Safety & Healthcare

ความสำคัญของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 16)

ศิริพร วันฟั่น

 

 

 

 

ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “CSR” กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งหากจะมองโดยเผิน ๆ ก็จะเป็นแค่เรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเท่านั้น แต่หากจะมองให้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาและความจำเป็นของซีเอสอาร์แล้ว คงต้องกลับไปดูกันตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุว่า ทำไมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

 

 

          ตั้งแต่ตอนที่ 13-15 เราได้กล่าวถึงหัวข้อที่ (3) การดำเนินการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Implementing Responsible Production) ในหัวข้อย่อย (3.3) ชุดฝึกอบรมสำหรับการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Production Training Package) (ที่ประกอบไปด้วย 18 โมดูลพร้อมกับเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง) โดยได้กล่าวจนจบโมดูลที่ 1-4 และได้กล่าวต่อในเนื้อหาโมดูลที่ 5 “การบ่งชี้และจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Identification and Classification)” ในส่วนของระบบและสัญลักษณ์ที่ใช้สำหรับการติดฉลากสารเคมีอันตรายที่ใช้บังคับในสหภาพยุโรป โดยได้กล่าวจนจบระบบการจำแนกประเภท การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สำหรับสารเดี่ยวหรือสารผสมของสหภาพยุโรป (ฉบับเดิม) และกล่าวต่อระบบการจำแนกฯ ฉบับใหม่ โดยมีเนื้อหาที่กล่าวแล้วบางส่วน ได้แก่ กรอบเวลาดำเนินการเปลี่ยนผ่าน และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง CLP (ฉบับใหม่) และ DSD/DPD (ฉบับเก่า) ที่ประกอบไปด้วย (1) คำศัพท์เฉพาะ (Terminology) ที่ใช้สำหรับการจำแนกประเภทและการติดฉลาก (2) การจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classification) ดังนั้น ก็จะขอกล่าวต่อตามเนื้อหาด้านล่างนี้

 

2. การจำแนกประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classification)  (ต่อ)

 

          ดังที่กล่าวแล้วในตอนที่ผ่านมาว่า ภายใต้กฎระเบียบ CLP จะจำแนกประเภทความเป็นอันตรายออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ความเป็นอันตรายทางกายภาพ (Physical hazards) จำนวน 16 ประเภท ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) จำนวน 10 ประเภท และความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (Environment Hazards) จำนวน 2 ประเภท รวมทั้งหมดแล้วเท่ากับ 28 ประเภท จากแต่เดิม มี 15 ประเภท ส่วนที่จะกล่าวต่อไปนั้น จะเป็นตัวอย่างการเปรียบเทียบระบบการจำแนกที่อยู่ภายใต้ DSD/DPD (ฉบับเก่า) กับภายใต้กฎระเบียบ CLP (ฉบับใหม่) โดยแยกตามรายกลุ่มอันตราย ซึ่งวิทยากรฝึกอบรมสามารถเลือกยกตัวอย่างการเปรียบเทียบเพียงบางประเภทของแต่ละกลุ่มอันตรายได้ (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของระยะเวลาฝึกอบรม) ดังรายละเอียดด้านล่างนี้

 

          หมายเหตุ: ความหมายของหัวข้อในหัวตารางเปรียบเทียบ มีดังนี้ คือ DSD/DPD Symbol คือ สัญลักษณ์ที่อยู่ภายใต้ระเบียบ DSD/DPD (ฉบับเก่า), Indication of Danger คือ สิ่งบ่งชี้ความเป็นอันตราย, Risk Phases คือ ข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยง, CLP Pictogram คือ รูปสัญลักษณ์ที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบ CLP (ฉบับใหม่), Signal Word คือ คำสัญญาณ, Hazard Class คือ ประเภทความเป็นอันตราย, Hazard Category คือ ประเภทย่อยความเป็นอันตราย และ Hazard Statement คือ ข้อความแสดงความเป็นอันตราย

 

          2.1 ความเป็นอันตรายทางกายภาพ (Physical Hazards) ภายใต้ระบบ CLP จะมีจำนวนประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classes) ที่ใช้บ่งชี้สารเดี่ยวและสารผสมที่มีความเป็นอันตรายทางกายภาพ เพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 16 ประเภท แต่ไม่จำเป็นว่า สารเดี่ยวและสารผสมอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่มีอยู่ในขณะนี้จะถูกจำแนกใหม่ว่ามีความเป็นอันตรายไปเสียทั้งหมด เพียงแต่ในการจำแนกใหม่นี้จะมีวิธีการที่ละเอียดลออมากขึ้นในการบ่งชี้และการอธิบายความ และมีความแตกต่างไปบ้างจากระบบการจำแนกแบบเดิม ทั้งนี้ ประเภทความเป็นอันตรายที่ใช้สำหรับอันตรายทางกายภาพในระบบ GHS และใน CLP จะเหมือนกับที่ใช้ในกฎระเบียบการขนส่งระหว่างประเทศ และสำหรับการเปรียบเทียบระบบการจำแนกฯ เก่าและใหม่ในกลุ่มความเป็นอันตรายทางกายภาพนี้ จะยกตัวอย่างเพียง 4 ประเภท ได้แก่ วัตถุระเบิด (Explosive) ก๊าซไวไฟ (Flammable Gas) ก๊าซภายใต้ความดัน (Gas Under Pressure) และสารกัดกร่อนโลหะ (Corrosive to Metals)

 

  • วัตถุระเบิด (Explosives) ภายใต้ระเบียบ DSD/DPD สารเดี่ยว สารผสม และผลิตภัณฑ์เคมี ที่เป็นวัตถุระเบิด ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย (Categories) ตามสมบัติที่แท้จริง (Intrinsic Properties) ของสารเหล่านี้ ในขณะที่ภายใต้ CLP วัตถุระเบิดได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ประเภทย่อย เช่นเดียวกับที่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้าอันตราย โดยคำนึงถึงสมบัติที่แท้จริงของสารเดี่ยว สารผสม และผลิตภัณฑ์เคมี และยังรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ของสารเหล่านี้อีกด้วย

 

 

ตารางที่ 24 แสดงตัวอย่างการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายทางกายภาพ (Physical Hazards) ในประเภทของวัตถุระเบิด (Explosive)

 

 

 

  • ก๊าซไวไฟ (Flammable Gases) ภายใต้ DSD/DPD แล้ว ก๊าซไวไฟทั้งหมดได้ถูกบ่งชี้ว่าเป็น “สารไวไฟสูงมาก (Extreamly Flammable)” ในขณะที่ ภายใต้ CLP ก๊าซไวไฟเหล่านี้จะถูกจัดให้อยู่ในประเภทความเป็นอันตรายของตนเอง ซึ่งโดยรวมแล้ว ประเภทความเป็นอันตรายที่ว่านี้จะครอบคลุมสารเดี่ยวและสารผสมตัวเดียวกันกับที่ถูกจำแนกภายใต้ DSD/DPD เพียงแต่ว่าสำหรับ CLP แล้ว ประเภทความเป็นอันตรายจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยพร้อมกับฉลากที่แตกต่างกัน

 

 

ตารางที่ 25 แสดงการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายทางกายภาพ (Physical Hazards) ในประเภทของก๊าซไวไฟ (Flammable Gases)

 

 

 

  • ก๊าซภายใต้ความดัน (Gas Under Pressure) เป็นประเภทความเป็นอันตรายใหม่ภายใต้ CLP ซึ่งไม่ถูกระบุไว้ก่อนหน้านี้ภายใต้ DSD/DPD เหตุเพราะพิจารณาอยู่บนหลักเกณฑ์ของวิธีที่บรรจุก๊าซเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงอันตรายโดยเนื้อแท้ของสารเดี่ยวหรือสารผสมในสถานะก๊าซ ประเภทย่อยความเป็นอันตรายนี้ถูกกำหนดไว้สำหรับก๊าซเพื่อการพาณิชย์ทุกชนิด โดยจำแนกเพิ่มเติมออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ก๊าซอัด (Compressed Gas) ก๊าซเหลว (Liquefied Gas) ก๊าซเหลวเย็นจัด (Refrigerated Liquefied Gas) และ ก๊าซในสารละลาย (Dissolved Gas)

 

 

ตารางที่ 26 แสดงการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายทางกายภาพ (Physical Hazards) ในประเภทของก๊าซภายใต้ความดัน (Gas Under Pressure)

 

 

 

  • สารกัดกร่อนโลหะ (Corrosive to Metals) เป็นประเภทความเป็นอันตรายใหม่ภายใต้ CLP ที่นำมาใช้กับสารเดี่ยวและสารผสมที่สามารถกัดกร่อนเหล็กกล้า (Steel) และอะลูมิเนียม (Aluminium) ได้เร็วกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งผู้ใช้สารเคมีบางส่วนอาจจะคุ้นเคยกันบ้างแล้วกับอันตรายนี้ เหตุเพราะถูกใช้ในกฎระเบียบสำหรับการขนส่งสินค้าอันตรายด้วยเช่นกัน

 

 

ตารางที่ 27 แสดงการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายทางกายภาพ (Physical Hazards) ในประเภทของสารกัดกร่อนโลหะ (Corrosive to Metals)

 

 

 

  • ความเป็นอันตรายทางกายภาพในรูปแบบอื่นๆ (Other Physical Hazards) ภายใต้ระเบียบ DSD/DPD ยังได้มีข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยง (Risk Phases) จำนวนหนึ่งสำหรับความเป็นอันตรายทางกายภาพอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ GHS ซึ่งข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงเพิ่มเติมเหล่านี้ ก็ได้รวมอยู่ใน CLP ด้วยเช่นกัน และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรยกเว้นการให้รหัสหมายเลขใหม่กับข้อความเหล่านี้ ได้แก่

 

 

ตารางที่ 28 แสดงการเปรียบเทียบ รหัสหมายเลขเดิมของ Risk Phases ภายใต้ DSD/DPD กับรหัสหมายเลขใหม่ของข้อความความเป็นอันตรายภายใต้ CLP

 

 

 

          2.2 ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) เป็นกลุ่มความเป็นอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ทั้งในระยะสั้น (ความเป็นอันตรายเฉียบพลัน–Acute Hazards) หรือในระยะยาว (ความเป็นอันตรายเรื้อรัง–Chronic Hazards) ภายใต้ CLP จะมีอยู่ด้วยกันจำนวน 10 ประเภท ในที่นี้ การเปรียบเทียบระบบการจำแนกที่อยู่ภายใต้ DSD/DPD (ฉบับเก่า) กับภายใต้กฎระเบียบ CLP (ฉบับใหม่) จะยกตัวอย่างเพียง 4 ประเภท ได้แก่ การกัดกร่อนและระคายเคืองต่อผิวหนัง (Skin Corrosion/Irritation), การทำให้ไวต่อการกระตุ้นอาการแพ้ต่อระบบทางเดินหายใจหรือผิวหนัง (Respiratory or Skin Sensitization), ความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จากการรับสัมผัสครั้งเดียว (Specific Target Organ Toxicity (STOT)–Single Exposure) และความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จากการรับสัมผัสซ้ำ (Specific Target Organ Toxicity (STOT)–Repeated Exposure)

 

  • การกัดกร่อนและระคายเคืองต่อผิวหนัง (Skin Corrosion/Irritation) สารเดี่ยวและสารผสมประเภทกัดกร่อนสามารถสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงและแผลไหม้ต่อผิวหนังได้ และต้องใช้เวลาในการรักษาแถมยังอาจทิ้งความเสียหายไว้อย่างถาวร (เช่น รอยแผลเป็น) เช่นเดียวกันกับ สารเดี่ยวและสารผสมประเภทระคายเคืองก็อาจเป็นสาเหตุให้ผิวหนังอักเสบหรือแดง ฯลฯ แต่ต่างกันตรงที่ โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาในการรักษาที่สั้นกว่าประเภทกัดกร่อน เกณฑ์การจำแนกประเภทสำหรับการกัดกร่อนและการระคายเคืองของ DSD/DPD กับ CLP พบว่ามีความสัมพันธ์กัน โดยที่ประเภทย่อยความเป็นอันตรายการกัดกร่อนผิวหนังทั้ง 3 ประเภท (1A/1B/1C) จะใช้ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard Statement) ตัวเดียวกัน ดังนั้น อาจจะจำเป็นต้องอ้างอิงกับเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ถ้าไตร่ตรองแล้วว่ามีความสำคัญสำหรับมาตรการควบคุมเพื่อบ่งชี้ประเภทย่อยความเป็นอันตราย นอกจากนี้ ขีดจำกัดความเข้มข้นทั่วไปที่ใช้คำนวณเพื่อจำแนกสารผสมที่มีส่วนผสมของสารกัดกร่อนและสารระคายเคืองที่อยู่ภายใต้ CLP ก็ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ DPD จึงเป็นที่คาดว่า จะมีสารผสมอื่นๆ อีกมากมายที่จะถูกจำแนกว่าเป็น “สารกัดกร่อน” และ/หรือ “สารระคายเคือง” ภายใต้กฎระเบียบ CLP เมื่อเปรียบเทียบกับ DPD

 

 

ตารางที่ 29 แสดงการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) ในประเภทของการกัดกร่อนและระคายเคืองต่อผิวหนัง (Skin Corrosion/Irritation)

 

 

 

  • การทำให้ไวต่อการกระตุ้นอาการแพ้ต่อระบบทางเดินหายใจหรือผิวหนัง (Respiratory or skin Sensitization) สารที่ทำให้ไวต่อการกระตุ้น (Sensitisers) เป็นสารที่ภายหลังจากการสัมผัสแรกเริ่มแล้ว อาจกระตุ้นอาการแพ้ (Allergic Reaction) เช่น โรคหอบหืด (Asthma) ที่เป็นผลมาจากสารที่ทำให้ไวต่อการกระตุ้นต่อภาวะการหายใจ (Respiratory Sensitisers) หรือภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergic Skin Reaction) ที่เป็นผลมาจากสารที่ทำให้ไวต่อการกระตุ้นทางผิวหนัง (Skin Sensitisers)

 

 

ตารางที่ 30 แสดงการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) ในประเภทของการทำให้ไวต่อการกระตุ้นอาการแพ้ต่อระบบทางเดินหายใจหรือผิวหนัง (Respiratory or Skin Sensitization)

 

 

 

  • ความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จากการรับสัมผัสครั้งเดียว (Specific Target Organ Toxicity (STOT)–Single Exposure: SE) ความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง คือ ความสามารถของสารเดี่ยวหรือสารผสมที่ทำให้เกิดอันตรายอย่างเฉพาะเจาะจงต่ออวัยวะของร่างกาย เช่น โลหิต ตับ หรือระบบประสาท ถ้าด้วยปริมาณที่ต่ำกว่านี้ก็จะทำให้เกิดความเป็นพิษทั่วไปมากขึ้น ผลกระทบของ STOT อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการรับสัมผัสครั้งเดียว หรือภายหลังจากการรับสัมผัสหลายครั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของ STOT ที่เป็นการรับสัมผัสครั้งเดียว (SE) จะพบว่าเกณฑ์การจำแนกประเภทสำหรับสารเดี่ยวและสารผสมมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากทั้งของ DSD/DPD และ CLP

 

 

ตารางที่ 31 แสดงการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) ในประเภทของความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จากการรับสัมผัสครั้งเดียว (Specific Target Organ Toxicity (STOT)–Single Exposure: SE)

 

 

 

  • ความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จากการรับสัมผัสซ้ำ (Specific Target Organ Toxicity (STOT)–Repeated Exposure: RE) แม้ว่าในส่วนของ STOT ที่เป็นการรับสัมผัสซ้ำ (RE) จะใช้เกณฑ์การจำแนกประเภทสำหรับสารเดี่ยวและสารผสมที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากทั้งของ DSD/DPD และ CLP แต่สำหรับ CLP แล้ว มีแนวโน้มว่าจะมีสารเดี่ยวและสารผสมในจำนวนน้อยที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สร้างผลกระทบนี้

  

 

ตารางที่ 32 แสดงการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) ในประเภทของความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จากการรับสัมผัสซ้ำ (Specific Target Organ Toxicity (STOT)–Repeated Exposure: RE)

 

 

 

          ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพในรูปแบบอื่น ๆ (Other Health Hazards) ภายใต้ระเบียบ DSD/DPD ยังได้มีข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยง (Risk Phases) อยู่จำนวนหนึ่งสำหรับความเป็นอันตรายต่อสุขภาพในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ GHS ซึ่งข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงเพิ่มเติมเหล่านี้ก็ได้รวมอยู่ใน CLP ด้วยเช่นกัน และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรยกเว้นการให้รหัสหมายเลขใหม่กับข้อความเหล่านี้ โดยถูกวางให้อยู่ในส่วนเสริมของฉลากมากกว่าที่จะอยู่ในเนื้อความของข้อความแสดงความเป็นอันตรายและข้อความแสดงข้อควรระวัง

 

 

ตารางที่ 33 แสดงการเปรียบเทียบ รหัสหมายเลขเดิมของ Risk Phases ภายใต้ DSD/DPD กับรหัสหมายเลขใหม่ของข้อความความเป็นอันตรายภายใต้ CLP

 

 

 

          2.3 ความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Hazards) เป็นกลุ่มความเป็นอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีจำนวนความเป็นอันตรายทั้งสิ้น 2 ประเภท ได้แก่ ความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในน้ำ (Hazard to the Aquatic Environment) และความเป็นอันตรายต่อโอโซนในชั้นบรรยากาศ (Hazard to the Ozone Layer)

 

  • ความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในน้ำ (Hazard to the Aquatic Environment) เกี่ยวข้องกับสารเดี่ยวและสารผสมซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบในระยะสั้นหรือในระยะยาวต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ (Aquatic Organisms) ที่รวมถึงปลา สิ่งมีชีวิตในน้ำและพืชน้ำอื่น ๆ ด้วย เกณฑ์การจำแนกประเภทสำหรับสารเดี่ยวและสารผสมจะมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากของทั้ง DSD/DPD และ CLP อย่างไรก็ตาม ความเป็นพิษเฉียบพลันในน้ำประเภทย่อย 2 และ 3 (Aquatic Acute 2, Aquatic Acute 3) จะไม่ถูกนำไปใช้ใน CLP แม้ว่าจะมีการอธิบายไว้ในระบบ GHS ก็ตาม ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่สารเคมีนำเข้าด้วยฉลาก GHS จะรวมเกณฑ์ที่ว่านี้ไปด้วย ทั้งนี้ ความเป็นพิษเฉียบพลันในน้ำประเภทย่อย 2 และ 3 จะเทียบเท่ากับ R51 และ R52 ใน DSD และบ่งชี้ว่า แม้จะมีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ แต่สารเดี่ยวหรือส่วนประกอบของสารผสมเหล่านี้จะสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบในระยะยาว

 

 

ตารางที่ 34 แสดงการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) ในประเภทของความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในน้ำ (Hazard to the Aquatic Environment)

 

 

 

  • ความเป็นอันตรายต่อโอโซนในชั้นบรรยากาศ (Hazard to the Ozone Layer) เกี่ยวข้องกับสารเดี่ยวและสารผสมที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมโดยทำลายชั้นบรรยากาศ

 

  

ตารางที่ 35 แสดงการเปรียบเทียบระบบการจำแนก (Classification System) แบบเดิม (DSD/DPD) และแบบใหม่ (CLP) ในกลุ่มของความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) ในประเภทของความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในชั้นบรรยากาศ (Hazard to the Ozone Layer)

 

 

 

3. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฉลาก (Labels)

 

          ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เคมีภัณฑ์ (Chemical Products) ที่ถูกใช้ทุกวันในที่ทำงาน เช่น สารทำความสะอาด สารหล่อลื่น สี และกาว จะพบว่าฉลากของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้บอกเราด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับ ชนิดของสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ ความเป็นอันตรายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ และวิธีในการใช้อย่างปลอดภัย ระบบการติดฉลากผลิตภัณฑ์ฉบับเดิมกำหนดให้ผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายของสารเดี่ยว (Substances) และสารผสม (Mixtures) ที่อันตราย ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ DSD และ DPD เกี่ยวกับการติดฉลากผลิตภัณฑ์ของตนเองด้วยชุดมาตรฐานของข้อมูล ที่จะแจ้งเตือนลูกค้าให้ทราบถึงความเป็นอันตรายของสารเดี่ยวและสารผสมที่อันตรายนี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้และดำเนินการกับสารเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัยและลดความเสี่ยงในสถานที่ปฏิบัติงาน และเมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กฎระเบียบ CLP ก็ไม่ได้เปลี่ยนจุดมุ่งหมายเดิมของการติดฉลากตามระบบเก่าแต่อย่างใด แต่ความหมายของสัญลักษณ์ (Symbols) ในหลายๆ ส่วนได้มีการเปลี่ยนแปลง ที่รวมไปถึงรายละเอียดของข้อมูลบนฉลาก ดังเช่น รูปสัญลักษณ์ (Pictograms) กรอบสีแดง (ใหม่) เข้ามาแทน สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Dangerous Symbols) พื้นหลังสีส้มที่คุ้นเคยกันก่อนหน้านี้, คำสัญญาณ (Signal Word) จะใช้แทน สิ่งบ่งชี้อันตราย (Indications of Danger), ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard Statements หรือ H–statements) ใช้แทนที่ ข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยง (Risk Phrases หรือ R–phrases), ข้อความแสดงข้อควรระวัง(Precautionary Statements หรือ P–statements) จะใช้แทน ข้อความแสดงคำแนะนำการจัดการอย่างปลอดภัย (Safety Phrases หรือ S–phrases) รวมทั้งข้อความแสดงความเป็นอันตรายพิเศษ (Extra Hazard Statements) บางอย่างก็ได้ถูกระบุไว้ในหมวดของฉลากเสริม (Supplementary Labeling Section)

               

          ข้อกำหนดอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างน้อย เช่น ข้อกำหนดในการแสดงชื่อ (Names) และตัวบ่งชี้ (Identifiers) สำหรับสารอันตรายหรือสารที่มีส่วนประกอบเป็นอันตรายอยู่ในสารผสม, ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ของผู้ผลิต และปริมาณของสารในบรรจุภัณฑ์ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ฉลากควรระบุข้อมูลด้วยระบบการติดฉลากระบบใด ระบบหนึ่งเท่านั้น นั่นหมายถึงว่า บรรจุภัณฑ์ควรได้รับการติดฉลากให้สอดคล้องกับ DSD/DPD หรือไม่ก็ CLP (ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบกิจการและกำหนดเส้นตายหรือช่วงเวลาผ่อนปรนที่ระบุไว้) ไม่ควรรวมฉลากทั้ง 2 ระบบไว้ด้วยกัน   

               

          ฉลากบังคับเป็นสิ่งจำเป็นเฉพาะสารเดี่ยวและสารผสมที่ถูกจำแนกประเภทว่าเป็นอันตราย และสารผสมอื่น ๆ ที่ไม่เข้าพวกว่าเป็นอันตรายแต่มีสารอันตรายเกินระดับที่ปลอดภัยเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกจำแนกประเภทว่าเป็นอันตรายหรือไม่มีสารที่มีส่วนประกอบเป็นอันตรายนั้น จะไม่มีข้อกำหนดอย่างเป็นทางการสำหรับการติดฉลากพิเศษ และตั้งแต่ 1 มิ.ย.2558 (ค.ศ.2015) เป็นต้นมา ซัพพลายเออร์จะต้องดำเนินการให้การจำแนกประเภทภายใต้ระบบเก่า (DSD/DPD) และระบบ CLP ถูกระบุไว้ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) เพื่อที่ว่าจะสามารถยังคงการประเมินความเสี่ยงในแบบปัจจุบันได้จนกว่าจะสลับไปสู่รูปแบบใหม่ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว

 

          3.1 รูปสัญลักษณ์ (Pictograms) ใหม่ “สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Dangerous Symbols)” (เดิม) สีดำในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นหลังสีส้ม จำนวน 7 แบบ ที่คุ้นเคยกันดีก่อนหน้านี้ จะถูกแทนที่ด้วย “รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard Pictograms)” (ใหม่) สีดำบนพื้นหลังสีขาวและมีกรอบสีแดงเป็นแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำมุม 45 องศา กับแนวระนาบ (รูปเพชร) จำนวน 9 แบบ โดยที่ 6 ใน 9 แบบมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากกับแบบเก่า ส่วนอีก 3 แบบที่เหลือเป็นแบบใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา ดังแสดงในรูปที่ 1

 

 

 

รูปที่ 1 เปรียบเทียบระหว่าง สัญลักษณ์ความเป็นอันตราย (Dangerous Symbols) 7 แบบภายใต้ระบบเก่า DSD/DPD และรูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard Pictograms) 9 แบบภายใต้ระบบใหม่ CLP

 

 

ตารางที่ 36 แสดงรูปสัญลักษณ์ (Pictograms) ใหม่ จำนวน 3 แบบที่เพิ่มขึ้นมาของ CLP พร้อมกับความหมาย

 

 

 

ตารางที่ 37 แสดงรูปสัญลักษณ์ (Pictograms) ภายใต้ CLP และประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Classes)

 

 

 

          3.2 คำสัญญาณ (Signal Word) CLP จะใช้คำสัญญาณเพื่อบ่งชี้ระดับความรุนแรงของความเป็นอันตรายของสารเดี่ยวหรือสารผสม และแจ้งเตือนผู้อ่านให้ทราบถึงโอกาสในการเกิดอันตราย (Potential Hazard) ซึ่งแสดงอยู่บนฉลาก โดยจะมีอยู่ 2 ระดับด้วยกัน คือ 1) “อันตราย (Danger)” จะบ่งชี้ประเภทย่อยความเป็นอันตรายที่มีความรุนแรงมากกว่า และ 2) “ระวัง (Warning)” จะบ่งชี้ประเภทย่อยความเป็นอันตรายที่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยคำสัญญาณเหล่านี้จะสอดคล้องกับการจำแนกประเภทของแต่ละสารเดี่ยวหรือสารผสมที่อันตราย อย่างไรก็ดี ในบางกรณีก็อาจพบเจอว่าสารเคมีบางประเภทย่อยก็ไม่ได้ระบุคำสัญญาณ เหตุเพราะไม่ได้มีการกำหนดไว้หรือไม่มีความจำเป็น (เช่น Explosive, Division 1.6)

 

          3.3 ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard Statements หรือ H–statements) จะถูกใช้แทนที่ข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยง (Risk Phrases หรือ R–phrases) และให้ข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับชนิดของอันตรายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบรรยายถึงธรรมชาติที่เป็นและความรุนแรงของอันตรายด้วย โดยที่ H–statements หลายส่วนจะจจจจจมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันอย่างมากกับ R–phrases และในบางกรณีข้อมูลที่ให้ก็มีความแตกต่างกันน้อยมาก นอกจากนี้ H–statements บางส่วนอาจจะถูกใช้กับประเภทย่อยความเป็นอันตรายมากกว่าหนึ่งที่อยู่ภายใต้ประเภทความเป็นอันตรายนั้น ๆ ทั้งนี้ โดยลำพังแล้ว H–statements ไม่ได้บรรยายถึงการจำแนกประเภท จึงมีความจำเป็นที่ยังต้องมีการกล่าวถึงประเภทความเป็นอันตราย (Hazard Class) และประเภทย่อยความเป็นอันตราย (Hazard Catergory) ด้วย และนี่ก็เป็นความแตกต่างระหว่าง CLP กับ DSD/DPD ที่ R–phrases จะมีความเฉพาะเจาะจงกับการจำแนกประเภทมากกว่า

 

          ส่วนหมายเลขรหัสข้อความแสดงความเป็นอันตราย (H–statement Code Numbers) โดยปกติแล้ว จะแสดงอยู่ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) อยู่แล้ว แต่ก็อาจจะแสดงอยู่บนฉลากสำหรับเคมีภัณฑ์บางอย่างด้วย แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องระบุก็ตาม โดยหมายเลขรหัสข้อความแสดงความเป็นอันตรายจะสัมพันธ์กับประเภทความเป็นอันตราย 3 กลุ่ม ได้แก่ H200–H299 คือ กลุ่มอันตรายทางกายภาพ (Physical Hazards) เช่น H200 = วัตถุระเบิดที่ไม่เสถียร (Unstable Explosives), H300–H399 คือ กลุ่มอันตรายต่อสุขภาพ (Health Hazards) เช่น H300 = ถึงตายได้ถ้ากลืนกิน (Fatal if Swallowed) และ H400–H499 คือ กลุ่มอันตรายต่อสุขภาพ (Environment Hazards) เช่น H400 = เป็นพิษมาก (Fatal if Swallowed)

 

          3.4 ข้อความแสดงข้อควรระวัง (Precautionary Statements หรือ P–statements) จะถูกใช้แทนที่ข้อความแสดงคำแนะนำการจัดการอย่างปลอดภัย (Safety Phrases หรือ S–phrases) โดยที่ P–statements จะให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับมาตรการป้องกันที่จะใช้ในปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น) และข้อแนะนำในเรื่องของการจัดเก็บและการกำจัดที่ปลอดภัย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะช่วยลดหรือป้องกันผลกระทบที่เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้หรือดำเนินการกับสารเคมีของผู้ผลิต

               

          P–statements จะมีจำนวนที่มากกว่า S–phrases สำหรับผู้ผลิตที่จะเลือกใช้ และผู้ผลิตที่ต่างกันอาจจะเลือก P–statements ที่ต่างกันได้แม้จะเป็นสารเคมีตัวเดียวกัน ขึ้นอยู่ขนาดของบรรจุภัณฑ์ที่พวกเขาใช้ และการรับรู้ถึงวิธีการที่ลูกค้าจะใช้สารเดี่ยวหรือสารผสมของพวกเขา ซึ่งโดยปกติแล้ว จะมีการใช้ P–statements มากสุด 6 ข้อความที่อยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ เว้นเสียแต่ว่าเป็นสารเคมีที่มีความเป็นอันตรายเป็นการเฉพาะ ส่วน P–statements อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอาจจะรวมอยู่ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) สำหรับสารเคมี ทั้งนี้ หมายเลขรหัสข้อความแสดงข้อควรระวัง (P–statement Code Numbers) จะสัมพันธ์กับการดำเนินการใน 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ P100 คือ ข้อควรระวังโดยทั่วไป (General) เช่น P102 = เก็บให้ห่างจากมือเด็ก, P200 คือ ข้อควรระวังในการป้องกัน (Prevention) เช่น P201 = ต้องได้รับข้อแนะนำพิเศษก่อนใช้งาน, P300 คือ ข้อควรระวังในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Response) เช่น P314 = หากรู้สึกผิดปกติ ให้ปรึกษาแพทย์, P400 คือ ข้อควรระวังในการจัดเก็บ (Storage) เช่น P405 = จัดเก็บในสถานที่ที่ปิดล็อกได้  และ P500 คือ ข้อควรระวังในการกำจัด (Disposal) เช่น P501 = กำจัดสาร ภาชนะบรรจุตามข้อบังคับของท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศสากล

 

          3.5 หมวดฉลากเสริม (Supplementary Labeling Section) โดยส่วนหนึ่งของฉลากจะมีข้อความอื่น ๆ เพิ่มเติมที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบของ CLP แต่จะไม่ปรากฏอยู่ในระบบติดฉลากแบบ GHS ซึ่งข้อความที่เพิ่มเติมขึ้นมานี้ จะมีข้อความแสดงความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยง (Risk Phrases หรือ R–phrases) บางอย่างที่ไม่ครอบคลุมโดยระบบ GHS และยังมีข้อความบนฉลากที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสารผสมบางอย่างที่อยู่ภายใต้ DPD ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อมูลตามกฎระเบียบอื่น ๆ อีกที่อาจจะมีการระบุไว้ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compound: VOC) อย่างไรก็ดี ข้อมูลเสริมนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบที่แยกส่วนออกไปจากฉลาก ซึ่งจะทำให้ไม่ทันสังเกตว่าเป็นข้อมูลส่วนที่เสริมเข้ามา ดังนั้นจึงควรที่จะอยู่ใกล้กับข้อมูลที่เป็นส่วนบังคับของฉลาก ทั้งนี้ ก็จะมีหมายเลขรหัสข้อความเสริมที่แสดงความเป็นอันตราย (Supplementary Hazard Statement Code Numbers) ดังนี้ คือ

 

  • EUH001-EUH099 จะเป็นข้อความเสริมที่แสดงความเป็นอันตราย (Supplementary Hazards) หรือ Risk Phrases ที่อยู่ในระเบียบ DSD/DPD แต่จะไม่ปรากฏอยู่ในระบบ GHS
  • EUH201–EUH299 จะเป็นองค์ประกอบของฉลากเสริมสำหรับสารผสมบางอย่าง

 

********** ติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า*********

 

 

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• Responsible Production for Chemical Hazard Management, Lessons Learned from Implementation, UNEP 2013.
• Responsible Production Handbook, Introduction to the Responsible Production Guidance and Toolkit, UNEP 2010.
• Responsible Production Framework, UNEP 2009.
• UNEPs Handbook for Responsible Production (UNEP &AccountAbility 2009).
• Corporate Social Responsibility and Safety and Health at Work: Global Perpectives, Local Practices, Working on Safety Conference, Roros, Norway, 7–10 September, 2010.

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด