IT Update

เปิดประตูสู่โลกที่สั่งการได้ตามต้องการ (Programmable World) ผ่านการสื่อสาร เชื่อมต่อ และทำงานร่วมกันของอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (IoT)

กองบรรณาธิการ

 

 

 

 

          Internet of Things (IoT) ถูกมองว่าเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมการสื่อสารและผู้ให้บริการ องค์กรต่าง ๆ ผู้ผลิตแอพพลิเคชั่น และผู้ใช้บริการต่างมีความตื่นตัวในความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ IoT สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ทุกคนต่างรอคอยอนาคตที่กำลังจะมาถึง เมื่อ IoT จะทำให้เกิดเมืองอัจฉริยะที่มีความยั่งยืนกว่าและสนุกกว่าทั้งในแง่การอยู่อาศัยและการทำงาน แอพพลิเคชั่นอัจฉริยะทางด้านสุขภาพจะช่วยชีวิตผู้คนได้มากขึ้น และระบบความปลอดภัยสาธารณะที่ดีขึ้นจะช่วยให้ผู้คนรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย

 

 

          ถึงกระนั้น หลายคนและหลายองค์กรที่มีความสนใจในความสำเร็จของ IoT ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของมัน ถึงแม้การพัฒนาของ IoT จะมีมาอย่างต่อเนื่อง IoT ในปัจจุบันนี้โดยส่วนใหญ่ยังคงถูกแบ่งโดยการทำงานในอุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียว โดยเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายที่เป็นระบบปิด (Proprietary System) เพื่อใช้สำหรับแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบทรัพย์สินระยะไกล และการบริหารจัดการการขนส่ง แต่อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มของแอพพลิเคชั่นอีกหลากหลายกลุ่มที่จะต้องถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับตลาดในรูปแบบต่าง ๆ

 

 

 

          วงจรของการสร้างโซลูชั่นที่เป็นระบบปิดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้นจะนำไปสู่การแบ่งแยกตลาดออกเป็นส่วนย่อย ซึ่งในที่สุดแล้วศักยภาพของ IoT จะไม่ถูกนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เราจะทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินเข้าสู่ทางตันในเรื่องของโซลูชั่นที่มีกรรมสิทธิ์เฉพาะ และอะไรคือเทคโนโลยีใหม่ที่ยังต้องการการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก

 

 

มาตรฐานที่ครบวงจรเป็นสิ่งสำคัญ

 

          ในขณะที่หน่วยงาน 3GPP กำลังกำหนดมาตรฐานการเชื่อมต่อ IoT ในพื้นที่กว้าง โดยใช้เครือข่ายเซลลูลาร์ และยังมีอีกหลายเทคโนโลยีในเรื่องของการสื่อสารระยะใกล้ ยังมีมาตรฐานสำหรับ เทคโนโลยี IoT อีกหลายอย่างที่ยังขาดหายไป การทำให้แอพพลิเคชั่นใช้งานได้ (Application Enablement) การวิเคราะห์ข้อมูล ระบบรักษาความปลอดภัย การทำแผนที่ตำแหน่งที่ตั้ง การวางตำแหน่งภายในอาคาร และระบบเซนเซอร์อัจฉริยะ ล้วนมีกรรมสิทธิ์เฉพาะซึ่งทำให้ไม่สามารถรองรับการทำงานเชื่อมต่อถึงกันซึ่งเป็นลักษณะการทำงานของ IoT ได้

 

          โนเกีย เน็ตเวิร์คส์ จึงร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม องค์กรด้านการวิจัย ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสาร และผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรม เพื่อเสาะหารูปแบบทางธุรกิจต่าง ๆ เพื่อบ่งชี้ความต้องการทางเทคโนโลยี และแนะนำกรอบการทำงานที่เป็นมาตรฐานต่าง ๆ ในการปรับใช้ IoT ให้ใช้งานได้แบบเฉพาะเจาะจงตามต้องการและใช้งานได้อย่างครบวงจร

 

 

 

แคทริน บูแวค รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ โนเกีย เน็ตเวิร์คส์

 

          แคทริน บูแวค รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ โนเกีย เน็ตเวิร์คส์ กล่าวว่า “วิสัยทัศน์ของเราเกี่ยวกับ IoT คือการเชื่อมต่อโลกให้ทำงานร่วมกันได้เช่นเดียวกับการสื่อสารระบบเซลลูลาร์ในปัจจุบัน เราเชื่อในมาตรฐานและอินเตอร์เฟซที่เป็นระบบเปิด เราต้องการที่จะเห็นว่า IoT ได้รับการพัฒนาเพื่อให้ทุกคนในทุกวงการนำไปใช้ได้ เพราะ IoT จะช่วยลดความซับซ้อนให้กับชีวิตผู้คน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลองนึกภาพดูว่าเราจะสามารถช่วยให้ผู้คนใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และช่วยผู้ให้บริการสามารถให้บริการได้ดีขึ้นได้ด้วยสมรรถนะของ IoT เป้าหมายต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทำให้ประสบความสำเร็จไปพร้อม ๆ กันได้ และเราเชื่อว่าโนเกีย เน็ตเวิร์คส์จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้"

          ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อไม่นานมานี้ โนเกียประกาศความร่วมมือกับอินเทลและอีริคสันในการสนับสนุนเทคโนโลยีรับส่งข้อมูล LTE แบบแถบความถี่แคบ (Naroow-Band Long-Term Evolution: NB-LTE) ให้เป็นโซลูชั่นในการเชื่อมต่อแบบไร้สายที่มีประสิทธิภาพสำหรับ IoT โดย NB-LTE เป็นตัวแปรที่เหมาะสมตัวหนึ่งของเทคโนโลยี LTE และเหมาะกับตลาดกลุ่ม IoT เพราะมีค่าใช้จ่ายในการวางระบบต่ำ ใช้ง่ายและประหยัดไฟ โนเกียจะช่วยพัฒนาและส่งผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในการทำธุรกิจ NB-LTE ที่ตรงกับความต้องการของตลาดออกสู่ตลาด

          Nokia AirFrame Data Center เป็นโซลูชั่นใหม่ของโนเกียที่เป็นแพลทฟอร์มระบบเปิดเพื่อควบรวมแอพพลิเคชั่นด้านโทรคมนาคม ไอที และ IoT เข้าด้วยกัน นับเป็นโซลูชั่นแรกในวงการที่ทำการรวมแอพพลิเคชั่นด้านไอทีที่ได้รับการยอมรับและมีประสิทธิภาพที่สุดเข้ากับความต้องการอย่างยิ่งยวดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยใช้ขีดความสามารถในการรวมศูนย์ทรัพยากรและกระจายทรัพยากรเพื่อสร้างเครือข่ายโทรคมนาคมและการให้บริการ ซึ่งรวมถึง 5G ด้วย

 

 

          โนเกียยังเป็นผู้ริเริ่มเทคโนโลยี Mobile Edge Computing (MEC) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นหรือผู้ประกอบการได้อยู่ในจุดที่ใกล้กับผู้ใช้งานมากขึ้น ด้วย Liquid Applications ซึ่งในปัจจุบันกำลังจะได้รับการบรรจุเป็นมาตรฐาน ISG MEC (Industry Specification Group, Mobile-Edge Computing) ของ ETSI (มาตรฐานโทรคมนาคมของสหภาพยุโรป) Nokia Liquid Applications MEC มีความสามารถในการเปลี่ยนสถานีฐานให้เป็นโหนดอัจฉริยะที่สามารถส่งข้อมูลและประมวลผลได้ในบริเวณนั้น และรองรับการใช้งาน  IoT  ได้ทันที เช่นการเชื่อมต่อกับรถยนต์เป็นต้น

          ผู้นำในตลาดต่าง ๆ ล้วนให้ความสำคัญกับความจริงจังของโนเกียเกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT เช่นในประเทศเกาหลีใต้ โนเกียได้ร่วมมือกับ Korea Telecom โดยโนเกียจะสร้างห้องทดลองด้าน IoT เป็นแห่งแรกในประเทศเกาหลีใต้เพื่อถ่ายทอดความเชี่ยวชาญความรู้ด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ  IoT  และช่วยทดสอบการทำงานร่วมกันและการเชื่อมต่อกันให้กับพันธมิตรที่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก

          ในงาน Nokia Open Innovation Challenge ที่จัดขึ้นในปี 2015 เรามุ่งให้ความสำคัญกับ IoT เราทำงานกับนักนวัตกรรมจากทั่วโลกเพื่อวางพื้นฐานการทำงานให้กับอนาคตอุตสาหกรรม IoT

          โนเกียเชื่อมั่นในมาตรฐานและอินเตอร์เฟซระบบเปิด และเราเลือกสรรพันธมิตรด้านแพลทฟอร์ม IoT จากผู้จัดจำหน่ายหลายรายที่เห็นพ้องและมุ่งมั่นกับหลักการเหล่านี้ วิสัยทัศน์ของโนเกียคือการที่ได้เห็น IoT เป็นสิ่งที่เป็นมาตรฐานสากลในการเชื่อมต่อโลก เหมือนการสื่อสารผ่านระบบเซลลูล่าร์ในปัจจุบัน เราต้องการเห็นทุกคนในทุกวงการสามารถใช้ IoT ได้

          แม้ว่าเรามีความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ในการทำงานร่วมกันและการเชื่อมต่อกันของ IoT แต่ไม่มีบริษัทไหนแม้แต่แห่งเดียวจะสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดนี้ได้เพียงลำพัง ผู้ให้บริการโทรคมนาคม นักพัฒนา และผู้จัดจำหน่ายรายอื่น ๆ ล้วนจำเป็นต้องร่วมแสดงบทบาทของตน เพื่อให้มั่นใจว่า IoT จะเป็นอนาคตที่เป็นจริงและนำมาใช้งานได้

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด