R&D Show Update

มจธ. พบแพลตฟอร์มรา ผลิตยาชีวภาพต้านมะเร็ง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 

 

นายอนุวัฒน์ เตชะฤทธิ์ นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ.

 

 

          นักวิจัย มจธ. ค้นพบ กรรมวิธีสร้างระบบการส่งถ่ายยีน (Fungal Transformation Platform Technology) เข้าไปในรา “Aspergillus Oryzae” เพื่อผลิตยาทางชีวภาพรายแรกของไทย

 

 

         เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในกระบวนการหมักเพื่อผลิตอาหารอย่าง ซีอิ๊วและเต้าเจี้ยว หรือขนมเทมเป้ (ถั่วเน่า) ต่างก็ใช้รา “Aspergillus Oryzae” ในการหมักเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ได้คุณภาพ เนื่องจากราดังกล่าวจะมีเอนไซม์เพื่อที่จะช่วยย่อยโปรตีนในถั่วเหลือง ให้เกิดอะมิโนแอซิดตัวเล็ก ๆ ช่วยย่อยโปรตีนและด้วยความที่ “Aspergillus Oryzae” มีความปลอดภัยสูง จึงได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและอนามัยโลก ซึ่งปัจจุบันกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพกำลังได้รับการนิยม มีการนำศาสตร์ทางด้านอนุพันธุวิศวกรรมมาใช้ในการนำราชนิดนี้ไปต่อยอดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพหลากหลาย

 

          โดยล่าสุดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพด้านรา สังกัดสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ค้นพบ “กรรมวิธีสร้างระบบการส่งถ่ายยีน (Fungal Transformation Platform Technology) หรือกรรมวิธีการผลิตสารทุติยภูมิในกลุ่มโพลีคีไทด์ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางยา โดยรา “Aspergillus Oryzae” ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ไม่ต้องเติมสารอื่น ๆ” ได้สำเร็จเป็นรายแรก

 

          นายอนุวัฒน์ เตชะฤทธิ์ นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. เปิดเผยว่า กรรมวิธีการผลิตสารทุติยภูมิในกลุ่มโพลีคีไทด์ เป็นกระบวนการทางชีวภาพที่ไม่สามารถผลิตได้จากกระบวนการทางเคมี ซึ่งโพลีคีไทด์ เป็นสารที่ออกฤทธิ์ทางยา ที่มีประสิทธิภาพในการต้านเซลล์มะเร็ง ซึ่งลำพังเฉพาะตัวระบบหรือแพลตฟอร์มดังกล่าว จะไม่สามารถผลิตสารที่มีคุณประโยชน์ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่จะต้องมีการนำเอายีนที่ผ่านการศึกษาเชิงลึกแล้วว่ามีคุณสมบัติสามารถผลิตสารบางชนิดดี มีมูลค่าสูง เพื่อนำไปใส่ในแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เพื่อบังคับให้ Aspergillus Oryzae เป็นผู้ผลิตสารอันทรงคุณค่าออกมาเพื่อนำมาใช้กับมนุษย์

 

          “เราสร้างระบบการส่งถ่ายยีน เข้าไปในเซลล์ของรา “Aspergillus Oryzae” ซึ่งมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว โดยยีนที่ส่งเข้าไป จะเป็นยีนที่มีคุณสมบัติต่างๆ เช่น มีความสามารถในการลดคลอเรสเตอรอล มีกรดอะมิโนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสารต้านมะเร็งเท่านั้น แต่เป็นสารดี ๆ ก็สามารถส่งถ่ายเข้าไปในระบบที่เราสร้างขึ้น เพื่อให้ราสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษตามต้องการ และเมื่อนำราสายพันธุ์ใหม่ไปใช้งาน โดยแพลตฟอร์มที่เราวิจัยและพัฒนาขึ้นนี้ดีกว่าตรงที่ไม่ต้องใส่อะไรให้มัน เพียงแต่ใส่ยีนดีให้เขาทำงานได้ด้วยตัวเอง และเติบโตต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องใช้การควบคุมโดยเติมสารต่าง ๆ ลงไปอีก”

 

 

 

 

          ล่าสุดงานวิจัยดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรและอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกร่วมกับ สวทช. ซึ่งนายอนุวัฒน์ ระบุว่า ทางด้านห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพด้านรา สังกัดสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ยังคงวิจัยเพิ่มเติม เพื่อค้นหายีนใหม่ ๆ คุณภาพดี มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างต่อเนื่อง

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด