เนื้อหาวันที่ : 2010-02-26 16:13:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 14456 views

การจัดการระบบไฟฟ้าแสงสว่างในโรงงานอุตสาหกรรม (ตอนที่ 3)

จุดประสงค์ของการควบคุมการเปิด-ปิด คือ การไม่ใช้แสงสว่างในเวลาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ อาจทำได้โดยการมอบหมายให้พนักงานมีหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิด หรือการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

บูรณะศักดิ์ มาดหมาย 
สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

chakan_m@yahoo.com 

.

 .

2.2 การควบคุมการเปิด-ปิด จุดประสงค์ของการควบคุมการเปิด-ปิด คือ การไม่ใช้แสงสว่างในเวลาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ อาจทำได้โดยการมอบหมายให้พนักงานมีหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิด หรือการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น กรณีที่มีพนักงานจำนวนมาก หรือเป็นพนักงานรายวัน ไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจจำเป็นที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งมีการลงทุนค่อนข้างสูง

 .

จึงควรพิจารณาใช้คนควบคุมเสียก่อน เช่น ให้พนักงานทุกคนมีหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิด ในบริเวณที่ทำงานของตนเอง บริเวณสาธารณะที่ไม่สามารถหาผู้ดูแลได้ เช่น ทางเดิน ห้องน้ำ จึงค่อยพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติ

 .

2.2.1 การควบคุมการเปิด-ปิด โดยคนควบคุม แบ่งเป็น 2 วิธี คือ การปิดทั้งหมด เช่น เวลาพักเที่ยง หลังเลิกงาน สามารถตัดไฟที่สายเมนของระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ส่วน การปิดบางส่วน นั้น เพื่อให้สามารถปิดไฟได้จำนวนมากขึ้น ต้องพิจารณาแยกสวิตช์ หรือติดสวิตช์กระตุก ให้สามารถเลือกเปิด-ปิด โคมไฟในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในแต่ละพื้นที่อย่างอิสระต่อกัน

 .

เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกปิดโคมไฟในบริเวณที่ไม่ใช้งาน ซึ่งจะลดพลังงานที่สูญเสียไปเฉย ๆ ในส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน อันจะทำให้ระบบไฟฟ้าแสงสว่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้อีกทางหนึ่ง  และเพื่อให้เปิด-ปิด ได้อย่างรวดเร็วและไม่ผิดพลาด ที่แผงสวิตช์ต้องมีผังบริเวณแสดงกำกับ และมีการชี้บ่งถึงกำหนดระยะเวลาเปิด-ปิด

 .

เช่น ติดสีที่สวิตช์ สำหรับตำแหน่งของสวิตช์ ควรอยู่ใกล้ประตู หรืออยู่ในตำแหน่งที่สามารถเปิด-ปิด ได้สะดวก ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้คนปิดไฟหลังจากเลิกใช้งาน ส่วนห้องที่มีทางเข้าออกหลายทาง หรือติดตั้งสวิตช์ควบคุมรวมไว้ในที่ห่างไกลจากพื้นที่ ก็ควรจะติดสวิตช์เปิด-ปิดหลายทาง โดยมี Indicators บ่งบอกสภาวะเปิด-ปิด ด้วย

.

 .

2.2.2 การควบคุมการเปิด-ปิด โดยอุปกรณ์อัตโนมัติ ปัจจุบันในตลาดมีอุปกรณ์อัตโนมัติให้เลือกใช้มากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันไป การจะเลือกใช้อุปกรณ์อัตโนมัติชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน และพฤติกรรมของผู้ที่ทำงานในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ ดังต่อไปนี้

 .

ก. สวิตช์ตั้งเวลา (Timer) และสวิตช์หน่วงเวลา (Time Delay Switch) การทำงานของสวิตช์จะมีอยู่สองแบบ แบบแรกคือ สวิตช์ตั้งเวลา ซึ่งจะทำการเปิด-ปิด ตามเวลาที่ได้ตั้งเอาไว้ล่วงหน้า จึงเหมาะที่จะใช้กับบริเวณที่รู้ตารางเวลาการทำงานในแต่ละวันที่แน่นอน

 .

ส่วนแบบที่สองคือ สวิตช์หน่วงเวลา ซึ่งจะเริ่มทำงานตั้งแต่มีการเปิดสวิตช์ และจะทำการปิดเองเมื่อครบกำหนดเวลาที่ตั้งหน่วงไว้ จึงเหมาะที่จะใช้กับบริเวณที่ใช้งานในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งคนมักลืมเปิดไฟไว้เมื่อเลิกใช้งาน เช่น ห้องเก็บของ ห้องน้ำ

.

 .

ข. สวิตช์แสงแดด (Photo Cell Switch) เป็นสวิตช์ควบคุมการเปิด-ปิด โดยอาศัยแสงแดด จึงเหมาะที่จะใช้สำหรับบริเวณที่ได้ออกแบบให้ใช้แสงสว่างจากแสงอาทิตย์แทนแสงประดิษฐ์ เพื่อป้องกันการลืมเปิดไฟทิ้งเอาไว้ในเวลาที่มีแสงอาทิตย์เพียงพอ

 .

นอกจากนี้ยังมี Brightness Sensor ซึ่งเป็นอุปกรณ์อีกชนิดที่ทำหน้าที่คล้ายกัน แต่จะทำหน้าที่ส่งค่าความสว่างภายในห้องที่เกิดจากแสงธรรมชาติ เพื่อใช้ควบคู่กับการหรี่แสงอัตโนมัติ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบไฟฟ้าแสงสว่างทั้งระบบ ซึ่งจะประหยัดพลังงานได้มาก แต่ก็ต้องลงทุนมากเช่นกัน

 .

ค. สวิตช์ตรวจจับการทำงาน (Occupancy Sensor) เป็นสวิตช์ควบคุมการเปิด-ปิด โดยการตรวจจับจากการดำเนินกิจกรรม เช่น การเคลื่อนไหว หรือเสียง เพื่อป้องกันการลืมเปิดไฟทิ้งเอาไว้ในเวลาที่ไม่มีคนอยู่ และสามารถใช้ควบคู่กับการหรี่แสงอัตโนมัติ เพื่อหรี่ไฟให้มีความสว่างน้อยลงในเวลาที่มีกิจกรรมน้อย

 .
2.3 การบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ    

เมื่อใช้งานระบบไฟฟ้าแสงสว่างไปเป็นระยะเวลานาน ๆ จะพบว่าระดับความสว่างจะลดลงตามระยะเวลา เนื่องจากการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หลอดไฟฟ้าเสื่อมสภาพ โคมไฟสกปรก หรือแม้แต่ผนังและฝ้าเพดาน ก็มีผลต่อการลดค่าการสะท้อนแสง อันจะส่งผลต่อระดับความสว่างภายในห้อง ดังนั้นการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ จึงมีความจำเป็นในการที่จะให้ได้มาซึ่งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ดี และมีประสิทธิภาพสูง

 .

 .

2.3.1 การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าที่ขาด ในการใช้งานระบบไฟฟ้าแสงสว่างย่อมจะมีหลอดไฟฟ้าที่ขาดเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งจะทำให้ปริมาณแสงจากระบบไฟฟ้าแสงสว่างลดลง การปล่อยให้มีหลอดขาดในบริเวณพื้นที่ทำงาน ย่อมทำให้เกิดความเสียหายกับประสิทธิภาพการทำงานได้

 .

จึงควรกำหนดให้พนักงานทุกคน มีหน้าที่สังเกตการทำงานของหลอดไฟฟ้าในพื้นที่ทำงานของตน เมื่อพบว่าหลอดไฟฟ้าเริ่มทำงานไม่ปกติ ต้องรีบแจ้งให้ฝ่ายซ่อมบำรุงมาทำการเปลี่ยนให้ก่อนที่หลอดไฟฟ้าจะขาด ซึ่งการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าใหม่เป็นบางจุด (Spot Relamping) เช่นนี้ เป็นวิธีการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าที่ตรงไปตรงมา ประหยัดค่าหลอดไฟฟ้า

 .

แต่หากตำแหน่งของโคมไฟอยู่สูง โดยเฉพาะในโรงงาน การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าอาจทำได้ไม่ง่ายนัก มักจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็นกลุ่ม (Group Relamping) เมื่อใช้งานหลอดไฟฟ้าไปได้ประมาณ 70% ของอายุใช้งาน แม้เสียค่าหลอดไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงโดยรวมลงได้

 .

2.3.2 การทำความสะอาดหลอดไฟฟ้า เพดาน ผนังและพื้น การปล่อยให้ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่าง ๆ เกาะที่โคมไฟ ย่อมทำให้ประสิทธิภาพของโคมไฟลดลง ดังนั้นจึงควรทำความสะอาดโคมไฟเป็นประจำ ส่วนจะถี่มากน้อยขนาดใดขึ้นกับประเภทของโคมไฟ ที่จำแนกตามความยากง่าย ช้าหรือเร็ว ในการสะสมฝุ่นละอองของโคมไฟ และขึ้นกับความสะอาดของสถานที่ติดตั้งโคมไฟ

 .

แต่อย่างน้อยก็ควรมีการทำความสะอาดโคมไฟอย่างน้อยปีละครั้ง และควรถือโอกาสทำความสะอาดโคมไฟไปด้วยทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้า นอกจากโคมไฟแล้วเพดาน ผนัง และพื้น ก็ควรมีการทำความสะอาดเช่นกัน หากสีเริ่มหมองคล้ำลงมากก็อาจจำเป็นต้องทาสีใหม่ ซึ่งสีที่ใช้ทาควรเป็นสีโทนสว่าง และมีค่าการสะท้อนแสงที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่

 .
3. การเลือกใช้หลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์ประหยัดพลังงานประเภทต่าง ๆ

แนวทางการลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการส่องสว่าง โดยยังคงประสิทธิผลการส่องสว่าง สามารถทำได้อีกทางหนึ่งหนึ่ง คือการลดกำลังไฟฟ้าที่ใช้ ด้วยการเลือกใช้หลอดไฟฟ้า บัลลาสต์ และโคมไฟที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังมีรายละเอียดในแต่ละอุปกรณ์ดังนี้

 .
3.1 การเลือกใช้หลอดไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง

ในการเลือกชนิดหลอดไฟฟ้านั้นจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เพื่อให้ได้หลอดไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดที่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นปัจจัยแรกที่ต้องพิจารณา คือ ประเภทการทำงาน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดระดับความสว่าง ความถูกต้องของสี อุณหภูมิของแสง ความสามารถในการหรี่แสง ระยะเวลาอุ่นหลอด ระยะเวลารอจุดซ้ำ

 .

นอกจากนี้สภาพสถานที่ก็มีส่วนกำหนด เช่น ความชื้น ความสั่นสะเทือน อุณหภูมิ ความสูงเพดาน เมื่อตัดหลอดไฟฟ้าที่ไม่อาจใช้งานได้ออก จากนั้นจึงพิจารณาปัจจัยในด้านค่าใช้จ่าย คือ ประสิทธิภาพ อายุใช้งาน และราคา  ซึ่งคุณสมบัติของหลอดไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วไปมีดังนี้

 .

ตารางที่ 12 แสดงคุณสมบัติด้านคุณภาพแสงของหลอดไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วไป*

*ข้อมูลคุณสมบัติของหลอดไฟฟ้าได้จากผู้ผลิตรายหนึ่ง ซึ่งหลอดไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายอื่นก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน
 .
ตารางที่ 13 แสดงคุณสมบัติด้านค่าใช้จ่ายของหลอดไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วไป

 .

แนวทางการเลือกใช้หลอดไฟฟ้าง่าย ๆ คือ ไม่ควรใช้หลอดไส้ในการให้แสงสว่างทั่วไปควรใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นหลัก ในการติดตั้งไฟส่องลง (Down Light) หรือโคมฉาย (Flood Light) ในห้องโถงใหญ่ควรใช้หลอด HID เป็นต้นกำเนิดแสงหลัก

 .

การจะเปลี่ยนชนิดหลอดไฟฟ้า ควรคิดคำนวณอย่างรอบคอบ ถึงค่าใช้จ่ายรวมทั้งระบบ อย่างไรก็ดี หากได้มีการตัดสินใจเปลี่ยนชนิดหลอดไฟฟ้า ก็ไม่ควรเปลี่ยนทั้งหมดทันทีทันใด ควรกำหนดพื้นที่ทดลองส่วนหนึ่งก่อน เพื่อทดสอบผลการใช้งานจริง และการยอมรับของผู้ทำงานก่อน

 .
3.2 การเลือกใช้บัลลาสต์ที่มีการสูญเสียต่ำ

หากเป็นไปได้ควรเลือกใช้บัลลาสต์ที่มีการสูญเสียต่ำที่สุด คือ บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื่องจากโรงงานส่วนมากมีข้อจำกัดในเรื่องฝุ่นละอองและความชื้น ซึ่งจะทำให้อายุใช้งานของบัลลาสต์สั้นลง จึงอาจใช้ได้เฉพาะแต่ในส่วนสำนักงาน โดยเฉพาะโคมไฟที่ใช้หลอดไฟฟ้าหลายหลอด เนื่องจากบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์เพียง 1 ตัว สามารถใช้กับหลอดไฟฟ้าได้สูงสุด 3 ถึง 4 หลอด และบางรุ่นยังสามารถหรี่แสงได้ ซึ่งช่วยให้เกิดผลการประหยัดคุ้มค่ามากขึ้น

 .
3.3 การเลือกใช้โคมไฟประสิทธิภาพสูง

ปัจจัยที่สำคัญในการเลือกโคมไฟก็คือ สภาพพื้นที่ และประเภทการทำงานในพื้นที่นั้น ปัจจัยแรกก็คือ ความสูงเพดาน เพราะหากเพดานมีความสูงไม่ถึง 3.5 เมตร ก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้โคมไฟที่ใช้กับหลอด HID ถ้ามีความสูงไม่ถึง 5 เมตร ก็จะใช้หลอด HID ได้เฉพาะหลอดขนาดเล็ก ปัจจัยเรื่องสภาพพื้นที่อีกประการก็คือ ระยะห่างของช่วงเสา

 .

ซึ่งจะส่งผลถึงระยะห่างของโคมไฟและอัตราส่วนระหว่างระยะห่างของโคมไฟกับความสูงของโคมไฟ (S/Hm) หรือ ค่า SC (Spacing Criteria) ของโคมไฟที่จะนำมาติดตั้ง ซึ่งค่า SC ของโคมไฟโดยทั่วไปจะมีค่า 1.0-1.5 แต่สำหรับการทำงานที่ต้องอาศัยการมองเห็นใน 3 มิติ เช่น งานกลึง ควรจะเลือกติดตั้งโคมไฟที่กระจายแสงกว้าง มีค่า SC ค่อนข้างสูง (>1.5) แต่จะต้องระวังเรื่องแสงจ้าแยงตา

 .

สำหรับการเลือกใช้โคมไฟประสิทธิภาพสูงนั้น มิใช่พิจารณาจากค่า ประสิทธิภาพของโคมไฟ แต่ต้องพิจารณาจากค่า สัมประสิทธิ์การใช้ประโยชน์ (CU) อันแสดงถึงปริมาณแสงที่โคมไฟส่องมาถึงพื้นที่ทำงาน ซึ่งผู้ผลิตโคมไฟจะต้องให้ตารางมา ดังตัวอย่างที่ได้แนบไว้ในส่วนท้ายเล่ม ค่า CU จะเริ่มจากการหา อัตราส่วนช่องว่างของห้อง (Room Cavity Ratio, RCR) หรือ ดัชนีห้อง (Room Index, Kr) โดยที่
                     RCR = 5 x ความสูงจากพื้นงานของโคมไฟ x (กว้าง+ยาว) / (กว้างxยาว) = 5 / Kr

 .

จากนั้นจึงพิจารณา ค่าความสามารถในการสะท้อนแสงของ เพดาน พนัง และพื้น ซึ่งสำหรับโรงงานโดยทั่วไป จะมีค่า 70, 50 และ 20% ตามลำดับ เมื่อทราบค่าทั้งหมดแล้ว ก็จะหาค่า SC จากตารางได้ เช่น ถ้า RCR = 3 โคม High Bay ใส่หลอด HID ใส จะมีค่า CU = 0.69

 .

จากค่า CU ที่คำนวณได้ เมื่อทำการกำหนดระดับความสว่างที่ต้องการ โดยพิจารณาจากมาตรฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ในข้อกำหนดระบบแสงสว่าง จะสามารถคำนวณหาจำนวนโคมไฟที่ต้องติดตั้งจาก

 .
             E = F / A 
             E = [N x n x Fl x CU x LLF] / A
             นั้นคือ  N = [E x A] / [n x Fl x CU x LLF]
 .

โดยที่   E คือ ค่าระดับความสว่างที่ต้องการ (lux หรือ lm/m2)
             F คือ ฟลักซ์การส่องสว่างทั้งหมดที่ตกลงบนพื้นที่ทำงาน (lm)
             A คือ พื้นที่ทำงาน (m2)
             N คือ จำนวนโคมไฟ (โคม)
             n คือ จำนวนหลอดไฟฟ้าในโคมไฟ 1 โคม (หลอด/โคม)
             Fl คือ ฟลักซ์การส่องสว่างของหลอดไฟฟ้า 1 หลอด (lm/หลอด)
             LLF คือ ค่าแฟกเตอร์การสูญเสียแสง (Light Loss Factor) ซึ่งเป็นผลรวมของความเสื่อมของหลอดและความเสื่อมจากโคมไฟสกปรก = LLD x LDD

 .

และเมื่อต้องการคำนวณถึงค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในระบบแสงสว่างต่อตารางเมตรของพื้นที่ทำงาน จะสามารถคำนวณได้จาก
                  E = [N x n x Fl x CU x LLF] / A
                  [N x n] / A = E / [Fl x CU x LLF]
                  [N x n x P] / A = E x P/ [Fl x CU x LLF]
                  นั้นคือ W/m2 = E / [LPW x CU x LLF]

 .

โดยที่  P คือ กำลังไฟฟ้าที่ใช้ของหลอดไฟฟ้า 1 หลอด (W)
LPW คือ ค่าประสิทธิผลทางแสง (lm/W) = Fl / P

 .

จะเห็นได้ว่า ค่ากำลังไฟฟ้าที่ใช้ในระบบแสงสว่างจะมากหรือน้อยขึ้นกับ ปัจจัย 4 ข้อ คือ
1. ค่าระดับความสว่างที่ต้องการ ถ้าต้องการระดับความสว่างสูงก็ย่อมต้องใช้พลังงานมาก
2. ค่าประสิทธิผลทางแสง ถ้าใช้หลอดไฟฟ้าที่มีประสิทธิผลทางแสงสูงก็จะใช้พลังงานน้อยลง

 .

3. ค่าสัมประสิทธิ์การใช้ประโยชน์  ถ้าเลือกโคมไฟที่มีค่า CU สูงก็จะใช้พลังงานน้อยลง
4. ค่าแฟกเตอร์การสูญเสียแสง ถ้าใช้หลอดไฟฟ้าที่มีความเสื่อมของหลอดต่ำ (ค่า LLD ใกล้ 1) หรือมีการทำความสะอาดโคมไฟบ่อย (ค่า LDD ใกล้ 1) ก็จะใช้พลังงานน้อยลง

 .
เครื่องมือในการอนุรักษ์พลังงานในระบบไฟฟ้าแสงสว่าง

1. อุปกรณ์วัดที่ใช้ในการอนุรักษ์พลังงานในระบบไฟฟ้าแสงสว่าง

1.1 เครื่องวัดความสว่าง คือ ลักซ์มิเตอร์ (Lux Meter) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดปริมาณแสงที่ตกกระทบต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ (lm/m2 หรือ lux) เพื่อบอกว่าระดับความสว่างที่ได้เพียงพอหรือไม่ ลักซ์มิเตอร์ที่ใช้ควรเป็นชนิดปรับแก้ค่าเชิงความยาวคลื่น คือ ความไวต่อความยาวคลื่นแสงเหมือนตามนุษย์ และปรับแก้ค่าเชิงมุมคือ ปรับแก้ค่าความสว่างที่วัดได้เมื่อแสงตกกระทบไม่ตั้งฉากกับผิวหน้าของหัววัด

 .

 .

1.2 เครื่องวัดระยะทาง เช่นตลับเมตรเพื่อใช้วัดความสูงฝ้า ระยะระหว่างดวงโคม รวมทั้งใช้วัดพื้นที่ใช้งาน เพื่อหาค่ากำลังไฟฟ้าแสงสว่างที่ใช้เป็นวัตต์ต่อตารางเมตรของพื้นที่ใช้งาน

 .

2. แผนผังและตารางที่ใช้ในการอนุรักษ์พลังงานในระบบแสงสว่าง
2.1 แผนผังหลอดไฟฟ้า
แสดงถึงชนิดของหลอดไฟฟ้า ตำแหน่งติดตั้ง และสวิตช์ควบคุม

 .

2.2 ตารางกำหนดการเปิด-ปิด แสดงกำหนดการเปิด-ปิด ชนิด และจำนวนหลอดไฟฟ้าของสวิตช์ควบคุมแต่ละจุด โดยระบุชื่อผู้รับผิดชอบเปิด-ปิด และซ่อมบำรุง

 .

2.3 ตารางการวิเคราะห์ระบบแสงสว่าง แสดงชนิด ขนาด และจำนวนหลอดไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้คำนวณค่ากำลังไฟฟ้าแสงสว่างที่ใช้ต่อพื้นที่ และแสดงชั่วโมงทำงานของโคมไฟในแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้คำนวณ Unit ไฟฟ้าที่ใช้กับระบบแสงสว่างในแต่ละปี

 .

2.4 ตารางพิจารณาปรับปรุง แสดงผลการพิจารณาแสงธรรมชาติ เวลาทำงาน และพื้นที่ใช้งานของสวิตช์ควบคุมแต่ละจุด ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดมาตรการ และจุดที่จะปรับปรุงได้อย่างเหมาะสม และครบถ้วน

 .

2.5 แบบฟอร์มสำหรับวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายระบบแสงสว่าง แสดงข้อมูลของหลอดไฟฟ้าที่ใช้อยู่ และชนิดที่พิจารณาจะเปลี่ยนใช้แทน เพื่อทำการคำนวณเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย

 .

2.6 ตารางแผนการซ่อมบำรุงระบบแสงสว่าง แสดงกำหนดการซ่อมบำรุง ได้แก่ การทำความสะอาดบริเวณต่าง ๆ การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าในพื้นที่ซึ่งกำหนดให้เปลี่ยนหลอดไฟฟ้าตามกำหนดอายุการใช้งาน โดยระบุชื่อผู้รับผิดชอบ

 .
ตัวอย่างแผนผัง ตาราง และแบบฟอร์มต่าง ๆ มีแสดงดังต่อไปนี้

แผนผังหลอดไฟฟ้า อาคาร 1

 .

จากตัวอย่างแผนผังหลอดไฟฟ้าอาคาร 1 ซึ่งแสดงตำแหน่งติดตั้งของหลอดไฟฟ้า และทิศทางที่มีแสงธรรมชาติ ในพื้นที่ทำงานต่าง ๆ ซึ่งมีช่วงเวลาการทำงานไม่ตรงกัน จะทำให้สามารถสร้างตารางกำหนดการเปิด-ปิด ที่เหมาะสม สอดคล้องกับเวลาการทำงานในแต่ละพื้นที่ ดังตัวอย่างตาราง ก.1 นอกจากนี้แผนผังหลอดไฟฟ้ายังทำให้ทราบจำนวนหลอดไฟฟ้าที่แน่นอน ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างตารางการวิเคราะห์ระบบแสงสว่าง ดังตัวอย่างตาราง ก.2

 .

เมื่อทำการสำรวจสภาพการใช้งานจริง ร่วมกับข้อมูลที่ในตารางทั้งสอง จะสามารถนำมาพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการปิด-เปิดหลอดไฟฟ้าได้ ดังตัวอย่างตารางพิจารณาปรับปรุง ก.3 ซึ่งสามารถลดหลอดฟลูออเรสเซนต์ในอาคาร 1 ได้ถึง 69 หลอดจากจำนวนหลอดฟลูออเรสเซนต์ทั้งสิ้นรวม 247 หลอด หรือคิดเป็นจำนวนหลอดที่ลดได้ถึงประมาณ 28 %

 .
ตารางที่ ก.1 ตารางกำหนดการเปิด-ปิดของหลอดฟลูออเรสเซนต์ อาคาร 1

 .
ตารางที่ ก.2 ตารางการวิเคราะห์ระบบแสงสว่าง

 .

ค่ากำลังไฟฟ้าแสงสว่างที่ใช้ต่อพื้นที่อาคาร 1 (2,310 ต.ร.เมตร)            = 8.15 วัตต์ต่อตารางเมตร
ค่ากำลังไฟฟ้าแสงสว่างที่ใช้ต่อพื้นที่อาคาร 2 (1,890 ต.ร.เมตร)            = 11.49 วัตต์ต่อตารางเมตร
ค่ากำลังไฟฟ้าแสงสว่างที่ใช้ต่อพื้นที่รวมทุกอาคาร (4,200 ต.ร.เมตร)    = 9.65 วัตต์ต่อตารางเมตร
ค่าไฟฟ้าคิดตามอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ก.ย.41-ส.ค.42) 2.2 บาท/kWh     = 333,192 บาทต่อปี

 .

ตารางที่ ก.3 ตารางพิจารณาปรับปรุงหลอดฟลูออเรสเซนต์ อาคาร 1

 
เอกสารอ้างอิง

- หลักสูตรการอนุรักษ์พลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับ SMEs กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2547

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด