เนื้อหาวันที่ : 2010-03-18 17:06:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5631 views

ความมีส่วนร่วมของพนักงาน: ปัจจัยพัฒนาสู่องค์กรลีน

ปัจจุบันองค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศจะต้องมุ่งสร้างผลิตภาพการดำเนินงานและความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในปัจจัยที่มีผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขัน ดังนั้นองค์กรยุคใหม่ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศจึงไม่เพียงแค่ปรับปรุงผลิตภาพเฉพาะในสายการผลิตเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อส่งมอบคุณค่าและสร้างความพึงพอใจสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดลีนที่มุ่งการผลิตให้ตรงตามความต้องการลูกค้า

โกศล ดีศีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com
.

.

ปัจจุบันองค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศจะต้องมุ่งสร้างผลิตภาพการดำเนินงานและความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในปัจจัยที่มีผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขัน

.

ดังนั้นองค์กรยุคใหม่ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศจึงไม่เพียงแค่ปรับปรุงผลิตภาพเฉพาะในสายการผลิตเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อส่งมอบคุณค่าและสร้างความพึงพอใจสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดลีนที่มุ่งการผลิตให้ตรงตามความต้องการลูกค้า โดยมุ่งการไหลของงานอย่างต่อเนื่องและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า เนื่องจากแนวคิดลีนมีพัฒนาการจากอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์

.

ดังนั้นผู้ประกอบการหลายท่านจึงมักสับสนว่าการพัฒนาผลิตภาพด้วยแนวคิดลีนลีนจะเหมาะกับอุตสาหกรรมภาคการผลิต ความคิดดังกล่าวคงไม่ถูกต้องเสมอไป แท้จริงแล้วแนวคิดลีนสามารถสนับสนุนธุรกิจไม่เพียงเฉพาะในสายการผลิตดังที่หลายคนเข้าใจ โดยจะมุ่งลดความสูญเปล่าด้วยปรัชญาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องที่มุ่งวัตถุประสงค์หลัก คือ

.
• การมุ่งผลิตหรือให้บริการในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
• การมุ่งตอบสนองด้วยการส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
• การผลิตสินค้าหรือให้บริการด้วยคุณภาพที่เป็นเลิศ
• การผลิตด้วยช่วงเวลานำที่สามารถตอบสนองได้ทันความต้องการ
• ความสามารถผลิตสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของลูกค้า
• การมุ่งลดความสูญเปล่าทุกประเภทจากกิจกรรมการผลิตหรือการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในองค์กรเพื่อมุ่งผลิตภาพสูงสุด
• มุ่งดำเนินการตามวิธีการเหมาะสมที่ถูกพัฒนาขึ้นจากบุคลากรในองค์กร
.

การพัฒนาสู่องค์กรลีน (Lean Enterprise) คงเป็นไปไม่ได้ หากปราศจากการเชื่อมโยงกิจกรรมสายการผลิตกับฝ่ายงานสนับสนุน ประสิทธิผลองค์กรลีนจะเกิดขึ้นได้เมื่อแต่ละฝ่ายงานภายในองค์กรได้ดำเนินการตามแนวคิดลีนและเกิดการประสานงานทั่วทั้งองค์กร ดังนั้นการพัฒนาองค์กรตามแนวคิดลีนจึงมุ่งบริหารกระบวนการมากกว่าหน้าที่ฝ่ายงาน (Functional)

.

กล่าวได้ว่า ทุกหน่วยกิจกรรมของธุรกิจคือส่วนหนึ่งในกระบวนการธุรกิจด้วยรูปแบบทีมงานข้ามสายงาน โดยเฉพาะธุรกิจที่มุ่งตอบสนองความหลากหลายของลูกค้า แต่ละสายการผลิตจะมุ่งการผลิตแบบดึง (Pull System) ที่ผลิตตามอุปสงค์จริง ทำให้ลดการจัดเก็บสต็อกงานระหว่างผลิตและเกิดการไหลของงานอย่างต่อเนื่องตามหลักการไหลทีละชิ้น (One-piece Flow)

.

รวมทั้งปรับปรุงวิธีการตั้งเครื่องเพื่อตอบสนองรูปแบบการผลิตที่มีการเปลี่ยนแปลงรุ่นการผลิตบ่อย แต่สิ่งที่ท้าทายต่อผู้จัดการฝ่ายผลิตคือ ทำอย่างไรให้แรงงานหรือพนักงานยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการดำเนินการแบบเดิม เช่น วิธีการทำงาน การปรับเปลี่ยนผังการผลิต เป็นต้น

.

รูปที่ 1 กระบวนการแบบข้ามสายงาน

.

ด้วยเหตุนี้ ประเด็นการบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาสู่องค์กรลีน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้พนักงานแต่ละคนมีความรับผิดชอบทำงานด้วยตนเองมากกว่าควบคุมหรือสั่งงานโดยหัวหน้างาน และมุ่งการทำงานเป็นทีมที่มีความยืดหยุ่น โดยมีการสื่อสารกันอย่างทั่วทั้งองค์กรและดำเนินกิจกรรมไคเซ็นซึ่งเป็นจุดเด่นขององค์กรแบบญี่ปุ่นที่เน้นการลงทุนในทรัพยากรทุนมนุษย์ (Human Capital) สูงกว่าการลงทุนจัดหาเทคโนโลยี     

.

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจอเมริกันอย่าง Ford และ Motorola ได้นำแนวคิดบริหารคุณภาพโดยรวมหรือ TQM รวมทั้งความสำเร็จองค์กรญี่ปุ่นที่ดำเนินการในอเมริกาอย่าง Nissan และ Honda ได้พิสูจน์ว่าปัจจัยทางวัฒนธรรมมีบทบาทน้อยกว่าแนวทางบริหาร และส่งผลให้แนวโน้มการบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้เริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่การบริหารคุณภาพแบบ TQM ซึ่งมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

.

• ความยืดหยุ่นต่อสภาพการทำงาน เป็นผลจากการฝึกอบรมแบบข้ามสายงานที่ทำให้พนักงานมีทักษะทำงานที่หลากหลายและสามารถโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนตำแหน่งการทำงานอย่างคล่องตัว โดยเฉพาะในสภาวะการแข่งขันที่ต้องมีความสามารถตอบสนองกับปัจจัยความเปลี่ยนแปลง

.

• ความรับผิดชอบและการมอบอำนาจ โดยถือว่าส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของพนักงานคือ การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการโดยมุ่งแนวคิดมุ่งคุณภาพที่ต้นตอ (Quality at the Source) ซึ่งมีการมอบอำนาจให้กับพนักงานในการตัดสินใจและดำเนินการแก้ปัญหา เช่น การหยุดสายการผลิตเมื่อตรวจพบความผิดปกติในกระบวนการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดของเสียขึ้น  

.

การมอบอำนาจเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จโครงการ TQM ตามหลักการเดมมิง 14 ข้อ (Deming's 14 Points) ได้กล่าวถึงการมอบอำนาจให้กับพนักงานไว้ถึง 5 ข้อ นอกจากนี้ยังเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการตัดสินใจและส่งผลให้สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

.

• การฝึกอบรม โดยมุ่งให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างหลากหลายด้วยการฝึกอบรมและการหมุนเวียนงาน (Job Rotation) ซึ่งช่วยยกระดับความยืดหยุ่นการทำงาน

.

.

สำหรับองค์กรลีนจะมุ่งประสิทธิภาพกระบวนการหลักและการตอบสนองอุปสงค์ลูกค้า ซึ่งแตกต่างจากแนวทางเดิมที่ดำเนินการตามหน้าที่แต่ละสายงาน (Functional) และไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยผู้บริหารจะต้องให้คำมั่น (Commitment) ในการสนับสนุนปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย

.

• การให้ความสำคัญกับลูกค้าที่มุ่งตอบสนองความต้องการเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
• การบริหารสินทรัพย์ โดยรวมถึงสินค้าคงคลังและสินทรัพย์หลักของโรงงาน

.

• ประสิทธิผลการปฏิบัติงาน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยและผลิตผลที่เกิดขึ้น
• ทรัพยากรมนุษย์ ดังคำกล่าวว่า “บุคลากรทุกคนเสมือนเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าขององค์กร” ดังนั้นจึงควรให้การฝึกอบรมพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง

.

• วิศวกรรม โดยมีบทบาทพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้และเข้าสู่ตลาดได้รวดเร็ว

.

• ทีมงานแบบข้ามสายงาน โดยจัดแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การจัดทำมาตรวัดผล จัดเก็บข้อมูลกระบวนการ การรายงานผล และฝึกอบรม เป็นต้น

.

รูปที่ 2 ปัจจัยสนับสนุนผลิตภาพแรงงาน

.

เนื่องจากเป้าหมายองค์กรลีนจะมุ่งตอบสนองเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ดังนั้นจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ให้พนักงานแต่ละคนร่วมแสดงความคิดเห็นแก้ปัญหาที่ครอบคลุมถึงประเด็นคุณภาพเพื่อสร้างความพึงพอใจให้พนักงาน

.

ด้วยเหตุนี้ความมีส่วนร่วมของพนักงานจึงมุ่งใช้ประโยชน์จากความสามารถบุคลากรสูงสุด โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีมเพื่อให้พนักงานเกิดความร่วมมือกันและมีส่วนร่วมปรับปรุงงานให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบกับสิ่งที่ได้รับมอบหมายและพัฒนะทักษะที่หลากหลายเพื่อให้แรงงานมีความยืดหยุ่นในการรองรับกับความเปลี่ยนแปลง

.

แต่ประเด็นปัญหาที่ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการมักพบเสมอคือ การพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภาพให้สอดคล้องกับนโยบายเติบโตขององค์กร โดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการที่ซับซ้อนให้มีความเรียบง่ายสอดรับกับแผนงานระดับองค์กรและงานประจำวัน

.

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติจริงที่อาจนำมาสู่ปัญหาการสื่อสารระหว่างบุคลากรหรือขาดความไว้วางใจระหว่างผู้บริหารกับแรงงานในเรื่องข้อมูลความลับ ฝ่ายบริหารจึงต้องจัดสรรทรัพยากรแรงงานและทุนสำหรับการดำเนินการ เนื่องจากแรงงานและหัวหน้าสหภาพได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปรับปรุงผลิตภาพองค์กร

.

กลุ่มคนดังกล่าวควรมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและแผนดำเนินกิจกรรมด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้แผนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการพัฒนาแนวคิดกลุ่มคุณภาพด้วยการบริหารความมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับผลิตภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งสามารถจูงใจพนักงานด้วยการปรับเปลี่ยนสภาพการทำงาน การให้รางวัลหรือยกย่องผู้ที่มีผลงานโดดเด่นและมอบหมายงานที่มีความท้าทาย

.

รูปที่ 3 ประสิทธิผลการดำเนินการ

.

ผลการศึกษาพฤติกรรมของ Elton Mayo แสดงให้เห็นว่าหากแรงงานได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจจะส่งให้เกิดความจูงใจในการทำงานซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพ โดยเฉพาะกิจกรรมกลุ่มคุณภาพ (QC Circle) ที่ให้พนักงานมีส่วนร่วมแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเทคนิคที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายทั้งธุรกิจภาคการผลิตและบริการ แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นอาสาสมัครจากสายงานเดียวกันราว 7-10 คน

.

โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลิตภาพด้วยการใช้เครื่องมือทางคุณภาพ (QC Tools) และการระดมสมองเพื่อค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งจูงใจให้มีการทำข้อเสนอแนะ (Suggestion) เพื่อการปรับปรุงระบบงานและเกิดการพัฒนาตามวงจร PDCA

.

โดยมีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการทำงานที่เป็นการลงทุนในบุคคลากรระยะยาวและการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้สามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้อย่างคล่องตัว โดยหัวหน้ากลุ่มจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญกับกลุ่มสมาชิกในการจัดสรรเวลาและสถานที่เพื่อดำเนินการประชุมกลุ่ม

.

รวมทั้งถ่ายทอดทักษะการแก้ปัญหาให้ทีมงานและรับผิดชอบการรายงานความก้าวหน้ากิจกรรมกลุ่มคุณภาพ นอกจากเกิดความมีส่วนร่วมแก้ปัญหาแล้ว ยังส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตการทำงาน (Quality of Work Life) ที่ให้โอกาสแสดงความคิดเห็นและพิสูจน์คุณค่าตัวเอง ดังนั้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรชั้นนำจึงได้มีการออกแบบงาน (Job Design) ตามหลักการ ดังนี้

.

รูปที่ 4 การพัฒนาด้วยวงจร PDCA

.

• ขอบข่ายงานควรครอบคลุมเนื้องานที่จำเป็น (Horizontal Job Enlargement) เพื่อให้พนักงานมีความรู้สึกถึงความสำเร็จและความท้าทายในงาน เนื่องจากขอบข่ายงานที่รับผิดชอบมีความหลากหลายและพัฒนาทักษะการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

.

• ความรับผิดชอบควบคุมงานจะถูกถ่ายทอดจากฝ่ายบริหารสู่พนักงานระดับปฏิบัติการ (Vertical Job Enlargement) หรือเรียกว่า Job Enrichment โดยจะส่งผลให้พนักงานเกิดความพึงพอใจในงานมากขึ้น

.

• พนักงานระดับปฏิบัติการควรมีความสามารถรับผิดชอบคุณภาพงานด้วยตนเอง

.

• พนักงานควรได้รับการฝึกอบรมเพิ่มทักษะงานที่หลากหลาย เพื่อให้มีการพัฒนาระดับทักษะความรู้และเข้าใจกระบวนการทำงานโดยรวม โดยการหมุนเวียนงาน (Job Rotation) ที่ส่งผลให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานและสร้างความรู้สึกถึงคุณค่าส่วนตัวของพนักงาน รวมทั้งให้โอกาสความก้าวหน้าในสายงาน

.

• องค์กรควรสนับสนุนการสื่อสารระหว่างพนักงานและพนักงานกับฝ่ายบริหาร เพื่อกระตุ้นให้พนักงานมีการปรับปรุงผลิตภาพตนเองและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ร่วมงาน

.

.

โดยทั่วไปนโยบายองค์กรส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Assets) จึงละเลยต่อการบริหารสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) อย่างความรู้หรือทักษะการทำงาน ทำให้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม (SMEs) ตามผลสำรวจพบว่า SME ส่วนใหญ่ยังขาดการใช้ประโยชน์จากความรู้ภายในองค์กรและส่งผลต่อปัญหาการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กรจำแนกออกได้ตามรูปแบบ ดังนี้

.

รูปที่ 5 สินทรัพย์ทางความรู้ (Knowledge Assets)

.

1. รูปแบบตามแนวราบ (Horizontal) คือ การถ่ายทอดความรู้หรือข้อมูลระหว่างฝ่ายงานและระดับพนักงานในฝ่ายเดียวกัน
2. รูปแบบตามแนวดิ่ง (Vertical) คือ การถ่ายทอดความรู้หรือข้อมูลจากระดับบนสู่ระดับล่างและพนักงานระดับปฏิบัติการสู่ระดับผู้บริหาร เรียกว่า Top-down & Bottom-up
3. การถ่ายทอดตามรอบเวลา (Periodic Transfer) คือ การนำความรู้หรือข้อมูลที่ถูกจัดเก็บตั้งแต่อดีตเข้ามาใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน
4. ง่ายต่อการทำความเข้าใจ (Easy to Understand) คือ ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดจะต้องมีความชัดเจนและง่ายต่อการทำความเข้าใจ

.

.

ปัญหา 2 รูปแบบแรกสามารถแก้ไขได้ด้วยการบริหารนโยบายตามวงจร PDCA ส่วนรูปแบบที่ 3 ใช้เอกลักษณ์องค์กรและรูปแบบสุดท้ายใช้หลักการบริหารด้วยการมองเห็น (Visual Management)

.

โดยเอกลักษณ์องค์กรคือ สารสนเทศทางความรู้ที่มีการสั่งสมมาตั้งแต่อดีตซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือที่มีคุณค่าสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่และบุคลากรทุกระดับเพื่อใช้ทบทวนและเกิดการต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้

.

• ความหยั่งลึกอยู่ในพฤติกรรมองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคลากรทุกคนแสดงออกและเป็นสิ่งที่แตกต่างจากคู่แข่งที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
• สนับสนุนการวางรากฐานให้เกิดพฤติกรรมการทำงานที่ดีต่อบุคลากร
• สื่อให้เห็นถึงวิสัยทัศน์หรือคุณค่าองค์กรต่อพนักงานและผู้เกี่ยวข้อง
• กระตุ้นให้บุคลากรมีความกระตือรือร้นในการทำงานและตระหนักร่วมกันถึงคุณค่าองค์กรด้วยตนเองโดยไม่ต้องถูกสั่งการจากฝ่ายบริหาร
• สร้างทัศนคติที่ดีและความภาคภูมิใจให้กับผู้เกี่ยวข้องในองค์กร

.

รูปที่ 6 แสดงข้อมูลด้วยหลักการมองเห็น

.

เนื่องจากองค์กรลีนจะมีการมอบหมายให้ทีมงานไคเซ็นรับผิดชอบปรับปรุงผลิตภาพกระบวนการ ประกอบด้วยบุคลากรจากหลายหน่วยงาน โดยหัวหน้าทีมไคเซ็นจะมีบทบาททำงานร่วมกับสมาชิกด้วยการระบุคุณค่า (Specify Value) แต่ละสัปดาห์ทางทีมงานไคเซ็นจะดำเนินการทบทวนและติดตามวัดผลจากสภาพปัจจุบัน (Current State) ร่วมกับเจ้าของกระบวนการ (Process Owner) และปรึกษาร่วมระหว่างทีมงานด้วยการระดมสมองเพื่อระบุกิจกรรมปรับปรุงย่อย (Kaizen Event) และกำหนดสภาพหลังการปรับปรุง  

.

ดังนั้นสายธารแห่งคุณค่าจึงแสดงภาพรวมสถานะกระบวนการที่เป็นอยู่ ซึ่งถูกใช้เป็นแนวทางปรับปรุงผลิตภาพและกำหนดสถานะที่ควรจะเป็นในอนาคต (Future State) ตลอดจนจำแนกความสูญเปล่าที่เกิดในการทำงาน โดยมุ่งให้เกิดการไหลของงานอย่างต่อเนื่องและลดความผิดพลาดในกระบวนการ รวมทั้งเพิ่มคุณค่าแต่ละกิจกรรมซึ่งส่งผลต่อการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

.

.

ดังกรณีผู้จัดการฝ่ายผลิตโรงงานแห่งหนึ่งได้ร่วมกับทีมวิศวกรเพื่อจำแนกกิจกรรมความสูญเปล่าสำหรับกำหนดแนวทางปรับปรุงการทำงาน โดยให้ทีมงานศึกษาทุกขั้นตอนทำงาน เมื่อทีมงานนำข้อมูลมาสร้างแผนภูมิการไหล ทำให้ทีมงานและผู้จัดการฝ่ายผลิตทราบว่าการทำงานมีความซับซ้อนเกินความจำเป็น ทีมงานจึงร่วมกำหนดแนวทางปรับปรุงโดยใช้ข้อมูลที่จัดเก็บและแสดงในแผนภูมิสายธารแห่งคุณค่าเพื่อจำแนกกิจกรรมที่สร้างคุณค่าเพิ่มกับความสูญเปล่า

.

ทำให้เห็นภาพรวมตลอดทั้งกระบวนการและดำเนินการเขียนแผนภูมิใหม่ที่แสดงกิจกรรมที่จำเป็นต่อการทำงาน เพื่อนำไปติดบนบอร์ดแสดงให้พนักงานสายการผลิตได้รับทราบ ส่วนการปรับองค์กรจากรูปแบบเดิมที่มีกระบวนการไหลของงานแบบฝ่ายงานเข้าสู่องค์กรที่มุ่งสายธารแห่งคุณค่าได้ส่งผลให้เกิดการลดความซับซ้อนผังโครงสร้างองค์กร 

.

นั่นคือ การลดลำดับชั้นตามสายบังคับบัญชาและลดปริมาณธุรกรรมที่ซ้ำซ้อนกัน โดยมุ่งความชัดเจนในบทบาทความรับผิดชอบแต่ละคนและเกิดความยืดหยุ่นกับความเปลี่ยนแปลงด้วยการจัดโครงสร้างบริหารแบบเมตริกซ์ (Matrix Organization) ซึ่งมีรูปแบบการบริหารโครงการที่ใช้กับองค์กรขนาดใหญ่

.

โดยสมาชิกแต่ละทีมงานได้ถูกจัดวางในผังโครงสร้างดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดความคล่องตัว แต่เนื่องจากสายธารแห่งคุณค่าเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของธุรกิจ ดังนั้นจึงไม่ควรมีสายธารแห่งคุณค่าภายในองค์กรมากเกินความจำเป็น เพราะอาจเกิดความยุ่งยากในการมอบหมายงานให้กับทีมงาน เช่น หากมีวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินโครงการไคเซ็นเพียง 5 คน

.

แต่ภายในองค์กรประกอบด้วยสายธารแห่งคุณค่า 8 กลุ่ม นั่นคือ สมาชิกในทีมงานบางคนได้ถูกมอบหมายงานให้ดูแลมากกว่า 1 กลุ่ม องค์กรทั่วไปควรประกอบด้วยสายธารแห่งคุณค่าเพียง 3-4 กลุ่ม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดความรับผิดชอบของบุคลากรแต่ละคน และสามารถสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล

.

รูปที่ 7 ตัวอย่างสายธารแห่งคุณค่า

.

สำหรับกรณีโตโยต้าเป็นแบบอย่างแห่งความสำเร็จที่ให้ความสำคัญกับพนักงานได้มีส่วนร่วมพัฒนาปรับปรุงกระบวนการเพื่อสร้างความยืดหยุ่นและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมการแข่งขัน ดังรายงานประจำปีของโตโยต้าได้เปิดรับข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงผลิตภาพจากพนักงานและข้อเสนอแนะราว 95% ได้รับการยอมรับและดำเนินการในเวลาต่อมา

.

นั่นคือ การเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงงาน  โดยเฉพาะการมอบหมายให้พนักงานในสายการผลิตสามารถตัดสินใจในงานประจำ ทำให้ลดภาระงานของผู้บริหารระดับกลางและมีเวลาวางแผนมากขึ้น

.

ปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จดังกล่าว คือ การมุ่งมั่นพัฒนาวิธีการทำงาน โดยโตโยต้าให้ความสำคัญกับเนื้องาน วิธีการ ลำดับขั้นตอน ช่วงเวลาและผลลัพธ์ที่คาดหวัง โดยผู้รับผิดชอบประกอบด้วย ผู้จัดการฝ่ายผลิต วิศวกร หัวหน้างานและแรงงานในสายการผลิตได้ร่วมศึกษารายละเอียดเนื้องานของแต่ละกระบวนการและความสัมพันธ์กับงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

.

โดยเฉพาะส่วนที่ต้องปรับปรุงด้วยการนิยามงาน(Job Definition) ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อกำหนดลำดับขั้นตอนและรายละเอียดการทำงานอย่างชัดเจน  ทำให้สามารถแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและกำหนดแนวทางฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิผลเพื่อลดความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงาน  นอกจากนี้ยังฝึกอบรมให้กับพนักงานเพื่อสร้างทักษะแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงานอย่างเป็นระบบ

.

โตโยต้าสนับสนุนให้พนักงานทุกคนเสนอแนะการปรับปรุงงานด้วยเอกสารข้อเสนอแนะการปรับปรุง(Kaizen Proposal Sheet) เช่น การลดเวลาตั้งเครื่องด้วยการขจัดความสูญเสียในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เป็นการกระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง

.

รูปที่ 8 แบบฟอร์มข้อเสนอแนะการปรับปรุง

.

อย่างไรก็ตามประสิทธิผลการดำเนินกิจกรรมกลุ่มจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร เนื่องจากผู้บริหารสามารถผลักดันให้เกิดความมีส่วนร่วมรับผิดชอบ แนวทางหนึ่งคือการบริหารกระบวนการอย่างมีประสิทธิผลที่เชื่อมโยงกับผลตอบแทน นั่นคือ การให้ผลตอบแทนด้วยเงินรางวัลและไม่ใช่เงินรางวัล (Non-financial Reward) เช่น คำชมเชย การประกาศเกียรติคุณ ซึ่งควรมีการประเมินผลการทำงานแต่ละคนทุกระดับว่าเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายอย่างไรหรือความสำเร็จที่เกิดจากการดำเนินกลยุทธ์         

.

ผู้บริหารองค์กรชั้นนำหลายแห่งได้มุ่งมั่นสนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาองค์กร แนวคิดดังกล่าวได้ถูกบูรณาการเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อสร้างศักยภาพระยะยาวให้กับองค์กร ดังนั้นผู้จัดการหรือสมาชิกในโครงการจึงต้องนัดหมายการประชุมเพื่อติดตามปัญหาในการดำเนินงาน รวมทั้งลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจหลักของผู้จัดการหรือผู้ประสานงานโครงการ

.
สรุป

เนื่องจากบุคลากรคือปัจจัยหลักที่สร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับธุรกิจ ดังนั้นการมุ่งบรรลุเป้าหมายระดับองค์กรจะต้องเกิดจากความมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับ นั่นคือ หากพนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพระยะยาว โดยเฉพาะความมีส่วนร่วมในการทำงานเป็นทีมที่เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมแก้ปัญหา พนักงานทุกระดับสามารถเสนอแนะแนวทางปรับปรุงการทำงานและร่วมแก้ปัญหา

.

ส่วนผู้บริหารองค์กรลีนควรสนับสนุนให้บุคลากรดำเนินการจัดตั้งทีมงานเพื่อร่วมปรับปรุงการทำงานและถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้พัฒนาทักษะอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรสามารถปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในสภาวะการแข่งขันได้อย่างคล่องตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุด

.
เอกสารอ้างอิง

1. Dennis F. Kehoe, The Fundamentals of Quality Management, Chapman & Hall, 1996
2. Hobbs, Dennis P., Lean Manufacturing Implementation: A Complete Execution Manual for Any Size Manufacturer, J. Ross Publishing, 2003
3. James P. Womack and Daniel T. Jones, Lean Thinking, Simon & Schuster, 1996
4. John M. Nicholas, Competitive Manufacturing Management, McGraw-Hill, 1998
5. Kiyoshi Suzaki, The New Manufacturing Challenge Techniques for Continuous Improvement, The Free Press, 1987
6. Pearce II, J. A. "The Company Mission as a Strategic Tool." Sloan Management Review, Spring, 1982
7. Silverman, L. "The Changing Role of First-Line Supervisors." Paper Presented at the
North Central Deming Management Forum, June 1991
8. Toyoharu Fujimoto, Management Challenge: The Japanese Management System in an International Environment, McGraw-Hill Book Co, 1991
9. โกศล ดีศีลธรรม, สู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศด้วย TQM, บ.ซัมซิสเท็ม จำกัด, 2547
10. โกศล ดีศีลธรรม, เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยแนวคิดลีน, ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2548
11. โกศล ดีศีลธรรม, ผลิตภาพ: ปัจจัยพัฒนาสู่การแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2550
12. โกศล ดีศีลธรรม, กระบวนทัศน์การวัดผลยุคใหม่, สำนักพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ, 2552

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด