ออดิโอ วีดีโอ

เครื่องรับวิทยุหลอดโบราณ ตอนจบ การตรวจซ่อมเครื่องรับวิทยุโบราณ

ประพันธ์ พิพัฒนสุข

 

 

ถ้าท่านยังมีเครื่องรับวิทยุแบบหลอด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจากประเทศทางยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่นก็ตาม หากเครื่องรับวิทยุหรือเครื่องเสียงโบราญใช้ไม่ได้ ลองเปิดอ่านบทความนี้ดู บางทีท่านอาจจะคืนชีพมันด้วยตัวเองก็เป็นได้

 

     เครื่องรับวิทยุโบราณ หรือ วิทยุหลอดเป็นสื่อที่ให้ความรู้ข่าวสารและความบันเทิงในด้านเสียงเพลงที่ได้รับความนิยมในอดีตช่วงประมาณ พ.ศ. 24 80 ถึง พ.ศ. 2520 เครื่องรับวิทยุในยุคนั้นที่มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศมีทั้งด้านอเมริกาและยุโรป ในเวลาต่อมาสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มเข้ามาจำหน่าย

 

          จากอดีตอันยาวนานเครื่องรับวิทยุเหล่านี้หลายๆ เครื่องถูกตั้งไว้เป็นที่ระลึก ในปัจจุบันเครื่องรับวิทยุหลอดกลับมามีผู้คนให้ความสนใจเพราะมีสินค้ามือสองจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ส่วนหนึ่งก็มีเครื่องรับวิทยุโบราณและเครื่องเสียงโบราณ แน่นอนว่าเป็นเครื่องที่ใช้หลอดสุญญากาศเป็นส่วนประกอบ โดยส่วนมากแล้วปัญหาของเครื่องรับวิทยุและเครื่องเสียงเหล่านั้นจะไม่สามารถทำงานได้ บางเครื่องก็ไม่สมบูรณ์ หากจะเอาไปซ่อมก็คงไม่ทราบว่าจะไปซ่อมที่ร้านไหนนั้น ซึ่งนี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนเกิดปรงบรรดาลใจที่จะถ่ายทอดบทความนี้ออกมาเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ท่านผู้อ่านได้นำไปเป็นข้อมูล

 

          สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2510 ผู้เขียนเองเคยเปิดร้านซ่อมวิทยุที่จังหวัดนครพนม จึงพอมีความรู้ในเรื่องของการตรวจซ่อมเครื่องรับวิทยุรวมไปถึงเครื่องเสียงโบราญ ดังนั้นจึงขอถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับท่านผู้อ่านและผู้คนที่สนใจที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องหลอดมาก่อนหรือพอจะซ่อมเครื่องวิทยุและเครื่องเสียงทรานซิสเตอร์ได้ ต้องการเรียนรู้วิธีการตรวจซ่อมเครื่องวิทยุและเครื่องเสียงแบบหลอดของเยอรมันมาตรฐาน AEG ได้ติดตามอ่าน

 

          ในการตรวจซ่อมเครื่องรับวิทยุแบบหลอดอายุของแต่ละเครื่อง คงจะไม่ต่ำกว่า 50 ปี แน่นอนว่าแต่ละเครื่องย่อมมีสภาพที่แตกต่างกัน บางเครื่องที่มีการเก็บรักษาอย่างดี เครื่องก็จะมีสภาพที่ดีและยังสามารถเปิดระบบ ทั้งระบบ AM, SW และ FM แต่ทว่าบางเครื่องการเก็บรักษาอาจจะไม่ดีนัก ทำให้เกิดความเสียหาย สุดท้ายก็ไปจบที่ร้านรับซื้อของเก่า แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันกระแสตอบรับเครื่องรับวิทยุแบบหลอดเริ่มเกิดขึ้น หากท่านได้มีโอกาสไปถามซื้อที่ร้านค้าเครื่องรับวิทยุมือสองจากต่างประเทศ อาจจะไม่เชื่อเลยก็ได้ เพราะราคาเครื่องที่พอใช้ได้นั้นราคาเป็นหมื่นเลย ยิ่งถ้าเป็นยี่ห้อที่มีชื่อเสียง เช่น กรุนดิก, บราวฟุ้ง และเทเลฟุงเก็นต์ แล้ว ราคายิ่งจะสูงมากกว่าปกติ

 

          เครื่องรับวิทยุโบราณตอนที่ 1 ผู้เขียนเคยเขียนลงในวารสารเซมิฯ ฉบับที่ 428 ประจำเดือน พฤษภาคม 2559 แต่ในตอนดังกล่าวเป็นเครื่องรับวิทยุแบบ AM ซึ่งในฉบับนี้จะนำท่านมารู้จักเครื่องรับวิทยุแบบ FM รวมถึงการบำรุงรักษาหรือการตรวจซ่อม อาจจะต้องอาศัยประสบการณ์การซ่อมเครื่องมาบ้างแล้ว เพราะปัจจุบันวงจรของเครื่องรับวิทยุคงจะหาได้ยากมาก แต่ใช่ว่าไม่มีวงจรแล้วจะซ่อมไม่ได้ เพราะหลอดมีหลักการทำงานที่เป็นมาตรฐาน ดังนั้นการมองหาสาเหตุที่ทำให้หลอดไม่ทำงานจึงไม่ยากมากนัก ซึ่งแนวทางการตรวจซ่อมหลอดนั้นจะมีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน ดังต่อไปนี้ คือ

  1. ตรวจซ่อมภาคจ่ายไฟ
  2. ตรวจซ่อมภาคขยายเสียง
  3. ตรวจซ่อมภาครับวิทยุ FM

 

 

การตรวจซ่อมภาคจ่ายไฟ

 

          ภาคจ่ายไฟเป็นภาคแรกที่จะต้องตรวจสอบให้ถูกต้องก่อน หน้าที่ภาคจ่ายไฟจะต้องจ่ายไฟกระแสตรง (DC) ออกไปเลี้ยงวงจรต่างๆ จุดนี้เป็นจุดแรกที่ต้องมีการตรวจสอบให้ถูกต้องหรือใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ภาคจ่ายไฟจะจ่ายไฟออกไปเลี้ยงโหลด มีแรงไฟหลัก คือ +B1 = 250VDC และ +B2= 230VDC หรือใกล้เคียง แต่ละยี่ห้อแรงไฟไปเลี้ยงวงจรจะใกล้เคียงกันมาก ส่วนแรงไฟสำหรับจุดไส้หลอดต่างๆ มีค่าเท่ากับ 6.3 V ดังรูปที่ 1 เป็นวงจรจ่ายไฟของวิทยุกรุนดิก

  

 

รูปที่ 1 วงจรภาคจ่ายไฟ

 

วงจรภาคจ่ายไฟของวิทยุจากอเมริกาหรือยุโรปจะคล้ายๆ กัน การตรวจซ่อมจะเรียงตามลำดับดังนี้

 

          ลำดับที่ 1 ตรวจระดับแรงไฟที่จะต่อเข้าเพาเวอร์ทรานสฟอร์เมอร์

 

          เพาเวอร์ทรานสฟอร์เมอร์หรือหม้อแปลงไฟของเครื่องรับวิทยุส่วนมากจะมีซีเล็กเตอร์-สวิตช์ เพื่อเลือกระดับแรงที่จะต่อเข้าหม้อแปลงไฟระหว่าง 110VAC หรือ 220VAC ซึ่งแรงดันไฟของประเทศไทยจะใช้ 220VAC ต้องตรวจให้ถูกต้องว่าซีเล็กเตอร์-สวิตช์ ตั้งไว้ที่ 220 VAC

 

          ลำดับที่ ๒ ตรวจสอบไฟออกจากหม้อแปลง

 

          ไฟที่ออกจากหม้อแปลงเป็นไฟ AC เครื่องส่วนมากที่มาจากต่างประเทศ จะมีไฟ ออก 180 VAC- 220 VAC ถ้าวัดได้ มีไฟออกตามจากหม้อแปลงแสดงว่าหม้อแปลงไฟปกติ ต้องถนอมหม้อแปลงไฟไว้ให้ดี เพราะถ้าหม้อแปลงไหม้หรือเสียหาย ราคาที่สั่งทำใหม่นั้นค่อนข้างสูงมากทีเดียว

 

 

รูปที่ 2 หม้อแปลงไฟที่ใช้กับเครื่องรับวิทยุกรุนดิก

 

          จากรูปที่ 2 เป็นหม้อแปลงไฟของเครื่องรับวิทยุกรุนดิก ส่วนยี่ห้ออื่นๆไฟเข้า-ออกจะใกล้เคียงกัน ขดไฟเข้า 220 VAC ขดไฟออก 200 VAC 100 MA ไฟจุดไส้หลอด 6.3VAC 2A

 

          ลำดับที่ ๓ ตรวจสอบวงจรเร็กติไฟเออร์

 

          เมื่อการตรวจสอบไฟออกจากหม้อแปลงถูกต้องแล้ว แรงดันที่ออกจากหม้อแปลงจะต้องไปเข้าวงจรเร็กติไฟเออร์ วงจรเร็กติไฟเออร์จะทำหน้าที่เปลี่ยนแรงไฟกระแสสลับ (AC) ให้เป็นไฟกระแสตรง (DC) โดยจะมีอยู่ 2 ลักษณะ ยุคแรกเป็นแบบแรกเป็นฮาฟเวฟเร็กติไฟเออร์โดยใช้ไดโอดเพียงตัวเดียว ยุคต่อมาสามารถทำบริดจ์ไดโอดได้ วงจรจึงเป็นแบบฟลูเวฟ ระดับแรงไฟกระแสตรงที่นำไปใช้งานมีระดับใกล้เคียงกัน

 

 

รูปร่างของไดโอด

 

 

วงจรเร็กติฟายเออร์แบบฮาฟเวฟ

 

รูปที่ 3 วงจรภาคจ่ายไฟของเครื่องรับวิทยุแบบฮาฟเวฟ

 

          จากวงจรไฟ 200 VAC ที่ออกจากหม้อแปลงจะต่อไปเข้าที่ D1 ไดโอดในยุคแรกมีขนาดใหญ่มาก โดยจะมีขนาด 4ซ.ม X 9 ซ.ม ไดโอดทำงานเปลี่ยนแรงดัน AC ให้เป็น DC แรงดันหลังจากที่แปลงเป็น DC แล้วยังนำไปใช้งานไม่ได้เพราะแรงดันยังไม่เรียบพอ ซึ่งจะต้องนำไปเข้าวงจรกรองกระแสหรือเรียกว่าวงจรฟิลเตอร์ก่อนจึงจะนำไปใช้งานได้ และในบางรุ่นระดับแรงดันจะมีหลายระดับให้เลือกเพื่อไปเลี้ยงโหลดต่างๆ เช่น +B1= 250V หรือ +B2 =230V เป็นต้น

 

 

รูปร่างของบริดจ์ไดโอด

 

 

วงจรเร็กติไฟเออร์แบบฟลูเวฟ

 

รูปที่ 4 ภาคจ่ายไฟแบบฟลูเวฟเร็กติไฟเออร์

 

          ฟลูเวฟเร็กติฟายเป็นรูปแบบที่พัฒนาภาคจ่ายไฟให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้เร็กติไฟเออร์ก็ใช้เป็นบริดจ์ไดโอดที่เริ่มทำขึ้นมาในยุคนั้น แต่ก็ยังมีรูปร่างที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ถึงอย่างนั้นก็จะมีขาใช้งานเหมือนบริดจ์ไดโอดที่มีขายปัจจุบัน คือ จะมีทั้งหมด 4 ขาดังนี้

         

          ขา ~ คือ อินพุตสำหรับต่อแรงดันกระแสสลับ (AC) มี 2 ขา

 

          ขา + คือ เอาต์พุตแรงดันกระแสตรง (DC) ขั้วบวก

 

          ขา – คือ เอาต์พุตแรงดันกระแสตรง (DC) ขั้วลบ

 

          การทำงานเมื่อมีแรงดันไฟกระแสไฟสลับ (AC) จากหม้อแปลง 200 VAC จะนำไปต่อเข้าที่บริดจ์ไดโอดขั้ว ~ หากถูกต้องจะมีแรงดัน DC ออกที่ขั้วบวกและเมื่อผ่านวงจรฟิลเตอร์แล้ว แรงดันไฟ DC จะมี 2 ระดับดังนี้

 

  • + B1 = 250 VDC (เป็นระดับแรงไฟสูงที่สุดของวงจรจะนำไปเลี้ยงภาคขยายสุดท้าย)
  • + B2 = 230 VDC (เป็นระดับแรงไฟต่ำกว่า + B1 จะนำไปเลี้ยงภาคขยายเสียงและภาครับวิทยุ)

 

          แรงดันไฟทั้ง 2 จุดหลักจะต้องตรงหรือใกล้เคียงกับที่กล่าวไว้จึงจะคาดการณ์ได้ว่าภาคจ่ายไฟถูกต้อง หากแหล่งจ่ายไฟครบและถูกต้องตามที่กล่าวมาแสดงว่าเครื่องเราผ่านการทดสอบจุดแรกได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปให้พิจารณาแรงดันจุดไส้หลอด 6.3VAC ซึ่งไส้หลอดของแต่ละหลอดจะต่อขนานกัน ให้สังเกตแต่ละหลอดว่าไส้หลอดติดหมดทุกหลอดหรือไม่ ถ้าตรวจสอบแล้วหลอดติดไม่ครบให้ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนที่จะตรวจซ่อมในขั้นตอนต่อไป

 

          ข้อควรระวัง จากการเช็ควงจรภาคจ่ายไฟหากวัดแล้วมีไฟออก ก็ยังมั่นใจไม่ได้ว่าจะสามารถใช้งานได้ 100% เนื่องจากส่วนมากตัวเก็บประจุที่ทำหน้าที่ฟิลเตอร์แรงดันเป็นแบบอิเล็กทรอไลตริก เมื่อไม่ถูกใช้งานนานๆ น้ำยาเคมีที่อยู่ภายในมักจะหมดสภาพ บางครั้งเกิดชอร์ตขึ้นมาทันที่ทันใด ดังนั้นควรจะเปลี่ยนตัวเก็บประจุใหม่ทั้งชุด เพราะถ้าเกิดชอร์ตจะส่งผลให้ไดโอดและหม้อแปลงแรงไฟเกิดชำรุดเสียหายตามไปด้วย ดังนั้นแม้ว่าวงจรจ่ายไฟสามารถจ่ายไฟออกได้ปกติก็ควรเปลี่ยนไดโอดและตัวเก็บประจุภาคฟิลเตอร์ออกทั้งชุด

 

การตรวจซ่อม ภาคขยายเสียง

 

          ภาคขยายเสียงจะมี 2 ภาค คือภาคขยายที่ 1 หรือปรีแอมป์ และภาคขยายสุดท้าย ซึ่งภาคขยายที่ 1 จะใช้หลอดเบอร์ EABC80 หลอดนี้มีการทำงานแยกเป็น 2 ชุด คือ ชุดแรกจะทำหน้าที่ดีเทกเตอร์ ส่วนชุดที่สองจะทำหน้าที่ภาคขยายที่ 1 มีการทำงานของหลอดไตรโอด (เพลตขา 9, กริด ขา 8 และแคโทด ขา 7) เมื่อภาคขยายที่ 1 ทำงานได้แล้ว จะส่งกำลังต่อไปยังภาคขยายสุดท้ายที่ใช้หลอดเบอร์ EL 41 ทำการขยายให้มีกำลังสูงสุดที่หลอดสามารถทำงานได้ แล้วส่งกำลังต่อไปยังเอาต์พุตทรานสฟอร์เมอร์ เพื่อถ่ายทอดสัญญาณให้กับลำโพง

 

 

รูปที่ 5 วงจรภาคขยายเสียง

 

          จากรูปที่ 5 การพิจารณาวงจรจะเริ่มจากโวลุ่ม (W33 = 1.3M) สัญญาณเสียงจากภาคดีเทกเตอร์ เมื่อผ่านโวลุ่มจะส่งไปที่หลอดขยายที่ 1 เบอร์ EABC 80 ผ่าน C คัปปลิ้ง (C43) สัญญาณจะเข้าขากริด (ขา 8 ) ทำการขยายออกที่ขาเพลต (ขา 9) ผ่านตัวต้านทาน (W207) ผ่าน C คัปปลิ้ง (C44) และตัวต้านทาน (W27 – W 29) ก่อนจะถูกส่งไปที่หลอดขยายสุดท้ายเบอร์ EL 84 เข้าที่ขากริด (ขา 2) ขยายสัญญาณออกที่ขาเพลต (ขา 7) สุดท้ายก็จะส่งไปยังเอาต์พุตทรานสฟอร์เมอร์ (ขา 1) สัญญาณจะถ่ายทอดออกไปให้กับ “ลำโพง” เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการขยายสัญญาณ

 

          ลำดับที่ 1  ตรวจเอาต์พุตและลำโพง (ยังไม่จ่ายแรงดันให้กับวงจร) การตรวจสอบให้นำมิเตอร์เข็มตั้งไปที่ย่านวัดความต้านทาน X1 โดยสายลบจับกราวด์ของวงจรและสายบวกไปเขี่ยที่ขาเพลต (ขา 7) ถ้าเอาต์พุตและลำโพงใช้ได้ดี จะมีเสียงดัง “แก็ก แก็ก แก็ก” ตามจังหวะที่เขี่ย ถ้าเขี่ยแล้วไม่ดังแสดงว่าอุปกรณ์มีปัญหา ซึ่งอาจจะเป็นเอาต์พุตหรือลำโพง ต้องทำการแก้ไขให้ข้อนี้ให้ถูกต้อง

 

          ลำดับที่ 2  ตรวจการทำงานของหลอดขยายสุดท้าย ภาคขยายสุดท้ายนี้จะใช้หลอดเบอร์ EL 84 เป็นหลอดเพนโทด การตรวจสอบว่าหลอดทำงานได้หรือไม่นั้นมีอยู่หลายวิธี แต่ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการใช้วิธีปฏิบัติที่เรียกว่า บัญญัติหรือกฎ 5 ประการของหลอดเพนโทด (5 ขั้ว) ดังตารางที่ 1 (แถมการเช็คหลอด 4 ขา ดังตารางที่ 2)

 

ตารางที่ 1 หลอด เพนโทด (5 ขั้ว)

 

 

ตารางที่ 2 หลอด เทต โทรด (4 ขั้ว)

 

 

          โปรดจำบัญญัติหรือข้อกำหนด 5 ประการนี้ไว้ให้ดี โดยเฉพาะมือใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเบอร์ใดก็ตาม ขอเพียงแค่รู้ว่าหลอดที่จะวัดเป็นขาชื่อว่าขาอะไร ท่านก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่าค่าที่วัดมาได้นั้น “ผิด” หรือ “ถูก” เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเบื้องต้น ยกตัวอย่างเช่น หากแรงดันที่ขาเพลตวัดได้ 0 โวลต์ (ซึ่งถูกต้องจะมีแรงไฟบวกสูงสุด จะใกล้เคียงแรงไฟ + B1 ดังแสดงในตารางที่ 1) นั่นแสดงว่าผิดแน่นอน จะต้องแก้ให้มีไฟ 240 โวลต์ให้ได้ก่อน สาเหตุก็คงจะมีจุดเสียที่ เอาต์พุต ด้านปฐมภูมิขาดหรือ + B1 = 260 V ไม่มีไฟ เมื่อแก้ไขให้ข้อนี้ถูกต้องแล้วโอกาสเครื่องนี้ทำงานได้สูงมาก

 

          ลำดับที่ ๓  วงจรภาคขยายภาคแรกใช้หลอด EABC 80 หลอดนี้โครงสร้างของหลอดอาจจะดูค่อนข้างยาก ส่วนที่ หนึ่งจะทำหน้าที่ดีเทกเตอร์และส่วนที่สองจะทำหน้าที่ขยายเสียงของภาคแรก ในส่วนนี้ จะใช้ส่วนที่เป็นหลอดไตรโอด (เพลตขา 9, กริดขา 8 และแคโทดขา 7) จะต้องเข้าใจการทำงานเบื้องต้นดังนี้ สัญญาณเสียงจากการทำงานของ FM ดีเทกเตอร์จะมาเข้าโวลุ่ม (W33) เพื่อเร่ง-ลดความแรงของสัญญาณเสียง สัญญาณจะคัปปลิ้งผ่าน C คัปปลิ้ง(C42) ส่งต่อไปยังหลอด EABC 80 ที่ขากริด (ขา 8) ขยายออกไปที่ขาเพลต (ขา 9) และจะผ่าน C คัปปลิ้ง (C42) เพื่อส่งไปยังภาคขยายสุดท้ายต่อไป

 

การตรวจซ่อมภาคขยายเสียงภาคแรก

 

          หากภาคขยายสุดท้ายทำงานได้แล้ว แต่เครื่องยังไม่มีเสียง ให้ดำเนินการตรวจภาคขยายเสียงภาคแรก วิธีการตรวจเบื้องต้นทำได้โดยใช้มือจับส่วนที่เป็นโลหะของไขควงและใช้ปลายของไขควงที่เราจับอยู่จี้เข้าที่กริด (ขา 8) ถ้าภาคขยายเสียงภาคแรกทำงานได้จะมีสียงดัง “ตื้ด ตื้ด ตื้ด” ตามจังหวะการจี้ แต่ถ้าไม่มีเสียงใดๆ เกิดขึ้นเลย แสดงว่าภาคขยายเสียงภาคแรกไม่ทำงาน การตรวจทำได้โดยอาศัยการตรวจแรงดันไฟขาต่างๆ ของหลอด แล้วมาสรุปว่า “ผิด” หรือ “ถูก” ซึ่งหลอดนี้เป็นหลอดไตรโอด (3 ขั้ว) การตรวจสอบแรงดันกำหนดได้ตามตารางที่ 3

 

ตารางที่ 3 หลอด ไตรโอด (3 ขั้ว)

 

 

          จะเห็นได้ว่าการตรวจการทำงานของหลอดจะ คล้ายกันทุกหลอด ขอให้จดจำข้อกำหนดนี้ไว้ จะทำให้ทราบว่าการตรวจการทำงานของหลอดไม่ได้ยากเกินไป ยกตัวอย่าง การตรวจภาคขยายเสียงภาคแรก ให้วัดไฟที่ขาเพลต หากแรงดันที่ได้เท่ากับ 0 โวลต์ นั่นแสดงว่า “ผิด” เนื่องจากข้อกำหนดของขาเพลตจะต้องมีไฟบวกสูงสุด ในวงจรนี้ประมาณ 100 โวลต์ อุปกรณ์ที่คาดว่าจะเสีย คือ ตัวต้านทานที่เรียกว่าเพลตโหลดรีซีสเตอร์ ในวงจร คือ ตัวต้านทาน (W22 และ W23) ที่เชื่อมต่ออยู่ระหว่างขาเพลตกับแหล่งจ่ายไฟ + B2 เมื่อสามารถแก้ปัญหาขาเพลตที่ไม่มีไฟได้แล้ว ภาคขยายยังไม่ทำงานก็คงต้องลองเปลี่ยนหลอดใหม่เท่านั้น

 

          หากภาคขยายเสียงทำงานได้แล้ว แต่เครื่องรับวิทยุยังไม่สามารถรับสถานีวิทยุได้เลย ไม่ว่าจะเป็นระบบ AM, SW หรือ FM ก็จะต้องดำเนินการตรวจซ่อมภาครับวิทยุในขั้นตอนต่อไป

 

การตรวจซ่อมภาครับวิทยุ

 

          ภาครับวิทยุจะมีการทำงานของย่านความถี่ AM, SW และ FM ถึงแม้ว่าสัญญาณเหล่านี้ความถี่จะแตกต่างกัน แต่ว่าสุดท้ายแล้วสัญญาณจะถูกนำมารวมกันที่วงจรเดียวกัน ทำให้การตรวจซ่อมภาครับวิทยุ FM นั้นค่อนข้างทำได้ยาก เพราะต้องอ่านวงจรให้ออกว่าทางเดินของสัญญาณ FM ผ่านอุปกรณ์ส่วนใดบ้าง ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากพอสมควร วิธีการตรวจสอบในขั้นแรก จะต้องตรวจภาคต่างๆ จากภาคด้านหลังมายังภาคหน้า คือ เริ่มตรวจสอบจากภาคเอฟเอ็มดีเทตเตอร์ จากนั้นก็ภาคไอเอฟที่ 2 ตามด้วยภาคไอเอฟที่ 1 และส่วนสุดท้าย คือ จูนเนอร์

 

 

รูปที่ 6 วงจรภาครับวิทยุมาตรฐาน AEG

 

การตรวจภาคเอฟเอ็มดีเทกเตอร์

 

          ภาคเอฟเอ็มดีเทกเตอร์จะใช้หลอดเบอร์ EABC 80 สำหรับหลอดนี้ ส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่ขยายสัญญาณเสียงภาคแรก อีกส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่เอฟเอ็มดีเทกเตอร์ การดีเทคแบบเอฟเอ็มจะใช้หลอดไดโอด 2 หลอด (ขาเพลตจะเป็นขา 1 และ 2 ขา ส่วนขาแคโทดจะเป็นขา 3 และ 7) เนื่องจากภาคนี้ไม่มีการใช้แรงดันไฟสูงมาทำงานร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆ ดังนั้นโอกาสจะชำรุดเสียหายค่อนข้างยาก แต่ถ้าวงจรส่วนนี้ไม่สามารถทำงานได้ก็แสดงว่าหลอดเสีย ดังนั้นการตรวจเช็คทำได้ง่ายๆ เพียงเปลี่ยนหลอดใหม่

 

การตรวจภาคขยายไอเอฟที่ 2

 

          ภาคขยายไอเอฟที่ 2 จะใช้หลอดเบอร์ EF 89 ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจสอบภาคขยายไอเอฟที่ 2 โดยใช้มือจับที่ตัวไขควงส่วนที่เป็นโลหะ แล้วใช้ปลายไขควง “เขี่ย” ที่ขากริดของหลอด ถ้าภาคนี้ทำงานได้จะมีเสียงดัง “แก็ก แก็ก แก็ก” ตามจังหวะที่เขี่ย แต่ถ้าเงียบสนิทแสดงว่าหลอดนี้อาจจะไม่ทำงาน ให้วัดแรงดันไฟที่ขาต่างๆ เพื่อนำมาพิจารณาหาข้อมูลว่า “ผิด” หรือ “ถูก” จากองค์ประกอบของหลอดดังที่เคยกล่าวไว้ในตารางที่ 1

 

          หลอด EF 89 เป็นหลอดเพนโทด (5ขั้ว) ให้ใช้บัญญัติ 5 ข้อ ที่ใช้ตรวจภาคขยายเสียงดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ วิธีการตรวจสอบการทำงานของหลอดให้ลองปฏิบัติตามตารางที่ 1 จากข้อแรกจนถึงข้อสุดท้าย ถ้าข้อใดผิดให้แก้ไขข้อนั้นๆให้ถูกต้องก่อน โดยส่วนมากแล้วสิ่งที่ผิดปกติมักจะแรงดันที่นำมาต่อกับขานั้นๆ ถ้าองค์ประกอบต่างๆ ถูกต้องเครื่องยังไม่ทำงานก็ต้องลองเปลี่ยนหลอดใหม่สถานเดียว

 

 ภาคขยายไอเอฟที่ 1

 

          ในภาคนี้จะเป็นการใช้หลอด ECH 81 ซึ่งส่วนนี้ คือ ขยายภาคไอเอฟที1 เป็นหลอดเพนโทด ( 5ขั้ว) ให้นำเอาบัญญัติหรือกฎ 5 ประการดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วเพื่อตรวจว่าหลอด ECH 81 ทำงาน “ผิด” หรือ “ถูก” เมื่อดำเนินการแก้ไขให้ภาคขยายไอเอฟที่ 1 ทำงานได้แล้ว เครื่องรับยังไม่สามารถรับสัญญาณ FM ได้ ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องตรวจภาค “จูนเนอร์ FM” 

 

จูนเนอร์ FM

 

          จูนเนอร์ FM จะบรรจุอยู่ในกล่องโลหะ นิยมเรียกว่ากระป๋องจูนเนอร์ จะประกอบไปวงจรภาคต่างๆ คือ อาร์เอฟแอมป์ (RF AMP), มิกเซอร์ (MIXER) และ ออสซิลเลเตอร์ (OSCILLATOR)

 

 

รูปที่ 7 รูปร่างลักษณะกระป๋องจูนเนอร์ FM

 

          การตรวจซ่อมจูนเนอร์ FM จะตรวจซ่อมภายในกระป๋องจูนเนอร์ ซึ่งค่อนข้างทำได้ยาก เพราะอุปกรณ์ต่างๆ ถูกวางอย่างมีระบบ เนื่องจากภายในกล่องจูนเนอร์นั้นมีพื้นที่ในการวางอุปกรณ์ค่อนข้างจำกัด ทำให้ยากต่อการตรวจสอบอุปกรณ์ภายใน ดังนั้นขั้นตอนที่ใช้ในการตรวจสอบภาคจูนเนอร์นี้ คือ

  • ทดลองเปลี่ยนหลอด ECC 85 ใหม่
  • วัดแรงดันในจูนเนอร์ (+ B2 = 230 V) ที่ผ่านความต้านทาน (W2 และ W3)
  • ตรวจสอบสายกราวด์
  • ตรวจสายอากาศที่เข้าจูนเนอร์
  • ตรวจสายเอาต์พุตที่ออกจากจูนเนอร์

 

          ถ้าตรวจแล้วทุกอย่างถูกต้องแต่ยังรับสถานีวิทยุ FM ไม่ได้ แสดงว่าจูนเนอร์เสียอย่างแน่นอน

 

 

รูปที่ 8 วงจรจูนเนอร์ FM

 

การนำเสนอวิธีการตรวจซ่อมเครื่องรับวิทยุระบบ FM คงจะพอเป็นแนวทางให้ท่านที่จะทดลองซ่อมเครื่องรับวิทยุได้ ถ้าหากมีปัญหาหรือต้องการคำปรึกษาผู้เขียนยินดีให้คำแนะนำได้ รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นหลอดหรืออุปกรณ์ต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-7945-0101

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด