เนื้อหาวันที่ : 2010-04-22 16:28:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 22938 views

สนศัพท์ ไม่สับสน ในแวดวงโลจิสติกส์ (รู้ไว้ ใช้เป็น)

โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นสหวิชาการบริหารจัดการที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในแวดวงวิชาการและในภาคปฏิบัติการ จึงมีการพูดและเขียนถึงศาสตร์ ๆ นี้ในบริบทต่าง ๆ กันอย่างกว้างขวาง ด้วยความใหม่ของโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในประเทศไทยทำให้ยังมีความสับสนและเห็นไม่ถูกต้องตรงกันในการใช้คำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย
assadej_v@yahoo.com
มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี

.

.

โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นสหวิชาการบริหารจัดการที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในแวดวงวิชาการและในภาคปฏิบัติการ จึงมีการพูดและเขียนถึงศาสตร์ ๆ นี้ในบริบทต่าง ๆ กันอย่างกว้างขวาง ด้วยความใหม่ของโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในประเทศไทยทำให้ยังมีความสับสนและเห็นไม่ถูกต้องตรงกันในการใช้คำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งสำหรับผมแล้วการเรียกชื่อไม่ตรงกันแต่เข้าใจตรงกันนั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนัก (เช่น ลูกพระอาทิตย์ หรืออ้ายยุ่น ก็ล้วนหมายถึงคนญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ปัจจุบันเขาก็ไม่ก็ยุ่นกันแล้ว)

.

แต่การเรียกชื่อตรงกันทั้ง ๆ ที่เข้าใจไม่ตรงกันนั้นกลับเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากกว่า (เช่น บอกว่าบ้านอยู่แถวพระราม 4 ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งถนนพระราม 4 และสะพานพระราม 4 และในกรุงเทพ ฯ ก็มีอีกหลาย ๆ พระรามก็มีทั้งถนนและสะพานเหมือนกัน) ดังนั้นจึงน่าจะมีการอธิบายและอภิปรายคำศัพท์บางคำที่มักใช้กันบ่อย ๆ ในวงการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานแต่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันมากขึ้น

.

แม้ว่าในปัจจุบันนักวิชาการและนักปฏิบัติการบางท่านจะยังคงใช้คำว่าโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานแทนกันอยู่บ้าง (Varma et al., 2006) แต่ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าขอบเขตของการจัดการโซ่อุปทานในปัจจุบันนั้นกว้างใหญ่กว่าโลจิสติกส์มากและครอบคลุมโลจิสติกส์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการโซ่อุปทานด้วย (Mills et al., 2004)

.

แต่กระนั้นก็ตามหลักสูตรโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงหลักสูตรฝึกอบรมและหนังสือเกี่ยวกับโลจิสติกส์และโซ่อุปทานส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ชื่อโลจิสติกส์และโซ่อุปทานพร้อมกันไป และเกือบทั้งหมดยังยกคำว่าโลจิสติกส์ให้ขึ้นมานำหน้าคำว่าโซ่อุปทาน หรือบางกรณีถึงขั้นใช้ชื่อโลจิสติกส์โดด ๆ โดยไม่มีคำว่าโซ่อุปทานเลยด้วยซ้ำ     

.

ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุผลทางการตลาดที่คนส่วนใหญ่ยังคงรู้จักและคุ้นเคยกับคำว่าโลจิสติกส์มากกว่าคำว่าการจัดการโซ่อุปทานมาก และเมื่อพูดถึงโลจิสติกส์แล้วนั้นน่าจะดูเห็นภาพและจับต้องได้มากกว่าโซ่อุปทาน การใช้ชื่อโลจิสติกส์จึงสามารถดึงดูดความสนใจของบุคคลทั่วไปได้มากกว่า (เหมือนกับที่ห้างเทสโก้ยังใช้ชื่อ เทสโก้โลตัส เพราะคนจำนวนมากยังคงติด คุ้นเคยและเรียกชื่อว่าโลตัสมากกว่าเทสโก้)

.

“โซ่อุปทาน” เป็นคำที่แปลมาแบบเกือบตรงตัวจากคำว่า “Supply Chain” ในภาษาอังกฤษ (Supply = อุปทาน และ Chain = โซ่) คนจำนวนมากยังใช้คำทับศัพท์ตรง ๆ ว่า “ซัพพลายเชน” ในการเขียนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพูด (เช่น ในบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่มักตั้งชื่อฝ่ายที่รับผิดชอบงานด้านนี้เป็นคำทับศัพท์ตรง ๆ) ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติคำว่า Supply Chain เป็นภาษาไทยว่า “ห่วงโซ่อุปทาน”

.

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าห่วงโซ่นั้นไม่เหมือนกับโซ่ โซ่นั้นประกอบไปด้วยห่วงหลาย ๆ ห่วงมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันจนกลายเป็นโซ่ แล้วแนวคิดเรื่อง Supply Chain นั้นก็เกิดจากการที่หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เปรียบเสมือนห่วงแต่ละห่วงมาทำงานและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน มีการส่งมอบและแลกเปลี่ยนสารสนเทศและพัสดุระหว่างกันและกัน     

.

มีการเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจให้สอดประสานกันอย่างกลมกลืนจนเป็นเสมือนห่วงโซ่ที่ร้อยเรียงเข้าด้วยกันจนเป็นโซ่เส้นเดียวกันที่สามารถส่งต่อคุณค่า (Value) ไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำงานโดยลำพังแบบหัวเดียวกระเทียมลีบของหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวหรือห่วงโซ่เพียงห่วงเดียว ดังนั้นผมจึงคิดว่าคำว่า “โซ่อุปทาน” น่าจะสื่อความหมายได้ตรงกับปรัชญาของสหวิชานี้ได้มากกว่า ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นี้จำนวนมากใช้คำว่าโซ่อุปทานเฉย ๆ

.

ในช่วงแรกที่มีการบัญญัติคำว่าห่วงโซ่อุปทานหรือโซ่อุปทานนั้นเมื่อหลายปีที่ผ่านมาแล้วนั้น ผมไม่ทราบว่ามีท่านใดที่รู้สึกเหมือนผมหรือไม่ว่า เมื่อได้ยินคำนี้ใหม่ ๆ แล้วจะรู้สึกแปลก ๆ ทะแม่ง ๆ หู เพราะพอได้ยินแล้วผมมักคิดถึงข่าวอุปาทานหมู่ (สังเกตว่าเขียนว่า “อุปาทาน” ไม่ใช่ “อุปทาน” นะครับ) ในงานสวดภาณยักษ์ทั้งหลายที่พอคน ๆ หนึ่งชักดิ้นชักงอไปเหมือนเจ้าเข้าเมื่อได้ยินเสียงพระเทศน์แล้ว คนอื่นที่อยู่รอบ ๆ ก็เกิดอุปาทานหมู่พลอยชักดิ้นชักงอตาม ๆ กันไปเป็นลูกโซ่ด้วย แต่พอได้ยินคำ ๆ นี้ไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีความคุ้นเคยขึ้น

.

ซึ่งหากพิจารณาจากรากศัพท์แล้วก็จะเห็นได้ว่าคำว่า Supply หรือ อุปทาน นั้นเป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เป็นคำที่คู่กัน (หรือตรงข้ามกันแล้วแต่ว่าจะมองอย่างไร) กับคำว่า Demand หรือ อุปสงค์ หรือความต้องการของลูกค้า ส่วนคำว่า Chain ที่แปลตรง ๆ ว่าโซ่ นั้นก็มีนัยถึงเรียงร้อยกระบวนการทางธุรกิจของคู่ค้าทุกรายที่ต่อเนื่องกันจนเป็นเสมือนสายโซ่  

.

ดังนั้นคำว่า Supply Chain หรือโซ่อุปทานก็มีความหมายพื้น ๆ โดยรากศัพท์ว่ากระบวนการตอบสนองความต้องการของลูกค้านั่นเอง (คำว่า “อุปทาน” เป็นคนละคำจากคำว่า “อุปาทาน” ในภาษาบาลีที่หมายถึงว่าการยึดมั่นถือมั่นหรือความหลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยขาดการพิจารณาหาเหตุผล ทำให้กระทำการใด ๆ โดยขาดสติ เช่น ยึดมั่นในตัวกูของกู หรืออัตตาอัตตนียา)

.

โลจิสติกส์นั้นเดิมเป็นศัพท์ทางการทหารซึ่งหมายถึงการส่งกำลังบำรุง เช่น เสบียง ยุทโธปกรณ์ หรือกำลังพล ฯลฯ จากแนวหลังไปยังแนวหน้าในสนามรบ เมื่อนักธุรกิจมองสนามรบเป็นเหมือนสนามการค้า (ในขณะที่นักการเมืองอาจมองสนามการค้าเป็นสนามรบ) จึงนำคำ ๆ นี้เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจปัจจุบันราชบัณฑิตยสถานยังไม่ได้บัญญัติคำว่าโลจิสติกส์เป็นภาษาไทย

.

มีผู้เชี่ยวชาญในวงการบางท่านใช้คำว่า “พลาธิการ” ตามชื่อหน่วยงานในกองทัพที่มีหน้าที่ในการส่งกำลังบำรุง แต่คำ ๆ นี้แม้จะฟังดูค่อนข้างไพเราะแต่ก็ยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายนักมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักหรือเข้าใจงานพลาธิการสักเท่าไร หากหนังสือ หรือหลักสูตรฝึกอบรมใช้คำ ๆ นี้ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะขายไม่ออก หนังสือ หลักสูตรฝึกอบรมในท้องตลาดและคนส่วนใหญ่จึงยังคงนิยมใช้คำทับศัพท์ว่า “โลจิสติกส์” หรือ “ลอจิสติกส์”

.

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าในเมื่อคนส่วนใหญ่ก็พอจะเข้าใจความหมายและขอบเขตของคำ ๆ นี้กันพอสมควรแล้วก็อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติคำไทยขึ้นมาเพียงเพื่อสร้างความเป็นไทยไปพร้อม ๆ กับความสับสนเพิ่มเข้าไปอีก แต่อาจเพียงแค่หารือร่วมกันนักภาษาศาสตร์เพื่อบัญญัติให้ตรงกันว่าจะให้เขียนว่า “โลจิสติกส์” หรือ “ลอจิสติกส์” กันแน่เพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานเดียวกันในการเขียน

.

เพราะเท่าที่ผมสังเกตจำนวนคนที่เขียนคำทั้งสองยังต่างกันไม่มากนักแบบเป็นเอกฉันท์ (คำว่า “จิสติกส์” ส่วนใหญ่เขียนเหมือนกันแล้ว) ส่วนการพูดนั้นจะมีปัญหาน้อยหน่อย เพราะคงไม่มีใครมาคอยถามว่าเมื่อตะกี้ท่านพูดว่า “โล” หรือ “ลอ” กันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดเร็ว ๆ รัว ๆ ฟังดูแล้วก็มั่ว ๆ ผ่าน ๆ หูกันไปไม่มีหลักฐานปรากฏหลังการพูด แต่การเขียนนั้นปรากฏเป็นหลักฐานถาวรตลอดไป

.

ด้วยความที่ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ ผมเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษ 3 เล่ม เพื่อดูคำอ่านออกเสียงของคำว่า Logistics ว่าควรออกเสียงอย่างไรกันแน่ ทั้ง 3 เล่มใช้คำว่า “โล” ส่วนคำว่า “จิสติกส์” เขียนไม่เหมือนกันเพราะคำในพจนานุกรมเป็นคำอ่านเพื่อออกเสียงไม่ใช่ภาษาเขียน และผมได้โทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถานแล้วก็ได้รับคำแนะนำให้เขียนว่า “โลจิสติกส์” เช่นกัน     

.

ส่วนคำว่า Logistics ในภาษาอังกฤษก็ต้องลงท้ายด้วย “s” เสมอเพราะเป็นศาสตร์เป็นสาขาวิชา ไม่ใช่เติม s เพราะเป็นพหูพจน์ ดังนั้นไม่ว่าจะเปิดหลักสูตรเพียงหลักสูตรเดียวหรือเขียนหนังสือเพียงเล่มเดียวเกี่ยวกับโลจิสติกส์ก็ต้องมี s เสมอ (Operations Management หรือ การจัดการงานปฏิบัติการ ก็ต้องมี s เช่นกัน)

.

ปัจจุบันแนวคิดในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานได้รับการพัฒนาไปจนกลายเป็นปรัชญาในการบริหารจัดการ ด้วยความเป็นปรัชญานี้เองที่ทำให้ขอบเขตและการประยุกต์ใช้โลจิสติกส์และโซ่อุปทานสามารถขยายออกไปได้อย่างมากจนเป็นสหวิชาที่แทบจะครอบคลุมธุรกรรมเกือบทั้งหมดในองค์กร ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การตลาด การขาย การบริการลูกค้า งานลูกค้าสัมพันธ์ การจัดซื้อจัดจ้าง การวางแผนและควบคุมการผลิต

.

การผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า การจัดส่ง การรับสินค้าคืน การบริหารความเสี่ยง การบริหารต้นทุน บัญชี การเงิน ระบบสารสนเทศ ฯลฯ และด้วยแนวคิดและขอบเขตที่กำลังพัฒนาออกไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและยังไม่อิ่มตัวนี้เองก็ทำให้ยังไม่มีนิยามของทั้งคำว่าโลจิสติกส์ และคำว่าโซ่อุปทานของบุคคลใดหรือองค์กรใดที่ได้รับการยอมรับกันอย่างค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ในปัจจุบัน  

.

นิยามของโซ่อุปทานที่ได้รับการอ้างอิงถึงมากที่สุดนิยามหนึ่งได้แก่นิยามของ Global Supply Chain Forum (GSCF) ที่นิยามว่า “การบูรณาการกระบวนการทางธุรกิจที่สำคัญตั้งแต่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายไปถึงซัพพลายเออร์ขั้นแรกเพื่อส่งมอบสินค้า บริการ และสารสนเทศที่มีคุณค่าให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ” (Lambert et al., 2005)

.

ในบทความนี้ผมจึงจะไม่นิยามหรือให้ความหมายของคำศัพท์ต่าง ๆ ในแวดวงโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในเชิงวิชาการที่มีความกระชับและรัดกุมแต่อาจเข้าใจได้ยาก เพื่อไม่ให้ถูกโต้แย้งจากผู้รู้ทางด้านนี้ แต่จะอธิบาย ขยายความ เปรียบเทียบความหมาย และขอบเขตของคำศัพท์ต่าง ๆ รวมถึงยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้แบบกว้าง ๆ ในมุมมองของนักปฏิบัติการที่น่าจะช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจน เกิดความเข้าใจที่ง่ายและตรงกันมากกว่า       

.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลทั่วไปหรือผู้ที่ยังใหม่ในแวดวงโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ยังอาจสับสนและใช้คำศัพท์เหล่านี้โดยที่ไม่เข้าใจในความหมายนั้น ๆ อย่างแท้จริง ในบทความนี้ผมจะขอใช้คำหรือคำย่อบางคำเป็นภาษาอังกฤษตรง ๆ ในการเขียนเป็นหลักโดยมีการแปลเป็นภาษาไทยประกอบในกรณีที่คำ ๆ นั้นเป็นคำภาษาอังกฤษที่กระชับและเข้าใจได้ง่าย ๆ แต่เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วอาจฟังติด ๆ ขัด ๆ และเยิ่นเย้อกว่า คำที่ผมจะนำเสนอในที่นี้มี 3 คู่ได้แก่

.
คู่ที่ 1 Customer Satisfaction Index (CSI) v.s. Service Level Agreement (SLA)
คู่ที่ 2 Inventory Management (IM) v.s. Warehouse Management (WM)
คู่ที่ 3 First-Party Logistics Service Provider v.s. Second-Party Logistics Service Provider
.
Customer Satisfaction Index (CSI) v.s. Service Level Agreement (SLA)

CSI (Customer Satisfaction Index) หรือ “ดัชนีความพึงพอใจของลูกค้า” เป็นคำที่ใช้กันค่อนข้างกว้างขวางในแวดวงธุรกิจทั่วไปทั้งในภาคการผลิตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ คนส่วนใหญ่จึงมีความคุ้นเคยและพบเห็น CSI ในชีวิตประจำวัน ได้มากกว่า SLA (Service Level Agreement) หรือ “ข้อตกลงระดับการให้บริการ”  

.

SLA ยังเป็นศัพท์ที่ยังคงใช้กันอย่างจำกัดในบางวงการเท่านั้น คนทั่วไปรวมถึงคนในแวดวงโลจิสติกส์และโซ่อุปทานจำนวนมากยังมีความสับสนและไม่เข้าใจในความแตกต่างระหว่างคำทั้งสองนี้ ในบางกรณีคำทั้งสองยังถูกใช้แทนกัน สลับกัน หรือใช้ในบริบทที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม

.

CSI เป็นตัวเลขหรือดัชนีที่ใช้ชี้วัดหรือแสดงค่าความพึงพอใจของลูกค้าต่อสินค้าหรือบริการ ตัวอย่าง CSI ที่เรามักพบเห็นกันบ่อย ๆ เช่น CSI ที่โรงพยาบาลต่าง ๆ มักสำรวจ และนำค่าที่ได้มาแสดงให้คนไข้เห็นเพื่อแสดงให้คนไข้เห็นถึงความใส่ใจของโรงพยาบาลในการวัดและปรับปรุงการให้บริการ หรือเพื่อกระตุ้นให้พนักงานปรับปรุงการให้บริการของตนเองเพื่อยกระดับให้ค่า CSI สูงขึ้น     

.

นอกจากนี้เราอาจพบเห็นความพยายามวัด CSI จากแบบสอบถามที่ร้านอาหารต่าง ๆ มักให้ลูกค้ากรอกฆ่าเวลาระหว่างที่ต้องนั่งรออาหารหรือรอเช็คบิลเป็นเวลานาน ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงร้าน รวมถึงแบบสอบถามประจำปีที่บริษัทต่าง ๆ มักส่งไปสอบถามความพึงพอใจของลูกค้าต่อสินค้าหรือบริการของบริษัทของตนเอง แต่มักไม่ค่อยได้นำตัวเลขมาแสดงให้ลูกค้าเห็นหรือแจ้งกลับให้ทราบ หรือแม้กระทั่งอาจสร้างภาพทำ ๆ กันไปตามนโยบาย โดยไม่ได้นำผลการสำรวจ CSI ไปใช้ประโยชน์เพื่อการปรับปรุงกิจการอย่างจริงจังเลยก็ได้เพราะ CSI มักไม่สามารถให้คุณให้โทษโดยตรงกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้

.

CSI มักวัดจากผู้บริโภครายย่อยที่มีจำนวนมากซึ่งอาจมีความต้องการเฉพาะแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ลูกค้าเหล่านี้มักมีความถี่ในการซื้อซ้ำน้อย จึงต้องวัดความพึงพอใจจากความต้องการโดยภาพรวมของลูกค้าส่วนใหญ่ บริษัทที่ดีก็อาจหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าจากการทำการวิจัยหรือสำรวจความต้องการของลูกค้าก่อน เช่น อาจสัมภาษณ์กลุ่มลูกค้า (Focus Group) ก่อนออกแบบแบบสอบถามหรือตัวชี้วัด CSI

.

ในขณะที่บริษัทที่แย่แบบไม่หน่อยก็มักสอบถามกันไปแบบตามมีตามเกิด โดยมักหลับตานั่งเทียนจินตนาการเอาว่าลูกค้าต้องการอะไรแล้วก็อุปโลกน์กันขึ้นมาเป็น CSI ซึ่งในความเป็นจริงแล้วลูกค้าอาจไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นหรือผลงานด้านนั้นเลย หรือยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ลูกค้าต้องการอาจไม่ได้ถูกถามหรือถูกวัดใน CSI เลยก็เป็นไปได้ กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือสิ่งที่ลูกค้าต้องการอาจไม่ได้วัด  

.

ในขณะที่สิ่งที่วัดลูกค้าอาจไม่ได้ต้องการก็เป็นไปได้นั่นเอง แบบประเมินความพึงพอใจในการฝึกอบรมที่หน่วยงานต่าง ๆ คิดขึ้นมาเองหรือก็อปปี้ต่อ ๆ กันมา หรือแม้กระทั่งโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจ เช่น คะแนนความนิยมในผลงานของรัฐบาลในด้านต่าง ๆ ก็ถือเป็นการวัด CSI เช่นเดียวกัน 

.

ตามทฤษฎี Principal Agent Theory นั้น SLA เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างลูกค้า (Principal) และผู้ให้บริการ (Agent) โดยอาจเป็นข้อตกลงที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ เดิมนั้น SLA เป็นคำที่มักใช้ในการวัดผลการปฏิบัติงานในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เช่น วัดเปอร์เซ็นต์ในการเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตสำเร็จในครั้งแรก     

.

วัดความถี่ในการล่มของเครือข่ายโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต และความรวดเร็วในการซ่อมบำรุง เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการนำ SLA มาประยุกต์ใช้ในการชี้วัดผลการปฏิบัติงานในวงการโลจิสติกส์อย่างกว้างขวาง เช่น การวัด Case Fill Rate การจัดส่งสินค้าต้องเป็นทั้งแบบ In-full และ On-time (คือต้องทั้งจัดส่งครบและตรงเวลา) เป็นต้น

.

SLA เป็นการวัดผลการปฏิบัติงานในด้านที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ เป็นการมองจากมุมมองของลูกค้าเป็นหลัก กล่าวคือลูกค้าต้องการอะไรก็วัดตัวนั้น ไม่ใช่สักแต่ว่าวัด ๆ กันไปตามใจคนวัดหรือผู้ให้บริการเอง คำสำคัญของ SLA คือคำว่า Agreement (Service Level เป็นเพียงคำคุณศัพท์ขยาย)

.

ซึ่งมีนัยว่า SLA เป็นข้อตกลงที่ได้ทำความเข้าใจร่วมกัน ตรงกัน และเป็นที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายระหว่างลูกค้าและผู้ให้บริการว่าผลการปฏิบัติงานที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ นั้นคืออะไร และจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด ถ้าจะทำให้ SLA เป็นทางการมากขึ้นก็อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นบันทึกช่วยจำ (Memorandum of Understanding: MOU) ในการให้บริการระหว่างฝ่ายผู้ให้บริการและลูกค้าเพื่อทำให้มีความเข้าใจตรงกันจริง ๆ ช่วยกันลืม .

.

ทำให้รู้สึกเป็นทางการ และช่วยกระตุ้นความมุ่งมั่นในการให้และรับบริการระหว่างสองฝ่ายให้มากขึ้นได้ หรืออาจจะทำให้เป็นทางการมากขึ้นไปอีกโดยระบุเป็นสัญญา (Contract) ที่สามารถให้คุณให้โทษจากผลการวัด SLA เพื่อกระตุ้นการทำงานหรือจูงใจผู้ให้บริการให้ทำงานอย่างเต็มความสามารถขึ้นไปอีก และช่วยลดความเสียหายของลูกค้าหากผู้ให้บริการไม่สามารถปฏิบัติตาม SLA ที่ได้ระบุไว้ได้

.

ตัวอย่างเช่น หากผู้ให้บริการไม่สามารถปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้ตาม SLA (เช่น ส่งมอบสินค้าได้ครบถ้วนในเวลาที่กำหนด) ก็อาจถูกผู้รับบริการปรับหรือแม้กระทั่งยกเลิกสัญญาว่าจ้างได้ ในทางตรงกันหากผู้ให้บริการมีผลการปฏิบัติงานที่ดีกว่าที่ได้ระบุไว้ก็อาจได้รับรางวัลเป็นการตอบแทนเพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจในการปรับปรุงการให้บริการอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน ด้วยความเป็นข้อตกลงที่ค่อนข้างชัดเจนและเป็นทางการนี้เอง

.

SLA จึงมักถูกทำร่วมระหว่างผู้ให้บริการกับลูกค้าเฉพาะรายหรือเฉพาะกลุ่ม แต่ในบางกรณี SLA ก็อาจทำระหว่างผู้ให้บริการและลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก โดยไม่ได้มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ แต่ประกาศให้สาธารณชนทั่วไปรับทราบโดยทั่วกันก็ได้ เช่น กรณีที่ร้านพิซซ่ารับประกันการจัดส่งพิซซ่าภายใน 30 นาที หากส่งไม่ได้ก็จะให้ลูกค้าได้รับประทานพิซซ่าฟรี ในกรณีนี้ก็ถือได้ว่าเป็น SLA ระหว่างร้านพิซซ่าและสาธารณชนได้เช่นกัน

.

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบระหว่าง CSI กับ SLA

.
Inventory Management (IM) v.s. Warehouse Management (WM)

ผมเชื่อว่าหลายท่านยังคงสับสนระหว่างคำว่า Inventory Management (IM) หรือ “การจัดการสินค้าคงคลัง” กับ Warehouse Management (WM) หรือ “การจัดการคลังสินค้า” ในขณะที่หลายท่านที่ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองสับสนก็อาจสับสนแบบไม่รู้ตัวโดยยังเข้าใจผิดคิดว่าเรื่องทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเรื่องทั้งสองนี้เป็นคนละเรื่องเดียวกันที่เพียงแต่มีความเกี่ยวข้องกันเท่ากันและไม่สามารถใช้คำทั้งสองนี้แทนกันได้    

.

แม้กระทั่งในหลักสูตรฝึกอบรมหลายหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาทั้งสองที่ปรากฏอยู่ในท้องตลาด ถ้าเราสังเกตชื่อหลักสูตรเปรียบเทียบกับคำบรรยายหรือหัวข้อในหลักสูตรจากเอกสารประชาสัมพันธ์หลักสูตรแล้วก็จะอาจพบว่ายังมีการใช้คำทั้งสองแทนกันหรือสลับกันเสมือนว่าเป็นเรื่องเดียวกันอยู่บ้าง

.

Inventory หรือ Stock ในภาษาอังกฤษนั้นเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน แต่อาจใช้ต่างกันตามความเหมาะสมของบริบทที่กำลังพูดถึงเหมือนคำแปลของมันในภาษาไทย เช่น คำว่าสินค้าคงคลัง พัสดุคงคลัง วัสดุคงคลัง สต็อก ที่ล้วนแล้วแต่มีความหมายเดียวกันแต่ใช้ในบริบทหรือกาลเทศะที่แตกต่างกัน IM จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการสินค้าคงคลังโดยเน้นการวางแผน (Plan) เฝ้าระวัง (Monitor) และควบคุม (Control) สินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับเหมาะสม เช่น พิจารณาว่าจะเติมเต็ม (Replenish) สินค้าคงคลังเมื่อไร และเป็นจำนวนเท่าไร

.

IM เป็นงานที่เกี่ยวกับ Information Flow (การไหลของสารสนเทศ) เป็นหลัก เป็นงานในระดับเสนาธิการที่ต้องอาศัยข้อมูลต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรในการคิดวิเคราะห์ เพื่อวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับตัวสินค้าเป็นหลักว่าจะ

.

- จัดเก็บอะไร (What)
- เก็บไปทำไม (Why)
- เก็บหรือเติมเต็มสินค้าเมื่อไร (When)
- เก็บจำนวนเท่าไร (How much)

.

พนักงานที่ทำงานในด้าน IM จึงต้องมีทักษะในการคิดคำนวณและวิเคราะห์ข้อมูลและสารสนเทศค่อนข้างมาก ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับงาน IM จึงมักเกี่ยวกับการวางแผน เช่น เจ้าหน้าที่วางแผนพัสดุ (Material Planner) เจ้าหน้าที่วางแผนการผลิต (Production Planner) เป็นต้น

.

WM เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับจ่าย เคลื่อนย้าย และจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าเป็นหลัก แต่อาจมีประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคลังสินค้าเข้ามาเสริม เช่น การเลือกทำเลที่ตั้ง ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในคลังสินค้า ฯลฯ 

.

WM เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ Material Flow (การไหลของวัสดุ) เป็นสำคัญ จึงเป็นงานในระดับปฏิบัติการที่คอยปฏิบัติตามแผนหรือการตัดสินใจที่เป็นผลของ IM ทั้งนี้เนื่องจากในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องการ Information Flow เพื่อการตัดสินใจขับเคลื่อน Material Flow ในประเด็นด้านการจัดการ WM นั้นเน้นการตอบคำถามว่าจะ

.
- จัดเก็บที่ไหน (Where)
- เก็บอย่างไร (How)
- ใครเป็นคนจัดเก็บจัดจ่าย (Who)    
.

พนักงานที่ทำงานในด้าน WM จึงต้องการทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และตัดสินใจน้อยกว่า IM โดยพนักงาน WM มักต้องการข้อมูลภายใน (เช่น ชนิด ขนาด ปริมาณสินค้า ผังพื้นที่คลังสินค้า) มากกว่าข้อมูลภายนอกองค์กร (เช่น อุปสงค์ของลูกค้าและอุปทานของสินค้าในตลาด) แต่ต้องการทักษะในการปฏิบัติงานด้านการเคลื่อนย้ายและจัดเก็บพัสดุคงคลังอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า

.

โดยสรุปจึงอาจจะกล่าวได้ว่า IM นั้นเป็นเสมือนหัวในขณะที่ WM นั้นเป็นเสมือนหาง (หรือ IM เป็น สมอง และ WM เป็น แขนขา) ถ้าหัวส่ายไปทางไหน หางก็ต้องกระดิกไปตามนั้น จากความแตกต่างระหว่าง IM และ WM จะทำให้เราพอมองเห็นภาพและสามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการสินค้าคงคลังที่เรียกว่า Inventory Management System (IMS) และซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการคลังสินค้าหรือที่เรียกว่า Warehouse Management System (WMS) ได้ชัดเจนมากขึ้นว่า WMS นั้นจะมีความเก่งกาจและสามารถในการจัดการกับการขับเคลื่อน Material Flow มากกว่า เช่น

.

- สามารถระบุตำแหน่งหรือสถานที่ในคลังสินค้าได้ว่าจะจัดเก็บสินค้าที่หรือจัดจ่ายสินค้าจากตำแหน่งไหน หรือ Rack ช่องใดในคลังสินค้า ตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในซอฟต์แวร์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรับ จัดเก็บ จัดจ่าย หรือเคลื่อนย้ายสินค้าคงคลัง เช่น สินค้าประเภทเดียวกันอยู่ใกล้กัน สินค้าที่เคลื่อนไหวเร็วอยู่ใกล้ประตูและชั้นล่าง ๆ ของชั้นวาง สินค้าที่มีมูลค่าสูงหรือวัตถุอันตรายอยู่ในโซนที่มีการควบคุมเป็นพิเศษ เป็นต้น

.

- สามารถบันทึกรุ่นการผลิต (Batch Code) และอายุสินค้า (Shelf Life) และจ่ายสินค้าได้ตามอายุหรือเกณฑ์ก่อนหลัง เช่น เข้าก่อนออกก่อน (Fist -In-First -Out: FIFO) หรือหมดอายุก่อนออกก่อน (First-Expiry-First-Out: FEFO)

.

- สามารถบอกสถานะและรายละเอียดต่าง ๆ ของสินค้าที่จัดเก็บได้เป็นอย่างดี เช่น สินค้าดี สินค้าเสียหาย สินค้ารับคืน สินค้ากักกัน รอตรวจสอบคุณภาพ รอผลการเพาะเชื้อ ฯลฯ
- ฯลฯ

.

ในขณะที่ IMS จะรู้เพียงว่ามีสินค้าแต่ละชนิดอยู่ในคลังจำนวนเท่าไร แต่ไม่ทราบว่าจัดเก็บอยู่ที่ไหน สินค้ามีอายุเท่าไร อยู่ในสถานะใด และควรจ่ายสินค้าชิ้นไหนออกไปก่อน ฯลฯ คลังสินค้าที่ใช้ IMS จึงต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวของพนักงานคลังสินค้าในการจดจำและตัดสินใจในการจัดเก็บและจัดจ่ายสินค้าเป็นหลัก ด้วยข้อจำกัดนี้เอง การจัดเก็บสินค้าของคลังสินค้าที่ใช้ IMS จึงต้องจัดเก็บสินค้าแต่ละชนิดรวมกันในพื้นที่ที่ได้ระบุไว้ให้เก็บสินค้านั้น ๆ

.

โดยเฉพาะเพื่อให้พนักงานสามารถจดจำสถานที่เก็บสินค้าได้ง่าย หรือเรียกว่าระบบ Fixed Bin ไม่สามารถจัดเก็บสินค้าชนิดเดียวกันแยกกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ หรือ Rack ช่องต่าง ๆ ในคลังสินค้าแบบที่เรียกว่า Random Bin ได้ ถึงแม้ว่าซอฟต์แวร์ IMS บางตัวอาจทำงานข้างต้นได้บ้าง (เช่น บันทึกรุ่นการผลิตได้ หรือแยกพื้นที่จัดเก็บสินค้าได้) แต่ก็ทำได้เพียงหยาบ ๆ ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก

.

ซอฟต์แวร์ IMS จึงเหมาะกับบริษัทที่มีสินค้าไม่มากชนิด ไม่ต้องการการรับจ่ายสินค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงนัก ซอฟต์แวร์ที่ใช้บันทึกสต็อกในโรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จึงเป็นเพียงซอฟต์แวร์ระดับ IMS ซึ่งอาจเป็นเพียงซอฟต์แวร์ทางบัญชีธรรมดา ๆ ซึ่งมีราคาถูกว่า WMS มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานส่วนใหญ่มักผลิตสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด     

.

ส่วนใหญ่มักพยายามบริหารจัดการด้วยระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just-in-time: JIT) เพื่อลดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้าคงคลังทำให้มีปริมาณสินค้าคงคลังน้อย คลังสินค้าที่ใช้ WMS ส่วนใหญ่มักมีชนิดสินค้าที่จัดเก็บมาก (Stock Keeping Unit: SKU) ใช้เก็บสินค้ามีอายุการใช้งาน และต้องการการรับจ่ายสินค้าอย่างรวดเร็วเนื่องจากพยากรณ์ความต้องการสินค้าจากลูกค้าได้ยาก เช่น คลังสินค้าของบริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

.

ในธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่แม้ว่าจะมีสินค้าจำนวนมาก แต่ซอฟต์แวร์ POS (Point of Sales) ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในร้านสะดวกซื้อทั่วไปก็ยังเป็นซอฟต์แวร์ระดับ IMS ที่ตัวซอฟต์แวร์เองรู้เพียงว่ามีสินค้าอะไรจำนวนเท่าไร แต่ไม่รู้ว่าจัดเก็บไว้ที่ตำแหน่งไหนหรือชั้นวางไหนในร้าน ทั้งนี้เนื่องจากในธุรกิจนี้ลูกค้าต้องเป็นผู้หยิบสินค้าเอง

.

จึงต้องมีการจัดวางสินค้าในตำแหน่งที่แน่นอนด้วยระบบ Fixed Bin และอาจจัดกลุ่มสินค้าตามประเภทเพื่อให้ลูกค้าสามารถจดจำ มีความคุ้นเคยและสะดวกในการไปหยิบและเลือกซื้อสินค้าได้ด้วยตนเอง ตำแหน่งหรือผังในการจัดวางและจัดเรียงสินค้าต่าง ๆ จึงอาจถูกบันทึก Manual ในกระดาษแยกออกมาต่างหาก

.
ตารางที่ 2 เปรียบเทียบระหว่าง IM กับ WM

.
First v.s. Second Party Logistics Service Provider

3PL หรือ TPL (Third-Party Logistics Service Provider) หรือ “ผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่ 3” เป็นอีกคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการโลจิสติกส์ในปัจจุบันเพื่อใช้เรียกผู้ที่ให้บริการงานด้านโลจิสติกส์ เช่น งานบริหารคลังสินค้าหรืองานขนส่งแก่ผู้ใช้บริการซึ่งอาจเป็นลูกค้าหรือซัพพลายเออร์ก็ได้ โดย 3PL ให้บริการในฐานะที่เป็นบุคคลที่สามหรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงในการดำเนินธุรกิจระหว่างลูกค้ากับซัพพลายเออร์          

.

ผมเชื่อว่าคนในแวดวงโลจิสติกส์ส่วนใหญ่คงเคยได้ยินหรือรู้จัก 3PL ในระดับหนึ่งแล้ว ผมจึงไม่ขออธิบายเพิ่มเติมมากไปกว่านี้ นอกจาก 3PL แล้วปัจจุบันขอบเขตการให้บริการงานโลจิสติกส์โดยบุคคลภายนอกยังขยายไปถึงการใช้ 4PL (Forth-Party Logistics Service Provider) หรือ “ผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่ 4” ซึ่งเป็นคำที่ Accenture ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียงใช้เพื่อแทน (ตนเอง) บริษัทที่ปรึกษาที่เป็นผู้ให้บริการปรึกษาแนะนำในการพัฒนา  

.

ปรับปรุงหรือแก้ปัญหางานด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้ลูกค้า หรือใช้แทนผู้ให้บริการในนามของลูกค้าในการควบคุมและจัดการสารสนเทศเพื่อสั่งการให้ 3PL ทำงานหรือให้บริการงานโลจิสติกส์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานเกี่ยวกับพัสดุ (ใช้ Information Flow ในการควบคุม 3PL ให้ขับเคลื่อน Material Flow) ด้วยความที่เป็นแนวคิดและศัพท์ที่ยังค่อนข้างใหม่ ทำให้ความเข้าใจ และมุมมองเกี่ยวกับขอบเขตและความหมายของ 4PL ยังมีความไม่ตรงกันอยู่มาก

.

แต่มีใครเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าทำไมอยู่ดี ๆ ก็มีบุคคลที่ 3 และ 4 หรือมือที่ 3 และ 4 โผล่ขึ้นมา แล้วใครล่ะคือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่ 1 (First-party Logistics Service Provider: 1PL) และใครคือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่ 2 (Second-party Logistics Service Provider: 2PL) แล้วทำไมจึงมีแต่คนพูดถึง 3PL แต่กลับไม่มีใครพูดถึง 1PL กับ 2PL กันเลย 

.

การที่ไม่มีใครพูดถึง 1PL และ 2PL นั้นไม่ใช่เพราะ 1PL และ 2PL นั้นไม่สำคัญ แต่ในทางตรงกันข้ามบุคคลทั้งสองกลับมีความสำคัญอย่างยิ่งและยาวนานต่องานโลจิสติกส์ เนื่องจากเป็นรูปแบบการให้บริการโลจิสติกส์แบบดั้งเดิมที่ทำกันมานมนานแล้ว นานมากตั้งแต่เริ่มมีธุรกรรมด้านโลจิสติกส์จนคนส่วนใหญ่ลืมที่จะคิดถึง 1PL และ 2PL กันแล้ว ผมจึงขออธิบายเพื่อเป็นความรู้รอบตัวและทบทวนถึงรูปแบบการให้บริการโลจิสติกส์โดยคนกลุ่มต่าง ๆ อีกครั้ง

.

หากเราพอจำไวยากรณ์ภาษาอังกฤษพื้นฐานกันได้ก็คงพอจำได้ว่าคุณครูเคยสอนเราว่าบุรุษที่ 1 หมายถึง ฉัน หรือ I บุรุษที่ 2 หมายถึง คุณหรือ You และบุรุษที่ 3 หมายถึง เขา เธอ หรือ มัน หรือ He, She, It พอมาถึงตรงนี้ก็คงพอจะเดา ๆ กันออกแล้วนะครับว่า 1PL กับ 2PL นั้นน่าจะหมายถึงใคร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักที่ทำให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการในธุรกิจก็คือลูกค้าผู้มีอุปสงค์ และซัพพลายเออร์ผู้ตอบสนองอุปสงค์ของลูกค้าด้วยอุปทานของตนเอง

.

ดังนั้น 1PL ก็หมายถึงซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้ทำธุรกรรมทางโลจิสติกส์นั้นด้วยตนเอง (Hertz and Alfredsson, 2003) เช่น ผู้ขายสินค้าเป็นผู้ขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าด้วยตนเอง ซึ่งกิจกรรมโลจิสติกส์รูปแบบนี้มักเป็นรูปแบบหลักทางธุรกิจที่เรามักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ส่วน 2PL นั้นก็หมายถึงลูกค้าเป็นผู้ทำธุรกรรมด้านโลจิสติกส์นั้นเอง (Hertz and Alfredsson, 2003) เช่น ลูกค้าเป็นผู้ที่ไปรับสินค้าจากซัพพลายเออร์ด้วยตนเอง รูปแบบธุรกรรมโลจิสติกส์แบบนี้อาจมีน้อยกว่าแบบแรก

.

ธุรกิจที่เราพอจะคุ้นเคยก็ได้แก่การที่ร้านค้าปลีกหรือโชห่วยไปซื้อของจากห้างค้าส่งแมคโครมาขายด้วยตนเอง หรือเทคนิคการลดต้นทุนการขนส่งด้วยการทำ Round Trip หรือ Back Hauling ที่เมื่อซุปเปอร์สโตร์ เช่น เทสโก้ นำสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าของตนเองส่งไปยังสาขาต่าง ๆ ด้วยรถบรรทุก

.

เมื่อส่งสินค้าเสร็จแล้วขากลับเพื่อไม่ต้องตีรถเปล่ากลับมาแล้วเสียค่าน้ำมันและโสหุ้ยอื่น ๆ โดยเปล่าประโยชน์ รถบรรทุกของซุปเปอร์สโตร์ก็จะไปแวะที่โรงงานของซัพพลายเออร์ที่เป็นทางผ่านเพื่อรับสินค้าไปส่งยังศูนย์กระจายสินค้าของตนด้วยตนเอง วิธีการนี้จะช่วยให้ซัพพลายเออร์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าด้วยตนเอง และสามารถนำต้นทุนที่ลดได้ส่วนหนึ่งมาเป็นส่วนลดให้กับซูเปอร์สโตร์เป็นการตอบแทน

.

เทคนิคการขนส่งเช่นนี้ก็ถือว่าซุปเปอร์สโตร์มีบทบาทเป็น 2PL ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ระบบการค้าแบบเอเย่นต์ ที่เอเย่นต์มักต้องไปรับสินค้าจากโรงงานเอง (เช่น เอเย่นต์สุรา หรือเครื่องดื่มชูกำลัง) หรือการที่ลูกค้าต้องไปโอนจ่ายเงินค่าโทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา หรือบริการสาธารณูปโภคอื่น ๆ ด้วยตนเองที่ธนาคารหรือจุดชำระเงินตามร้านสะดวกซื้อ ในกรณีนี้ก็ถือได้ว่าลูกค้าเป็น 2PL ได้เช่นกัน

.
ข้อคิดท้ายเรื่อง

การสื่อสารและการประสานงาน (Communication and Coordination: 2C) นั้นถือเป็นหัวใจที่สำคัญยิ่งของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และการจะสื่อสารและประสานงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็ต้องการการเข้าใจความหมายของสิ่งที่พูดถึงกันอยู่อย่างถูกต้องตรงกัน สำหรับผมซึ่งไม่ใช่นักภาษาศาสตร์แล้วไม่ว่าจะใช้คำที่เป็นทางการ คำจากภาษาต่างชาติ ภาษาถิ่น หรือแม้กระทั่งภาษาที่เข้าใจเฉพาะในกลุ่ม แต่ถ้าเข้าใจตรงกันและใช้ได้ถูกกาลเทศะก็ถือว่าใช้ได้   

.

แม้ว่าคำว่า Supply Chain Management เองที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วก็ยังคงมีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติใช้คำอื่น ๆ แทนในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เช่น คำว่า Demand Chain Management, Supply Network Management, Supply Pipeline Management, Network Sourcing, Value Chain Management, Value Stream Management (Vanichchinchai and Igel, 2009)

.

ในทางกลับกันหากใช้ภาษาหรือคำแปลที่สละสลวย ดูดี แต่กลุ่มคนที่ฟังหรืออ่านกลับไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง นอกจากจะไร้ซึ่งประโยชน์แล้วยังอาจนำมาซึ่งความเสียหายจากความเข้าใจผิดหรือเข้าใจไม่ตรงกันได้อีกด้วย

.

เหมือนเพลงผู้ใหญ่ลีซึ่งล้อเลียนการปกครองระดับท้องถิ่นของไทยในอดีตที่มีท่อนฮุคที่ผมยังคงขำและจดจำได้เป็นอย่างดีว่า “ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด สุกรนั้นไซร้ คือหมาน้อยธรรมดา หมาน้อย ๆ ธรรมดา” จะมีคนจำนวนสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่รู้ว่าคำว่า “บูรณาการ” ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ตามสื่อต่าง ๆ และเป็นชื่อวิชา ๆ หนึ่งที่คนรุ่นผมเรียนใน.ชั้นประถมนั้นหมายความว่าอะไร และแตกต่างจากคำว่า “บูรณะ” หรือไม่

.

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผมไม่สนับสนุนการใช้ภาษาที่สละสลวยหรือความมีสุนทรียภาพทางภาษา เพียงแต่ต้องการสนับสนุนให้มีการประชาสัมพันธ์และสื่อสารความหมายให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างแท้จริงและทั่วถึงมากขึ้นเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วเหนือกว่าความรู้ในคำแปลหรือความหมายของสิ่งต่าง ๆ แล้วสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือการรู้จักประยุกต์ใช้สิ่งต่าง ๆ ที่ได้รู้มาเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและสูงสุด ไม่ใช่เป็นแค่เพียงแค่ “รู้ไว้ใช่ว่า” เท่านั้น แต่ควรจะต้อง “รู้ไว้ใช้เป็น” อีกด้วย

.
ข้อมูลอ้างอิง

1. Lambert, D.M., Garcia-Dastugue, S.J. and Croxton, K.L. (2005), “An evaluation of process-oriented supply chain management frameworks”, Journal of Business Logistics, Vol.26, No.1, pp.25-51
2. Mills, J., Schmitz, J. and Frizelle, G. (2004), “A strategic review of supply networks”, International Journal of Operations & Production Management, Vol. 24 No. 10, pp. 1012-36
3. Vanichchinchai, A. and Igel, B. (2009), “Total quality management and supply chain management: Similarities and differences”, The TQM Journal, Vol.21 No.3, pp.249-260
4. Varma, S., Wadhwa, S. and Deshmukh, S.G. (2006), “Implementing supply chain management in a firm: issues and remedies”, Asia Pacific Journal of Marketing and Logistics, Vol. 18 No. 3, pp. 223-43
5. Hertz, S. and Alfredsson, M. (2003), “Strategic development of third party logistics providers”, Industrial Marketing Management, Vol. 32, pp. 139– 149

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด