เนื้อหาวันที่ : 2009-12-21 11:08:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 12319 views

เครื่องมือลีนเพื่อผลิตภาพสายการผลิต (ตอนจบ)

มาตรวัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายหลักขององค์กร มาตรวัดสำคัญที่ถูกใช้ในสภาพการผลิตแบบลีน ประกอบด้วย อัตราการส่งมอบตรงเวลา และ ช่วงเวลานำการผลิต ดังนั้นผลรวมรอบเวลาจึงเป็นช่วงเวลาที่ชิ้นงานหนึ่งหน่วยถูกแปรรูปจนเสร็จสิ้น ส่วนอัตราการผลิตจะเท่ากับอัตรารอบเวลาของเครื่องจักรที่เป็นส่วนกลับของเวลาปฏิบัติการ ดังนั้นรอบเวลาสายการผลิตจึงเป็นผลรวมเวลาการขนถ่ายกับเวลาปฏิบัติงานนานที่สุดโดยไม่คำนึงถึงเวลาการตั้งเครื่อง

โกศล  ดีศีลธรรม
koishi2001@yahoo.com

.

.อ
การกำหนดมาตรวัด

มาตรวัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายหลักขององค์กร มาตรวัดสำคัญที่ถูกใช้ในสภาพการผลิตแบบลีน ประกอบด้วย

.

1. อัตราการส่งมอบตรงเวลา (On-Time Delivery)  วัดผลด้วยปัจจัยการให้บริการลูกค้า นั่นคือปริมาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าเทียบกับปริมาณการส่งมอบสินค้าหรืออัตราให้บริการลูกค้าได้อย่างทันเวลาซึ่งเป็นปัจจัยสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าที่คาดหวังจะได้รับบริการที่ตรงเวลา

.

2. ช่วงเวลานำการผลิต (Manufacturing Lead-Time) เนื่องจากเวลาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ ดังประโยคที่ว่า "Time As a Competitive Weapon" ดังนั้นเวลาจึงเป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ โดยใช้มาตรวัดด้วยรอบเวลา (Cycle Time) เป็นเวลาที่ถูกจัดสรรเพื่อทำการผลิตชิ้นงานให้เสร็จสิ้น    

.

ดังนั้นผลรวมรอบเวลาจึงเป็นช่วงเวลาที่ชิ้นงานหนึ่งหน่วยถูกแปรรูปจนเสร็จสิ้น ส่วนอัตราการผลิตจะเท่ากับอัตรารอบเวลาของเครื่องจักรที่เป็นส่วนกลับของเวลาปฏิบัติการ ดังนั้นรอบเวลาสายการผลิตจึงเป็นผลรวมเวลาการขนถ่ายกับเวลาปฏิบัติงานนานที่สุดโดยไม่คำนึงถึงเวลาการตั้งเครื่อง แสดงด้วยความสัมพันธ์ ดังนี้

.
.

ตัวอย่าง: สายการผลิตหนึ่งประกอบด้วยสองกระบวนการ โดยกระบวนการแรกมีอัตราผลิตผล 20 หน่วย/ชั่วโมง ส่วนกระบวนการสองมีอัตรา 18 ชิ้น/รอบเวลา 45 นาที คำนวณหารอบเวลารวมสายการผลิตนี้ (Total Cycle Time)

.
.

ปัจจัยเวลาการตอบสนอง

.

สำหรับองค์ประกอบช่วงเวลานำการผลิตจำแนกได้เป็น
• เวลาการตั้งเครื่อง (Setup Time) เป็นเวลาที่ใช้จัดเตรียมงานก่อนทำการผลิตซึ่งเกิดการรอคอย
•  เวลาการเดินเครื่องจักร (Run Time) คือ เวลาที่ใช้แปรรูปหรือสร้างผลิตผล

.

• เวลาแถวคอย (Queue Time) คือ เวลาที่เกิดจากทรัพยากรการผลิต เช่น เครื่องจักร แรงงาน เป็นต้น ซึ่งมีภาระงานมากจนไม่มีเวลาเพียงพอที่จะแปรรูปชิ้นงานที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการ

.

• เวลารอคอย (Wait Time) คือ เวลาที่เกิดจากการรอคอยปัจจัยเพื่อทำการแปรรูปในกระบวนการเดียวกันอย่างการรอคอยวัตถุดิบในสายการประกอบ ซึ่งต่างจากเวลาแถวคอยที่จะรอคอยเครื่องจักร และแรงงาน
• เวลาสำหรับเคลื่อนย้าย (Move Time) คือ เวลาที่ถูกใช้เคลื่อนย้ายงานระหว่างกระบวนการโดยไม่คำนึงถึงปริมาณการเคลื่อนย้าย

.

.

ด้วยสภาวะการแข่งขันยุคใหม่นี้ ทำให้ช่วงเวลานำการผลิตเป็นปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จให้กับธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการยุคใหม่จึงได้นำระบบอัตโนมัติ เพื่อให้เวลานำการผลิตสั้นลง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของระบบอัตโนมัติที่มุ่งลดความสูญเปล่าจากปัจจัยเวลา เช่น การขนถ่าย กระบวนการแปรรูป และเวลาสำหรับการตั้งเครื่อง เป็นต้น กลยุทธ์ปรับปรุงกำลังการผลิตระดับโรงงานด้วยระบบอัตโนมัติ ประกอบด้วย

.

• ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติการ (Specialization of Operations) เป็นกลยุทธ์แรกที่มุ่งใช้อุปกรณ์เฉพาะอย่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และใช้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อมุ่งผลิตภาพแรงงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดการลดรอบเวลาปฏิบัติงาน

.

• การรวมขั้นตอนทำงาน (Combined Operations) เป็นกลยุทธ์บูรณาการกระบวนการหลักเพื่อลดความซับซ้อนในขั้นตอนทำงาน โดยเฉพาะการมุ่งทำงานมากกว่าหนึ่งขั้นตอนภายในเครื่องเดียวกัน ทำให้เกิดการลดจำนวนเครื่องจักรและความสูญเปล่าในกิจกรรมที่ไม่สร้างผลิตผล เช่น การตั้งเครื่อง การขนถ่ายวัสดุ เป็นต้น

.

• การปฏิบัติการพร้อมกัน (Simultaneous Operation) โดยดำเนินการพร้อมกันในหลายกิจกรรมภายในศูนย์กลางผลิต (Work Center) ทำให้ลดรอบเวลากระบวนการ

.

• บูรณาการปฏิบัติงาน (Integration of Operations) คือ การเชื่อมโยงหลายศูนย์กลางผลิตเข้าเป็นหน่วยผลิตหลักด้วยการใช้ระบบขนถ่ายอัตโนมัติระหว่างหน่วยผลิต เพื่อลดเวลาขนถ่ายชิ้นงานและเวลาที่ไม่สร้างผลิตผล (Non-productive Time)

.

• การเพิ่มความยืดหยุ่น (Increase Flexibility) เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งใช้เครื่องจักรเต็มกำลัง โดยเฉพาะการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายเพื่อลดเวลาตั้งเครื่อง ส่งผลให้ช่วงเวลานำการผลิตและงานระหว่างผลิตลดลง

.

• มุ่งใช้อุปกรณ์ขนถ่ายและจัดเก็บ (Material Handling and Storage) โดยใช้อุปกรณ์ขนถ่ายและระบบการจัดเก็บแบบอัตโนมัติ เพื่อลดเวลาความสูญเปล่าและปริมาณงานค้างระหว่างผลิต (WIP) รวมทั้งลดช่วงเวลานำการผลิต

.

ปัญหางานค้างระหว่างผลิต

.

• การตรวจสอบในกระบวนการ (Online-inspection) โดยทั่วไปการตรวจสอบคุณภาพผลิต ผลมักดำเนินการหลังจากชิ้นงานได้ผ่านทุกขั้นตอน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดชิ้นงานที่ไม่ได้คุณภาพ ดังนั้นการรวมกิจกรรมตรวจสอบภายในสายการผลิตจะช่วยลดอัตราเกิดของเสีย ซึ่งส่งผลต่อระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องตามข้อกำหนด

.

• การควบคุมกระบวนการ (Process Control) กลยุทธ์ดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงการควบคุมปัจจัยแต่ละกระบวนการ และใช้เครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเวลาในกระบวนการลดลง และเกิดการลดจำนวนของเสีย

.

• การควบคุมปฏิบัติงานระดับโรงงาน (Plant Operations Control) โดยมุ่งประสานกิจกรรมภายในโรงงานให้มีประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer Network) สำหรับการควบคุมระดับโรงงาน

.

• การบูรณาการคอมพิวเตอร์เพื่อการผลิต (Computer Integrated Manufacturing) หรือ CIM เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบฐานข้อมูล เครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อบูรณาการระบบปฏิบัติงานฝ่ายวิศวกรรมและการผลิต รวมทั้งส่วนงานสนับสนุนทั่วทั้งโรงงาน

.

การจำแนกกิจกรรมที่สร้างคุณค่าเพิ่ม

.

3. การบริหารต้นทุน (Cost Management) อย่างเช่น ต้นทุนรวมการส่งมอบให้ลูกค้า ต้นทุนผลิตต่อหน่วยและความสามารถทำกำไร (Profitability) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับต้นทุนที่เกิดขึ้น หรือการใช้พื้นที่จัดเก็บสต็อกเทียบกับต้นทุนรวมการจัดซื้อปัจจัยการผลิต

.

4. การบริหารสินทรัพย์ (Asset Management) มาตรวัดการบริหารสินทรัพย์จะวัดผลจากการใช้ประโยชน์สินทรัพย์ นั่นคือ ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) และการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทุน หรือปัจจัยการผลิตอย่าง เครื่องจักร ที่ดินและระบบสนับสนุน บางองค์กรอาจใช้อัตราการหมุนสินค้าคงคลัง เนื่องจากสัดส่วนสินทรัพย์รวมจะถูกจัดเก็บในรูปสินค้าคงคลัง

.

5. อัตราการใช้พื้นที่ใช้สอย (Space Utilization) โดยเทียบสัดส่วนระหว่างพื้นที่ซึ่งถูกใช้งานจริงเทียบกับพื้นที่รวมของโรงงานและระยะการขนถ่ายตลอดทั้งกระบวนการ

.

การจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นระเบียบ

.

6. ผลิตภาพ (Productivity) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผลิตผล (Output) เทียบกับปัจจัยนำเข้า (Input) ปัจจัยนำเข้ามักแสดงเชิงปริมาณ เช่น ต้นทุนแรงงานต่อหน่วย ชั่วโมงการทำงาน เป็นต้น ผู้บริหารจะใช้ข้อมูลนี้ในการตั้งเป้าหมายปรับปรุงผลิตภาพเพื่อเทียบเคียงผลการดำเนินงานแต่ละรอบเวลา และนำข้อมูลที่จัดเก็บแสดงด้วยคุณค่าเพิ่ม

.

ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างทรัพยากรที่ป้อนสู่กระบวนการอย่าง ปริมาณวัตถุดิบ ชั่วโมงการทำงาน ชั่วโมงการเดินเครื่อง ค่าจ้างแรงงาน เทียบกับผลิตผลที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงถึงความสามารถทำกำไร นั่นคือ หากค่าที่คำนวณได้ยิ่งมากแสดงถึงอัตราผลกำไรต่อหน่วยสูง โดยถูกใช้เป็นดัชนีวัดผลประกอบการ และเป็นจุดตัดสินใจสำหรับผู้ประกอบการ นั่นคือ

.

.

.

7. อัตราผลิตผลดี (Yield) เป็นมาตรวัดทางคุณภาพที่คำนวณจากความสัมพันธ์
          Yield = (ปริมาณปัจจัยนำเข้า) x (% ผลิตผลดี) + (ปริมาณปัจจัยนำเข้า)
                  x (1-% ผลิตผลดี) x (% งานแก้ไข)
          Y = (I) (% G) + (I) (1-% G) (% R)
   เมื่อ  I = ปริมาณปัจจัยนำเข้าที่สู่กระบวนการผลิต
          %G = สัดส่วนผลิตผลดีที่เกิดขึ้น
          %R = สัดส่วนผลิตผลที่ต้องแก้ไข

.

ดังนั้น หากกระบวนการมีสัดส่วนค่า Yield สูง นั่นหมายถึงกระบวนการสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพระดับที่ยอมรับได้ เช่น หากกระบวนการผลิตชิ้นงาน 100 ชิ้น โดยเกิดข้อบกพร่องขึ้น 2 ชิ้น นั่นคือ เกิดค่า Yield 98% อย่างไรก็ตามค่า Yield เป็นเพียงตัวชี้บ่งคุณภาพผลิตภัณฑ์ ดังนั้นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของผลิตผลที่มีคุณภาพดีด้วยการปรับปรุงคุณภาพได้ส่งผลต่อการเพิ่มค่า Yield

.

.
ลอจิสติกส์

ปัจจัยลอจิสติกส์ที่สนับสนุนแนวคิดลีน คือ เอกสารวางแผนและควบคุมกระบวนการ กฏระเบียบการทำงานในสายการผลิต โดยจำแนกดังนี้
1. การวางแผนและควบคุม (Planning & Control Function) โดยพัฒนาจัดทำเอกสารสนับสนุนการทำงานที่มุ่งให้งานเกิดการไหลอย่างต่อเนื่อง ด้วยการประสานความร่วมมือและกฏเกณฑ์การปฏิบัติงาน ประกอบด้วย

.

• การวางแผนล่วงหน้า (Forward Plan) เพื่อกำหนดภาระงาน และทรัพยากรที่จำเป็นในการผลิต โดยใช้ระบบ MRPII สนับสนุนการวางแผนงานระยะสั้น (1-4 สัปดาห์) และวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจว่าจะผลิตเองหรือจัดซื้อจากภายนอก ข้อมูลจะถูกถ่ายทอดให้กับผู้ส่งมอบระดับต้นน้ำ เพื่อให้เกิดความสอดประสานระดับห่วงโซ่อุปทาน

.

ระบบวางแผนด้วย MRPII

.

• ควบคุมตามลำดับความสำคัญ (Priority Control) สำหรับหน่วยผลิตทั่วไปจะแสดงรายการคำสั่งผลิตทั้งหมด (Dispatch List) โดยระบุตามลำดับความสำคัญ (Priority Sequence) ของคำสั่งผลิตซึ่งสร้างขึ้นแบบรายวันในแต่ละหน่วยผลิต  

.

ดังนั้น Dispatch List จะแสดงลำดับความสำคัญในกำหนดการแต่ละหน่วยผลิต รวมทั้งปริมาณการผลิต ความต้องการกำลังการผลิต และคำสั่งแต่ละหน่วยผลิต โดยผู้ควบคุมงานสายการผลิตจะใช้ข้อมูลเพื่อจัดสรรภาระงานให้กับแรงงาน

.

การจัดสรรภาระและลำดับงาน

.

• แผนกำหนดการรายวัน (Daily Schedule) โดยมุ่งจัดสรรงานให้เกิดความสมดุลในสายการผลิต และลดปริมาณงานค้างด้วยการประเมินกำลังการผลิต เทียบกับภาระงาน โดยพิจารณาปัจจัยแรงงาน และเครื่องจักร

.

ความต้องการกำลังการผลิตตามรอบเวลา

.

2. กำหนดระดับภาระงาน (Level Loading) โดยใช้ข้อมูลอุปสงค์ลูกค้าที่แสดงหน่วยผลิตผลแต่ละวันหรือรอบเวลา และคำนวณค่าเฉลี่ยรายเดือนเพื่อใช้วางแผนการผลิต และจัดเตรียมสต็อกกันชน (Buffer) หากเกิดความผันผวนในอุปสงค์             

.

.

3. การผลิตแบบรุ่นผสม (Mix-model Manufacturing) เนื่องจากหน่วยผลิตในสภาพการผลิตแบบลีน จะต้องตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ดังนั้นจึงควรจัดเตรียมแรงงานที่มีความยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลง หากพิจารณาปริมาณการผลิตแต่ละเดือนในสายการผลิตรถรุ่น A 6000 คัน และรุ่น B 3000 คัน

.

ดังนั้นระดับการผลิตควรแสดงด้วยการผลิตรถรุ่น A 2 คัน และตามด้วยรถรุ่น B 1 คัน นั่นคือ AABAABAAB…. เรียกว่า การผลิตแบบรุ่นผสม (Mixed Model) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความผันผวนอุปสงค์ และลดการจัดเก็บสต็อกเผื่อ โดยระบุรายละเอียดในแผนผลิตรายวัน แต่หากแนวโน้มอุปสงค์มีความเสถียรจะส่งผลให้การไหลของงานเกิดความต่อเนื่อง

.

.

สำหรับเป้าหมายผลิตผล จะมีการวางแผนไว้ตามรอบเวลาด้วยการพยากรณ์ล่วงหน้าในช่วงระหว่างวันหรือกะทำงาน ผลิตผลที่เกิดขึ้นจะถูกเทียบเคียงกับเป้าหมายที่กำหนดจากกิจกรรมประจำวัน

.

ดังนั้นจึงต้องดำเนินการติดตามแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความล่าช้ากว่าแผนงานหรือไม่ผลิตเกินจากที่กำหนดไว้มากเกินไป ดังกรณีโรงงานแห่งหนึ่งมีแผนการผลิตสินค้ารุ่น X, Y และ Z ผู้จัดการโรงงานกำหนดเป้าหมายการผลิต 30,000 หน่วย ภายใน 30 วัน

.

โดยทำงานไม่มีวันหยุดและแบ่งการทำงานเป็น 3 กะ แต่ละกะกำหนดเวลาหยุดพักเพื่อบำรุงรักษาเครื่องจักร และพักทานข้าว 60 นาที ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าแต่ละวันจะต้องผลิต 1,000 หน่วยหรือ 333 หน่วยต่อกะ โดยผลิตผลแต่ละหน่วยใช้รอบเวลาผลิต 420/333 = 1.26 นาที ซึ่งกำหนดสัดส่วนผลิตผล (Product Proportion) แต่ละรุ่น ดังนี้

.

รุ่น X = 20,000 หน่วย (66%) รุ่น Y = 5,000 หน่วย (17%) และรุ่น Z = 5,000 หน่วย (17%) ดังนั้นลำดับกำหนดการผลิต คือ X X Y X X Z X X Y X X Z X X Y X X Z... ด้วยเหตุนี้ มาตรฐานผลิตผลต่อหน่วยเวลาที่แสดงในแผนการผลิต ไม่ควรใช้ค่าเฉลี่ยจากข้อมูลอดีต แต่ควรใช้ข้อมูลฐานและพยายามปรับให้สอดคล้องกับสภาพการผลิตจริง

.

.

หลังจากกำหนดภาระงานรวมเสร็จสิ้นและเริ่มเดินสายการผลิตสามารถตรวจติดตามความคืบหน้าแต่ละคำสั่งผลิตได้อย่างต่อเนื่อง รายละเอียดความคืบหน้าของงานอาจแสดงด้วยแผนภูมิที่ติดประกาศบนบอร์ดภายในโรงงาน เพื่อให้หัวหน้างานใช้ติดตามผลลัพธ์เทียบกับเป้าหมาย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญของลูกค้าและปัญหาสายการผลิต เช่น ผู้ส่งมอบไม่สามารถส่งของได้ทันตามกำหนดการ

.

ปัญหาเครื่องจักรขัดข้อง จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกำลังการผลิตหรือภาระงานโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นจึงควรปรับเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการจัดตารางทำงานล่วงเวลา และการเพิ่มกะทำงานหรือจ้างผู้รับเหมาภายนอก แต่ทางกลับกันหากมีกำลังการผลิตส่วนเกินก็อาจลดช่วงเวลาหรือกะทำงานและโยกย้ายแรงงานบางส่วนไปช่วยงานสนับสนุน

.

บอร์ดควบคุมกิจกรรมการผลิต

.
การจัดองค์กร

การจัดองค์กรเป็นกิจกรรมสนับสนุนให้การดำเนินโครงการลีนเป็นไปอย่างราบรื่น ประกอบด้วย
1. การแจ้งประกาศให้ทุกคนในองค์กรได้รับทราบ โดยติดประกาศบนบอร์ด หรือเอกสารเวียนให้แต่ละฝ่ายงานเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงผลิตภาพการทำงาน และระบุแผนงานแต่ละกิจกรรมเพื่อใช้ติดตามความคืบหน้า

.

.

2. การตั้งทีมงานเพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงผลิตภาพ โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อติดตามวัดผลและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนมอบหมายงานให้พนักงานแต่ละคนที่ระบุในแผนปฏิบัติการ

.

3. กำหนดแผนฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากร โดยเฉพาะการกำหนดหัวข้อที่จำเป็นสำหรับการทำงานและระยะเวลาฝึกอบรมเหมาะสม

.

ตัวอย่างหัวข้อและระยะเวลาฝึกอบรม

.

4. ทีมงานโครงการลีนและหัวหน้างานดำเนินการติดตามความคืบหน้า เพื่อประเมินผลสำเร็จตามรอบเวลา และใช้ข้อมูลจากผลลัพธ์ดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

.

.
เอกสารอ้างอิง

1. Jimmie Browne, John Harhen, James Shivnan, Production Management Systems: A CIM Perspective, Addision-Weley Publishers Ltd., 1988
2. John M. Nicholas, Competitive Manufacturing Management, International Editions, McGraw-Hill, 1998
3. Mark A. Vonderembse, Gregory P. White, Operations Management, West Publishing Company, 1996
4. Michael Quirk, Manufacturing, Teams, and Improvement: The Human Art of Manufacturing, Prentice-Hall, 1999
5. Steven A. Melnyk, Morgan Swink, Value-Driven Operations Management: An Integrated Modular Approach, McGraw-Hill, 2002
6. โกศล ดีศีลธรรม, เทคนิคการจัดการอุตสาหกรรมสำหรับนักบริหาร, ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2546
7. โกศล ดีศีลธรรม, การเพิ่มผลิตภาพในงานอุตสาหกรรม, สถาบันไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์, 2546
8. โกศล ดีศีลธรรม, เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยแนวคิดลีน, ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2548
9. โกศล ดีศีลธรรม, ผลิตภาพ: ปัจจัยพัฒนาสู่การแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2550

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด