Special Report

อินเตอร์ลิ้งค์ จับมือ ไอซีที แรงงาน ศธ. จัดแข่งขันทักษะฝีมือสายสัญญาณ ปี 4 ชิงถ้วยพระราชทาน “Cabling Contest 2016”

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

 

 

 

 

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับภาครัฐ จัดโครงการแข่งขัน สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ ปี 4 (Cabling Contest) เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศได้เรียนรู้เทคโนโลยีสายสัญญาณที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบัน ผ่านกิจกรรมการอบรมและแข่งขัน โดยคัดเลือกตัวแทนจากทุกภาค เพื่อเข้าไปแข่งขันรอบสุดท้าย ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน พร้อมเงินรางวัลมูลค่ากว่า 400,000 บาท และมีโอกาสเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันระดับโลก World Skills ASEAN

 

  

 

นางชลิดา อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการกลุ่ม บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

 

 

          นางชลิดา อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการกลุ่ม บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ริเริ่มจัดโครงการ กล่าวว่า “บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรกที่ได้นำเทคโนโลยีสาย LAN มาเผยแพร่ในประเทศไทย และเป็นผู้ริเริ่มการผลิตตู้ RACK ใส่อุปกรณ์เครือข่าย อีกทั้งยังได้นำเทคโนโลยีของ MEDIA CONVERTER มาเผยแพร่เพื่อเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารด้วยสายไฟเบอร์ออฟติกให้ไกลและเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันอินเตอร์ลิ้งค์เป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจสายสัญญาณ จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ต้องการแบ่งปันและถ่ายทอดความรู้เพื่อคืนสู่สังคม จึงได้จัดโครงการ สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ (Cabling Contest) ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ภายใต้การสนับสนุนของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ LINK จากสหรัฐอเมริกา โดยร่วมมือกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงแรงงาน เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับอาชีวศึกษา ได้เรียนรู้เทคโนโลยีสายสัญญาณที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันผ่านกิจกรรมการอบรมและแข่งขัน ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา พร้อมต่อยอดทักษะและความรู้ในเวทีระดับโลก ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ รองรับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งประสบการณ์ที่ผู้ร่วมการแข่งขันจะได้รับในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีสายสัญญาณในประเทศไทยอีกด้วย และที่สำคัญนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อคณะผู้จัดโครงการเป็นอย่างยิ่ง ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงกรุณาเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการแข่งขันในครั้งนี้ และได้พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศให้แก่ผู้ที่ชนะเลิศในการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย”

 

 

 

นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน

 

 

          นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “ในโลกของการสื่อสารในปัจจุบัน สายสัญญาณเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารที่สำคัญ อันก่อให้เกิดโลกของสังคมดิจิตอล ดังจะเห็นได้จากอัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้งานอินเตอร์เน็ต (Internet) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งการใช้งานในอาคารจำเป็นต้องผ่านสายแลน (LAN) หรือการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ ก็จำเป็นต้องใช้สายไฟเบอร์ออฟติก (Fiber Optic) ในการเชื่อมโยงเสาโทรศัพท์เข้าด้วยกัน อีกทั้งในปัจจุบัน ภาครัฐบาล ได้ประกาศใช้นโยบาย Internet Broadband ความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน 30,000 หมู่บ้าน ซึ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้สายสัญญาณเชื่อมโยงไปยังทุกหมู่บ้านทั้งสิ้น จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และผลิตภัณฑ์ลิ้งค์ (LINK) สหรัฐอเมริกา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ความรู้และยกระดับฝีมือให้เยาวชนและคนไทย โดยจัดให้มีการแข่งขันสุดยอดฝีมือสายสัญญาณขึ่น ซึ่งถือเป็นอีกเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถและสัมผัสเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อเป็นการต่อยอดความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้น” 

 

 

 

นายวีระศักดิ์ กิติวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

 

 

          ด้าน นายวีระศักดิ์ กิติวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า  “การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ นอกจากจะจัดให้เยาวชนทั่วประเทศได้มาร่วมแข่งขันในแต่ละภูมิภาคแล้ว ยังได้จัดให้มีการอบรมความรู้เรื่องของสายสัญญาณให้กับผู้เข้าแข่งขันและเยาวชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจให้ได้รับความรู้อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำสายสัญญาณไปติดตั้งและใช้งานอย่างถูกวิธีอีกด้วย ซึ่งสายสัญญาณนี้เป็นพื้นฐานอันสำคัญของการสื่อสารในปัจจุบัน การแข่งขันสุดยอดฝีมือสายสัญญาณในครั้งนี้ จึงถือเป็นการสนับสนุนกระทรวงในอีกมิติหนึ่ง เพราะเป็นการพัฒนาทักษะโดยไม่ใช้งบประมาณของราชการ และการจัดการแข่งขันลักษณะนี้ ได้ถูกบรรจุเป็นสาขาหนึ่งในการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียนทุก 2 ปี และยังบรรจุไว้ในการแข่งขันระดับโลกชื่อ World Skill ทุก ๆ 4 ปีอีกด้วย ซึ่งเราหวังว่าเด็กไทยของเราจะมีโอกาสได้พัฒนาฝีมือเพื่อก้าวไปสู่เวทีโลกได้ต่อไป”

 

          ในส่วนของรูปแบบการแข่งขัน นายณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าโครงการเปิดเผยว่า “ปีที่แล้ว เราได้รับการตอบรับจากนิสิต นักศึกษา ทั้งระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยรูปแบบการแข่งขันในปีนี้ ยังคงแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเช่นเดิม ซึ่งภาคปฏิบัติเป็นการแข่งขันเข้าหัวต่อกับสายสัญญาณ LAN และการแข่งขันเข้าหัวต่อกับสาย COAXIAL โดยจะจัดรอบคัดลือกทั่วทุกภูมิภาคคือ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ภาคตะวันออกที่จังหวัดระยอง และภาคกลางที่กรุงเทพมหานคร

 

 

 

คุณทรงกรต ทรัพย์กำเนิด
นายกสมาคมเคเบิลลิ่งไทย

 

 

นายรุ่งโรจน์ เกศวรกิตติ
ผู้ชนะเลิศ Cabling Contest 2015

 

 

          โดยผู้ผ่านการคัดเลือก 55 คนจากทั่วประเทศ จะได้รับสิทธิ์เข้าไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและขวัญกำลังใจอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับถ้วยเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับถ้วยเกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท

 

 

 

          ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันโครงการ  “สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ ปี 4 (Cabling Contest 2016)” สามารถสมัครออนไลน์ได้ที่ www.cablingcontest.com สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-693-1222 ต่อ 363-374

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด