CSR Update

ไมโครซอฟท์ร่วมกับพันธมิตร จัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนปลูกฝังความเข้าใจในปัญหาการค้ามนุษย์

บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด

 

ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัญหาที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ เมื่อปี 2558 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 จากการจัดอันดับการเฝ้าระวังการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นกลุ่มสุดท้าย ตกจากกลุ่มที่ 2 เมื่อปี 2554–2557 และในปี 2558 มีรายงานการค้ามนุษย์ในประเทศเป็นจำนวนทั้งหมด 317 คดีที่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีผู้เสียหายเป็นจำนวน 720 คน [1] ซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ อาทิ การใช้แรงงานเด็ก โสเภณี ขอทานและแรงงานบังคับ

 

 

บรรยายภาพ: ไมโครซอฟท์ จัดอบรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่เยาวชนในชุมชน โครงการ Microsoft YouthSpark เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้วยทักษะไอซีทีและวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยมี คุณสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร (กลาง) และพันธมิตร อาทิ โครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำสหประชาชาติ (UN-ACT) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision) โครงการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ด้านปัญหาการค้ามนุษย์ ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM X) และสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ฯ (สอ.ดย.) เข้าร่วม ณ ชุมชนประดิษฐ์โทรการ เขตบางเขน เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

          ไมโครซอฟท์เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา จึงถือกำเนิดโครงการ Microsoft YouthSpark – เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้วยทักษะไอซีทีและวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกันในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น โครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำสหประชาชาติ (UN-ACT) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision) โครงการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ด้านปัญหาการค้ามนุษย์ ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM X) และสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ฯ (สอ.ดย.) จัดกิจกรรมอบรมความรู้ด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เยาวชนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากกระบวนการค้ามนุษย์เข้าถึงเครื่องมือและข้อมูล อีกทั้งให้เยาวชนเหล่านั้นมีโอกาสสร้างสรรค์สื่อที่เป็นประโยชน์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจปัญหาในระดับลึก และที่สำคัญเป็นการสร้างเกราะป้องกันให้แก่ตนเองและชุมชนจากปัญหาการค้ามนุษย์อีกด้วย

 

[1] ข้อมูลจากโครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำสหประชาชาติ (UN-ACT) ปี 2558

  

          นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ปัญหาการค้ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวและใกล้ตัวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการทำงานเป็นขบวนการที่มีเครือข่ายกว้างขวาง ไมโครซอฟท์พร้อมที่จะสนับสนุนกระบวนการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยใช้พลังของเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยง เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงความสามารถของตนเอง สร้างโอกาสทางอาชีพและร่วมเป็นกำลังเสริมในการพัฒนาสังคมหรือชุมชนของพวกเขาต่อไป”

 

          เยาวชนที่เข้าร่วมจะได้รับการอบรมเกี่ยวกับการผลิตสื่อ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของโปสเตอร์ วิดีโอ หรือเว็บไซต์ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาค้ามษุษย์ด้วยโปรแกรม Microsoft Word, Microsoft PowerPoint, Sway และแชร์สื่อที่ผลิตไปยังโซเชียลมีเดียหรือสื่อในชุมชนของตนเอง โดยเนื้อหาของการอบรมจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นและความเสี่ยงจากการค้ามนุษย์ เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้มีการตระหนักและมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับบุคคลหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีการฝึกเขียนโค้ดผ่านเกม Minecraft จะช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานให้เยาวชนได้ใช้วิเคราะห์ แก้ปัญหาและใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในทุกอาชีพและเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน

 

          “การมีทำงานร่วมกับเยาวชนและหน่วยงานภาคเอกชนนั้นถือว่าเป็นงานหลักของ UN-ACT เนื่องจากเยาวชนนั้นมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาการค้ามนุษย์ ในนามของ UN-ACT เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในโครงการที่เป็นประโยชน์ ด้วยการมอบทักษะด้านคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นซึ่งจะช่วยเสริมสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่เยาวชน และลดความเสี่ยงต่อการเอารัดเอาเปรียบด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป” นางสาวคาโอริ คาวาราบายาชิ ผู้จัดการโครงการระดับภูมิภาค โครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำสหประชาชาติ (UN-ACT) กล่าว

 

          “พลังของสื่อและเทคโนโลยี มีอิทธิพลในการรณรงค์ระดับภูมิภาคเพื่อช่วยป้องกันกระบวนการค้ามนุษย์ ในขณะที่การสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับชุมชนนั้น จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ด้วยการทำให้เยาวชนให้เป็นกระบอกเสียงภายในชุมชน ด้วยมีความหวังว่าเด็ก ๆ จะสร้างสื่อดีเพื่อเตือนภัยให้กับเพื่อน ๆ ในชุมชนของพวกเขาได้ IOM X เชื่อว่า โครงการ YouthSpark จะเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ ด้วยโอกาสอันมีค่าโดยให้เยาวชนได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยี และพวกเขายังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตและชุมชนเพื่อป้องกันกระบวนการค้ามนุษย์ได้ต่อไป” คุณทาร่า เดอมอท หัวหน้าโครงการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ด้านปัญหาการค้ามนุษย์ ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM X) กล่าว

 

          “มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยมีเป้าหมายในการปกป้องการค้ามนุษย์ ภายใต้ ‘โครงการปกป้องคุ้มครองเด็กและยุติการค้ามนุษย์’ โดยทางมูลนิธิมีเป้าหมายที่จะเข้าถึงพื้นที่ 6 จังหวัดชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ในระดับต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายมากของมูลนิธิเป็นอย่างมาก การร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการอบรมเยาวชนในโครงการ Microsoft YouthSpark – เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้วยทักษะไอซีทีและวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทำให้แกนนำเยาวชนได้รับทักษะทางไอซีทีที่จำเป็น เพื่อให้พวกเขากลับไปสอนทักษะเหล่านั้นให้กับน้อง ๆ ในชุมชน สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการอบรมคือเยาวชนมีความกระตือรือร้นและให้ความสนใจในการเรียนรู้เป็นอย่างมาก ด้วยเนื้อหาที่กระตุ้นความคิด เยาวชนสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดกับสิ่งที่ชุมชนได้ดำเนินงานมา ซึ่งเยาวชนเองก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะในด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและการรณรงค์ป้องกันการค้ามนุษย์” ดร.บรรจงเศก ทรัพย์โสภา ผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุนและการตลาด มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าว

 

          “ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน มอบทักษะด้านไอทีและคอมพิวเตอร์แก่เยาวชนภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล มาตั้งแต่ปี 2556 และในปีนี้ เรามุ่งไปที่การปกป้องเยาวชนจากปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งจะทำให้เยาวชนเรียนรู้ที่จะใช้ความรู้ที่ได้ในการปกป้องตนเอง สร้างอาชีพเพื่อการพึ่งพาตนเองและสามารถสร้างสรรค์และแบ่งปันทักษะเหล่านี้ให้แก่เพื่อนหรือชุมชนได้ต่อไป เราหวังว่าการร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในครั้งนี้จะทำให้เยาวชนได้รับประโยชน์ต่อไปในอนาคต” นางศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ฯ (สอ.ดย.) กล่าว

 

          “โครงการนี้ทำให้รับรู้เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์และทำให้เราระมัดระวังตนเองมากขึ้น ข้อสำคัญคือ อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพราะในชุมชนที่อาศัยอยู่อาจมีคนที่เราไม่คุ้นเคยและเป็นอันตราย เช่น คนต่างถิ่นที่มาอาศัยอยู่ในชุมชนอาจจะเป็นหนึ่งในกระบวนการค้ามนุษย์ก็ได้ หรือแม้แต่สื่อในอินเตอร์เน็ตตอนนี้ก็มีผลอย่างมาก เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากขึ้นค่ะ กิจกรรมนี้ให้หนูและเพื่อน ๆ มีโอกาสสร้างสื่อดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์หรือเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องที่หนูคิดว่าจะสามารถช่วยเตือนภัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้เพื่อน ๆ ได้ นอกจากการเข้าร่วมกิจกรรมการสร้างสื่อที่มีความสนุกแล้ว ยังทำให้เห็นว่าเรามีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหามากกว่าที่เราคิดและทำให้เรามีแรงบันดาลใจไปบอกคนอื่น ๆ ถึงปัญหานี้ต่อไปด้วยค่ะ” นางสาวจีรวรรณ พรบรรจงกุล เยาวชนผู้เข้ารับการอบรม กล่าว

 

          โครงการ Microsoft YouthSpark จัดตั้งเพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้วยทักษะไอซีทีและวิทยาการคอมพิวเตอร์ จะขยายผลไปยัง 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะเข้าถึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจำนวนกว่า 1,300 คนทั่วประเทศ

 

Microsoft YouthSpark เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้แก่เยาวชนผู้มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้วยทักษะไอซีทีและวิทยาการคอมพิวเตอร์” เป็นส่วนหนึ่งของ Microsoft YouthSpark โครงการระดับโลกที่ไมโครซอฟท์ สำนักงานใหญ่ นำเทคโนโลยีมาฝึกอบรม เพื่อให้เยาวชนได้สร้างโอกาสทางอาชีพและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมหรือชุมชน

 

 

 

 

พนักงานของไมโครซอฟท์ทำหน้าที่อาสาสมัครช่วยสอนให้แก่น้องๆ ผู้เข้าร่วมอบรม

  

 

เยาวชนผู้เข้ารับการอบรมนำเสนอผลงานของตัวเอง

 

 

 

เยาวชนผู้เข้ารับการอบรมแสดงโปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ตนเองผลิต

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด