PA & Sound / Light On Stage

The ABC Theater Stagecraft (ตอนที่ 41)

สาธิต ไกวัลวรรธนะ

E-mail : sathit66@gmail.com

Facebook : Lightsandsoundhubcom

 

 

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านนิตยสาร Sound & Stage ทุกท่าน วาระหวลคืนมาที่ท่านผู้อ่าน ได้รับข่าวสารเนื้อหาของงานระบบแสงสีเสียงได้วนกลับมาครบรอบกันเป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งผู้เขียนก็ได้พยายามสรรหา เนื้อเรื่อง สาระมาให้ท่านผู้อ่านได้บริโภคเป็นประจำ โดยที่สาระและเนื้อ หาของหนังสือหรือนิตยสารนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ Sound & Stage หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีโอกาสเช่นนี้ตลอดไป ด้วยการสนับสนุน จากท่านผู้อ่านทุกท่าน

 

          นวงการระบบแสง สี เสียงนั้น ต่างก็มีเนื้อหา องค์ความรู้ มาให้เราได้เรียนรู้กันอย่างไม่หมดสิ้น และอย่างไม่หยุดนิ่ง เพราะความรู้ในงานระบบแสงเพื่อความบันเทิง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทั้งด้านศาสตร์ ศิลป์ และความรู้ในด้านทางเทคโนโลยี่ผสมผสานกันไป นอกจากนี้ในการเรียน รู้เรื่องราวของงานในระบบแสง เพื่อความบันเทิงนั้น มันมีอุปสรรคบางอย่างสำหรับบางท่านนั้นคือ ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของภาษาอังกฤษครับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของบทความนี้เลยครับ ที่จะช่วยท่านเข้าใจเนื้อหาต่างๆ ได้ดีมากขึ้นครับ

 

 

รูปที่ 1 นิตยสารด้านระบบแสงในต่างประเทศ

 

 

รูปที่ 2 ระบบแสงเวที

 

 

รูปที่ 3 ทีมงานระบบแสง สี เสียงที่ใช้ภาษาอังกฤษ

 

          ตามที่ท่านได้เรียนรู้มา ได้อ่านบทความนี้มาก่อนแล้ว เป็นธรรมเนียมปฏิบิตของบทความนี้ที่จะสรรหาเรื่องราวมาให้ท่านได้เรียนรู้กันทั้งหมดเป็นคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นคำศัพท์ทางด้านเทคนิคด้วยกันทั้งหมด 3 คำครับ และเป็นอย่างเช่นเคยที่เราได้นำทั้งสามคำมาให้ท่านผู้อ่านได้เรียนรู้กันครับ ดังมีคำดังต่อไปนี้ Color Temperature, Color Wash, และ Concert Border เป็นคำสุดท้ายที่มานำเสนอกันครับ

เรามาเรียนรู้กันเลยครับว่า ในแต่ละคำนั้นมีความหมายว่าอย่างไรบ้างครับ โดยจะนำเสนอแบบเรียงลำดับตัวอักษรในภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้เราได้นำเสนอมาถึงตัว C แล้วครับ ผมขออนุญาตเริ่มกันเลยครับ

 

Color Temperature

 

          คำแรกที่นำมานำเสนอกันในวันนี้คือคำว่า Color Temperature ถ้าเราจะแปลคำนี้จากภาษาอังกฤษกันแบบตรงไปตรงมา ก็น่าจะไม่ยากที่จะเข้าใจครับ มันสามารถที่จะแปลได้ว่า อุณหภุมิของสี ครับ แต่เราแปลกันแบบนี้แล้วมันหมายถึงอะไรล่ะครับ ในทางเทคนิคแล้วมันดูว่าจะเข้าใจไม่ได้ มันต้องมีการอธิบายกันหน่อยครับ เพื่อความเข้าใจมากขึ้น เราสามารถอธิบายความหมายของ Color Temperature ได้ดังต่อไป นี้ครับ

 

 

รูปที่ 4 อุณหภูมิสี

 

 

รูปที่ 5 Color Temp. Scale, Mood and application

 

          Color Temperature หมายถึง สีที่เกิดขึ้นจากการให้ความร้อนผ่านวัตถุสีดำ หรือเผาไหม้วัตถุสีดำ เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นที่วัตถุสีดำ วัตถุนั้นๆก็จะมีการดูซับความร้อนจนได้ในระดับต่างๆ สีจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิที่ได้รับ หรืออธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการบอกสีทาง ด้านการส่องสว่างด้วยอุณหภูมิสี ซึ่งหมายถึงสีที่เกิดจากการเผาไหม้วัสดุสีดำ ซึ่งมีการดูดซับความร้อนได้สมบูรณ์ ด้วยอุณหภูมิที่กำหนด เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์คูลไวท์มีอุณหภูมิสี 6500 องศาเคลวิน หมายถึง เมื่อเผาวัตถุสีดำให้ร้อนถึงอุณหภูมิ 6500 เคลวิน วัตถุนั้นจะเปล่งแสงออก มาเป็นสีคูลไวท์หรือขาวปนน้ำเงิน ซึ่งมันคือ ค่าอุณหภูมิของสี ที่เปลี่ยนไปตามอุณหภูมิความร้อน

           

          อุณหภูมิสียังมีส่วนอย่างมากในการกำหนดโทน หรือความรู้สึกต่างๆ (Mood & Tone) เช่น ในบริเวณที่แสงมีอุณหภูมิสีต่ำ จะให้ความ รู้สึกผ่อนคลาย ส่วนในบริเวณที่แสงมีอุหภูมิสีสูง จะให้ความรู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง อุณหภูมิในช่วงต่างๆที่เกิดการเปล่งแสงสีสันต่างๆขึ้นมาเป็นอุณหภูมิสี color temperature มีหน่วยเป็น K (องศาเคลวิน) ซึ่งเมื่อเรามาเทียบดูหากเราต้องการแสงสีขาวที่ระดับ 6500k ที่เป็นแสงเดย์ไลท์ จะต้องทำการเผาให้วัตถุสีดำมีค่าอุณหภูมิที่ 6500k ถ้าเทียบเป็นองศาเซลเซียสจะมีความร้อนถึง 6,227  ํC ถึงจะได้แสงไฟสีขาวออกมาในระดับ 6500 เคลวิน

 

          การบอกสีทางด้านการส่องสว่าง มักบอกด้วยอุณหภูมิสี ตัวอย่างเช่น เทียนไข 1900 เคลวิน... หลอดอินแคนเดสเซนต์ 2800 เคลวิน... หลอดฟลูออเรสเซนต์ (เดย์ไลท์ (Daylight ) 6500 เคลวิน, คูลไวท์ (Cool White ) 4500 เคลวิน, วอร์มไวท์ (Warm White ) 3500 เคลวิน)… Conventional Lighting (Tungsten Light Bulb) สำหรับงานแสดง 3200 เคลวิน... Autmated Lighting (MSR, HMI) สำหรับงานแสดง 5600 เคลวิน

 

 

รูปที่ 6 โคมไฟในงานละครที่มีอุณหภูมิสีที่ต่างกัน

 

 

รูปที่ 7 ตารางแสดงค่าอุณหภูมิสีกับแหล่งกำเนิดแสง

 

Color Wash

 

          คำที่สองที่นำมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้เรียนรู้กันในวันนี้คือคำว่า Color Wash เป็นคำที่เรามักจะเจอกันมากครับในงานระบบแสงเพื่อความบันเทิง หรืองานระบบแสงในงานเวที Color Wash เป็นคำที่ใช้เแล้วมีความเข้าใจได้ไม่ยากครับ โดยที่ว่าถ้าเราจะแปลคำนี้แบบทั่วไปมันก็อาจจะแปลได้ว่า การทำให้สีเต็มไปทั่วบริเวณ เต็มไปหมด หรือเป็นการสาดสีลงไปในพื้นที่ที่เราต้องการ 

 

 

รูปที่ 8 Color Wash

 

 

รูปที่ 9 โคมไฟที่ผลิตออกมาทำเป็น Color Wash โดยเฉพาะ

 

          Color Wash ในความหมายในการสื่อสารในงานระบบแสงเวทีนั้น หมายถึงการที่เราจะใช้โคมไฟโดยเลือกสีใดสีหนึ่ง และให้มันครอบ คลุมพื้นที่ในส่วนที่เราต้องการ ส่วนมากแล้วจะต้องเป็นพื้นที่ใหญ่ หรือทั้งพื้นที่เวทีเลยก็ว่าได้ โดยเรามักจะได้ยินคำว่า “Red Stage Wash” Blue wash for whole stage” หรือสั้นๆว่า “Blue Wash” เป็นต้น ซึ่งหมายถึงการใช้สีใดสีหนึ่งให้สว่างครอบคลุมทั้งเวที โดยอาจจะมาจากโคมไฟประเภทเดียวกัน หรือโคมไฟทั้งหมดก็แล้วแต่ความต้องการครับ

 

          Color Wash ก็ยังมีความหมายถึง การบ่งบอกให้โคมไฟที่ติดตั้งอยู่ในโรงละคร หรือพื้นที่การแสดงของท่าน มีการให้แสงที่เป็นโทนเดียวกัน เช่น การให้แสงสว่างที่เป็นสีแดงจากโคมไฟในตำแหน่ง FOH หรือด้านหน้าของเวทีที่อยู่เหลือศรีษะผู้ชม ให้มีความกลมกลืนเป็นสีเดียวกันกับโคมไฟที่ติดตั้งอยู่ในส่วนของบนเวที เพราะฉะนั้น Color Wash ก็สามารถที่จะระบุตำแหน่งได้ด้วยว่าต้องการ Color Front Wash หรือ Color Top Wash ครับ

 

Concert Border

 

          คำสุดท้ายที่เราได้เตรียมนำมาเสนอท่านผู้อ่านทุกท่านในวันนี้ เป็นคำที่ใช้ในงานระบบแสงที่เราท่านกำลังทำอยู่ บางคำอาจจะมีความเป็นเฉพาะกลุ่ม เฉพาะตัวครับ สำหรับคำสุดท้ายในวันนี้ก็อาจจะเป็นคำที่เฉพาะตัวนิดนึง ซึ่งผมก็พยายามไปสรรหาความหมายมามากกว่าที่ผมมี แต่เมื่อศึกษาหลายๆด้านแล้ว ผมมีความเข้าใจดังที่จะอธิบายให้ท่านได้ฟังดังต่อไปนี้ครับ

 

55

 

รูปที่ 10 Concert Border

 

55

 

รูปที่ 11 Border Lighting หรือ Strip Light

 

 

รูปที่ 12 Border Light as Footlights

 

          Concert Border เป็น Border light ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นแถวยาว มีโคมไฟที่ติดกันอยู่หลายโคมไฟ หรือเราบางครั้งก็เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Strip Light ซึ่งมีลักษณะแถวยาวเช่นเดียวกัน โดยที่ Border Light นี้จะทำหน้าที่เป็น Stage wash ก็ได้ขึ้นอยู่กับว่ามันอยู่ที่ตำแหน่งใด แต่ถ้าเป็น Concert Border แล้ว ส่วนมากจะแขวนอยู่ที่ตำแหน่งบาร์ไฟแรกหลังจาก Proscenium ครับ ซึ่งก็ทำหน้าที่ในการในแสงที่สาดลงมาตรงๆ เป็นสีตามที่เราต้องการครับ ผมสังเกตเห็นบางที่เราก็วาง Border Light หรือ Strip Light นั้นในส่วนที่เป็น Foot light จากด้านหน้าในมุมต่ำครับ ซึ่งดูแล้วก็เอาไว้เพื่อการลบเงาของใบหน้านักแสดงที่เกิดจาก Front Light ครับ

  

 

 

รูปที่ 13 Facebook Fan Page

 

          สำหรับบทความ ABC Theater Stagecraft ในวันนี้ก็ขอเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ ท่านผู้อ่านท่านใดมีข้อสงสัย มีคำถาม ตลอดถึงคำ แนะนำ คำติชมก็สามารถส่งกันเข้ามาได้ที่ sathit66@gmail.com โดยท่านสามารถแนะนำได้ทุกเรื่องครับ ผมจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้บทความมีประโยชน์มากขึ้น และท่านใดที่สนใจในการค้นหาความรู้ ข่าวสาร ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานระบบแสง สี เสียง ก็สามารถที่จะเข้าไปค้นหาข้อมูล กันได้ที่ www.lightsandsoundhub.com หรือท่านใดที่ชอบเล่น Social Media ก็สามารถไปหาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ที่ Facebook page ของผมเองครับที่ https://www.facebook.com/pages/Lightsandsoundhubcom/279870222047568 สำหรับบทความในวันนี้ ก็ขอเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ สวัสดีครับ...

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด