เนื้อหาวันที่ : 2007-01-29 14:05:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6469 views

บัญญัติ 10 ประการของการจัดการอุปสงค์

แนวคิดการปรับปรุงคุณภาพได้พัฒนา และกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นในการทำธุรกิจ โดยมีแนวคิดเกิดขึ้นมาใหม่นั่นก็คือ แนวคิดการผลิตแบบลีน การผลิตแบบ Just-in-Time หรือแนวคิดการผลิตแบบไม่มีการไม่จัดเก็บสินค้าคงคลังเลย แนวคิดเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว

ในอดีตนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70 ได้เริ่มมีการคิดค้นแนวคิดการจัดการเรื่อง การปรับปรุงคุณภาพ หลายบริษัทได้ลงทุนในเรื่องนี้อย่างมากจนคำว่า “Total Quality Management” ได้กลายเป็นคำฮิตติดปากกันในสมัยนั้น ต่อมาในทศวรรษที่ 80 หลังจากที่แนวคิดการปรับปรุงคุณภาพได้พัฒนา และกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นในการทำธุรกิจไป ได้มีแนวคิดเกิดขึ้นมาใหม่นั่นก็คือ แนวคิดการผลิตแบบลีน การผลิตแบบ Just-in-Time หรือแนวคิดการผลิตแบบไม่มีการไม่จัดเก็บสินค้าคงคลังเลย แนวคิดเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว แม้กระทั่งในปัจจุบันหลายบริษัทยังมีการดำเนินการแนวคิดเหล่านี้อยู่ หลังจากนั้นในช่วงทศวรรษที่ 90 โลกาภิวัฒน์มีผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของโลก สินค้าต่าง ๆ มีวงจรชีวิตที่สั้นลง และการล่มสลายของบางอุตสาหกรรมที่มีมานานจึงก่อให้เกิดการปรับปรุงโซ่อุปทานขึ้น

.

และในช่วงทศวรรษที่เพิ่งผ่านมา หลายอุตสาหกรรมได้ลงทุนอย่างมากมายมหาศาลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการโซ่อุปทานของตน หลายบริษัทที่ได้พยายามปรับปรุงการทำงานในโซ่อุปทานได้พบว่ามีการปรับปรุงทั้งในแง่ของสินค้าคงคลัง การบริการลูกค้า เวลาการตอบสนอง และต้นทุนในการดำเนินการ เมื่อมีความต้องการปรับปรุงในสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการจัดการโซ่อุปทานขึ้นมามากมาย

.

มาถึงจุดนี้หลายคนอาจเริ่มตั้งคำถามว่าแล้วแนวคิดอะไรที่จะถูกนำมาใช้เพื่อการแข่งขันทางธุรกิจในทศวรรษนี้ คำตอบนั้นก็คือการจัดการกับอุปสงค์เพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุดแก่บริษัท และโซ่อุปทาน หรือเรียกอีกอย่างว่า Demand Based Management (DBM) ตัวแนวคิดการจัดการอุปสงค์นี้จะเป็นกุญแจสำคัญต่อบริษัทในการจัดการโซ่อุปทาน การพัฒนาสินค้า การปรับปรุงเทคโนโลยี การสนับสนุนการให้บริการ และการออกแบบองค์กร การจัดการอุปสงค์เกี่ยวข้องกับการเลือกเครื่องมือทางการตลาดอย่างระมัดระวัง และการทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าของตน เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้อุปสงค์ที่หลั่งไหลเข้ามาที่บริษัท และโซ่อุปทานจะเป็นตัวยกระดับคุณค่าแก่สมาชิกทุกคนในโซ่อุปทาน การจัดการโซ่อุปทานจะเป็นด้านซื้อ (Buy-Side) ของบริษัท ส่วนการจัดการอุปสงค์จะเป็นด้านขาย (Sell-Side) ของบริษัท การดำเนินการเพียงด้านใดด้านหนึ่งย่อมไม่เกิดประโยชน์สูงสุด และเหมาะสมที่สุด

.

ข้อผิดพลาดของการจัดการโซ่อุปทานโดยปราศจาก DBM

เดิมทีการจัดการโซ่อุปทานจะสมมุติว่าแบบแผนของอุปสงค์เป็นสิ่งที่เกิดจากภายนอก คือไม่สามารถควบคุมได้ เพราะฉะนั้นอุปสงค์ของสินค้า หรือบริการมักถูกมองว่าเป็นตัวแปรหลักตัวหนึ่งในการจัดการโซ่อุปทาน ทำให้คิดว่าอุปสงค์จึงต้องได้รับการพยากรณ์ด้วยวิธีการทางสถิติ หรือวิทยาศาสตร์มากมายเพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำที่สุด เทคโนโลยีในปัจจุบันได้พัฒนาไปมากเพื่อเติมเต็มความต้องการในส่วนนี้เพื่อประโยชน์ในการจัดการสินค้าคงคลัง การวางแผนการผลิต และกำหนดการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัท

.

แต่ความจริงนั้นอุปสงค์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากภายนอก เพราะว่าเมื่อพิจารณาที่ตัวบริษัทให้ดีจะพบว่า ฝ่ายขาย และฝ่ายการตลาดเป็นผู้ใช้เครื่องมือทางการตลาดในการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ขึ้น เครื่องมือทางการตลาดที่ถูกนำมาใช้ได้แก่ ราคา (Price) โปรโมชั่น (Promotion) ตัวสินค้า (Product) และสถานที่ (Place) หรือที่เราเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix: 4Ps) นั่นเอง มาถึงจุดนี้เห็นได้ว่าข้อผิดพลาดของการจัดการโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นก็คือ บุคคลที่บริหารจัดการโซ่อุปทานมักไม่ได้ตระหนักว่าอุปสงค์ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการกระตุ้นของฝ่ายขาย และการตลาด ในทางกลับกันฝ่ายขาย และการตลาดก็ไม่ได้ใช้ส่วนผสมทางการตลาดอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดกำไรสูงสุด หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นของบริษัท ทำให้หลายบริษัทต้องจ่ายบทเรียนราคาแพงจากความไม่เชื่อมโยงกันของทั้งสองด้านนี้

.

จากรายงานกรณีศึกษาในต่างประเทศได้กล่าวว่า ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 วอลโว่ต้องเผชิญกับปัญหาสินค้าคงคลังของรถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Car) มีมากเกินไปในช่วงกลางปี ด้วยความพยายามที่จะลดปริมาณสินค้าคงคลังลง ฝ่ายขาย และการตลาดจึงได้ใช้เครื่องมือทางการตลาดเช่น ส่วนลด และสิทธิพิเศษต่าง ๆ เสนอให้แก่ผู้กระจายสินค้า ข่าวดีที่ตามมาคือ การตลาดที่ทำไปใช้ได้ผล รถสามารถขายได้ แต่ข่าวร้ายคือกลุ่มที่วางแผนทางด้านโซ่อุปทานไม่ได้รับรู้การตลาดที่ได้ทำไป และคิดไปว่าผู้บริโภคได้ชอบรถของตนเข้าแล้ว พอยอดขายเพิ่มขึ้นทางบริษัทก็ได้ตัดสินใจที่จะผลิตรถประเภทนี้เพิ่มตามเพื่อให้สามารถรองรับกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นได้ ผลสุดท้าย กลายเป็นว่าวอลโว่ต้องเก็บสินค้าคงคลังรถประเภทนี้ไว้มากมายมหาศาลตอนสิ้นปี

.

ผมจะขอกล่าวถึงอีกซักตัวอย่างซึ่งตรงกันข้ามกับตัวอย่างที่แล้วและเป็นกรณีศึกษากันในต่างประเทศคือ ซุปบะหมี่ไก่ของแคมเบลล์ (Campbell) ซึ่งทางบริษัทได้โปรโมตสินค้าตัวนี้อย่างมากในช่วงฤดูหนาว ซึ่งตามปกติช่วงฤดูหนาวอุปสงค์ก็จะมากอยู่แล้วยิ่งมากขึ้นไปอีก เพื่อให้สามารถรองรับอุปสงค์ที่กำลังจะเกิดขึ้น บริษัทต้องเตรียมไก่ และวัตถุดิบอื่น ๆ เป็นปริมาณมากตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ทำให้สินค้าคงคลังของวัตถุดิบมีมากเกินไป และเพื่อให้สามารถมีกำลังการผลิตที่เพียงพอในช่วงฤดูหนาว บริษัทต้องผลิตสินค้าตัวอื่นล่วงหน้าทำให้เกิดปัญหาสินค้าคงคลังของสินค้าตัวอื่นล้นทะลัก และต้องการที่ในการจัดเก็บเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นอุปสงค์ของซุปบะหมี่ถูกหักล้างออกด้วยต้นทุนที่เกิดจากการผลิต และจัดเก็บสินค้า หากการขาดการวิเคราะห์ถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการตัดสินใจทางการตลาดย่อมส่งผลร้ายต่อบริษัทดังตัวอย่างที่กล่าวมา

.

การใช้เครื่องมือทางการตลาดอย่างเหมาะสมสำหรับจัดการอุปสงค์จะช่วยหยิบยื่นโอกาสในการสร้างคุณค่าให้แก่บริษัทในโซ่อุปทาน และคุณค่าที่เกิดขึ้นนั้นมีค่ามากเกินกว่าสิ่งได้รับจากแค่การปรับปรุงโซ่อุปทาน เราสามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์โดยขยายจากบริษัทไปเป็นโซ่อุปทาน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเราจะเห็นว่าโอกาสใหม่ ๆ ในการเพิ่มคุณค่านั้นยังมีอยู่อีกมากในโซ่อุปทาน

.

คำนิยามของการจัดการอุปสงค์

มีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน ด้านแรกจะเกี่ยวกับการจัดการส่วนผสมทางการตลาดในการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องในการเลือกใช้วิธีการเหล่านี้ เราต้อง

1.เข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับของส่วนผสมเหล่านี้ที่มีต่ออุปสงค์ของสินค้าภายใต้การพิจารณา และผลกระทบที่มีต่อสินค้าที่เกี่ยวข้อง

2.รับรู้ถึงวัตถุประสงค์ และข้อจำกัดของบริษัท

3.รวมต้นทุนโซ่อุปทานที่สอดคล้องกับอุปสงค์ที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นของเครื่องมือทางการตลาด

4.เชื่อมโยงการตัดสินใจด้านการจัดการอุปสงค์เข้ากับการวางแผน และการดำเนินการในโซ่อุปทาน เมื่อเป็นเช่นนั้นจะสามารถคาดเดาอุปสงค์ที่จะเกิดขึ้นได้ และสามารถจัดเก็บสินค้าคงคลังได้ในจำนวนที่เหมาะสม มิฉะนั้นแล้วจะต้องประสบกับปัญหาสินค้าคงคลังมากเกินไป หรือไม่ก็น้อยเกินไป

5.วัด และเฝ้าติดตามผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นอย่างระมัดระวัง

.

ส่วนด้านที่ 2 จะเกี่ยวข้องกับการประสานงานกันของส่วนผสมทางการตลาดในโซ่อุปทาน ยกตัวอย่างเช่น การตั้งราคา หรือการทำโปรโมชั่นโดยผู้ผลิตอาจสูญเปล่าได้ถ้าการตั้งราคา และการทำโปรโมชั่นที่ผู้ค้าปลีกไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นการตลาดที่ถูกใช้ในแต่ละบริษัทในโซ่อุปทานควรประสาน และสอดคล้องกันเพื่อให้สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการได้

.

บัญญัติ 10 ประการของการจัดการอุปสงค์สำหรับค้าปลีก

ในปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่มีรายการสินค้าเป็นพันเป็นหมื่นรายการ และคงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้สมองมนุษย์เปล่า ๆ คิดหาส่วนผสมทางการตลาดที่เหมาะสมที่สุดออกมาสำหรับสินค้าแต่ละรายการ หรือแต่ละกลุ่ม นอกจากเรื่องของจำนวนรายการสินค้าแล้ว ยังมีเรื่องความซับซ้อนของช่องทางกระจายสินค้าเช่น ผู้ค้าปลีกมีหลายร้านค้า หรือผู้ผลิตมีหลายศูนย์กระจายสินค้า นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่เป็นแบบปกติ และลูกค้าออนไลน์อีกต่างหากสำหรับแต่ละร้าน ดังนั้นแผนการตลาดจึงต้องแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละที่ ทำให้เครื่องมือทางคอมพิวเตอร์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ขึ้นมามากมายโดยอาศัยวิธีการทางสถิติ วิทยาศาสตร์ และรวมทั้งการหาจุดเหมาะสมที่สุด (Optimization) มาใช้ แม้จะมีเครื่องมือที่ทันสมัยออกมามากมาย แต่ก็ใช่ว่าทุกเครื่องมือจะสามารถทำงานได้ดีเท่ากัน ตัวบัญญัติ 10 ประการที่นำเสนอนี้จะเปรียบเสมือนเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่เครื่องมือ หรือซอฟต์แวร์ต้องมีในการจัดการอุปสงค์สำหรับภาคค้าปลีก ในบัญญัติ 10 ประการสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 หมวด หมวดแรกจะเกี่ยวโยงกับการสร้างคุณค่าโดยการจัดการอุปสงค์ หมวดที่ 2 จะเกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองของการจัดการอุปสงค์ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของการวิเคราะห์ และปฏิสัมพันธ์ระหว่าง 4 มิติของแบบจำลอง ได้แก่เวลา ช่องว่างทางกายภาพ (สินค้า และสถานที่) เครื่องมือทางการตลาด และ Activity Based Costing  และหมวดที่ 3 จะเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของระบบที่จะถูกนำมาใช้งาน

.

1.ผู้บริโภคต้องได้ประโยชน์

สวัสดิการของผู้บริโภคจะถูกยกระดับให้สูงขึ้นจากการจัดการอุปสงค์โดยอาศัยความสามารถของระบบเพื่อที่จะทำได้ง่ายขึ้นเช่น การตั้งราคา การทำโปรโมชั่น การจัดแสดงสินค้าบนชั้นวาง และการจัดการเครื่องมือทางการตลาดอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการ และหาซื้อสินค้าเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งราคาที่ระบบแนะนำมาต้องสามารถสะท้อนประโยชน์ที่มีต่อผู้บริโภคได้ทั้งในแง่ของคุณค่าที่เกิดขึ้นจริง และแง่ของคุณค่าทางจิตใจ (Perception) ด้ว

.

2.ระบบต้องสามารถเสนอแนะกลยุทธ์ที่ช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของบริษัท

การกำหนดวัตถุประสงค์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดการอุปสงค์ ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงข้อจำกัดที่มีอยู่ที่สำคัญต่อการจัดการ และการปฏิบัติการของบริษัท ตัวอย่างเช่นอาจจะมีช่วงของราคาที่สามารถนำไปใช้ได้อยู่ช่วงหนึ่ง แต่เมื่อมีการพิจารณาถึงข้อจำกัดที่มีอยู่แล้ว ระบบจัดการอุปสงค์ต้องสามารถหาได้ว่าเครื่องมือทางการตลาดที่เหมาะสมที่สุดคือจุดไหนที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้แต่แรกได้สูงสุด แทนที่จะเสนอได้แค่ทางเลือกที่เป็นไปได้เท่านั้น

.

3.ผลลัพธ์ต้องทราบได้ทันที ยั่งยืน และวัดได้โดยตัวชี้วัดที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมเช่น กำไรสุทธิ และรายได้

ผลลัพธ์ต้องถูกรายงานผลได้ทันทีในช่วงเวลาที่เป็นสัปดาห์ และสามารถต่อเนื่องได้ในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นผลลัพธ์สูงสุดควรเป็นตัวชี้วัดที่สามารถวัดได้ในรูปแบบที่ง่าย เช่นกำไรสุทธิ ยอดขาย และรายได้ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของวิธีการทางบัญชีแทนที่จะใช้วิธีการที่วัดได้ยาก หรือคลุมเครือ

.

4.แบบจำลองอุปสงค์ต้องถูกสร้างขึ้นที่ระดับที่ผู้บริโภคทำการตัดสินใจ สำหรับสินค้าแต่ละรายการ ในแต่ละร้านค้า ดังนั้นกลยุทธ์การขายจะเข้ากับอุปสงค์เฉพาะที่

สินค้าแต่ละรายการ สถานที่แต่ละแห่งมีลักษณะ และพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป และตอบสนองต่อส่วนผสมทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการสร้างแบบจำลองอุปสงค์จำเป็นที่จะต้องสร้างแบบแยกกันสำหรับแต่ละสินค้า และแต่ละตลาด จึงไม่ควรที่จะสร้างแบบจำลองเดียวกันสำหรับทุกสินค้า หรือตลาด เพราะจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาด และเป็นการลงทุนที่เปล่าประโยชน์เช่น การตั้งราคาสินค้าราคาเดียวกันสำหรับทุกร้าน หรือทุกสาขาอาจไม่เหมาะสม เพราะว่าพฤติกรรมผู้บริโภคต่อสินค้าตัวเดียวกันในแต่ละสถานที่ไม่เหมือนกันทำให้บริษัท และผู้บริโภคต่างก็ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากสินค้า และราคาที่ตั้งไว้

.

5.การจำลองความสัมพันธ์ของสินค้าที่เกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนจะช่วยให้สามารถประมาณการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง

เมื่อมีการทำการตลาดกับสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของสินค้าตัวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยทั้งสินค้าทดแทน และสินค้าที่ใช้ร่วมกัน ในบางกรณีการกระตุ้นอุปสงค์ของสินค้าตัวหนึ่งจะส่งผลต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของสินค้าที่ใช้ร่วมกัน เช่นสังขยา กับขนมปัง แต่ในบางกรณีอาจเกิดผลตรงกันข้าม เช่นสังขยา กับแยม ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาถึงความยืดหยุ่นไขว้ของสินค้า และวัดค่าออกมาในแง่ของสถานที่ก็ต้องมีการจำลองความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่เหมือนกันเพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการตลาดที่มีต่ออุปสงค์ระหว่างร้านค้าในพื้นที่เดียวกัน

.

6.การจำลองถึงการขึ้นลงของอุปสงค์ที่สัมพันธ์กับกิจกรรมทางการตลาด และการขายอย่างชัดเจนจะช่วยให้สามารถพยากรณ์อุปสงค์ได้อย่างแม่นยำ

การตลาดบางครั้งอาจสามารถเปลี่ยนอุปสงค์ของผู้บริโภคได้ในระยะยาว การกระตุ้นเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเช่น ผู้บริโภคอาจจะซื้อทีเดียวเยอะ ๆ และอุปสงค์ของสินค้าในอนาคตอันใกล้จะหายไปจนกว่าสินค้าที่ได้ซื้อตุนเอาไว้เริ่มหมดไปจึงกลับมามีอุปสงค์อีกครั้ง หรือในบางกรณีอาจเป็นที่ความล่าช้าของเวลากว่าที่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน ดังนั้นการนำการจัดการอุปสงค์มาประยุกต์ใช้ต้องเข้าใจ และสามารถจับประเด็นเหล่านี้เข้าไปในแบบจำลองระยะยาวได้ด้วยแทนที่จะใช้เฉพาะในระยะสั้น

.

7.ผลกระทบรวมของการตัดสินใจทางการตลาดทั้งหมดต้องถูกจำลองขึ้นมาพร้อมกันเพื่อที่จะได้เข้าใจผลกระทบไขว้ที่เกิดขึ้นซึ่งมีผลต่อกำไร และยอดขาย

เครื่องมือทางการตลาดไม่ว่าจะเป็นราคา โปรโมชั่น สินค้า หรือสถานที่มีผลต่ออุปสงค์ของสินค้าร่วมกัน ดังนั้นการสร้างแบบจำลองผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงต้องสร้างขึ้นมาร่วมกันจะสร้างแยกออกมาโดด ๆ ไม่ได้ นอกจากนี้แบบจำลองของคู่แข่งควรจะอยู่ในแบบจำลองเดียวกันกับของเราด้วยเพราะว่าจะได้เข้าใจถึงผลกระทบรวมทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการตลาดของคู่แข่ง และของตนเอง

.

8.ต้นทุนโซ่อุปทานทั้งหมดต้องถูกคิดโดยใช้ Activity-Base Costing เพื่อที่จะสามารถเชื่อมโยงอุปทานเข้ากับอุปสงค์ได้

ถ้าอุปสงค์เปลี่ยนต้นทุนของโซ่อุปทานย่อมเปลี่ยนแปลงตาม และต้นทุนนี้ก็มีผลกระทบต่อกำไรอย่างมาก เพราะฉะนั้นควรที่จะคิดต้นทุนโซ่อุปทานที่ถูกขับเคลื่อนโดยปริมาณได้ (Volume-driven Supply Chain Costs) ซึ่งต้องใช้วิธีการทางบัญชีที่เรียกว่า Activity-Based Costing มาคำนวณหาต้นทุนของกิจกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อสามารถสะท้อนถึงต้นทุนแท้จริงที่เกิดขึ้นในกระบวนการของโซ่อุปทานซึ่งระบบบัญชีแบบธรรมดาไม่สามารถที่จะบอกได้

.

9.ระบบควรที่จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วนตนเอง วิวัฒนาการ และปรับเปลี่ยนเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องอยู่เสมอ

สภาพแวดล้อมในการแข่งขันปัจจุบันมีความเป็นพลวัตสูงมาก เพราะฉะนั้นระบบต้องสามารถที่จะนำข้อมูลที่ได้มาใหม่เข้าสู่ระบบเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ เมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นต้องสามารถปรับ และอัพเดตตัวเองได้
.
10.ระบบต้องบูรณาการเข้ากับการไหลของงาน และให้คำตอบที่สามารถกระทำได้

ซอฟต์แวร์ที่ดีต้องใช้ง่าย และสามารถบูรณาการเข้ากับระบบอื่นได้ นอกจากนี้ยังต้องโปร่งใสต่อผู้ใช้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดเครื่องมือทางการตลาดที่จะใช้ ซอฟต์แวร์ควรมีลักษณะที่เป็น User-Friendly Interface และสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบโซ่อุปทานที่มีอยู่แล้วได้เป็นอย่างดี

.

สรุป

แนวคิดการจัดการโซ่อุปทานแบบดั้งเดิมจะมองว่าอุปสงค์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ในปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวได้ถูกปฏิวัติไปเนื่องจากอุปสงค์ที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการกระตุ้นโดยส่วนผสมทางการตลาดของฝ่ายขาย และการตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการในตัวสินค้ามากขึ้นในช่วงเวลาที่ต้องการ ส่งผลให้การจัดการโซ่อุปทานที่มีอยู่ต้องเชื่อมโยงมายังด้านอุปสงค์ด้วยเพื่อให้อุปทานและอุปสงค์มีความสมดุลกัน เพราะถ้ามีเพียงการจัดการโซ่อุปทานแต่ไม่มีการจัดการอุปสงค์ย่อมที่จะก่อให้เกิดผลร้ายต่อบริษัทได้เช่น สินค้าคงคลังมีมากเกินไป สินค้ามีไม่พอกับอุปสงค์ หรือเกิดต้นทุนในการผลิตมากจนเกินไปดังตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมา จากนั้นเป็นการกล่าวถึงข้อควรพิจารณา 10 ข้อสำหรับการจัดการอุปสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ หรืออาจใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกซื้อซอฟต์แวร์ว่าควรจะมีความสามารถ หรือคุณสมบัติในเรื่องใดบ้างจึงจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจ เรียนรู้ และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

.

เอกสารอ้างอิง

Lee, H. (2001) Ultimate Enterprise Value Creation Using Demand-Based Management, Standford Global Supply Chain Management Forum.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด