Safety & Healthcare

งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (National Safety Week) ครั้งที่ 29

ศิริพร วันฟั่น

 

 

 

ในปัจจุบัน กิจกรรมหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานทั้งในระดับชาติและสากลที่รับรู้กันทั่วไปและจัดกันเป็นประจำทุก ๆ ปีในประเทศไทย (ถ้าไม่มีเหตุขัดข้องเสียก่อน) ก็เห็นจะมีด้วยกันอยู่ 3 งาน ได้แก่ วันความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงานสากล วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ซึ่งในปี 2558 นี้ ก็ได้มีการจัดงานลุล่วงไปแล้วตามลำดับ ดังนี้

  

 

               1วันความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงานสากล (World Day for Safety and Health at Work) จัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายนของทุก ๆ ปี นับตั้งแต่ปี 2003 (พ.ศ.2546) เป็นต้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานทั่วโลก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนงานรณรงค์สากลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมในการป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานให้แพร่หลายทั่วโลก โดยในวันนี้ของทุกปี หน่วยงานและองค์กรในหลาย ๆ ส่วนทั่วโลกก็ได้มีการจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อการรณรงค์ (Theme) ที่ถูกกำหนดไว้ในแต่ละปี ซึ่งในปี 2015 (พ.ศ.2558) นี้ ก็คือ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมการป้องกันด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Join in building a culture of prevention on OSH)” โดยเหตุผลที่ทาง ILO ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์นี้ก็เพราะเล็งเห็นว่า “วัฒนธรรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (National Occupational Safety and Health Culture)” เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขภาพดี (Safe & Healthy Working Environment) ได้กลายเป็นค่านิยมที่ทุก ๆ คนในชาติตระหนักรู้และยอมรับในทุกระดับ และไตรภาคีด้านแรงงาน (รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง) ต่างมีส่วนร่วมกันอย่างแข็งขันในการคงรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขภาพดี ด้วยการดำเนินการอย่างเป็นระบบที่มีการระบุถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจน พร้อมกับยึดมั่นร่วมกันว่า สิ่งสำคัญอันดับสูงสุดนั้น จะมีความสอดคล้องกับหลักการของการป้องกันไว้ด้วยเสมอ

                ว่าด้วยเรื่องในระดับชาติแล้ว การที่จะสร้างและการคงรักษาวัฒนธรรมการป้องกันในส่วนของความปลอดภัยและอาชีวอนามัยได้นั้น ต้องมีการนำเอาเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดมาใช้เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นโดยทั่วไป อีกทั้งความรู้เกี่ยวกับอันตรายและความเสี่ยง และความเข้าใจในการควบคุมและป้องกัน เช่นเดียวกันกับ พันธะสัญญาและการลงมือทำของไตรภาคีด้านแรงงานระดับชาติ ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการส่งเสริมการปรับปรุงอย่างยั่งยืนด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน อย่างไรก็ดี การสามารถที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีปฏิบัติที่ดีด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระหว่างกัน จะมีส่วนช่วยเกื้อหนุนต่อการบรรลุจุดประสงค์ในเรื่องนี้ได้ ซึ่งจะเป็นไปตามความหมายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุไว้ว่า “งานที่มีคุณค่า (Decent Work) ก็คืองานที่มีความปลอดภัย (Safe Work) เพียงพอต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง” ดังนั้น การที่จะมุ่งไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติได้นั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ การสร้างหุ้นส่วนในระดับภาคส่วนอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์และวิธีปฏิบัติที่ดีด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระหว่างกัน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างรากฐานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของบริษัท หรือองค์กรโดยรวมที่อยู่ในแต่ละภาคอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่งเพียงพอ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันในทางที่ดีขึ้น ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการป้องกันในส่วนของความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และสุดท้ายก็จะสามารถยกระดับไปสู่วัฒนธรรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติได้ในท้ายที่สุด นั่นเอง

 

ภาพโปสเตอร์วันความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงานสากล (World Day for Safety and Health at Work) ที่มีหัวข้อการรณรงค์ (Theme) ประจำปี 2015 คือ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมการ

 

 

               2. วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (Work Safety Day) ได้ถูกกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 ส.ค.2540 เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ในเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ และใช้เป็นบทเรียนของสังคมไทย ที่ต้องใส่ใจสร้างจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานทุกสาขาอาชีพให้มากขึ้น โดยในปีนี้เลื่อนมาจัดในวันศุกร์ที่ 8 พ.ค.58 สถานที่จัด คือ สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) ใช้ชื่องานว่า “๑๐ พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” โดยมีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” และ นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตจากการทำงานทุกกรณีในช่วงเช้า

                พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดงานว่า “ระยะเวลากว่าสองทศวรรษหลังเกิดความสูญเสียจากโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิต 188 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 400 รายนั้น ได้ถูกนำมาเป็นแรงผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น กระทรวงแรงงานได้พัฒนากฎหมาย พัฒนางานและเทคโนโลยี รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมในการทำงานในปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองให้ลูกจ้างมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยมีกลไกขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในการทำงาน อันได้แก่ การประกาศใช้ระเบียบวาระแห่งชาติ ‘แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี’ ตั้งแต่ 11 ธ.ค. 2550 เป็นต้นมา, การประกาศใช้ พรบ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 รวมทั้งการพัฒนาและยกร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทันต่อสภาพการทำงานของผู้ใช้แรงงานในปัจจุบัน และให้เป็นที่ยอมรับและเทียบเคียงสากล, การจัดตั้งกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อเป็นหน่วยงานในการระดมทุนสำรองให้ผู้ประกอบการกู้ยืม หรือสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการมีการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น, การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อใช้เป็นหน่วยงานสนับสนุนแก่ภาครัฐและภาคเอกชน, การประกาศใช้แผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (พ.ศ.2555–2559) ที่ทุกภาคส่วนใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการและพัฒนางานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

 

 

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” (8 พ.ค.58)

 

นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตจากการทำงานทุกกรณีในช่วงเช้า   (8 พ.ค.58)

 

การเสวนาเรื่อง “รับฟังความคิดเห็นต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย” ในงาน ๑๐ พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ปี 2558 ณ สำนักความปลอดภัยแรงงาน (8 พ.ค.58)

 

 

               นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้พัฒนางานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ควบคู่ไปกับการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติได้สอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น โครงการสถานประกอบการปลอดภัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, โครงการประกวดสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน, การประกวดคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานดีเด่น, การประกวดเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพดีเด่น, กิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการจัดประชุมด้านความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน (การประชุม ASEAN-OSHNET ของกลุ่มประเทศอาเซียน) ทั้งนี้ การที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดงาน ‘๑๐ พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ’ ขึ้นมา ถือเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงาน จะมารวมกันเพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์ความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน และเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนางานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้อย่างยั่งยืน”

                อนึ่ง ภายในงานวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ นอกจากจะมีการจัดนิทรรศการด้านความปลอดภัยในการทำงานแล้ว ก็ยังมีการอภิปรายและเสวนาในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย อาทิ อัพเดตกฎหมายความปลอดภัยฉบับใหม่, การรับฟังความคิดเห็นต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย, บทบาทของเครือข่ายความปลอดภัยในการเฝ้าระวังอุบัติเหตุจากการทำงาน

 

 

ข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

 

  • กระทรวงแรงงานประกาศให้ปี 2558 เป็น “ปีแห่งการรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงาน (Safety Mind) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ ครบ 60 พรรษา” เพื่อสนองในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงแสดงความเป็นห่วงความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น (1 ธ.ค.2557) ได้ทรงแสดงความห่วงใยและทรงพระกรุณาให้แนวทางแก่ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ใจความว่า ‘คนที่เข้ามาในกระบวนการฟื้นฟูไม่ควรจะเกิดขึ้น หากสถานประกอบการมีการป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย ต้องสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในแต่ละประเภท จึงควรป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน ดีกว่าทำงานแล้วเกิดอุบัติเหตุ’

                กระทรวงแรงงานจึงมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดทำ ‘โครงการสถานประกอบการปลอดภัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’ โดยมุ่งหวังให้สถานประกอบการมีความตระหนักในเรื่องความปลอดภัย สร้างความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างในการป้องกันการประสบอันตรายจากการทำงานของผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน และเป็นกลไกสำคัญในการลดการประสบอันตรายจากการทำงานเพื่อผู้ใช้แรงงานทุกคน โดยมียอดสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 7,000 แห่ง การเข้าร่วมโครงการเป็นไปโดยความสมัครใจ เพื่อช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้กับงานความปลอดภัยในการทำงาน อันจะเป็นอานิสงค์ต่อชีวิตและสุขภาพที่ดีกับคนทำงานในประเทศไทย โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในวันที่ 2 เม.ย. 58 และทูลเกล้าถวายรายชื่อสถานประกอบการที่ดำเนินการสัมฤทธิ์ผลในวันที่ 31 ก.ค.58 ซึ่งสถานประกอบการจะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ‘สถานประกอบการปลอดภัย เฉลิมพระเกียรติฯ’ พร้อมป้ายประกาศ และได้ถวายรายงานความสำเร็จของโครงการ ตลอดจนการดำเนินงานรองรับปี 2558 ปีแห่งการรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงาน (Safety Mind) ด้วย

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2557 โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน นางปราณิน มุกดาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เข้าเฝ้ารับเสด็จ

 

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจง ‘โครงการสถานประกอบการปลอดภัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’ โดยมีผู้แทนสถานประกอบการเข้าร่วมในเบื้องต้นกว่า 900 แห่ง (13 มี.ค. 58 ที่ส่วนงานความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน)

 

 

  • (30 เม.ย.58) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบผลการดำเนินการและการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนแม่บทด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ (พ.ศ.2555–2559) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการและประกาศนโยบายระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพดี” ช่วงที่ 2 เป็นแผนกรอบระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี พ.ศ.2560–2569 และการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560–2564) พร้อมเตรียมให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 187 ว่าด้วย “กรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) (Promotion Framework for Occupational Safety and Health Convention, 2006)” พร้อมกับเร่งรัดตั้ง “กรมความปลอดภัยแรงงาน” เพื่อให้เป็นหน่วยงานส่งเสริมและดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะเป็นไปตามข้อเรียกร้องของพี่น้องแรงงานในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2558 นี้ด้วย
  • (12 พ.ค. 58) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวน 10 แห่ง ภายใต้ชื่อ “โครงการนำร่องระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการประเภท SME ได้นำระบบมาตรฐานนี้ไปทดลองใช้ในสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบกิจการ และเพื่อให้สถานประกอบกิจการนำร่องทั้ง 10 แห่ง เป็นต้นแบบของการพัฒนาการจัดการปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานขององค์กร โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 เดือน แล้วนำผลการปฏิบัติจริงมาปรับปรุงมาตรฐานนี้ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ก่อนการขยายผลนำระบบมาตรฐานนี้ไปเผยแพร่เพื่อใช้งานในสถานประกอบการประเภท SME ทั่วประเทศ
  • (22 พ.ค. 58) “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)” ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 พ.ค.58 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เป็นไปด้วยความคล่องตัวรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยจะเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นในการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการ คนทำงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามกฎหมายด้วยความสมัครใจ ทั้งนี้ ในช่วงแรก การบริหารงานของ “สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “สสปท.” ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thailand Institute of Occupational Safety and Health (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “TOSH” จะบริหารโดยคณะกรรมการบริหารสถาบันชุดชั่วคราว ซึ่งมีอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการของสถาบัน และมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ด โดยอยู่ภายใต้การกำกับของรมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน และมีกำหนดว่าต้องสรรหาบอร์ดจริงให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ร่วมเป็นกรรมการด้วย
  • กฎกระทรวงว่าด้วย “ความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน พ.ศ.2558” มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 31 พ.ค. 58 เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งวัตถุอันตรายและพนักงานขับรถมีแนวทางปฏิบัติชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการขนส่งภายในประเทศและนอกประเทศ และเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการขนส่งวัตถุอันตรายที่ประเทศไทยเป็นภาคี อาทิ การติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS Tracking) และพนักงานขับรถขนส่งวัตถุอันตรายต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่ 4 เท่านั้น
  • (20 ก.ค. 58) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังหารือกับคณะองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) ว่าเห็นพ้องร่วมกันในการรณรงค์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทางกระทรวงแรงงานได้วางแนวทางจัดตั้ง ‘สภาวิชาชีพเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน’ โดยมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ เป็นบุคลากรที่กฎหมายกำหนดให้เป็นบุคลากรหลักในการดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน จากระบบการศึกษาหรือการอบรม

          - กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเปิดโอกาสให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมเงินจาก “กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” โดยในระยะเริ่มแรกนั้น ได้เปิดให้สถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน กู้ยืมเงินไปแก้ไขสภาพความไม่ปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคอันเนื่องจากการทำงาน โดยลักษณะโครงการ/แผนงานที่สามารถขอรับการสนับสนุนเงินกู้ ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ในการดำเนินการแก้ไขและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ/สภาพความไม่ปลอดภัย หรือโรคอันเนื่องจากการทำงาน ไม่ใช่ เป็นการดำเนินการเพื่อเพิ่มผลผลิตโดยตรง อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2 ต่อปี มีระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ 5 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น 1 ปี หากนายจ้างประสงค์จะขอรับการสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนความปลอดภัยฯ สามารถยื่นคำขอเงินกู้ยืมเงินพร้อมเอกสาร ได้ที่สำนักความปลอดภัยแรงงาน หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เบอร์โทรศัพท์ 0 – 2448 - 8338 ต่อ 833 หรือ email: safetyfund@labour.mail.go.th

  • “การประชุมเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN–OSHNET) ประจำปี 2558” ถึงกำหนดวาระที่ไทยจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุม โดยจัดขึ้นที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กทม. ระหว่างวันที่ 21–23 เม.ย.58 ประกอบไปด้วย “การประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยฯ (Coordinating Board Meeting: CBM) ครั้งที่ 16” และ “การประชุมวิชาการของเครือข่ายความปลอดภัยฯ (ASEAN–OSHNET Conference: AOC) ครั้งที่ 2” โดยที่การประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยฯ (CBM) ประกอบไปด้วยคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และผู้แทนจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียน (ASEAN+3, ASEAN+6) หน่วยงานสนับสนุนจากภายนอก (เช่น ILO, IALI, GIZ, USDOL และอื่น ๆ) และผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ ส่วนการประชุมวิชาการของเครือข่ายความปลอดภัยฯ (AOC) นั้น ประกอบไปด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ เครือข่ายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ฯลฯ

                การประชุมเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN–OSHNET) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการติดตามผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล แนวคิด องค์ความรู้ นวัตกรรม แนวปฏิบัติที่ดี รวมทั้งข้อเสนอแนะต่าง ๆ ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและหน่วยงานสนับสนุนจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียน อีกทั้งเป็นการยกระดับเครือข่ายให้เกิดความเป็นเอกภาพของภูมิภาค รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติต่อไป ในภาพรวมแล้วการร่วมมือกันของประเทศกลุ่มอาเซียนในลักษณะเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกทุกประเทศในการพัฒนางานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย นับเป็นความก้าวหน้าของความร่วมมือที่จะยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคนี้ ให้ได้ระดับมาตรฐานสากลและยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในเวทีการแข่งขันของประชาคมโลกที่นับวันจะสูงขึ้นด้วย

                สำหรับประเทศไทยแล้ว กระทรวงแรงงานมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ในการเข้าร่วมการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายความปลอดภัยฯ โดยมอบให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้แทนในคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยฯ (ASEAN-OSHNET COODINATING BOARD) และมอบหมายให้สำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นศูนย์ประสานงานด้านสารสนเทศของเครือข่ายความปลอดภัยฯ ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายจากเครือข่ายความปลอดภัยฯ ให้ดูแลรับผิดชอบภารกิจนี้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา ‘ตัวชี้วัดการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ (ASEAN-OSHNET Scorecard)’ เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นบรรทัดฐาน และเป็นสารสนเทศในการยกระดับการดำเนินการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน ส่วนประเทศสมาชิกที่เหลือ ก็รับผิดชอบในด้านอื่น ๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์รับผิดชอบด้านการฝึกอบรม อินโดนีเซียรับผิดชอบด้านการวิจัย มาเลเซียรับผิดชอบด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และประเทศสิงคโปร์รับผิดชอบด้านการตรวจความปลอดภัยฯ

 

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยฯ (CBM) ครั้งที่ 16 และการประชุมวิชาการของเครือข่ายความปลอดภัยฯ (AOC) ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 21–23 เม.ย.58 ที่ กทม.

 

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยฯ (CBM) ครั้งที่ 16 ณ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กทม. วันที่ 21 เม.ย.58

 

นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยฯ (CBM) ระหว่างวันที่ 21–22 เม.ย.58 และเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการของเครือข่ายความปลอดภัยฯ (AOC) ณ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กทม. ในวันที่ 23 เม.ย. 58

 

 

               3. งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (National Safety Week) ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 29 จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ระหว่างวันที่ 2–4 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการแสดงสินค้าไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่องาน “ปลูกจิตสำนึก ร่วมใจป้องกัน สร้างสรรค์ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดี” เพื่อรณรงค์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ นายจ้าง ลูกจ้าง นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งคนทำงานจากทุกสาขาอาชีพ เกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงาน ทบทวนปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และร่วมมือร่วมใจในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายของการลดการประสบอันตรายและโรคอันเนื่องมาจากการทำงานลงให้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม

                โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค.58 เวลา 10.16 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังห้องแกรนด์ฮอล์ 201, 203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 ในการนี้ ได้พระราชทานโล่รางวัลแก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สาขาคลังปิโตรเลียม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับประเทศ ติดต่อกันเป็นเวลา 19 ปี จำนวน 1 รางวัล จากนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยัง ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน  นายนคร ศิลปะอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดี

 

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน กราบทูลถวายรายงานวัตถุประสงค์และความเป็นมาของการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานโล่รางวัลแก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สาขาคลังปิโตรเลียม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับประเทศ.

 

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน  ทูลเกล้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงาน

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหารในการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29

 

 

               ในช่วงบ่าย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘ปลูกจิตสำนึก ร่วมใจป้องกัน สร้างสรรค์ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดี’ ในการเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 ไว้ว่า “การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติเป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงแรงงานจัดงานดังกล่าวต่อเนื่องทุกปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ การจัดงานความปลอดภัยของคนทำงานถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงแรงงานอีกหนึ่งเรื่อง สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำอย่างไรให้คนทำงานได้รับความปลอดภัย กระทรวงแรงงานได้จัดกิจกรรมรณรงค์ด้านความปลอดภัยมาโดยตลอด อาทิ การรณรงค์ให้นายจ้างมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย เมื่อนายจ้างมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ก็จะจัดสถานประกอบกิจการให้มีความปลอดภัย ด้านลูกจ้างก็ต้องมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยเช่นกัน หากทั้งสองฝ่ายเริ่มจากจิตสำนึกก็นับว่าการรณรงค์ด้านความปลอดภัยของกระทรวงแรงงานประสบความสำเร็จไปกว่า  60–70 % นอกจากนี้ เรื่องของอุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้สากลด้านความปลอดภัยเป็นอีกปัจจัยที่ต้องรณรงค์ให้นายจ้าง ลูกจ้าง ปฏิบัติ รับรู้ รับทราบ และเห็นความสำคัญ

                ทั้งนี้ สถานประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องยึดหลักปฏิบัติ 4 ข้อ คือ 1) จิตสำนึกความปลอดภัยของผู้ประกอบการ นายจ้างต้องมีจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงาน 2) ผู้ใช้แรงงานต้องมีจิตสำนึกและคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานของตนเอง 3) องค์ความรู้ด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นภารกิจหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ที่ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน และ 4) ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สถานประกอบการมีความปลอดภัย อันนำมาสู่ความปลอดภัยของคนทำงาน อย่างไรก็ตาม 4 ข้อดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบการ เมื่อนายจ้าง ลูกจ้าง มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย มีองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยที่เป็นสากล สถานประกอบการปลอดภัย คนทำงานก็ปลอดภัย แต่หากมีคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ต้องใช้มาตรการที่ 4 นั่นคือ การบังคับใช้กฎหมาย เมื่อครบทั้ง 4 ขั้นตอน สิ่งที่กระทรวงแรงงานหวังสูงสุด คือ เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานของทุกคนที่เกี่ยวข้อง” รมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

                ภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวปาฐกถาพิเศษ รมต.ว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบรางวัลด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเป็นสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับประเทศติดต่อกัน 5 ปีขึ้นไป จำนวน 330 แห่ง รางวัลคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานดีเด่น จำนวน 5 แห่ง และรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพดีเด่น จำนวน 17 คน

                นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า “งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติในวันนี้ มีกิจกรรมหลักที่สำคัญ อาทิ การประกวดสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ ให้มีการดำเนินการที่เป็นระบบ สามารถเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากลและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของนายจ้างและลูกจ้าง โดยในปี 2558 นี้มีสถานประกอบกิจการผ่านการพิจารณา และได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับประเทศทั้งหมด จำนวน 551 แห่ง อีกทั้ง คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานดีเด่น จำนวน 5 แห่ง และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพดีเด่น จำนวน 17 คน นอกจากนี้ยังมีการแสดงผลการประกวดสื่อรณรงค์ เช่น นิทานสอนใจ ภาพยนตร์สั้นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน และการประกวดทีมกู้ภัยฉุกเฉินโดยจำลองจากสถานการณ์จริง ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นและสร้างความตระหนักแก่ทุกฝ่ายให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานอย่างเข้มงวดควบคู่ไปกับการส่งเสริม และพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกกิจการต่อไป”

 

กิจกรรมในงานสัปดาห์ความปลอดภัยฯ ครั้งนี้ มีหลากหลาย ได้แก่

  • นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพร้อมเคาน์เตอร์เขียนคำถวายพระพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และกิจกรรมผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
  • ลานกิจกรรมชุมชนนักปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการทำงาน (Community of OSH Practice) อยู่บริเวณลานข้างเวทีกลาง มีโปรแกรมการสาธิตหลายอย่าง อาทิ สาธิตและแนะนำโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการประเมินความเสี่ยงในสถานประกอบกิจการ (Risk Assessment Software) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ การสาธิตการปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บประเภทต่าง ๆ และการกู้ชีพเบื้องต้น โดยสถานประกอบกิจการที่ได้รับรางวัลการประกวดทีมฉุกเฉิน
  • เลือกซื้ออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ในราคาพิเศษจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายโดยตรงมากกว่า 120 บริษัท
  • นิทรรศการวิชาการ ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ด้านความปลอดภัยฯ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากกว่า 50 แห่ง
  • ชมนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านความปลอดภัยในการทำงาน
  • การให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการประสบอันตรายจากการทำงาน
  • การสัมมนาและการบรรยายทางวิชาการด้านความปลอดภัยฯ ยกตัวอย่างเช่น การเสวนาเรื่อง “การขับเคลื่อนอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187”, การอภิปราย “วิถีของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยฯ เมื่อไทยเข้าสู่อาเซียน” ฯลฯ
  • บอร์ดแสดงผลงานสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ดีเด่น และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพดีเด่น
  • กิจกรรมต่าง ๆ บนเวทีกลาง เช่น เล่นเกมส์ ตอบคำถามเรื่องความปลอดภัย การแสดง ความบันเทิง ขับร้องเพลงความปลอดภัย พูดคุยสบาย ๆ เรื่องความปลอดภัย ฯลฯ
  • คูหากิจกรรม Safety Rally ลุ้นของรางวัลและของที่ระลึก โดยหาคำตอบจากคูหานิทรรศการต่างๆ ภายในงาน
  • การประกวดทีมฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการรอบชิงชนะเลิศที่สถานีดับเพลิงสามเสน กทม. วันที่ 30 มิ.ย. 58 ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Jerhigh Gang จากบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง จ.สระบุรี โดยมีทีมผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 6 ทีม ที่ต้องผ่านด่านทดสอบ 4 ฐานด้วยกัน ได้แก่ ฐานการดับเพลิงในอาคาร, ฐานกู้ภัยสารเคมี, ฐานกู้ภัยในที่อับอากาศ, ฐานการคัดแยกและการปฐมพยาบาลผู้ประสบภัย

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด