Logistic & Supply Chain

มองรอบทิศคิดอย่าง Supply Chain โลจิสติกส์และซัพพลายเชนในระบบการขนส่งทางอากาศ (ตอนจบ)

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

 

 

 

          การขนส่งทางอากาศมีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศเพราะทำการขนส่งได้รวดเร็วกว่าการขนส่งประเภทอื่น ๆ ไม่เสียเวลาในการขนส่งนาน สะดวก และปลอดภัย เหมาะกับการขนส่งสินค้าประเภทที่สูญเสียง่าย หรือสินค้าต้องการความรวดเร็วในการใช้งาน ซึ่งการขนส่งประเภทนี้ทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้รวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ แต่ค่าใช้จ่ายแพงกว่าการขนส่งประเภทอื่น

 

 

          หากพูดถึงธุรกิจการขนส่งทางอากาศ (Air Transportation) หลายคนอาจนึกถึงการขนส่งผู้โดยสาร (Passenger Flight) เป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วยังมีการขนส่งสินค้า พัสดุภัณฑ์และไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ (Cargo/Freight and Mail) ซึ่งเป็นกิจการที่ทำเงินได้ไม่น้อยไปกว่าการขนส่งผู้โดยสารเลย และมีบริษัทผู้ประกอบการหลายบริษัทที่เน้นทำธุรกิจประเภทนี้โดยเฉพาะ ในศัพท์ทางธุรกิจการบิน (Airline Business) แล้วเราจะเรียกผู้ประกอบการที่ให้บริการการขนส่งผู้โดยสาร/สัมภาระ มีการบริการรับขนส่งสินค้า พัสดุภัณฑ์และไปรณียภัณฑ์อยู่บ้างประกอบกันว่า “สายการบินหรือบริษัทการบิน” (Airline or Carrier) เช่น สายการบินไทย สายการบินบางกอกแอร์ สายการบินคาเธ่ย์ สายการบินเอมิเรต์ เป็นต้น หากเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศทั้งขนาดใหญ่ที่มีฝูงบินเป็นของตนเอง และผู้ให้บริการขนาดเล็กที่ซื้อระวางมาจากสายการบินอีกทอดหนึ่ง โดยผู้ให้บริการประเภทนี้เน้นการขนส่งสินค้าที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว สินค้าที่ใช้บริการการขนส่งเป็นสินค้าที่มีขนาดเล็กและเบา เน้นการให้บริการแบบรับ-ส่งของถึงที่ (Door to Door) คือ เป็นการรับของจากผู้ส่งที่ต้นทาง จากนั้นจะดำเนินพิธีการทางศุลกากรทั้งในประเทศต้นทางและปลายทางให้ และส่งให้กับผู้รับปลายทาง โดยจะมีการเก็บค่าบริการแบบเหมาจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บที่ต้นทาง โดยผู้รับปลายทางจะชำระเพียงค่าใช้จ่ายด้านภาษีอากรและค่าบริการทางเอกสารพิธีการศุลกากรเท่านั้น เช่น บริษัท DHL, FedEx, UPS ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจการขนส่งทางอากาศรายใหญ่ เราเรียกว่า “ผู้รับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ” (Air Courier)

          สายการบินหรือบริษัทการบิน (Airline or Carrier) หลายบริษัทที่เคยเน้นแต่การขนส่งผู้โดยสารแต่เพียงอย่างเดียว ก็หันมาเปิดกิจการขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศออกมาอีกแบบหนึ่งโดยเฉพาะต่างหาก เช่น บริษัท สายการบินไทย, สายการบิน Emirates และสายการบิน Korean Air โดยมีเครื่อง Cargo เพื่อขนส่งสินค้า พัสดุภัณฑ์และไปรณียภัณฑ์ทางอากาศแยกออกต่างห่างโดยเฉพาะ

 

 

 

(Airline or Carrier)

(http://media.2oceansvibe.com/wp-content/uploads/2012/07/airplanes.jpeg)

 

 

 

(Air Courier)

 

 

 

เครื่อง Cargo ของบริษัท การบินไทย ที่แยกออกมาขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศโดยเฉพาะ

(http://www.transportjournal.com/uploads/pics/ThaiCargo-Fraport2_01.jpg)

 

 

 

เครื่อง Cargo ของสายการบิน Emirates

(http://cargotrends.in/wp-content/uploads/2011/12/emirtes.jpg)

 

 

 

เครื่อง Cargo ของสายการบิน Korean Air

(http://assets.bwbx.io/images/iedwmpQExImk/v0/628x-1.jpg)

 

 

          ในธุรกิจการขนส่งทางอากาศนั้น ยังมีผู้ประกอบการอีกสองประเภทที่อาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตาในบ้านเรานัก ประเภทแรก คือ ผู้ประกอบการที่ทำการขนส่งทั้งผู้โดยสารและ Cargo ไปพร้อม ๆ กัน โดยจะใช้เครื่องบินกึ่งโดยสาร (Combi Flight หรือ Combination of Passenger & Main Deck Loader) ซึ่งประกอบด้วย ที่นั่งสำหรับผู้โดยสารด้านบน (Upper Deck และ/หรือ ครึ่งหนึ่งของ Main Deck) และพื้นที่ที่เหลือสามารถบรรทุกสินค้าได้ทั้งหมด เครื่องบินประเภทนี้จะให้การบริการขนส่งสินค้าควบคู่ไปกับการขนส่งผู้โดยสารโดยจะมีระวางบรรทุกสินค้าไว้ตรงบริเวณใต้ท้องเครื่องบิน (Belly) ทั้งนี้ปัจจุบันการให้บริการขนส่งสินค้าในลักษณะดังกล่าวนับเป็นแหล่งรายได้เสริมที่สำคัญของสายการบินโดยสารหลายแห่ง สายการบินที่ให้บริการแบบผสมผสานนี้จึงเรียกกันว่า “Combined Carriers”

 

 

 

 

Alaska Airlines Boeing 737-200 Combi N740AS Cabin

(http://cdn-www.airliners.net/aviation-photos/photos/0/4/1/2160140.jpg)

 

 

          ประเภทที่สอง คือ ผู้ประกอบการสายการบินที่รับขนส่งเฉพาะสัตว์เลี้ยงแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะพบเห็นในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งมีขั้นตอนและกฎระเบียบ จากหน่วยงานและองค์กรหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องทั้ง บริษัทสายการบิน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO-International Civil Aviation Organization) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA-International Air Transport Association) องค์การอนามัยโลก สาธารณสุขของแต่ละประเทศของสายการบินนั้น ๆ ซึ่งมีขั้นตอนที่หลากหลาย แต่ในอีกมิติหนึ่งก็เป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ไม่น้อย เพียงแต่อาจไม่ได้รับความนิยมในบ้านเราเท่านั้น

 

 

 

ผู้ประกอบการสายการบินที่รับขนส่งเฉพาะสัตว์เลี้ยงแต่เพียงอย่างเดียว

(http://thesavvyexplorer.com/wp-content/uploads/images/stories/traveltips/plane-with-pets%20lo.jpg)

(http://www.adrants.com/images/pet_airways.jpg)

 

 

          ธุรกิจการขนส่งทางอากาศนับเป็นอุตสาหกรรมการบริการสาขาหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของโลก เพราะเป็นการบริการขนส่งที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่ประเทศต่าง ๆ มีการคมนาคมติดต่อกันมากขึ้น ส่งผลให้การขนส่งทางอากาศของโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอดเวลา สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA: The International Air Transport Association) คาดการณ์ว่าปี พ.ศ.2558 ปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ โดยรวมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4-6 ซึ่งภูมิภาคที่การขนส่งทางอากาศขยายตัวมากที่สุดคือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 6.5% ตลอดระยะเวลาในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

 

 

 

การขยายตัวของการขนส่งทางอากาศในแต่ละภูมิภาค

(Boeing World Air Cargo Forecast Team 2014-2015, p. 5.and p.44)

 

 

          การขนส่งทางอากาศนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคบริการขนส่งทางอากาศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5 ของ GDP สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคบริการท่องเที่ยว ร้อยละ 7.5 ของ GDP ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคบริการการขนส่งทางอากาศและการท่องเที่ยวประมาณ 393,000 คน โดยมีมูลค่าการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 5.8 ของ GDP รัฐบาลได้รับภาษีจากธุรกิจบริการการขนส่งทางอากาศ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งจากการจ้างงาน ประมาณ 17.2 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งจะนำมาจัดสรรเป็นงบประมาณสำหรับดำเนินการพัฒนาสังคม (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, มีนาคม 2556)

          ตามข้อมูลของ IATA ยังระบุด้วยว่า อัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ (ปริมาณสินค้าต่อตันต่อกิโลเมตร: FTK) ในปี 2557 ที่ผ่านมามีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปี 2556 หลังจากที่มีการชะลอตัวมาหลายปี ทั้งนี้เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ภูมิภาคที่มีการขยายตัวมากที่สุด คือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และ ภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่นกัน โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนั้นมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ในปี 2557 ปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและการผลิตที่แข็งแกร่งขึ้น โดยตลาดญี่ปุ่นและจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของภูมิภาค

          IATA ยังระบุอีกว่า ในภาพรวมปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินที่เป็นสมาชิก IATA ในปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมานี้ พิจารณาจากรายได้ผู้โดยสารต่อกิโลเมตร (RPK) เปรียบเทียบกับปี 2556 จะพบว่า RPK เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 โดยมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 3.3 พันล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้โดยสารเมื่อปี 2556 ถึง 170 ล้านคน ทั้งนี้ อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 79.7 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.2 โดยในปี 2557 ที่ผ่านมานี้ ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในทุกภูมิภาคทั่วโลกมีการเติบโตขึ้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้มาจากปริมาณผู้โดยสารของสายการบินที่อยู่ในตลาดที่กำลังขยายตัว (Emerging Market) ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และ ภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสามเดือนสุดท้ายของปี IATA ยังพบว่า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเดินทางภายในประเทศจีน ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปี 2556

          จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมการบิน และการขนส่งของไทยยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวของปริมาณผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อย่างไรก็ตาม สายการบินในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทสายการบินไทย หรือแม้แต่สายการบินสัญชาติไทยอื่น ๆ ก็จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวดังกล่าวโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินอากาศ และ เรื่องความพร้อมขององค์ประกอบต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องบุคลากรการบิน ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA)ได้ “ประกาศลดอันดับไทยอยู่ให้อยู่ใน Category 2” ผ่านทาง www.faa.gov เนื่องจากไม่สามารถแก้ไข 36 ข้อบกพร่องได้ครบตามกำหนด โดยประกาศดังกล่าวระบุว่าองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FAA ได้ประกาศลดอันดับไทยให้อยู่ใน Category 2 เนื่องจากไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานของ ICAO (International Civil Aviation Organization) ได้ ทำให้ไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินใหม่เข้าสู่สหรัฐอเมริกาได้ แต่อย่างไรก็ดีเราเองก็ยังสอบผ่าน EASA-European Aviation Safety Agency หน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป ซึ่งทำให้สายการบินของเรายังสามารถทำการบินเข้าสู่ทวีปยุโรปได้ดังเดิม จากประเด็นดังกล่าวล้วนเป็นประเด็นที่เราควรนำมาศึกษาพิจารณาปรับปรุงอุตสาหกรรมการบินของไทย ว่าเราควรจะปรับอะไรกันบ้างได้แล้ว

 

 

 

(http://www.kanomjeeb.com/img/content/%E0%.jpg)

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

• รายงานประจำปี 2557 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), หน้า 36.

• สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, มีนาคม 2556.

• Boeing World Air Cargo Forecast Team 2014-2015, p. 44.

• 2013 Air Cargo Market Share by Airline Domicile, Boeing World Air Cargo Forecast Team 2014-2015, p. 5.

http://assets.bwbx.io/images/iedwmpQExImk/v0/628x-1.jpg.

http://bnn-news.com/wp-content/gallery/dhl-if-you-were-a-parcel-you-would-always-arrive-in-time/offload_aircraft_1.jpg.

http://cargotrends.in/wp-content/uploads/2011/12/emirtes.jpg.

http://cdn-www.airliners.net/aviation-photos/photos/0/4/1/2160140.jpg.

https://i.ytimg.com/vi/8402ivGimug/maxresdefault.jpg.

http://media.2oceansvibe.com/wp-content/uploads/2012/07/airplanes.jpeg.

http://3.imimg.com/data3/GJ/LI/MY-5618016/air-courier-express-door-to-door-service-250x250-250x250.jpg.

http://thaipublica.org/wp-content/uploads/2015/12/easa.png.

http://thesavvyexplorer.com/wp-content/uploads/images/stories/traveltips/plane-with-pets%20lo.jpg.

http://www.adrants.com/images/pet_airways.jpg.

http://www.kanomjeeb.com/img/content/%E0%.jpg.

http://www.transportjournal.com/uploads/pics/ThaiCargo-Fraport2_01.jpg.

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด