PA & Sound / Light On Stage

เจาะแก่นระบบเสียงในสตูดิโอ (17)

เดชฤทธิ์ พลเยี่ยม

อีเมล์ : ฺBobby524@hotmail.com

แฟนเพจ : facebook.com/bobbysound88

 

“ อันที่จริงสาย CAT5e มันก็คือสาย LAN ระดับกิกะบิตดีๆ นี่เอง ถ้าเป็นสายที่มียี่ห้อดังๆ จะรันความเร็วได้ถึง 1Gbps ”

 

... (เนื้อหาต่อจากตอนที่แล้ว..) ...

 

สายสัญญาณดิจิตอล

          ข้อดีของสายสำหรับสัญญาณดิจิตอล มีความแตกต่างจากสายสัญญาณอะนาลอก ท่านไม่ต้องสนใจว่ามันทำงานอย่างไร แต่ควรใส่ใจว่าจะใช้งานยังไง ข้อเสียของสายดิจิตอลคือ เวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมา สายรุ่นเก่าๆ ก็จะตกยุคและอุปกรณ์ใหม่ๆ จะไม่ค่อยรองรับ อย่าง เช่น FireWire ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ที่รองรับพอร์ตดังกล่าวมีน้อยลง เพราะความเร็วของมันเร็วช้ากว่า USB 3.0 หลายเท่าตัว ในยุคที่ USB 2.0 เป็นมาตฐานของคอมพิวเตอร์ทั่วไป FireWire ได้ความนิยมเพราะเร็วกว่า USB 2.0 เท่าตัว แต่พอ USB 3.0 เปิดตัว FireWire จึงตกกระป๋องทัน ที ลองนึกภาพดูว่า FireWire800 มีแบนวิดธ์ประมาณ 800Mbps ในขณะที่ USB 3.0 มีแบนด์วิดธ์รับส่งข้อมูลสูงถึง 5Gbps คิดเป็น 6 เท่าตัว สายสัญญาณดิจิตอลส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับออดิโออินเทอร์เฟซ ซึ่งปัจจุบันมีการเชื่อมต่อกัน 3 ลักษณะ...

 

 

 

สาย USB

 

          (1) สายเชื่อมต่อผ่านพอร์ต... (1.1) USB เป็นมาตรฐานของออดิโออินเทอร์เฟซราคาประหยัด มีอัตราการถ่ายโอนข้อมูลต่ำ แต่ว่าก็สามารถทำงานในระดับโฮมสตูดิโอได้ มีข้อมูลทางเทคนิคระบุไว้ว่า USB 2.0 สามารถรันแทร็กออดิโอได้สูงสุดประมาณ 70 แทร็ก... (1.2) FireWire โดยทั่วไปจะเป็นออดิโออินเทอร์เฟซเกรดกลางๆ ซึ่งจะมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงกว่า USB 2.0 แต่ช้ากว่า USB 3.0 ซึ่งปัจจุบันความนิยมเริ่มถดถอยลง... (1.3) Thunderbolt เป็นอินเทอร์เฟซแบบใหม่ ซึ่งออดิโออินเทอร์เฟซที่รองรับมักจะเป็นรุ่นไฮเอ็นด์ เนื่องจากมีอัตราการส่งข้อมูลสูงมาก สามารถวิ่งได้ถึง 10Gbps ก่อนหน้านี้จะมี PCIe ที่วิ่งเร็วระดับหนึ่ง แต่คู่แข่งที่น่ากลัวกลับเป็นอินเทอร์เฟซ USB 3.0 ซึ่งมีสมรรถนะการทำงานไม่หนีกันมาก คือช้ากว่า Thunderbolt ประมาณ 2 เท่า

 

 

สาย FireWire

 

 

สาย Thunderbolt

 

         (2) สาย MIDI โดยทั่วไปจะใช้กับอุปกรณ์เครื่องดนตรี ซึ่งสาย MIDI จะใช้รับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์เครื่องดนตรีที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์และทำงานในแบบดิจิตอลเท่านั้น โดยคำว่า MIDI ย่อมาจาก Musical Instrument Digital Interface ซึ่งการสื่อสารจะอยู่ในรูปแบบของข้อมูลทางดนตรี ประกอบด้วยโน้ตดนตรีและค่าเวโลซิตี้ของมัน รวมถึงคำสั่งควบคุมการทำงานของโน้ตดนตรี เช่น กลุ่มคำสั่งคอนโทรลเลอร์ต่างๆ ในโฮมสตูดิโอสาย MIDI ปกติจะใช้กับคีย์บอร์ดหรือ MIDI คอนโทรลเลอร์ โดยส่งสัญญาณไปยังอินเทอร์เฟซของ MIDI เพื่อสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ อย่างเช่น ซาวด์โมดูล ซินธิไซเซอร์ หรือออดิโออินเทอร์เฟซ และซอฟต์แวร์ดนตรีบนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เดิมทีสาย MIDI จะเป็นปลั๊กขนาด 5 ขา ปัจจุบันเครื่องดนตรีบางรุ่น สามารถใช้สาย USB เป็นตัวรับส่งสัญญาณ MIDI ทำให้การติดตั้งและรับส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ง่ายขึ้น…

 

 

สาย MIDI

 

          (3) สายออปติคัล (Optical) สายสัญญาณประเภทนี้จะรับส่งข้อมูลโดยใช้อนุกรมของแสง บางครั้งเรียกสายใยแก้วนำแสง จุดเด่นคือสามารถรับส่งแชนเนลดิจิตอลออดิโอได้พร้อมๆ หลายแชนเนล โดยรันบนสายเพียงเส้นเดียว ปัจจุบันสัญญาณที่รับส่งแบบออปติคัลในแวดวงระบบเสียงจะมี 2 แบบคือ (3.1) ADAT จะรันได้มากถึง 8 แชนเนลที่ความละเอียด 48kHz หรือรันได้ 4 แชนเนลที่ 96kHz ต่อการเชื่อมต่อหนึ่งจุด... (3.2) S/PDIF รันได้ 2 แชนเนล ในสตูดิโอโดยทั่วไป ADAT จะใช้ส่งสัญญาณมัลติแชนเนลของไมค์ปรีไปเข้าออดิโออินเทอร์เฟซ ส่วน S/PDIF ปกติจะใช้กับสัญญาณเอาต์พุตแบบสเตอริโอมิกซ์จากออดิโออินเทอร์เฟซไปยังอุปกรณ์ภายนอก…

 

 

สายออปติคัล

 

          คุณสมบัติเบื้องต้นของสายใยแก้วนำแสงจะเป็นพลาสติกคุณภาพสูง สามารถโค้งงอได้ มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 8-10 ไมครอน ใยแก้วนำแสงจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งแสงจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ด้วยความเร็วเทียบเท่าแสง นั่นหมายถึงความเร็วในการรับส่งข้อ มูลในระยะไกลๆ สามารถทำได้ในเวลารวดเร็ว แสงจะเป็นตัวนำส่งข้อมูล ซึ่งจุดแข็งคือทำให้แม่เหล็กไฟฟ้าภายนอก ไม่สามารถเข้าไปรบกวนความชัดเจนของข้อมูล ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงนิยมนำไปใช้แทนตัวกลางในการส่งข้อมูลอื่นๆ มากขึ้น ในวงการเสียงก็เช่นกัน แต่เนื่อง จากมีต้นทุนเรื่องสายสัญญาณ เรื่องข้อจำกัดทางกายภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ออปติคัลเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น...

 

 

สาย BNC

 

          (4) สาย BNC ลักษณะสายเป็นแบบเดียวกับโคแอคเชียล ที่ใช้เชื่อมต่อเคเบิลทีวี ความแตกต่างของ BNC จะเป็นเรื่องของชื่อและวัตถุ ประสงค์ในการนำไปใช้งาน ในสตูดิโอจะใช้สาย BNC เพื่อซิงโครไนซ์อุปกรณ์ที่มีคล็อกภายในร่วมกับอุปกรณ์ดิจิตอลอื่นๆ พร้อมกัน ถ้าไม่มีสาย BNC ผลคืออุปกรณ์ดิจิตอลจะไม่สามารถซิงโครไนซ์ได้ และเวลาทำงานจะทำให้เกิดการเหลื่อมของจังหวะ เกิดอาการคลิกสะดุดและ pops ในสัญญาณออดิโอได้ ซึ่งสาย BNC ในห้องสตูดิโอขนาดใหญ่จะมีประโยชน์จากการเราท์ติ้งอุปกรณ์หลายๆ ชิ้นเข้าหากัน และให้มันทำงานร่วมกันได้… 

 

 

 

สาย AES/EBU

 

          (5) สาย AES/EBU เป็นสายที่มีคุณสมบัติเดียวกับสาย XLR แต่เวลาถ่ายโอนสัญญาณจะทำงานแบบเดียวกับสาย S/PDIF ดิจิตอลออปติคัล ซึ่งจะไม่ค่อยพบในอุปกรณ์ราคาถูก ส่วนมากจะพบในอุปกรณ์ระดับไฮเอ็นด์และอุปกรณ์อื่นๆ สิ่งที่ผู้คนเจอแล้วเกิดสับสนในเรื่องสาย AES/EBU คือ การถ่ายโอนสัญญาณดิจิตอล ซึ่งแตกต่างจากสายสัญญาณออดิโออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสายชนิด Optical, BNC, RCA, XLR โดย เฉพาะ XLR จะทำงานในเชิงอะนาลอกมากกว่า แต่ S/PDIF จะทำงานในเชิงคอนซูมเมอร์โปรดักซ์ แต่ AES/EBU จะเป็นมาตรฐานของการทำ งานสัญญาณในระดับโปร มาตรฐานนี้อาจเรียกอีกอย่างว่า AES3 โดยใช้ถ่ายโอนข้อมูลแบบ PCM ออดิโอจำนวน 2 แชนเนลต่อหนึ่งจุดเชื่อมต่อ โดยมีเทอมของโพรโตคอลที่ถูกเข้ารหัสเอาไว้ เช่น Audio Blocks, Frames, Subframes และ Time Slots อย่างไรก็ดี XLR อาจจะเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะใช้กันแพร่หลายในอุปกรณ์อะนาลอก ซึ่งลองคิดว่าการใช้ไมค์แบบนี้มันจะหยิบผิดหยิบถูกได้เหมือนกัน ดังนั้นต้องดูจุดที่เชื่อมต่อให้แน่ใจเสียก่อน...

 

 

สาย CAT5e

  

          (6) สาย CAT5e สายประเภทนี้เป็นลักษณะขั้วต่อแบบเดียวกับสายโทรศัพท์ในบ้าน ซึ่งจะมีสายเล็กๆ บรรจุอยู่ภายในหลายๆ เส้น ซึ่งสายชนิดนี้จะทำงานในสตูดิโอได้ดี ภายในสาย CAT5e จะประกอบด้วยสายที่เป็นชุดจ่ายแรงดันและชุดรับส่งสัญญาณดิจิตอลอยู่ภายในเส้นเดียว สามารถเชื่อมต่อในระยะไกลได้ และที่สำคัญมีค่า Latency ต่ำ ระบบที่ใช้การเชื่อมต่อแบบนี้มักจะเป็นอุปกรณ์ไฮเอ็นด์ สิ่งที่จะได้ประโยชน์จากมันคือสามารถรันออดิโอแชนเนลได้ถึง 40 แชนเนล ซึ่งมิกเซอร์หนึ่งตัวสามารถรับส่งสัญญาณผ่านสาย CAT5e ได้สบายๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สายสเน็กเคเบิลเลย อันที่จริงสาย CAT5e มันก็คือสาย LAN ระดับกิกะบิตดีๆ นี่เอง ถ้าเป็นสายที่มียี่ห้อดังๆ (AMP ; โปรดระวังของปลอม, Link) จะรันความเร็วได้ถึง 1Gbps แต่ในกรณีสายเป็นโนเนม เมื่อลากสายไปสัก 20-30 เมตรความเร็วจะตกลงเหลือ 100-200 Mbps เท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญเวลาลากสายยาวๆ ไม่เท่ากับเรื่องปัญหา Loss หรือเกิด Timeout ทำให้ความเร็วตก จนเกิดการดีเลย์ของสัญญาณ ซึ่งปัญหานี้อาการสาหัสกว่าความเร็วดร็อปเสียอีก...

 

 

สายเพาเวอร์

  

          (7) สายเพาเวอร์ สายชุดนี้ไม่เกี่ยวกับสายสัญญาณดิจิตอลหรืออะนาลอก แต่สายเพาเวอร์นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ถูกละเลย อุปกรณ์ โปรออดิโอหลายๆ ชิ้นมักจะทำเป็นปลั๊กแบบ 3 ขา ซึ่งผลิตโดยใช้มาตรฐาน IEC C13 สายนี้มักจะพบในคอมพิวเตอร์ยันสตูดิโอมอนิเตอร์และอุปกรณ์บนแร็ค บางครั้งในการวางรางเต้าเสียบปลั๊กอาจจะทำมาผิด เพราะคิดว่าจะใช้เฉพาะสายเต้าเสียบแบบสองรู ที่ไหนได้อุปกรณ์หลายตัวในปัจจุบันเป็นปลั๊กแบบสามรูกันหมด...

  

 

สายสเน็ค

 

          (8) มาตรฐานสายสัญญาณ อุปกรณ์ที่ผลิตเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม ไม่ว่าวงการไหนก็ตาม มักจะมีองค์กรกลางที่กำหนดมาตร ฐานหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้ผลิตสินค้าไปในทิศทางเดียว และที่สำคัญก็เพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำสินค้ายี่ห้อหนึ่งไปใช้ร่วมกับยี่ห้ออื่นได้อย่างไม่มีปัญหา ลองคิดดูว่าถ้ามีบริษัทหนึ่งผลิตสินค้าออกมาแล้วมีช่องเชื่อมต่อแปลกประหลาดที่สุด รับรองว่าคงจะขายไม่ออก เพราะใช้ร่วมกับชาวบ้านไม่ได้ ทีนี้ลองมาดูมาตรฐานสายที่มีองค์กรสากลยอมรับ และนิยมใช้กันแพร่หลายและบอกต่อๆ กันมา มีรายละเอียดดังนี้... (1) สายสเน็ค ถ้ามีการดึงสายหลายๆ เส้นลากไปลากมาพันกันมั่วไปหมดคงไม่ดีแน่ สายสเน็กจึงเสนอทางเลือกให้แก้ปัญหานั้น คือรวมสายสัญญาณต่างๆ ไว้ในเส้นเดียว ในโฮมสตูดิโอจะได้ประโยชน์จากสายนี้คือ... (1.1) ประการแรก ลดการตัดสายและจุดเชื่อมต่อ รวมถึงการใช้เวลาไล่หาจุดเชื่อมต่อที่มีปัญ หาได้ง่าย... (1.2) ช่วยให้วางระบบการเดินสายเป็นระเบียบมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างอินพุตของไมค์ปรีไปยังอุปกรณ์อื่นๆ ภายในห้อง ซึ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญในการเชื่อมต่อสัญญาณต่างๆ ด้านหลังแร็ค

 

 

สายไวน์เดอร์ส

  

          (9) สายไวน์เดอร์ส ในโปรสตูดิโอจะมีการนำสายประเภทไวน์เดอร์สมาใช้งาน เพราะเก็บง่ายและนำมาใช้ง่าย โดยไอเดียจะคล้ายกับเต้าเสียบไฟฟ้า ที่ม้วนเก็บสายเอาไว้ภายใน โดยทั่วไปภายในห้องสตูดิโอแบบเบดรูม ในแต่ละวันเวลาตื่นเช้ามาจะพบสายกองเต็มพื้น ทั้งสายไมค์ สายกีตาร์เต็มไปหมด การใช้สายแบบไวน์เดอร์สนั้นช่วยให้เราไม่ต้องเจอสายพะรุงพะรังแบบนั้น รวมถึงข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดเวลาเดินไปเตะสายแล้วกีตาร์ล้มลงกระแทกพื้นแล้วคอหัก อะไรทำนองนั้น ประโยชน์ที่ท่านจะได้รับคือ... (1) สามารถล็อกขนาดความยาวตามความเหมาะสม ถ้าใช้ยาวก็ดึงออกมายาว ถ้าใช้สั้นก็ดึงแค่เท่าที่ต้องการใช้... (2) สามารถกระตุกดึงเพื่อเก็บแล้วมันจะม้วนเข้าไปอย่างรวดเร็ว คล้ายกับการเก็บสายหม้อหุงข้าวยังไงยังงั้นเลย หลายคนชอบมัน เพราะมันเหมือนเป็นกิมมิคที่สมบูรณ์จริงๆ รุ่นที่แนะนำ Stage Ninja 26ft Instrument, Stage Ninja 26ft XLR และ Stage Ninja 60 ft XLR

 

การบัดกรีสายเอง

 

          ในโปรสตูดิโอบางครั้งเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบัดกรีสายใช้งานเอง การซื้อสายสำเร็จรูปบางครั้งมีราคาสูง และบางครั้งก็ได้ในสิ่งที่เราไม่ต้องการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบัดกรีสายใช้เอง เช่นเราต้องการแจ็คเกรดดีๆ สายดีๆ มาใช้งาน แต่พอไปดูในร้านขายปรากฎว่าไม่มีรุ่นที่เราต้อง การ จำเป็นต้องซื้อสายและปลั๊ก/แจ็คมาบัดกรีเอง ในโฮมสตูดิโอสายสัญญาณโดยทั่วไปไม่ควรยาวเกิน 25 ฟุต (7-8 เมตร) หรือเป็นไปได้ยิ่งสั้นก็ยิ่งดี เพื่อป้องกันปัญหาน้อยส์ที่เกิดจากสายสัญญาณ หลายคนคิดว่าการบัดกรีสายเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเคยลองและมีประสบการณ์จะรู้ว่ามันไม่ยากเลย ทุกอย่างจะต้องฝึก ในครั้งแรกๆ ท่านไม่มีทางที่จะบัดกรีให้สวยได้ ท่านต้องซื้ออุปกรณ์มาลองบัดกรีเองไปสักระยะ แล้วพัฒนาปรับปรุงข้อผิดพลาดไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะบัดกรีได้สวยเอง อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบัดกรีสาย... (1) หัวแร้ง... (2) ตะกั่ว... (3) น้ำยาบัดกรี …

 

 

ลักษณะการบัดกรีปลั๊ก XLR

 

 

ควรมีที่จับปลั๊ก XLR ขณะบัดกรี

 

 

ควรมีที่จับแจ็ค TS ขณะบัดกรี

 

 

XLR ที่บัดกรีเสร็จแล้ว

 

           อย่างไรก็ดี ตะกั่วสมัยนี้จะผสมน้ำยาบัดกรีลงไปในเส้นตะกั่ว ทำให้บัดกรีง่าย การบัดกรีแจ็ค/ปลั๊ก ผู้เขียนมีเทคนิคดีๆ มานำเสนอ อย่างแรกปลอกสายไฟแล้วบิดให้มันเป็นเกลียว ต่อมาให้เอาหัวแร้งจี้ตะกั่วโดยให้ตะกั่วละลายลงไปที่สายทองแดงหรือสายเงิน เหมือนเป็นการเคลือบตะกั่วบนสายทองแดง ถัดมาให้นำปลายหัวแร้งไปจี้ตำแหน่งที่ต้องการบัดกรีแล้วนำเส้นตะกั่วไปละลายตำแหน่งนั้น แต่ไม่ต้องใส่เยอะเพราะจุดบัดกรีมันจะใหญ่ แล้วเสี่ยงต่อการลัดวงจรหากว่าตำแหน่งนั้นมันเต็มไปด้วยตะกั่ว ขั้นตอนสุดท้าย นำสายไฟไปวางตำแหน่งที่ต้องการบัดกรีแล้วใช้หัวแร้งจี้ตรงเส้นทองแดงสักครู่ เมื่อตะกั่วเริ่มละลายก็ให้ดึงหัวแร้งออก ท่านก็จะได้จุดบัดกรีที่สวยงามและรวดเร็ว วิธีนี้ช่วยให้พลาส ติกที่หุ้มแจ็ค/ปลั๊กไม่ละลาย หรือเกิดรูปทรงบิดเบี้ยวเวลาโดนความร้อนจากหัวแร้งนานๆ... ยังไงก็ลองนำไปใช้กันดู นะครับ…

 

 

เปรียบเทียบ XLR ที่บัดกรีเสร็จ

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด