DJ Clubs Corner's

Ghost Producers เทวา หรือ ซาตาน...?

กึกก้อง บุนนาค (Dj.KKB)

 

 

ผมมีบทความหนึ่งที่ไปอ่านมาในอินเตอร์เน็ต พออ่านจบผมพูดกับตัวเองเลยว่า จะต้องแปลเรื่องนี้ไปลงให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันให้ได้ อ่านแล้วชอบมาก ถึงบางช่วงจะแรงแต่ผมว่าเค้าตอบได้ค่อนข้างชัดเจน และตรงประเด็นมากๆ อาจจะมีศัพท์เทคนิคและสแลงบ้าง แต่ผมก็พยายามอ่านหลายๆ รอบเพื่อทำความเข้าใจองค์รวม และนำมาแปลให้อ่านกันแบบง่ายๆ นะครับ ไปอ่านก่อนแล้วเดี๋ยวเราค่อยมาคุยกัน…

  

 

          นี่เป็นบทความที่สัมภาษณ์ Ghost Producers คนหนึ่งในประเทศอังกฤษ ซึ่งคนที่ไปสัมภาษณ์นั้นมีความพยายามเป็นอย่างมาก ที่จะสัมภาษณ์คนในวงการนี้ แต่ไม่มีใครสนใจที่จะให้ข้อมูล แถมเบือนหน้าหนีกันหมด ไม่ว่าจะตื๊อยังไงจะขอโอกาสแค่ไหนก็ไม่มีใครตอบรับ จนสุด ท้ายก่อนจะสิ้นหวัง ก็มีคนๆหนึ่งติดต่อมา สงสัยว่าชายคนที่จะสัมภาษณ์จะเอาเรื่องไปทำอะไร และพอทราบก็ยินดีที่จะให้สัมภาษณ์ โดยขอปิดชื่อผู้ให้สัมภาษณ์และบุคคลต่างๆที่อ้างอิงเป็นความลับ โดยชายคนนี้เคยเป็นดีเจประจำในคลับชั้นนำในอิบิซ่ามาก่อน และปัจจุบันทำเพลงให้กับดีเจระดับแนวหน้าของโลก (1 ใน 5 ของ DJ Mag Top 100) มีเพลงไต่ขึ้นอันดับ 1 ของ Beatport chart มากมาย... ลองไปฟังกันครับ...

 

 

          ถาม :   “ งั้นคุณก็คือ ghost producer จริงๆ หนะสิ ”

 

          ตอบ :   ครับ... และคุณจะแปลกใจว่ามีคนทำงานในวงการนี้มากขนาดไหน ทำงานให้คนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง เงินมันดีจะตายคุณ…

 

          ถาม :   “ ยากมั๊ยครับ ผมเห็นมีบางเว็ปไซต์ที่รับจ้างทำเพลง คิดค่าทำประมาณ 3500 บาทต่อแทร็กเองเหรอ..? คุณแค่ทำให้มันผ่านๆ ไป โดยไม่สนรายละเอียดหรือตัวเพลงเลยงั้นสิ..? ” (ขอคำนวนคร่าวๆเป็นเงินไทยให้ตลอดบทความนะครับเพื่อความต่อเนื่อง "

 

          ตอบ :   อย่าเข้าใจผมผิดสิ จริงอยู่มันมีหลายบริษัทนะที่ทำแบบมั่วๆซั่วๆ ปั่นไอเดียหยาบๆ ขายให้ลูกค้า แต่แบบนั้นมันห่างกับผมเป็นโยชน์เลย งานและราคาของผมต่างกันไปตามสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะส่งบางอย่างมาให้ผม อย่างเช่น โครงสร้างและคาแรกเตอร์ของ bass line แบบคร่าวๆ เพื่อที่ผมจะได้ลองใส่เมโลดี้ลงไป ซึ่งผมอาจจะขอเพลงตัวอย่างที่เค้าอยากจะให้เป็นแบบนั้น เพื่อที่ผมจะได้มองออกว่า เค้าอยากได้ซาวน์แบบไหน และถ้าไอเดียพื้นฐานมันยังคลุมเครือ มันก็จะเป็นหน้าที่ผมในการทำให้มันเป็นเพลงขึ้นมา โดยการเติมท่วงทำนองนิด ใส่เสียงนู้นเสียงนั้นอีกหน่อย เพื่อที่จะได้อย่างที่ลูกค้าชอบ…

 

          ถาม :   “ งั้นถ้าใครที่มีไอเดียอยู่ในหัวและสามารถจัดการทุกอย่างให้มันสมบูรณ์แบบได้หมดเค้าก็ไม่ต้องจ้างคนแบบคุณสินะ...? ”

 

          ตอบ :   ก็ใช่นะ... อย่างถ้าคุณเป็นนักร้องและเล่นกีตาร์แต่อยากทำเพลง คุณก็อาจจะไม่ได้มีทักษะในการแกะเบส เรียบเรียง และการอัดเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ คือคุณอาจมีไอเดียไง แต่คุณไม่ได้เล่นเครื่องดนตรีเป็นทุกตัวหนิ...

 

 

          ถาม :   “ มันคือการรวมทุกสิ่งเข้าด้วยกัน...? ”

 

          ตอบ :   ถ้าพูดถึงในแง่วงดนตรีสดนะ แต่ในโลกของเพลงอิเล็กทรอนิกส์คุณทำแบบนั้นไม่ได้ (หมายถึง เอาคนที่เก่งแต่ละอย่างมารวมกัน แล้วอัดเพลง) ทุกอย่างมันจะต้องรวมอยู่ในตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการแต่ง เรียบเรียง คีย์เพลง มิกซ์แทร็ก มาสเตอริ่ง และอาจจะหลายครั้งด้วยที่คนคาด หวังให้คุณเป็นทั้งค่ายเพลง หรือแม้แต่วางแผนการตลาด ซึ่งถ้าเกิดคุณกำลังทำโปรเจ็กต์อยู่ มีไอเดียดีๆแต่มีงานเยอะแยะที่จะต้องทำ ทำไมถึงจะไม่อยากจ้างใครซักคนไว้ช่วยคุณหละ...?

 

          มีหลายคนอยากเป็นดีเจที่เก่ง และแต่งเพลงเก่งด้วยทั้งสองอย่าง และถ้ายิ่งมันทำให้คุณได้ตังค์ใช้ มีงานเข้ามาเยอะ และไปได้สนุกกับ DAW ของคุณ (DAW = Digital Audio Workstation ใช้แต่งเพลง) ตามตรรกะที่ว่ามานี้ ผมก็คิดว่าคุณควรหาโปรดิวเซอร์ดีๆซักคนคอยช่วยคุณ จริงๆเข้ามาหาผมก็ได้นะ มาจับเข่าคุยกันดูว่าผมช่วยอะไรได้บ้าง หรือจะเรียนรู้อะไรได้จากตรงนี้ แต่ส่วนใหญ่มันไม่ค่อยได้เกิดขึ้นหรอก...

 

          ถาม :   “ แล้วถ้ามีลูกค้าเอาไอเดียที่มันห่วยโคตรๆ มาหาคุณหละ...? ”

 

          ตอบ :   ผมจะบอกเค้าไปตรงๆเลยว่าผมไม่ทำให้ ผมจะทำงานเฉพาะกับคนที่ผมชอบและชื่นชมจากผลงานที่ผ่านมาของเค้า ผมโชคดีตรงที่อยู่ในฐานะที่ผมตั้งกฏเกณฑ์จุกจิกได้ ถ้ามีคนส่งงานเละๆมาให้ ผมจะบอกไปเลยว่ามันจะไม่มีทางเกิดขึ้น และเป็นอย่างที่เค้าคิดแน่นอน ถ้าเค้าอยากจะมีชื่อเข้าไปอยู่ใน Beatport Top 100 เค้าก็ต้องตั้งใจฟังจริงๆว่า Top 100 ต้องการแบบไหน และเพลงแบบไหนที่ทำแล้วจะไปอยู่บนนั้นได้...

 

          ถาม :   “ คุณเคยเห็นศิลปินที่คุณทำแทร็กให้ ไปกร่างหน้าจอโทรทัศน์หรือบนโซเชียล แล้วบอกว่าพวกเค้าทำแทร็กนั้นด้วยตัวเองล้วนๆ มั๊ย...? ”

 

          ตอบ :   ก็ไม่ค่อยนะ... พวกที่ผมร่วมงานด้วยเป็นคนสุภาพ และเมื่อแทร็กที่ผมทำให้เค้าประสพความสำเร็จ เค้าก็ไม่เคยที่จะมาทำอะไรที่เป็นการหักหน้าผม…

 

          ถาม :   “ แล้วถ้าทำหละ...? ”

 

          ตอบ :   ไม่รู้สินะ... ผมไม่ค่อยแคร์เท่าไหร่อ่ะ... อาจจะชินมั๊ง... อย่างมีอยู่แทร็กนึงที่ติด UK top 40 เค้าใช้ loops จาก sample packs ที่ผมรับ จ้างทำให้กับบริษัทๆนึง ศิลปินแนว drum&bass ที่รู้จักกันดีเลย (อธิบายนิดนึงครับเกี่ยวกับการทำเพลง เราสามารถสร้าง loop ขึ้นมาเองได้ในซอฟต์แวร์ทำเพลง ซึ่งใน loop หนึ่งอาจประกอบไปด้วยเสียงกลอง, hihat, snare, clap หรืออะไรก็ว่าไป ทำมาสำเร็จรูปก้อนหนึ่งอาจจะ 4 บาร์ พอทำเสร็จก็อาจจะเซฟและตั้งชื่อ loop ไว้แล้วเรียกมาใช้โดยการ copy&paste ลงในโปรเจกต์เพลงที่เราทำ แต่มือใหม่ที่ยังทำไม่เป็นก็สามารถไปหาซื้อ sample packs ต่างๆมาได้ครับ ซึ่งข้างในก็จะมี loops มากมายให้เลือก พอได้มาแล้วก็เอามาปรับแต่ง ภาษาคนทำเพลงเรียกว่าเอามา ”บิด” ไม่ให้มันเหมือนต้นฉบับ เพื่อที่จะได้ไม่ไปซ้ำกับคนที่เอา loop นี้มาใช้เหมือนกัน ผมว่าเพลงที่แกอ้างถึงอาจจะบิดน้อยไปหน่อยมันก็เลยดูเหมือนแทบจะไม่ได้บิดมา – ผู้เขียน)

 

          ถาม :   “ แล้วคุณเคย ghost produce เพลงแนว drum&bass หรือ dubstep บ้างมั๊ยครับ...? ”

 

          ตอบ :   ไม่ครับ... มันเป็นแนวที่ผมรักและชอบเอามาทำเล่นๆในสตูดิโอ เพราะความอยากรู้และหลงรักในซาวด์ของมันมากกว่า แต่มันไม่ใช้สิ่งที่ผมเอามาทำจริงๆจังๆ หรือถูกขอให้ทำ ความยากในการทำและการมิกซ์ดาวน์มันอยู่เหนือกว่าระดับทั่วไป นอกเสียจากว่าคุณจะง่วนอยู่กับมัน 24 ชั่วโมงต่อวัน / 7 วันต่ออาทิตย์

 

          ผมรู้จักนะ ghost producer ที่ทำเพลงแนวนี้ให้กับศิลปิน แต่มันห่างไกลคำว่าดังมากเลย เพราะอะไรรู้มั๊ย เพลง drum&bass หรือ dubstep นี่วัดกันที่การออกแบบซาวน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะจริงๆ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา dubstep ผลักดันให้วงการซาวด์ดีไซน์ข้ามขึ้นไปอีกระดับ และการที่จะให้ใครซักคนทำแทร็กให้คุณ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย

 

 

          ถาม :   “ เห็นชัดว่าที่เราคุยกันเรื่อง ghost producer เป็นเพราะ dj mag top100 หยิบยกมันขึ้นมาพูดอีกครั้ง หลังจากที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นมาเป็นปีๆ คุณคิดว่ามันจะเปลี่ยนไปไหม จากนี้จะเป็นยังไงต่อ...?

 

          ตอบ :   พูดไปก็เหมือนพายเรือในอ่าง คุณ ใครๆ ต่างก็มี ghost writer หรือ ghost producer กันทั้งนั้นแหละ นักร้องบิ๊กเนมหรือวงดังๆก็ไม่ได้ร้องเพลงตัวเองทุกครั้งซะหน่อย ยิ่งในวงการ EDM ใหญ่ๆในช่วงนี้ ยิ่งแสดงความชัดเจนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ มันมีความเลวร้ายซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง อย่างป๊อปสตาร์บางคนที่ไม่ได้มีเพลงของตัวเอง ไม่ได้โปรดิวซ์งานเอง หรือปรับแต่งซาวด์ หลายคนลิปซิงค์เอาตอนที่เค้าบอกคุณว่าแสดงสดด้วยซ้ำ นั่นแหละคือความจริงของอุตสาหกรรมนี้ที่เป็นมานับหลายปี มันเป็นรูปแบบฟอร์มต่างๆที่ใช้กันอยู่เบื้องหลังในวงการนี้ ซึ่งมาจากวัฒนธรรมดนตรีป๊อป ที่ตอนนี้ลามมาอยู่ในวัฒนธรรมดนตรีเต้นรำ…

 

 

 

          ถาม :   “ ถ้างั้นผู้คนที่โกรธเกรี้ยวเกี่ยวกับ ghost producer ก็ทำอะไรไม่ได้เลยเกี่ยวกับเรื่องนี้...? ”

 

          ตอบ :   ชัวร์... ในระดับล่างๆ ศิลปินส่วนใหญ่ที่บอกทำเพลงเอง โปรดิวซ์เองมันจริงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง แต่กลับกันกับศิลปิน EDM บิ๊กเนมที่ถึงแม้จะยอมรับกับสาธารณชนว่าไม่ได้ทำเพลงเอง แต่คนก็ยังมาคอยดูเค้าเหมือนพวกนักร้องป๊อปสตาร์ที่ผมบอกไปนั่นแหละ…

 

          ถาม :   “ แต่บรรดาแฟนๆของศิลปินเหล่านี้ รู้สึกเหมือนเค้าโดนหลอก...”

 

          ตอบ :   ก็อาจใช่นะ... อาจดูเหมือนโดนหลอกแต่ก็ไม่ต่างกับคนอื่นๆเท่าไหร่หรอกในธุรกิจดนตรีที่ผมเอ่ยถึง มันก็แค่ส่วนหนึ่งของการเชิดชูแวดวงคนดังที่ทุกๆวันนี้เป็นกันอยู่... ให้ตายสิ... คิดดูว่าคนยอมจ่ายตังค์เข้าไปในคลับ เข้าไปดูใครที่ไหนไม่รู้ที่อาจจะดังมาจากซีรี่ส์เล็กๆ หรือดังมาจากคลิปในยูทูป หรือเน็ตไอดอล มันก็คือๆกันนั่นแหละ คนยอมจ่ายตังค์หนักๆเพื่อที่จะได้ไปใกล้ชิดคนดังที่ตัวเองชื่นชอบแล้ว ทำไมคนดังเหล่านั้นจะไม่จ่ายตังค์เพื่อให้ได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้หละ...? คล้ายอะไรหละ…? 99 เปอร์เซนต์ของศิลปินดังๆสังเกตมั๊ยว่า ดูดี ดูเนี๊ยบ ผมไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยนะ ตรงกันข้ามเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้าศิลปินไม่ว่าจะแนวไหนก็ตามก้าวขึ้นมาจากพรสวรรค์ล้วนๆเหมือนกันหมด อุตสาหกรรมดนตรีคงจะดูต่างไปจากนี้มากๆเลยหละ

 

          ถาม :   “ ว้าว... คุณถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมดนตรีป๊อปได้กระจ่างแจ๋วมาก เอาหละทีนี้กลับมาที่โลกของ EDM บ้าง ผมว่าดีเจดังๆส่วนใหญ่ก็ดูธรรมดาๆ ไม่ได้หล่อบาดตาซักเท่าไหร่นี่…?”

 

          ตอบ :   ใช่... ไม่ได้หล่อ ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องสำคัญพอดู แต่เอาจริงๆนะ ผมคิดมาตลอดในแง่ของผม ว่าพวกเค้าเป็นเหมือนตัวตลกในคณะละครสัตว์มากกว่า เหมือนกับคุณจ่ายเงินจ้างมาเพื่อเอนเตอร์เทนฝูงคน ทำให้พวกเค้ายิ้ม หัวเราะ มีความสุข นี่คือสิ่งหลักๆที่ต้องทำจริงๆ โปรโมเตอร์หรือผู้จัดงานไม่แคร์ด้วยซ้ำ ว่าดีเจจะเล่นด้วยมิกซ์เทปที่อัดมาแล้วรึเปล่า ตราบใดที่บัตรขายหมด ผมถึงเลิกเป็นดีเจเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็ไอ้เพราะนโยบายตัวตลกสวนสัตว์นี่แหละ...

 

 

          ถาม :   “ นี่เราไม่ได้ว่าใครคนใดคนนึงใช่มั๊ย...? ”

 

          ตอบ :   อ๋อ... ไม่ๆๆ.... ดีเจที่มีพรสวรรค์จริงๆก็มีเยอะ อย่าง James Zabiela นี่ผมก็ชอบ เค้าเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แต่ก็ยังคงความเป็นดนตรีไว้ได้ หรืออย่าง Sonny Wharton หมอนี่ก็เจ๋ง พอผมฟังเซ็ตของเค้าจบ ผมนี่เหมือนตกอยู่ในภวังค์เลย ใช่แล้วศิลปินดีๆยังมีอีกเยอะแต่หลายคนก็สูญเสียความเป็นตัวตนไปเยอะ

 

          ถาม :   “ กลับมาที่เรื่องการผลิต ผมจำได้ว่าคุณบอกคุณสร้างแทร็กนึงได้ในเวลาแค่วันเดียว อันนี้คือเบ็ดเสร็จทุกขั้นตอนเลยเหรอ...? รวม mixdown แล้วก็ทุกอย่าง...? ”

 

          ตอบ :   ส่วนใหญ่นะ... เพราะผมเป็น mix engineer อยู่แล้ว (ขั้นตอนสุดท้ายในการปรับซาวด์เพลง) ผมก็จะปรับซาวด์ควบคู่กันไปในตัว พอผมทำแทร็กมาจนถึงช่วงมิกซ์ดาวน์ ซึ่งเป็นช่วงก่อนสุดท้ายแล้ว ผมก็จะไปพักหูเสียหน่อย อย่างถ้าเริ่มทำตอน 9 โมงเช้าเบสิกแทร็กก็จะเสร็จประมาณบ่าย 2 ครึ่ง ผมก็จะวางมือไปทำอย่างอื่นก่อน และกลับมาตอนที่หูผมมันเริ่มเข้าที่เข้าทางถึงจะจบแทร็ก แต่ถ้าคุณทำมันไปควบคู่กันตั้งแต่แรก มันก็แทบจะไม่ต้องทำอะไรมากแล้วหละ...

 

          ถาม :   “ โอเค... เข้าใจแล้วปกติคุณคิดราคายังไงในการทำเพลง...? ”

 

          ตอบ :   แต่ละแทร็กก็จะแตกต่างกันไปนะ ในการเป็น ghost producer คุณก็ต้องคาดการณ์ด้วยว่าแทร็กนั้นมันจะไปได้สวยแค่ไหน จะเอาแบบจ่ายค่าทำแทร็ก 2000 บาท แล้วจ่ายค่าลิขสิทธิ์ 2 ล้าน หรือจะเอาแบบจ่ายทีเดียว 4 แสนไม่มีค่าลิขสิทธิ์ แต่มีสิทธิ์จะเสียรายได้จากการเก็บค่า ลิขสิทธิ์ 8 ล้านหละ...?

 

          ถาม :   “ โอ้โห...! ”

 

          ตอบ :   อย่างศิลปินใน DJ Mag top 10 ขอให้ผมทำให้แทร็กนึง แล้วผมรู้เลยว่าเพลงนี้มันต้องวิ่งขึ้นไปอยู่บน Beatport top 10 อย่างไม่ต้องสงสัย ผมก็จะคิดค่าทำถูกหน่อย แต่จะไปต่อรองในส่วนของ เครดิต, ค่าลิขสิทธิ์, การทำ mastering และ PRS และต่างๆในส่วนของสัญญา (PRS ผมไม่แน่ใจเพราะตัวย่อนี้แปลได้หลายอย่าง แต่ที่ใช่ที่สุดน่าจะมาจาก Piracy Risk Surcharge หรือค่าความเสี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ครับ... ผู้เขียน) หรืออย่างบางคนมาหาผมแล้วบอกว่ามีพวกงาน festival จะจ้างไปเปิด แต่ขอให้มีเพลงขึ้นชาร์ท beatport ที่มีชื่อเค้า ไม่ต้องดังมากก็ได้ขอแค่มีก็พอ มาแบบนี้ผมก็ไม่ต้องไปต่อรองหรือเจรจาอะไรให้เสียเวลา ผมก็แค่บอก มาๆ เอาตังค์มาซักหน่อยเดี๋ยวพี่ทำให้ แล้วน้องเอาเพลงไปเลย...

 

          ถาม :   “ ความรู้ด้านกฎหมายก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับ ghost producer สินะครับ...? ”

 

          ตอบ :  มันจำเป็นสำหรับทุกคนที่อยู่ในวงการนี้เลยละคุณ ผมอาจจะเป็นนักทำเพลงที่อาจจะไม่มีตัวตน แต่ก็ยังต้องใส่ใจในรายละเอียดของสัญญาอยู่ดี ดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Deadmau5 และ Play ดูสิ (คร่าวๆแล้วกันนะครับ Deadmau5 เคยทำเพลงกับค่าย Play หลายปีก่อนหน้านี้ แล้วออกมา แต่ค่าย Play ยังคงเอาเพลงเก่าของ Deadmau5 ที่ทำกับค่ายไปให้ศิลปินอื่นทำรีมิกซ์ออกมาเรื่อยๆ จนฟ้องร้องกันอยู่จนถึงปัจจุบันเพราะรายละเอียดของสัญญาไม่เด็ดขาด... ผู้เขียน) คุณคงไม่อยากเห็นแทร็กเก่าๆของคุณมาทำการตลาดใหม่และวางขายบน Beatport หรอกใช่มั๊ยหละ…? ฉะนั้นโปรดิวเซอร์ทุกคนควรระวังในเรื่องนี้ และน่าจะมีข้อในสัญญาว่า ทางค่ายจะไม่นำเสียงต่างๆในเพลงในแทร็กที่ทำขายไปแล้วในระยะเวลาที่กำหนด กลับมารื้อทำใหม่อีก…

 

          สิ่งที่สำคัญก็คือ ทุกคนควรรู้ว่าเค้าทำเพลงออกมาเพื่ออะไรและใคร, มันจะถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง และมันจะทำเงินให้กับคนอื่นๆในวัฐจักรนี้ได้ยังไง ยกตัวอย่างเช่น เวลาผมทำ loops ใส่ลงใน samplepacks ที่เราคุยกันก่อนหน้านี้ ผมรู้ว่าผมจะไม่ได้อะไรซักแดงเดียวนอกเหนือจากค่าจ้างที่ลูกค้าจ้างให้ทำ แต่ผมโอเคเพราะมันอยู่ในสัญญาที่เซ็นไปไง...

 

 

 

          ถาม :   “ คำถามสุดท้ายแล้วกันนะครับ... ถ้างั้นโปรดิวเซอร์หรือศิลปินที่คิดจะทำเพลงโดยมี ghost producer ร่วมทำด้วย ควรตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาจากการที่เค้าขายอะไร และขายให้ใคร ด้วยอย่างนั้นใช่มั๊ยครับ…?

 

          ตอบ :   ถูกต้องที่สุด... สิ่งนึงที่มันกวนใจผมมาตลอดเวลา ผู้คนถกกันเรื่อง ghost producer นั่นก็คือไอ้คำว่า “ขายวิญญาณ” (เค้าใช้คำว่า sell out ซึ่งหมายถึง ศิลปินที่เปลี่ยนแนวทางของตัวเอง เพื่อให้ได้ยอดขายมากๆ ได้เงินมากๆ โดยไม่สนใจฐานแฟนเพลง ซึ่งผมว่าคำว่า ขายวิญญาณ น่าจะหมายถึงแบบนี้ครับ... ผู้เขียน) ผมบอกเดี๋ยวนะ ผมไม่ได้ไขว่คว้าหาชื่อเสียงหรือวาสนา ไม่เคยคิดเลยด้วยซ้ำ ผมก็แค่คนที่รักดนตรีเต้นรำอย่างหัวปักหัวปำ รักเครื่องไม้เครื่องมือและการทำเพลง สิ่งที่ผมรักอยู่ในห้องอัด และนั่นคือสิ่งที่ผมใช้หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง สำหรับผม ไอ้คำว่า ขายวิญญาณ คือ “ใครที่ทำอะไรบางอย่างที่ตัวเองไม่ได้รัก เพื่อเงิน” แต่งานผม mix engineer, sound designer และ ghost producer ได้เงินมาทำห้องอัดดีๆ, ซื้อเครื่องทำซาวน์แจ่มๆ และชีวิตแบบสุขสบาย ผมว่าคำว่า ขายวิญญาณ ไม่ได้ใกล้เคียงเลยนะ...

 

 

 

... ขอบคุณบทความ An Interview With A Ghost Producer จากเว็ปไซต์ UKF.com

  

          อ่านจบแล้วต้องยอมรับเลยว่า กระแทกได้โดนทุกดอก โดยเฉพาะคำที่ว่า ตัวตลกในคณะละครสัตว์ บอกตรงๆว่าเจ็บจี๊ด แต่มันก็จริงอย่างที่เค้าพูดครับ หลังๆมานี่ตามงาน festival ดีเจต้องพูดทุกคนจะมากจะน้อยก็แล้วแต่ แล้วเรื่องที่ทำมิกซ์เทปมาเปิดมันก็เป็นประเด็นกันมานานแล้ว คือทุกเรื่องมันคือเรื่องจริงหมด เหมือนอย่างที่บ้านเรามีนักร้องหน้าตาดี บางคนเป็นนักมวยด้วยซ้ำ แต่จับมาร้องเพลงในยุคนึง ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงมันก็หลัก demand&supply ครับ คือถ้ามีคนต้องการฟังยังไงก็ขายได้ แต่ถ้าไม่มีมันก็หายไปเอง อย่างประเทศนึงในเอเชียที่ผลิตนัก ร้องกรุ๊ปแบนด์ส่งออก จนแทบจะเป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งถ้าไม่มีคนตอบรับมันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะออกมามากมายขนาดนี้ แต่นี่คนตอบรับกันล้นหลาม ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับบทความนี้ บอกว่ามันคือธุรกิจในวงการเพลง ผมมองว่าไม่มีใครผิดใครถูกครับ ตราบใดที่มีคนต้องการ ก็ย่อมมีคนสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่เลือกได้คือตัวเราครับ ว่าจะเลือกเสพเลือกชอบแบบไหน และถึงแม้คนอื่นจะเลือกไม่เหมือนเรา ก็ไม่ได้หมายความว่าเค้าผิด แต่มันเป็นความสุขของเค้า ผมว่ามันคือพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันนะ...

               

          ก่อนจะจากกันไปในฉบับนี้ ก็ขอฝากท่านผู้อ่านไว้นิดนึงนะครับว่า วงการดีเจบ้านเรากำลังเติบโต มีโปรดิวเซอร์รุ่นใหม่เติบโตขึ้นมากมาย ถ้าท่านฟังแล้วชอบก็โปรดสนับสนุนด้วยนะครับ อย่างน้อยถึงไม่ได้ซื้อ ก็ฝากโปรโมทฝากแชร์ด้วย เพื่อที่จะได้เป็นกำลังใจให้ศิลปิน ไว้มีโอกาสคงได้เชิญพวกเค้ามาสัมภาษณ์บ้าง สำหรับครานี้คงต้องลาไปก่อน ... พบกันฉบับหน้าครับ...

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด