Industrial Process

การขนถ่ายวัสดุในโรงงานอุตสาหกรรม (Material Handling for Industrial Factory)

ดร.วิทยา อินทร์สอน

สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

 

 

การขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) หมายถึง การจัดเตรียมสถานที่และตำแหน่งของวัสดุ โดยเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา ซึ่งต้องอาศัยวิธีการในการเลือกเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนย้ายวัตถุดิบเข้ามาในสายการผลิต ให้เหมาะสมกับลักษณะงานจนเป็นสินค้า หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

 

          ปัจจุบันวิวัฒนาการอุตสาหกรรมการผลิตได้เจริญรวดเร็วไปอย่างมาก ในโลกของเทคโนโลยีการนำระบบขนถ่ายวัสดุมาใช้ในระบบการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเหมือนกัน ซึ่งผู้ประกอบการและวิศวกร ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิต เพื่อนำมาสนับสนุนกระบวนการผลิตตั้งแต่การนำวัตถุดิบมายังโรงงาน ผ่านกระบวนการผลิต จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ไปยังคลังสินค้าหรือลูกค้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการเคลื่อนที่ หรือการขนย้ายทั้งสิ้น โดยจะต้องพิจารณาการขนถ่ายวัสดุให้เป็นระบบ และพยายามลดปัญหาการขนถ่ายให้หมดไป ทำอย่างไรให้การขนถ่ายวัสดุเป็นไปสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

          การขนถ่ายวัสดุ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและโรงฝึกงาน ซึ่งเราจะทราบถึงวัตถุประสงค์ในการใช้อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ กฎทั่วไปของการขนถ่ายวัสดุ การเลือกชนิดอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุกับตัวแปรในการเลือก อุปกรณ์พื้นฐานในโรงงานทั่วไป ได้แก่สายพานลำเลียง (Conveyor) ปั่นจั่นและรอก (Cranes and Hoists) รถยก (Industrial Trucks) เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะทำให้เราสามารถนำไปใช้พิจารณาหาอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุที่เหมาะสมกับวัสดุที่เราจะขนถ่ายได้ในที่สุด

 

          วิธีการเคลื่อนย้ายวัสดุของโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ถึงแม้ว่าการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ และสินค้าคงคลังในระหว่างการผลิต รวมถึงการขนย้ายตัวสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วจะไม่ได้เป็นขั้นตอนการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าโดยตรง แต่การบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายโดยการจัดระบบการขนถ่ายวัสดุที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่แต่ละโรงงานอุตสาหกรรมต้องหาวิธีการที่ดีที่สุด เพราะเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีสินค้า พื้นที่การผลิต พื้นที่เก็บวัสดุ สินค้า หรือกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน ฉะนั้นการจัดระบบการขนถ่ายวัสดุจึงแตกต่างกันหรืออาจเหมือนกันได้ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ว่าเป็นวิธีไหนที่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถบริหารกิจกรรมการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นธุรกิจควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมการขนถ่ายเนื่องจากการดำเนินการขนถ่ายอย่างไร้ประสิทธิภาพอาจก่อให้เกิดปัญหาการขนย้ายสินค้าโดยไม่จำเป็น ปัญหาสินค้าสูญหาย เสียหาย ปัญหาความพอใจของลูกค้าลดลง ปัญหาความล่าช้าในการผลิต ปัญหาคนงานและเครื่องจักรถูกปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ โดยไม่ได้ทำงาน

 

          ดังนั้นการขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) เป็นเรื่องของกระบวนการผลิตขององค์กรที่ต้องให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างจริงจัง สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเพื่อการบริหารในการผลิตของโรงงานให้เกิดประสิทธิภาพ

 

 

 

รูปที่ 1 ตัวอย่างการขนถ่ายวัสดุเบื้องต้นในปัจจุบัน

 

ประโยชน์การขนถ่ายวัสดุ

 

          การขนย้ายวัสดุโดยใช้แรงงานคนเคลื่อนย้ายวัสดุ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ถือว่าเป็นกิจกรรมการขนย้ายวัสดุที่ลงทุนต่ำ แต่เสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าแรงงานแทน บางครั้งการขนย้ายก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ แต่ในการบริการลูกค้าเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ ให้กับลูกค้าได้ตรงตามที่ต้องการนั้นถือว่าเป็นสิ่งประทับใจ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ดังนั้นประโยชน์ของการขนถ่ายวัสดุ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้คือ

 

          1. การลดต้นทุน (Cost Reduction)

  

  • ช่วยลดการขนย้ายวัสดุที่ใช้แรงงานคน
  • ช่วยลดปริมาณความสูญเสียของวัสดุ
  • ช่วยลดจำนวนอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง
  • ลดแรงงานที่ทำการขนถ่ายโดยตรง และลดจำนวนพนักงานที่ไม่จำเป็นลงออกบ้าง

 

          2. ช่วยปรับปรุงส่งเสริมการขาย (Sale Promotion)

  

  • ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งให้กับลูกค้า
  • ช่วยให้เกิดการบริการที่สะดวก รวดเร็ว มากขึ้น
  • ช่วยในการเพิ่มปริมาณการขาย หรือมีตัวแทนใกล้ตลาดมากที่สุด

 

          3. เพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน (Competency)

  

  • สามารถใช้เนื้อที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • ปรับปรุงผังโรงงานเพื่อลดระยะทาง
  • ทำให้ขนถ่ายวัสดุได้รวดเร็วขึ้น

 

          4. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน (Environment Improvement)

 

  • ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานง่ายขึ้น
  • ปรับปรุงความปลอดภัยของคนงาน วัสดุ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและอื่น ๆ

 

 

รูปที่ 2 ตัวอย่างประโยชน์การขนถ่ายวัสดุ

 

ประเภทของอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุพื้นฐานทั่วไป

 

          อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาการออกแบบตามเทคโนโลยีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการนำไปใช้งาน ดังนั้นอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุมีหลายประเภท ผู้เขียนขอยกตัวอย่างอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุพื้นฐานโดยทั่วไป มีดังนี้

 

          1. สายพานลำเลียง (Belt Conveyor)

 

          เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แรงขับจากมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้สายพานเคลื่อนตัวไปอย่างต่อเนื่อง โดยวัสดุที่ใช้ในการลำเลียงจะวางอยู่บนสายพาน หรือบนลูกกลิ้งที่ขับหมุนด้วยสายพานเคลื่อนที่ ในการเคลื่อนย้ายวัสดุจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งแบบต่อเนื่องและหยุดชะงัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการควบคุมในการขนย้าย ได้ทั้งระยะสั้น ระยะยาว แนวระดับ แนวลาดเอียงขึ้น และลาดเอียงลง โดยสามารถเลือกปรับระดับความเร็วได้

  

          ดังนั้นระบบสายพานลำเลียง จึงเหมาะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท ที่ใช้ระบบสายพานลำเลียงในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมอาหารและยา อุตสาหกรรมผลิตอาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น

 

 

รูปที่ 3 ตัวอย่างสายพานลำเลียงในอุตสาหกรรมอาหาร

 

          ส่วนประกอบของสายพานลำเลียง

  

          1. ยางผิวบน (Top Cover) มีหน้าที่รองรับวัสดุขนถ่ายและป้องกันการเสียหายของชั้นผ้าใบรับแรงและยังมีคุณสมบัติป้องกันแรงกระแทก ป้องกันการเจาะทะลุ ป้องกันน้ำมัน ป้องกันความร้อน โดยยางผิวบนมีหลายชนิดให้เลือกใช้งานขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้งาน

          2. ชั้นผ้าใบรับแรง (Carcass) มีหน้าที่เป็นแกนรับแรงดึงของสายพานทั้งเส้น และช่วยกระจายแรงดึงของสายพาน เมื่อทำการลำเลียงวัสดุอีกด้วย

          3. ชั้นยางประสานผ้าใบ (Skim Rubber) มีหน้าที่ประสานชั้นผ้าใบแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน

          4. ยางผิวล่าง (Bottom Cover) มีหน้าที่ป้องกันชั้นผ้าใบรับแรงไม่ให้เสียหายจากการเสียดสีกับลูกกลิ้ง (Idler) และพูลเลย์ ดังนั้นความหนาของยางผิวล่างจึงไม่จำเป็นต้องหนาเท่ากับยางผิวบน เพราะไม่ได้รับภาระหนักเหมือนยางผิวบน

 

 

รูปที่ 4 ส่วนประกอบของสายพาน

 

          ระบบขนถ่ายวัสดุด้วยสายพาน มีส่วนประกอบสำคัญดังนี้

  

  1. สายพาน (Belt) เป็นส่วนที่ใช้รองรับวัสดุขนถ่ายจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ตัวกลางความหมายก็คือเมื่อสายพานหมุนไปครบรอบแล้วก็จะเวียนมา ทำงานแบบซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ หรือเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางของสายพานจนกว่าจะพังหรือขาดใช้งานไม่ได้
  2. ลูกกลิ้ง (Idlers) เป็นตัวรองรับสายพาน ลูกกลิ้งมีอยู่ 2 ชนิดคือ ลูกกลิ้งด้านลำเลียงวัสดุ (Carrying Idlers) และลูกกลิ้งด้านสายพานกลับ (Return Idlers)
  3. ล้อสายพาน (Pulleys) เป็นตัวรองรับ ขับสายพาน และควบคุมแรงดึงในสายพาน
  4. ชุดขับ (Motor or Drive) เป็นตัวส่งกำลังให้กับล้อสายพาน เพื่อขับสายพานและวัสดุขนถ่ายให้เคลื่อนที่
  5. โครงสร้าง (Structure) เป็นส่วนที่รองรับรักษาแนวของลูกกลิ้ง ล้อสายพาน และรองรับเครื่องรับสายพาน

 

          ข้อดีของการใช้ระบบสายพานลำเลียง มีดังนี้

  

  1. แรงกระทำสม่ำเสมอและคงที่
  2. วัสดุเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง
  3. เส้นทางไม่ได้เปลี่ยนแปลง
  4. อัตราการเคลื่อนย้ายแน่นอน
  5. สามารถข้ามสิ่งกีดขวางได้
  6. จำเป็นต้องใช้การนับอย่างอัตโนมัติ การแยกจำพวกการชั่งน้ำหนัก
  7. ต้องมีการเก็บตัวเลขคงคลัง และการตรวจสอบเพื่อควบคุมการผลิต
  8. ต้องการควบคุมการไหล
  9. ขนถ่ายวัสดุที่มีการเสี่ยงต่ออันตราย
  10. ขนถ่ายวัสดุที่มีอุณหภูมิสูง และใช้ในพื้นที่ที่อันตราย

 

          ประเภทของสายพานลำเลียง (Rubber Conveyor Belt)

  

          1. แบ่งตามประเภทของผิว (Cover Rubber) ของสายพานลำเลียง (Rubber Conveyor Belt) แบ่งได้ 2 ประเภท

          1.1 ประเภทใช้งานทั่วไป (General Use Conveyor Belt) หรือเรียกว่า สายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt)

          1.2 ประเภทใช้งานแบบพิเศษ (Special Conveyor Belt) มีหลายแบบ เช่น สายพานทนร้อน (Heat Resistant Conveyor Belt) สายพานทนน้ำมัน/ไขมัน/จาระบี (Oil Fat/Grease Resistant Conveyor Belt) สายพานทนเปลวไฟ (Flame Resistant Belt) สายพานทนความเย็น (Cold Resistant Belt) สายพานทนสารเคมี (Chemical Resistant Conveyor Belt) สายพานมีคุณสมบัติป้องกันกระแสไฟฟ้าสถิต และสายพานสำหรับลำเลียงอาหาร (Food Grade)

 

          2. แบ่งตามประเภทของวัสดุที่ใช้รับแรง (Tension Member) ของสายพานลำเลียง (Rubber Conveyor Belt) แบ่งได้ 2 ประเภท

          2.1 สายพานผ้าใบ (Fabric Conveyor Belt) วัสดุที่ใช้รับแรง (Tension Member) ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ กันไป เรียกรวม ๆ กันว่าผ้าใบ เช่น Cotton Nylon EP (Polyester/Nylon หรือเรียกว่า PN และ Kevlar (Aramid) และ Fiberglass

  

 

รูปที่ 5 สายพานลำเลียงผ้าใบฝ้าย

  

          2.2 สายพานลวดสลิง (Steel Cord Conveyor Belt) คือสายพานที่มีวัสดุรับแรง เป็นเส้นลวด (Steel Cord)

 

 

 

รูปที่ 6 โครงสร้างของสายพานลวดสลิง (Steel Cord)

 

          3. แบ่งตามประเภทของลักษณะของผิวหน้า (Rubber Cover Surface) ของสายพานลำเลียง (Rubber Conveyor Belt) แบ่งได้หลายชนิดแต่ที่นิยมใช้กันมี 3 ประเภท

 

          3.1 แบบผิวหน้าเรียบ (Plain Surface) ใช้ลำเลียงวัสดุในแนวราบหรือเอียงเล็กน้อยใช้ในงานทั่ว ๆ ไป ในประเทศไทยเราน่าจะใช้สายพานแบบนี้มากกว่าร้อยละ 80

 

 

รูปที่ 7 สายพานเส้นผิวหน้าเรียบ

 

          3.2 แบบผิวหน้าก้างปลา (Pattern Surface) มีหลายลักษณะ (Pattern) เรียกว่าก้างปลา จะมีสัน (Cleat) บนตัวสาย พานใช้ลำเลียงวัสดุในแนวราบหรือเอียงได้ดีกว่าแบบผิวเรียบ แต่ราคาก็แพง ก่อนซื้อต้องรู้ว่าวัสดุที่ลำเลียงสามารถขึ้นได้สูงกี่องศา ถ้ามุมเอียงของระบบสายพาน (Conveyor System) มีมากว่ามุมกองของวัสดุ ๆ อาจจะไหลกลับเดี๋ยวเสียเงินฟรี ๆ

 

 

รูปที่ 8 ผิวหน้าก้างปลา (Pattern Surface)

 

          3.3 แบบผิวหน้าพิเศษหรือมีโครงสร้างแบบพิเศษ ตามลักษณะการใช้งาน เช่น Sidewall Belt และ Pipe Conveyor Belt เรื่องนี้เป็นเรื่องพิเศษหัวข้อนี้เราจะไม่ลงลึกในเนื้อหาแต่หากท่านใดอยากรู้หรือมีการใช้งานที่แปลก ๆ จะใช้สายพานประเภทไหนดีถึงจะเหมาะหลาย ๆ ประเภทไม่มีการผลิตในประเทศไทย

 

 

รูปที่ 9 Sidewall Belt

 

 

รูปที่ 10 Pipe Conveyor Belt

 

          2. รถยก (Fork Lift Trucks)  

 

          เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับยกขนถ่ายวัสดุที่มีน้ำหนักมาก ๆ ได้หลายกิโลกรัม ยกวัสดุให้สูงจากพื้นได้ รถยกมี 2 แบบ คือแบบใช้มือควบคุมปุ่ม และแบบใช้เครื่องยนต์ควบคุม รถยกสามารถยกวัสดุได้หลายชิ้น แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะในการขนย้าย เส้นทางที่ให้รถวิ่งบนพื้นที่ของโรงงานควรมีความสะดวก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 

 

รูปที่ 11 ตัวอย่างรถยก (Fork Lift Trucks)

 

          คุณสมบัติเฉพาะของรถยก มีดังนี้คือ

  

  1. พลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนใช้น้ำมัน เบนซิน ดีเซล ก๊าซหุงต้ม และแบตเตอรี่ เป็นพลังงานใช้ในการขับเคลื่อน ซึ่งขึ้น อยู่บริษัทผู้ผลิตรถยก
  2. เสากระโดงสามารถยืดเข้าออกได้จะถูกออกแบบติดตั้งไว้ด้านหน้าของตัวรถ เพื่อใช้สำหรับยกวัสดุ และวางวัสดุตามตำแหน่งที่ต้องการ
  3. การขับเคลื่อนโดยใช้พนักงานขับรถจะควบคุมรถยกตรงจุดกึ่งกลางของตัวรถ ซึ่งจะนั่งขับเพื่อบังคับรถหรือควบคุมตามความต้องการ และห้ามขับรถโดยความประมาทเด็ดขาด ต้องมีสติ คำนึงถึงความปลอดภัยทุกครั้ง เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ง่าย
  4. ล้อรถยกสามารถถอดเปลี่ยนได้ เมื่อหมดอายุในการใช้งาน หรือล้อยางรถยกรั่วก็สามารถปะซ่อมได้ และในการเลือกล้อและยางของรถยก ต้องดูความเหมาะสมของพื้นโรงงานเป็นองค์ประกอบด้วย เช่น พื้นไม้ พื้นคอนกรีต พื้นยาง ถนนหลวง และบริเวณโล่งแจ้ง เป็นต้น
  5. สามารถใช้ในการขับเคลื่อนไปในบริเวณต่าง ๆ ได้ ทำให้สะดวกในการทำงาน มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานและบางครั้งนำไปใช้ในบริเวณที่ห่างไกลพลังงานได้
  6. สามารถใช้ยกวัสดุที่น้ำหนักปริมาณมาก ๆ ได้ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ ถุงปูนซีเมนต์ถุงปุ๋ย และวัสดุอื่น ๆ ทำให้ช่วยทุ่นแรงงานได้มาก ลดปริมาณจำนวนพนักงานให้น้อยลงได้ ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อต้นทุนการผลิตอีกด้วย
  7. เส้นทางการขนถ่ายวัสดุ มีความยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ และการขนถ่ายวัสดุอาจจะต่อเนื่อง หรือหยุดเป็นช่วง ๆ ได้ตามความเหมาะสม
  8. ข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ เช่น 
  • การขับเคลื่อนเครื่องยนต์จะมีเสียงดัง ควันพิษรบกวน ต้องมีการบำรุงรักษาดูแล แต่ถ้าเป็นรถไฟฟ้าจะช่วยลดมลพิษ
  • บริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานจะต้องมีพื้นผิวอยู่ในสภาพที่ดีไม่ขรุขระ และมีความเหมาะสมในการใช้งาน
  • ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานจะขึ้นอยู่กับความสามารถของพนักงาน หรือผู้ควบคุมบังคับรถยก
  • ความเร็วในการเคลื่อนที่มีขอบเขตจำกัดและรถยกไม่เหมาะที่จะใช้ในการขับเคลื่อนในระยะทางไกล ๆ

  

 

รูปที่ 12 ตัวอย่างรถยกใช้ยกวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ

 

          คุณสมบัติของงานที่ใช้รกยก ได้แก่

 

  1. มีการเคลื่อนย้ายวัสดุเฉพาะจุด
  2. มีการเปลี่ยนเส้นทางการเคลื่อนที่
  3. แรงกระทำคงที่ทั้งขนาดและน้ำหนักของวัสดุ
  4. ระยะทางในการขนถ่ายไม่แน่นอน
  5. ต้องการทางวิ่ง และช่องทาง
  6. สามารถจัดวัสดุเข้าเป็นหน่วยได้

 

          3. ลูกกลิ้งลำเลียง (Roller Conveyor)

 

          เป็นอุปกรณ์ขนถ่ายลำเลียงที่มีราคาถูก สามารถปรับแต่งให้ติดตั้งใช้กับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ง่าย ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในการนำไปประยุกต์ใช้งานอุตสาหกรรมจะต้องมีออกแบบและผลิตลูกกลิ้งจากวิศวกรที่มีความชำนาญงาน ซึ่งต้องออกแบบใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ เช่น เครื่องชั่ง เครื่องบรรจุ เครื่องนับจำนวน และเครื่องคัดขนาด เป็นต้น

 

 

 

รูปที่ 13 ลักษณะลูกกลิ้งลำเลียง

 

          ลูกกลิ้งลำเลียงมีให้เลือกหลายขนาด โดยสามารถแยกรายละเอียด ได้ดังนี้

 

          1. วัสดุที่ใช้ผลิตลูกกลิ้ง เช่น พลาสติกพีวีซี (PVC) เหล็กเคลือบสังกะสี (Zinc Plate) เหล็กหุ้มยาง (Rubberized Steel) เหล็กหุ้มยูริเทน (Polyurethane Covers Steel) และเหล็กสแตนเลส (Stainless) เป็นต้น

          2. วัสดุที่ใช้ผลิตโครงสร้าง เช่น เหล็ก (Steel) สแตนเลส (Stainless Steel) และอะลูมิเนียม (Aluminium) เป็นต้น

 

 

รูปที่ 14 ตัวอย่างการใช้ลูกกลิ้งลำเลียงชิ้นงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ

 

ขอบเขตการขนถ่ายวัสดุ

 

          การขนถ่ายวัสดุนั้นเราสามารถดำเนินการได้หลายขอบเขต ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ ดังต่อไปนี้

 

          1. สถานที่ทำงาน (Work Place) เป็นการเคลื่อนย้ายหรือขนถ่ายในตำแหน่งหรือบริเวณที่ทำงาน เช่น งานประกอบสินค้าพื้นที่การผลิตชิ้นงานเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตต่อไป

          2. สายงานผลิต (Line) เป็นลักษณะการเคลื่อนย้ายขนถ่ายในสายงานผลิตที่ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ในแต่ละตำแหน่งก็ทำหน้าที่ประกอบเฉพาะอย่าง เมื่อประกอบชิ้นส่วนนั้นเสร็จแล้วก็ส่งไปให้คนอื่นประกอบชิ้น ส่วนอื่นอีกต่อ ๆ ไป เช่น การกลั่นน้ำมัน การผลิตสารเคมี การทำกระดาษ ฯลฯ ทำให้มีสถานีการผลิตหลายแห่งด้วยกัน

          3. การขนถ่ายระหว่างแผนก (Inter Department) เป็นการขนถ่ายระหว่างแผนกโดยไม่คำนึงถึงว่าในแต่ละแผนกจะขนถ่ายอย่างไร ทำให้มองเห็นภาพกว้าง ๆ ของระบบการขนถ่ายวัสดุของโรงงานว่ามีการขนถ่ายเกิดขึ้นระหว่างแผนกอะไร

          4. การขนถ่ายภายในโรงงาน (Intra Plant) เป็นวิธีการขนถ่ายภายในโรงงาน แต่แผนกที่สำคัญก็คือ แผนกรับวัสดุที่สั่งซื้อเข้ามาแล้วแจกจ่ายวัสดุเหล่านั้นไปยังแผนกต่าง ๆ

          5. การขนถ่ายระหว่างโรงงาน (Inter Plant) เป็นการขนถ่ายวัสดุระหว่างโรงงาน ในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ในบริษัทหนึ่ง ๆ อาจมีโรงงานหลายโรง แต่ละโรงอาจทำการผลิตชิ้นส่วนที่แตกต่างกัน แล้วนำมาประกอบรวมกันเป็นผลิตภัณฑ์โดยที่แต่ละโรงงานมีแผนกรับ (Receive) และแผนกส่ง (Shipping)

          6. การขนถ่ายระหว่างบริษัท (Inter-Company) เป็นการขนถ่ายระหว่างบริษัทเช่น จากบริษัทผู้ผลิตไปยังบริษัทผู้ส่ง และไปยังบริษัท ตัวแทนจำหน่าย หรือจากบริษัทที่ขายวัตถุดิบมายังโรงงานผลิตและจากโรงงานผลิตไปยังบริษัทจัดจำหน่าย

 

หลักการขนย้ายวัสดุ

 

          หลักการขนย้ายวัสดุโดยทั่วไปนั้น จะต้องใช้เวลาในการขนย้ายให้น้อยลง การออกแบบอุปกรณ์ขนย้ายต้องมีความเหมาะสม ในการนำไปใช้งาน สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพดังนี้คือ

  

          1. การขนย้ายวัสดุต่าง ๆ ต้องมีการจัดระบบการวางแผน เพื่อทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

          2. การพิจารณากิจกรรมในการขนย้าย ต้องเรียงลำดับตามความเหมาะสม ตามความจำเป็น และเลือกวัสดุอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสมกับสินค้าที่ทำการขนย้ายทุกครั้ง

          3. ควรจัดบริเวณพื้นที่ในโรงงานให้สะดวกต่อการขนย้ายวัสดุให้มากที่สุด และใช้พื้นที่ในโรงงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          4. การขนย้ายวัสดุจะต้องเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ขนย้ายให้ถูกกับลักษณะงาน และคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน

          5. การขนย้ายวัสดุจะต้องเลือกใช้อุปกรณ์ขนย้ายที่มีมาตรฐานอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้เสมอ และถ้ามีการชำรุดหรือเสียหายต้องบอกผู้ควบคุมงานทันที

          6. ควรมีแผนงานในการจัดการซ่อมบำรุง ซ่อมแซม ดูแลรักษา อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุตามความเหมาะสม เพื่อช่วยยืดอายุในการใช้งาน

          7. อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุบางชนิด หรือบางประเภท จะต้องศึกษาอ่านคู่มือในการใช้งานให้ถูกต้องเสียก่อน เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ด้วย

 

การเลือกใช้เครื่องมืออุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ

 

          ปัจจุบันอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนถ่ายวัสดุที่มีวางขายอยู่ตามท้องตลาดโดยทั่วไปนั้นมีมากมายหลายชนิด การเลือกใช้อุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ จะต้องดูปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน มีดังต่อไปนี้คือ

 

          1. ประโยชน์การนำไปใช้งาน

          2. อายุการใช้งาน และการประยุกต์ใช้งาน

          3. ข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ และคุณสมบัติของวัสดุ

          4. การวางผังและคุณสมบัติของอาคาร

          5. ลักษณะการเคลื่อนที่ของการผลิต

          6. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และเงินที่ใช้ในการลงทุน

          7. ลักษณะการขนย้ายวัสดุ

          8. ความรวดเร็วในการทำงานของอุปกรณ์ขนถ่าย

          9. พื้นที่ใช้ในการขนถ่าย และการดูแลหลังการใช้งาน

 

ปัญหาจากการขนถ่ายวัสดุ

 

          การเคลื่อนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ โดยทั่วไปแล้วอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าขาดความระมัดระวัง และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ปวดหลัง เคล็ด ขัดยอก ฟกซ้ำ กระดูกหัก และอื่น ๆ เป็นต้น ปัญหาจากการเคลื่อนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ มีสาเหตุได้ดังนี้คือ

 

          1. บรรทุกน้ำหนักเกิน คือการขนย้ายวัสดุในบางครั้ง ถ้าผู้ปฏิบัติงานชอบบรรทุกขนย้ายวัสดุเกินน้ำหนัก อาจทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์บางชิ้น เกิดการชำรุดเสียหายได้ง่าย และอาจทำให้วัสดุที่ขนย้ายหล่นมาทับผู้ปฏิบัติงาน หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

 

 

รูปที่ 15 บรรทุกน้ำหนักเกิน

 

          2. สภาพร่างกายไม่พร้อม การปฏิบัติงานในการขนย้ายวัสดุทุกครั้ง สภาพร่างกายต้องพร้อมที่จะปฏิบัติงาน แต่ถ้าสภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะทำงาน อาจมีสาเหตุหลายประการเช่น สุขภาพร่างกาย อ่อนเพลีย ง่วงนอน มึนเมา ไข้ ปวดหลัง และอื่น ๆ เป็นต้น

 

          3. ขาดความรู้ ความชำนาญ การใช้อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุถ้าผู้ปฏิบัติงานไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถในการใช้อุปกรณ์ขนถ่ายก็อาจเกิดปัญหาต่อการนำไปใช้งาน หรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

 

          4. ความประมาท ในการขนถ่ายวัสดุอุปกรณ์ อาจมีการพูดคุย หยอกล้อกัน และใจลอยระหว่างปฏิบัติงาน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อาจส่งผลเสียต่าง ๆ ตามมา ดังนั้นระหว่างที่ทำการขนส่ง ควรทำงานด้วยความระมัดระวัง

 

 

รูปที่ 16 ความประมาท

 

          5. เครื่องมืออุปกรณ์ชำรุด เครื่องมืออุปกรณ์ที่นำมาใช้งานที่ขาดการดูแลรักษาตามอายุการใช้งาน หรือหมดสภาพ เมื่อใช้งานไปนาน ๆ อาจทำให้ชำรุดเสียหาย เช่น ลูกปืน สายพาน น้ำมัน หล่อลื่น จาระบี และซีลกันรั่ว เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนตามอายุการใช้งาน เพื่อให้การนำไปใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

          6. ผังของโรงงานหรือโครงสร้างอาคาร การเลือกอุปกรณ์ขนถ่ายจะต้องให้เหมาะสมกับผังโรงงาน เช่น ลิฟต์ โครงสร้างของโรงงาน พื้นของโรงงานเป็นต้น โดยเฉพาะความสามารถของพื้นโรงงาน จะสามารถรับน้ำหนักได้ หรือไม่และความสูงของหลังคาโรงงานสูงพอหรือไม่ การใช้ระบบการขนถ่ายเหนือศีรษะ จะถูกจำกัดโดยระดับความสูงของเพดานโรงงานฐานที่ใช้ค่ำและรองรับระบบการ ขนถ่ายเหนือศีรษะ ระดับของพื้นโรงงานที่ต่างระดับกันก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้รถยก ด้วยในกรณีที่พื้นโรงงานต่างระดับหลายช่วง ควรใช้ลิฟต์

 

แนวทางการแก้ปัญหาการขนถ่ายวัสดุ

 

          ในการแก้ปัญหาการขนถ่ายวัสดุ จะต้องอาศัยปัจจัยหลายด้านที่มีอิทธิพลต่อการขนถ่ายวัสดุ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบการผลิต การออกแบบอาคาร การออกแบบผังโรงงาน และการออกแบบระบบขนถ่ายวัสดุ เป็นต้น ดังนั้นขั้นตอนการแก้ปัญหาการขนถ่ายวัสดุโดยทั่วไป มีดังนี้คือ

 

          1. ศึกษาสภาพปัจจุบันในการขนถ่ายวัสดุที่กำลังดำเนินการอยู่ มีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น ใช้เครื่องมืออะไรในการขนถ่ายวัสดุ สภาพเครื่องมืออุปกรณ์เป็นอย่างไร การขนถ่ายลำเลียงวัสดุจากไหนไปไหนบ้าง และนอกจากนี้อาจมีการนำแผนภูมิการไหลเข้ามาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อทำให้มองเห็นปัญหาได้ชัดเจน 

 

          2. การเก็บรวบรวมข้อมูล คือต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูล รายละเอียดต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งอาจเป็นแบบสำรวจ แบบสอบถาม และแบบตรวจสอบรายการ ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมด้วย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง และพัฒนาระบบการขนถ่ายวัสดุต่อไป

 

          3. การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากศึกษาสภาพปัญหา และการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางว่ามีความเหมาะสมกับการขนถ่ายวัสดุหรือไม่ ลักษณะอุปกรณ์ขนถ่าย เส้นทางการขนถ่ายวัสดุ ระยะทาง และเวลาในการขนถ่ายวัสดุ เพื่อให้การไหลได้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม

 

          4. การออกแบบและสร้างทางเลือก คือผลจากการวิเคราะห์ทางเลือกออกแบบการขนถ่ายลำเลียงที่น่าจะเป็นไปได้ หลาย ๆ ทางเลือก เช่น จำนวนการขนถ่ายวัสดุ รูปแบบการขนถ่าย และการนำไปใช้งาน เป็นต้น เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางเปรียบเทียบ

 

          5. ประเมินทางเลือกที่ดีกว่า เป็นการประเมินเปรียบเทียบในแง่ของเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ว่ารูปแบบการขนย้ายวัสดุใดให้ความพึงพอใจมากกว่า เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป

 

          นอกจากนี้เมื่อได้ทางเลือกที่ดีแล้ว ควรมีการประชุม อธิบายให้พนักงานได้รับทราบทุกคน เพื่อจะได้ใช้ปฏิบัติเป็นแนว ทางเดียวกัน ตลอดจนมีการติดตามผล และหาทางแก้ไขต่อไป

 

การจัดการระบบการขนถ่ายวัสดุถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในองค์กรการผลิต ถึงแม้ว่าการขนถ่ายวัสดุจะไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าก็ตาม แต่ก็มีผลต่อการบริการการผลิตของโรงงานได้เช่นกัน การจัดระบบการขนย้ายหรือการเคลื่อนย้าย วัสดุ วัตถุดิบ สินค้า ฯลฯ โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องพิจารณาให้รอบคอบในการเลือกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถลดปัญหาการหยุดกระบวนการผลิต การซ่อมบำรุง ลดต้นทุนในการผลิต และความสูญเสียอื่น ๆ ที่ใช้ระยะยาวของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ภาพรวมขององค์กรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด