PA & Sound / Light On Stage ; Cover Story

QSC E Series Passive Loudspeakers

เดชฤทธิ์ พลเยี่ยม

อีเมล์ : Bobby524@hotmail.com

แฟนเพจ : facebook.com/bobbysound88

 

 

กลับมาอีกครั้งกับลำโพงคุณภาพชั้นนำระดับโลกจาก QSC ซึ่งแบรนด์นี้มุ่งเน้นผลิตสินค้าระดับสุดยอด สำหรับ QSC ถือว่าเป็นยี่ห้อหนึ่งที่มืออาชีพให้ความไว้วางใจ และผลิตสินค้าออกสู่ตลาดเครื่องเสียงอย่างต่อเนื่อง คุณภาพสินค้าเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นดิจิตอลเพาเวอร์แอมป์ในตระกูล PLD, GXD รวมถึงลำโพง 2 ทางตระกูล K/KW ซึ่งเป็นแอคตีฟเพาเวอร์ ล่าสุดได้เปิดตัวลำโพงพาสซีฟ 2 ทางจำนวน 3 รุ่นคือ E10, E12, E15 และซับวูฟเฟอร์อีกหนึ่งรุ่นคือ E18SW โดยมีจุดเด่นคือให้เอาต์พุตที่สูง ให้คุณภาพเสียงระดับมืออาชีพ มีให้เลือกตั้งแต่กำลังขับ 300 วัตต์ไปจนถึง 800 วัตต์ (กำลังขับต่อเนื่อง) สามารถใช้งานร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ QSC ทุกรุ่น พร้อมออกแบบให้ลำโพงสามารถติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ มีน้ำหนักเบาลงง่ายต่อการขนย้าย ตัดภาคโมดูลเพาเวอร์แอมป์ออกเพื่อลดต้นทุน ซึ่งทำให้ท่านเป็นเจ้าของง่ายขึ้น

 

 

ทำความรู้จักลำโพง E Series

 

          จากลำโพง E Series รุ่นนี้วัสดุทำจากไม้อัด ไม่มีเพาเวอร์แอมป์ในตัวเหมือนกับรุ่น QSC KW เนื่องจากรุ่นนี้ผู้ผลิตต้องการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง เพื่อที่จะให้ราคาสินค้าถูกลง ทั้งตัววัสดุและตัวบอดี้ รูปลักษณ์ภายนอกจะคล้ายคลึงกับตัว KW Series อุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ร่วมกับลำโพง E Series ได้ประกอบด้วย เพาเวอร์แอมป์ QSC ที่มีภาค DSP อาทิรุ่น GXD, PLD โดยทำงานในลักษณะเป็นแอมป์ดิจิตอล โดยมีหน้าจอแสดงผลการทำงานบนแท่นของเพาเวอร์แอมป์ หากนำไปใช้ร่วมกันจะทำให้ได้ประสิทธิภาพดีขึ้น อีกตัวหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ร่วมกันได้คือมิกเซอร์ QSC TouchMix สำหรับลำโพงรุ่นนี้ เหมาะกับประเภทงานดนตรี งานเปิดตัวสินค้า เป็นผับก็ได้ และทุกๆ งานที่ผู้ใช้ต้องการคุณภาพเสียงที่ดี ลักษณะตัวบอดี้ของ E Series ผิวภายนอกจะขรุขระไม่ใช่ผิวเรียบ ซึ่งใช้ไม้อัดเกรดคุณภาพดีระดับหนึ่ง

 

 

ภาพรวม QSC E Series

 

          สำหรับลำโพง 2 ทางของ E Series จะมีด้วยกัน 3 รุ่นคือ E10, E12 และ E15 ซึ่งตัว E10 บรรจุดอกลำโพงขนาด 10 นิ้ว ซึ่งทำหน้าที่เป็นซับวูฟเฟอร์ของตู้ ถัดไป E12 ใช้ดอกลำโพงขนาด 12 นิ้ว และ E15 ใช้ดอกลำโพงขนาด 15 นิ้ว สำหรับรายละเอียดแต่ละรุ่นมีดังนี้ รุ่น E10 มีขนาดดอกลำโพง 10 นิ้ว สามารถทำเป็นลำโพงมอนิเตอร์บนเวที โดยการวางเอียงกับพื้นเวที หรือจะตั้งในแนวตรงบนเสาเหล็กก็ได้ และมีดอกลำโพงขนาด 1 นิ้วสำหรับขับย่านความถี่เสียงแหลม (High)

 

          รุ่น E10 จะเป็นไดรเวอร์ 10 นิ้ว วอยซ์คอยล์ขนาด 2.5 นิ้ว ส่วนไดรเวอร์ขับเสียงแหลมจะใช้วอยซ์คอยล์ขนาด 1 นิ้ว ให้กำลังขับอยู่ที่ 300 วัตต์ สามารถใช้กับเพาเวอร์แอมป์ขนาด 300-1200 วัตต์ได้เป็นอย่างดี หรือผู้ใช้จะเลือกเพาเวอร์แอมป์ขนาด 400-500 วัตต์ก็ได้ ยังถือว่าไม่เกินกำลังของตัวไดรเวอร์ลำโพง จะเห็นว่าสเป็กลำโพงมีความยืดหยุ่นสูง ผู้ใช้สามารถเลือกเพาเวอร์แอมป์ที่จะนำมาขับลำโพงได้อย่างเหมาะสม ลำโพงขนาด 300 วัตต์ที่กล่าวถึงนี้ เป็นสเป็กแบบ watt continuous กล่าวคือปล่อยเสียงต่อเนื่อง ส่วนสเปก 1200 วัตต์จะเป็นค่าวัตต์สูงสุดที่ขับได้ (Watt Peak)

 

          รุ่น E12 จะเป็นไดรเวอร์ 12 นิ้ว วอยซ์คอยล์ขนาด 3 นิ้ว ส่วนไดรเวอร์ขับเสียงแหลมจะใช้วอยซ์คอยล์ขนาด 1.75 นิ้ว ซึ่งรุ่นนี้เป็นลำโพง 2 ทางเช่นกัน คือทั้ง 3 รุ่นจะเป็น 2 ทางหมดเลย มีไดรเวอร์ขับย่านเสียงต่ำ กับไดรเวอร์เสียงแหลม แต่ว่ารุ่นที่สามารถทำเป็นสเตจมอนิเตอร์ได้ดีนั้น เป็นรุ่นไดรเวอร์ 10 นิ้ว ส่วน 12 นิ้วและ 15 นิ้วจะเป็นลำโพงที่เหมาะกับเมน PA มากกว่า เราเรียกว่า 2-Way Speaker เราจะเรียกอีกอย่างว่าเป็นลำโพงฟูลเรนจ์ (full range) กล่าวคือลำโพงหนึ่งตู้ออกทุกย่านความถี่ ตู้หนึ่งใบสามารถทำเป็นลำโพงฟูลเรนจ์ได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีซับวูฟเฟอร์เข้ามาเพิ่มก็ได้ หรือหากต้องการย่านความถี่ต่ำแน่นๆ แนะนำใส่ตู้ซับวูฟเฟอร์พ่วงเข้าไปเพื่อเน้นย่านความถี่ต่ำๆ

 

          รุ่น E15 จะเป็นไดรเวอร์ 15 นิ้ว วอยซ์คอยล์ขนาด 3.5 นิ้ว ส่วนไดรเวอร์ขับเสียงแหลมจะใช้วอยซ์คอยล์ขนาด 2.8 นิ้ว เพาเวอร์แอมป์ควรจะมีขนาด 500 ถึง 2000 วัตต์ หากใช้ค่ากลางๆ ใช้ประมาณ 1000 วัตต์ เพราะค่า Continuous จะอยู่ที่ 500 วัตต์ ส่วน RMS ก็ประมาณ 1000 วัตต์ เพราะว่าที่จริงเราไม่ได้ใช้วัตต์พีคถึงขนาดนั้นอยู่แล้ว ซึ่งวัตต์ที่เกินกว่า 500 ก็ถือว่าเป็นเฮดรูมสำรองไว้เวลาเกิดฟีดแบ็กหรือรองรับการขับหนักๆ

 

          รุ่น E18SW เป็นซับวูฟเฟอร์จะใช้ไดรเวอร์ 18 นิ้ว วอยซ์คอยล์ขนาด 4 นิ้ว ส่วนไดรเวอร์ขับเสียงแหลมจะใช้วอยซ์คอยล์ขนาด 1 นิ้ว จะทำงานได้ตั้งแต่ 600 วัตต์ จนถึง 3200 วัตต์ สำหรับค่า 3200 วัตต์เป็นค่า Peak เราอาจจะใช้แอมป์รุ่นสูงๆ ที่มีกำลังขับ 3200 วัตต์เลยก็ได้ เนื่องจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ต้องการกำลังขับมากกว่าลำโพงประเภท 2 ทาง

 

ความแตกต่างระหว่าง E Series VS. KW

 

          อย่างแรกด้านหลังตู้ลำโพงของ KW พอร์ตที่ใช้ในการเชื่อมต่อสัญญาณจะเป็นลักษณะ Built-in ซึ่งบรรจุภาคเพาเวอร์แอมป์อยู่ภายในตู้ลำโพง ตรงนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาลำโพงสูงตามไปด้วย แต่สำหรับ E Series ได้ตัดภาคเพาเวอร์แอมป์ออกไป โดยจะอาศัยการใช้เพาเวอร์แอมป์จากภายนอกเป็นหลัก ผ่านการเชื่อมต่อผ่านพอร์ต Speakon คอนเน็กเตอร์ NLPro จำนวนสองพอร์ต ซึ่งสามารถลิงค์ถึงกันได้ และยังมีพอร์ตแบบรอกสทริปต์ให้มาหนึ่งคู่ สำหรับการเชื่อมต่อสายสัญญาณบวก/ลบ

 

 

 

การติดตั้งลำโพง

 

          สำหรับการติดตั้งบนขาตั้ง สามารถติดตั้งได้สองลักษณะคือ (1) ติดตั้งตู้ลำโพงในแนวหน้าตรง และ (2) การติดตั้งมุมเอียงระดับ 7.5 องศา ผู้ใช้สามารถปรับแต่งมุมองศาได้จากตัวลำโพง จะสังเกตว่าด้านล่างจะมี 2 ช่องให้เลือกปรับ คำแนะนำสำหรับการติดตั้งแบบหน้าตรงนั้น หากกลุ่มเป้าหมายยืนฟังเสียง อาทิ งานแสดงดนตรีในผับ ในร้านอาหารที่ผู้ฟังยืนเต้น การเซตอัพลำโพงแบบหน้าตรงจะเหมาะสมกว่า เพื่อที่จะกระจายย่านความถี่เสียงแหลม เสียงกลาง ไปสู่ระดับหูผู้ฟังโดยตรง ส่วนกรณีการติดตั้งมุมก้ม 7.5 องศานั้น จะเหมาะกับงานที่มีคนนั่งฟัง หากตัวลำโพงยิงตรงไปที่คนฟัง จะได้คุณภาพเสียงดีที่สุด หรือในบางกรณีถ้าติดตั้งบนเวทีสูงขึ้นมาหน่อย ในขณะคนยืนฟัง จำเป็นต้องปรับองศาให้อยู่ในลักษณะมุมก้ม เพื่อให้เสียงกระจายครอบคลุมถึงหูผู้ฟังได้ดี

 

          โดยทั่วไปสามารถประยุกต์ใช้งานได้ 2 แบบ ในการติดตั้งในอีกลักษณะคือ ผู้ใช้สามารถติดตั้งลำโพงโดยใช้น็อต M8 แขวนกับทรัสหรือเพดานเวที หรือโครงเหล็กคานก็ได้ ข้างบนจะมีอยู่สองหู ส่วนด้านหลังจะมีอีกหนึ่งหูที่ใช้สำหรับยึดด้านหลังเอาไว้ ซึ่งลำโพงในชุด Series นี้จะเป็นลำโพง 2 ทาง เน้นขับย่านความถี่เสียงกลางและแหลม ในส่วนขั้นตอนการติดตั้ง ขั้นตอนแรกใส่เสาก่อน และปรับตู้ให้อยู่ในหน้าตรงและปรับให้เอียงลงมา 7.5 องศา และใช้วิธีติดตั้งแบบแขวนด้วยตัวน็อต M8 สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตั้งเป็นมอนิเตอร์หน้าเวทีได้ หรือทำเป็นสเตจ มอนิเตอร์นั่นเอง เหมาะกับงานดนตรี สามารถประยุกต์ใช้งานหลักๆ ได้ 3 รูปแบบ

 

 

กลุ่มเป้าหมายของ E Series

 

          สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ในอดีตนั้นสินค้า QSC ที่เป็นตัวลำโพงทาง บริษัท เครื่องเสียง ได้ทำตลาดเฉพาะรุ่น K Series เป็นแบบแอกตีฟซึ่งเป็นลักษณะ Self-Power หรือมีเพาเวอร์แอมป์ในตัวนั่นเอง ในรุ่น K, KW Series เป็นสินค้าที่อยู่ในตลาดแข็งแกร่งพอสมควร ในตลาดต่างประเทศก็ได้รับความนิยมมาก เพราะเนื่องจากขนย้ายง่าย สะดวกสบายและคุณภาพเสียงก็เป็นที่ยอมรับ มันสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ได้ทุกคาแร็กเตอร์ อย่างไรก็ดีเนื่องจากมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ต้องการนำลำโพงไปทำ Alignment หรือจูนลำโพงด้วยตนเอง พฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้ยังชอบปรับแต่งระบบตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งลำโพง Series ก่อนหน้านี้ไม่สามารถตอบโจทย์ในการทำ Alignment ระบบได้มากนัก คือยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น K Series จะมีเพาเวอร์แอมป์ในตัว และยังมีโพรเซสเซอร์อยู่ภายใน ทุกอย่างโรงงานทำมาให้ครบหมด เรียกได้ว่าลูกค้าซื้อลำโพงไปไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่ม แค่แกะกล่องเชื่อมต่อสายสัญญาณอินพุตทุกอย่างก็เสร็จ

 

          ฉะนั้นรุ่นล่าสุด E Series เป็นลำโพงพาสซีฟ ซึ่งจะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ทันที เราจึงได้เห็นรุ่นใหม่ของ QSC เป็นชุด E Series โดยคาแร็กเตอร์ของโทนเสียงจะมีเอกลักษณ์ รวมถึงการใช้งานที่ให้ความยืดหยุ่นกับลูกค้า เช่น สถานที่บางแห่งอาจจะมีขนาดแคบ มีปัญหาเรื่องเสียงก้อง ลูกค้าสามารถ Alignment ระบบให้เข้ากับสถานที่นั้นๆ ได้เลย

 

          นอกจากนั้นรุ่นนี้ยังบอกกำลังวัตต์ของตัวลำโพงอย่างชัดเจน รองรับกำลังขับเริ่มต้นเท่าไหร่ และวัตต์สูงสุดถึงเท่าไหร่ ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกเพาเวอร์แอมป์มาขับได้แม่นยำมากขึ้น ในขณะที่ตู้แอกตีฟจะระบุกำลังขับของตู้ขนาด 1000 วัตต์ ซึ่งผู้ใช้เองจะไม่รู้ว่าไดรเวอร์ขับความถี่ต่ำ หรือไดรเวอร์ขับความถี่สูงนั้น รองรับกำลังขับได้กี่วัตต์ เราไม่รู้ โรงงานจะระบุให้ทราบแค่ว่าตู้ใบนี้รองรับกำลังขับได้ 1000 วัตต์เท่านั้น รุ่นใหม่นี้เป็นลำโพง 2 ทางทั่วไป ซึ่งทาง QSC ได้มองเห็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการตู้ลำโพงในลักษณะนี้เพื่อไปใช้งาน กลุ่มลูกค้าในไทยยังมีความต้องการใช้อยู่ บางท่านอาจจะแนะนำว่า ลำโพงแอกตีฟนำไปใช้ Outdoor ไม่ได้ กลัวโดนฝน กลัวละอองน้ำ หรือโดนน้ำนิดหน่อยก็ไม่ได้ เนื่อง จากตู้แอกตีฟจะมี Self-Power ติดตั้งภายในตู้ลำโพง ขณะตู้ลำโพง E Series จะเหมือนตู้ลำโพงทั่วไปคือเป็นพาสซีฟ แต่ว่ายังคงรักษาเรื่องผลตอบสนองย่านความถี่ เรื่องของระดับความดัง dB SPL หรือเรื่องของมุมกระจายเสียง ทั้งหมดได้เก็บเอกลักษณ์ของ QSC ไว้ครบถ้วน เนื้อเสียงยังเป็นคาแร็กเตอร์ที่ทุกคนคุ้นเคยจากรุ่นก่อนหน้าคือ K และ KW Series

 

 

QSC E10 passive loudspeakers กำลังขับ 300 วัตต์ (Continuous), 1200 วัตต์ (peak)

 

 

 

 QSC E12 passive loudspeakers กำลังขับ 400 วัตต์ (Continuous), 1600 วัตต์ (peak) 

 

 

 

QSC E15 passive loudspeakers กำลังขับ 500 วัตต์ (Continuous), 2000 วัตต์ (peak)

 

 

QSC E18SW passive loudspeakers กำลังขับ 800 วัตต์ (Continuous), 3200 วัตต์ (peak)

 

ความเที่ยงตรงของสเปก

  

          หากเป็นลำโพงแอกตีฟเพาเวอร์มาจนถึงพาสซีฟ โดยทั่วไปจะมีความแตกต่างในด้านสเปกของตัวตู้ลำโพงอยู่แล้ว เพราะใน E Series จะไม่มีเพาเวอร์แอมป์ เพราะมีการตัดโมดูลเพาเวอร์ออกไป ดังนั้นสเปกที่เราเห็นจะเป็นสเปกของลำโพงล้วนๆ คือไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องครอสโอเวอร์ที่โพรเซสเซอร์ของตู้ลำโพงบังคับมา โดยมาตรฐานเวลาแกะกล่องออกมา หมายถึงเขาให้เราเชื่อมต่อสัญญาณตรงเข้าไปที่ตู้ลำโพง ซึ่งในรุ่นใหม่เนื้อเสียงยังเป็น QSC อยู่ เชื่อว่า QSC น่าจะตอบโจทย์ลูกค้าได้พอสมควร ทั้งเรื่องความดัง การตอบสนองความถี่ย่านต่างๆ ทำให้ใช้งานง่าย ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้อง Alignment ระบบก็ได้ เพียงแค่เชื่อมต่อสัญญาณธรรมดาก็เพียงพอแล้ว ในช่วงที่ QSC เข้ามาทำตลาดในไทย ลูกค้ามัก จะนำไปเทียบกับยี่ห้ออื่นๆ ทั้งเรื่องกำลังวัตต์ เรื่องราคา ไม่อยากให้มองแบบนั้น อยากให้มองที่คุณภาพเสียง มองเรื่องบริการมากกว่า แล้วชั่งน้ำหนักดูว่า เนื้อเสียงกับราคา และคุณภาพโดยรวม ตรงกับความต้องการเราไหม ที่ผ่านมาลูกค้าที่ซื้อลำโพง QSC ล้วนประทับใจสินค้า ทั้งในส่วนของ Frequency Respond และค่า dB SPL รวมถึง Sensitivity ที่สำคัญคือคุณภาพเสียงจะไม่คลาดเคลื่อนจากสเปกที่โรงงานระบุไว้นัก

 

          สำหรับการดีไซน์ระบบเสียงจะให้ความสำคัญกับค่า dB SPL และ Sensitivity มาก่อนกำลังขับ เพราะลำโพงจะดังมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ 2 ประการนี้ จากนั้นค่อยไปพิจารณากำลังวัตต์ หากลำโพงดังได้ถึง Target SPL ที่สเปกกำหนดไว้ นั่นหมายถึงลำโพงตู้นั้นย่อมมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่ง เพราะบางครั้งลำโพงในท้องตลาด อาจจะระบุสเปก dB SPL เอาไว้สูงมาก แต่พอใช้งานจริงกลับให้ระดับความดังไม่ถึงค่าดังกล่าว กรณีลำโพง QSC สเปกระบุไว้ 95-96 dB SPL ทำให้เห็นว่าหากผู้ฟังอยู่ในช่วงระยะการฟังที่ 10-20 เมตร โดยยืนห่างจากหน้าเวทีก็น่าจะดังมากพอที่จะครอบคลุมพื้นที่ในงานได้ ดังนั้นหากลูกค้าจะนำไปติดตั้งงานมินิคอนเสิร์ตหรืองานอีเว้นต์ต่างๆ ก็สามารถใช้งานได้ สังเกตได้ว่าจาก E10 ถึง E15 ค่า dB SPL Peak ที่ระยะ 1 เมตร เริ่มต้นที่ 126dB/128dB/130dB คิดง่ายๆ ก็คือเพิ่มขึ้นประมาณระดับละ 3dB ซึ่งใกล้เคียงกัน เห็นได้ว่ามันจะไม่กระโดดมาก ทำให้เราเลือกมาใช้งานไม่ยากนัก ซึ่งค่า SPL Peak นั้น มีไว้รองรับจังหวะที่เกิดการฟีดแบ็ก ในขณะที่ค่ากลางๆ ซึ่งระบุเป็น 95-96dB SPL จะเป็นค่าที่ลำโพงทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเล่นกับดนตรีร็อคหรือแด๊นซ์ก็ได้ ซึ่งโดยเฉลี่ยทั้ง 3 รุ่นจะให้ความดังเกิน 90dB SPL ทั้งหมดเลย

 

          อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ เรื่ององศาการควบคุม ในรุ่น E10-E12 จะเท่ากับ 85 องศา แต่รุ่น E15 ด้วยขนาดที่มันใหญ่ขึ้นจะเท่ากับ 75 องศา ซึ่งเป็นมุมกระจายเสียงที่ตู้แบรนด์ชั้นนำนิยมออกแบบให้เป็นมาตรฐาน ตู้เล็กมุมกระจายเสียงจะกว้าง ส่วนตู้ใหญ่มุมกระจายเสียงจะแคบลง กรณีตู้ลำโพงตัว K Series ซึ่งตู้ K8 มีขนาดเล็กมาก ตัวไดรเวอร์ขนาด 8 นิ้ว แต่มันให้มุมกระจายเสียงกว้างถึง 105 องศา ทุกคนตกใจมากเลย คือเปิดไม่ดังเท่าไหร่ แต่มุมกระจายเสียงมันกว้างมาก ไม่ว่าจะยืนจุดไหนก็แล้วแต่ที่อยู่ในรัศมี 105 องศา การกระจายเสียงของตู้ลำโพงก็สามารถได้ยินเสียงครบหมด พอขยับขนาดตู้ใหญ่ขึ้นรัศมีจะถูกปรับเป็น 90/85/75

 

          ถามว่าทำไมมันแคบลง ยิ่งตู้มีขนาดใหญ่ มุมกระจายเสียงยิ่งแคบลง เหมือนให้เราดูลักษณะงาน หากเป็นงานอีเว้นต์ งานเปิดบูธ ซึ่งไม่มีวงดนตรีมาเล่น มีแค่โฟล์คซองมาเล่นเบาๆ เขาอาจจะให้เริ่มจากตู้ขนาดไดรเวอร์ 8 นิ้ว 10 นิ้ว ซึ่งขนาดตู้ที่เล็กลงนั้น ทำให้การเคลื่อนย้ายหรือเซตอัพง่ายขึ้น หากเป็นตู้ไดรเวอร์ขนาด 12 นิ้ว ตรงนี้จะรองรับการใช้งานวงดนตรี กล่าวคือมีวงดนตรี ศิลปินมาเล่นหนักขึ้น ทีนี้ก็จะมีลำโพง 2 ทางกับลำโพงซับวูฟเฟอร์มาเกี่ยวข้อง ตรงนี้เรามี 2 เงื่อนไข เราต้องดูว่าพื้นที่งานใหญ่แค่ไหน ถ้าเล่นในห้างข้างละหนึ่งเซต ประกอบด้วย Mid-High-Low อาจจะไม่มีปัญหา เพราะห้องพื้นที่ไม่ใหญ่มาก แต่พอมาเป็น Outdoor ต้องเซตอัพข้างละ 2 เซตขึ้นไป โดยปกติในการเล่นเต็มวงควรจะเพิ่มยูนิตของลำโพงให้เป็นหนึ่งเท่าตัว เพื่อรองรับการเล่นดนตรีที่หนักหน่วงขึ้น สังเกตได้จากเซตตู้ 12/15 นิ้ว ถ้าเป็น QSC ตัว K/KW Series รุ่นเก่า ตู้ไดรเวอร์ 12 นิ้ว มุมกระจายจะเท่ากับ 75 องศา หากเซตจำนวน 2 ใบ โดยเอาหน้าประกบกัน แล้วแบะหน้านิดนึง จะกลายเป็น 75+75 = 150 องศา เราจะได้องศาเยอะขึ้น

 

          รวมไปถึงความดังของเสียงก็จะเพิ่มขึ้นอีก +3dB ตามสูตร SPL บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมตู้ยิ่งมีขนาดใหญ่แต่องศายิ่งแคบลง มันเป็นเรื่องที่ถูกบีบบังคับโดยตรง หากใช้กับงานเล่นดนตรีในลักษณะ Outdoor จะเลือกใช้ตู้ขนาด 12 นิ้วใบเดียว มุมกระจายเสียง 75 องศา ซึ่งมันแคบนิดเดียว แต่พื้นที่ใช้งานกว้างมาก ทำให้เกิดปัญหาเสียงดังไม่ทั่วถึง บางครั้งทำให้ต้องเร่งเสียงให้ดังมากขึ้น ผลคือระบบจะทำงานเกินกำลังที่โรงงานระบุไว้ ดังนั้นจึงแนะนำให้เซตอัพ 2 ใบ ซึ่งจะได้ค่า SPL ที่สูงขึ้น รองรับการขับด้วยกำลังวัตต์มากขึ้น รองรับกระจายเสียงครอบ คลุมพื้นที่ได้มากขึ้น หรือถ้าเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ ก็อาจจะเซตเป็นลำโพงไลน์อาร์เรย์ไปเลย ซึ่ง QSC มีลำโพงชนิดนี้เช่นกัน ปัจจุบันยังมีอยู่ในไลน์ผลิตอยู่ ส่วนค่าอิมพีแดนซ์จะเป็น 8 โอห์มทั้ง 3 รุ่น แต่ตู้ซับวูฟเฟอร์จะมีขนาด 4 โอห์ม

 

 

GXD Series แอมปลิฟายเออร์

 

 

PLD Series แอมปลิฟายเออร์

 

 

          สำหรับ E Series ล่าสุด เพิ่งจะไปโชว์ในงาน NAMM 2016 นี่เอง ถ้าสำรวจภายนอกตู้หน้าตาจะคล้ายกับ KW Series เป็นลำโพง 2 ทางพร้อมกับตู้ซับวูฟเฟอร์ ด้านหลังจะตัดโมดูลเพาเวอร์แอมป์ คือในเรื่องของบอดี้จะเหมือนกันทุกอย่าง ในส่วนของเพาเวอร์แอมป์ที่จะนำมาขับลำโพง E Series นั้น หากจะให้แนะนำในกรณีของ TouchMix มันจะมีเรื่องของเอาต์พุตโวลเตจ กล่าวคือเอาต์พุตจากมิกเซอร์ ไปถึงอินพุตของเพาเวอร์แอมป์ ในเรื่องเพาเวอร์แอมป์เท่าที่ฝ่ายเทคนิคศึกษาสเปกมา ทางผู้ผลิตแนะนำให้ใช้รุ่น QSC PLD หรือ GXD ซึ่งเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่มีโพรเซสเซอร์ในตัว และตัว PLD 4.3, 4.5 ซึ่งจะมี DSP ในตัว เป็นเพาเวอร์แอมป์ขนาด 4 แชนเนล

 

          รุ่นนี้สามารถกระจายเอาต์พุตได้ ในโพรเซสเซอร์จะมีพรีเซตของลำโพงแต่ละรุ่นอีกด้วย ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง QSC และแบรนด์ดังระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งปัจจุบันจะมีพวกพรีเซตของลำโพง Ceiling ของ QSC บรรจุอยู่ภายใน ในเพาเวอร์แอมป์ PLD, GXD จะมีไลบรารีของ E Series อยู่ภายในหน่วยความจำเช่นกัน อย่างไรก็ดี หากเป็นเฟิร์มแวร์รุ่นเก่าผู้ใช้สามารถอัพเกรดเฟิร์มแวร์รุ่นใหม่เพิ่มเติมได้ เพื่อให้อุปกรณ์สามารถโหลดพรีเซตให้เข้ากับรุ่นลำโพงนั้นๆ ได้ สำหรับตัวเอดิเตอร์ของเพาเวอร์แอมป์ก็สามารถปรับแต่งแก้ไขได้ เพราะไม่ได้ถูกฟิกซ์ค่าไว้ตาย ตัว ซึ่งระบบจะไม่มีการบีบบังคับว่าจะต้องตัดย่านความถี่ที่จุดตัดเท่าไหร่ จัดว่ามีความยืดหยุ่นสูงในระดับหนึ่ง เชื่อว่าหลายท่านคงจะชอบรูปทรง E Series เพราะสามารถดัดแปลงเป็นสเตจมอนิเตอร์ได้

  

 

TouchMix ดิจิตอลมิกเซอร์

  

          ก่อนหน้านี้รุ่น KW Series ขนาดไดรเวอร์ 12 นิ้ว หรือรุ่น KW122 ผู้ใช้เขาห่วงเรื่องน้ำอย่างเดียว บางทีไปเจอสถานที่แบบเล่นโชว์อยู่ ต่อให้มีลูปทรัสก็จริง หากเป็นตู้แบบ Self-Power วางอยู่ด้านหน้าเวที เวลาฝนมันสาด ลูกค้าก็กลัว เพราะไฟแรงดันสูงไปอยู่กับลำโพงพวกนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่พอเป็นพาสซีฟเนี่ยก็หายห่วง สำหรับเพาเวอร์แอมป์ของ QSC ถือว่าเป็นแอมป์ที่ดี ดีในระดับที่ลูกค้าแฮปปี้ ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของ QSC จุดก่อกำเนิดคือเป็นผู้ผลิตเพาเวอร์แอมป์มาประมาณ 30 ปี ผู้ก่อตั้งจะเป็นมือกีตาร์ และอีกคนทำตู้กีตาร์ ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน แล้วมาเปิดโรงงานผลิตสินค้า QSC เริ่มแรกทำเพาเวอร์แอมป์ก่อน ในระยะหลังได้มีการผลิตลำโพงเพิ่มเข้ามา สำหรับตลาดที่ QSC จะโฟกัสนั้นเป็นตลาดระดับกลาง ส่วนตลาดบนจะเข้าไปเฉพาะบางกลุ่ม อย่างเช่นกลุ่มซัพพลายเออร์ที่ทำธุรกิจ Rental หรือผู้ให้บริการเช่าเครื่องเสียงต่างให้การยอมรับ QSC พอสมควร

 

          แต่หากเป็นงานโปรดักชันใหญ่ๆ นั้น ยังแชร์ส่วนแบ่งตลาดในไทยได้ไม่กว้างพอ ในเรื่องคุณภาพสินค้า สามารถรองรับงานขนาดใหญ่ๆ ทั้งคอนเสิร์ตโลคัลหรือระดับอินเตอร์ก็ได้ มีซัพพลายเออร์ชั้นนำบางแห่งก็ใช้ QSC ทำสเตจมอนิเตอร์ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าแฮปปี้กับคาแร็กเตอร์และการใช้งานลำโพง QSC หรือเปล่า อย่างเช่น KW Series มันจะมีโมดูลเพาเวอร์ เรียกว่าเหมือนมีฟังก์ชันแถมมาให้เลย อาทิ ฟังก์ชันของครอสโอเวอร์ มิกเซอร์ ในกรณีที่ใช้เป็นฟูลเรนจ์ก็แค่ปรับเป็น Normal ทั้งหมด ทุกอย่างจะได้ตามมาตรฐานโรงงานผลิต แต่วันนี้ผู้ใช้ต้องการนำไปทำเป็นสเตจมอนิเตอร์ ในคู่มือก็จะให้ผู้ใช้ปรับ DIP สวิตช์ด้านหลังตัวลำโพง สามารถปรับได้ทันที เพื่อตัดย่านความถี่ที่ไม่ต้องการออกไป ตัวอย่างเช่น ถ้านำไปทำเป็นสเตจมอนิเตอร์ ย่านความถี่ตั้งแต่ 100-150Hz ระบบไม่จำเป็นต้องใช้ ทั้งนี้ป้องกันปัญหาความถี่ต่ำมารบกวนเสียงเครื่องดนตรี หรือปัญหาฟีดแบ็กที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในระบบเสียง PA ในกรณีตัดความถี่ตั้งแต่ 100Hz ลงมา ย่านความถี่อื่นๆ ก็ยังอยู่ครบถ้วน เมื่อเราคัตความถี่แล้ว หากนำไมค์ไปแกว่งแล้วไม่เกิดการฟีดแบ็ก ก็ถือว่าโรงงานออกแบบมาดีมาก

 

          ในกรณีเลวร้ายที่สุดหากตัดย่านความถี่แล้ว ยังเกิดปัญหาฟีดแบ็ก ผู้ใช้อาจจะเลือก Alignment ความถี่เพิ่มเติมได้ แต่ว่ามันก็เกิดการสูญเสีย อาจได้โทนไม่สมจริงของนักร้อง กลายเป็นว่ามันถูกคัลเลอร์เยอะ ทำให้เกิดเสียงที่หลอกหูได้ แต่พอเป็นตู้ KW/K Series พอตัด 100Hz ย่านอื่นก็ยังอยู่ครบ ลูกค้าที่ไปซื้อก็จะได้ลองก่อน ซึ่งได้ยินกับหูเลยว่ามันได้ผลลัพธ์แบบนั้นจริงๆ เริ่มจากใช้ไมค์เชื่อมต่อหลังตู้แล้ว DIP สวิตช์ให้ดู ถ้ากำหนดเป็นโหมด Normal จะเหมาะกับการเปิดเพลงทั่วไป พอ DIP สวิตช์เป็นมอนิเตอร์ โดยไม่ได้ทำ EQ ไม่ได้ปรับแต่งอะไรเลย แล้วนำไมค์ไปแกว่งหน้าตู้ แบบไม่ได้จ่อตรงๆ จำลองเหมือนเหตุการณ์จริง สมมติลำโพงอยู่ด้านหลัง แล้วยืนหน้าตู้ลำโพง ในระดับความดังที่เราคิดว่าเพียงพอต่อการใช้งาน ผลคือไม่เกิดการฟีดแบ็ก หลายท่านจึงรู้สึกแฮปปี้ บางท่านที่ซื้อไปไม่รู้จะเซตอัพใช้งานยังไง ผู้ซื้อก็จะได้รับคำแนะนำจากผู้ขายอย่างละเอียด หากถามว่าลำโพงที่มี Self-Power กับไม่มี Self-Power โดยภาพรวมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน QSC ยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพเสียง และยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ครบถ้วน

 

มุมกระจายเสียงคืออะไร

 

          ตัวอย่างของมุมกระจายเสียง 85 องศานั้น เป็นการกระจายเสียงในมุมกว้างคือแนวขวาง (แนวนอน) ในที่นี้จะไม่ได้หมายถึงแนวตั้ง เพราะแนวตั้งเป็นคุณสมบัติสำคัญของลำโพงไลน์อาร์เรย์ เพราะไลน์อาร์เรย์เราจะดูสเป็กที่หนึ่งใบ แนวนอนยิ่งกว้างยิ่งดี แต่สำหรับแนวตั้งต้องให้ความสำคัญมาก เพราะว่าถ้าสองใบต่อเรียงกัน หากมุมกระจายกว้างเกินไปจะมีปัญหาเรื่องเฟสกวนกัน แต่ในกรณีที่เป็นลำโพงฟูลเรนจ์เราไม่สนใจ เพราะการออกแบบไม่ได้สนใจเรื่องกราวด์สแต็ค ซึ่งก็คือวิธีนำลำโพงมาต่อเรียงกันเป็นทรงตึกสูงๆ คือต้องระวังการติดตั้งที่ผิดประเภท เพราะนั่นจะง่ายต่อการเกิดปัญหาเรื่องเฟส สเปกลำโพงจึงระบุมาเลยว่า 85 องศาคือมุมกระจายเสียงในแนวกว้าง ซึ่งจะบ่งชี้ว่าความถี่ทุกย่านความถี่จะกระจายในขอบเขตที่สเปกระบุไว้ ตัวอย่างเช่น หากเราตั้งลำโพงไว้กลางเวที หากเดินตั้งแต่ซ้ายสุดของห้องไปจนถึงบริเวณขวาสุดของห้อง เราจะได้ยินความแตกต่างหรือย่านความถี่ใดๆ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น Curve เมื่อเราเดินช้าๆ เดินไปเรื่อยๆ แล้วได้ยินความถี่สูงสม่ำเสมอกัน เราจะทราบเลยว่าค่า 85 องศาที่โรงงานระบุไว้มันเป็นแบบนั้นจริงๆ

 

          ในกรณีที่ลำโพง 2 ใบมาอยู่รวมกัน หากเป็นตู้แบบ 12 นิ้ว ขนาดขององศาก็จะถูกนำมาบวกกัน แต่ว่าเวลาติดตั้งนั้น เนื่องจากบอดี้ตู้ลำโพงจะเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมคางหมูนิดๆ จึงจำเป็นต้องเอาตู้ชนกัน หลังจากนั้นจะทำให้ตู้สองใบประกบกันพอดี เราเชื่อว่าโรงงานได้มีการจำ ลองมุมกระจายเสียงมาแล้วว่า ณ. ตำแหน่งตรงกลางตู้นั้นเฟสของความถี่สูงจะเกิดการทับซ้อนกันหรือเปล่า เรียกง่ายๆ ว่า Phase Shift จึงไม่น่าห่วงเรื่องเฟส เพราะโรงงานฟิกซ์องศาไว้แล้ว ที่เหลืออยู่ที่การประยุกต์ใช้งานของเรา หากถามว่าการติดตั้งสามารถติดตั้งได้สูงสุดกี่ใบต่อข้าง ในกรณีเป็นงานประเภทคอนเสิร์ต เมื่อติดตั้งแล้วโอกาสเกิดปัญหาเรื่องเฟสไม่มาก จะอยู่ที่ประมาณข้างละ 4 ใบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรจะเดโมดู ก่อน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัด ซึ่งเราจะทำการวัดในส่วนของเราเองว่า ลำโพงที่เราได้มานั้นกับค่าสเปกที่โรงงานระบุไว้ มันตรงกันจริงหรือเปล่า ซึ่งจะใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางในการวัดความถี่และเฟสเสียง

 

ตาราง การเลือกเพาเวอร์แอมป์ให้เหมาะสมกับลำโพง

 

 

 

 

 

การติดตั้ง E Series แบบหน้าตรง

 

 

การติดตั้งลำโพง 2 ทาง มุมก้ม 7.5 องศา (E10, E12 และ E15)

 

 

การติดตั้งลำโพงฟูลเรนจ์ร่วมกับตู้ซับวูฟเฟอร์

 

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

 

          สำหรับลำโพง E Series เหมาะที่จะใช้งานร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ QSC รุ่น GXD ซึ่งมีฟรีเจอร์หลักคือทำงานเป็นโหมด 2 แชนเนล สามารถอัพเกรดเฟิร์มแวร์เพื่อนำมาใช้งานร่วมกันได้ โดยหลักการแล้ว GXD ซีรี่ส์เหมาะกับการเซตแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อเป็นแบบสเตอริโอ (ซ้าย / ขวา) แต่ไม่ใช้ซับวูฟเฟอร์ ถัดไปอีกรุ่นหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำคือ QSC PLD ซีรี่ส์ ซึ่งเป็นเพาเวอร์แอมป์ขนาด 4 แชนเนล โดยระบบนี้จะต่อแบบสเตอริโอ (ซ้าย / ขวา) ร่วมกับตู้ซับวูฟเฟอร์เข้าไปได้ หรือจะต่อเพื่อใช้งานในลักษณะเป็นสเตจมอนิเตอร์ก็ได้ และอุปกรณ์อีกตัวที่สามารถนำมาใช้ร่วมกันกับลำโพงชุดนี้นั่นคือ TouchMix เป็นดิจิตอลมิกเซอร์จาก QSC ซึ่งจะมีการประมวลผลผ่านพรีเซตเฉพาะของลำโพง E Series โดยตรง ทั้งนี้เพื่อให้การดึงศักยภาพของลำโพงตระกูลนี้ออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั้น ก่อนการใช้งานแนะนำให้อัพเกรดเฟิร์มแวร์ให้กับดิจิตอลมิกเซอร์ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้งานอุปกรณ์

 

 

ตัวอย่างแอปพลิเคชันขนาดเล็ก TouchMix จำนวน 1 ตัว GXD4 จำนวน 1 ตัว และลำโพง E10 จำนวน 2 ใบ (ซ้าย/ขวา)

 

 

ตัวอย่างแอปพลิเคชั่นขนาดใหญ่แบบเต็มวง TouchMix จำนวน 1 ตัว PLD4.3 จำนวน 2 ตัว และลำโพง E10 จำนวน 4 ใบ ใช้เป็นสเตจมอนิเตอร์ ชุดเมน PA E12 จำนวนข้างละ 1 ใบ และ E18SW ข้างละ 1 ใบ (ซ้าย/ขวา)

 

 

ตัวอย่างแอปพลิเคชั่นในผับเธค ใช้ TouchMix จำนวน 1 ตัว PLD4.5 จำนวน 1 ตัว และลำโพง E15 จำนวน 2 ใบ E18SW จำนวน 2 ใบ (ซ้าย/ขวา)

 

 

แอปพลิเคชันการแสดงสดขนาดกลาง ใช้ TouchMix จำนวน 1 ตัว GXD8 จำนวน 1 ตัว ใช้ขับเมน PA (E12) ส่วน GXD4 จำนวน 1 ตัว ใช้ขับสเตจมอนิเตอร์ (E10) และลำโพง E12 จำนวน 2 ใบเป็นเมน PA ส่วนชุดสเตจมอนิเตอร์เป็น E10 จำนวน 2 ใบ (ซ้าย/ขวา)

 

 

การเลือกกำลังขับเพาเวอร์แอมป์

 

          จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือของ QSC แนะนำให้ใช้เพาเวอร์แอมป์ โดยมองไปที่วัตต์แบบ continuous หรือกำลังขับต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สำหรับแอปพลิเคชันแต่ละแบบย่อมมีระบบแตกต่างกันไป บางระบบต้องการกำลังขับมาก แต่บางระบบต้องการใช้กำลังขับน้อย เพื่อให้ทุกอย่างยอมรับได้อย่างสมบูรณ์ และบางระบบต้องการกำลังสำรองหรือเฮดรูมที่สูง ฉะนั้นเพาเวอร์แอมป์จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรเลือกให้เข้ากับลำโพงเป็นอย่างยิ่ง แต่ต้องเตือนว่าไม่ควรจะเลือกเพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังขับเกินกว่ากำลังวัตต์ของไดรเวอร์มากเกินไป พิจารณาได้ดังนี้

 

          (1) สำหรับแอปพลิเคชันที่ 1 เลือกใช้เพาเวอร์แอมป์ GXD4 กำลังขับที่ 8 โอห์มอยู่ที่ 400 วัตต์ และ 4 โอห์ม 800 วัตต์ สามารถใช้งานร่วมกับ E10, E12, E15 และ E18SW ได้ แต่ประสิทธิภาพจะออกมาไม่เต็มที่ เหมาะสำหรับระบบที่ต้องการประหยัดงบประมาณ

 

          (2) สำหรับแอปพลิเคชันที่ 2 ใช้ร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ GXD8 กำลังขับที่โหลด 8 โอห์มอยู่ที่ 800 วัตต์และ 4 โอห์มกำลังขับที่ 1200 วัตต์ สามารถใช้กับลำโพง E10, E12, E15 และ E18SW เป็นการบาลานซ์ระบบที่ดีเมื่อวัดจากต้นทุนต่อประสิทธิภาพงาน

 

          (3) สำหรับแอปพลิเคชันที่ 3 ใช้ร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ PLD4.2 (4 แชนเนล) กำลังขับที่โหลด 8 โอห์มอยู่ที่ 500 วัตต์และ 4 โอห์มกำลังขับที่ 700 วัตต์ สามารถใช้กับลำโพง E10, E12, E15 และ E18SW แต่จะเหมาะกับกับรุ่น E10 มากที่สุด รุ่นอื่นๆ ก็ใช้งานได้แต่พลังเสียงจะออก มาไม่เต็มที่นัก เนื่องจากกำลังขับของแอมป์และลำโพงไม่สมดูลกัน

 ;

          (4) สำหรับแอปพลิเคชันที่ 4 ใช้ร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ PLD4.3 (4 แชนเนล) กำลังขับที่โหลด 8 โอห์มอยู่ที่ 900 วัตต์และ 4 โอห์มกำลังขับที่ 1400 วัตต์ สามารถใช้กับลำโพง E10, E12, E15 และ E18SW หากใช้กับ E10 จะได้ประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนรุ่นอื่นๆก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับต้นทุนและประสิทธิภาพ

 

          (5) สำหรับแอปพลิเคชันที่ 5 ใช้ร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ PLD4.5 (4 แชนเนล) กำลังขับที่โหลด 8 โอห์มอยู่ที่ 1200 วัตต์และ 4 โอห์มกำลังขับที่ 2000 วัตต์ สามารถใช้กับลำโพง E15 และ E18SW ไม่แนะนำให้ใช้กับ E10 และ E12 เพราะกำลังขับและกำลังทนแรงขับของไดรเวอร์ไม่สมดุลกัน หากต้องการประสิทธิภาพสูงสุดควรเป็นรุ่น E15 และ E18SW 

 

 

ไดอะแกรมการเชื่อมต่ออินพุตด้านหลังตู้ลำโพง E10, E12, และ E15

 

 

ไดอะแกรมการเชื่อมต่ออินพุตด้านหลังตู้ลำโพง E18SW

 

 

 

ไดอะแกรมการเชื่อมต่อเพาเวอร์แอมป์เอาต์พุต 2 แชนเนล กับลำโพง 2 ใบ แบบฟูลเรนจ์ 2 ทาง

 

 

ไดอะแกรมการเชื่อมต่อเพาเวอร์แอมป์เอาต์พุต 2 แชนเนล กับลำโพง 2 ใบ แบบฟูลเรนจ์ 1 ใบ และซับวูฟเฟอร์ 1 ใบ

 

 

 

ไดอะแกรมการเชื่อมต่อเพาเวอร์แอมป์เอาต์พุต 2 แชนเนล กับลำโพง 2 ใบ แบบฟูลเรนจ์ 1 ใบ และซับวูฟเฟอร์ 1 ใบ โดยต่อลิงค์จากตู้ซับใช้สาย 4 เคเบิล บนเพาเวอร์แอมป์ตัวเดียวกัน

 

 

ไดอะแกรมการเชื่อมต่อเพาเวอร์แอมป์เอาต์พุต 2 แชนเนล กับลำโพง 2 ใบ แบบฟูลเรนจ์ 1 ใบ และซับวูฟเฟอร์ 1 ใบ แบบสเตริโอ โดยใช้เพาเวอร์แอมป์ 2 ตัวแยกกันขับซ้ายขวา ชุดแรกขับฟูลเรนจ์ อีกชุดขับเฉพาะซับวูฟเฟอร์

 

 

 

 

ไดอะแกรมการเชื่อมต่อเพาเวอร์แอมป์เอาต์พุต 4 แชนเนล กับลำโพง 4 ใบ แบบฟูลเรนจ์ 2 ใบ และซับวูฟเฟอร์ 2 ใบ แบบสเตริโอ โดยใช้เพาเวอร์แอมป์ 1 ตัวแยกกันขับซ้ายขวา ชุดแรกขับฟูลเรนจ์ (แชนเนล B) อีกชุดขับเฉพาะซับวูฟเฟอร์ (แชนเนล D) (B&D ขับซีกซ้าย) ส่วนแชนเนล A&C (ซีกขวา) ขับซับวูฟเฟอร์และฟูลเรนจ์โดยเชื่อมต่อแบบลิงค์กันผ่านสาย 4 เคเบิล

 

 

 

ตารางคุณสมบัติ E Series รุ่นต่างๆ

 

สนใจข้อมูลสินค้าเพิ่มเติม สอบถามได้ที่...
บริษัท เครื่องเสียง จำกัด
419/2 ซ. สุขุมวิท 63 (เอกมัย) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
Tel. 0-2715-0970-4 Fax. 0-2715-0969
E-mail : sales@sound.co.th

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด