เนื้อหาวันที่ : 2010-03-22 11:43:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4566 views

วิวัฒนาการเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนต่อภาคอุตสาหกรรม (ตอนจบ)

ปัจจุบันแสงซินโครตรอนได้ถูกนำไปใช้งานวิจัยหลายสาขาทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ตลอดจนในขั้นตอนของขบวนการผลิตในอุตสาหกรรม การที่แสงซินโครตรอนเป็นที่ยอมรับว่ามีประโยชน์ยิ่งในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของแสงซินโครตรอนที่ผลิตโดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน

ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

.

.

ณ ปัจจุบันแสงซินโครตรอนได้ถูกนำไปใช้งานวิจัยหลายสาขาทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ตลอดจนในขั้นตอนของขบวนการผลิตในอุตสาหกรรม การที่แสงซินโครตรอนเป็นที่ยอมรับว่ามีประโยชน์ยิ่งในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของแสงซินโครตรอนที่ผลิตโดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนได้แก่

.

* แสงซินโครตรอนเป็นแสงที่มีความเข้มสูงมาก (High Intensity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงที่ได้จากอันดูเลเตอร์ ซึ่งมีความเข้มสูงกว่าแสงที่ได้จากแม่เหล็กสองขั้วประมาณ 1000-10,000 เท่า

.

* แสงซินโครตรอนมีความคมสูง (Highly Collimated) นั่นคือแสงมีการลู่ออกจากลำแสงน้อยมาก การที่แสงมีความคมสูงรวมกับมีความเข้มสูง จึงทำให้แสงซินโครตรอนมีความสว่างจ้าสูง  (High Brightness) โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงซินโครตรอนที่ผลิตจากอันดูเลเตอร์นั้น จะมีความสว่างจ้าสูงมาก

.

ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีปรากฏการณ์แทรกสอดของแสงที่ปลดปล่อยออกมาในขณะที่อิเล็กตรอนมีการเลี้ยวโค้งแต่ละครั้ง ในรูปที่ 8 แสดงให้เห็นว่าแสงซินโครตรอนที่ผลิตโดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนโดยทั่วไปมีความ สว่างจ้ากว่ารังสีเอกซ์ ที่ผลิตโดยหลอดผลิตรังสีเอกซ์ทั่วไป

.

รูปที่ 8 แสดงสเปกตรัมของแสงซินโครตรอน เปรียบเทียบกับรังสีเอกซ์พลังงานสูงจากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ ตามห้องปฏิบัติการทั่วไป (Soft X-ray Spectroscopy: Materials Characterization on a Microscale, ALS, May 1997)

.

* แสงซินโครตรอนมีสเปกตรัมที่ต่อเนื่อง ในกรณีของแม่เหล็กสองขั้วและวิกเกลอร์นั้น แสงที่ผลิตได้ มีสเปกตรัมที่ต่อเนื่องที่ครอบคลุมช่วงพลังที่กว้างมาก ตั้งแต่ Far Infrared จนถึงรังสีเอกซ์ ส่วนแสงซินโครตรอนที่ได้จากอันดูเลเตอร์นั้น จะมีลักษณะเป็นแถบสเปกตรัม และมีพีค (Peak) ที่เกิดจากการแทรกสอด แถบพลังงานของแสงสามารถปรับได้อย่างต่อเนื่องเมื่อมีการปรับค่าสนามแม่เหล็ก โดยการปรับระยะห่างระหว่างขั้วแม่เหล็ก

.

* แสงซินโครตรอนที่ปลดปล่อยออกมาจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนั้นมีลักษณะเป็นพัลส์ (Pulse) สั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตามในการวัดทั่วไปที่มีความสามารถแยกแยะในเชิงเวลาที่ต่ำ ความเข้มของแสงที่วัดได้ จึงไม่เป็นฟังก์ชันของเวลา

.

* แสงซินโครตรอนมีคุณลักษณะทางโพลาไรเซชัน (Polarization) เช่น แสงซินโครตรอนจากแม่เหล็กสองขั้วในระนาบเดียวกับวงโคจรของอิเล็กตรอน มีคุณสมบัติโพลาไรเซชันเชิงเส้น (Linear Polarization) โดยมีสนาม  ที่อยู่ในระนาบเดียวกันกับระนาบของวงโคจรของอิเล็กตรอน

.

* ความเข้มและความสว่างจ้าของแสงซินโครตรอนสามารถทำนายได้อย่างแม่นยำในทางทฤษฎี เป็นที่ทราบกันดีว่าเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเป็นแหล่งกำเนิดแสงในย่าน VUV และรังสีเอกซ์พลังงานต่ำเพียงแหล่งกำเนิดเดียว

.

* คุณสมบัติที่ดีเกี่ยวกับแสงซินโครตรอนคือ การที่ไม่มีสิ่งเจือปนเช่น ก๊าซต่าง ๆ เกิดขึ้นในขบวนการปลดปล่อยแสงซินโครตรอน ดังนั้นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจึงจัดได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่สะอาด

.
การใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน

รูปที่ 9 แผนภาพแสดงปรากฏการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และผลที่ได้จากการที่แสงซินโครตรอนตกกระทบบนสสาร

.

แสงซินโครตรอนมีสเปกตรัมที่ครอบคลุมตั้งแต่อินฟราเรดจนถึงรังสีเอกซ์ และคุณสมบัติเฉพาะที่เด่นของแสงซินโครตรอน ทำให้แสงซินโครตรอนได้ถูกนำไปใช้ในงานวิจัยและพัฒนาหลากหลายสาขา แสงซินโครตรอนในช่วงของอินฟราเรด ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการกระตุ้นเพื่อตรวจวิเคราะห์การสั่นของอะตอมในโมเลกุล การใช้งานแสงซินโครตรอนในช่วงแสงที่ตามนุษย์มองเห็นไม่ค่อยจะปรากฏให้เห็น ทั้งนี้เนื่องจากคุณสมบัติของเลเซอร์ดีกว่าแสงซินโครตรอนในช่วงแสงที่ตามนุษย์มองเห็นได้

.

แสงซินโครตรอนในช่วงความยาวคลื่นประมาณ 10-7 ถึง 10-10 เมตร หรือช่วงพลังงานของโฟตอนของแสงประมาณ 10 ถึง 10,000 eV ซึ่งเป็นช่วงของ VUV และรังสีเอกซ์นั้นมีแหล่งกำเนิดแสงเพียงชนิดเดียวคือเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และยังเป็นช่วงพลังงานที่ครอบคลุมพลังงานที่สามารถไปกระตุ้นทำให้อิเล็กตรอนหลุดแยกออกมาจากอะตอม โมเลกุลวัตถุของแข็ง และระบบทางชีวภาพ หรือทำให้การปลดปล่อยโฟตอนตัวใหม่ ซึ่งการวัดและวิเคราะห์อิเล็กตรอนหรือโฟตอนที่ปลดปล่อยออกมา

.

ทำให้เราสามารถเรียนรู้ถึงคุณสมบัติสสารที่ทำการศึกษา สเปกตรัมของแสงซินโครตรอนที่ครอบคลุมไปถึงช่วงรังสีเอกซ์พลังงานสูง ซึ่งเป็นแสงที่มีคุณสมบัติที่สามารถทะลุทะลวงวัตถุเกือบทุกชนิด จึงถูกนำไปใช้ในงานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานและประยุกต์ ตลอดจนในวงการแพทย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ 

.

รูปที่ 9 แสดงปรากฏการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อแสงตกกระทบสสาร ได้แก่ การสะท้อนของแสง พลังงานของแสงถูกดูดกลืนการปลดปล่อยอิเล็กตรอนออกมาจากสสาร และ/หรือมีการปลดปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาจากสสาร สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นผลของอัตรกิริยาระหว่างแสงกับอิเล็กตรอนในสสาร     

.

คุณลักษณะของสิ่งที่เกิดจากอัตรกิริยาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ คุณลักษณะของแสงที่ตกกระทบ ชนิดของอะตอมที่เป็นองค์ประกอบของสสาร และการจัดเรียงตัวของอะตอมในสสาร เมื่อเราทราบคุณลักษณะของแสงที่ใช้ใน การศึกษาสสารอาจจะทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับสสารที่ศึกษามากยิ่งขึ้น

.

การที่แสงซินโครตรอนมีความเข้มที่สูงและมีความคมมากนั้น ทำให้แสงซินโครตรอนเหมาะที่จะนำไปใช้ ในการวัดหรือการทดลองที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย ยกตัวอย่างเช่น

.

* Protein Crystallography การศึกษาโครงสร้างโมเลกุลขนาดใหญ่ หรือโครงสร้างโปรตีนจำเป็นที่จะต้องเตรียมผลึกของโปรตีนสำหรับการวัดโดยอาศัยหลักการเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ (X-ray Diffraction)

.

การเตรียมผลึกให้มีขนาดใหญ่พอสำหรับการทดลองนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่สามารถทดแทน โดยการใช้รังสีเอกซ์จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่มีความสว่างจ้ามากทำให้แสงที่เกิดการเลี้ยวเบนจากสารตัวอย่างที่ศึกษาหรือผลึกที่มีขนาดค่อนข้างเล็กมีความเข้มเพียงพอ ทำให้เวลาที่ใช้ในการวัดลดน้อยลง และเป็นการเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น

.

* Microlithrography และ Micromachining เนื่องจากว่าเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเป็นแหล่งกำเนิดแสงเดียวที่มีสเปกตรัมที่ต่อเนื่องในย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ ซึ่งเป็นย่านที่มีอำนาจการทะลุทะลวงที่เหมาะสมสำหรับสารเคมีที่สามารถทำให้เกิดลวดลายหลังจากการตกกระทบของรังสี (Resist) ทำให้ได้ความสูงของเส้นลายค่อนข้างมีค่ามาก

.

* X-ray Microscope รังสีเอกซ์มีความยาวคลื่นที่สั้นกว่าแสงที่ตามองเห็นได้ จึงทำให้กล้องจุลทรรศน์รังสีเอกซ์ (X-ray microscope) มีความสามารถในการแยกแยะที่สูงกว่ากล้องจุลทรรศน์ที่ใช้แสงในย่านที่ตามนุษย์มองเห็น (Optical Microscope) หากเปรียบเทียบกับกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron Microscope) พบว่ากล้องจุลทรรศน์รังสีเอกซ์มีข้อได้เปรียบในแง่ของขั้นตอน

.

การตรียมสารตัวอย่างที่ค่อนข้างง่าย ในปัจจุบันการปรับโฟกัสของกล้องจุลทรรศน์รังสีเอกซ์อย่างละเอียด สามารถทำให้ง่ายขึ้นเมื่อใช้แสงซินโครตรอน จึงทำให้กล้องจุลทรรศน์รังสีเอกซ์มีความสามารถในการแยกแยะสูงยิ่งขึ้น 

.

* High-energy Resolution Spectroscopy สเปคโตรสโคฟีที่ต้องการความสามารถแยกพลังงานที่สูง สามารถทำได้โดยใช้แสงซินโครตรอน ทั้งนี้เพราะว่าการสูญเสียความเข้มของสัญญาณเนื่องจากการเพิ่มขีดความสามารถในการแยกแยะถูกทดแทน โดยความเข้มที่สูงของแสงซินโครตรอนที่ตกกระทบบนสารตัวอย่าง

.

เทคนิคการทดลองทางด้านสเปกโตรสโคปีที่ต้องการความสามารถในการแยกแยะพลังงานสูงได้แก่ Spin และ Angle-resolved Photoemission และ Soft X-ray Fluorescence เป็นต้น

.

* การศึกษาพื้นผิวและรอยต่อของสสาร Langmuir Monolayer Diffraction สังเกตได้ง่ายขึ้น
* เพิ่มความแม่นยำในการทดลองเทคนิคที่ใช้รังสีเอกซ์ เช่น X-ray Topography, X-ray Magnetic Scattering, Trace Element Analysis และ X-ray Diffraction ภายใต้สภาวะความดันที่สูง

.
คุณสมบัติเฉพาะของความต่อเนื่องของสเปกตรัมของแสงซินโครตรอน ทำให้เกิดสาขาใหม่ของงาน วิจัยและการประยุกต์ใช้ ได้แก่

* X-ray Angiography สำหรับเส้นเลือดของหัวใจ ทั้งนี้เนื่องจากการที่เราสามารถปรับพลังงานของแสงที่ใช้ในการวัดได้
* EXAFS (Extended X-ray Absorption Fine Structure) ซึ่งเป็นวิธีการเดียวที่จะวิเคราะห์ตำแหน่งที่แน่นอนของอะตอมในสสาร
* XANES (X-ray Absorption Near Edge Structure) ซึ่งเป็นวิธีใหม่สำหรับการวิเคราะห์ทางเคมี
* Resonant Effect ความสามารถที่จะเลือกพลังงานของแสงซินโครตรอนใด ๆ สามารถที่จะทำการวัดโดยเลือกใช้พลังงานของแสงที่ทำให้เกิด Resonance 

.

การที่แสงที่ปลดปล่อยออกมาจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนมีลักษณะเป็นพัลส์ (Pulse) สั้น ๆ ทำให้เราสามารถนำไปใช้ในการศึกษาขบวนการที่เป็นแบบพลศาสตร์ (Dynamic) ที่กระตุ้นด้วยแสงที่มีลักษณะเป็นพัลส์ ตัวอย่างเช่น การศึกษาขบวนการเชิงพลศาสตร์ (Dynamic Process) ของโมเลกุลที่ถูกยึดบนผิวของของแข็ง

.

แสงซินโครตรอนยังเป็นแหล่งกำเนิดแสงแหล่งเดียวสำหรับ VUV และรังสีเอกซ์พลังงานต่ำและความเข้มของแสงยังทำนายได้อย่างแม่นยำโดยทฤษฎี แสงซินโครตรอนจึงถูกใช้เป็นแสงมาตรฐานสำหรับแสงในย่านนี้

.

เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจัดเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่สะอาด นั่นคือขั้นตอนการผลิตแสงซินโครตรอน ทำให้ได้แสงโดยที่ไม่มีอะตอมหรือโมเลกุลเจือปนมาด้วย จึงเป็นประโยชน์ยิ่งในการเตรียมระบบการลำเลียงแสง นั่นคือ ไม่มีการทำให้พื้นผิวของอุปกรณ์ทางแสงเปื้อนจนทำให้อุปกรณ์ทางแสงเช่น กระจก (Mirror) และเกรติงเลี้ยวเบน (Grating) มีคุณสมบัติที่แย่ลง

.
ระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน

ระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน หรือเรียกสั้น ๆ ว่าระบบลำเลียงแสง เป็นระบบที่ลำเลียงแสงออกจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนมายังสถานีทดลอง (Experimental Station บางครั้งอาจจะเรียกว่า End Station กรณีสถานีทดลองอยู่ส่วนปลายของระบบลำเลียงแสง หรืออาจจะเรียกว่า Side Station กรณีสถานีทดลองขนาบติดด้านข้างของระบบลำเลียงแสง)

.

ระบบลำเลียงแสงแต่ละระบบจะถูกออกแบบและสร้างขึ้นเฉพาะสำหรับแหล่งกำเนิดแสง (ลักษณะลำอิเล็กตรอน และชนิดของอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดแสงได้แก่ แม่เหล็กสองขั้ว อันดูเลเตอร์ หรือวิกเกลอร์) และเฉพาะสำหรับแต่ละเทคนิคการทดลองหรือเทคนิคการวัด

.

ดังนั้นคุณลักษณะเฉพาะดังกล่าวถูกกำหนดจากความต้องการของการใช้งานในสถานีทดลอง คุณลักษณะทางเทคนิคของแสงที่ตกกระทบลงบนสารตัวอย่างโดยทั่วไปที่กำหนดรูปแบบ และอุปกรณ์ย่อยของระบบลำเลียงแสง ได้แก่ ช่วงพลังงานของโฟตอน (Photon) หรือช่วงความยาวคลื่น แถบความกว้างของพลังงานของโฟตอน ขนาดของลำแสง ความคมหรือความลู่ของลำแสง โพลาไรเซชัน

.

รูปที่ 10 ระบบลำเลียงแสง BL4 ของห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ลำเลียงแสงจากแหล่งกำเนิดซึ่งเป็นแม่เหล็กสองขั้วซึ่งติดตั้งอยู่หลังกำแพงกั้นรังสี (Radiation Shield Wall) โดยระบบกระจกก่อนและหลังโมโนโครเมเตอร์ (Pre และ Post-focusing Mirror Systems) และโมโนโครเมเตอร์ชนิดเกรติงที่สามารถคัดเลือกแสงที่มีพลังงานโฟตอนในช่วง 20 ถึง 240 eV

.

ในทางทรรศนศาสตร์ (Optics) ระบบลำเลียงแสงเป็นอุปกรณ์ที่จะสร้างภาพ (Image) ของแหล่งกำเนิดแสงซึ่งเปรียบเสมือนวัตถุ (Object) ลงบนระนาบของการเกิดภาพ (Imaging Plane) ซึ่งเป็นระนาบที่อยู่ ณ ตำแหน่งของสารตัวอย่างที่ต้องการศึกษาหรือตรวจวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอน แสงที่ตกกระทบสารตัวอย่างนั้นมีคุณสมบัติเฉพาะที่ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบลำเลียงแสง

.

การจำแนกระบบลำเลียงแสงอาจจะทำได้โดยการจำแนกตามช่วงพลังงานของโฟตอนที่ลำเลียงได้  (เช่นระบบลำเลียงแสงอินฟราเรด ระบบลำเลียงแสงอัลตราไวโอเลต/อัลตราไวโอเลตสุญญากาศ หรือระบบลำเลียงแสงรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ/พลังงานสูง) หรืออาจจะแยกตามเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ของสถานีทดลอง (เช่นระบบลำเลียงแสงด้านโฟโตอิมิชชัน ระบบลำเลียงด้านสเปกโตรสโคปีการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ระบบลำเลียงแสงด้านการเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ เป็นต้น

.

ในทางเทคนิคและวิศวกรรม การจำแนกระบบลำเลียงแสงตามช่วงพลังงานมีความสะดวก เนื่องจากแต่ละช่วงพลังงานของโฟตอนนั้นทำอันตรกิริยากับสสารแตกต่างกัน ชิ้นส่วนเชิงแสงโดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนเชิงแสงที่ใช้ในการทำให้แสงเกิดการกระเจิงหรือการเลี้ยวเบนที่มีมุมตามค่าพลังงานของโฟตอนจึงลักษณะที่แตกต่างไปตามค่าพลังงานของโฟตอน

.

ในย่านอินฟราเรดนั้น ระบบลำเลียงแสงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้โมโนโครเมเตอร์เนื่องจากระบบตรวจวัดวิเคราะห์ของแสงในย่านนี้อาศัยอินเตอร์โฟโรมิเตอร์ (Interferometer) ณ ปัจจุบัน ไม่มีการสร้างระบบลำเลียงแสงเฉพาะย่านที่ตามนุษย์มองเห็นได้ เนื่องจากว่าในย่านนี้มีแหล่งกำเนิดแสงที่ให้แสงที่มีคุณสมบัติที่ต้องการดีกว่าแสงซินโครตรอน นั้นก็คือเลเซอร์     

.

ระบบลำเลียงแสงในย่านอัลตราไวโอเลตจะใช้เกรติงแบบสะท้อนเป็นชิ้นส่วนเชิงแสงหลักในการคัดเลือกพลังงาน โมโนโครเมเตอร์ที่ใช้คัดเลือกพลังงานในช่วงนี้ เรียกว่าโมโนโครเมเตอร์ชนิดเกรติงที่แสงตกกระทบเกือบตั้งฉากกับผิวของเกรติง (Normal Incidence Grating Monochromator) ซึ่งแสงที่ตกกระทบบนเกรติงนี้เกือบจะตั้งฉากกับระนาบของเกรติง 

.

เกรติงแบบสะท้อนยังถูกใช้งานในโมโนโครเมเตอร์ในย่านพลังงานอัลตราไวโอเลตสุญญากาศ แต่มุมตกกระทบมีค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อชดเชยค่าสัมประสิทธิ์ของการสะท้อนแสงที่ลดลงเมื่อค่าพลังงานของโฟตอนมีค่าเพิ่มมากขึ้น โมโนโครเมเตอร์สำหรับแสงในย่านนี้ เรียกว่าโมโนโครเมเตอร์ชนิดเกรติงที่มุมตกกระทบเกือบขนานกับผิวของเกรติง (Grazing Incidence Grating Monochromator) ตั้งแต่ย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำขึ้นไป

.

ผลึก (Crystal) ถูกใช้เป็นชิ้นส่วนเชิงแสงในโมโนโครเมเตอร์สำหรับการคัดเลือกความยาวคลื่นของแสง โมโนโครเมเตอร์ชนิดนี้เรียกว่าโมโนโครเมเตอร์ชนิดผลึก (Crystal Monochromator) รายละเอียดทางเทคนิคของโมโนโครเมเตอร์แต่ละชนิดนั้น จะมีการกล่าวถึงในตอนหลังเมื่อมีการอธิบายถึงระบบลำเลียงแสงซินโครตรอนแต่ละชนิด

.

นอกเหนือจากระบบของชิ้นส่วนเชิงแสง ที่ใช้ในการลำเลียงและคัดเลือกแสงจากแหล่งกำเนิดแสงซินโครตรอน ระบบลำเลียงแสงยังประกอบไปด้วยระบบย่อยอื่น ๆ เช่น ระบบสุญญากาศ ระบบการป้องกันอันตรายเนื่องจากรังสี ระบบป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเครื่องกำเนิดแสงเนื่องจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นในสถานีทดลอง ระบบต่างนี้จะมีการสรุปในบทสุดท้ายเพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมของระบบลำเลียงแสง 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด