Product Review

แค่คลิกก็มา! เมื่อเอซีเราเตอร์สุดแรง! Asus RT-AC88U จับคู่กับที่สุดของตัวรับสัญญาณสุดแกร่ง Asus PCE-AC88

บริษัท เอซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

 

ASUS RT-AC88U Dual-Band Wireless-AC3100 Gigabit Router คุณภาพสูงจาก ASUS ทั้งเรื่องความเร็ว ความแรง ความเสถียร เหมาะสำหรับงานความเร็วสูง เช่น วีดีโอ หรือเกมส์ออนไลน์

 

     ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตพื้นฐานบ้านเราในปัจจุบันไปค่อนข้างไกล อย่างแพ็คเกจเริ่มต้นส่วนใหญ่ก็เริ่มความเร็วขั้นต่ำที่ 15Mbps กอปรกับปัจจุบันที่สื่อบันเทิงส่วนใหญ่ต่างอยู่บนโลกออนไลน์กันหมด ไม่ต้องพูดถึงระดับองค์กรขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง เพียงแค่บ้านช่องทั่วไปก็มักกจะอัพเกรดความเร็วจากความเร็วพื้นฐานไปอีก 2-3 ระดับ เช่นจาก 15Mbps เป็น 25-50Mbps เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับการบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสตรีมมิ่ง เล่นเกมส์ วิดีโอคอล ยังไม่รวมถึงแอพพลิเคชันต่างๆ บนสมาร์ทโฟนที่มาคอยแชร์แบนด์วิดธ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เมื่อต้องควบคุมทราฟฟิคผ่านทางเราเตอร์เริ่มต้นแค่เครื่องเดียวจากผู้ให้บริการย่อมไม่เพียงพอ ดังนั้นในวันนี้จึงขอนำเสนอ กิกาบิต เราเตอร์ ที่จะมาจัดการทราฟฟิคทั้งหลายเหล่านี้ อีกทั้งซื้อไปแล้วยังตัวเดียวจบ ไม่ต้องกังวลปัญหาตามมา

 

          เพียงแค่ดูดีไซน์จากภายนอก ก็ทราบได้ทันทีว่า Asus RT-AC88U จะเน้นเจาะกลุ่มตลาดเกมมิ่งเป็นหลัก รองลงมาคือผู้ใช้ทางด้านโฮมเอนเตอร์เทนเม้นท์ เนื่องจากดีไซน์มีความโฉบเฉี่ยวทันสมัย ตัวเครื่องใช้สีดำตัดแดงทำให้ดูดุดัน สัมผัสแรกที่ผู้เขียนได้จับตัวเราเตอร์ต้องบอกว่าคือค่อนข้างหนัก และแน่น คำว่าแน่น ณ ที่นี้หมายถึงงานประกอบ รวมไปถึงจุดวางพอร์ต และเสาสัญญาณที่ลงตัว เริ่มจากด้านบนเครื่องบริเวณด้านหน้าที่เป็นส่วนของไฟแสดงสถานะครบทุกการเชื่อมต่อและพอร์ต บริเวณด้านซ้าย – ขวา เยื้องไปทางท้ายเครื่องจะมีจุดติดตั้งเสารับ/ส่ง สัญญาณฝั่งละต้น ส่วนบริเวณท้ายเครื่องจะเป็นจุดวางพอร์ตต่างๆ ประกอบไปด้วย Gigabit WAN x 1, Gigabit LAN x 8, USB2.0 x 1, USB 3.0 x 1 ซึ่งนั่นคือดีไซน์ภายนอกนะ ส่วนภายในก็มีฮาร์ดแวร์ที่คอยขับเคลื่อนก็สำคัญไม่แพ้กัน ด้านในตัวเครื่องจะมีหน่วยประมวลผล 1.4 GHz Dual-Core Processor และมีหน่วยความจำ 128MB สำหรับ Flash Memory และ RAM 512MB 

รูปที่ 1 อุปกรณ์ต่างๆ ที่แถมมาให้ท้ายกล่อง

 

รูปที่ 2 ภาพช่องต่อหลักที่ด้านหลัง

 

          หน้าตาเว็บคอนฟิกกูเรชันของ Asus RT-AC88U ดูทันสมัยและใช้งานง่ายมาก อย่างหน้าแรกที่เป็นส่วนแสดงภาพรวมของการเชื่อมต่อทั้งหมด ก็จะมีการแสดงเป็นภาพแผนผังเลยว่าการเชื่อมต่อของเราเตอร์ขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีเครื่องที่เชื่อมต่อยู่กับตัวเราเตอร์กี่เครื่อง พอร์ต USB ได้ใช้งานหรือเปล่า? และยังบอกถึงสเตตัสการทำงาน รวมไปถึงสามารถปรับเปลี่ยน SSID, รหัสความปลอดภัย ได้ทันทีจากตรงนี้

 

 

รูปที่ 3 ภาพรวมของเว็บคอนฟิกกูเรชันของตัวเครื่อง Asus RT-AC88U

 

          ฟีเจอร์ความสามารถของ Asus RT-AC88U ไม่ได้เน้นความสามารถของระบบเครือข่ายแบบแอดวานซ์ แต่จะเน้นหนักไปในด้านบริหารจัดการทราฟฟิคเสียส่วนใหญ่ อย่างฟีเจอร์ Guest Network ที่ทำมาได้เข้าขั้นดีมากเลยทีเดียว เพราะตามปกติแล้วฟีเจอร์นี้บนเราเตอร์ส่วนใหญ่จะปรับแต่งได้ไม่ละเอียดนัก ทำได้เพียงแค่สร้าง SSID แยกโซนออกมาจาก SSID หลัก แต่บน RT-AC88U สามารถจำกัดเวลาในการเข้าใช้ระบบได้ รวมไปถึงยังสามารถกำหนดได้ด้วยว่าจะให้เข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือไม่

 

 

รูปที่ 4 Guest Network

 

          ด้านการจัดการข้อมูลตัวเครื่องก็มีฟีเจอร์ที่ชื่อว่า QoS (Quality of Service) ที่เข้ามาคอยควบคุมดูแล โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้งาน QoS แบบให้ตัวเครื่องคิดและจัดการเองโดยอัตโนมัติหรือ จะกำหนดเองก็ได้ โดยตัวเลือกที่มีให้เลือกปรับระดับความสำคัญก็จะมีหกตัวเลือก ซึ่งถ้าจะให้ผู้เขียนแนะนำก็คงต้องบอกว่าต้องอ้างอิงจากการใช้งานของแต่ละราย เพราะผู้ใช้แต่ละคนก็มีความต้องการการใช้งานแตกต่างกัน ทว่าการใช้งานที่ต้องการทราฟฟิคเยอะที่สุดคงไม่พ้นวิดีโอสตรีมมิ่ง และเกมออนไลน์ ดังนั้นควรจะเอาทั้งสองอย่างนี้ไว้ในลำดับความสำคัญสูงสุด

 

 

รูปที่ 5 QoS

 

          อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่ารุ่นนี้เน้นเจาะตลาดเกมมิ่งเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ว่าทำไมในเมนูหลักด้านซ้าย ถึงได้มีเมนูที่ชื่อว่า Game Boost อยู่ด้วย ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าแอพพลิเคชันประเภทเกมเหล่านี้จะมีโปรโตคอลโดยเฉพาะเอาไว้พูดคุยกัน ซึ่งเราเตอร์ก็จะให้ความสำคัญกับโปรโตคอลนี้มากกว่าโปรโตคอลอื่นๆ เพื่อให้การเล่นเกมเป็นไปอย่างลื่นไหล ไม่สะดุด สำหรับเราชาวเกมเมอร์แล้ว การลากเมาส์สะดุด หรือดีเลย์เพียงชั่วเสี้ยววินาทีก็ตัดสินความเป็นตายได้ (ที่กล่าวแบบนี้เพราะผู้เขียนเองก็เล่นเกมเหมือนกัน!)

 

 

รูปที่ 6 เมนู Game Boost

 

          การทดสอบในคราวนี้นอกจากจะมี Asus RT-AC88U ที่เป็นพระเอกแล้ว ยังมีพระรองอย่าง PCE-AC88 ที่เป็นการ์ดไวร์เลสแลนสำหรับใช้รับสัญญาณด้วย ความพิเศษของการ์ดรุ่นนี้ต้องบอกว่ามีดีตั้งแต่งานดีไซน์ ไปจนถึงเทคโนโลยีที่อยู่ภายใน ลำดับแรกจะพูดถึงในเรื่องของการดีไซน์กันก่อน ตามปกติแล้วการ์ดไวร์เลสแลนทั่วไปเมื่อติดตั้งลงบนเมนเบอร์ดแล้ว เสารับ/ส่งสัญญาณก็จะถูกติดตั้งบริเวณด้านหลังการ์ดที่อยู่ส่วนท้ายของเคส ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วตำแหน่งที่ตั้งของเคสก็มักจะเป็นด้านล่างของโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่เป็นจุดอับ ส่งผลทำให้สัญญาณที่การ์ดไร้สายได้รับมีคุณภาพดรอปลงไป ทว่า PCE-AC88 มี Mountable Antenna Base หรือก็คือฐานติดตั้งเสาสัญญาณให้มาด้วย ซึ่งฐานติดตั้งเสาสัญญาณนี้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับตัวการ์ดได้โดยตรง เมื่อเชื่อมต่อแล้วผู้ใช้ก็สามารถนำฐานติดตั้งเสาสัญญาณวางไว้ในจุดที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย แล้วสัญญาณที่ไร้สายที่ได้รับก็จะมีคุณภาพสูงสุด

 

 

รูปที่ 7 ตัวการ์ด PCE-AC88

 

          ในด้านสเปค PCE-AC88 รุ่นนี้จะมีสลอตแบบ PCI Express รองรับทั้งคลื่นความถี่ 2.4GHz และ 5GHz โดยที่คลื่น 2.4GHz จะรองรับที่ 1000Mbps และที่คลื่น 5GHz จะรองรับที่ 2100 Mbps แต่ยังไม่หมดเพียงแค่นั้นเพราะภายในตัวการ์ดรุ่นนี้มีเทคโนโลยี NitroQAMTM ที่สามารถรวมความเร็วของทั้งสองเข้าด้วยกันจนกลายเป็น 3100Mbps ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุด ด้วยสปีดขนาดนี้ต้องยอมรับเลยว่าเป็นที่สุดของการ์ดไวร์เลสจริงๆ

 

รูปที่ 8 Mountable Antenna Base

 

          การทดสอบแรกผู้เขียนทดสอบด้วยการเข้าใช้งานเว็บไซต์แบบปกติโดยเทียบกันระหว่างการเชื่อมต่อกับเราเตอร์ของผู้ให้บริการ กับ RT-AC88U ฟังดูอาจเป็นการทดสอบบ้านๆ แต่ความจริงแล้วให้ผลที่ดีมาก โดยผู้เขียนได้ลองเข้าใช้หลายเว็บไซต์ดังๆ ที่มีภาพและ ปลั๊กอินค่อนข้างเยอะ เช่น Sanook, Kapook ผลปรากฏว่าการเข้าถึงเว็บไซต์มีความรวดเร็วไม่ต่างกันเท่าใดนัก แต่!! การดึงข้อมูลส่วนต่างๆ ภายในเว็บไซต์เช่นแบนเนอร์ หรือภาพต่างๆ ทำได้รวดเร็วขึ้นแบบสัมผัสได้ โดยเราเตอร์ของผู้ให้บริการจะแสดงผลช้ากว่าประมาณ 2-4 วินาที จากการทดสอบทั้งหมดสิบครั้งในแต่ละเว็บไซต์

 

 

รูปที่ 9 ทดสอบเข้าเว็บไซต์ที่มีภาพ และปลั๊กอินเยอะๆ

 

          หลังจากการทดสอบเบาๆ ผ่านพ้นไป ผู้เขียนก็เริ่มทดสอบแบบฮาร์ดคอร์กันบ้าง โดยเริ่มจากทดสอบการดูวิดีโอสตรีมมิ่งบนแอพพลิเคชัน Netflix ที่ติดตั้งอยู่บนสมาร์ททีวีแบรนด์หนึ่ง แน่นอนว่าผู้เขียนไม่ได้เลือกชมวิดีโอสตรีมมิ่งแบบความละเอียด Full HD แต่เลือกแบบความละเอียด Ultra HD (3840x2160) ซึ่งการจะดูวิดีโอสตรีมมิ่งความละเอียดระดับนี้ต้องมีความเร็วอินเทอร์เน็ตขั้นต่ำ 30Mbps ผลปรากฏว่าตัวทีวีสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ไวมาก กดดูหนังปุ๊บความละเอียดภาพปรับเป็น 2160p ปั๊บ ถ้าเป็นตอนปกติความละเอียดภาพจะค่อยๆ ขยับขึ้นจาก 720p > 1080p > 2160p ตามลำดับ

 

 

รูปที่ 10 ทดสอบดูหนัง 4K หรือ Ultra HD กับแอพ Netflix

 

          โดยภาพรวมแล้วผู้เขียนประทับใจมากกับทั้งตัว Asus RT-AC88U ที่เป็นเอซีเราเตอร์ และ Asus PCE-AC88 ที่เป็นตัวรับสัญญาณ เพราะเมื่อได้ทดลองใช้แล้วถือว่าได้พบกับประสบการณ์ขีดสุดความเร็วเข้าไปอีกขั้น คือคุ้มค่ากับการลงทุนที่จะเปลี่ยน เพราะเปลี่ยนแล้วรู้สึกได้ถึงความเร็วที่เพิ่มขึ้นอย่างสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเล็กๆ น้อยๆ อย่างเข้าเว็บไซต์ หรือหนักหน่วงขนาดเล่นวิดีโอสตรีมมิ่งความละเอียด 4K นอกจากนี้ตัวเราเตอร์ยังมีฟีเจอร์จัดการทราฟฟิคอย่างมีประสิทธิภาพ ของดีจึงได้บอกต่อ!

 

สนใจสินค้าติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่มได้ที่



บริษัท เอซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
65/32 อาคารชำนาญเพ๊ญชาติบิสเนสเซ็นเตอร์ ชั้น 2
ถนนพระราม 9 ห้วยขวาง ห้วยขวาง กทม. 10310
โทรศัพท์ 0-2677-4422-29
www.asus.co.th

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด