Products Showcase

OLO 3D พรินเตอร์ 3 มิติสร้างได้ด้วยสมาร์ตโฟน

          OLO 3D Inc. เป็นดาวรุ่งในวงการ maker นับตั้งแต่ได้รับรางวัล Editor's choice award ในงาน World Maker จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แบบ stereolithography ที่ไม่เหมือนใคร 

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ รุ่นที่ว่านี้มีขนาด 172 x 115 x 148 มม. และมีน้ำหนักเพียง 780 กรัม สามารถใช้พิมพ์ชิ้นงานที่มีขนาด 76 x 128 x 52 มม. ได้อย่างสบายๆ ความไม่เหมือนใครของเจ้า OLO 3D ก็มาจากไอเดียในการใช้แสงขาวจากจอมอนิเตอร์ของสมาร์ตโฟน นำมาฉายลงยังชั้นของเรซินไวแสง (Daylight Resin) ที่ OLO ได้ปรับปรุงขึ้น เพื่อให้เรซินเกิดการเซ็ตตัวเป็นชั้นเลเยอร์ซึ่งมีความบาง 0.036 มม. (หรือ 0.12 มม. เมื่อเลือกให้ทำงานใน quick-mode) ซึ่งท้ายที่สุดชั้นเลเยอร์เหล่านี้จะก่อตัวขึ้นเป็นชิ้นงานสามมิตินั่นเอง จากไอเดียตั้งต้นนำไปสู่ในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของเครื่องพิมพ์ และ การปรับปรุงสูตรการผลิตเรซินไวแสงอยู่นานถึง 2 ปี เลยทีเดียว

 

          การใช้งาน ผู้ใช้จะต้องติดตั้งสมาร์ตโฟนเข้ากับถาดเรซินชั้นล่างสุดของเครื่อง โดยเครื่องพิมพ์นี้สามารถใช้งานได้กับสมาร์ตโฟนที่มีจอภาพใหญ่สุด 5.8 นิ้ว รองรับระบบปฏิบัติการ Android, iOS และ Windows phone โดยผู้ใช้สามารถจะใช้แอพฯ บนสมาร์ตโฟนเลือกโมเดลที่ต้องการ และสั่งให้พิมพ์ชิ้นงานออกมาได้ในทันที

 

          ขณะนี้ OLO ได้ระดมทุนผ่านทาง Kickstarter สำเร็จและเพิ่งปิดการระดมทุนไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถส่งเครื่องพิมพ์ OLO 3D ทั้งหมดไปถึงมือของเหล่าผู้สนับสนุนโครงการได้ในราวเดือนมิถุนายนของปีนี้

Mobilock ระบบล็อคจักรยานผ่านเครือข่ายระยะไกล

          ระบบการแบ่งปันจักรยาน (Bike sharing system) กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมและเริ่มใช้งานกันในหลายๆ เมืองสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นในบาเซโลนา ปารีส โคเพนเฮเกน หางโจว และนิวยอร์ก เป็นต้น

 

          Mobilock ถูกพัฒนามาเพื่อให้เกิดความสะดวกขึ้นในการแบ่งปันจักรยาน โดยอุปกรณ์ที่ว่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสั่งล็อค/ปลดล็อคจักรยานได้จากสมาร์ต โฟน ผ่านทางเครือข่าย LORA (Low Power Wide Area Networks) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์จำนวนมากเชื่อมต่อกันได้ผ่านเครือข่าย 3G และ 4G โดยมีระดับการใช้พลังงานต่ำ

 

          นอกจากนั้น ผู้ใช้งาน Mobilock ก็ยังสามารถใช้งานฟังก์ชันอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น การติดตามตำแหน่งจักรยานแบบเรียลไทม์, การค้นหาจักรยานที่สามารถเข้าไปใช้งานได้ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่ถูกคิดมาเพื่อ ช่วยในการบริหารจัดการระบบอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับ Mobilock เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.mobilock.nl

LAMBDA บอร์ด Arduino สัญชาติไทยมาแล้ว

          Lambda เป็นบอร์ดทดลองเพื่อการเรียนรู้และการทดลองรุ่นใหม่โดยฝีมือคนไทย ซึ่งเหมาะกับนักอิเล็กทรอนิกส์ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น บอร์ดนี้ออกแบบมาโดยใช้มาตรฐานของ Arduino จึงสามารถต่อเข้ากับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ของ Arduino ได้เช่นกัน ใช้ชิป ATmega328PB เป็นส่วนควบคุมหลัก โดยบนบอร์ดมีพอร์ต I/O ให้ใช้งาน ได้แก่  Digital I/O 16 ขา, Analog Input 8 ขา, SPI 2 ชุด, I2C 2 ชุด และ UART 2 ชุด

 

          นอกจากนั้นยังติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น (Temperature & Humidity), เซนเซอร์วัดความเร่ง (3-axis Acceleromter), ไจโรสโคป (3-axis Gyroscope), เซนเซอร์วัดสนามแม่เหล็ก (3-axis Magnetometer) และเซนเซอร์วัดความดันบรรยากาศ (Barometer) มาให้ครบบนบอร์ดอีกด้วย ในการใช้งานก็สามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ของ Arduino ในการพัฒนาโปรแกรมได้ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายสตางค์เพิ่มอีก เพื่อซื้อเครื่องมือแพงๆ 

 

          บอร์ด Lambda ถูกออกแบบและประกอบโดยใช้อุปกรณ์แบบ SMD สวยงาม ใช้งานง่าย แถมยังมีราคาไม่แพงอีกด้วย สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจก็สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://lambda-board.com

VoCore คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กจิ๋ว

          VoCore เป็น Linux Computer ที่มีขนาดเพียง 25.4 x 25.4 x 3.4 มม. หรือถ้าเทียบให้เข้าใจง่ายก็คือ ขนาดพอๆ กันเหรียญ 10 บาท เท่านั้นเอง

 

          บนบอร์ดขนาดจิ๋วรุ่นนี้ ติดตั้งไว้ด้วยซีพียู RT5350F MIPS Procesessor มีหน่วยความจำ SDRAM (133 MHz) ขนาด 32 MB, หน่วยความจำแฟลช (104 MHz) ขนาด 8 MB, มีพอร์ต GPIO 20 ขา, Wi-Fi และสายอากาศแบบชิป (2.4 GHz, 802.11n), พอร์ตสื่อสาร USB 2.0, SPI, UART, I2C, I2S และพอร์ตอีเทอร์เน็ต โดยฮาร์ดแวร์ทั้งหมดสามารถทำงานได้ที่ไฟเลี้ยง 5V/220mA ในการใช้งานสามารถต่อซ้อนเข้ากับบอร์ด Dock ซึ่งจะมีคอนเน็กเตอร์ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อช่วยให้การต่อใช้งานทำได้ง่ายยิ่งขึ้น 

 

          VoCore ทำงานบนระบบปฏิบัติการ OpenWrt (Linux) ในการพัฒนาซอฟต์แวร์จึงสามารถนำเครื่องมือที่เป็นพื้นฐาน ของ Linux รวมทั้งสามารถใช้ภาษา C/C++, Python, NodeJS, ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อีกด้วย สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลของบอร์ด VoCore เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://vocore.io