PA & Sound / Light On Stage

DMX 512 Over Network Cable Adapter

สาธิต ไกวัลวรรธนะ

E-mail : sathit66@gmail.com

Facebook : Lightsandsoundhubcom

 

 

สวัสดีครับท่านผู้มีอุปการะคุณต่อนิตยสาร Sound & Stage ทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้อ่านเองหรือเป็นผู้จัดซื้อ หรือหาหนังสือมาให้ผู้ อื่นอ่านก็ตาม ทาง Absolute Sound & Stage ต้องขอขอบคุณท่านในการติดตามบทความข่าวสาร และเนื้อหาในวงการระบบแสง สี เสียง ที่เราได้นำมานำเสนอครับ ผมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ชอบการศึกษา การอ่าน จะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจัดการกับข้อมูลที่มีมากมายในวงการ ระบบแสงสีเสียง นอกจากการอ่านแล้ว พอได้ลงมือทำก็ยิ่งจะเพิ่มความชำนาญให้กับเรามากขึ้น

 

 

รูปที่ 1 ระบบแสงเพื่อการแสดง

 

 

รูปที่ 2 Stage Lighting Set up

 

          นื่องจากเทคโนโลยีในวงการแสงสีเสียงนั้น มีการพัฒนาเคลื่อนไหวกันอยู่ตลอดเวลา มีการคิดค้นพัฒนา มีการต่อยอดความรู้ การปรับ ปรุง การเปลี่ยนแปลง การควบรวม การทำให้เล็กลง ง่ายขึ้น เบากว่าเดิม เล็กกว่าเดิม แต่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยม และรักษาความเร็วในการทำงานไว้ได้ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ว่าล้วนเป็นการพัฒนาในด้านต่างๆที่ต่างคนก็ต่างแข็งขันกันให้ดีที่สุด ยังมีอีกหลายด้านที่ไม่รวมเอา ไปคิด ด้วยเห็นว่าจะไม่ได้แน่ๆ คือ เรื่องของความคุ้มค่า การลดต้นทุนทั้งที่เป็นต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนในการผลิต ต้นทุนในการขนส่ง ซึ่งหมายถึงขนาดและน้ำหนักเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

          ท่านผู้อ่านคงจะเริ่มสงสัยว่าผมจะโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมกำลังจะพูดถึงอย่างไร มันเกี่ยวแน่นอนครับ เพราะสิ่งที่ผมกำลังพูดถึงมันมีอยู่ในทุกส่วนที่ผมได้พูดไปแล้ว นั้นคือ เรื่องของการสื่อสาร ที่ยังคงให้ความแม่นยำแน่นอน และยังคงเป็นการสื่อสารที่ยังคงเป็นที่ยอมรับ จับต้องได้ แต่มันก็มีอุปสรรค สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้เราได้พิจาราณากัน เปรียบเทียบกัน และนำไปสู่การตัดสินใจ ว่าวิธีการแบบใดดี แบบใดเหมาะ ซึ่งผมจะพูดถึงการสื่อสารทางสาย โดยนำเอาเรื่องราวของ DMX 512 Over Network Cable Adapter ซึ่งเป็นผลิตภันฑ์การสื่อสารในระบบแสงเพื่อความบันเทิงมาพูดกัน

 

 

รูปที่ 3 ระบบการสื่อสารในงานระบบแสง

 

 

รูปที่ 4 DMX 512 Over Network Cable Adapter

 

 

รูปที่ 5 Network Cable Cat 5

 

          แต่ผมคงไม่ได้เอ๋ยถึงเรื่องราวของทฤษฎีอะไรกันมากมาย แต่ผมขอนำเสนออุปกรณ์ที่ท่านน่าจะให้ความสนใจ และลองใช้งานดูครับว่าเป็นอย่างไร โดยอ้างถึงการทดสอบที่ทำแล้วจริงๆมาเป็นบทอ้างอิง อุปกรณ์ที่ผมกำลังจะพูดถึงเป็นอุปกรณ์ในงานระบบแสงเพื่อความบันเทิง ที่ได้พัฒนามาเพื่อสนองตอบต่อปัญหา อุปสรรค ต้นทุนเกี่ยวกับเรื่องของสาย ราคา ความยาว และจำนวนแชลเนลที่ผมพูดถึงมาก่อนหน้านี้ และจะพูดถึงต่อไปครับ แน่นอนครับว่าในปัจุบันนี้เรามีระบบการสื่อสารที่เป็นแบบไร้สายมากมาย และบางอย่างก็เป็นที่เชื่อถือได้ บางอย่างก็ประสบปัญหา เพราะถูกจำกัดความสามารถทางเทคนิคด้วยกฏหมายบางประการ บางอย่างก็ไม่มีความแน่นอนในการใช้งาน

 

          เพราะฉะนั้นอุปกรณ์การสื่อสารที่เป็นสาย ยังให้ความไว้วางใจได้ แต่ว่าก็ต้องหาวิธีที่จะลดต้นทุน ขนาดและน้ำหนัก ลงมาให้เป็นที่นิยม ใช้งานได้สะดวก ไม่ยุ่งยากมากนัก และยังคงราคา ความน่าเชื่อถือไว้ได้ด้วย เรามาดูอุปกรณ์ตัวนี้กันครับว่ามันมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เอามาทำอะไรได้บ้าง อุปกรณ์ที่ผมพูดถึงคือ DMX 512 Over Network Cable Adapter ท่านผู้อ่านสามารถดูรูปร่างลักษณะได้จากรูปที่ผมได้ลงมาให้ดูครับ ต้องขอบอกท่านผู้อ่านก่อนว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ที่คร่ำหวอดในวงการระบบแสงเพื่อความบันเทิงครับ เพราะเรื่องนี้มีมานานเป็นสิบกว่าปีแล้วครับ แต่ที่ผมนำมาให้ท่านผู้อ่านได้เรียนรู้กัน ก็เป็นเพราะว่าบางท่านอาจจะยังไม่ทราบ บางท่านอาจจะลืมไปแล้ว และบางท่านกำลังคิดถึงวิธีที่จะลดต้นทุนในการเดินสาย DMX เป็นต้น

 

DMX 512 Over Network Cable Adapter

 

          เป็นอุปกรณ์ที่นำเข้ามาใช้งานระหว่างบอร์ดควบคุมแสงกับชุดโคมไฟ ที่ติดตั้งในระยะทางที่ห่างไกลกัน เช่น ระหว่างห้องควบคุมกับเวทีในอาคารประชุมหรือ Control Location กับเวทีการแสดง เป็นต้น หรือในบางกรณีที่ต้องเดินสายไกลมาก แต่ระบบ Wireless DMX ไม่เหมาะสมหรือไม่คุ้มในการลงทุน เราจะเห็นว่า DMX 512 Over Network Cable Adapter นั้นมีสองชุดด้วยกันคือ ชุดหนึ่งเป็นการแปลงสายจากสาย DMX 521 ไปเป็นสาย Network หรือที่เราเรียกกันว่าสาย Cat5 ส่วนอีกชุดหนึ่งเป็นการแปลงสายจากสาย Cat5 กลับมาเป็นสาย DMX 512 เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นสายที่อยู่ตรงกลางระหว่าง Adapter ทั้งสองตัวนั้นคือสาย Cat5 ที่มีใช้กันอย่างมากมายจนทำให้มันมีราคาที่ถูกครับ

 

 

รูปที่ 6 DMX 512 Over Network Cable Adapter ชุดส่ง กับ ชุดรับ

 

 

รูปที่ 7 DMX 512 Over Network Cable Adapter ของ CM Cable

 

          เพราะฉะนั้นเราจะเห็นถึงการใช้งานและประโยชน์ของ DMX 512 Over Network Cable Adapter กันแล้ว ว่าช่วยลดต้นทุนได้ดี การเดิน สายไม่มากหลายเส้นจนเกินไป สำหรับเจ้าตัว Product “DMX 512 Over Network Cable Adapter” ก็ไม่มีอะไรพูดมากครับ แต่จะขอให้ความเข้า ใจความต้องการและความเป็นมาสักเล็กน้อยเกี่ยวกับ DMX 512 Over Network Cable Adapter เพื่อท่านผู้อ่านจะได้รู้ว่าทำไมต้องมี DMX 512 Over Network Cable Adapter ขึ้นมาใช้งานครับ... ถ้าท่านผู้อ่านสนใจในตัวสินค้า ราคา ก็สอบถามเข้าไปได้ที่ บริษัท ดับบลิวซี แอนด์ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (WC&M GROUP CO.,LTD) Tel. +66-2329-1551-3 , Fax. +66-2329-1554, E-mail: info@wcmgroup.net

 

ความเป็นมา

          การสื่อสารในงานระบบแสงเพื่อความบันเทิง ระหว่างโคมไฟกับบอร์ดควบคุมแสง มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากยุคก่อนๆในอดีตที่ผมจะไม่พูดถึง เรื่อยมาจนเป็นการใช้ระบบอะนาลอกไปควบคุม Dimmer และโคมไฟ ในที่สุดการควบคุมหรือการสื่อสารแบบนี้เป็นแบบใช้แรงดัน 0-10 โวลต์ หลังจากนั้นไม่นานการพัฒนาโคมไฟที่มีฟังก์ชั่นการทำงานมากขึ้น หรือในส่วนของอุปกรณ์เสริมที่ต้องใช้แชลเนลในการควบคุมก็มีมากขึ้น การควบคุมแบบอะนาลอกก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากมีการใช้แชลเนลและสายไฟในการควบคุมมากขึ้น ลองคิดดูครับ 1 แชลเนลต่อหนึ่งคู่สาย หรือแม้แต่เป็นสายมัลติคอร์ก็ทำให้สายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆครับ ตามจำนวนแชลเนลที่ใช้

 

 

รูปที่ 8 Analog Dimmer Control

 

 

 

รูปที่ 9 ชุดคำสั่ง และบอร์ดควบคุมที่ใช้ DMX 512

 

          ลองนึกถึงถ้าเราต้องควบคุมแสงที่มีโคมไฟหรือ Dimmer จำนวน 100 ตัว สายจะใหญ่มากแค่ไหนครับ การพัฒนาก็เปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ มาเป็นระบบการสื่อสารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า DMX 512 และมาเป็น DMX 512A ซึ่งมีความสามารถควบคุมโคมไฟที่มีแชลเนลในการควบคุมทั้งหมดได้ไม่เกิน 512 แชลเนลครับโดยผ่านสายเส้นเดียว ซึ่งถามว่าเพียงพอหรือไม่ ในยุคหนึ่งก็เพียงพอแต่เมื่อมี จำนวนโคมมากขึ้น แต่ละโคมก็มีการใช้แชลเนลในการควบคุมที่ต่างกัน แต่จำนวนสายนั้นมีขนาดเล็กลง แน่นอนหลังจากนั้นโคมไฟที่มีการใช้แชล เนลควบคุมมากขึ้นก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะการพัฒนาที่หยุดยั้งไม่ได้ จำนวนแชลเนลในการควบคุม 512 แชลเนลนั้นไม่เพียงพอ ก็มีการสร้างให้มากขึ้นคือเป็น 2 Universe 512+512 = 1024 ก็ยังไม่พอครับ และนี้เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลง การหาหนทางมาช่วยสนับสนุนการใช้จำนวนแชลเนลที่มากขึ้น ด้วยการลดจำนวนสายหรือนำไปสู่ระบบไร้สาย

 

DMX Channel ความต้องการที่มีมากขึ้น

 

          เราได้ทราบความเป็นมาของการสื่อสารของระบบแสงเพื่อความบันเทิง คราวนี้เรามาดูกันที่ความจำเป็นของการที่จะต้องใช้จำนวนของแชลเนลในการควบคุมที่มีมากขึ้นนั้น มันมีเหตุผลมาจากสิ่งใด ต้องขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า โคมไฟที่เราใช้ในงานระบบแสงเพื่อความบันเทิงหรืองานแสดงนั้น มันมีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา แต่ก่อนใช้โคมไฟเพียงให้แสงสว่างโดยผ่านการควบคุม Dimmer ก็ใช้เพียงแชลเนลในการควบ คุมเพียงแชลเนลเดียว แต่เมื่อโคมไฟมีหน้าที่มากกว่าการให้แสงสว่าง เช่น ต้องเคลื่อนไหวไปมาในแนวตั้งและแนวนอน มีการเปลี่ยนสีเองได้ เป็นต้น โคมไฟเหล่านั้นก็เริ่มมีการใช้จำนวนแชลเนลในการควบคุมการทำงานในฟังก์ชั่นอื่นๆ มากขึ้น

 

 

รูปที่ 10 Conventional Lighting

 

 

รูปที่ 11 Automated Lighting, Intelligent Lighting

 

 

 

รูปที่ 12 LED Stage Lighting และเป็น LED Automated Lighting

 

          ผมกำลังพูดถึงโคมไฟที่พัฒนาจากโคมไฟประเภทที่เราเรียกกันว่า Conventional Lighting ไปสู่โคมไฟที่เราเรียกกันว่า Automated Lighting, Intelligent Lighting เป็นต้น โคมไฟที่กล่าวถึงเป็นโคมไฟที่มีฟังก์ชั่นการทำงานมากกว่าการให้เพียงความสว่าง แต่มีฟังก์ชั่นการเคลื่อน ไหว การเปลี่ยนสี การลดหรือเพิ่มความสว่าง การเปลี่ยนรูปแบบของ Pattern ของแสง การ Zoom เลนส์ทำให้แสงมีความคมชัดหรือกระจายแสง การทำไฟกระพริบ (Strobe) เป็นต้น สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงพื้นฐานของฟังก์ชั่นที่มีในโคมไฟประเภท Automated Lighting ที่ต้องพึ่งพาอาศัยจำนวนแชลเนลในการควบคุมที่มากขึ้นตามเป็นเงาตามตัวครับ บางโคมไฟต้องการ 16 แชลเนล บางโคมไฟต้องการถึง 32 แชลเนล เป็นต้น

               

          นอกจาก Automated Lighting ที่ต้องการใช้ DMX แชลเนลที่มากขึ้นแล้วนั้น ยังมีแนวโน้มของโคมไฟประเภท LED เข้ามาแทนที่โคมไฟที่เป็นทั้ง Conventional Lighting และ Automated Lighting โดยกลายเป็น LED Stage Lighting และเป็น LED Automated Lighting ซึ่งนั้นหมาย ความว่า จำนวนแชลเนลที่ต้องการใช้ในโคมไฟเหล่านี้มีมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นอุปกรณ์ในงานระบบแสงเพื่อความบันเทิง อุปกรณ์เสริมต่างๆ ก็หันมาใช้การควบคุมที่มาจากบอร์ดควบคุมแสงด้วย ก็เลยทำให้ความต้องการจำนวน DMX แชลเนลนั้นมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนี่เองเป็นเหตุผลที่มีการใช้งาน DMX แชลเนลจากบอร์ดควบคุมจาก 1 Universe เป็น 2 และ 3 และ 4 และ 5 และไปเรื่อยตามขนาดของสเกลงานที่ต้องการ

 

ใครรับรองมาตรฐาน

 

          เท่าที่ผมทราบและค้นคว้ามานั้น หน่วยงานที่มีชื่อว่า ESTA ชื่อเต็มคือ Entertainment Services and Technology Association (ESTA) เป็นหน่วยงานที่คอยดูแล จัดการ ควบคุม ทำรายงาน ทดลอง ทดสอบ ออกมาตรฐานที่เกี่ยวกับงานในระบบแสงเวที และด้านอื่นๆที่เกี่ยว ข้องกับงานบันเทิงให้มีมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตาม หน่วนงานนี้ที่ได้ทำการทดสอบในเรื่องของการใช้สาย Cat 5 มาทดแทนการใช้งานสาย สัญญาณ DMX ซึ่งการทำการทดสอบนี้อยู่ภายใต้หน่วยงานย่อยที่มีชื่อว่า TSP ย่อมาจาก Technical Standards Program ซึ่งใน TSP มีการแยกกลุ่ม Working Group ออกเป็นหลายกลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่ทำงานในการทดสอบเรื่อง DMX over Cat5 นี้ก็จัดอยู่ในกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับ Control Protocols ผลของการทดลองก็สรุปออกมาได้ว่าสาย Cat5 หรือสูงกว่านั้น ทั้งประเภทที่เป็น UTP cable หรือ STP cable มีความเหมาะสมที่จะใช้งานในการสื่อสารสัญญาณ DMX 512 เช่นเดียวกับการใช้สายสัญญาณ DMX 512 (EIA-485) ที่ใช้กันทั่วไป การทดสอบนี้มีมาตั้งแต่ปี 1998 และการทดสอบเพิ่มเติมในปี 1999 ครับ สำหรับท่านที่สนใจอยากอ่านรายละเอียดการทดสอบก็สามารถเข้าไปได้ที่ http://tsp.esta.org/tsp/working_groups/CP/DMXoverCat5.htm

 

 

รูปที่ 13 ESTA หน้าเว็ปไซต์

 

ข้อได้เปรียบในการใช้งาน DMX over Cat5

 

          ผมคาดเดาว่าท่านผู้อ่านคงได้ข้อสรุปด้วยตนเองแล้วว่า การใช้งานตัวแปลงสายสัญญาณ DMX over Cat5 นั้นมันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ถ้าเราลองสรุปออกมาเป็นสาระสำคัญใหญ่ก็น่าจะมีสิ่งต่อไปนี้รวมอยู่ด้วยครับ

 

          - ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสาย DMX เพราะสามารถใช้สาย Cat5 แทนได้

 

          - ประหยัดเวลาในการเดินสาย ใช้พื้นที่น้อยในการวางสาย และมีน้ำหนักที่เบากว่า

 

          - การขนส่ง การจัดเก็บ เป็นไปอย่างง่ายดาย รวดเร็ว

 

          - สาย Cat5 หาง่าย มีราคาถูก

 

ข้อแนะนำในการเดินสาย

 

          เมื่อเราต้องการใช้ DMX over Cat5 Cable Adapter เราต้องคำนึงถึงข้อแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

 

          - ไม่ควรเดินสายสัญญาณรวมไปกับสายไฟฟ้า ถ้ามีความจำเป็นพยายามให้มีระยะห่างกับสายไฟในระยะที่มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

 

          - เลือกสาย Cat5 or Cat5e ที่มีคุณภาพ ถ้าเป็นสายแบบ STP ก็จะมี Shield มาด้วยเพื่อช่วยลดสัญญาณรบกวน และดีกว่าสาย UTP แต่ก็มีราคาที่สูงกว่า

 

          - ขั้วต่อที่มีคุณภาพ การเข้าสายที่มีมาตรฐาน สวยงามและแน่นหนา จะช่วยลดปัญหาเล็กๆน้อยๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับสัญญาณได้

 

 

รูปที่ 14 DMX over Cat5 Pin–out  

 

 

 

รูปที่ 15 DMX over Cat5 Pin–out แบบ 4 Universe, 3 Universe และ 2 Universe

 

Wireless DMX ล่ะ

 

          ใช่ครับผมก็คิดอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้เรากำลังพูดถึงการใช้งานตัว DMX over Cat5 Adapter ตัวที่นำมาให้ท่านได้เห็นกันนี้ เป็นการใช้งานระหว่างบอร์ดควบคุมกับชุดโคมไฟที่มีระยะทางที่ห่างกันมาก และจำเป็นต้องใช้กันถึง 4 Universe จุดประสงค์เพื่อเป็นการประหยัดสาย DMX โดยใช้สาย Cat5 เพียงเส้นเดียว สำหรับบางพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาก็ต้องพึ่งพา Wireless DMX แต่บาง Solution นั้นไม่เหมาะ เพราะฉะนั้น การใช้ระบบ Wireless DMX อาจจะไม่คุ้มค่ากันครับ เราต้องเลือกพิจาราณาดูกันครับ ความจำเป็นของการใช้ Wireless DMX อาจจะไม่ใช่การประหยัดสายเพียงอย่างเดียวครับ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าสถานที่ที่เราจะเดินสาย DMX นั้นดูเหมือนจะยากและลำบากเช่น ข้ามแม่น้ำ ภูเขา ข้ามถนนที่ยังมีการจราจรอยู่ขณะใช้งาน แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องของ Traffic ที่อยู่ในอากาศให้ดีครับ เพราะ Wireless DMX ก็ใช้ 2.4G เหมือนกับ Wifi ครับ เหมือนกับโทรศัพท์ไร้สาย และเหมือนกับ Wireless Intercom ด้วย แต่จะตรงแชลเนลกันหรือเปล่า ในส่วนนี้ที่เป็นการลิ้งค์ระหว่างจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง การใช้ DMX over Cat5 Converter ก็ถือว่าคุ้มค่าและเหมาะสมแล้วครับ

 

 

รูปที่ 16 Wireless DMX

 

          ครับบทความสำหรับตอนนี้ ก็ขอเอาไว้เท่านี้ครับ และเราคงได้มีหนทาง มีตัวเลือกที่เราจะทำงานให้มีต้นทุนต่ำลง แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพ ผมคิดว่าท่านผู้อ่านหลายท่าน คงได้แนวคิดหลายอย่างและนำเอา DMX 512 Over Network Cable Adapter ของ CM Cable ไปลองใช้งานดูครับ และรายละเอียดที่ท่านต้องการเพิ่มเติมก็สามารถติดต่อเข้าไปได้ที่ บริษัท ดับบลิวซี แอนด์ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (WC&M GROUP CO.,LTD) 4/1 ซอยลาดกระบัง 14/1, ถนนลาดกระบัง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520 Tel. +66-2329-1551-3, Fax. +66-2329-1554, E-mail : info@wcmgroup.net สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ...

 

 

รูปที่ 17 www.lightsandsoundhub.com

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด