TECHNOLOGY TREND

กังหันแบบใหม่ที่ไร้ใบพัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

          Vortex Bladeless บริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศสเปนได้พัฒนากังหันรูปแบบใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากการ ไหลวนของของไหล โดยเมื่อกระแสของไหล (เช่น กระแสลม กระแสน้ำ) เคลื่อนผ่านกังหันที่ว่านี้ จะทำให้เกิดการแยกจากกันและเกิดเป็นกระแสหมุนวนขึ้นที่ด้านข้างของตัวกังหัน เจ้ากระแสหมุนวนที่ว่านี้เอง ทำให้เกิดเป็นแรงปะทะและกลายเป็นการสั่นสะเทือนตามมา พลังงานจลน์ที่ได้จากการสั่นนี้เองที่สามารถนำมาแปลงสภาพให้กลายเป็นพลังงาน ไฟฟ้าได้

 

          David Yáñez หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ ได้ไอเดียของกังหันลมแบบใหม่มาจากการศึกษาการถล่มของสะพานข้ามช่องแคบทาโคมา (Tacoma Narrow bridge) ในสหรัฐอเมริกา สะพานแห่งนี้ถล่มในปี 1940 โดยมีสาเหตุจากการสั่นสะเทือนที่ตัวสะพานจนเกินขีดจำกัด โดยการสั่นสะเทือนที่ว่านี้ก็เกิดขึ้นกระแสลมหมุนในลักษณะเดียวกันนั่นเอง

 

          กังหันลมของ Vortex มีน้ำหนักเบา ไม่มีทั้งเกียร์บอกซ์ (gearbox) หรือว่าแบร์ลิง (bearing) โดย Yáñez เล่าว่าต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของกังหันลมแบบใหม่จะต่ำกว่ากังหันแบบเดิมอยู่ ถึง 40% ปัจจุบัน Vortex ได้รับเงินทุน 1 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุนส่วนบุคคลและจากหน่วยงานรัฐบาลของสเปน และอยู่ระหว่างหาเงินทุนเพิ่มอีกราว 5 ล้านดอลลาร์ ผ่านทางการระดมทุน โดย Yáñez คาดว่าจะสามารถทดลองสร้างโรงผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมขนาด 4 กิโลวัตต์ได้ในปี 2016 และน่าจะจ่ายไฟฟ้าที่ระดับ 1 เมกะวัตต์ได้ในราวปี 2018

 

          อย่างไรก็ตาม กังหันลมแบบใหม่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานจลน์ ซึ่งเมื่อเทียบกับกังหันลมแบบเดิมที่สามารถเปลี่ยน 80 - 90% ของพลังงานจลน์ที่ได้จากการหมุนของใบพัดเพื่อสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ว่ากังหันแบบใหม่ที่ไร้ใบพัด ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานจะอยู่ที่ระดับ 70% เท่านั้น ข้อจำกัดดังกล่าวมาจากการที่กังหันชนิดนี้มีพื้นที่ในการกวาดเพื่อ สร้างพลังงานเพียงแคบๆ ประสิทธิภาพที่ได้จึงน้อยกว่ากังหันลมแบบเดิมอยู่มาก แต่ว่าด้วยข้อดีในแง่ของต้นทุนการผลิตและการบำรุงรักษาที่ถูกกว่า และในการติดตั้งกังหันลมแบบใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องเผื่อพื้นที่สำหรับการหมุนกวาดของใบพัด ทำให้สามารถชดเชยข้อจำกัดดังกล่าวด้วยการติดตั้งจำนวนกังหันมากตัวขึ้นได้บน พื้นที่ขนาดเท่ากันกับที่กังหันลมแบบเดิม ซึ่งจากการทดลองในห้องวิจัยก็พบว่าการที่กังหันลมแบบไร้ใบพัดนี้ถูกตั้งอยู่ ใกล้ๆ กัน ก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าโดยรวมให้สูงขึ้นได้อีกด้วย

 

          ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การแก้ไขปัญหาพื้นฐานของกังหันลมแบบเดิม เช่น เสียงและเงารบกวน อันตรายที่จะเกิดกับนก รวมไปถึงผลกระทบต่อภูมิทัศน์ ที่กังหันลมแบบใหม่มีผลกับเรื่องเหล่านี้น้อยกว่า อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้ ยังคงต้องอาศัยวันเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ว่ามันจะให้ผลที่น่าพึงใจอย่างที่คาดหวังหรือไม่ และจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยอย่างที่ผู้ออกแบบคาดหวังไว้หรือเปล่า

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด