PA & Sound / Light On Stage ; Special Reports

งานสัมมนา Basic Sound Reinforcement (01)

เดชฤทธิ์ พลเยี่ยม

อีเมล์ : ฺBobby524@hotmail.com

แฟนเพจ : facebook.com/bobbysound88

 

 

Special Reports : งานสัมมนา Basic Sound Reinforcement (01)

 

          Basic Sound Reinforcement จบไปแล้วกับคอร์สแรกแห่งปี 2559 ซึ่งจัดอบรมขึ้นที่ศูนย์ Y-DACC กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรสองท่านคือ พี่ปู่ (คุณศุภชัย คณิศิรินทร์) และ อ.เอ็กซ์ (คุณประพิชญ์ ชมชื่น) โดยมีผู้สนใจเข้าอบรมจำนวนมาก สำหรับในตอนแรกเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องคลื่นเสียง ความถี่เสียง และอุณหภูมิ มีผลกับเสียงอย่างไร ใครพลาดการอบรมในวันนั้น ก็ติดตามอ่านได้ผ่านนิตยสาร Sound & Stage ก็แล้วกันครับ... ไปลุยกันเลย...

 

 

          ช่วงแรก พี่ปู่ กล่าวว่า... เราอยากให้ทุกคนมาแชร์อินฟอร์เมชันกันว่า คนนี้ทำธุรกิจเกี่ยวกับอันนี้ อยู่ในสาขาวิชาชีพอันนี้ ซึ่งหลายๆ คนใช้เครื่องเสียง แล้วการจัดฝึกอบรมของผม ก็เกิดจากพวกพี่ๆ นี่แหละว่า ผมคิดถึงอะไร อย่างแรกผมคิดถึงเรื่องของพื้นฐานความรู้ องค์ประ กอบอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น พอเรารู้เครื่องเสียง เชื่อมต่อสายเป็นแล้ว ติดตั้งถูกต้องแล้ว... เอ๊ะ... ทำไมยังมีปัญหา มันเกิดจากตัวแปรอื่นๆ ทฤษฎีเรื่องที่ 2 นะ นอกจากเราจะถือทฤษฎีเรื่องพื้นฐานในมือ ยังมีเรื่องที่สองที่เราถือในมืออีกคือ อะคูสติก ซึ่งมันทำให้เกิดตัวแปรอื่นๆ ถัดไปส่วนที่สาม พอเข้าใจทุกอย่างปุ๊บ สักครู่พี่เขายกเครื่องมือซ่อม ก็ไม่รู้สาเหตุ ซ่อมเสร็จแล้วยกกลับไป มองไปได้แค่เครื่องเสียเฉยๆ เราก็เอามาซ่อมก็ไม่ผิด ผมอยากจะแนะนำว่า เครื่องมันเสียเพราะอะไร สาเหตุที่มันทำให้เสีย ก็คุยไปคุยมาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ต่อผิดเครื่องพัง ง่ายๆ เลยเราเสียบปลั๊กตรงนี้ ลากสายไปตรงนั้น แล้วเชื่อมสัญญาณไปตรงโน้น เชื่อมั้ยว่าสายเส้นนั้นมีไฟวิ่งอยู่ในนั้น มากกว่าที่เราเข้าใจ ไม่พังข้างนึง ก็พังทั้งสอง มันเกิดจากระบบไฟฟ้า อันนี้ก็เป็นทฤษฎีอีกเล่มนึงเป็น 3 เล่มแล้วนะ มันต้องใช้ทฤษฎีถึง 4-5 เล่มเพื่อทำงานในที่เดียวกัน...

 

          ฉะนั้นผมถึงจัดเรื่องการฝึกอบรมแบบนี้ ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่ทุกคนสนใจ แล้วมาศึกษาร่วมกัน น่าจะถึงเวลาอันสมควรแล้ว เรียนเชิญ อ.เอ็กซ์ (ประพิชญ์ ชมชื่น) จากนั้นเสียงปรบมือดังขึ้น อ.เอ็กซ์ กล่าวว่า... ในนามหัวหน้าศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ ผมก็ดูแลโชว์รูม ก็จะมีประ เภทอุปกรณ์สินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบเสียง ตรงนี้จะเป็นส่วนของโปรเฟสชันนอลออดิโอ เรียกสั้นๆ ว่า PA พูดง่ายๆ ก็เป็นอุปกรณ์ทำมาหากินนั่นเอง เราจะเอาเครื่องไปเช่า หรือจะเอาเครื่องไปติดตั้ง สำหรับงานขนาดเล็กขนาดกลาง ขนาดใหญ่ อุปกรณ์ในห้องนี้ก็จะมีจุดต่างๆ ให้ท่านได้ชมว่า เมื่อเราเอาไปใช้ในงานประเภทต่างๆ แล้วเนี่ย ผลลัพธ์มันจะเป็นอย่างที่เราคิดหรือเปล่า

 

          พี่ปู่ กล่าวเสริมว่า... เป็นความตั้งใจของบริษัทเอง โดยธุรกิจเราก็มองถึงผู้ใช้ที่เอาอุปกรณ์ของเราไปใช้ รวมถึงเพื่อนที่ร่วมทำธุรกิจด้วยแบรนด์ต่างๆ เราไม่ได้มียี่ห้อเดียว เรียนจากของเราแล้วไปใช้งานยี่ห้ออื่นก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยๆ อุปกรณ์ที่เราเลือกใช้แต่ละอุปกรณ์ถูกต้องหรือเปล่า นี่คือวัตถุประสงค์ของบริษัท ส่วนตอนนี้เราขยายไปถึงภูเก็ต ซึ่งมีศูนย์เทรนนิ่งอีกที่นึง ตั้งอยู่ที่ บริษัท พีเอ อินเตอร์กรู๊ป ศูนย์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีเจ้าภาพ เพราะอุปกรณ์ต่างๆ ที่เรามีอยู่ในศูนย์เนี่ย ต้องมีการลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่คุ้มกับการลงทุน จำเป็นต้องมีเจ้าภาพ ตอนนี้เรามีเจ้าภาพน่ารักอยู่ที่ภูเก็ต ซึ่งตอบสนองโน-ฮาวต่างๆ ซึ่งเราก็เชื่อมต่อตรงจากที่นี่ ซึ่งในอนาคตจริงๆ เราเคยทดสอบแล้ว แต่มันอาจจะมีปัญหาทางเทคนิคนิดนึง ก็คือระบบออนไลน์ อีกหน่อยเราอาจจะเรียนกันที่บ้านเป็นอาจารย์ตู้ อ.เอ็กซ์ก็เป็นอาจารย์ตู้อยู่ในจอสี่เหลี่ยมแล้วเราก็เปิดดูที่บ้านพร้อมๆ กัน ก็เป็นไปได้ จริงๆ วันนี้เราเอาขั้นพื้นฐานมาคุยกัน ผมเชื่อว่าหลายคนใช้อุปกรณ์อยู่แล้ว อยากรู้ว่าแต่ละชิ้น แต่ละอัน ที่มาของมัน ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากมันแล้วเนี่ย แต่อย่าลืมนะ นี่คือเบสิค ถ้าเราแม่นเรื่องนี้ของอย่างน้อยก็ไม่พัง (หัวเราะ) พังยากขึ้น เขาเรียกว่าความผิดพลาดที่มาจากคนจะน้อยลง เรามาเริ่มเนื้อหากันเลย... 

 

           จากนั้น อ.เอ็กซ์ กล่าวว่า... อันดับแรกก่อนเลย เป็นเรื่องที่น่าเวียนหัว เดี๋ยวขอย้อนไปนิดนึงว่าเนื้อหาวันนี้คืออะไรก่อน แน่นอนคำว่า Sound Reinforcement แปลว่าอะไร ตรงนี้เบสิคก็คือเบื้องต้นอยู่แล้ว คำจำกัดความของมันก็คือหน่วยทางการทหาร ถ้าผมจำไม่ผิดนะ Reinforcement คือ กำลังเสริม คอยช่วยเหลือเป็นกองหนุนประมาณนั้น หน้าที่ของเราคือเสริมทัพให้มันแข็งแรง คอยไปเติมกำลังให้เพื่อน คอยช่วยเหลือ นี่คือหน้าที่ของหน่วยนี้ ดังนั้นหากนำมาใช้กับระบบเสียง มันจะทำหน้าที่สนับสนุนระบบ เราต้องเข้าใจว่าเราจะนำไปช่วยระบบให้มันดีขึ้น หรือทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ประโยชน์มากขึ้น ด้วยของที่เรามีอยู่ หรือต้องซื้อเพิ่มเติมอย่างไร นี่คือความหมายภาพรวม เราจะได้รู้ว่าอุปกรณ์หนึ่งชิ้นเราใช้มันถึงร้อยเปอร์เซ็นต์หรือยัง มีไม่น้อยที่เราซื้อมาแล้วเราใช้ศักยภาพของมันไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะน้อยกว่านั้น คู่มือนี่แทบไม่เคยเปิดอ่าน มีเยอะนะ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น ซื้อมาก็ใช้ตามเพื่อน พี่ปู่ กล่าวเสริมว่า... จริงๆ ก็ไม่แปลกเพราะหลายคนซื้อเครื่อง แต่ไม่ได้ซื้อคู่มือ เพราะหาไม่เจอไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน พอมาถึงพวกเราจะดำน้ำก่อนเป็นอันดับแรก แล้วมันพัง สุดท้ายพอไปเปิดคู่มือ พบว่าต้องลงอันนี้ก่อน ถึงจะเปิดอันนั้นได้ พังไปกับมือแล้วเรียบร้อย อ.เอ็กซ์ กล่าวต่อว่า... แน่นอนว่า หน่วยสนับสนุนอย่างเราต้องเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานก่อนเลย ก็เลยจะนำเสนอชื่อหรือตัวแปรที่เรามักจะใช้กันบ่อยๆ ในการทำงานเรื่องเสียง…

 

คลื่นเสียง

 

 

 

          คลื่นหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้เนี่ยต้องเกี่ยวข้องกับสัญญาณ พวก Signal เนี่ย ลักษณะสัญญาณก็จะมีอยู่ 2-3 แบบ เป็นไฟฟ้า อย่างที่ 2 จะเป็นแม่เหล็ก อย่างที่ 3 ก็อาจจะผสมกันเป็นแม่เหล็กไฟฟ้า มีทั้ง 2 อย่างเลย หรือบางอย่างอาจจะเป็นเรื่องของลม แต่ในที่นี้เราจะพูดถึงเรื่องคลื่นเสียงอย่างเดียวก่อน พี่ปู่ กล่าวเสริมว่า... ในที่นี้ถ้าใครไปจับบอร์ดที่เป็นดิจิตอลแล้ว ที่มาของมันคือสิ่งนี้ ให้ลืมอันนั้นไปก่อน เพราะมันจะไม่เกี่ยวกับอันนี้โดยตรง เพราะวิธีคิดอันนั้นเป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นเชิงตัวเลข เช่น 101001001001 ให้ลืมอุปกรณ์ดิจิตอลไปก่อน เพราะมันไม่ใช่เรื่องวันนี้ที่เราคุยกัน มันจะเป็นคณิตศาสตร์อีกแบบนึง วิธีคิดอีกแบบนึง เข้าใจอันนี้ก่อนถึงควรจะไปเรียนอันนั้น อย่าไปเอามาปนกัน แต่จริงๆ มันมีอะไรหลายๆ เรื่องต่อเนื่องกันอยู่นะ ผมขอเน้นกับน้องๆ นักศึกษา เพราะเป็นสายอาชีพที่เขาจะไปต่อ เบสิคไม่แน่น ตอกเสาเข็มไม่พอเดี๋ยวบ้านถล่ม อ.เอ็กซ์ กล่าวต่อว่า... ทีนี้ตัวแปร โดยเฉพาะคลื่นเสียง เราจะมีตัวแปรสำคัญๆ อยู่ประมาณ 2-3 อย่าง ก่อนอื่นดูหน้าตามันก่อน เป็นลักษณะคลื่นขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ ถ้าเป็นคณิตศาสตร์เราจะเรียกมันว่า "ไซน์เวฟ" หลายท่านอาจจะรู้จักแล้ว แต่ถ้ายังไม่รู้จักไม่เป็นไร พี่ปู่ เสริมว่า..ถ้านึกหน้าตามันไม่ออก คุณเห็นผิวน้ำใช่ไหม โยนก้อนหินไปก้อนนึง มันก็จะสั่นตึ้ดๆๆ..! ขึ้นลงๆ เป็นวงออกมาเรื่อยๆ โยนลงไปก้อนนึง... ตูม..!

 

          อ.เอ็กซ์ กล่าวต่อว่า... ถ้าเรามองด้านข้างที่เป็นลอนๆ นั้น มันก็จะเป็นลักษณะขึ้นๆ ลงๆ หรือถ้าเราเอากระดาษไปวางบนผิวน้ำ ถ้ามันสั่นหรือเป็นลอนปุ๊บ กระดาษก็จะขึ้นลง เป็นลักษณะแบบนี้ ซึ่งจะขึ้นลงตามลักษณะการแกว่งตรงนั้น เราพยายามทำให้เห็นภาพ เพราะเสียงเรามองไม่เห็นรูปร่าง มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นจะทำยังไงให้มันมองเห็น โดยการวัดพลังงาน เอาค่าต่างๆ เหล่านี้มาวิเคราะห์กัน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการใช้งานรูปแบบต่างๆ เราจึงต้องมีตัวแปรอยู่ 2-3 อย่าง ก่อนอื่นถ้าเราเอากระดาษวางไว้บนผิวน้ำ แล้วมันแกว่งขึ้นลงขึ้นลง ทุกๆ ครั้งที่เราเห็นมันเคลื่อนที่ขึ้นบนสุดแล้วลงต่ำสุด จะเห็นว่ามันแกว่งตัว เราวัดความสูงของมันก่อน มันจะมีลักษณะเหมือนภูเขาสองด้าน จะเรียกมันว่า "แอมพลิจูด" ภาษาไทยเรียกง่ายๆ ว่า "ขนาด" ถ้าเป็นเรื่องเสียงจะเรียกเจาะจงไปเลยว่า "ความดัง" สำหรับแอมพลิจูดเป็นความกว้างจะเป็นคลื่นอะไรก็ได้ เป็นขนาดของคลื่น สมมติมีการปรบมือ เสียงที่ดังหรือเบา นั่นคือแอมพลิจูด ถ้าขึ้นก็ขึ้นไปสูง แต่ถ้าเบาก็จะลงมาต่ำ ถัดไปมีหน่วยวัด ทราบหรือไม่ว่าแอมพลิจูดในทางเสียงคืออะไร คำตอบคือเดซิเบล อันนั้นเป็นความดัง เดซิเบลคือการวัดค่าความดัง... พี่ปู่ กล่าวเสริมว่า... สำหรับหน่วยนี้มันมีผลกับเราเวลาไปใช้อุปกรณ์ ดังไม่พอ มันไปมีผลกับลำโพงด้วย มีผลกับสเป็กในการตัดสินใจ เวลาติดตั้งอุปกรณ์ มันดังพอกับที่เราต้องการจริงๆ หรือเปล่า เพราะเวลาเราได้ยินเสียงเราไม่เห็นคลื่นพวกนี้วิ่งไง แต่ความรู้สึกเรารับรู้ว่ามันไม่ดัง มันวัดเป็นค่าไม่ได้ จึงต้องนำค่านี้มาแสดงผล เหมือนขับรถ เหยียบแค่นี้รู้สึกว่าเร็ว ถ้าไม่มีเข็มบอกไมล์ หรือไม่ได้มองมิเตอร์ อันนี้คือตัววัด หน่วยนี้จึงเรียกว่าเดซิเบล...

 

          ทีนี้มาดูในแนวนอนก็คือ เราวัดสังเกตรูปลักษณะการแกว่งขึ้นแล้วก็ลง ขึ้นแล้วก็ลง...! รูปร่างของมันจะซ้ำกันไปเรื่อยๆ ด้วยหน้าตาเดิมๆ อย่างในตัวอย่างมันซ้ำกันอยู่ทั้งหมดสามครั้ง จากจุดหนึ่งถึงจุดหนึ่ง มันจะมีหน้าตาคล้ายกัน เรียกว่าคลื่นชุดที่หนึ่ง แล้วก็มีชุดที่ 2 และ 3 เราจะเห็นหน้าตาซ้ำๆ กันจำนวน 3 ครั้ง หรือ 3 รูปคลื่น หรือ 3 wave นั่นเอง ทีนี้เราวัดระยะทางในแนวนอน ที่ผมเขียนเส้นวัดระยะทาง ตรงนี้ก็จะมีหน่วยวัดอีกเช่นกัน เราเรียกมันว่าความยาวคลื่น ปกติเราวัดด้วยหน่วยมาตรฐาน SI ก็จะเป็นหน่วยเมตร แต่คลื่นเสียงค่อนข้างมีขนาดสั้น ดังนั้นเราจะใช้หน่วยที่เล็กกว่าเมตรปกติ หน่วยที่เราใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นนาโนเมตร (หนึ่งส่วนพันล้านเมตร) เราเอาหนึ่งเมตรมาแบ่งเป็นพันล้านส่วน แล้วหยิบมาหนึ่งส่วน เราเรียกว่านาโนเมตร อันนี้ต้องเรียนสูตรกันหน่อย แต่ว่าไม่ต้องจำนะ เพื่อให้เข้าใจว่าเค้ามีวิธีวัดมาจากตรงนี้... พี่ปู่ กล่าวเสริมว่า... ถ้าเราไม่เข้าใจพื้นฐานบางทีมันกระโดด บางครั้งเราต้องใช้ ทำไมเราต้องรู้เรื่องนี้ ถามว่าถ้าเป็นเอ็นจิเนียร์หากไม่เข้าใจเรื่องนี้ จะปรับความถี่ได้ยังไง เพราะว่าความถี่แต่ละความถี่มีความยาวคลื่นไม่เท่ากัน กลับไปที่น้ำเมื่อสักครู่นี้ ก้อนหินโยนลงไป... ตูม..! ดูรูปคลื่นมันจะเล็กๆ คราวนี้เอาก้อนอิฐรูปคลื่นก็จะใหญ่เลยทีเดียว... ตูมมม...!! น้ำกระฉอกเลย ความยาวคลื่นเปลี่ยน รูปร่างคลื่นเปลี่ยน แต่ถ้าเราไม่มีตัวนี้วัด เราก็ไม่รู้ว่าความถี่นั้นยาวเท่าไหร่ อันนี้เป็นเนื้อหาแอดว๊านซ์ในอนาคต อันนี้พูดให้ฟังก่อน ว่าทำไมต้องรู้สิ่งนี้ เพราะถ้าไปตอบโจทย์ตรงนั้น ถ้าไม่รู้ตรงนี้เสร็จเลย...

 

 

          อ.เอ็กซ์ กล่าวต่อว่า... จริงๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวเลย เราจะรู้ได้ไงว่าจะวางรูปห่างจากคนดูเท่าไหร่จึงจะได้เสียงที่ดี ถ้าเราไม่รู้เรื่องพวกนี้เราก็จะวางสะเปะสะปะ ถูกมั้ย อยากจะวางตรงไหนฉันก็วาง ทำไมต้องเรียนตรงนี้ เพราะเห็นลำโพงใบนี้ และแต่ละใบมันสร้างความยาวไม่เท่ากัน ทำไมต้องเรียนเรื่องพวกนี้ เพราะมันไปมีผลสุดท้าย ตั้งแบบนั้น กับตั้งแบบนี้ คนนั่งตรงนี้ ความยาวไม่เท่ากัน เสียงก็ออกมาไม่เหมือนกัน จะทำไงให้มันเท่ากัน อาจจะมีเรื่องเวลามาเกี่ยวข้อง เปิดพร้อมกันแต่ไปถึงคนฟังไม่พร้อมกัน ก็เป็นอีกปัญหานึง สุดท้ายที่ต้องเรียนรู้เรื่องนี้ ก็เพราะฉันจะนำไปใช้กับเรื่องลำโพง แต่ถ้าไม่รู้เรื่องนี้ เดินทางสายนี้อาจจะลำบาก...

 

          และอีกหนึ่งตัวแปรเราเรียกว่าความถี่ สำหรับรูปคลื่นที่เราเห็น ขึ้นลงครั้งที่ 1-3 เขาเรียกว่า 3 ลูกคลื่นหรือ 3 Cycle แต่เนื่องจากไม่มีการเทียบกับอะไรทั้งสิ้น แต่ในงานเสียงอีกหน่วยหนึ่งที่เราต้องเทียบก็คือหน่วยเวลา โดยมีการจับเวลาว่า ในเวลาที่กำหนดนั้นมีกี่รูปคลื่น เราถึงจะรู้อีกเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือที่เราเรียกว่า "ความถี่" ของเสียงหรือ Frequency ของมัน ความถี่ก็คือ จำนวนลูกคลื่นในหน่วยวินาที ชื่อของหน่วยก็คือ Cycle per second รู้มั้ยตอนจับเวลาเกิดรูปคลื่นนี้กี่ครั้ง ได้จำนวนกี่รอบก็เท่ากับว่านั่นคือจำนวนความถี่ที่เกิดขึ้นในหน่วยเวลานั้น จริงๆ อยากจะสตาร์ทเร็วๆ แต่ก็เกรงว่าจะ งง กัน ก็เลยค่อยๆ แลนดิ่งกันไป แล้วค่อยเทคออฟ เพราะจริงๆ แล้วท่อนหลังมันถูกแปลงมาเป็นเนื้อหา ตัวย่อของมันก็คือ cps ยาวใช่มั้ย เขียนไปตั้ง 3 ตัวแน่ะ แต่มีนักวิทยาศาสตร์คนนึงที่เค้าศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเราก็ให้เกียรติเค้า ชื่อ ไฮน์ริช เฮิร์ตซ์ เป็นคนเยอรมัน เลยมีการเอานามสกุลของเขามาตั้งเพื่อเป็นเกียรติประวัตินั่นคือ Hz นั่นเอง นี่คือหน่วยของ Cycle per second…

 

          พี่ปู่ กล่าวเสริมว่า... ทุกอย่างต้องใช้เวลา หากเข้าใจ 2-3 เรื่องที่ว่ามานี้ ก็จะไปตอบโจทย์ขั้นแอดวานซ์ได้แล้วนะ อาจารย์ครับสอนปรับคอมเพรสเซอร์หน่อยครับ ปรับคอมเพรสเซอร์แบบหมุนๆ แล้วเสียงดี แต่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ตกลงปรับถูกหรือเปล่า บนอุปกรณ์ต่างๆ มีสอนตามอย่างที่วนๆ ซ้ำๆ อยู่ ยิ่งไปเจอคอมเพรสเซอร์ประเภทแอดวานซ์ คอมเพรสคนละความถี่ หลายๆ แบบไม่เหมือนกัน โอ้โห..! มันส์เลยคราวนี้ ทีนี้ไปไม่ถูกเลย ความถี่เดียวยังไม่รอดเลยใช่มั้ย เพราะทุกอย่างวัดด้วยเวลาหมด จับเวลาทั้งสิ้น คอมเพรสเซอร์ที่เราปรับๆ หมุนๆ สุดท้ายปุ่มนี้ทำอะไร ปุ่มนั้นทำอะไร มันเป็นเรื่องเวลาหมดเลย เกนมันบอกเวลากด ใช้เวลาเท่าไหร่ ปล่อยเท่าไหร่ ช้าหรือเร็วแค่นั้นเอง อุปกรณ์ไม่มีอะไร สัมพันธ์กันมั้ย นี่คือแค่สไลด์แผ่นแรกนะ อุณหภูมิผมบอกแล้ว เรื่องนี้คือเรื่องเดียว มันยังมีเล่ม 2-3-4 พี่ถึงจับเอามายำรวมกันเพื่อให้เกิดเป็นหนึ่งงาน อย่างวันนี้ออการ์ไนซ์เอาของมาวางไว้ ให้เราเซตอัพของทุกอย่าง เซตๆไว้ปิดแอร์ แต่เวลามีงานเปิดแอร์ เสียงก็ไม่เหมือนกัน เพราะทฤษฎีที่ถามเนี่ย มันเป็นเรื่องของการเดินทางของเสียง ในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน เรื่องนี้เราจะมาขยายต่อ อันนี้เป็นเบสิคเบื้องต้น...

 

 

อุณหภูมิเกี่ยวข้องอย่างไร

 

          เนื่องจากเราอยู่ในโลกใบนี้ ต้องมีตัวกลางที่ทำให้เสียงมาถึงเราได้ มันคืออากาศ เพราะฉะนั้นอากาศมีเรื่องของอุณหภูมิมาเกี่ยวข้อง หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ส่วนใหญ่เราจะคำนวณที่อุณหภูมิอย่างเดียว แต่อย่าลืมว่ามีตัวแปรที่สำคัญหลายๆ อย่าง สิ่งที่อยากจะบอกคืออุณหภูมิมีผลต่อความเร็วเสียงอย่างไร ปกติเราอยู่ในอากาศ โดยมีตัวอย่างของอุณหภูมิเราใช้ที่ 15 องศาเซลเซียส เป็นอากาศปกติของเมืองนอก บ้านเราคงไม่ใช่ 15 องศาอยู่แล้ว เราต้องเอาตัวเลขอื่นไปใส่แทนตัว T อย่างเราไปเมืองกาญจน์อาจจะต้องใส่ตัวเลข 42 องศา (หัวเราะ) ถ้าไปเชียงใหม่อาจจะเหลือ 12 องศา นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไปตามโลเคชัน ซึ่งมีผลเพราะว่า เมื่อนำไปคูณกับ 0.16 แล้วมาบวกกับตัวเลขนี้ ผลคือทำให้ความเร็วของเสียงเปลี่ยนไป ตามสถานที่นั้นๆ ทำไมตอนหนาวๆ เสียงมันเป็นแบบนึง ทำไมตอนร้อนๆ เสียงเป็นอีกแบบ ทำไมเทศกาลดนตรีจัดเฉพาะหน้าหนาวทุกครั้ง เคยคิดหรือเปล่า ว่าทำไมต้องเป็นเฉพาะหน้าหนาว ทำไมไม่จัดหน้าร้อน...

 

          อย่างแรกเลยคือ อารมณ์คนดู (หัวเราะ) แต่อันนึงพอเราเรียนรู้เรื่องพวกนี้ปุ๊บ คนที่ไปถึงแอดวานซ์แล้วเนี่ย เค้าจะมีอุปกรณ์บางชนิดให้ใส่อุณหภูมิเข้าไปด้วย อย่างพวกลำโพงที่มีโพรเซสเซอร์มีสมองกลอยู่ภายใน มันจะให้ป้อนค่าลงไปเลย เราก็ไม่รู้ว่าเป็นค่าอะไร นึกว่ามันให้วางองศาลำโพงใส่ไป 90 เลย (หัวเราะ) ผลคือทุกอย่างเปลี่ยนหมด บางทีต้องดูด้วยว่าเป็นฟาเรนไฮน์หรือเปล่า แต่ฟันธงไม่ได้เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นตามอุณหภูมิจริง ความถี่แต่ละความถี่ก็เดินทางไม่เท่ากัน อีกเรื่องที่เราจะมาเรียนรู้กัน นั่นคือเรื่องของการหักเหกับแพร่กระจาย เรื่องเสียงเราจะสังเกตว่าอากาศ ถ้าหากเป็นอากาศปกติอยู่ในที่โล่งๆ อาจจะไม่รู้สึกอะไร ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ต่อๆ กันเช่น บ่ายโมง มาบ่ายสอง กรณีศึกษา อย่างเราเซตอัพระบบเสียงตอนบ่ายโมงบ่ายสอง สำหรับงานเทศกาลดนตรี หรือตั้งแต่ตอนเช้าตรู่เลยก็ได้ แต่เวลาเล่นจริงๆ คือสามทุ่ม เที่ยงคืน ตีหนึ่ง แน่นอนอุณหภูมิตอนเซตอัพกับตอนโชว์จริงต่างกันโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมันเป็นที่โล่งมันจะมีการสะสมอากาศอุณหภูมิ และมันก็แพร่กระจายลงมาสู่พื้นดิน...

 

 

 

 

 

 

... (โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไปครับ)...

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด