เนื้อหาวันที่ : 2010-01-05 18:02:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3659 views

สร้างยุทธศาสตร์ชาติด้วยการคิดอย่างลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

เมื่อสถานการณ์ของโลกมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา แนวคิดของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานก็ได้รับการตอบรับมากขึ้นเป็นลำดับ และได้รับความสนใจในระดับนโยบายของชาติเลยทีเดียว แต่ละหน่วยงานในระดับกระทรวง หรือกรมต่าง ๆ รวมถึงสภาพัฒน์ ฯ ก็พยายามที่จะศึกษาและหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่จะกำหนดแนวทางและนโยบายด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในระดับกระทรวงเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติทั้งหลาย

พฤทธ์ อึงคนึงเดชา
ดร.วิทยา สุหฤทดำรง

ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

.

.

ปีนี้คงเป็นปีที่มีความคึกคักและมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย หรือพูดอีกอย่างว่า มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา แนวคิดของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานก็ได้รับการตอบรับมากขึ้นเป็นลำดับ และได้รับความสนใจในระดับนโยบายของชาติเลยทีเดียว แต่ละหน่วยงานในระดับกระทรวง หรือกรมต่าง ๆ รวมถึงสภาพัฒน์ ฯ ก็พยายามที่จะศึกษาและหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่จะกำหนดแนวทางและนโยบายด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในระดับกระทรวงเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติทั้งหลาย

.
คุณค่าของความเป็นชาติ

เมื่อพูดถึงความเป็นชาติแล้ว ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ไทยในมุมต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่อยมา แต่คุณค่า (Value) ของชาตินั้น ผมจะมองในเชิงเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของคนในชาตินั้นที่อยู่รวมกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันและมีสัญลักษณ์ของความเป็นพวกเดียวกัน ชนในชาตินั้นก็จะถูกผลักดันด้วยวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างและพัฒนาความเจริญของชาติ

.

ดังนั้นคุณค่าของชาติถ้าวัดในเชิงขนาดของเศรษฐกิจก็สามารถวัดได้ที่ GDP และความสามารถในการแข่งขันในด้านต่าง ๆ ของแต่ละประเทศแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างชาติ และมีอิทธิพลโดยตรงต่อโซ่คุณค่า (Value Chain) ของประเทศนั้น แต่ละประเทศก็มีคุณค่า (Value) แตกต่างกันออกไป

.

ประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากก็จะสร้างผลิตผลทางการเกษตรออกมา บางประเทศที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากก็จะมีแหล่งอุตสาหกรรมในการแปรรูปวัตถุดิบเพื่อการส่งออกและใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ

.

บางประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากก็จะใช้พื้นที่และแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อบริการแก่นักท่องเที่ยวเป็นหลัก บางประเทศก็อาจจะมีคุณค่าต่าง ๆ มากกว่าหนึ่งคุณค่าตามความหลากหลายในความสามารถของคนภายในประเทศ ในแต่ละคุณค่าก็จะมี Value Chain หรือโซ่คุณค่าของแต่ละชนิดกันไป

.

สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการทำวิจัยและกำหนดคุณค่าหรือกลุ่มสินค้าที่สามารถพัฒนาให้มีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรม ICT อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและแฟชั่น เป็นที่แน่นอนว่าการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อที่การผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์สินค้าไปสู่ลูกค้ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการผลิตเลย

.

ในมุมมองของประเทศหรือชาติ ลูกค้าของทั้งอุตสาหกรรมจะมีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหรือตลาดโลก ดังนั้นโจทย์ของยุทธศาสตร์ชาติในด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานควรจะสนับสนุนการสร้างคุณค่าและการส่งมอบคุณค่าเหล่านี้ต่อลูกค้า (Value Creation and Value Delivery)    

.
บทบาทของภาครัฐ

โดยปกติภาครัฐไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ แต่ถ้ามองให้ดีแล้วภาครัฐจะเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากและยังเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อโซ่คุณค่านั้น ๆ ซึ่งจะเหมือนจุดมุ่งหมายของภาครัฐในการสร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศ ภาครัฐเองนั้นอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนในการสร้างคุณค่านั้น ๆ ออกมา

.

ลองมองประเทศหนึ่งเป็นบริษัทที่มีประชาชนทุกคนเป็นผู้ถือหุ้น โดยที่ประชาชนแต่ละคนก็ต้องเสียภาษีเงินได้ทุกปีเปรียบเสมือนค่าหุ้น เหมือนดังที่นักการเมืองทุกคนจะพูดว่าประชาชนทุกคนคือ เจ้าของประเทศ

.

บทบาทของภาครัฐในโซ่คุณค่าแต่ละโซ่นั้นก็มีหลายบทบาท จึงจะเห็นได้ว่าหน่วยงานของรัฐนั้นแบ่งออกเป็นหลายกระทรวงแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ นั่นเป็นแนวคิดในอดีตซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานและตัดสินใจในการดำเนินการ

.

ปัจจุบันการทำงานของกระทรวงต่าง ๆ ที่แบ่งเป็นหน้าที่ต่าง ๆ จะต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่การสร้างคุณค่าในแต่ละโซ่คุณค่าที่เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ

.

ดังนั้นบทบาทหนึ่งของภาครัฐ คือ การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่การสร้างคุณค่าในแต่ละโซ่คุณค่าต่าง ๆ ของธุรกิจและหน่วยงานที่อยู่ในประเทศและประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ

.

ในแบบจำลองโซ่อุปทานและโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ในประเทศสามารถแสดงได้ดังในรูปที่ 1 โซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ใด ๆ สามารถที่จะแสดงอยู่ในลักษณะเป็นความเชื่อมโยง (Linkage) หรือโซ่ (Chain) หรือเครือข่าย (Network) ของความร่วมมือกันของผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต และผู้กระจายสินค้า

.
จนสุดท้ายเป็นผลิตภัณฑ์หรือคุณค่าที่ได้ถูกส่งมอบไปถึงมือลูกค้า ส่วนการวิเคราะห์ว่ากิจกรรมใดเป็นลอจิสติกส์หรือโซ่อุปทานนั้นผมขออนุญาตข้ามไป คิดว่าทุกท่านที่ติดตามบทความผมมาพอสมควรคงจะวิเคราะห์ได้
.

กิจกรรมแรกเริ่มที่มีบทบาทในการค้าและอุตสาหกรรมของโลก ก็คือ การขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ธุรกิจการขนส่งถือว่าเป็นธุรกิจลอจิสติกส์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกธุรกิจหนึ่ง ซึ่งต่อมาธุรกิจลอจิสติกส์ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมมาถึงการจัดเก็บและคลังสินค้า (Warehouse) จนทุกคนเข้าใจว่า ลอจิสติกส์นั้น คือ การขนส่งและการจัดเก็บในคลังสินค้า

.

แต่ที่จริงแล้วแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีขอบข่ายมากกว่ากิจการการขนส่งหรือการรับจัดเก็บสินค้าที่ถูกพิจารณาว่าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมลอจิสติกส์ โดยที่ผู้ผลิตหรือผู้รับสินค้าไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการงานในการขนส่งหรือเคลื่อนย้าย แต่ว่าจ้างให้ผู้อื่นดำเนินการแทน

.

ที่เห็นได้ชัดก็คือ รถขนส่งสินค้าต่าง ๆ สายเดินเรือ สายการบิน แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ากิจกรรมการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ที่อยู่นอกพื้นที่ปฏิบัติงานในบริษัทหรือโรงงาน รถขนส่งต่าง ๆ จะต้องเคลื่อนที่ไปบนถนนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบธุรกิจ แต่ก็คงจะไม่มีบริษัทเอกชนบริษัทไหนลงทุนสร้างถนนเอง

.

ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมาเป็นคนกลางสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)ในการขนส่ง จากจุดนี้ท่านผู้อ่านจะเห็นว่ากระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในงานพัฒนาตรงนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าแผนงานลอจิสติกส์แห่งชาติที่ริเริ่มโดยกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานวางแผนทางด้านการขนส่งอื่น ๆ จึงออกมาในรูปแบบของแผนงานพัฒนาการขนส่งเป็นส่วนใหญ่

.

อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าลอจิสติกส์ไม่ได้หมายถึงการขนส่งจากโรงงานหนึ่งไปยังคลังสินค้าอีกโรงงานหนึ่งเท่านั้น แต่ลอจิสติกส์จะครอบคลุมการขนส่งและการเคลื่อนย้ายทั้งภายในและภายนอกองค์กรธุรกิจทั่วทั้งโซ่อุปทานและโซ่คุณค่า

.

หากคุณเข้าใจลอจิสติกส์ดีก็จะทราบว่า ที่ไหนมีลอจิสติกส์ก็ย่อมมีโซ่อุปทานตามมา แล้วโซ่อุปทานตรงการขนส่งระหว่างองค์กรมีอยู่ตรงไหนบ้าง การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) สำหรับลอจิสติกส์ในช่วงการขนส่งระหว่างองค์กรก็คือ ข้อตกลงในซื้อขาย การโอนถ่ายความเป็นเจ้าของในตัวสินค้า

.

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ชัดว่า เมื่อมีสังคมเกิดขึ้นก็จะต้องมีคนกลางซึ่งก็คือภาครัฐ ในกรณีนี้กระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเรื่องการค้าขายระหว่างองค์กรจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการออกระเบียบวิธีการเพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานในการตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน เพื่อให้เกิดการขนส่งสินค้ากัน

.

ยิ่งในปัจจุบันการใช้อินเตอร์เน็ตมาช่วยให้การทำรายการทางธุรกิจ (Transaction) มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ในรูปแบบของ E-Commerce ดังนั้นบทบาทในการจัดการโซ่อุปทานระหว่างองค์กรที่มีผลกระทบโดยตรงกับปริมาณการขนส่งบนโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งถึงต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นของกระทรวงพาณิชย์

.

บทบาทเหล่านี้ทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์มีผลกระทบต่อโซ่อุปทานโดยรวมของสินค้าทุกชนิด แต่มีข้อสังเกตง่าย ๆ คือ กิจกรรมลอจิสติกส์ที่อยู่ภายนอกทรัพย์สินของบริษัทหรือองค์กรและเป็นทรัพย์สินสาธารณะและจะต้องใช้หรือปฏิบัติร่วมกัน ภาครัฐจะต้องเข้าไปมีบทบาท แล้วมุมมองของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ผมเสนอจะแตกต่างจากอดีตอย่างไร

.

ในอดีตแนวคิดของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอาจจะยังไม่เกิดขึ้นแต่กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นมีอยู่มานานแล้ว ดังนั้นปัจจุบันและอนาคตจะต้องบูรณาการความคิด ข้อมูล วิสัยทัศน์ และนโยบายเชิงลอจิสติกส์เข้าด้วยกันเพื่อที่การใช้ทรัพยากรในเชิงลอจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

.
อุตสาหกรรมลอจิสติกส์

กิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่อยู่นอกกรอบของพื้นที่และหน้าที่การทำงานในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ส่วนมาก เช่น การจัดเก็บและการขนส่ง หลายบริษัทจะพยายามที่จะจัดจ้างจากหน่วยงานภายนอก (Outsourcing) โดยเฉพาะการขนส่ง ในบางบริษัทที่ต้นทุนในการดำเนินงานจัดส่งต่ำและมีการจัดการที่ดีก็อาจจะเป็นเจ้าของและจัดการยานพาหนะเอง  

.

แต่ในปัจจุบันธุรกิจลอจิสติกส์โดยเฉพาะในการขนส่งและการจัดการคลังสินค้าสามารถเสนอการบริการครบวงจรในการจัดการลอจิสติกส์ทั้งขาออกและขาเข้าให้กับลูกค้าโดยที่ลูกค้าไม่ต้องมากังวลในการบริหารจัดการในลอจิสติกส์ช่วงทั้งขาเข้าและขาออก ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

รูปที่ 1 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโซ่อุปทาน

.

จากรูปที่ 1จะเห็นได้ว่านอกจากรัฐบาลในฐานะผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งและการค้าพาณิชย์แล้ว ภาคเอกชนเองสามารถเขามาเป็นตัวกลางในการขนส่งสินค้าและบริการข้อมูลต่าง ๆ ในฐานะผู้ให้บริการลอจิสติกส์ (Logistic Provider) และผู้ให้บริการ IT (IT Provider) ทำให้แนวโน้มของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และ IT ได้เจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกันอยู่เรื่อยมา

.

สำหรับอุตสาหกรรมลอจิสติกส์นั้นในอดีตก็คือธุรกิจการขนส่งและการรับฝากสินค้า เป้าหมายของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีขอบข่ายแค่กิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเท่านั้นไม่ได้รวมกิจกรรมการผลิต

.

ดังนั้นในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจึงประกอบด้วยวิธีการแนวคิด ทางแก้ไขปัญหา เครื่องมือในการขนส่งถ่ายวัสดุ (Material Handling) และที่สำคัญมากก็คือ ระบบ ไอที หรือเทคโนโลยีสารสนเทศนั่นเองที่เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินงาน จะเห็นได้จากธุรกิจการเดินเรือ การขนส่งทางบกและทางอากาศรวมทั้งคลังสินค้าต่าง ๆ

.

สังเกตได้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนือขอบเขตอาณาบริเวณของโรงงานผลิตหรือธุรกิจ แต่ในปัจจุบันการให้บริการจัดการกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ขยายขอบข่ายเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมหรือที่หน่วยผลิตแล้วด้วยแนวคิดของการจัดจ้างจากภายนอก (Outsourcing) แต่ยังไม่ถึงขั้นการเข้าไปรับจ้างผลิตชิ้นส่วน

.

แต่ถ้าเป็นการเข้าไปผลิตชิ้นส่วนแล้ว จะทำให้บริษัทรับจ้างผลิตนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานนั้น ๆ ไป เพราะไม่เข้าไปดำเนินการกิจกรรมลอจิสติกส์ แต่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณค่า (Value Creation) ให้กับผลิตภัณฑ์

.

กระทรวงอุตสาหกรรมนั้นมีหน้าที่โดยตรงกับการผลิตในการควบคุมและดูแลการดำเนินงานของโรงงานหรือธุรกิจการผลิตให้อยู่ในขอบข่ายของกฎหมาย แต่ไม่ได้ไปมีส่วนในการดำเนินงาน แต่บทบาทหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรมที่นอกจากดูแลและควบคุมแล้ว คือ การสนับสนุนและส่งเสริม

.

กระทรวงอุตสาหกรรมนั้นมีบทบาทและมีความสำคัญมากที่สุดเพราะสินค้าทุกอย่างจะต้องออกแบบและผลิตออกมาจากโรงงาน และถ้าไม่มีโรงงานแล้ว ถนนก็จะว่าง รถ เรือและเครื่องบิน คงจะไม่เที่ยวให้ขนส่ง ฝ่ายขายคงจะไม่อะไรไปขายด้วย 

.

การผลิตถือว่าเป็นหัวใจของโซ่อุปทานเลยทีเดียว การผลิตจะกำหนดว่าในโซ่อุปทานของสินค้าที่ผลิตจะมีใครมาเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบ (Suppliers) ให้การพัฒนาผู้จัดส่งวัตถุดิบของแต่ละผู้ผลิตมีความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ๆ กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะคนกลางสามารถสร้างการเชื่อมโยงได้ทั้งในและต่างประเทศ   

.

สำหรับแต่ละโรงงานที่กระทรวงควบคุมและดูแลอยู่นั้น นอกจากข้อมูลที่แต่ละโรงงานจะต้องรายงานทางกระทรวงแล้ว ยังสามารถพัฒนาและสร้างข้อมูลที่เป็นดัชนีชี้วัดความสามารถเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของแต่ละโรงงาน เพื่อใช้ในการเทียบวัดในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันและต่างกัน เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของแต่ละโรงงานและอุตสาหกรรม  

.

ด้วยบทบาทนี้จะทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมมองภาพรวมของอุตสาหกรรมในเชิงการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนอกเหนือตัวเลขหรือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาในแต่ละอุตสาหกรรมมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันจริง ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีย่อมเกิดจากผลสมรรถนะทางการผลิตและการจัดการโซ่อุปทาน

.

เมื่อมองมาถึงจุดนี้แล้วจะเห็นได้ว่าภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ และ IT ให้มีส่วนการสร้างคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ (ส่งข้อมูลรวดเร็วและจัดเก็บข้อมูลมาก และนำข้อมูลนั้นไปตัดสินใจ) ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

.

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานถึงแม้ว่าจะเป็นแค่การเคลื่อนย้ายหรือขนส่งสินค้า แต่จะต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนหลายหน่วยงานที่มีกฎระเบียบของราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พิธีการศุลกากรการแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้เวลานาน แต่ถ้าภาครัฐสามารถลดขั้นตอนลดเวลาและทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ กระบวนการของลอจิสติกส์ในขั้นตอนนี้ก็จะเป็นตัวช่วยให้การเชื่อมโยงนั้นดีขึ้น

.

ส่วนโครงสร้างของเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ที่เห็นกันอย่างชัดเจนก็คือ กระทรวง  ICT ที่จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานของ ICT ทั้งทางด้านนโยบาย การสนับสนุนส่งเสริมและการสร้างมาตรฐานในการติดต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างองค์กรธุรกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะธุรกิจในปัจจุบันจะต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการรับส่งข้อมูล

.

ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานในการรับส่งสินค้าและวัตถุดิบ คือ ถนน และการคมนาคมขนส่ง และที่สำคัญคือ การไหลของข้อมูลในระบบ IT นั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อลอจิสติกส์การไหลของวัตถุดิบและสินค้า คุณภาพของข้อมูลเชิงลอจิสติกส์ย่อมมีผลต่อลอจิสติกส์การไหลของวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป

.

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อข้อมูลข่าวสารของธุรกิจ ก็น่าจะเป็นกระทรวง ICT ดังนั้นเราสามารถที่จะเห็นถึงความสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของ ICT และการคมนาคมขนส่ง ภาครัฐจะต้องพยายามสร้างสมดุลของภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจที่มีระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน

.
สร้างมุมมองใหม่ด้วยการบูรณาการ

การสร้างยุทธศาสตร์ชาติจึงจำเป็นที่จะต้องมองภาพใหญ่ให้เห็นอย่างเด่นชัด และที่สำคัญจะต้องเห็นถึงความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพนั้นด้วย

.

ดังนั้นการมองเชิงยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะต้องมีข้อมูลและรายละเอียดในทุกมุมมองของลอจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในหน่วยงานต่าง ๆ สิ่งแรกที่จะช่วยให้เกิดการบูรณาการที่ประสบผลสำเร็จคือการมีความเข้าใจเหมือนกันในเรื่องต่าง ๆ เพราะสิ่งที่เราจะต้องเชื่อมโยงหรือบูรณาการกันในเบื้องแรกก็คือ ความคิดของแต่ละหน่วยงานที่มีผู้บริหารงานที่มีพื้นฐานความคิดตามตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน

.

ดังนั้นการสร้างยุทธศาสตร์ชาติสำหรับลอจิสติกส์นั้นจำเป็นต้องมี “คำนิยามร่วมในการดำเนินงาน” (Working Definition) ซึ่งจะต้องใช้ร่วมกันทั้งผู้วางยุทธศาสตร์และผู้ปฏิบัติรวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน แต่ปัจจุบันผมยังเห็นเราต่างคน ต่างทำ ต่างคิดกันอยู่ แล้วยุทธศาสตร์นี้จะทำให้เราไปถึงยังจุดมุ่งหมายได้อย่างไร คงต้องช่วยกันคิดและช่วยกันทำอย่างบูรณาการ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด