Inside News

เศรษฐกิจแย่ ส่งออกเดี้ยง ยานยนต์อ่วม ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ เติบโตไม่เกิน 2%

จุรีรัตน์ ทิมากูร

 

 

 

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 จะมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรก โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งจะต่ำกว่าครึ่งปีแรก ตลอดทั้งปีเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวไม่เกิน 3% ของจีดีพี

 

                นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ต่ำกว่าครึ่งแรกของปีนี้ โดยขยายตัวลดลงโดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากการส่งออกหดตัว โดยครึ่งปีหลังคาดว่าจะติดลบร้อยละ 1.3 และคาดว่าทั้งปีจะติดลบร้อยละ 1.7

                ทั้งนี้แม้ว่าภาครัฐจะเร่งการลงทุนเพียงใด คงไม่สามารถเข้าทดแทนการหดตัวของภาคส่งออกได้ โดยการบริโภคภาครัฐ และการลงทุนภาครัฐในครึ่งปีหลังจะขยายตัว ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 15.3 โดยสัดส่วนการลงทุนภาครัฐมีเพียงร้อยละ 20-22 ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนถึง ร้อยละ 74-75 ของจีดีพี

               รมว.คลัง ยังได้กล่าวอีกว่า “รัฐบาลจะยังเร่งรัดโครงการลงทุนของรัฐ โดยเฉพาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 ในโครงการบริหารจัดการน้ำและถนน มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ลงนามในสัญญาแล้ว 60-70 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าโครงการ คาดจะสามารถเบิกจ่ายได้ในเดือนสิงหาคม ส่วนปีหน้ารัฐบาลได้อนุมัติแผนลงทุนมอเตอร์เวย์ 3 สาย และโครงการรถไฟฟ้าอีก 2-3 สาย ซึ่งถือว่าเต็มที่แล้ว ถ้าเร่งให้มีการใช้จ่ายภาครัฐมากกว่านี้เครื่องยนต์อาจพังได้”

 

 

ยอดผลิต-ขาย-ส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์ร่วง

 

            นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เผยว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.3% อยู่ที่ 56,939 คัน ซึ่งเป็นการลดลง 23 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน ก.ค.2556 ประกอบกับยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนนี้ยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.17% อยู่ที่ 88,937 คัน และลดลง 26.94% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2558

            ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำยังไม่ฟื้นตัว การลงทุนและเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐยังไม่มากพอ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน (สง.) ยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพราะกังวลเรื่องตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สะท้อนได้จากยอดปฏิเสธคำขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สูงถึง 40-50%

            นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สอท.อยู่ระหว่างพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐยังไม่เป็นไปตามที่คาด อีกทั้งปัญหาภัยแล้งยังซ้ำเติมกำลังซื้อในประเทศให้ชะลอตัวลง เพื่อประกอบการทบทวนตัวเลขคาดการณ์ยอดขายในประเทศปีนี้ทั้งปีอีกครั้ง จากปัจจุบันคาดไว้ที่ 8.5 แสนคัน ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 9.3 แสนคัน ส่วนการผลิตรถยนต์เดือน พ.ค.2558 มีทั้งสิ้น 135,045 คันลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.76% เนื่องจากยอดขายในประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจภายใประเทศที่ยังไม่ฟื้น

            “การส่งออกรถยนต์กระบะที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกรถในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 88,937 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 6.17% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนรุ่นรถกระบะของรถยี่ห้อหนึ่ง หลังจากไม่ได้เปลี่ยนรุ่นมานาน 10 ปี ส่งผลให้การส่งออกรถกระบะลดลง โดยมีมูลค่าการส่งออก 43,548.70 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 4.39” นายสุรพงษ์ กล่าว

 

 

ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยต่ำสุด รอบ 1 ปี  แนะชะลอปรับค่าแรง

 

            ขณะที่ ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนพฤษภาคม 2558 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 85.4 โดยเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันและเป็นค่าดัชนีฯ ที่ต่ำสุดในรอบ 1 ปี นับตั้งแต่ พ.ค. 2557 ที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 85.1

            ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าดัชนีฯ ให้ลดต่ำลงเนื่องจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกชะลอตัว และปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ

            รวมถึงกังวลต่อการที่สหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองไทยกรณีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สำหรับการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการส่งออกช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ

            ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าบทบาทของภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัว ขณะเดียวกันโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบันไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในต่างประเทศ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต การพัฒนาฝีมือแรงงาน จะช่วยขยายโอกาสทางการตลาด และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

            ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก แบ่งออก พบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2558 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนเมษายน

            ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 102.1 ในเดือนเมษายน โดยพบว่า 3 เดือนข้างหน้าเอกชนมีความวิตกปัจจัยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ระดับราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เพิ่มขึ้น มีเพียงปัจจัยผลกระทบจากการเมืองในประเทศ และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความกังวลน้อยลง

            นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงเสนอต่อภาครัฐให้มีการส่งเสริมโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อจูงใจให้เข้าระบบภาษีและขยายฐานภาษีให้แก่ประเทศ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงหามาตรการเร่งพัฒนามาตรฐานสินค้าไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด เป็นต้น

            ทั้งนี้การที่สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ จีเอสพี สินค้าไทยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้มีการเทขายหุ้นจากนักลงทุนต่างประเทศไปแล้วระยะหนึ่ง ดังนั้นการที่กรีซเลื่อนกำหนดชำระหนี้ และธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด อาจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก ประกอบกับสถานะทางการเงินของไทยยังค่อนข้างแข็งแรง เห็นได้จากระดับหนี้สาธารณะที่อยู่เพียง 40% ของจีดีพีเท่านั้น ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนโครงการภาครัฐที่มีความชัดเจน

            นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรปรับขึ้นเป็นรายจังหวัดภายใต้ดุลยพินิจของคณะกรรมการไตรภาคีในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ไม่ควรปรับขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ และหากจะใช้วิธีการลอยตัวค่าแรงก็ไม่ควรต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเรื่อง “แนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างปี 2559” ของฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 61.32 ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพของแรงงานเท่าเดิม จึงมองว่าควรคงอัตราค่าจ้างไว้ที่ 300 บาท หรือปรับขึ้นแบบลอยตัวตามความสมัครใจของผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลควรชะลอการปรับขึ้นค่าแรงไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค

 

 

 

 

ศูนย์ทดสอบยานยนต์ เริ่มทดสอบได้ต้นปี 60

 

            นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เผยว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ปี 2558–2562 งบดำเนินงาน 4,536 ล้านบาท บนพื้นที่ศูนย์ป่าราชทินจำนวน 1,200 ไร่ โดยได้รับที่จากกรมป่าไม้จะได้สนามทดสอบ 8 สนาม ทดสอบ 47 มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบการชนของรถด้านหน้าและด้านข้าง การทดลองเข็มขัดนิรภัย

            "ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อเร่งจัดทำแผนการของบประมาณจากงบกลางวงเงิน 111 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าชดเชยที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรกว่า 6 ล้านราย คิดเป็นพื้นที่เกษตรกว่า 10 ไร่ วงเงินราว 2 ล้านบาท รวมถึงชดเชยให้แก่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อปป.) รวมกับค่าจ้างออกแบบก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ บนพื้นที่ 1,200 ไร่ ที่ ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้สามารถเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวได้ภายใน 3 เดือน" นายหทัย กล่าว

            นอกจากนี้ จะเร่งหารือเรื่องการยื่นคำขอแปรญัตติใช้งบประมาณประจำปี 2559 วงเงิน 491.58 ล้านบาท ให้ทันการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สำหรับใช้ในการก่อสร้างศูนย์ทดสอบระยะแรกในส่วนของศูนย์ทดสอบยางล้อทุกประเภท ตามมาตรฐาน UNECE R117 ในปี 2559 แต่หากไม่สามารถยื่นคำขอแปรญัตติต่อ สนช. ได้ทันกำหนด ก็จะเสนอขอใช้งบกลางจากงบประมาณปี 2559 ต่อไป เพื่อให้สามารถเริ่มทดสอบมาตรฐาน UNECE R117 เป็นมาตรฐานแรกได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2560 และคาดว่าสนามทดสอบนี้จะคุ้มทุนภายใน 14 ปี

 

 

ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ฯ เติบโตได้ไม่เกิน 2%

 

            นายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า การส่งออก 6 เดือนแรกปี 2558 อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่เติบโต คาดว่าทั้งปีจะเติบโตไม่ถึง 2% เพราะปีนี้ ทีวีแอลจี มีการย้ายในส่วนของการผลิตทีวีไปเวียดนาม

             อย่างไรก็ตามภาพรวม 6 เดือนแรกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมยังอยู่ในภาวะปกติ เป็นไปตามเทรนด์ของตลาด เพียงแต่กำลังซื้อรวมลดลง ตลาดเดินไปเรื่อย ๆ ไม่คึกคัก เช่นเดียวกับตลาดส่งออกก็ยังไม่ดี

             สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากที่ฐานการผลิตในประเทศไทยยังผลิตแต่สินค้ารูปแบบเดิม ๆ ทั้งตู้เย็น เครื่องซักผ้าและอื่น ๆ โดยไม่มีสินค้าใหม่ที่ฉีกรูปแบบให้แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเป็นแบบนี้มา 4 ปีแล้ว และไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้มากนัก

             ด้านสถานการณ์ตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกยังไม่ดีนัก จึงจำเป็นต้องประคองมูลค่าขายรวมไม่ให้ต่ำลง จากที่มีมูลค่าตลาดรวม 2.2 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี และขายในประเทศราว 5.5 แสนล้านบาทต่อปี ที่จะต้องรักษาระดับนี้ไว้ไม่ให้ต่ำลง

             นอกจากนี้ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานเฉพาะด้าน ขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน แต่ก็ยังเป็นการใช้แรงงานที่ไม่ได้อาศัยความรู้มาก                

   

 

ถูกตัด GSP-เงื่อนไข TPP กรีซ -กระทบส่งออกไทย

 

             แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุ การส่งออกไทยเดือนพฤษภาคม 2558 มีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลง -5.01% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกระยะ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 8.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลง -4.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยหรือสภาผู้ส่งออกประเมินสถานการณ์ส่งออกของไทยปีนี้น่าจะติดลบที่ -2% เนื่องจากมีปัจจัยลบ และปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยปัจจัยลบประกอบด้วยสถานการณ์ของกรีซและผลกระทบต่อยูโรโซน ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ดัชนีราคาส่งออกสินค้าเกษตร รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงต่อเนื่อง ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ค่า Terminal Handling Charge (THC) และใบแดงของ ICAO เป็นต้น ตลอดจนประเด็น Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) Fishing ที่นำมาถึงการจอดเรือประมงและทำให้เกิดปัญหาต่อปริมาณวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

             ส่วนปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วยสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ทั้งการส่งออกโดยตรง และการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการเกษตร สถานการณ์ส่งออกและการค้าชายแดนผ่านแดนที่ติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

            ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายและออกกฎหมายในการควบคุมการค้าชายแดนอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งจะยิ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการค้าชายแดนในอนาคต ประเทศไทยสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ GSP สหภาพยุโรป และอาจรวมถึง GSP ของสหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ไม่สามารถเร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีได้ในช่วงนี้

            รวมถึงการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญเพื่อไปใช้แรงงาน วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่สถานการณ์ตลาดเงินก็ส่งผลให้เงินทุนไหลออก และทำให้ค่าเงินบาทผันผวนในช่วงครึ่งปีหลัง

             แม้ว่าสถานการณ์ส่งออกจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบนานัปการ แต่ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองคือผลกระทบจากกรีซต่อระบบเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทย ซึ่งแม้ว่ากรีซจะไม่ใช่ตลาดหลักของไทย มีมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังกรีซในปี 2014 เพียง 131.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 0.06% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังตลาดโลกทั้งหมด แต่การผิดนัดชำระหนี้จนอาจกลายเป็นการล้มละลายของประเทศ จะสั่นคลอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของยูโรโซน และทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกลดน้อยลง จนส่งผลต่อตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งหมด

             แม้จะยังไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นเท่าไร แต่เชื่อว่าจะทำให้กำลังซื้อของตลาดโลกโดยรวมหดตัวอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อรวมกับความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลกที่อาจเกิดขึ้นจะกลายเป็นอุปสรรคชิ้นสำคัญสำหรับการส่งออกไทยในครึ่งปีหลังนี้

             ทั้งนี้การแก้ไขปัญหากรณีของสหภาพยุโรป ดูเหมือนจะฝากความหวังไว้กับการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเสียงคัดค้านจากบางกลุ่มทำให้การเจรจาล่าช้า และยังไม่สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องในขณะนี้ และหากเริ่มดำเนินการเจรจาได้อีกครั้งคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี กว่าจะมีผลบังคับใช้ ก็เกรงว่าไทยเราอาจจะเสียตลาดให้กับคู่แข่งไปอย่างถาวรในหลายกลุ่มสินค้า

             ขณะที่การแก้ไขปัญหาฝั่งสหรัฐอเมริกา คงไม่สามารถย้อนกลับไปเจรจาการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา ได้อย่างในอดีต เพราะสหรัฐอเมริกาให้น้ำหนักและความสำคัญกับการเจรจา TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งเป็น FTA มาตรฐานสูง และเป็นหนึ่งในความพยายามสร้าง Global FTA เพื่อทำให้สหรัฐอเมริกายังคงบทบาทสำคัญในการค้าโลกยุคต่อไป ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าทางเลือกหนึ่งเดียวของไทยในการรักษาตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคอเมริกาคือการเข้าร่วม TPP เพื่อให้ยังสามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนกับคู่แข่งอื่น ๆ ที่เข้าร่วมการเจรจา อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย เป็นต้น

             อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเข้าร่วม TPP ว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และจะเสียประโยชน์ในภาพรวมของประเทศหรือไม่ เพราะการเจรจาระหว่างสมาชิก TPP ในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติว่ามีเงื่อนไขและรายละเอียดความตกลงเป็นอย่างไร จึงยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

             แต่ทั้งนี้ คนไทยทุกคนต้องเข้าใจเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยว่าท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยของเราต้องพยายามก้าวข้าม Upper Middle Income Trap ให้ได้ และยกระดับตัวเองให้เป็น "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" เพื่อให้เราสามารถอยู่รอดได้และก้าวไปข้างหน้า โดยมีคุณลักษณะสำคัญหลายอย่างที่เราต้องเป็นเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น อาทิ การกำหนดนโยบายของประเทศโดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อ Global และ Regional Value Chain, ลดระดับภาษีศุลกากรทั้งขาออก-ขาเข้าให้ใกล้เคียง “0%”, เร่งรัดและกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา NTBs, NTMs ในประเทศคู่ค้า,ยกระดับไปสู่การผลิตสินค้ามีมาตรฐานสูง ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในตลาดโลกและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่สร้างและประยุกต์ใช้ระบบ Market Intelligent ที่มีประสิทธิภาพ ศึกษาตลาดและพัฒนาสินค้าใหม่ที่ตรงต่อความต้องการของตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

              การปรับตัวเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่ เมื่อมองภาพดังนี้จึงกล่าวได้ว่า "ไม่ว่าเราจะเข้าร่วม TPP หรือไม่ ก็ยังต้องปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางของ TPP แต่หากเราไม่เข้าร่วมใน TPP ไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดสำคัญ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเสียหายมากเกินกว่าจะคาดคิด

 

 

พาณิชย์ เดินหน้า ดันส่งออก ถก 4 FTA ช่วยเพิ่มขีดแข่งขัน

 

             สำหรับความคืบหน้าการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทยกับประเทศคู่ค้าตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเปิดเจรจาการค้าเสรีกับคู่ค้าใหม่ ๆ และเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอที่ยังคั่งค้างอยู่ ซึ่งกรมเองได้ดำเนินการเจรจาเอฟทีเอในกรอบต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่เพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจา และใช้ประโยชน์จากความตกลงบางส่วนก่อนได้

             นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอกว่ามีเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา 4 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 

             ซึ่งกรมตั้งเป้าหมายจะต้องสรุปผลให้ได้ภายในปีนี้ โดยแบ่งการหารือเช่น ด้านการค้าสินค้าอยู่ระหว่างการหารือสัดส่วนการเปิดเสรีสินค้ากลุ่มแรก ระยะเวลาในการยกเลิกภาษี การวัดมูลค่าการค้า ด้านการค้าบริการและการลงทุนอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการเจรจาจัดทำข้อผูกพัน และประเด็นมูลค่าเพิ่มของสินค้า ความโปร่งใส เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเนื่องทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน กฎหมายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าไปอย่างมาก

             ส่วนเอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกงที่เริ่มเจรจาไปช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำความตกลง โดยครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ เช่น การค้าสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา กลไกการระงับข้อพิพาทและความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยเอฟทีเอฉบับนี้คาดว่าน่าจะสรุปการเจรจาได้ภายในปี 2559

             ขณะที่เอฟทีเอไทย-EFTA (สมาคมการค้าเสรียุโรปประกอบด้วยไอซ์แลนด์ ลิกเทนสไตล์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์) และเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) นั้นหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยการเจรจาได้หยุดชะงักออกไปอย่างไม่มีกำหนดมีเพียงแต่การเจรจาระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น

             ทั้งนี้การทำเอฟทีเอของไทยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของการส่งออกและยังช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศและสร้างโอกาสและการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมของไทย โดยกรมเองก็ดำเนินการในกรอบที่สามารถทำได้ไม่ได้หยุดการเจรจา อย่างล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย ได้เดินทางไปเยือนอินเดียและได้เชิญอินเดียกลับมาเจรจาเอฟทีเอระดับทวิภาคีกันต่อ ซึ่งเมื่อวันที่ 15-17 มิถุนายนที่ผ่านมาทางอินเดียก็ได้เดินทางมาเจรจาทบทวนความคืบหน้าของการเจรจาที่ไทยและอินเดียหยุดไป เช่น สินค้า บริการ การลงทุน มาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐานที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคทางการค้า และประเด็นด้านกฎหมาย โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้"

               นอกจากนี้ยังมีเอฟทีเอที่เตรียมเปิดเจรจา เช่น เอฟทีเอไทย-ปากีสถาน และเอฟทีเอไทย-ตุรกี โดยอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการเปิดการเจรจาและการจัดทำร่างกรอบการเจรจาเพื่อขอความเห็นชอบ

               ส่วนเอฟทีเอในกรอบอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีลงทุนและเปิดเสรีเพิ่มเติมด้านการบริการ มีเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2559, เอฟทีเอ อาเซียน-จีน อยู่ระหว่างเจรจายกระดับความตกลงเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการมากขึ้น ร่วมทั้งการลงทุนให้เสร็จภายในปีนี้ 

              ขณะที่เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงการค้า บริการและการลงทุน โดยการบริการอยู่ระหว่างการยื่นข้อเสนอครั้งสุดท้ายโดยเปิดตลาดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% และบางสาขาเปิดถึง 70% เช่นก่อสร้าง สวนสนุก เป็นต้น ซึ่งมีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ที่ดิน สัดส่วนการบริหาร ทุนขั้นต่ำเป็นต้น ซึ่งจะต้องเจรจาเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดสินค้าบริการและการลงทุนเพิ่มเติมด้วย ส่วนเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างการเปิดเสรีเพิ่มเติม

 

 

ส่งออกผวาไม่ต่อ GSP สหรัฐ หวั่นถูกตัดสิทธินาทีสุดท้าย

 

               นายแพทริค เมอร์ฟี่ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เข้าพบ และหารือกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ถึงการขยายการค้า การลงทุนในไทยเมื่อ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการนี้ได้แจ้งข่าวว่าร่างกฎหมายต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แก่ประเทศกำลังพัฒนาของสหรัฐฯ (ที่ได้หมดอายุลงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2556)ได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน ขณะนี้รอรัฐสภาสหรัฐฯให้ความเห็นชอบ

                ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) หรือสำนักงานทูตพาณิชย์ไทย ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เผยถึงความคืบหน้าว่า หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐฯได้ผ่านกฎหมายต่ออายุจีเอสพีแล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯก็ได้พิจารณากฎหมายต่อจีเอสพีเช่นกัน และได้ผ่านกฎหมายฉบับของตนเองด้วยคะแนน 397 ต่อ 32 เสียง

               สำหรับกฎหมายต่ออายุจีเอสพีของทั้ง 2 สภามีเนื้อหาสาระส่วนใหญ่คล้ายคลึง แต่แตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการจีเอสพี ซึ่งฉบับของสภาผู้แทนฯไม่ต้องการใช้ประมาณรัฐมาดำเนินการ หรือการหารายได้มาใช้ในการบริหาร ดังนั้นกฎหมายจึงยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้

               อย่างไรก็ดีคาดว่าสภาจะสามารถแก้ไขข้อแตกต่างได้โดยเร็ว และนำเสนอต่อ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ลงนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ก่อนปิดสมัยประชุมสภาในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2558 นี้

                ขณะที่ นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก บอกว่าหากสหรัฐฯ ใช้เกณฑ์คุณสมบัติของประเทศที่อยู่ในข่ายยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) โดยหนึ่งในหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือระดับการพัฒนาประเทศ โดยพิจารณาจากรายได้ต่อหัวประชากรของธนาคารโลกปี 2553 กำหนดไม่เกิน 12,196 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปีเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันไทยไม่ถือเป็นประเทศยากจน จะต้องถูกตัดสิทธิ ซึ่งไทยก็อยู่ในข่ายนี้ โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Countries)

                ทั้งนี้หากยึดตามเกณฑ์เดียวกับอียูไทยคงไม่ได้ต่อจีเอสพีสหรัฐฯ ยกเว้นจะมีการเจรจากันเป็นพิเศษ ดังนั้นโอกาสได้หรือไม่ได้ตอนนี้อยู่ที่ 50: 50 หากได้ต่อก็ดี แต่คงไม่ช่วยให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯปีนี้ขยายตัวมาก เพราะประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์เขาก็จะได้ต่อสิทธิจีเอสพีเช่นกัน ทั้งนี้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯปีนี้น่าจะขยายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วได้ 5% หากเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวดีขึ้นจริง"

                ด้าน นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวหากไทยได้ต่ออายุจีเอสพีสหรัฐฯจะมีผลให้ผู้นำเข้าสินค้าไทยได้ภาษีย้อนหลังนับตั้งแค่ถูกตัดสิทธิตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 และเมื่อการได้สิทธิจีเอสพีโครงการใหม่มีผลบังคับใช้สินค้าไทยและสินค้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิ ในกลุ่มสินค้าที่ยังได้สิทธิจีเอสพีจะได้ลดภาษีเป็น 0% อาจทำให้ส่งออกไปสหรัฐฯได้ดีขึ้น

               แต่ระยะต่อไปไทยคงแข่งขันลำบาก เพราะไทยไม่มีการเจรจาเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับสหรัฐฯ รวมถึงไม่ได้เข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี)ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน

 

 

ลดเป้าส่งออกปี 58 โอกาสติดลบ 3.5%

 

               นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่าการส่งออกไทยเดือนพฤษภาคม 2558 มีมูลค่า 18,429 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.01% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกระยะ 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม 2558) มีมูลค่า 88,694 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

               ทางสภาผู้ส่งออกจึงประเมินการส่งออกทั้งปี 2558 ว่ามีโอกาสติดลบ 2% จากเดิมที่คาดส่งออกที่ 0% ทั้งนี้ไตรมาส 2 มีโอาสติดลบ 3.5% เนื่องจากการส่งออก 7 เดือนหลังจากนี้ (มิถุนายน-ธันวาคม 2558) ยังอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรสถานการณ์และกฎระเบียบการค้าชายแดน การตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) ปัญหาความล่าช้าในการเจรจาการค้าเสรีต่าง ๆ การย้ายฐานการผลิต เงินทุนไหลออก และความผันผวนของค่าเงินบาท

               นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญปัจจัยลบสถานการณ์เศรษฐกิจของกรีซ และผลกระทบต่อยูโรโซน ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ดัชนีราคาส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรลดลงต่อเนื่อง ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัญหาด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

               ขณะที่ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดโดยส่วนใหญ่ของไทยยังติดลบ เช่น อาเซียนติดลบ 7.2% ญี่ปุ่นติดลบ 4.1% เกาหลีใต้ติดลบ 15.9% สหภาพยุโรปติดลบ 13.7% ตะวันออกกลางติดลบ 26.9% ทวีปแอฟริกาติดลบ 21.1% ทวีปอเมริกาใต้ติดลบ 2.9% อินเดียติดลบ 9.9% และ CIS ติดลบ 40.7%

               สำหรับตลาดส่งออกที่ยังมีทิศทางเติบโต เช่น สหรัฐอเมริกาขยายตัว 0.4% จีนขยายตัว 3.3% ทวีปออสเตรเลียขยายตัว18.2% แคนาดาขยายตัว 2.5% และอาเซียนใหม่ (CLMV) ขยายตัว 3.5% ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ตลาดที่ต้องเฝ้าระวังคือตลาดสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิพิเศษเสรีทางการค้าหรือจีเอสพี หากตัดสิทธิ์จีเอสพีของไทยเหมือนสหภาพยุโรป การส่งออกไทยไปสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับปรับลดลง จากในช่วงที่ผ่านมาส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

               อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจึงต้องยกระดับเพื่อการแข่งขันทางการให้มากขึ้น โดยต้องมีการพัฒนาในเรื่องของการลดระดับภาษีศุลกากรทั้งขาเข้า-ขาออกให้ใกล้เคียง 0% เร่งรัดและกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจาการค้าเพื่อแก้ไขปัญหา ยกระดับไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสูง ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในตลาดโลกและเทคโนโลยีที่ใหม่ ๆ รวมทั้งภาครัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดระบบการพัฒนานวัตกรรมที่ก้าวหน้า และระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแรง และการเจรจาการค้าต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น

               ส่วนสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU คาดว่าประเทศไทยยังคงได้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีการประกาศในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งประเทศไทยไม่น่าจะได้รับใบแดงเพราะการดำเนินการของไทยที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขไปอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องติดตามสถานการณ์เพราะหากประเทศไทยติดใบแดงโอกาสกระทบขยายตัวเป็นวงกว้าง และขยายตัวลุกลามไปกระทบตลาดสหรัฐด้วย

               ด้าน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การส่งออกของไทยในปี 2558 มีโอกาสติดลบ 2% โดยที่การส่งออก 7 เดือนที่เหลือส่งออกจะต้องเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 19,189 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากส่งออกได้ต่ำกว่านี้มีโอกาสที่การส่งออกภาพรวมจะติดลบมากกว่านี้ สำหรับแนวโน้มการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2558 ประเมินว่ามีโอกาสส่งออกติดลบ 5-6% จากปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำสุดกระทบต่อการส่งออกไทย

               ทั้งนี้ คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีของไทยน่าจะเฉลี่ยในระดับ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าการส่งออกไทยสามารถรับได้

 

 

ส่งออกไทยไปจีนทรุดต่อเนื่อง ติดลบ 14% ไตรมาสแรก

 

               สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดเผยถึงการค้าระหว่างประเทศของจีนในเดือนมีนาคม 2558 ลดลง 13.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 1.76 ล้านล้านหยวน (286.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกันของปีนี้

               จากก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ลดลง 11.3 และ 10.8% ตามลำดับ ขณะที่ช่วงไตรมาสที่ 1/2558 การค้าระหว่างประเทศของจีนลดลง 6% โดยมีมูลค่า 5.54 ล้านล้านหยวน โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.9% และการนำเข้าลดลง 17.3%

               ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปี 2558 ยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน โดยมูลค่าการค้าลดลง 2.1% สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับ 2 มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 3.2% ตามด้วยญี่ปุ่น มูลค่าการค้าลดลง 11% โดยโฆษกของกรมศุลกากรจีนให้เหตุผลของการค้าระหว่างประเทศของจีนที่ลดลงว่า เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยับคงอ่อนแอ และความกดดันเศรษฐกิจในประเทศจีนกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว        

                ประกอบกับช่วงวันหยุดตรุษจีนของปีนี้ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้บริษัทและโรงงานหลายแห่งต้องปิดทำการเป็นสัปดาห์ ในขณะที่วันตรุษจีนของปีที่ผ่านมาตรงกับเดือนมกราคม ทำให้ต้องเปรียบเทียบกับฐานคำนวณตัวเลขที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามในไตรมาสแรกของปีนี้จีนยังเกินดุลการค้าถึง 755.3 ล้านหยวน

                ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) จีนยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้า (ส่งออก+นำเข้า) ระหว่างกัน 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกมูลค่า 5.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 14.4% นำเข้ามูลค่า 9.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจีน 4.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

                สำหรับสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปจีนประกอบด้วย เม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ยางพารา, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ โดยมูลค่าการส่งออกไปจีนของแต่ละสินค้า -2.01, -11.32, -43.42, +3.19  และ -29.72% ตามลำดับ

 

 

กกร. ระบุ เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

               คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กกร. ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคม พบว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเครื่องยนต์ด้านการบริโภคยังพบสัญญาณการฟื้นตัวในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวยังคงรักษาโมเมนตัมเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง การลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายได้มากขึ้นและมีแนวโน้มเร่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้นในไตรมาส 3 เป็นต้นไป

               อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแรงตามความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่อง  กอปรกับการส่งออกสินค้าหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้า แม้จะยังคงรักษาขยายตัวในเกณฑ์ดีในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลียได้ต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนยังคงเปราะบางในช่วงครึ่งปีหลัง

               กกร. ได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้สาธารณะในประเทศกรีซ รวมทั้งการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ที่อาจเป็นแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในระยะถัดไป ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าผลการตัดสินใจผ่านการทำประชามติของกรีซจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและภาคส่งออกไทยเพียงแค่ในระยะสั้น ดังนี้

               1. ค่าเงินบาท–ผลกระทบในช่วงสั้นจะเป็นการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินตราของประเทศต่าง ๆ เนื่องจากถือเป็นค่าเงินที่มีความปลอดภัยสูง (Safe Haven) จากภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวและความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ในส่วนขณะที่ค่าเงินยูโรเองในช่วงที่ผ่านมาถือว่ารับข่าวร้ายเรื่องกรีซไปแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นค่าเงินบาทซึ่งถือว่าเป็นสกุลเงินที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ อาจถูกแรงขายและทำให้อ่อนค่าลงได้ในระยะสั้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร อย่างไรก็ตาม ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นและไม่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปได้มากในระยะยาวจากเหตุการณ์ดังกล่าว

               2. ตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลไทย อาจประสบแรงขายอีกครั้งเพื่อปรับลดความเสี่ยงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของกรีซ ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับลดลงทั่วทั้งภูมิภาคในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนในสถานการณ์วิกฤติกรีซ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างประเทศได้ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นไทยไปแล้วจากช่วงต้นปีกว่า 7 หมื่นล้านและ 2 หมื่นล้าน ตามลำดับ ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดจากเงินทุนไหลออกฉับพลันจากตลาดไทยนั้นคงมีแค่ในวงจำกัด

               3. ด้านภาคการค้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มาก เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของไทยกับกรีซในปี 2558 มีเพียง 45 และ 131 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของไทย สินค้าส่งออกหลักไปกรีซ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและรถยนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.43 และ 0.06 ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย จึงคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง ว่าจะส่งผลในวงกว้างต่อการฟื้นตัวของคู่ค้าอื่น ๆ ของไทยในกลุ่มยูโรโซน (สัดส่วนส่งออกร้อยละ 6) มากน้อยขนาดไหน

               4. ด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มากเช่นกัน โดยนักท่องเที่ยวจากกรีซที่มาไทยในปีที่ผ่านมามีเพียงร้อยลง 0.08 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดหรือราว 20,000 คนต่อปี เท่านั้น อีกทั้ง ไทยยังได้หันมาพึ่งพิงนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและอาเซียน จึงทำให้ความเสี่ยงในด้านการท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำ

               ทั้งนี้ กกร. คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ลดลงจากการคาดการณ์ในไตรมาสที่แล้วที่ร้อยละ 3.5 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ปรับลดมุมมองเศรษฐกิจลงมาจากตัวเลขส่งออกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ทำให้ส่งออกมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 2 ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1

               พร้อมกันนี้ กกร. สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ...เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วตามที่กระทรวงการคลังโดยกรมศุลกากรได้ดำเนินการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.....เพื่อแก้ไขในประเด็นต่าง ๆ ที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ และขัดกับการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานสากล

               นอกจากนี้ กกร. มีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย และเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น และมีการแก้ไขในหลายประการที่สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้นำเข้า-ส่งออก เช่น การแยกฐานการกระทำความผิดตามมาตรา 27 เดิม ออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ การลักลอบหนีศุลกากร (ขนของเถื่อน) การหลีกเลี่ยงอากร (แจ้งพิกัดศุลกากรผิด) และการหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด (ผิดพลาดทางเทคนิค) 

                รวมทั้งปรับปรุงอัตราโทษให้สอดคล้องกับฐานความผิดนั้น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอจุดยืนของ กกร.ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งยังขจัดอุปสรรคหลายประการที่มีความล้าสมัย และเพิ่มศักยภาพในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้าน Ease of Doing Business อันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในระยะยาว และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียน โดยร่างพระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ครม. ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 กำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุก 5 ปี  หรือมีข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

               กกร.สนับสนุนร่างพระราชกฤษฎีกา และเห็นว่าควรมีผลบังคับใช้ให้เต็มที่เพื่อให้มีการทบทวนแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจสังคม กกร. จะจัดสัมมนาเรื่องพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงหลักการโดยรวมของพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.....ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายไม่นานต่อจากนี้  

               และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนของการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.....ด้วยกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่สร้างระบบหลักประกันขึ้นเพิ่มเติมจากหลักประกันประเภทการจำนองและการจำนำ โดยเป็นกฎหมายที่รองรับการนำทรัพย์สินอื่น ๆ มาเป็นหลักประกัน ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสามารถใช้สอยทรัพย์สินต่อไปได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ไว้ต่อผู้รับหลักประกัน ทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ใช้เป็นหลักประกันตามกฎหมาย เช่น วัตถุดิบ สินค้าในคลังสินค้าสิทธิเรียกร้อง

               รวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการในการบังคับหลักประกันที่กำหนดขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากการบังคับหลักประกันโดยทั่วไปและจะเป็นช่องทางใหม่ให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

               นอกจากนี้ กกร. หารือผลการสำรวจทัศนะจากหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2559 และเห็นว่าไม่ควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ และควรให้ “คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด” พิจารณากำหนดการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามสภาพข้อเท็จจริงของเศรษฐกิจและสังคมและความจำเป็นของแต่ละจังหวัด โดยไม่ต่ำกว่า 300 บาท/วัน

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด