Macro Economic Outlook

เปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฟิลิปปินส์...ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ เดินไปด้วยความมั่นคง (ตอนที่ 2)

ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการตรวจสอบ สำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

 

 

 

ภูมิภาคอาเซียนนับว่า “เนื้อหอม” ที่สุดในเวลานี้ เนื่องจากเหล่าประเทศมหาอำนาจมองว่าอาเซียนเป็น “พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ” ทั้งทางการค้า การลงทุน รวมทั้งด้านความมั่นคง เพราะเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มี การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา (ASEAN-US Summit 2016) ขึ้นที่ เมืองรานโช มิราจ (Rancho Mirage) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

 

 

          โดยสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐอเมริกาให้เป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” เพราะนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา จีนเริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในอาเซียนมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงไทย จนทำให้สหรัฐฯ เริ่มกังวลในสถานภาพของตนเองว่าอาจจะสูญเสียความได้เปรียบในภูมิภาคนี้ไปให้กับจีน

 

 

 

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่เมืองรานโช มิราจ แคลิฟอร์เนีย

เป็นอีกภาพสะท้อนในการเดินหมากเพื่อปรับสมดุลอำนาจของสหรัฐกับจีนในภูมิภาคอาเซียน

ภาพจาก http://www.antaranews.com/en/news/103169/asean-us-summit-ends-with-sunnylands-declaration

 

 

          การประชุมสุดยอดผู้นำรอบนี้นับเป็นการ “ช่วงชิง” พื้นที่ในภูมิภาคอาเซียนที่สหรัฐฯ พยายามปรับสมดุลความสัมพันธ์กับอาเซียนให้มั่นคงมากขึ้น และยังพยายามชี้ให้เห็นว่าตนองยังเป็นแกนหลักในการสนับสนุนอาเซียนให้เจริญเติบโต ก้าวหน้าได้ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐฯ วางไว้เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว

 

          ในปี ค.ศ.2016 ยังมีมหาอำนาจอีกสองประเทศที่เข้าคิวรอประชุมสุดยอดกับกลุ่มผู้นำอาเซียน คือ รัสเซีย ที่จะจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-รัสเซีย (ASEAN-Russia Summit) ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค. โดยการประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งสำคัญที่รัสเซียจะหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ถูกกดดันอย่าหนักทั้งจากสหรัฐและอียู

 

          ต่อจากนั้น ในเดือนกันยายนจะมีการ ประชุมร่วมกันระหว่างอาเซียน-จีน (ASEAN-China Summit) ที่กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว การประชุมระหว่างอาเซียน-จีน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าอาเซียน คือ จุดยุทธศาสตร์สำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่จีนมองเห็นมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าอาเซียน คือ อนาคต และพวกเขาได้ใช้ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาตั้งแต่อดีตเป็นเครื่องยืนยันในความแนบแน่นของอาเซียนกับรัฐบาลปักกิ่ง

 

 

 

การประชุม ASEAN-China Summit เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นอิทธิพลของจีนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศชัดขึ้นเรื่อย ๆ

ภาพจาก http://www.nationmultimedia.com/new/2015/11/21/aec/images/30273458-01_big.jpg

 

 

          กลับมาที่เรื่องของเรากันต่อดีกว่าครับ สำหรับซีรีส์ชุด “ฟิลิปปินส์...ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ เดินไปด้วยความมั่นคง” ในตอนที่ 2 นี้จะเริ่มต้นเล่าถึงการเข้ามาของสเปนซึ่งปกครองฟิลิปปินส์นานกว่า 300 ปี

 

          สเปนจึงมีอิทธิพลต่อฟิลิปปินส์ชนิดที่เรียกได้ว่า “ฝังราก” ลึกลงไปทั้งทางด้านภาษา สังคม วัฒนธรรม แม้กระทั่งการตั้งชื่อ

 

          นอกจากนี้สเปนยังนำศาสนาคริสต์นิกาย “โรมันคาธอลิค” มาเผยแผ่ในฟิลิปปินส์จนทำให้ทุกวันนี้ฟิลิปปินส์มีคริสตศาสนิกชนมากที่สุดเป็นอันดับสองของทวีปเอเชีย...คริสต์จักรในฟิลิปปินส์นับเป็นสถาบันหลักอีกสถาบันที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง

 

 

ฟิลิปปินส์...ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ เดินไปด้วยความมั่นคง

 

          ย้อนหลังกลับไปช่วงเริ่มต้นล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 15-16 มหาอำนาจในยุคนั้น คือ โปรตุเกสและสเปน ทั้งสองชาติต่างช่วงชิงความเป็นใหญ่โดยอาศัยกองเรือสำรวจโลก โดยการค้นพบโลกใหม่ของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับราชสำนักสเปนและโปรตุเกสพยายามแสวงหาดินแดนใหม่ ๆ มาครอบครอง

 

          การแสวงหาดินแดนใหม่ นอกจากเป็นการแสดงแสนยานุภาพของราชอาณาจักรแล้ว ยังเป็นการแสวงหาทรัพยากรการผลิตที่มีค่าตั้งแต่ สินแร่ พืชผลทางการเกษตรที่ยุโรปปลูกไม่ได้ เครื่องเทศ รวมถึงทาส

 

          จุดเริ่มต้นที่ทำให้สเปนหันหัวเรือมาทางโลกตะวันออก เราต้องย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.1494 หลังจากที่สเปนและโปรตุเกสลงนามใน สนธิสัญญาทอร์เดซิลลัส (Treaty of Tordesillas) โดย พระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 6 (Pope Alexander VI) ได้เจรจาหย่าศึกความขัดแย้งของสองประเทศมหาอำนาจ และใช้เขตปักปันที่ว่าโปรตุเกสจะได้ทุกดินแดนทางด้านตะวันออกของเส้นที่แบ่งผ่ากลางจากมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนสเปนจะได้ส่งที่เป็นด้านตะวันตกของเส้น

 

 

 

การลงนามในสนธิสัญญาทอร์เดซิลลัส ทำให้ทั้งสเปนและโปรตุเกสต่างมุ่งหน้าล่าอาณานิคมตามข้อตกลงที่วางร่วมกันไว้

เป็นเหตุผลที่กองเรือสเปนมุ่งสู่เอเชียและค้นพบฟิลิปปินส์ในที่สุด

ภาพจาก https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/736x/52/3c/40/523c4091a7c1d4954f34faf666dd7618.jpg

 

 

          สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้มหาอำนาจทั้งสองต่างหันหัวเรือมุ่งหน้าแสวงหาอาณานิคมโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การหาเครื่องเทศซึ่งเป็นของมีค่าในยุคนั้น รวมทั้งเผยแพร่คริสต์ศาสนา

 

          ด้วยเหตุนี้กองเรือสเปนจึงแล่นใบออกมาค้นหาโลกใหม่ และพบฟิลิปปินส์ในที่สุด โดยในเวลานั้นนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่อีกคน คือ เฟอร์ดินานด์ มาเจลเลน (Ferdinand Magellan) คือ บุคคลสำคัญที่มีส่วนค้นพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์ก่อนที่จะถูกชนพื้นเมืองฆ่าตาย

 

 

 

เฟอร์ดินานด์ มาเจลเลน (Ferdinand Magellan) อีกหนึ่งตำนานนักสำรวจโลกที่มีชื่อเสียงไม่แพ้โคลัมบัส

มาเจลแลนแล่นเรือมาพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์และเขาต้องจบชีวิตลงที่แห่งนี้

ภาพจาก https://lordsofthedrinks.files.wordpress.com/2015/06/magellan.jpg

 

 

          ในปี ค.ศ.1543 รุย โลเปส เดอ บิยาโลบอส (Rhuy-Lopez de Villabos) ได้ตั้งชื่อหมู่เกาะใหม่ที่ มาเจลแลนพบว่า เฟลิปปินา (Felipina) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น ฟิลิปปินส์ (Philippines) ทั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้กับเจ้าชายฟิลิป มกุฏราชกุมาร องค์รัชทายาทแห่งสเปน

 

 

 

มกุฎราชกุมารแห่งสเปน เจ้าชายฟิลิปที่ 2 ชื่อของพระองค์ได้กลายมาเป็นชื่อของฟิลิปปินส์

ภาพจาก http://cpcabrisbane.org/Kasama/2003/V17n3/ColonialName.htm

 

 

          กองเรือสเปนค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามายึดครองฟิลิปปินส์จนกระทั่งสามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในปี ค.ศ.1571 หลังจากที่สเปนได้ยึดหมู่เกาะลูซอนและสถาปนาให้ เมืองมะนิลา เป็นเมืองหลวงของฟิลิปปินส์

 

          การใช้กองเรือที่ทันสมัยทำให้สเปนสามารถเอาชนะศึกกับชนพื้นเมืองได้ไม่ยากเย็นนัก

 

 

 

กองเรือสเปนพร้อมอาวุธที่ทันสมัยค่อย ๆ รุกคืบฟิลิปปินส์

และสามารถยึดครองได้ในที่สุดทำให้ฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมของสเปนมากกว่า 300 ปี

ภาพจาก http://www.explorer-philippines.com/beta/philippine-history/

 

 

          อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วนะครับว่า สิ่งที่สเปนต้องการ คือ เครื่องเทศ เมื่อสามารถยึดครองหมู่เกาะเหล่านี้ได้แล้ว สเปนจึงมีสิทธิผูกขาดในการค้าเครื่องเทศ ขณะเดียวกันพวกเขาก็แผ่ขยายอิทธิพลของคริสต์จักรให้คนพื้นเมืองได้หันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคด้วย

 

          เมืองมะนิลา ในศตวรรษที่ 16 กลายเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าที่เชื่อมทั้งราชสำนักจีน เกาะริวกิว ไต้หวัน รวมถึงญี่ปุ่น ทำให้ช่วงเวลานั้นชาวจีน ญี่ปุ่น เข้ามาทำมาค้าขายในมะนิลาเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันสเปนนำแร่เงิน ทองคำจากเม็กซิโกและเปรูเข้ามาค้าขายด้วย

 

          พูดง่าย ๆ คือ ความสำเร็จในการล่าอาณานิคม นอกจากจะสามารถแสวงหาวัตถุดิบราคาถูก ส่งป้อนประเทศเมืองแม่แล้ว การล่าอาณานิคมยังเป็นที่ระบายและแลกเปลี่ยนสินค้าจากดินแดนอาณานิคมอื่นด้วย

 

          นอกจากการแสวงหาเส้นทางผูกขาดการค้าเครื่องเทศแล้ว สเปนยังใช้ศาสนาคริสต์เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครอง “โน้มน้าว” ให้คนพื้นเมืองหันมาเข้ารีต

 

          ราชสำนักสเปนใช้กลวิธีโดยให้สันตะปาปาตั้งมะนิลาเป็นศูนย์กลางของคณะบาทหลวง มี อาร์ค บิชอบ (Arch Bishop) เป็นประมุข

 

          การส่งมิชชันนารีเข้ามาผูกมิตรกับชาวพื้นเมืองทำให้การขยายตัวของคริสต์จักรนิกายโรมันคาธอลิคเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในอดีตนั้น ชนพื้นเมืองนับถือพ่อมดหมอผี แต่การมาของศาสนาคริสต์ซึ่งมีระบบการจัดการที่ดีกว่า สามารถสร้างความศรัทธาให้กับชาวพื้นเมืองได้มากกว่า

 

          ท่านอาจารย์ ดร.วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์สรุปไว้น่าสนใจว่า

 

          “การนำคริสต์ศาสนาเข้ามาเผยแผ่ให้แก่ประชาชนเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สเปนเข้าปกครองฟิลิปปินส์ได้โดยไม่ต้องทำสงครามมากนัก การทำให้ประชาชนศรัทธาในคริสต์ศาสนานำมาซึ่งการยกดินแดนให้วัดและยอมให้สเปนเข้ามาปกครองในฐานะผู้อุปถัมภ์ในศาสนาคริสต์”

 

          สเปนปกครองฟิลิปปินส์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจการค้า และด้านศาสนจักร แน่นอนว่า สเปนได้วางกลไกเอารัดเอาเปรียบชนพื้นเมืองผู้ถูกปกครอง เช่น การวางระบบ เอ็นโคเมียนดา (Encomienda) ที่เป็นระบบศักดินาโดยเจ้าศักดินาสามารถเรียกเก็บผลประโยชน์บุคคลผู้เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ตนเองและแฝงเงื่อนไขว่าผู้เข้ามาทำมาหากินต้องนับถือคริสต์โรมันคาธอลิค

 

          การวางระบบศักดินาเช่นนี้ มิได้มีแค่เพียงขุนนางชาวสแปนิชที่ถูกส่งมาปกครองเพียงอย่างเดียว หากแต่บาทหลวงในศาสนจักรก็มีอิทธิพลที่สามารถขูดรีดแรงงาน ผลผลิตส่วนเกินและสั่งสมความมั่งคั่งไว้

 

          การขูดรีดของเจ้าอาณานิคมจึงกลายเป็น “ฝันร้าย” ของคนพื้นเมืองที่ต้องทนถูกกดขี่ รับใช้ชาวสเปน

 

 

 

Indios เป็นชื่อที่ชาวสเปนเรียกชนพื้นเมืองฟิลิปปินส์ พวกเขากดขี่ข่มเหงชนพื้นเมืองเยี่ยงทาสจนในนำไปสู่การสั่งสมความคับแค้นและก่อตัวเป็นขบวนการชาตินิยมในที่สุด

ภาพจาก http://cpcabrisbane.org/Kasama/2003/V17n3/ColonialName.htm

 

 

          สเปนยังวางกฎระเบียบที่กีดกันชนพื้นเมืองไว้เคร่งครัด ตั้งแต่ ไม่อนุญาตให้ชาวพื้นเมืองเข้ารับราชการ ไม่ให้มีโอกาสได้รับการศึกษา ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต้องเสียภาษีในอัตราที่รัฐบาลกำหนดและถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาสติดที่ดิน

 

          สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความโหดร้ายที่สเปนกระทำต่อชนพื้นเมือง การกดขี่ได้สั่งสมให้ชาวปินอยมีความอดทนและพร้อมลุกขึ้นสู้หากมีโอกาส

 

          อย่างไรก็ดี ขบวนการชาตินิยมในฟิลิปปินส์เริ่มก่อตัวอย่างเงียบ ๆ ในช่วงศตวรรษที่ 19 คนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาเริ่มซึมซับอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อโค่นล้มผู้ปกครองที่ข่มเหง

 

          ขบวนการชาตินิยมจะเริ่มต้นอย่างไรนั้น ไว้ฉบับหน้าเรามาว่ากันต่อนะครับ

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด