TECHNOLOGY TREND

เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สามารถช่วยลดน้ำหนักให้เครื่องบินเจ็ต

          การพิมพ์ขึ้นรูปโลหะ 3 มิติ (Metal 3-D printing) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามามากกว่า 20 ปี และปัจจุบันได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สะท้อนได้จากยอดขายเครื่องพิมพ์ขึ้นรูปโลหะที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอากาศยานหันมาใช้เทคโนโลยี นี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ

 

          จากข้อมูลของนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมได้มีการรายงานออกมาว่า ในปี 2015 ยอดขายรวมของเครื่องพิมพ์ขึ้นรูปโลหะแบบ 3 มิติ ในอุตสาหกรรมมีจำนวน 808 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2014 และ 2013 ซึ่งมียอดขายอยู่ที่ 550 เครื่อง และ 353 เครื่อง ตามลำดับ หากดูจากตัวเลขยอดขายต่อปีในระดับ 100 เครื่อง อาจดูเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่สำหรับเครื่องจักรที่มีราคาระดับหลายแสนถึงหลักล้านดอลล่าร์แล้ว นับเป็นเม็ดเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

          ปัจจุบันมีเครื่องพิมพ์ขึ้นรูปโลหะที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น GE, Airbus และผู้ผลิตอีกๆ อีกหลายราย ที่คุณภาพและประสิทธิภาพมากพอสำหรับใช้งานในระดับอุตสาหกรรม โดย GE ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีที่ว่านี้แล้วในการผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อน เช่น ชิ้นส่วนของหัวฉีดเชื้อเพลิง, ส่วนเก็บเซนเซอร์ซึ่งใช้วัดอุณหภูมิในเครื่องยนต์เจ็ต และชิ้นส่วนอื่นๆ ของเครื่องบิน ดาวเทียม รวมไปถึงจรวดมิสไซล์

 

          กระบวนการที่ใช้ในการพิมพ์ขึ้นรูปโลหะ โดยทั่วไปก็จะเกี่ยวข้องกับความร้อนสูง แสงเลเซอร์, ลำอิเล็กตรอน ซึ่งจะถูกใช้เพื่อละลายผงโลหะเพื่อสร้างเป็นชั้นเลเยอร์ของโลหะขึ้นทีละชั้น จากการควบคุมของเครื่องคอมพิวเตอร์ วิธีการแบบนี้ช่วยให้การผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนในจำนวนที่ไม่มาก สามารถทำได้ ด้วยต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้

 

          ชิ้นส่วนของหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์เจ็ตของ GE ประกอบด้วยชิ้นส่วนปลีกย่อยจำนวน 18 ชิ้น ที่ต้องนำมาประกอบกันเข้าด้วยกันโดยใช้การเชื่อมด้วยไฟฟ้า อะไหล่รูปแบบเดียวกันนี้หากเปลี่ยนมาผลิตด้วยการพิมพ์โลหะแทน จะมีน้ำหนักที่ลดลงได้มากถึง 25% ซึ่งเป็นผลดีต่ออัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ที่จะลดลงได้ อย่างมากด้วย เพราะในเครื่องยนต์เจ็ตรุ่นใหม่ของ GE มีชิ้นส่วนหัวฉีดที่ว่านี้อยู่มากถึง 19 ชิ้น

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด