Logistic & Supply Chain

การขับเคลื่อน SME สู่…โลจิสติกส์ 4.0

aดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

 

ในยุค 4.0 หรือ Smart City บางก็เรียกว่า “Smart Automation” เป็นโลกของยุค Digital ในมุมของ Logistics 4.0 ก็จะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ ของการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ หากมองแนวคิดของโลจิสติกส์ซึ่งถือเป็นงานบริหารจัดการความต้องการของ Demand และ Supply การพัฒนาในยุค Logistics 4.0 จะช่วยให้ช่องว่างระหว่างโซ่อุปทานสั้นลง

 

          ปัจจุบันดูเหมือนว่าเราจะเจอกับคำว่า 4.0 ในแทบทุกบริบท ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว 4.0 เป็นตัวเลขที่แทนยุคของการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมของโลกที่มีวิวัฒนาการมาจาก

            อุตสาหกรรม ยุค 1.0 ที่เราใช้เครื่องจักรกล เครื่องจักรไอน้ำในการผลิตเป็นหลัก ปี ค.ศ.1782

            อุตสาหกรรม ยุค 2.0 เริ่มเอาพลังงานไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า เข้ามาใช้เป็นหลัก ปี ค.ศ.1913

            อุตสาหกรรม ยุค 3.0 เริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามา ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตได้มากขึ้น ปี ค.ศ.1954

            อุตสาหกรรม ยุค 4.0 คอมพิวเตอร์ เริ่มเชื่อมร้อยโลกทั้งใบ (ค.ศ.2015) ไปสู่ยุคที่เรียกว่า Internet Of Things (IOT) คือ ข้อมูลทุกอย่างถูกเชื่อมเข้าหากัน และในยุคนี้นี่เอง ที่เป็นยุคที่เราก้าวสู่วิถีที่เรียกว่า

 

          “Smart City” บ้างก็เรียกว่า “Smart Automation” เพื่อมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0 โดยใช้นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อน ยกระดับผู้ประกอบการไปสู่การแข่งขันบนเวทีโลก

 

 

(http://www.industrialagilesolutions.com/wp-content/uploads/2015/03/Industria-4.0.png)

 

          ประเทศไทยของเรา มีลักษณะของผู้ประกอบการซึ่งเป็น SME โดยส่วนใหญ่ ซึ่งก็เข้าสู่ยุคของ SME 4.0 ที่ผู้ประกอบการ SME ทั้งประเทศจะต้องเข้าใจ หากอธิบายง่าย ๆ ก็คือ SME 4.0 ต้องมี Digital เข้ามาช่วย ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีธง คือ อุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry 4.0 เป็นหัวใจหลัก ถามว่า “ทำไมต้อง 4.0” นั่นเป็นเพราะว่าการแข่งขันในเวทีโลก มีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ประเทศไทยจะชนะการแข่งขันได้ ก็คือต้องใช้ Digital เป็นสิ่งที่เราต้องตื่นตัว เพื่อปรับตัว แล้วตามให้ทัน ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เช่น หากกิจการเรา มีเครื่องจักรอยู่แล้ว แต่เดิมผลิตงานได้ที่ 50% อาจจะต้องมาคิดใหม่ว่า นอกเหนือจากผลิตของที่มีอยู่ เรารับจ้างผลิตได้หรือไม่ หรือเราจ้างเขาผลิตอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้เครื่องจักร ใช้งานได้ 80-90% ได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เรา มีต้นทุนที่ต่ำลง  รวมไปถึงต้องต่อยอดเชิงนวัตกรรม ใส่ Design เข้าไป นั่นก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะยุคนี้ไม่เพียงแค่ต้องมี Digital แต่ต้องเชื่อมร้อยข้อมูลเข้าด้วยกัน ให้สอดรับไปกับ Industry 4.0

 

 

 

(http://www.smartsme.tv/content/45650)

 

          ประเทศไทยได้ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจมาแล้ว 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 พัฒนาประเทศบนฐานรายได้ภาคเกษตรเป็นหลัก ช่วงที่ 2 พัฒนาประเทศโดยใช้อุตสาหกรรมเบาด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ยกระดับจากประเทศรายได้ต่ำมาเป็นรายได้ปานกลาง ช่วงที่ 3 หรือช่วงประเทศไทย 3.0 เป็นการเร่งรัดการผลิตใช้อุตสาหกรรมหนักเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาก็คือการผลิตโดยใช้เครื่องจักรหนักและแรงงานเข้มข้น ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากรายได้ปานกลาง จึงเกิดเป็น “โมเดลประเทศไทย 4.0” ขึ้น

 

 

(http://f.ptcdn.info/376/044/000/oab97wh2pcndB4KxFD0-o.jpg)

           

                    โมเดลประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand Economic 4.0 คือ นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เป็นนโยบายที่วางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยใช้แนวทางการขับเคลื่อนแบบ “ประชารัฐ” (ลักษณะของคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน) ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน สถานศึกษาและสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่จะมาทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจนทำให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางในที่สุด โดยโมเดลดังกล่าวมีประเทศเกาหลีใต้เป็นแบบอย่างที่ดำเนินการได้สำเร็จมาแล้ว

           

          โมเดลประเทศไทย 4.0 เป็นการพัฒนาแบบ “Value-added Economy” ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะเป็นสินค้าแบบ Commodity เน้นเทคโนโลยี แทนที่จะเป็นอุตสาหกรรม และเน้นการบริการ มากกว่าขายสินค้า เป้าหมายหลักของรัฐอยู่ที่ 5 อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีองค์ความรู้ และศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดได้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรและไบโอเทคโนโลยี (Food, Agriculture & Bio-tech) กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (Health, Wellness & Bio-Medical) กลุ่มอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Smart Devices Robotics &Mechatronics) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล พัฒนาระบบการสื่อสาร และเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Digital &Embedded Technology) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการเพิ่มมูลค่าการบริการ (Creative, Culture &High Value Service)

               

          โดยกลุ่มประชารัฐที่จะเป็นเสมือนคณะกรรมการในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวมีทั้งหมด 12 ชุด มีจำนวนกรรมการรวมทั้งสิ้นมากกว่า 200 คน โดยในจำนวนนั้นมาจากภาคเอกชนถึง 73% กลุ่มประชารัฐแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ “คณะทำงานขับเคลื่อน 7 ด้าน” (กลุ่ม Value-Driver-7D) ได้แก่ 1.ด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ 2.ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น (SMEs & Start-up) 3.ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE 4.ด้านการส่งเสริมการส่งออกและด้านการลงทุนในต่างประเทศ 5.ด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) 6.ด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ และ 7.ด้านการสร้างรายได้และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ และ “คณะทำงานปัจจัยสนับสนุน 5 ด้าน”  (กลุ่ม Enable Drivern-5E) ได้แก่ 1.ด้านการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2.ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ 3.ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ 4.ด้านการปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ และ 5.ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ทั้งนี้ กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย ไทยเบฟ ฯลฯ ได้เข้าไปมีบทบาทในกรรมการชุดต่าง ๆ เกือบทุกชุด

           

          จากที่ประเทศไทยมีความสามารถด้านการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง และพบแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากไปในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น จึงต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใหม่ที่ทันสมัย เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการผลิตไปสู่การผลิตสมัยใหม่ที่ใช้ความรู้การผลิตขั้นสูงที่มีมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ (Knowledge Based Industry) คณะทำงานนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนา 10 อุตสาหกรรมที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดย 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็น New S-Curve ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การแพทย์ครบวงจร ขนส่งและการบิน และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ในขณะที่อีก 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพเป็น S-Curve ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร

                                                                                                                                                                                                                 

          โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ถือเป็น New S-Curve ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในอดีต สามารถทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงานสร้างรายได้ ผลักดันการลงทุนตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ในระยะแรกชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกควรเป็นพื้นที่หลักในการส่งเสริมการพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของ AEC ควรพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมให้อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ลดอุปสรรคเพื่อพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) และข้อกฎหมายสนับสนุนการลงทุน การสร้างนวัตรรมและผู้ประกอบการรายใหม่ (Start-Ups) ซึ่งควรเร่งรัดให้ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา เป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (แต่ละจังหวัดจะมีเป้าหมายที่เชื่อมโยง เช่น ฉะเชิงเทราจะเป็นเมืองน่าอยู่ รองรับการขยายตัวของกรุงเทพฝั่งตะวันออก ในขณะที่ ศรีราชา-แหลมฉบังจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมผลิตสมัยใหม่ เพื่อเชื่อมสู่การผลิตภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน เป็นต้น) ที่มีการกำกับดูแลโดยมีองค์กรส่วนกลางจัดทำนโยบายและอำนวยความสะดวกการลงทุน คณะทำงานได้จัดกรอบในการดำเนินงานออกเป็น 5 กลุ่มคือ 1.อุตสาหกรรมต่อยอดในพื้นที่เดิม ที่ตั้งในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 2.Bio-economy เน้นการพัฒนาจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรม 3.Digital Economy มุ่งเน้นขับเคลื่อนเรื่อง e-Commerce ทบทวนกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมผู้ประกอบการ e-Commerce โดยมีแหล่งความรู้ผู้ประกอบการด้วย 4.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เข้าสู่ Industry 4.0 และ 5.อุตสาหกรรมระบบโลจิสติกส์ เน้นการขับเคลื่อนระบบขนส่งในภาพรวมเพื่อสร้างความเชื่อมโยงสู่การเป็นศูนย์รวมกิจการโลจิสติกส์และเชื่อมโยงกับระบบ e-Commerce ในภูมิภาค และนั่นหมายถึง จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโลจิสติกส์ที่จะทำให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดำเนินการได้อย่างไม่ติดขัด

            

          New S-Curve มุ่งสร้างพื้นที่รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายโดยใช้เขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือเรียกว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Thailand’s Eastern Corridor) เป็นพื้นที่หลักเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดหลีกเลี่ยงการติดกับดักรายได้ปานกลาง ในขณะที่ต้องการกระจายรายได้สู่ทุกภาคส่วนในประเทศ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย นวัตกรรมมาต่อยอดความเข้มแข็งของประเทศในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ และผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชที่ไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว คืออ้อย และมันสำปะหลัง เป็นพืชนำร่องไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน และใช้ Eastern Seaboard Model เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อน Bio-economy ควบคู่กับการบริหารงานแบบประชารัฐ

           

          เป้าหมายของคณะทำงานฯ นี้ คือการเพิ่มรายได้สัดส่วนใน GDP ของ SMEs ให้ถึงสัดส่วน 50% ของ GDP ประเทศภายในปี 2563 และมูลค่าการส่งออกของ SMEs ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5% ต่อปี นอกจากนี้ SME จะต้องเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 50,000 รายต่อปีด้วย คณะทำงานฯ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและได้จัดตั้งคณะทำงานย่อย 3 คณะ ได้แก่ การพัฒนา SME การพัฒนา Start-up/IDE (Integrated Development Environment) และการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม SE (Social Enterprises) และได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) “สานพลังประชารัฐส่งเสริม SMEs Start-up & Social Enterprises” ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรกว่า 67 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านโครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) เพื่อผู้ประกอบการฯให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเพื่อส่งเสริมช่องทางตลาด e-Commerce แก่ผู้ประกอบการฯ นอกจากนี้เพื่อสนับสนุนและพัฒนาระบบนิเวศ (Eco-system) ให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE Start-up) อีกด้วย สำหรับโครงการพี่ช่วยน้อง เป็นการให้บริษัทรายใหญ่ อาทิ SCG และ BJC ช่วยดูแลเสมือนหนึ่งเป็นพี่เลี้ยงให้กับ SMEs โดยให้คำแนะนำและส่งเสริม SMEs ไทยในการขยายตลาดส่งออกและลงทุนในต่างประเทศ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จัด Business Matching กับผู้จัดจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ โดยเริ่มจากตลาดเวียดนามและกัมพูชา

           

          ตัวอย่างผลงานที่เกิดขึ้นจากคณะทำงานฯ นี้คือ การจัดงาน Start Up Thailand เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นับเป็นก้าวแรกที่จะตอบโจทย์ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และ SME ที่กำลังมองหาช่องทางธุรกิจต่าง ๆ และบรรยากาศภายในงานเป็นการจัดงานแบบใหม่ที่คึกคัก ซึ่งในอนาคตเราคงจะได้เห็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในขณะที่การจัดการด้านโลจิสติกส์ย่อมต้องเตรียมรับมือกับธุรกิจทีจะเติบโตไปในอนาคต โดยวางแผนการพัฒนาการขนส่งชายแดน (Cross Border Logistics) การบริการส่งออก/นำเข้าสินค้า ตลอดจนจัดหาคลังสินค้าหรือต่อไปอาจจะกลายเป็น “Fulfillment Center

 

            ในยุค 4.0 หรือ Smart City บางก็เรียกว่า “Smart Automation” เป็นโลกของยุค Digital ในมุมของ Logistics 4.0 ก็จะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ ของการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ หากมองแนวคิดของโลจิสติกส์ซึ่งถือเป็นงานบริหารจัดการความต้องการของ Demand และ Supply การพัฒนาในยุค Logistics 4.0 จะช่วยให้ช่องว่างระหว่างโซ่อุปทานสั้นลง ผู้ผลิตสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น การพัฒนาประสิทธิภาพระหว่างโซ่อุปทานสูงขึ้น อย่างไรก็ตามช่องว่างระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่แคบลงไม่ได้หมายถึงธุรกิจหรือคนกลางที่อยู่ในสายโซ่อุปทานจะถูกตัดออกไป ยังคงมีอยู่ แต่จะอยู่รอดได้ดีเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว และความสามารถของการเพิ่มและส่งต่อคุณค่าที่มีอยู่ในวันที่โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ทั้งภาคการผลิตที่เปลี่ยนจาก Mass Production มาสู่ Customized Production ภาคโลจิสติกส์ต้องแข่งขันกันด้วยความสามารถในการบริหารจัดการ Demand and Supply ส่วนภาคธุรกิจการค้าต้องเข้าถึงและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วยวิถีทางการตลาดเพื่อส่งผ่านคุณค่าของสินค้าสู่ผู้บริโภค สิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ ผู้ประกอบการไทยพร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขันในยุคนี้แล้วหรือไม่ เพราะหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับใช้แนวคิด และพัฒนาการของ Industrial 4.0 และ Logistics 4.0 และ Marketing 4.0 ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ จะก่อให้เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ทั้งยังสามารถยืนหยัดแข่งขันกับคู่แข่งในเวทีโลกได้ แต่หากพิจารณาสถานะปัจจุบันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและย่อย (SMEs) พบว่ายังขาดความพร้อมในหลายด้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวสำหรับการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนเองให้เข้าสู่ Digital Process ดังต่อไปนี้

 

  1. ผู้ประกอบการควรปรับแนวคิดการทำธุรกิจ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นต้นทุนทางธุรกิจ (Cost) มากกว่าเป็นมูลค่าทางธุรกิจ (Value) ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยมองว่าการเติบโตของระบบคือการเติบโตของธุรกิจ กล่าวคือการสร้างระบบการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ ในระดับที่เหมาะสมเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถทางการแข่งขัน ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตและแข่งขันได้ในระยะยาว
  2. สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงธุรกิจอย่างชาญฉลาด แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี แต่เพื่อเพิ่มโอกาสและการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางธุรกิจ จึงต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับที่เหมาะสมกับพื้นฐานทางธุรกิจของตนสำหรับการสร้างทางเลือก การตัดสินใจ รวมถึงการจัดการกระบวนการต่าง ๆ ทางธุรกิจอย่างชาญฉลาด (Intelligent Data) ทั้ง Internal Process และ Business Transaction ควบคู่ไปกับการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว ให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ทั้งนี้ภาครัฐถือเป็นหัวจักรสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเข้าสู่ Digital Process ได้โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล เน้นการดำเนินงานอย่างบูรณาการ เพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อน และช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในยุค 0 ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิต ดังนั้น Key Success Factors ของการดำรงอยู่และการแข่งขันของธุรกิจ ไม่ได้อยู่แค่เพียงการมีเทคโนโลยีที่สูงกว่าหรือทันสมัยกว่าไว้ในครอบครอง แต่อยู่ที่การเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ

 

 

(http://supplychainbeyond.com/wp-content/uploads/2015/10/UNITYLOGISTICS.jpg)

 

          ในการผลักดันโมเดลตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่เป็นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักรและทรัพยากรต้องเปลี่ยนเป็นการผลิตบนฐานความรู้และเทคโนโลยี (Technology Base) การพัฒนาภาคบริการ รวมทั้งต้องมีการปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา ดึงสถาบันวิจัยระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศไทย และการปฏิรูประบบการศึกษา ต้องเน้นไปที่การสร้างแรงงานที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี เพื่อสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต เราคงจะต้องดูกันต่อไปว่า แผนพัฒนาระดับชาติที่เป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้จะสำเร็จอย่างสวยงามหรือไม่ สิ่งสำคัญ คือ ความสามัคคีของคนในชาติ ที่จะร่วมแรงร่วมใจช่วยกันผลักดันให้ประเทศเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยไม่แตกแยกและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

 

 

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007968601.JPEG)

 

เอกสารอ้างอิง
• http://f.ptcdn.info/376/044/000/oab97wh2pcndB4KxFD0-o.jpg
• http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007968601.JPEG
• http://supplychainbeyond.com/wp-content/uploads/2015/10/UNITYLOGISTICS.jpg
• http://www.ftilogistics.org/index.php/2016/07/22/iknowlogistics_22072559/
• http://www.industrialagilesolutions.com/wp-content/uploads/2015/03/Industria-4.0.png
• https://www.scglogistics.co.th/blog/detail/95
• http://www.smartsme.tv/content/45650

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด