เนื้อหาวันที่ : 2010-05-12 17:38:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9860 views

การใช้แสงซินโครตรอนกับเทคนิค FTIR Spectrometer และ Microscope

เทคนิคทางด้าน Infrared (IR) Spectroscopy เป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ตรวจสอบเกี่ยวกับโมเลกุลของสาร โดยอาศัยหลักการเกี่ยวกับการสั่น (Vibration) ของโมเลกุล แสงอินฟราเรดช่วงกลาง มีความถี่ตรงกับความถี่ของการสั่นของพันธะโควาเลนซ์ในโมเลกุลของสาร

การใช้แสงซินโครตรอนกับเทคนิค FTIR Spectrometer และ Microscope
ในงานวิเคราะห์และวิจัยด้านต่าง ๆ

.

ดร. กาญจนา ธรรมนู
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

.

.

เทคนิคทางด้าน Infrared (IR) Spectroscopy เป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ตรวจสอบเกี่ยวกับโมเลกุลของสาร โดยอาศัยหลักการเกี่ยวกับการสั่น (Vibration) ของโมเลกุล แสงอินฟราเรดช่วงกลาง (2.5-25 m) มีความถี่ตรงกับความถี่ของการสั่นของพันธะโควาเลนซ์ในโมเลกุลของสาร เมื่อสารตัวอย่างได้รับพลังงานจากคลื่นรังสีอินฟราเรดที่พอเหมาะจะเกิดการสั่นของโมเลกุล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าโมเมนต์ขั้วคู่ (Dipole Moment) ของโมเลกุล

.

ทำให้โมเลกุลเกิดการดูดกลืนแสงแล้ววัดแสงที่ส่งผ่านออกมาแสดงผลเป็นความสัมพันธ์ของความถี่หรือ Wave Number กับค่าการส่งผ่านของแสง เรียกว่า IR Spectrum ซึ่งลักษณะสเปกตรัมการดูดกลืนแสงของสารแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติเฉพาะ โมเลกุลของสสารจึงสามารถดูดกลืนแสงอินฟราเรดได้ที่ความถี่ต่างกันขั้นอยู่กับความแข็งแรงของพันธะและน้ำหนักของอะตอมของ Functional Groups ในโมเลกุลนั้น ๆ

.

การนำแสงซินโครตรอนย่านพลังงานอินฟราเรดมาใช้กับเทคนิค IR Spectroscopy ร่วมกับการใช้กล้องจุลทรรศน์ หรือที่เรียกว่า Synchrotron Radiation-based IR Spectromicroscopy เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเทคนิค IR Spectroscopy ให้มีความสามารถนำไปใช้ตรวจวิเคราะห์สารตัวอย่างที่มีขนาดเล็ก หรือสารตัวอย่างที่มีความเข้มข้นต่ำมาก ๆ 

.

เนื่องมาจากคุณสมบัติของแสงซินโครตรอนที่ให้ความเข้มและความสว่างจ้าของแสงสูงกว่าแหล่งกำเนิดแสงทั่วไปมาก นอกจากนี้ยังช่วยให้ผลการวิเคราะห์ที่ได้มีอัตราส่วนระหว่างสัญญาณและสัญญาณรบกวน (Signal/Noise Ratio) ที่ดีขึ้นโดยไม่สูญเสียรายละเอียดเชิงพื้นที่ (Spatial Resolution) และยังช่วยลดระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์เมื่อเทียบกับการใช้ Conventional IR Source

.

รูปที่ 1 แสดงไดอะแกรมของเทคนิค FTIR Spectrometer และ Synchrotron Radiation-based IR Spectromicroscopy

.

ในทางชีวภาพช่วงที่จะใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นช่วงอินฟราเรดกลางเป็นส่วนใหญ่ สเปคตรัมการดูดกลืนของแสงอินฟราเรดจะมีประโยชน์อย่างมากในงานวิจัยทางด้านตัวอย่างทางชีววิทยา โดยสามารถวัดการเปลี่ยนแปลงของ โปรตีน ไขมัน หรือกรดนิวคลีอิก ซึ่งจะมีสเปคตรัมการดูดกลืนอยูในช่วงที่แตกต่างกัน

.

การใช้ประโยชน์จึงมีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและโครงสร้างที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ของสารชีวโมเลกุลได้ ข้อดีอีกประการหนึ่งของการใช้เทคนิคนี้คือ การเตรียมตัวอย่างสำหรับการวิเคราะห์ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้สามารถใช้ในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างแบบไม่ทำลาย (Non-destructive) ได้

.

เนื่องจากแสงที่ใช้อยู่ในย่านพลังงานที่ค่อนข้างต่ำเกินกว่าที่จะทำให้เกิดการทำลายพันธะทางเคมี หรือการทำให้เกิดปฏิกิริยาการแตกตัวของโมเลกุล (Ionization) ได้ การใช้ประโยชน์ของเทคนิคดังกล่าวมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เช่น การตรวจสอบสอบโครงสร้างของเนื้อเยื่อ  

.

อาทิเช่น เส้นผม, ผิวหนัง, กระดูก เป็นต้น ใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยโรค อาทิเช่น การวินิจฉัยเนื้อเยื่อมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น, การตรวจสอบความผิดปกติของเซลล์สมองที่เป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์, การตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน รวมไปถึงงานวิจัยทางด้านเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell)

.

ปัจจุบันนี้มีการนำเทคนิคนี้ Synchrotron IR-mapping ร่วมกับการทำ Multivariate Analysis และ Cluster Analysis มาใช้ในการวิเคราะห์ตัวอย่างไข่หนูในระยะบลาสโตซีสต์ ซึ่งสามารถบอกความแตกต่างขององค์ประกอบของสารชีวเคมีของตัวอย่างไข่หนูได้

.

ซึ่งตัวอย่างไข่หนูในระยะบลาสโตซีสต์ประกอบด้วยส่วนของ Blastocoel Cavity, Trophectroderm และส่วนของ Inner Cell Mass (ICM) ซึ่งจากงานวิจัยนี้พบว่าปริมาณของโครงสร้างทุติยภูมิแบบบีตาชีต (eta-sheet Secondary Structure) มีปริมาณสูงในส่วนของ Trophectroderm

.

ในขณะที่ส่วน Blastocoel Cavity จะพบว่ามีปริมาณโครงสร้างแบบเกลียวแอลฟาหรือแอลฟาเฮลิกซ์ (Alpha-helix Secondary Structure) ในปริมาณที่สูง สำหรับในส่วนของ ICM นั้นจะพบว่า ปริมาณของไขมันสูงที่สูด ซึ่งปริมาณไขมันที่สูงนี้มีส่วนสำคัญในกระบวนการกระตุ้นการส่งสัญญานในการฝังตัวที่มดลูกของไข่หนูระยะระยะบลาสโตซีสต์ (กาญจนาและคณะ, 2009)

.

.

รูปที่ 2 แสดงการใช้เทคนิค Synchrotron IR-mapping ร่วมกับการทำ Multivariate Analysis และ Cluster Analysis ในการวิเคราะห์องค์ประกอบทางชีวเคมีของไข่หนูในระยะบลาสโตซีสต์

.

ปัจุบันนี้สถาบันวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ทำการติดตั้งเครื่อง IR Spectroscopy และ Microscope โดยใช้แหล่งกำเนิดแสงอินฟราเรดจาก Globar Source ซึ่งสามารถติดต่อให้บริการการวิเคราะห์ตัวอย่างได้อย่างหลากหลาย เช่น การวิเคราะห์โครงสร้างโครงสร้างทุติยภูมิของโปรตีน,

.

การวิเคราะห์ตัวอย่างโดยใช้เทคนิค Attenuated Total Reflectance (ATR) เป็นต้น นอกจากนี้ที่สถาบันฯ ได้เริ่มโครงการก่อสร้างระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลองทางด้าน Infrared Microspectroscopy ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถทดสอบความพร้อมของระบบได้ภายในปี พ.ศ. 2554

.

สำหรับนักวิจัยทั้งจากภาครัฐ และเอกชนที่มีความสนใจในเทคนิคดังกล่าว โดยสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่ ส่วนงานบริการผู้ใช้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 044-217040 ต่อ 605-607 โทรสาร 044-217040 ต่อ 605 อีเมล์ useroffice@slri.or.th

.
เอกสารอ้างอิง

Thumanu, K. Tanthanuch, W., Lorthongpanich, J, Heraud, P and Parnpai, R. (2009) FTIR Microspectroscopic Imaging as a New Tool to Distinguish the Chemical Composition of Mouse Blastocyst. J. of Mol. Struc. 933 (1-3): 104-111

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด