เนื้อหาวันที่ : 2009-12-08 17:01:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6315 views

เรียนรู้อีกหนึ่งเทคโนโลยีกับ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตอน

ในปัจจุบัน ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งไกล้ตัวเรามากจนเราอาจมองข้ามไป แต่ถ้าเรากลับมาคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว การวิจัยและทดลองถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สามารถทำให้เราค้นพบเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือสามารถต่อยอดเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นนทพัทร์ อังศุชวาลวงศ์

.

.

ในปัจจุบัน ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งไกล้ตัวเรามากจนเราอาจมองข้ามไป แต่ถ้าเรากลับมาคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว

.

เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ที่มีกันอยู่ทุกบ้าน  จากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ มนุษย์เราสามารถเปลี่ยนให้เป็นหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งไม่ต้องอาศัยไส้หลอดเรืองแสงอย่างในอดีต เพียงแต่อาศัยหลอดแก้ว ภายในหลอดสูบอากาศออกจนหมด แล้วใส่ไอปรอทไว้เล็กน้อย ผิวหลอดแก้วด้านใน ฉาบด้วยสารวาวแสง (Fluorescent Coating) ชนิดต่าง ๆ ซึ่งจะให้สีต่าง ๆ กันออกไป 

.

แต่กว่าจะมาเป็นหลอดไฟให้เราได้ใช้งานกันนี้ ต้องผ่านการวิจัยและทดลองกันอย่างหลากหลายรูปแบบ เพราะจะต้องนำเอาคุณสมบัติของสารแต่ละตัวมาเทียบเคียงกัน และต้องคำนึงถึงการนำไปใช้งาน ฉะนั้น การวิจัยและทดลองถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สามารถทำให้เราค้นพบเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือสามารถต่อยอดเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

.

บทความนี้จะขอนำเสนอ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์อีกแขนงหนึ่งซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นการวิจัยลำแสงซินโครตรอน ซึ่งลำแสงนี้มีประโยชน์ในแง่ของการใช้งานที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ด้านยารักษาโรค, อาหาร, อุตสาหกรรมต่าง ๆ ฯลฯ 

.

ทั่วโลกมีการวิจัยเทคโนโลยีลำแสงซินโครตรอนเพียงไม่กี่ประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย และนักวิจัยของไทยเองก็สามารถวิจัยและออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยเทคโนโลยีลำแสงซินโครตรอน และได้สร้างชื่อเสียงไปแล้วทั่วโลก เรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีนี้กันดีกว่าครับ

.

ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ (National Synchrotron Research Center) เป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลในปี พ.ศ.2539 ให้ดำเนินการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงสยาม (Siam Photon Source) ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขนาด 1.0 GeV ที่ได้รับบริจาคจากบริษัทซอร์เทค (SORTEC Corporation) ประเทศญี่ปุ่น

.

มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้กำเนิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงจากประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย และเพื่อให้เป็นศูนย์การวิจัยกลางภายในประเทศ ในการสนับสนุนงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น งานวิจัยด้านฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วัสดุศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ตลอดจนการประยุกต์ใช้งานทางด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น

.
แสงซินโครตรอนคืออะไร

แสงซินโครตรอนคือแสงที่ได้จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน โดยเมื่อมีการเร่งอนุภาคที่มีประจุ เช่น อิเล็กตรอนที่มีความเร็วใกล้ความเร็วแสง และบังคับให้เคลื่อนที่ในแนววงกลมภายในสุญญากาศ อิเล็กตรอนจะสูญเสียพลังงานบางส่วนโดยการปลดปล่อยออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือแสง ที่เรียกว่า แสงซินโครตรอน   

.

ซึ่งเป็นแสงที่มีคุณลักษณะที่โดดเด่นหลายประการ เช่น มีความเข้มของแสงและมีความคมชัดสูงมาก อีกทั้งมีความถี่ตั้งแต่ย่านอินฟาเรดจนถึงเอกซเรย์ ทำให้สามารถเลือกช่วงความยาวคลื่นหรือพลังงานได้ตามที่ต้องการ โดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน มีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ

.
1. เครื่องเร่งอนุภาคในแนวตรง (Linac: Linear Accelerator)

Linac นับเป็นต้นกำเนิดของลำอิเล็กตรอน ภายในระบบนี้อิเล็กตรอนจะถูกผลิต จัดกลุ่ม และถูกเร่งภายในท่อสุญญากาศจนมีพลังงานถึงค่า 40 MeV ซึ่งที่ระดับพลังงานดังกล่าวอิเล็กตรอนจะมีความเร็วสูงมาก จนมีค่าเกือบเท่าความเร็วแสงซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีสัมพัทธภาพ

.
2. เครื่องเร่งอนุภาคในแนววงกลม (Booster Synchrotron)

เป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่มีลักษณะเป็นวงกลม พลังงานอิเล็กตรอนจะถูกเร่งจาก 40 MeV ให้มีพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.0 GeV

.
3. วงแหวนกักเก็บอิเล็กตรอน (Storage Ring)

ใช้ในการกักเก็บอิเล็กตรอนพลังงานสูงประมาณ 1,000 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ โดยใช้สนามแม่เหล็กบังคับให้อิเล็กตรอนเคลื่อนที่ในแนวโค้ง

.

รูปที่ 1 แสดงส่วนประกอบของเครื่องกำเนิดแสงสยาม

.

รูปที่ 2 แสดงระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน

.

รูปที่ 3 ลำแสงซินโครตรอนที่ฉายตกกระทบสารเรืองแสง

.
การใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่
1. การใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนกับงานวิจัยด้านฟิสิกส์ เคมี และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

แสงซินโครตรอนสามารถใช้ในงานวิจัยพื้นฐานในการหาคุณสมบัติของอะตอม โมเลกุล และความยาวพันธะระหว่างอะตอมภายในโมเลกุลของสสาร การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของวัสดุเมื่ออยู่ในภาวะความดันและอุณหภูมิสูง ๆ การศึกษาคุณสมบัติบางประการของแม่เหล็ก และการศึกษาการจัดเรียงตัวของอะตอมบริเวณพื้นผิวและมลพิษที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ดี 

.

เนื่องจากสามารถตรวจวัดสารที่มีปริมาณน้อยมาก (Trace Elements) ได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างเทคนิคที่ใช้แสงซินโครตรอนในงานวิจัยด้านฟิสิกส์ เคมี และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ Atomic Spectroscopy, Molecular Spectroscopy, Solid State Spectroscopy, Photoelectron Diffraction และ Photoelectron Microscopy เป็นต้น

.
2. การใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนกับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์การแพทย์

แสงซินโครตรอนเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาโครงสร้างของสารชีวโมเลกุลที่มีขนาดเล็กมาก และมีโครงสร้างซับซ้อน ซึ่งพบภายในเซลล์สิ่งมีชีวิต เช่น โปรตีน กรดนิวคลีอิก เป็นต้น     

.

การหาข้อมูลทางโครงสร้าง 3 มิติ ของสารชีวโมเลกุลด้วยเทคนิค Protein Crystallography ซึ่งผลที่ได้สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการออกแบบตัวยาสำหรับรักษาโรคได้ และการรักษาโรค เช่น การใช้เทคนิค Coronary Angiography สำหรับตรวจวินิจฉัยหาการตีบตันของเส้นเลือดบริเวณหัวใจ เป็นต้น

.
3. การใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนเชิงอุตสาหกรรม

แสงซินโครตรอนสามารถใช้ในขั้นตอนของกระบวนการผลิตแม่แบบสำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ เช่น ไมโครชิปที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ หรือการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรขนาดจิ๋ว โดยการใช้แสงซินโครตรอนร่วมกับเทคนิคที่เรียกว่า LIGA (Lithography and Galvanoplating or Electrodeposition)

.

เนื่องจากในขบวนการผลิตสามารถเลือกใช้แสงซินโครตรอนที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่ใช้ในขบวนการ LIGA ทั่วไป จึงสามารถผลิตชิ้นงานที่มีขนาดเล็กมากในระดับไมครอนหรือต่ำกว่าและมีความคลาดเคลื่อนในแต่ละมิติน้อยมาก

.
สถานีทดลองของห้องปฏิบัติการแสงสยาม

เครื่องกำเนิดแสงสยามมีระบบลำเลียงแสง (Beamline) ได้อย่างน้อย 8 Beamline ในจำนวนดังกล่าวจะมี 1 Beamline ที่ใช้งานสำหรับการเดินเครื่อง ส่วนที่เหลือจะเป็น Beamline สำหรับการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนในงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันมีสถานีทดลอง 3 สถานี ประกอบด้วย

.
1. ระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน BL-4

ระบบสำหรับสถานีทดลองระบบแรก เป็นสถานีทดลองของ BL-4 สำหรับการทดลองทางด้าน Photoemission Spectroscopy อุปกรณ์และเทคนิคการวิเคราะห์ที่ถูกจัดเตรียมไว้ภายในสถานีทดลอง จะมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้งานวิจัยทางด้านฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ 

.

เช่น การศึกษาโครงสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์ของสาร การศึกษาสภาพพื้นผิว และรอยต่อระหว่างพื้นผิวของสาร การศึกษาสมบัติแม่เหล็กของแผ่นฟิล์มบางเพื่อการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลที่มีความหนาแน่นสูง โดยเทคนิคการวิเคราะห์ที่สามารถใช้ได้ ณ สถานีทดลองแรก ได้แก่

.

• Angle-resolved Photoemission using Synchrotron Light or He Lamp
• UPS (Ultraviolet Photoelectron Spectroscopy) using He Lamp
• XPS (X-ray Photoelectron Spectroscopy) using Mg K and Al K
• AES (Auger Electron Spectroscopy)
• LEED (Low-Energy Electron Diffraction)

.
2. ระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน BL-6

แสงซินโครตรอนย่านรังสีเอ็กซ์ซึ่งสร้างขึ้นด้วยระบบลำเลียงแสง BL-6 สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนจุลภาคแบบ 3 มิติ สำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมซึ่งมีระบบกลไกและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เทคโนโลยีการผลิตโครงสร้างขนาดจิ๋วได้รับการพัฒนาในยุคเริ่มแรก เพื่อใช้สร้างวงจรไมโครอิเล็กทรอนิกส์ จนในปัจจุบันสามารถบรรจุอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในหลักร้อยล้าน ถึงพันล้านตัวลงในไมโครชิปเดียวกันได้

.

เนื่องจากโครงสร้างซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะแบนราบ จึงเป็นข้อจำกัดในการผลิตโครงสร้างจุลภาคให้มีลักษณะ 3 มิติ ซึ่งเป็นที่ต้องการใช้อย่างมากในกลไกขนาดจิ๋วของเครื่องมือหรืออุปกรณ์เครื่องใช้สมัยใหม่ที่มีขนาดเล็ก ต้องการพลังงานน้อย มีความฉลาด และมีประสิทธิภาพ

.

รูปที่ 4 ระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน NSRC BL-6 ในย่านรังสีเอ็กซ์ เพื่อการผลิตชิ้นส่วนจุลภาค

.

การแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ทำได้ด้วยการต่อยอดเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่แบนราบให้มีมิติที่ 3 หรือมีความสูงมากขึ้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ทำได้ยากหากมีการถ่ายทอดโครงสร้างต้นแบบไปยังชิ้นงานด้วยแสงอัลตราไวโอเลต อันเป็นวิธีการที่ปัจจุบันนี้ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรม

.

เนื่องจากแสงอัลตราไวโอเลต สามารถทะลุทะลวงเข้าไปในวัสดุไวแสงที่มีความหนาแน่นมาก ๆ ได้น้อย ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการใช้แสงซินโครตรอนในย่านรังสีเอ็กซ์ ซึ่งมีอำนาจทะลุทะลวงเข้าไปในเนื้อวัสดุได้ดีแทนการใช้รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีเอ็กซ์ที่สร้างขึ้นจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนมีพลังงานสูงและมีลำแสงที่เบี่ยงเบนออกด้านข้างน้อยมาก ประมาณ 0.3 องศาเท่านั้น

.

จึงเหมาะอย่างยิ่งในการผลิตโครงสร้างจุลภาคที่มีผนังตั้งตรง และเรียบมาก โดยมีความหยาบน้อยกว่า 200 นาโนเมตร เมื่อฉายแสงที่มีลักษณะพิเศษดังกล่าวผ่านลวดลายโลหะได้ผลลัพธ์เป็นโครงสร้างจุลภาค 3 มิติ โครงสร้างที่เกิดขึ้นสามารถใช้เป็นแม่พิมพ์สำหรับวัสดุอื่น ๆ เช่น โลหะ พลาสติก เซรามิก และยาง เป็นต้น เพื่อสร้างชิ้นส่วนจุลภาคแบบต่าง ๆ ได้หลากหลายมากขึ้น

.

รูปที่ 5 ต้นแบบชิ้นส่วนจุลภาค เฟืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 380 ไมโครเมตร สูง 200 ไมโครเมตร

.

รูปที่ 6 ต้นแบบชิ้นส่วนเฟืองจุลภาคเทียบกับขนาดของมด

.

เทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนจุลภาคที่ได้พัฒนาขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เช่น ชิ้นส่วนแขนกลและมอเตอร์ของฮาร์ดดิสก์ แผ่นระบายความร้อนขนาดจิ๋ว อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูง ไมโครวาล์ว ไมโครมิกเซอร์ อุปกรณ์จ่ายยาอัตโนมัติแบบฝังในร่างกาย เครื่องมือแพทย์เพื่อการรักษาผ่านกล้องจุลทรรศน์

.

เซลล์เชื้อเพลิง ตัวตรวจรู้ปริมาณกายภาพ เคมี และชีวภาพ ชิ้นส่วนหุ่นยนต์และกลไกจุลภาคสำหรับงานนาโนเทคโนโลยี และอุปกรณ์อื่นซึ่งต้องการมีอัตราส่วนพื้นที่ผิวต่อปริมาตรของวัสดุมาก ๆ

.

รูปที่ 7 กระบวนการผลิตชิ้นส่วนจุลภาคต้นแบบด้วยแสงซินโครตรอน

.
3. ระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน BL-8

ระบบลำเลียงแสง BL-8 ทำหน้าที่ลำเลียงแสงซินโครตรอน จากวงแหวนกักเก็บอิเล็กตรอนขนาด 1.0-1.2 GeV ไปยังสถานีทดลอง เทคนิค X-ray Absorption Spectroscopy (XAS) สำหรับการวิเคราะห์สารตัวอย่างให้บริการแสงซินโครตรอนในย่านพลังงานโฟตอน (Photon Energy) ระหว่าง 1,830 eV ถึง 9,000 eV  

.

พลังงานโฟตอนในช่วงดังกล่าวสามารถกระตุ้นอะตอมหลายชนิดให้เกิดการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ได้ เช่น การกระตุ้นอิเล็กตรอนในชั้น K ของธาตุที่มีเลขอะตอมตั้งแต่ Z=14 ถึง 25 เช่น ซิลิกอน ฟอสฟอรัส ซัลเฟอร์ และอิเล็กตรอนในชั้น L และชั้น M ของธาตุที่มีเลขอะตอมสูง

.

ระบบลำเลียงแสง BL-8 ใช้ประโยชน์ในงานวิจัยด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ X-ray Absorption Spectroscopy (XAS) เพื่อตรวจสอบพันธะเคมี สถานะออกซเดชัน และโครงสร้างโมเลกุล ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับงานวิจัยทางด้านเคมีวิเคราะห์ วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชีววิทยาและอุตสาหกรรม

.

เช่น วิเคราะห์โครงสร้างของโมเลกุลสารพิษ หรือวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของ Sulfer Crosslink ในยางรถยนต์จากการใช้งาน และการพัฒนาคุณภาพของสารเร่งปฎิกิริยา ฯลฯ

.

เทคนิค X-ray Absorption Spectroscopy เป็นเทคนิคการวัดและวิเคราะห์สเปกตรัมของการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ของตัวอย่าง สเปกตรัมที่ได้จากการทดลองเรียกว่า สเปกตรัม XAS จะมีการแสดงค่าการดูดกลืนที่เป็นฟังก์ชันของพลังงานโฟตอน ทั้งนี้สถานีทดลอง XAS ของ BL-8 ในปัจจุบันประกอบด้วยระบบวัด XAS แบบทะลุผ่านตัวอย่าง (Transmission-mode XAS)

.

ซึ่งเหมาะสำหรับการวัดตัวอย่างที่มีความเข้มข้นของอะตอม 10-20% ขึ้นไป ตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์สามารถอยู่ในรูปของของแข็งที่เป็นผง แผ่นฟิล์มบาง และของเหลวได้

.

โดยในอนาคตอันใกล้นี้ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตอน จะมีการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์เพิ่มเติม และพร้อมที่จะเดินเครื่องอย่างเต็มกำลัง ที่จะผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพและสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยต่อไป

.
การให้บริการแสงซินโครตรอน

ห้องปฏิบัติการแสงสยาม ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ ได้เปิดให้บริการแสงซินโครตรอน พร้อมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ทันสมัยในระดับมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการร่วมใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนอย่างกว้างขวางและตรงตามความต้องการของกลุ่มนักวิจัยอย่างแท้จริง

.

ผู้สนใจเข้าใช้บริการแสงซินโครตรอนและเครื่องมือ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ส่วนงานบริการผู้ใช้ (Users Office) โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 605, 606

.

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้สนับสนุนการทำวิจัยที่ใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีซินโครตรอนแก่นักศึกษา นักวิจัย และนักวิชาการ จากหน่วยงานวิจัย สถาบันอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ โดยจัดทุนสนับสนุนดังนี้

.

ทุนวิจัย
- ทุนสนับสนุนการวิจัย
- ทุนผู้ช่วยวิจัย
- ทุนวิจัยหลังปริญญาเอก

.

ทุนระดับบัณฑิตศึกษา
  - ระดับปริญญาโท ปีละ 5 ทุน
  - ระดับปริญญาเอก ปีละ 5 ทุน
สอบถามรายละเอียดการขอรับทุนได้ที่ งานแผนงานและพัฒนา โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 230, 231

.

ที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ (ศซ.)
111 อาคารสุรพัฒน์ 3 ถนนมหาวิทยาลัย ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
โทรศัพท์ 0-4421-7040
โทรสาร 0-4421-7047, 0-4421-7040 ต่อ 211
URL:
http://www.nsrc.or.th  E-mail: siampl@nsrc.or.th

.
หน่วยประสานงานกรุงเทพมหานคร

ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ
75/47 สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท
เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ 0-2354-3954
โทรสาร 0-2354-3955

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด