Macro Economic Outlook

เปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฟิลิปปินส์...ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ เดินไปด้วยความมั่นคง (ตอนที่ 1)

ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการตรวจสอบ สำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

 

 

          เปิดศักราชใหม่มาได้เพียงไม่กี่วัน การก่อการร้ายที่ศูนย์กลางการค้าและธุรกิจในกรุงจากาตาร์ อินโดนีเซีย (2016 Jakarta Attacks) กลายเป็นเหตุการณ์ “ช็อคโลก” ที่สร้างความหวาดวิตกต่อการขยายอิทธิพลของ กลุ่มไอเอส ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  

      กลุ่มไอเอส (Islamic State) มีประวัติการต่อสู้มาตั้งแต่ครั้ง สงครามอิรัก เมื่อปี ค.ศ.2003 ที่สหรัฐอเมริกาโจมตีอิรัก ช่วงเวลานั้นไอเอสเป็นเพียงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ช่วยรัฐบาลอิรักต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา ต่อมากองกำลังกลุ่มนี้จัดตั้งเป็นกลุ่มก้อนและสถาปนา รัฐอิสลามแห่งอิรักหรือ ISI ขึ้น จนกระทั่งหลังเหตุการณ์อาหรับสปริงและสงครามกลางเมืองในซีเรีย กลุ่มไอเอสได้ขยายอิทธิพลยกระดับเป็น รัฐอิสลามอิรักและซีเรีย หรือ ISIS ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น IS ในปัจจุบัน

          นับตั้งแต่การเสียชีวิตของ นายโอซามา บิน ลาเดน (Osama Bin Laden) ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ หรืออัลเควด้า (Al-Qaeda) กลุ่มก่อการร้ายที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 กลุ่มไอเอสที่มี นายอาบู บาการ์ อัล แบกดาดี (Abu Bakr al-Baghdadi) ผู้นำกลุ่มได้ก้าวขึ้นมาเป็น บุคคลอันตราย และถูกจัดให้เป็นเบอร์หนึ่งของการก่อการร้ายยุคนี้

          อย่างไรก็ดี ปัญหาก่อการร้ายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะเกี่ยวพันกับการสร้างดุลอำนาจในการเมืองระดับโลกซึ่งเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร รวมทั้งขยายตลาดอาวุธสงคราม ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไปแล้ว

          การก่อเหตุอุกอาจในกรุงจากาตาร์ยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญปัญหาความมั่นคงและการก่อการร้ายมากขึ้นหลังจากที่กำลังเริ่มต้นเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อย่างเต็มตัว

 

 

 

เหตุการณ์ก่อการร้ายช็อคโลกเมื่อต้นปี 2016 เมื่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่อ้างว่าเป็นกลุ่มไอเอสเข้าก่อเหตุความรุนแรงในย่านใจกลางกรุงจากาตาร์

(ภาพจาก http://i.ndtvimg.com/i/2016-01/jakarta-attacks_650x400_61452784815.jpg

 

          สำหรับซีรีส์ตอนต่อไป ผู้เขียนเดินทางมาถึงประเทศที่เจ็ดแล้วนะครับ ประเทศที่ว่านี้มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็น “หมู่เกาะ” มีประชากรร่วมร้อยล้านคน มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เคยตกเป็นอาณานิคมของสเปนและสหรัฐอเมริกา แต่ประชาชนในประเทศนี้มี “เลือดนักสู้” ไม่แพ้ชาติใดในโลก ในทางกีฬา พวกเขามีนักมวยที่เก่งที่สุดในโลก ในทางการเมือง พวกเขาสามารถรวมพลังประชาชนโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการได้ ส่วนด้านเศรษฐกิจ พวกเขากำลังไปได้สวยกับข้อได้เปรียบทั้งเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษและความเข้มแข็งของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ...ใช้แล้วครับ ! เรากำลังจะพาท่านไปเยือน ฟิลิปปินส์

 

ฟิลิปปินส์ : ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ...เดินไปด้วยความมั่นคง

 

          ฟิลิปปินส์มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines) มีลักษณะเป็นหมู่เกาะ ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยมากถึง 7,107 เกาะ แต่มีเกาะใหญ่เพียง 11 เกาะที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

 


ตราแผ่นดิน

 

 

ธงชาติฟิลิปปินส์

 

สีที่ใช้บนธงชาติและตราแผ่นดิน คือ น้ำเงิน แดง ขาว

ส่วนดาวห้าแฉกสามดวง หมายถึง ลูซอน วิสายาห์ และมินดาเนา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ของประเทศ

 

 

          พื้นที่ส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์เป็นภูเขา แต่ที่น่าสนใจ คือ มีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับถึง 22 ลูก นอกจากนี้ภูมิศาสตร์ที่ตั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อุทกภัย วาตภัยโดยเฉพาะพายุไต้ฝุ่น มรสุมที่แวะมาเยือนทุกปี ซึ่งภัยธรรมชาตินับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนฟิลิปปินส์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

          อย่างที่เรียนไปแล้วนะครับว่า เกาะใหญ่ในฟิลิปปินส์มีอยู่ทั้งหมด 11 เกาะ มีพื้นที่รวมกัน 90% ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด เกาะใหญ่ที่สุด คือ เกาะลูซอน (Luzon) อยู่ทางตอนเหนือ ส่วนทางใต้นั้น เกาะมินดาเนา (Mindanao) เป็นเกาะใหญ่ที่สุด

 

 

ฟิลิปปินส์ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟอก มีเกาะสำคัญ คือ ลูซอน เซบู มินดาเนา ปาลาวัน

เมืองหลวง คือ มนิลา เมืองเก่าแก่ที่สำคัญในลูซอน

(ภาพจาก http://www.lonelyplanet.com/maps/asia/philippines/map_of_philippines.jpg)

 

          ผู้คนที่อาศัยในฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เป็น พวกตากาล็อก (Tagalog) นอกนั้น มีชนกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่ม เช่น บิซายัน (Bisayan) อิโลกาโน (Ilokano) บิโคล (Bikol) ปัมปันกัน (Pampangan) เป็นต้น ยังมีกลุ่มชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากแต่ครั้งอดีตและมีบทบาทควบคุมเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เช่นเดียวกับอิทธิพลของชาวจีนอพยพในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

นายโฮเซ รีซัล (José Rizal) วีรบุรุษคนสำคัญของฟิลิปปินส์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้คนฟิลิปปินส์ลุกขึ้นต่อต้านสเปน

รีซัล เป็นนักเขียนผู้มีอิทธิพลทางความคิดเรื่องชาตินิยมในฟิลิปปินส์ ต่อมาเขาถูกรัฐบาลสเปน เจ้าอาณานิคมประหารชีวิต

การตายของรีซัลเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวฟิลิปปินส์ลุกขึ้นสู้กับสเปน (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

          สังคมฟิลิปปินส์เป็น สังคมเปิด ที่ผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลาย เนื่องจากในอดีตพวกเขาเคยตกเป็นอาณานิคมของสเปนและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้หมู่เกาะทางใต้แถบมินดาเนาได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามทำให้ผู้คนแถบนี้เป็นชาวมุสลิม

          ข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจนั้น ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีทรัพยากรสำคัญ คือ สินแร่โลหะ ก๊าซธรรมชาติ ทองแดงและทองคำ

          ขนาดเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ใหญ่เป็นอันดับที่ 39 ของโลก (จากข้อมูล IMF) ล่าสุดไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว เศรษฐกิจฟิลิปปินส์โตถึง 6% และเมื่อดู GDP รายหัว (GDP per capita) รายได้ต่อหัวของประชากรอยู่ที่ 2,915 เหรียญสหรัฐต่อปี (อันดับที่ 123 ของโลก ข้อมูลจาก IMF)

 

 

ย่านมากาติ (Makati) ในกรุงมนิลา ย่านสำคัญทางเศรษฐกิจ การเงินการค้าของฟิลิปปินส์

(ภาพจาก http://media.philstar.com/images/the-philippine-star/nation/20140713/makati-business-center-2.jpg)

 

          สินค้าเกษตรสำคัญ คือ มะพร้าว ฟิลิปปินส์จัดว่าเป็นผู้ส่งออกมะพร้าวรายใหญ่สำคัญของโลก

          นอกจากนี้ข้าวก็ยังเป็นผลิตผลทางภาคเกษตรที่สำคัญเช่นกัน ถ้าท่านใดที่คุ้นเคยกับภาพ นาขั้นบันได (Rice Terrace) ซึ่งเป็นอีก “ซิกเนเจอร์” หนึ่งของฟิลิปปินส์ นาขั้นบันไดแห่งเทือกเขาฟิลิปปินส์ ที่ว่านี้ตั้งอยู่ในจังหวัดอิฟูเกา ในเขตบริหารกอร์ดิลเยรา เกาะลูซอน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญบนเกาะลูซอน

 

 

ความสวยงามของนาขั้นบันไดในจังหวัดอิฟูเกา  (Rice Terraces of the Philippine Cordilleras)

มรดกสำคัญทางวัฒนธรรมที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

          ฟิลิปปินส์พัฒนาอุตสาหกรรมทั้งด้านสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยา เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้ และอาหารแปรรูป ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นสินค้าออกที่มีตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์

          เมื่อเราเอ่ยถึงฟิลิปปินส์ จุดเด่นอีกเรื่องหนึ่ง คือ การปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ชาวฟิลิปปินส์ภูมิใจเนื่องจากพวกเขามีส่วนร่วมสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ หลังจากโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี “ทรราช” เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos)

 

 

อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

ผู้ถูกโค่นล้มโดยขบวนการพลังประชาชนเมื่อปี ค.ศ.1986

(ภาพจาก http://globalbalita.com/wp-content/uploads/2012/09/Ferdinand-Marcos-Martial-Law.jpg)

 

          ประชาธิปไตยยุคใหม่ของฟิลิปปินส์เป็นไปตาม “กติกาโลก” ที่ใช้ระบบการเลือกตั้งผู้นำซึ่งมาจากพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากในสภา หากจะโค่นล้มถอดถอนก็ดำเนินการภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญ

          นับตั้งแต่ล้มรัฐบาลของมาร์กอสลงเมื่อปี ค.ศ.1986 ฟิลิปปินส์มีประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งต่อมา จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ นางคอราซอน อาควิโน (Corazon Aquino), นายพลฟิเดล รามอส (Fidel Ramos), นายโจเซฟ เอสตราด้า (Joseph Estrada), นางกลอเรีย มาคาปากัล อาโรโย่ (Gloria Macapagal- Aroyo) และนายเบนิกโน่ อาควิโน่ (Benigno Aquino III) บุตรชายของนางคอราซอน อาควิโน

 

 

ประธานาธิบดี “นอย นอย” เบนิโน่ อาควิโน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟิลิปปินส์

นอยนอย เป็นความหวังใหม่ของชาวฟิลิปปินส์ เขาเป็นบุตรชายของนางคอราซอน อาควิโน อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรก (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

          ผู้นำเหล่านี้มีที่มาที่ถูกต้องตามครรลองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งฟิลิปปินส์ กล่าวคือ พวกเขาได้รับเลือกตั้งจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ขณะเดียวกันการจะพ้นจากตำแหน่งก็เป็นไปตามวาระ (ปกติ 6 ปี) หรือตามความต้องการของประชาชน หากพบว่ามีเรื่องไม่เหมาะสมถูกต้องในระหว่างดำรงตำแหน่ง ดังเช่นกรณีของ นายโจเซฟ เอสตราด้า อดีตพระเอกภาพยนตร์ขวัญใจชาวตากาล็อกที่ถูก Impeachment หรือ การถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี

          จุดเด่นของประชาชนฟิลิปปินส์ คือ ความมี “เลือดนักสู้” ที่กล้าจะออกมารวมตัวต่อสู้กับสภาพความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งหากจะย้อนกลับไป คงต้องเล่าถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองและการต่อสู้ของชาวฟิลิปปินส์ที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มตกเป็นอาณานิคมสเปน และถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าอาณานิคมจนเกิดเป็นขบวนการชาตินิยมโดยการรวมกลุ่มของชนชั้นกลางในปลายศตวรรษที่ 19

          ต่อมาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมสหรัฐอเมริกา เกิด ขบวนการฮุคบาลาฮับ (Hukbalahap) ซึ่งเป็นขบวนการกู้ชาติฟิลิปปินส์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1935

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิลิปปินส์ถูกคาดหมายว่าจะเป็นประเทศที่เจริญเติบโตและก้าวไปไวที่สุดกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่อย่างไรก็ดีช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1965-1986 ประเทศถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการมาร์กอส และท้ายที่สุดนำไปสู่การโค่นล้มทรราชเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส โดยการปฏิวัติของพลังประชาชน ในปี ค.ศ.1986 หรือ 1986 People Power Revolution

          ปัจจุบันประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพจนนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

1986 People Power Revolution หรือ การปฏิวัติโดยพลังประชาชนฟิลิปปินส์ที่ทำให้ประเทศพ้นจากรัฐเผด็จการมาร์กอส

(ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

 

แมนนี่ ปาเกียว (Manny Pacquiao) ยอดนักมวยอาชีพแห่งวงการมวยสากล

ปาเกียว นับเป็นความภูมิใจของชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นเลือดนักสู้

(http://strengthspeedagility.com/wp-content/uploads/2010/06/Manny-Pacquiao-Photo-at-Weigh-in.jpg)

 

          โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมองว่า ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในเรื่องการต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยภาคประชาชนนะครับ

          เมื่อพูดถึงภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ฟิลิปปินส์ คือ ตัวอย่างในการรวมกลุ่มประชาชนประสบความสำเร็จเพราะพวกเขามี “ศรัทธา” ต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมที่ดีกว่า

          ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนฟิลิปปินส์มีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อการฝันถึงสังคมที่ดีกว่านั้น คือ ความผูกพันกับสถาบันคริสต์ศาสนา ชาวฟิลิปปินส์นับถือ คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ถึง 83% คนปินอยนับว่าเคร่งศาสนามาก นอกจากนี้ผู้นำศาสนายังมีอิทธิพลต่อความเชื่อ ความคิดของประชาชน ดังเช่น ในปี ค.ศ.1986 ผู้นำทางศาสนจักรอย่าง พระคาร์ดินัลไฆเม่ ชิน (Jaime Lachica Sin) เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างศรัทธาให้กับชาวฟิลิปปินส์และมีส่วนในการปลุกเร้าพลังประชาชนให้ขับไล่ประธานาธิบดีมาร์กอส

          ทั้งหมดนี้ที่เล่ามานี้เป็นแค่ “ออเดิร์ฟ” รองท้องก่อนนะครับ ในตอนต่อไป เราจะเริ่มต้นทานจานหลักกันโดยทำความรู้จักกับประเทศฟิลิปปินส์ให้มากกว่านี้ เริ่มตั้งแต่สมัยที่พวกเขาเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรสเปนนานถึง 335 ปี

 

...พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ...

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด