไปถึงแค่ไหนอย่างไร ทั้งเป้าหมายใหญ่ (Goal) และเป้าหมายย่อย (Target)

.

กำหนดตัวชี้วัด (Critical Performance Measures) จากนั้นกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
ค้นหาตัวผลักดัน (Analyze Performance Drivers) วิเคราะห์ดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะช่วยผลักดันให้แผนงาน และเป้าหมายที่ตั้งไว้บรรลุผล แล้วให้ความสนใจใส่ใจปัจจัยนั้นอยู่เสมอ
ลงมือปฏิบัติ (Process Improvement) วางแผนดีแค่ไหน ถ้าไม่ลงมือทำก็จบกัน 

.

ทบทวนผลลัพธ์ (Management Review) เมื่อลงมือปฏิบัติไปในช่วงเวลาหนึ่ง ก็ควรมีการตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้กับเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ว่าเร็วหรือช้ากว่าแผนงาน ถ้าเร็วกว่าก็โล่งใจ แต่ถ้าช้ากว่าก็ต้องเร่งมือ หาทางแก้ไขปรับปรุงกันใหม่อาจจะมีความผิดพลาดในขั้นตอนไหน หรือสภาพแวดล้อมรอบข้างเปลี่ยนไป

.

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเราสามารถสรุปได้ว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิธีการจัดการสมัยใหม่ โดยเฉพาะการคมนาคม ขนส่ง ติดต่อสื่อสาร เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สามารถดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้รวดเร็ว สะดวก มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริหารในยุคนี้มุ่งลดต้นทุนการผลิตเพิ่มปริมาณและคุณภาพสิ่งผลิต และการบริการที่ดี ให้กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ โดยใช้บุคลากรบริหารควบคุมดูแลไม่มาก

.

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเราสามารถสรุปได้ว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิธีการจัดการสมัยใหม่ โดยเฉพาะการคมนาคม ขนส่ง ติดต่อสื่อสาร เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สามารถดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้รวดเร็ว สะดวก มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริหารในยุคนี้มุ่งลดต้นทุนการผลิตเพิ่มปริมาณและคุณภาพสิ่งผลิต และการบริการที่ดี ให้กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ โดยใช้บุคลากรบริหารควบคุมดูแลไม่มาก

.

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการพัฒนาบุคลากรให้รู้เท่าทัน และสามารถใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บนฐานของจิตใจที่เป็นไปทางสร้างสรรค์มากกว่าการเอาเปรียบ ยังเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ในอนาคตที่สำคัญที่สุดนักบริหารที่เก่งจริงนั้นน่าจะได้แก่นักบริหารที่สามารถทำงานให้สำเร็จโดยลงทุนพอสมควร ใช้ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่งานนั้นให้ประโยชน์ทางด้านการสร้างสรรค์แก่องค์กรของตนเองและแก่ส่วนรวมมากที่สุด

.

ส่วนในเรื่องของการจัดการธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำจนครบทุกขั้นตอนดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ย้อนกลับไปทำใหม่แบบนี้รอบแล้วรอบเล่า ธุรกิจของคุณก็จะแข็งแกร่ง เป็นระบบ ทันสมัย โปร่งใส และเทียบเคียงได้กับธุรกิจระดับโลกได้อย่างแน่นอน

.
เอกสารอ้างอิง

1. คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร. การบริหารองค์การ[ออนไลน์] 2549 [อ้างเมื่อ 3 เมษายน 2550].จาก www.management.su.ac.th/master2006/sudhamDR/manageOrganization.doc
2. มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ทุนมนุษย์กับดร.จีระ[ออนไลน์] 2549 [อ้างเมื่อ 1 เมษายน 2550] จาก http://gotoknow.org/blog/chirakm/45562
3. ไม่ระบุหน่วยงาน. การบริหารเชิงกลยุทธ์ [ออนไลน์] 2549 [อ้างเมื่อ 3 เมษายน 2550] จาก www.thaimarketcenter.com/.../การบริหารเชิงกลยุทธ์.doc

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด