เรื่องทั่วไป

สมรภูมิ High Tech Hardware ตอนที่ 6

ไพโรจน์ ไววานิชกิจ

 

 

พบกับตอนต่อของฮาร์ดแวร์ไฮเทคในที่พักอาศัย และโดรนในกิจกรรมต่างๆ

 

.

 

 

อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ด้าน Smart Home

 

          พัฒนาการของเทคโนโลยีเซนเซอร์ การเชื่อมต่อเพื่อรับส่งข้อมูลและบริหารจัดการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย Cloud Computing และเครือข่าย Data Analytic ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT สร้างความก้าวหน้าให้กับเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์สำหรับการใช้ประโยชน์ภายในบ้าน ซึ่งมักเรียกกันว่าโซลูชั่นบ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Home มีความคาดการณ์กันว่ามูลค่าทางการตลาดของโซลูชั่น Smart Home จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้งานในหลากหลายวัตถุประสงค์สำหรับการใช้งานภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมการเข้าออกบ้าน ควบคุมการปิดเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเท่ากับว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านมีการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตกันอย่างถ้วนทั่ว ผู้ผลิตอุปกรณ์และโซลูชั่นสำหรับใช้งานภายในบ้านจากผู้ผลิตจำนวนมากมีแนวคิดคล้ายๆ กันก็คือผลักดันให้ผู้บริโภคติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมส่วนกลางหรือ Home Hub แล้วให้อุปกรณ์ Home Hub ทำการติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์เซนเซอร์และควบคุมต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะใช้การสื่อสารผ่านทางคลื่นวิทยุ ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยการเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย Wi-Fi ภายในบ้าน ผ่านคลื่นความถี่วิทยุเฉพาะตัว และมีมาตรฐานโปรโตคอลต่าง ๆ เช่น ZigBee หรือโปรโตคอลเฉพาะรายของผู้ผลิต

 

          อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ทำงานร่วมกับระบบบริหารจัดการแบบ Cloud Computing และ Data Analytic ผ่านการควบคุมของผู้ใช้งานโดยอาศัยบน Smart Phone สำหรับโซลูชั่น Smart Home สามารถแบ่งประเภทในการใช้งานออกได้เป็น 8 ประเภทด้วยกัน คือ อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ (Thermostat) อุปกรณ์ศูนย์กลางบริหารจัดการโซลูชั่น (Hub) ที่มาพร้อมกับเซนเซอร์ต่างๆ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย (Security) อุปกรณ์ควบคุณภาพอากาศ (Air Purity) อุปกรณ์ควบคุมการปิดเปิดและล็อกประตู (Door Lock) อุปกรณ์ควบคุมแสงสว่าง (Lighting) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Appliances) อุปกรณ์บริหารจัดการการนอน (Sleep Tracker) ซึ่งมีรูปแบบและหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกันดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้

 

อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ

 

          เป็นผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์แบบ IoT ที่ได้รับการออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ (Thermostat) เดิมที่ติดตั้งในบ้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์รับอุณหภูมิภายในห้อง และผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าให้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำความร้อนทำการเพิ่มหรือลดอุณหภูมิการทำงานให้สอดคล้องกับค่าที่ตั้งไว้ อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิแบบอัจฉริยะจะทำหน้าที่ทดแทนการทำงาน โดยมีการจดจำระดับอุณหภูมิที่ต้องการใช้งานในแต่ละวันแต่ละเวลา และผู้ใช้งานสามารถใช้ Smart Phone ในการสั่งการควบคุมไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน ในกรณีที่อยู่ในบ้าน ผู้ใช้งานก็สามารถปรับหรือกำหนดค่าอุณหภูมิที่ต้องการได้โดยสัมผัสที่ตัวอุปกรณ์โดยตรง อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติกำลังได้รับความสนใจนำไปใช้งาน เพราะมีฟังก์ชั่นการทำงานที่สามารถช่วยลดระดับการใช้พลังงานไฟฟ้าให้สัมพันธ์กับชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา หน่วยงานที่ทำหน้าที่จ่ายและให้บริการไฟฟ้าตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิเพื่อแจกและติดตั้งให้กับผู้บริโภค ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลาในการถอดเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ภายในเวลาเพียง 30 นาที และช่วยลดความต้องการการใช้ไฟฟ้าไปได้มาก เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถจดจำรูปแบบการใช้ชีวิตและปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนให้สัมพันธ์กับการใช้งานของผู้บริโภค ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าตามจริง ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมใช้งานก็ได้แก่ อุปกรณ์ Nest Thermostat (http://www.nest.com) ซึ่งปัจจุบันออกผลิตภัณฑ์ Nest 3rd Generation ราคา 249 เหรียญสหรัฐ อีกทั้งถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัท Google และ ecobee (http://www.ecobee.com) ซึ่งปัจจุบันก็ออกผลิตภัณฑ์มาเป็นรุ่นที่ 3 เช่นกัน มีตัวรับสัญญาณรีโมตสามารถใช้งานควบคุมอุณหภูมิได้มากกว่า 1 ห้องภายในบ้าน ราคา 249 เหรียญสหรัฐเท่ากันกับ Nest ถือเป็นคู่แข่งขันที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด

 

 

ผลิตภัณฑ์ Nest ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ
จนถูกซื้อกิจการโดยบริษัท Google
ไปในราคา 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

ผลิตภัณฑ์ Ecobee ซึ่งเป็นผลงานจาก
ผู้ประกอบการ Startup ประสบความสำเร็จในการ
ได้รับเงินลงทุนถึง 16.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

รูปที่ 1 ผลิตภัณฑ์ควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะจาก Nest และ ecobee

 

อุปกรณ์ศูนย์กลางบริหารจัดการโซลูชั่น

 

          เป็นผลิตภัณฑ์ Smart Home ที่มีผู้ผลิตออกวางจำหน่ายในรูปแบบเดียวกันนี้เป็นจำนวนมาก โดยออกแบบให้มีอุปกรณ์ควบคุมส่วนกลาง หรือ Hubs ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในด้านหนึ่งสำหรับการติดตั้งสื่อสารกับเครือข่าย Cloud Computing และ Smart Phone ส่วนอีกด้านหนึ่งใช้การสื่อสารไร้สาย โดยทั่วไปก็คือการใช้ Wi-Fi ภายในบ้านหรืออาคารสำนักงาน นอกจากนั้นก็อาจเป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุโดยมีโปรโตคอลมาตรฐานเช่น Zigbee รองรับ ทำการสื่อสารระหว่าง Hubs กับอุปกรณ์เซนเซอร์ต่างๆ อันเน้นไปที่ตัวตรวจสอบป้องกันความปลอดภัย เช่น สวิตช์แม่เหล็ก (Magnetic Switch) อุปกรณ์ตรวจสอบการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) อุปกรณ์ตรวจสอบควันไฟ (Smoke Detector) ฯลฯ เพื่อทำหน้าที่รับสัญญาณการบุกรุก และแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบ รวมถึงให้ผู้ใช้งานสามารถกำหนดค่าและสั่งการต่างๆ อุปกรณ์ศูนย์กลางบริหารจัดการโซลูชั่นบางประเภท สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปิดเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานด้วยการออกแบบแอพพลิเคชันบน Smart Phone ให้ผู้ใช้งานสามารถกำหนดรูปแบบ (Scenario) การสั่งเปิดและปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ตามลำดับการใช้งาน

 

            ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ Hubs ซึ่งทั้งหมดได้รับการจำหน่ายร่วมกับชุดเซนเซอร์ต่าง ๆ ก็ได้โซลูชั่นรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกเปิดปิดเครื่องไฟฟ้าจาก SmartThings (http://www.smartthings.com) ซึ่งออกแบบให้อุปกรณ์ Hub ของตนเองสามารถเชื่อมต่อกับเซนเซอร์และอุปกรณ์เปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเซนเซอร์สารพัดการใช้งาน (Multipurpose Sensor) เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวเข้าบ้าน (Arrival Sensor) อุปกรณ์ตรวจสอบการเปิดน้ำทิ้งและน้ำรั่ว (Water Leak Sensor) ปลั๊กไฟฟ้าอัจฉริยะ (Outlet) ที่สั่งการปิดเปิดได้จากอุปกรณ์ Hub และเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) โดยมีการกำหนดราคาจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ไม่แพง อาทิเช่น Hub ราคา 99 เหรียญสหรัฐ อุปกรณ์เซนเซอร์สารพัดการใช้งานราคาตัวละ 39.99 เหรียญสหรัฐ เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ราคา 39.99 เหรียญสหรัฐ หรือจะซื้อเป็นชุดคิต (Kit) เริ่มต้นก็ราคาชุดละ 249 เหรียญสหรัฐ อันประกอบไปด้วย Hub 1 ตัว ปลั๊กไฟอัจฉริยะ 1 ตัว และเซนเซอร์สารพัดการใช้งาน 2 ตัว ซึ่งถือเป็นราคามาตรฐานที่วงการ Smart Home นิยมกำหนดราคากัน ปัจจุบันบริษัท Samsung ได้เข้ามาซื้อกิจการของ SmartThings และกลายเป็นในโซลูชั่นด้าน Smart Home ที่ Samsung ผลักดันและนำอุปกรณ์อื่น ๆ ของตน เช่น กล้อง SmartCam HD Pro เข้ามาจำหน่ายประกอบด้วย

 

 

รูปที่ 2 ชุดอุปกรณ์ควบคุมศูนย์กลางและเซนเซอร์จาก SmartThings

 

          สิ่งที่น่าสนใจและอาจถือเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Smart Home ประเภท Hub นี้ก็คือการเปิดใจยอมให้อุปกรณ์ศูนย์กลางบริหารจัดการของตนสามารถติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายอื่น ๆ ได้ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการไม่คิดเปลี่ยนใจไปใช้ผลิตภัณฑ์ Smart Home ของคู่แข่งขันรายอื่น ๆ ปัจจุบันโซลูชั่น Hub ของ SmartThings สามารถทำงานได้ร่วมกับผลิตภัณฑ์หลอดไฟอัจฉริยะจาก LIFX, hue, OSRAM, CREE สวิตช์หรี่ไฟจาก LEVITRON ที่ล็อกประตูอัจฉริยะจาก Kwikset, Yale, SCHLAGE ลำโพงจาก BOSE รุ่น SoundTouch และ Samsung รุ่น Radiant-360 R7 อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะจาก Honeywell และ Ecobee รวมถึงกล้องแบบ IP จาก Samsung และ D-Link เชื่อกันว่าโซลูชั่นชุดควบคุมสำเร็จรูปที่มีอุปกรณ์ศูนย์กลางจะกลายเป็นหนึ่งในมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในบ้านแบบ Smart Home อย่างแน่นอน

 

อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย

 

          ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยภายในบ้านที่จะกล่าวถึงในหัวข้อนี้ เป็นสินค้าประเภทชิ้นเดียวทำงานได้ในฟังก์ชั่นที่ตนมีความโดดเด่น อาจมีการซ้อนทับในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานกับผลิตภัณฑ์ในหัวข้อที่แล้วบ้าง แต่ผู้ผลิตก็พยายามสร้างจุดเด่นในเรื่องของความสามารถเฉพาะตัวของสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ก็ประกอบไปด้วยกล้อง IP จาก Dropcam ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านทาง Wi-Fi มีความละเอียดในการ streaming ภาพถึง 1080p อีกทั้งยังมีความกว้างของเลนส์เก็บภาพได้ถึง 130 องศา และสามารถซูมภาพได้ใกล้มาก ออกแบบให้ทำงานร่วมกับแอพพลิเคชันบน Smart Phone แจ้งเตือนการเคลื่อนไหวในบ้าน ฟังก์ชั่นที่สำคัญก็คือการออกแบบให้สามารถพูดและรับฟังโต้ตอบกับผู้อยู่ภายในบ้านได้ด้วยลำโพงและไมโครโฟนที่ติดตั้งมากับกล้อง ราคาจำหน่ายตัวละ 199 เหรียญสหรัฐ รายละเอียดติดตามได้ที่ http://www.nest.com  ผลิตภัณฑ์กล้องอัจฉริยะอีกตัวหนึ่งก็คือ Welcome จากค่าย Netatmo (http://www.netatmo.com) เป็นกล้องเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยภายในบ้าน โดยมีการติดตั้งกลไกการตรวจจำใบหน้า (Face Recognition) และทำงานร่วมกับระบบฐานข้อมูลบนเครือข่าย Cloud Computing เพื่อให้ผู้ใช้งานกำหนดให้กล้องเรียนรู้และจดจำใบหน้าของผู้ที่อยู่ในบ้าน ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการแจ้งเตือนผ่านทางแอพพลิเคชันบน Smart Phone ทันทีที่ปรากฏใบหน้าของผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกในบ้าน โดยผู้ใช้งานสามารถกำหนดรูปแบบการป้องกันความเป็นส่วนตัวผ่านทางแอพพลิเคชันได้โดยอิสระ

 

 

Dropcam กล้อง Wi-Fi IP Camera
ซึ่งปัจจุบันถูกซื้อกิจการกลายเป็นหนึ่งในโซลูชั่น
ของ Nest จาก Google

 

 

Welcome กล้องอัจฉริยะภายในอาคารจาก netatmo
ประสบความสำเร็จในการขอระดมเงินลงทุนไป
ได้ 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

Protect อุปกรณ์ตรวจจับควัน
Protect ซึ่งถูกซื้อกิจการไปเป็นหนึ่งใน
โซลูชั่น Nest ของ Google

 

 

Point อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในบ้าน
โดยการฟังและตรวจวิเคราะห์เสียง
พร้อมกับมีเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและสภาพอากาศ

 

 

Ring กระดิ่งอัจฉริยะ
สำหรับติดตั้งที่ประตูหน้าบ้าน

 

รูปที่ 3 ผลิตภัณฑ์รักษาความปลอดภัยภายในบ้าน

 

          อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยภายในบ้านชิ้นต่อมาก็คือ Protect ซึ่งปัจจุบันถูกบริษัท Google ซื้อเพื่อควบรวมผลิตภัณฑ์ไปเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชั่น Nest โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถตรวจจับได้ทั้งควันและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีการวิเคราะห์ประเภทของควันก่อนจะแจ้งเตือนทั้งด้วยเสียงพูดผ่านทางอุปกรณ์เซนเซอร์และผ่านทางแอพพลิเคชัน จำหน่ายในราคาเพียงชิ้นละ 99 เหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อมาคือ Point เป็นสินค้าที่ได้รับการผลิตและสร้างโดยบริษัท Minut ผู้ประกอบการ Startup มีฟังก์ชั่นการทำงานที่หลากหลายโดยใช้ไมโครโฟนในตัวทำหน้าที่วิเคราะห์เสียง ร่วมกับเซนเซอร์ตรวจสภาพของอากาศภายในบ้าน โดยจะทำการส่งข้อมูลไปยังเครือข่าย Cloud เพื่อทำการวิเคราะห์เสียงสำหรับตรวจจับว่ามีใครอยู่ที่บ้านหรือไม่ อีกทั้งยังสามารถจดจำและเปรียบเทียบเสียงที่ตรวจพบกับเสียงของสมาชิกภายในบ้าน ทำให้สามารถแจ้งเตือนได้ถึงการบุกรุกของผู้แปลกหน้า (ซึ่งหมายถึงแปลกเสียง) นอกจากนั้นยังสามารถตรวจวัดระดับอุณหภูมิและฝุ่นละอองภายในบ้านได้ โต้ตอบและปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานผ่านทาง Smart Phone จำหน่ายในราคาชิ้นละ 99 เหรียญสหรัฐ โดยผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและสั่งซื้อได้ผ่านทาง http://minut.com สำหรับผลิตภัณฑ์ตัวอย่างชิ้นสุดท้ายก็คือ Ring (http://ring.com) ราคา 199 เหรียญสหรัฐ เป็นกระดิ่งอัจฉริยะสำหรับติดตั้งที่ประตูหน้าบ้าน มีขีดความสามารถในการแสดงภาพของบุคคลที่เข้ามาติดต่อโดยส่งสัญญาณภาพแบบ Streaming ผ่านทางแอพพลิเคชันบน Smart Phone ด้วยความละเอียดในระดับ HD และมีมุมกล้องที่กว้าง ผู้ใช้งานสามารถสนทนากับแขกที่เข้ามาติดต่อผ่านทางแอพพลิเคชัน โดยตัวอุปกรณ์ Ring มีการติดตั้งไมโครโฟนและลำโพงสำหรับสนทนากับแขกได้โดยตรง นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Sensor) ที่มีมุมการตรวจจับที่กว้าง และสามารถรายงานตำแหน่งที่เกิดการเคลื่อนไหวเมื่อมองออกไปจากกระดิ่งไปให้กับผู้ใช้งานผ่านทางแอพพลิเคชันได้อย่างแม่นยำ

 

อุปกรณ์ควบคุณภาพอากาศ

 

          อุปกรณ์ควบคุมคุณภาพอากาศรุ่น Weather Station จากค่าย netatmo ได้รับการออกแบบมาสำหรับติดตั้งใช้งานภายในบ้านเรือน สามารถวัดอุณหภูมิ ระดับความชื้น คุณภาพของอากาศ ระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และระดับความดังของเสียง โดยติดต่อกับผู้ใช้งานผ่านทางแอพพลิเคชันบน Smart Phone จำหน่ายพร้อมกับอุปกรณ์ตรวจจับสภาพอากาศนอกอาคาร ซึ่งวัดอุณหภูมิ ความชื้นและเชื่อมต่อกับเครือข่าย Cloud สำหรับพยากรณ์อากาศล่วงหน้า ผลิตภัณฑ์อีกชิ้นหนึ่งคือ CubeSensors ซึ่งติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระดับอุณหภูมิ ความชื้นของอากาศ ระดับเสียง ระดับความสว่างของแสง มีฟังก์ชั่นคำนวณความเปลี่ยนแปลงของอากาศ เสน่ห์ของการทำตลาดผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้อยู่ที่การออกแบบแอพพลิเคชันบน Smart Phone ให้รับค่าจากเซนเซอร์ต่างๆ เหล่านี้และแปลค่าเป็นคำแนะนำสำหรับการใช้งานและใช้ชีวิตในห้องต่าง ๆ เช่น ห้องทำงาน ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร ซึ่งการใช้ชีวิตในแต่ละห้องย่อมการสภาพแวดล้อม ทั้งระดับเสียง แสงสว่าง อุณหภูมิที่แตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่านี่คือความตั้งใจในการทำตลาดให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ CubeSensors ให้ได้มากชิ้นที่สุด ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อสินค้าได้ที่ http://.cubesensors.com

 

 

Weather Station
จากค่าย netatmo ประสบความสำเร็จจากการ
เรียกระดมทุนได้เงินถึง 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

CubeSensors
ประสบความสำเร็จจากการเรียกระดมทุน
ได้เงิน 700 เหรียญสหรัฐ

 

 รูปที่ 4 ผลิตภัณฑ์ควบคุมคุณภาพอากาศ

 

อุปกรณ์ควบคุมการปิดเปิดและล็อกประตู

 

          ผลิตภัณฑ์ด้านการรักษาความปลอดภัยในการตรวจยืนยันการเข้าออกประตู โดยออกแบบลูกบิดประตูอัจฉริยะให้สามารถตรวจจำตัวตนของสมาชิกภายในบ้านและเพิ่มขีดความสามารถอื่นๆ ในการรักษาความปลอดภัยกำลังเป็นสินค้าขายได้ที่แม้กระทั่งบรรดาผู้ผลิตลูกบิดประตูแบบเดิม ๆ ทั่วโลกก็กระโจนเข้ามาทำตลาดดังกล่าว ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะผู้ผลิตหน้าใหม่ที่มิใช่ผู้ผลิตลูกบิดประตูเดิมๆ ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกก็คือ Bolt จากบริษัท Lockitron (http://lockitron.com) ซึ่งประสบความสำเร็จจากการขายแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถระดมเงินลงทุนผ่านทางเครือข่าย Crowdfunding ได้เงินไปถึง 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาจำหน่าย Bolt ชิ้นละ 99 เหรียญสหรัฐ การทำงานของ Bolt ใช้การเชื่อมต่อ Bluetooth Low Energy กับแอพพลิเคชันบน Smart Phone โดยจะต้องมีการกำหนดแอคเคาท์ของสมาชิกในบ้านให้ Bolt ได้จดจำ อุปกรณ์ Blot ทำงานด้วยถ่านไฟฉายแบบ AA จำนวน 2 ก้อน สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 6 เดือน และจะมีแจ้งเตือนผู้ใช้งานเมื่อ Smart Phone ตรวจพบว่าพลังงานของแบตเตอรี่เริ่มลดลง นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถซื้ออุปกรณ์ Bridge ซึ่งเป็นอะแดปเตอร์ที่ทำการเชื่อมต่อ Blot ให้เข้ากับเครือข่าย Wi-Fi ในบ้านเพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเครือข่าย Cloud เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและสั่งการปิดเปิดประตูผ่านทางแอพพลิเคชันบน Smart Phone ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก

 

 

Bolt จากบริษัท Lockitron
ประสบความสำเร็จจากการประกาศระดมทุนผ่านเครือข่าย
Crowdfunding ด้วยมูลค่าถึง 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

August Smart Lock
ประสบความสำเร็จในการระดมทุนถึง
10 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

รูปที่ 5 ผลิตภัณฑ์ปิดประเปิดประตูแบบอัจฉริยะ 

 

          ผลิตภัณฑ์ชิ้นที่สองก็คือ August Smart Lock (http://august.com) ประสบความสำเร็จในการระดมเงินลงทุนถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้การติดต่อสื่อสารระหว่าง Smart Lock กับแอพพลิเคชันบน Smart Phone ยังคงใช้เทคโนโลยี Bluetooth Low Energy โดย Smart Lock จะปิดและล็อกประตูโดยอัตโนมัติเมื่อสมาชิกในบ้านออกจากบ้าน จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้อยู่ที่ขีดความสามารถของแอพพลิเคชันบน Smart Phone ซึ่งนอกจากจะมีการกำหนดแอคเคาท์ของสมาชิกในบ้านให้ลูกบิดจดจำ การแจ้งเตือน (notification) ถึงการเปิดปิดประตู ไปจนถึงการเก็บประวัติการเข้าออกบ้านแล้ว เจ้าของบ้านหรือสมาชิกในบ้านยังสามารถกำหนดสั่งรหัสชั่วคราวสำหรับให้ Smart Lock ปลดล็อกประตูบ้านไปให้กับแอพพลิเคชันเดียวกันที่อยู่บน Smart Phone ของแขกหรือเพื่อนสนิท โดยสามารถกำหนดระยะเวลาที่สามารถใช้งานรหัสนี้ได้ว่าจะให้ใช้เป็นเวลานานเท่าไร รหัสที่ถูกกำหนดไปแล้วจะไม่มีทางถูกใช้ซ้ำได้อีก ราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Smart Lock เริ่มต้นที่ 199 เหรียญสหรัฐ

 

อุปกรณ์ควบคุมแสงสว่าง

 

          โซลูชั่นการควบคุมแสงสว่าง ซึ่งก็คือการปิดเปิดหลอดไฟภายในบ้าน การปรับแสงสีของหลอดไฟโดยการผสมสีที่เกิดจากหลอด LED แม่สีเข้าด้วยกัน ด้วยการออกแบบหลอดไฟอัจฉริยะให้สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ภายในบ้านเพื่อเชื่อมต่อไปกับอุปกรณ์ Smart Phone หรือผู้ผลิตบางรายอาจจะออกแบบให้หลอดไฟสามารถสื่อสารกับ Smart Phone โดยตรงผ่านทางเทคโนโลยี Bluetooth ลูกเล่นเพิ่มเติมก็เช่นการติดตั้งลำโพงไว้ภายในหลอดไฟเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถทำการส่งสัญญาณเสียงเพลงแบบ Steaming ไปเล่นที่ลำโพง เหล่านี้กลายเป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตออกจำหน่ายและพยายามทำตลาด แต่เนื่องจากระดับราคาที่ยังค่อนข้างสูงของหลอดไฟชนิดนี้ ประกอบกับการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคุ้นชินหรือปรับไลฟ์สไตล์ให้ยอมรับเทคโนโลยีนี้ได้ในปัจจุบัน ทำให้ยอดขายของสินค้าประเภทนี้ยังไม่เติบโตมากนัก การแข่งขันด้านราคาและการออกแบบแอพพลิเคชันที่ง่ายขึ้น รวมไปถึงการเชื่อมต่อการทำงานของหลอดไฟชนิดนี้ให้เข้ากับอุปกรณ์ Hub ส่วนกลาง ก็มีผลทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้น

           

          ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ควบคุมแสงสว่างที่นำมาเสนอก็ได้แก่ หลอดไฟ Hue จากค่าย Philips ที่ผู้ใช้งานสามารถกำหนดแสงสีและความสว่างของหลอดไฟได้ตามสภาพบรรยากาศที่ต้องการ พร้อมกับมีการกำหนดแสงสีและระดับแสงมาตรฐานสำหรับการใช้งานในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น แสงสีน้ำเงินสำหรับบรรยากาศตอนเช้า แสงสีเหลืองสำหรับช่วงเวลาเย็น ซึ่งการควบคุมสามารถกระทำผ่านทางแอพพลิเคชันบน Smart Phone ได้โดยตรง ผู้ใช้งานยังสามารถกำหนดและสั่งการให้เปิดปิดไฟในเวลาที่ตนไม่อยู่บ้าน เพื่อลวงให้ผู้ไม่หวังดีเข้าใจว่ายังมีคนอยู่บ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นลูกเล่นที่ล้วนสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ การทำงานของหลอดไฟ Hue จะต้องอาศัยการเชื่อมต่อระหว่างหลอดไฟกับอุปกรณ์ Bridge ผ่านทางคลื่นความถี่วิทยุ โดยการติดตั้งใช้งานเริ่มจากเชื่อมต่อกับ Bridge เข้ากับ Wi-Fi Router เพื่อให้ Wi-Fi Router แจก IP Address ให้กับ Bridge จากนั้น Bridge ก็จะทำการติดต่อสื่อสารเพื่อควบคุมและตรวจสอบสถานะของหลอดไฟ Hue ผ่านทางคลื่นวิทยุ การติดตั้งหลอดไฟก็เพียงถอดหลอดไฟเก่าออกและหมุนหลอดไฟ Hue ที่มีเกลียวเชื่อมต่อแบบ  E26 เข้ากับขั้วหลอด ราคาจำหน่ายชุดเริ่มต้น 79.95 เหรียญสหรัฐ ประกอบไปด้วย Bridge หนึ่งตัวและหลอด Hue E26 จำนวน 2 หลอด รายละเอียดเพิ่มเติมติดอยู่ที่ http://www2.meethue.com

 

 

Hue

ผลิตภัณฑ์หลอดไฟอัจฉริยะจาก Philips

 

 

Bolt
จากค่าย Misfit

 

 

Yeelight
จากบริษัท Yeelink

 

รูปที่ 6 อุปกรณ์ควบคุมแสงสว่างและหลอดไฟอัจฉริยะ

 

           ผลิตภัณฑ์หลอดไฟ Bolt จากบริษัท Misfit (http://www.misfit.com) มีรูปแบบการทำงานที่คล้ายคลึงกับ Hue แต่เน้นการดีไซน์รูปทรงที่มีเอกลักษณ์สามารถติดตั้งหลอดเพื่อยื่นออกมาแสดงความเป็นแฟชั่นได้ รองรับขั้วหลอดทั้งแบบ E26 และ E27 สามารถติดต่อสื่อสารกับ Smart Phone ได้โดยตรงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi Direct โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ Hub หรือ Bridge มีกำลังความสว่าง 13 วัตต์ สามารถใช้แอพพลิเคชันสั่งหรี่แสงได้อย่างนุ่นนวล ราคาจำหน่ายหลอดละ 49.99 เหรียญสหรัฐ สำหรับผลิตภัณฑ์ชิ้นที่สามก็คือ Yeelight จากบริษัท Yeelink แบ่งออกเป็น Yeelight LED Smart Bulb ให้แสงที่สบายตา ใช้กำลังไฟฟ้า 8 วัตต์ สามารถปรับความสว่างได้ผ่านทางแอพพลิเคชันบน Smart Phone กับ Yeelight Bedside Lamp สำหรับตั้งหัวเตียงเพื่อการอ่านหนังสือ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถกดสัมผัสที่ตัวหลอดได้โดยมีการออกแบบให้การสัมผัสที่ในแต่ละรูปแบบให้ผลที่แตกต่างกัน เช่น กดจุดกลางเพื่อปรับความสว่าง กดแล้วหมุนนิ้วรอบฝาบนเพื่อปรับความสว่าง กดสองนิ้วพร้อมกันเพื่อผสมสี ผลิตภัณฑ์ทั้งสองรุ่นนี้มีการเชื่อมต่อกับ Smart Phone ผ่านทางเทคโนโลยี Wi-Fi Direct หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.yeelight.com ซึ่ง Yeelight น่าจะเป็นผู้ผลิตหลอดไฟอัจฉริยะที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับเจ้านวัตกรรมอย่างบริษัท Xiaomi จากประเทศจีนและบริษัท Misfit ซึ่งทำตลาดผลิตภัณฑ์ Bolt อยู่ ทำให้เกิดช่องทางในการผลักดันนวัตกรรมที่แข็งแรง

 

อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ

 

          นอกเหนือจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นสิ่งคุ้นเคยของบ้านเรือน เช่น Smart TV เครื่องเสียง ฯลฯ แล้ว ปัจจุบันยังมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการใช้ชีวิตในบ้านเรือน เป็นส่วนหนึ่งของโซลูชั่น Smart Home ตัวอย่างดังแสดงในรูปที่ 7 ก็เช่น เครื่องชั่งน้ำหนักที่มีการติดเซนเซอร์เพื่อทำหน้าที่วัดดัชนีต่าง ๆ ของร่างกาย (Smart Body Analyzer) จากบริษัท Withings ซึ่งมีการติดต่อตรงกับเครือข่าย Wi-Fi ภายในบ้านสำหรับส่งข้อมูลและประวัติน้ำหนักรวมถึงค่าดัชนีต่าง ๆ ไปเก็บไว้บนเครือข่าย Cloud ซึ่งผู้ใช้งานสามารถใช้ Smart Phone ดึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านการแสดงผลในเชิงสถิติมาใช้ประโยชน์ ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจชิ้นต่อมาก็คือชุดปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Hydroponic) ซึ่งเป็นสินค้าของบริษัท NIWA (http://getniwa.com) ออกแบบมาเป็นตู้ระบบนิเวศน์ปิดที่ผู้ใช้งานสามารถควบคุมระดับอุณหภูมิ แสงสว่าง และการให้น้ำ ให้เหมาะกับประเภทของพืชที่ทำการปลูกผ่านทางแอพพลิเคชันบน Smart Phone โดยมีผลิตภัณฑ์ตั้งต้นสำเร็จรูปคือ NIWA One ดังแสดงในรูป ต่อเนื่องไปจนถึงการให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งซื้อชุดคิตที่ประกอบไปด้วยตู้ระบบนิเวศน์ที่ติดตั้งเครื่องรับส่ง Wi-Fi เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง หลอดไฟ E27 อัตรากินไฟ 100 วัตต์ ปั๊มน้ำและหัวหยดน้ำ พัดลม และข้อมูลสนับสนุนสำหรับการจัดตู้เพื่อปลูกพืชชนิดต่าง ๆ

 

 

Withings
เครื่องวิเคราะห์ดัชนีร่างกาย

 

 

Niwa
อุปกรณ์ปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน

 

 

 

Nomiku
อุปกรณ์เครื่องช่วยทำอาหารแบบซูวี (Sous-Vide)

 

รูปที่ 7 ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะในรูปแบบใหม่ ๆ

 

          ผลิตภัณฑ์จากบริษัท Nomiku (http://www.nomiku.com) ก็เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับอำนวยความสะดวกในการทำครัว ซึ่งเหมาะสำหรับพ่อครัวที่นิยมรูปแบบการทำอาหารแบบซูวี (Sous-Vide) ที่เป็นศิลปะการทำอาหารแบบฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการปรุงอาหารในอุปกรณ์แบบสุญญากาศในน้ำที่เย็น ซึ่งเป็นสูตรสำคัญของพ่อครัวชั้นนำ การตรวจสอบและควบคุมอุณหภูมิจึงเป็นสิ่งสำคัญ และบริษัท Nomilku นำมาเป็นจุดขายในการสร้างผลิตภัณฑ์ Nomiku Wi-Fi ซึ่งมีราคาจำหน่ายชิ้นละ 199 เหรียญ

 

อุปกรณ์บริหารจัดการการนอน

 

          พัฒนาการของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ช่วยตรวจสอบภาพการนอนมีความก้าวหน้ามากขึ้น จากผลิตภัณฑ์รุ่นแรกที่อยู่ในรูปของกำไลข้อมืออัจฉริยะที่ใช้เซนเซอร์ในการตรวจสภาพการเคลื่อนไหวเวลานอนมาประเมินสภาพการหลับลึกของร่างกาย ซึ่งอาจจะไม่มีความละเอียดมากนัก เพราะฟังก์ชั่นหลักอยู่ที่การออกแบบให้นับก้าวการเดินและการเคลื่อนไหวในเวลาตื่น ผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการ Startup หลายรายประกาศระดมทุนบนเครือข่าย Crowdfunding เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความละเอียดแม่นยำและสามารถให้ช่วยเหลือและพัฒนารูปแบบการนอนของมนุษย์ได้ดีมากขึ้น การตอบรับของบรรดานักลงทุนบนเครือข่าย Crowdfunding และนักลงทุนประเภท Venture Capital (VC) ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ก็เป็นไปอย่างดี ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ Beddit ขอเรียกระดมเงินลงทุนผ่านเครือข่าย Indiegogo ได้เงินมาเพียง 503,000 เหรียญ พร้อม ๆ กับได้เงินจาก VC มาอีก 8 ล้านเหรียญ ขณะที่ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Sense ได้เงินลงทุนจากเครือข่าย KickStarter มา 2.4 ล้านเหรียญ และได้เงินจาก VC มา 10.5 ล้านเหรียญ

 

 

Beddit อุปกรณ์ติดตามสภาพการนอนจากค่าย Misfit
ได้รับเงินลงทุนผ่านเครือข่าย Indiegogo
เป็นเงิน 503,000 เหรียญสหรัฐ

 

 

Sense
ได้รับเงินลงทุนผ่านเครือข่าย KickStarter
เป็นเงิน 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

รูปที่ 8 ผลิตภัณฑ์ช่วยบริหารจัดการการนอน

 

          ผลิตภัณฑ์ Beddit (http://www.beddit.com) ได้รับการออกแบบมาเป็นสายคาดที่รับพลังงานไฟฟ้ามาจากอะแดปเตอร์เสียบไฟบ้าน ติดตั้งอยู่ใต้ผ้าปูที่นอน โดยจะทำการเก็บค่าการเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อนำมาวิเคราะห์ระดับการหลับของผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องตามช่วงเวลาว่ามีรูปแบบการหลับตื้นและหลับลึกอย่างไร จุดขายของผลิตภัณฑ์ Beddit อยู่ที่ความถี่ของการสุ่มตรวจสภาพการนอนที่ถี่มาก ทำให้สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้อย่างละเอียด นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งเซนเซอร์ความไวสูงเพื่อวัดระดับการเต้นของหัวใจ มีการเชื่อมต่อด้วยมาตรฐาน Bluetooth เพื่อส่งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชันบน Smart Phone ไปยังระบบฐานข้อมูลบนเครือข่าย Cloud โดยมีราคาจำหน่ายที่ 149 เหรียญสหรัฐ

 

          ผลิตภัณฑ์ชนิดที่สองคือ Sense (http://hello.is) มีการออกแบบโดยให้มีอุปกรณ์ใช้งานสองชิ้น ประกอบไปด้วยส่วนของตัวตรวจจับสภาพแวดล้อม (Sense) ที่มีเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ระดับความสว่างของบรรยากาศในห้องนอน ไมโครโฟนสำหรับตรวจจับความดังของเสียง เซนเซอร์จับฝุ่น เซนเซอร์ทั้งหมดนี้จะทำการเก็บข้อมูลในห้องนอนระหว่างการนอน โดยจะส่งข้อมูลไปให้กับเครือข่าย Cloud อย่างต่อเนื่องผ่านทางการเชื่อมต่อ Wi-Fi กับ Wi-Fi Router ภายในบ้าน ขณะที่มีการเชื่อมต่อ Bluetooth Low Energy เพื่อสื่อสารกับ Smart Phone ของผู้ใช้งาน อุปกรณ์ที่ผู้ใช้งานต้องกลัดติดตัวคือ Sleep Pill ซึ่งได้รับการออกแบบมาเหมือนกระดุม ภายในติดตั้งเซนเซอร์แบบ Accelerometer ที่มีความแม่นยำสูง ตรวจจับการเคลื่อนไหวร่างกายในขณะนอน และจะส่งข้อมูลการเคลื่อนไหวไปยังอุปกรณ์ Sense ผ่านทางการเชื่อมต่อ Bluetooth ผู้ใช้งานจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนอน โดยทราบทั้งสภาพแวดล้อมและบรรยากาศภายในห้องนอน กับรูปแบบการนอนของตนเอง โดยแอพพลิเคชันบน Smart Phone จะทำการติดต่อกับฐานข้อมูลที่เก็บไว้บนเครือข่าย Cloud เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศในห้องนอนกับสภาพการนอน โดยมีราคาจำหน่าย 129 เหรียญสหรัฐ

 

อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ด้าน VR และ AR

 

          เทคโนโลยีการสร้างภาพเสมือนจริง (Virtual Reality หรือ VR) และการซ้อนภาพจำลองไปบนภาพจริง (Augmented Reality หรือ AR) ได้รับการคาดหวังว่าจะมีบทบาทอย่างมากในทุกวงการ ตั้งแต่การเล่นเกม การเสพสื่อบันเทิง การศึกษา การออกแบบ สถาปัตยกรรม การจำลองการบิน แฟชั่น ไปจนถึงการใช้ประโยชน์ในวงการค้าปลีก แต่การผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ด้าน VR และ AR ในเชิงพาณิชย์ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแม้กระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2558 ยิ่งกว่านั้นค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Google ซึ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบแว่นตาอัจฉริยะ Google Glass อันเป็นอุปกรณ์ประเภท AR ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 พร้อมกับการสนับสนุนเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับนักพัฒนาทั่วโลก ท้ายที่สุดก็ต้องตัดสินใจปิดตัวผลิตภัณฑ์ Google Glass ลงเพราะไม่สามารถทำราคาจำหน่ายให้อยู่ในระดับที่ผู้บริโภคทั่วไปยอมรับได้ โดยราคาสุดท้ายก่อนปิดตัวสูงถึง 1,500 เหรียญสหรัฐหรือกว่า 52,000 บาท ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือการถูกร้องเรียนจากผู้บริโภคและหน่วยงานต่าง ๆ ถึงการล่วงละเมิดในสิทธิส่วนบุคคล จากการที่ผู้สวมใส่ Google Glass จะได้รับข้อมูล Online ต่าง ๆ ที่ถูกผลักมาจากสื่อ Social Network และฐานข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับเป้าหมายที่สายตามองไป ซึ่งย่อมจะหมายถึงการรู้ถึงเรื่องราวของผู้คนที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน โดยที่บุคคลที่สามนั้นไม่สามารถป้องกันการเปิดเผยข้อมูลของตนเองให้ปรากฏแก่สายตาของผู้ใส่แว่นได้เลย เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญทางด้านกฎหมายที่ทำให้เกิดความล่าช้าต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของแว่นตาอัจฉริยะจากผู้ประกอบการทั่วโลก

 

 

 

รูปที่ 9 แว่นตาอัจฉริยะ Google Glass ซึ่งได้รับการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่จาก Google ก็ต้องถูกปิดตัวลงในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ด้วยสาเหตุกลไกด้านราคาและปัญหาการถูกร้องเรียนเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนตัว

 

ผลิตภัณฑ์ด้าน Augmented Reality

 

          ผู้เขียนขอนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางด้าน AR ที่มีผู้พัฒนาในตลาด โดยรูปที่ 10 เป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำของการผลิตอุปกรณ์ AR อันประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ Magic Leap (http://www.magicleap.com) ซึ่งประสบความสำเร็จในการระดมเงินลงทุน 592,000 เหรียญสหรัฐ เพื่ออกแบบผลิตภัณฑ์สวมใส่ที่ดวงตาให้สามารถจำลองภาพกราฟิกต่างๆ ทับซ้อนกับภาพบรรยากาศจริง โดย Magic Leap มีการสร้างฐานนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อสร้างแอพพลิเคชันการใช้งานต่างๆ สำหรับบริษัท Microsoft ก็ได้มีการเปิดตัวและผลักดันผลิตภัณฑ์ AR อย่าง Hololens (https://www.microsoft.com/microsoft-hololens) พร้อมเปิดตัวชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ (SDK : Software Development Kit) สำหรับใช้งานกับระบบปฏิบัติการ Windows พร้อมกับกำหนดราคาจำหน่าย Hololens ที่ 3,000 เหรียญสหรัฐหรือราวๆ 100,000 บาท ซึ่งนับว่าแพงมากสำหรับการนำมาใช้งานในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์ AR ชั้นแนวหน้าอีกชิ้นหนึ่งคือ SmartEyeGlass จากค่าย Sony (http://developer.sonymobile.com/products/smarteyeglass) ผลิตจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่และพกพาได้โดยสะดวก จำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าผู้ผลิต 2 ค่ายแรกคือ 899 เหรียญสหรัฐ คงต้องรอให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชันเพื่อใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรมและทำให้เกิดการนำไปใช้งานบนฐานลูกค้าที่มีจำนวนมากก่อนจึงจะทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ลดลง

 

 

 

Magic Leap

 

 

 

Hololens จาก Microsoft

 

 

 

SmartEyeGlass

 

รูปที่ 10 ผลิตภัณฑ์ AR จากผู้ผลิตชั้นนำ

 

Skully

หมวกแบบ AR สำหรับนักขี่จักรยาน ได้เงินลงทุนจากเครือข่าย Indiegogo 2.4 ล้านเหรียญ 

 

 

Meta
ได้เงินลงทุนจากเครือข่าย KickStarter 194,000 เหรียญ
และจากนักลงทุน VC อีก 23 ล้านเหรียญ

 

 

CastAR
ได้เงินลงทุนจากเครือข่าย KickStarter
เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1 ล้านเหรียญ

 

รูปที่ 11 ผลิตภัณฑ์ AR ที่ประสบความสำเร็จจากการระดมทุนผ่านเครือข่าย Crowdfunding และ VC

 

          นอกเหนือจากอุปกรณ์ด้าน AR ที่ได้รับการผลิตจากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่แล้ว ยังมีผู้ประกอบการประเภท Startup อีกหลายรายที่ได้รับการตอบรับการระดมทุนทั้งโดยเครือข่าย Crowdfunding และนักลงทุนประเภท VC ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์จากบริษัท Meta ที่ได้เงินจากเครือข่าย KickStarter มา 194,000 เหรียญสหรัฐ และจากนักลงทุน VC อีก 23 ล้านเหรียญ ผลิตภัณฑ์ CastAR ได้เงินจากเครือข่าย KickStarter เป็นจำนวนถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Skully ซึ่งหมวกกันน๊อคที่ติดตั้งระบบแสดงภาพแบบ AR ซ้อนบนมุมมองการขับขี่รถจักรยาน ได้รับเงินลงทุนจากเครือข่าย Indiegogo ถึง 2.4 ล้านเหรียญ

 

ผลิตภัณฑ์ด้าน Virtual Reality

 

          การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี VR จะมีความแตกต่างจาก AR ตรงที่ AR เป็นการนำภาพกราฟิกที่สร้างขึ้นไปวงกับซ้อนกับภาพจริงที่ปรากฏ รูปแบบของผลิตภัณฑ์ AR จึงมีลักษณะเป็นคล้ายแว่นที่ต้องมีส่วนแสดงผลภาพกราฟิกฉายซ้อนกับตัวเลนส์กระจก การนำไปใช้งานย่อมมีได้มากมายมหาศาล แต่เนื่องจากความซับซ้อนของการแสดงผลทำให้ราคาของอุปกรณ์ AR แพงตามไปด้วย ในขณะที่เทคโนโลยี VR เป็นการสร้างโลกเสมือนโดยสมบูรณ์แบบให้ปรากฏบนเลนส์ของอุปกรณ์ หรือมิฉะนั้นแล้วผลิตภัณฑ์ VR ก็อาจได้รับการสร้างขึ้นมาอย่างง่าย ๆ ด้วยการให้ผู้ใช้งานเสียบโทรศัพท์  Smart Phone ไว้ภายในที่สวมหน้าและใช้เลนส์ส่งภาพจากหน้าจอ โดยมีกลไกในการแจ้งให้Smart Phone ทราบว่าขณะนี้กำลังถูกสอดไว้ภายในอุปกรณ์ VR สวมหน้า โดยมีการออกแบบแอพพลิเคชันพิเศษบน Smart Phone ให้ตอบสนองแยกการแสดงผลออกสำหรับให้ตาข้างซ้ายและข้างขวาของผู้สวมใส่ได้มองเห็นเป็นภาพ 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์แสดงผล VR แบบสมบูรณ์แบบ หรือการใช้งานควบคู่กับการสอด Smart Phone ไว้ภายใน คุณประโยชน์ของ VR ก็คือการสร้างภาพเสมือนจริงและเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถหมุนตัว โคลงศีรษะ เพื่อให้เห็นภาพในโลกเสมือนได้ 360 องศา

 

 

Oculus ได้รับเงินลงทุนจากเครือข่าย KickStarter 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
และถูกซื้อกิจการโดย Facebook ไปด้วยเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

Morpheus
โดยค่าย Sony

 

 

Vive VR
การผลิตร่วมกันระหว่างบริษัท HTC และ Valve

 

 

OSVR โดยบริษัท Razer
เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบให้มีระบบสนับสนุน
ในการพัฒนาแอพพลิเคชันแบบ Open Source

 

รูปที่ 12 ผลิตภัณฑ์ VR จากผู้ผลิตชั้นนำ

 

          ผู้ผลิตอุปกรณ์ VR รายใหญ่ที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้นำทางการตลาดก็มีแสดงในรูปที่ 12 ประกอบไปด้วยบริษัท Occulus (http://www.oculus.com) ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ Rift และ Gear VR ตลาดเป้าหมายของ Oculus ก็คือบรรดานักเล่นเกมซึ่งต้องการเสพบรรยากาศการเล่นเกมเหมือนจริงที่ตนเองรู้สึกว่าได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกม โดยการใช้งานจะเชื่อมต่ออุปกรณ์ Rift และ Gear VR เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง แล้วให้ผู้เล่นเกมสวมใส่อุปกรณ์ Rift หรือ Gear VR อีกทั้งมีอุปกรณ์เสริมอันได้แก่ Oculus Touch ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับให้มือจับและตรวจจับการเคลื่อนไหวของมือ โดยมีปุ่มควบคุมสั่งการต่าง ประหนึ่ง Joy Stick อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ก็เช่นหูฟัง สำหรับให้ผู้เล่นเกมรับฟังเสียงบรรยากาศในเกมเสมือนจริง ไมโครโฟนสำหรับใช้ในโปรแกรมที่รองรับการสั่งการด้วยเสียง สำหรับมาตรฐานของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่รองรับการใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ Oculus Rift อย่างน้อยต้องใช้หน่วยประมวลผล Intel i5-4590 ใช้วีดีโอการ์ด NVDIA GTX 970 หรือ AMD R9 920 มีหน่วยความจำ RAM ขั้นต่ำ 8 กิกะไบต์ ใช้ช่องต่อสัญญาณวิดีโอ HDMI 1.3 มีพอร์ต USB 3.0 อย่างน้อย 3 พอร์ต และ USB 2.0 อีก 1 พอร์ต ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 7 SP1 64 บิตเป็นอย่างน้อย บริษัท Oculus ประสบความสำเร็จในแง่ของการระดมทุนทั้งจากเครือข่าย KickStarter และจากการเข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่าถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐโดย Facebook

               

                ผลิตภัณฑ์ VR รายอื่น ๆ ในตลาดก็เช่น Morpheus จากค่าย Sony ผลิตภัณฑ์ Vive ซึ่งเกิดจากการออกแบบและผลิตร่วมกันระหว่างบริษัท HTC และ Valve (http://www.htcvive.com) เป็นโซลูชั่น VR สมบูรณ์แบบที่ประกอบไปด้วยอุปกรณ์สวมศีรษะและแสดงผล อุปกรณ์ Tracker ที่ให้ผู้ใช้งานจับด้วยมือแยกออกเป็นมือซ้ายและมือขวา ทำหน้าที่ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของมือ และมีความไวในการตอบกลับเพื่อให้ทันกับการแสดงผลของกราฟิกที่ปรากฏต่อสายตาของผู้ใช้งาน อุปกรณ์ที่มาด้วยกันอีกชุดหนึ่งก็คือสถานีฐานอีก 2 ชุดที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณตรวจจับตำแหน่งยืนและการเดินของผู้ใช้งาน เพื่อป้อนกลับข้อมูลไปยังโปรแกรมการใช้งานให้ตอบสนอง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเดินไปได้รอบ ๆ พื้นที่โดยไม่จำกัดองศา ราคาจำหน่ายครบชุด 799 เหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ VR อีกชิ้นหนึ่งก็คือ OSVR จากบริษัท Razer ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริมหลากหลายชนิด (http://www.razerone.com/osrv) โดยออกแบบให้ซอฟต์แวร์ชุดสนับสนุนการพัฒนาอยู่ในรูปแบบ Open Source

 

 

Samsung Gear VR
พัฒนาโดยบริษัท Oculus

 

 

ANTVR
ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่านเครือข่าย KickStarter ได้เงิน 261,000 เหรียญสหรัฐ

 

 

Google Cardboard
ผลิตภัณฑ์ VR ราคาประหยัดจาก Google

 

 

iPhone VR Headset
สิทธิบัตรของค่าย Apple

 

รูปที่ 13 ผลิตภัณฑ์ VR ที่น่าสนใจและมีราคาไม่แพง

 

          ผู้บริโภคจะรู้จักและใช้งานอุปกรณ์ VR มากกว่า AR เนื่องจากความซับซ้อนทางเทคนิคน้อยกว่า ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนในการผลิตให้ต่ำและมีราคาที่ประหยัดกว่าได้ อุปกรณ์ VR ที่มีราคาถูกและมียอดจำหน่ายที่สูงมีแสดงในรูปที่ 13 เริ่มจากผลิตภัณฑ์ Samsung Gear VR ได้รับการออกแบบโดยบริษัท Oculus โดยปรับลดขีดความสามารถของสินค้าของตนให้มีราคาประหยัด โดยในประเทศไทยมีจำหน่ายที่ราคา 4,500 บาท สามารถใช้งานร่วมกับ Smart Phone สายตระกูล S6 และ Note 5 ของ Samsung ภายในใช้ระบบปฏิบัติการ Android น้ำหนักเบา 400 กรัม ผลิตภัณฑ์ ANTVR ได้รับการคิดค้นโดยผู้ประกอบการ Startup และประสบความสำเร็จกับการระดมเงินลงทุนจากเครือข่าย KickStarter ได้เงินมา 261,000 เหรียญสหรัฐ ออกแบบสินค้าให้ทำงานร่วมกันระหว่างหน้ากาก VR และอุปกรณ์ปืนซึ่งมีการเชื่อมต่อกันและเชื่อมเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นขุมพลังในการเล่นเกม

 

           สำหรับค่าย Google เองก็ได้มีการสร้างผลิตภัณฑ์ VR จากกระดาษภายใต้ชื่อ Google CardBoard ให้ผู้ใช้งานสามารถสอดโทรศัพท์ Smart Phone ไว้และมองผ่านเลนส์ข้างซ้ายและขวาสำหรับการรับชมภาพยนตร์ เกม หรือการแสดงแอนิเมชั่น 3 มิติ ผู้ใช้งานสามารถเลื่อนสลักโลหะที่ด้านข้างของแว่น ซึ่งสลักดังกล่าวเป็นแม่เหล็ก การเลื่อนสลักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความเข้มแม่เหล็ก และจะไปเหนี่ยวนำการเปลี่ยนแปลงของฟลักซ์แม่เหล็ก (Magnetic Flux) ที่ลำโพงของโทรศัพท์ Smart Phone Android ซึ่งซอฟต์แวร์บน Smart Phone ที่ได้รับการออกแบบมาจะทำหน้าที่ตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของฟลักซ์แม่เหล็กเพื่อใช้เป็นสัญญาณแทนการกดปุ่มสั่งการของผู้ใช้บริการ และจะเป็นการส่งสัญญาณควบคุมการทำงานของแอพพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง ท้ายที่สุดก็คือผลิตภัณฑ์ VR Headset สำหรับใช้งานกับ iPhone ซึ่งปัจจุบันค่าย Apple เปิดเผยเพียงสิทธิบัตรการออกแบบที่ได้จดเอาไว้ แต่ยังไม่มีการเปิดตัวสินค้าดังกล่าว

 

 

 

รูปที่ 14 ผลิตภัณฑ์กล้อง 3 มิติ 360cam

 

          ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี VR ได้รับการยกระดับขึ้นอีกไปอีกขั้นเมื่อบริษัท Giroptic (http://www.360.tv) ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ชื่อ 360cam ซึ่งเป็นที่กล้องถ่ายภาพแบบ VR รุ่นแรกของโลกที่ติดตั้งกล้องความละเอียด HD จำนวน 3 กล้องและไมโครโฟนสามตัวเพื่อรับทั้งภาพแบบ Streaming และเสียงรอบตัว แล้วนำภาพและเสียงมาผสมกันเพื่อการรับรู้ของโลกภายนอกแบบ 3 มิติเพื่อบันทึกไว้ในอุปกรณ์ SD Memory หรือส่งผ่านการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi ทั้งข้อมูลวิดีโอและภาพนิ่งที่ปรากฏจะกลายเป็นภาพ 3 มิติรอบตัวกล้อง ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับการใช้งานทั้งเพื่อความบันเทิงและการทำธุรกิจต่าง ๆ ข้อกำหนดทางเทคนิคของอุปกรณ์ 360cam ประกอบไปด้วยกล้องเลนส์ความกว้างจำนวน 3 ชุด สามารถบันทึกวิดีโอด้วยอัตราเร็วในการแสดงผล 25-30 เฟรมต่อวินาที บันทึกภาพพร้อมฟังก์ชั่นตั้งเวลา สามารถถ่ายทอดสดได้ผ่านการเชื่อมต่อ Wi-Fi มาตรฐาน IEEE 802.11b/g/h พร้อมมีช่องต่อสาย LAN ในกรณีที่ต้องการควบคุมคุณภาพของการถ่ายทอด ขนาดเล็กเพียง 6.9 x 6.9 เซนติเมตร น้ำหนัก 180 กรัม กันน้ำด้วยมาตรฐาน IPX 8 บันทึกข้อมูลภายในตัวกล้องด้วย Micro SD รองรับได้ถึง Class 10 ด้วยขนาดความจุ 128 กิกะไบต์ มีช่องต่อ Micro USB สำหรับการเชื่อมต่อเพื่อรับส่งไฟล์ภาพและวิดีโอ และเพื่อการประจุ (Charge) ไฟเข้ากล้อง ภายในตัวกล้องได้รับการติดตั้งชิปเซ็ต GPS สำหรับดึงข้อมูลตำแหน่งพิกัดเพื่อใส่เข้าไปในไฟล์ข้อมูล (Geo-Tagging) นอกจากนั้นยังมีชิปเซ็ต Gyroscope และ Accelerometer สำหรับช่วยแก้ความเอียงและปรับความสมดุลของภาพและสัญญาณวิดีโอในกรณีที่ผู้ใช้งานถือกล้องแล้วเอียงมือ ใช้การส่งสัญญาณภาพด้วยโปรโตคอล RTSP (Real Time Streaming Protocol) ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ Smart Phone กับกล้องเพื่อทำหน้าที่เป็น Remote Control ได้โดยผ่านทาง Wi-Fi กล้อง 360cam ได้รับการกำหนดราคาจำหน่ายได้ที่ 499 เหรียญสหรัฐ Giroptic ผู้ผลิตกล้องยังมีอุปกรณ์เสริม (Accessory) อีกหลายชนิดไว้จำหน่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ตั้งแต่หลอดไฟ (Light Bulb) สำหรับเพิ่มความสว่างในการถ่าย อุปกรณ์ Ethernet Adaptor แบตเตอรี่พกพา และขาตั้งเพื่อการเพิ่มความเสถียรให้กับการถ่ายและบันทึกภาพ

 

 

 

รูปที่ 15 ผลิตภัณฑ์จาก Leap Motion ช่วยเพิ่มศักยภาพในการสั่งการด้วยมือ สำหรับการใช้งานที่เพิ่งพาเทคโนโลยี VR

 

          สิ่งที่เข้ามาเสริมศักยภาพในการใช้งานเทคโนโลยี VR มากขึ้นก็คือการสร้างโซลูชั่นตรวจจับการเคลื่อนไหวของมือมนุษย์เพื่อทำหน้าที่เป็นอินพุตสำหรับส่งสัญญาณร่างกายผ่านทางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ร่วมกับเทคโนโลยี VR การป้อนคำสั่งควบคุมต่าง ๆ ผ่านทางคีย์บอร์ดและเมาส์ย่อมไม่ใช่โซลูชั่นที่สะดวกสำหรับผู้ใช้งานที่สวมใส่อุปกรณ์ VR ครอบศีรษะอยู่อย่างแน่นอน บริษัท Leap Motion (http://www.leapmotion.com) ได้สร้างผลิตภัณฑ์ Leap Motion ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและรูปลักษณะของการใช้มือของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการกำมือ แบมือ หงายหรือคว่ำมือ ไปจนกระทั่งการขยับมือ เพื่อนำไปแทนค่าเป็นชุดคำสั่งการใช้งาน โดยอุปกรณ์ Leap Motion Controller ซึ่งเป็นตัวรับการควบคุมโดยการแสดงท่าทางของมือจะมีการเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อทำหน้าที่ประมวลผล นอกจากนั้นบริษัท Leap Motion ยังมีผลิตภัณฑ์ VR Developer Mount สำหรับจำหน่าย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน VR สำหรับเชื่อมต่อเป็นระบบการแสดงผลและรับสัญญาณข้อมือ พร้อมกับเปิดช่องทางให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกได้เข้าถึงคลังข้อมูลไลบรารี (Library) และสามารถสร้างซอร์สโค้ด (Source Code) เพื่อต่อยอดการใช้งาน ราคาจำหน่ายของอุปกรณ์ Leap Motion Controller อยู่ที่ 99.99 เหรียญสหรัฐ ส่วน VR Developer Mount อยู่ที่ 19.99 เหรียญ

 

 

 

รูปที่ 16 ผลิตภัณฑ์กล้อง 3 มิติที่สามารถเก็บภาพและสร้างมุมมองแบบ AR – Structure Sensor

 

          วิวัฒนาการของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี VR และ AR ในปัจจุบันกำลังก้าวพ้นจากข้อจำกัดเดิม ๆ ที่ว่าการออกแบบสินค้าต้องอยู่ในลักษณะของหมวกสำหรับสวมใส่ศีรษะของมนุษย์เท่านั้น บริษัท Structure (http://www.structure.io) นำเสนอสินค้า AR และการบันทึกภาพที่มีชื่อว่า Structure Sensor โดยเป็นอุปกรณ์เซนเซอร์ที่เป็นชุดติดตั้งเข้ากับ Tablet PC ทำให้ผู้ใช้งานสามารถบันทึกภาพของโครงสร้างต่าง ๆ เช่น การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในห้อง ถ่ายภาพของวัสดุต่าง ๆ แล้วแอพพลิเคชันบน Tablet PC จะรับสัญญาณจาก Structure Sensor เพื่อสร้างเป็นรูปภาพ 3 มิติ ที่ผู้ใช้งานสามารถชมภาพทุกมุมมอง แล้วสามารถส่งภาพไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้เช่นส่งภาพเข้าสู่ระบบสืบค้นวัสดุหรือสินค้าที่มีรูปทรงเหมือนกันที่ปรากฏ หรือในกรณีของการเก็บภาพห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ภาพถ่ายจาก Structure Sensor จะได้รับการแปลงเป็น 3 มิติ สามารถดูได้จากมุมมองต่าง ๆ พร้อมกับการที่แอพพลิเคชันจะทำการอ่านค่าระยะห่างของวัตถุต่าง ๆ เพื่อแสดงระยะทางที่แม่นยำ เหมาะสำหรับสถาปนิกและช่างรับเหมาที่ต่อจากนี้ไปไม่จำเป็นจะต้องถือสายวัดระยะและเสียเวลากับการจัดบันทึกข้อมูลลงกระดาษ นอกจากนั้นผู้ใช้งานยังสามารถสร้างภาพกราฟิกที่เป็นภาพเสมือนจริงให้ปรากฏซ้อนกับภาพจริงที่บันทึกหรือ Streaming มาจาก Structure Sensor ทำให้อุปกรณ์ Tablet PC ทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องเล่นเกมแบบ AR ได้อีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์ได้รับการออกแบบมาให้สามารถยึดติดทางกายภาพและรองรับการใช้งานกับ iPad ผู้ผลิตเน้นว่าเหมาะกับการใช้งานร่วมกับ iPad Air 2, iPad Mini 4, iPad Pro, iPad Air, iPad Mini 2/iPad Mini 3 และ iPad 4th Generation โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่ 379 เหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามนักพัฒนาก็สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์ Structure Sensor แยกต่างหากเพื่อนำไปใช้งานกับ Smart Phone หรือ Tablet PC จากค่ายอื่น ๆ และในปัจจุบัน (เมษายน พ.ศ. 2559) ทางบริษัท Structure กำลังเปิดรับการออกแบบตัวยึดเข้ากับโทรศัพท์ Smart Phone iPhone6 อีกด้วย

 

ผลิตภัณฑ์ด้าน Drone

 

          นอกจาก Drone จะเป็นสินค้าสำหรับการใช้ประโยชน์ในการรังวัด เก็บข้อมูลทางอากาศ และในบางกรณีก็ได้กลายเป็นงานอดิเรกของผู้คนทั่วโลกจนกระทั่งรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศต้องออกมาตรการป้องกันการใช้งาน Drone ในทางที่ผิด เพราะ Drone โดยทั่วไปมีการติดกล้องถ่ายภาพและวิดีโอ ซึ่งทำให้เข้าข่ายการบินละเมิดเข้าไปถ่ายภาพส่วนตัวในบ้านของผู้อื่นหรือในสถานที่หวงห้ามและพื้นที่ความมั่นคงเช่นเขตทหาร แต่อย่างไรก็ตามพัฒนาการของ Drone ก็ยังได้รับการเพิ่มขีดความสามารถ ปัจจุบันต้องยอมรับว่าประเทศจีนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาขีดความสามารถทั้งในเชิงการบิน ขนาด การควบคุมของ Drone ไปจนถึงความล้ำหน้าในการพัฒนาศักยภาพของกล้องบันทึกวิดีโอและภาพที่ใช้งานกับ Drone จนสามารถติดตั้งกล้องที่มีความไวแสงสูงและมีระยะขยายของเลนส์ที่สูงมาก จนสามารถสั่งให้ Drone ที่บินสูงจากระดับพื้นถึงเกือบ 100 เมตรในเวลากลางคืนถ่ายภาพวิดีโอที่มีความชัดเจนและซูมระยะได้ชัดมาก

 

          อุปกรณ์ Drone มิได้หมายความครอบคลุมเฉพาะยานบินไร้คนขับอย่างที่เห็นๆ กันโดยทั่วไป หากแต่ยังหมายถึงยานขับเคลื่อนต่าง ๆ เช่นยานยนต์ติดล้อด้วย อรรถประโยชน์การใช้งานของ Drone ในปัจจุบันมีมากการเรื่องของการเก็บภาพถ่ายทางอากาศ หากแต่ยังรวมไปถึงการสร้าง Drone ที่มีกำลังยกตัวสูง สามารถบรรทุกสิ่งของเช่นพัสดุภัณฑ์หรือสินค้าต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ส่งสินค้าทางอากาศ รูปที่ 17 แสดงให้เห็นถึงผลิตภัณฑ์ Drone ในรูปแบบต่างๆ และวัตถุของการใช้งานซึ่งนำไปสู่การออกแบบให้มีขนาด ระยะเวลาในการใช้งานต่อการประจุแบตเตอรี่ พิสัยการทำการ (ระยะห่างสุดที่ผู้ใช้งานสามารถใช้ Remote Control) สั่งการได้ โหมดการทำงานระหว่างการควบคุมด้วย Remote Control อย่างเดียว หรือการสั่งการโปรแกรมให้บินหรือขับเคลื่อนไปในสถานที่ที่ต้องการ โดย Drone มีการติดตั้ง GPS สำหรับบอกตำแหน่ง ระบบการเดินทางกลับคืนสู่พื้นที่เริ่มต้น ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีผลย้อนกลับมาโดยตรงที่ระดับราคาของ Drone ผลิตภัณฑ์ Drone ทั้งแบบยานบินและยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยล้อของบริษัท Parrot (http://www.parrot.com) ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องเล่นประกอบความบันเทิง Drone แต่ละตัวมีการติดตั้งกล้องบันทึกภาพและสื่อสารกับอปุกรณ์ Smart Phone ด้วยการเชื่อมต่อแบบ Bluetooth หรือ Wi-Fi Direct อายุการใช้งานต่อการประจุพลังงานแต่ละครั้งมีได้ประมาณ 10-20 นาที ซึ่งทำให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และราคาไม่แพง ผลิตภัณฑ์ SkyCatch (http://www.skycatch.com) เป็น Drone สมรรถนะสูง ออกแบบมาให้ใช้กับงานด้านการรังวัด เก็บข้อมูลทางอากาศ สามารถเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ด้านการจัดการข้อมูลทางภูมิประเทศ ใช้ในกิจกรรมการก่อสร้างและสำรวจ ส่วนบริษัท 3D Robotics (http://3dr.com) ผลิต Drone คุณภาพในการใช้งานสูงในระดับเกรดเดียวกับที่องค์การ NASA ของสหรัฐอเมริกาใช้งานเพื่อใช้กิจการสำรวจและเก็บภาพถ่ายทางภูมิประเทศ ซึ่งก็ไม่ขัดหากจะมีผู้สนใจนำไปใช้งานในเชิงบุคคล และการประยุกต์ใช้งาน Drone ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือในการแสดงละครสัตว์ Cirque de Soleil ช่วงหนึ่งอันเป็นการแสดงมายากลบังคับให้วัตถุสิ่งของลอยได้ก็มีการออกแบบ Drone ลักษณะพิเศษที่มีความเงียบของมอเตอร์ที่ใช้ในการบิน แล้วซ่อนไว้ในวัตถุสิ่งของ พร้อมกับใช้การควบคุมผ่าน Remote Control ทำให้การแสดงสมจริง

 

 

Parrot
Drone เพื่อการใช้งานบันเทิง

 

 

SkyCatch
Drone เพื่อการบันทึกข้อมูลทางอากาศ

 

 

3D Robotics
Drone เพื่อการสำรวจและเก็บภาพถ่ายภูมิประเทศ

 

 

Cirque du Soleil
การแฝงใช้งาน Drone แสดงมายากลเพื่อให้ของบินได้

 

รูปที่ 17 Drone ในรูปแบบต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

 

          การใช้งาน Drone ประเภทยานบินเพื่อทำหน้าที่ส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการประเภท e-Commerce อย่าง Amazon ริเริ่มดำเนินการ หากแต่ว่าในเวลาต่อมาก็ได้รับการสั่งห้ามจากกรมการบินของประเทศสหรัฐอเมริกาให้หยุดดำเนินการ ทั้งนี้เนื่องจากความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย หาก Drone ไม่สามารถบินได้ตามโปรแกรมที่กำหนดไว้โดยอัตโนมัติ แม้ Drone ที่ Amazon ใช้งานจะมีคุณภาพสูง มีการติดตั้งอุปกรณ์ GPS พร้อมกับการโปรแกรมให้ Drone สามารถบินไปยังที่หมายที่กำหนดและบินกลับมายังศูนย์ส่งสินค้าได้ Drone มีกำลังขับเคลื่อนที่สูงสามารถบินบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักเดินทางไปได้ อีกทั้งยังมีแบตเตอรี่ที่มีความจุสูงเพียงพอสำหรับการเดินทางไปกลับต่อการขนส่งแต่ละครั้ง แต่ยังมีความเสี่ยงหาก Drone เกิดการทำงานที่ผิดพลาดและตกหรือชนกับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยี Drone ในปัจจุบันยังไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ ซ้ำร้ายก็คือตัวระบบควบคุมการจราจรทางอากาศเองนั้นก็ยังไม่เก่งถึงขนาดมีการสร้างอัลกอริทึมเพื่อให้วัตถุบินได้ต่าง ๆ ทั้งเครื่องบินโดยสาร เครื่องบินขนาดเล็ก เครื่องบินขนส่งสินค้า เฮลิคอปเตอร์ เครื่องร่อน รวมถึง Drone สามารถกำหนดเส้นทางหลบหลีกกันได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Amazon จำเป็นต้องหยุดบริการ Drone ขนส่งสินค้าในชื่อ Amazon PrimeAir ลง

 

 

Amazon PrimeAir
กับการใช้งาน Drone เพื่อการส่งสินค้าของ Amazon
ซึ่งปัจจุบันถูกสั่งไม่ให้บินโดยทางการของสหรัฐอเมริกา

 

 

Alibaba
กับความสำเร็จในการทดลองใช้งาน Drone เพื่อบินส่งสินค้าประเภทชากาแฟ
รอบ ๆ ศูนย์จัดส่งสินค้าในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางเจา

 

รูปที่ 18 การใช้งาน Drone เพื่อการส่งสินค้าไปสู่ผู้บริโภค

 

          ในขณะเดียวกับที่บริษัท Alibaba ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้าน e-Commerce ของประเทศจีนที่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ที่สุดในตลาดโลก กลับเริ่มโครงการนำร่องใช้ Drone ที่มีศักยภาพในการบินสูงในการส่งสินค้าไปให้ผู้บริโภคของตน โดย Alibaba ป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุโดยจำกัดสินค้าที่ให้ทำการส่งเฉพาะชาและกาแฟ ซึ่งเป็นสินค้าน้ำหนักเบา อีกทั้งยังจำกัดพื้นที่ในการขนส่งให้อยู่เฉพาะรอบ ๆ ศูนย์จัดส่งสินค้าของตนใน 3 เมืองใหญ่ของประเทศจีน คือ กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางเจา แน่นอนว่าหากมีการเชื่อมต่อ Drone ประสิทธิภาพในการบินสูงเข้ากับเครือข่ายบริหารจัดการการจราจรทางอากาศที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติและรับประกันความปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุโดยมีเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบ IoT ที่มีเครือข่าย Cloud และระบบบริหารจัดการข้อมูล Data Analytic สนับสนุนได้ในอนาคต ก็จะทำให้สามารถใช้งาน Drone ในกิจการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

Gimball
Drone ที่สามารถเปลี่ยนทิศทางการบินหากเดินทางไปกระทบกับสิ่งกีดขวาง

 

 

เทคโนโลยี Distributed Flight Array (DFA)
ซึ่งออกแบบให้ Drone สามารถเชื่อมต่อกันเพื่อเพิ่มกำลังและทำภารกิจเดียวกัน

 

 

Juggling Quadcopters
การติดตั้งเซนเซอร์และการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของ Drone
เพื่อตอบโต้กิจกรรมการใช้งานต่าง ๆ เช่น การตีลูกบอลกลับมือนักกีฬา

 

 

Construction Robots
การพัฒนา Drone ให้สามารถบรรทุกและจัดวางสิ่งของเพื่อการก่อสร้าง

 

รูปที่ 19 เทคโนโลยี Drone รุ่นใหม่ ๆ กับการใช้งานที่หลากหลายในชีวิตประจำวัน

 

          แม้จะรอให้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการการบินอัตโนมัติของธุรกิจการเดินทางทางอากาศ และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบ IoT ในอนาคตอันใกล้ แต่ลำพังเทคโนโลยี Drone เองก็ได้รับการขยายขีดความสามารถทั้งในแง่ของระบบจัดการการบินที่ทำให้สามารถยกวัสดุที่มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ รูปลักษณ์การออกแบบและการขับเคลื่อนของ Drone เพื่อสอดรับการใช้งานก็เปลี่ยนไปนอกเหนือจากการจับเคลื่อนด้วยใบพัดและล้อ รูปที่ 19 เป็นตัวอย่างของนวัตกรรม Drone ชนิดใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น Gimball ของบริษัท Flayability (http:://www.flyability.com) เป็น Drone ที่สามารถเปลี่ยนทิศทางการบินเมื่อกระทบกับสิ่งขีดขวางต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยี Distributed Flight Array (DFA) ซึ่งเป็นการออกแบบให้ Drone จำนวนหลาย ๆ ตัวสามารถเชื่อมต่อเข้าด้วยกันและทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกำลังในการยกตัวและปฏิบัติภารกิจเดียวกัน (ข้อมูลเพิ่มเติมติดตามชมจาก Youtube ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=uJ_0T_UnhJI)  

 

          เทคโนโลยี Juggling Quadcopter เป็นการออกแบบเซนเซอร์และการประมวลผลความเร็วสูงให้กับ Drone เพื่อให้สามารถโต้ตอบการดำเนินการที่ต้องการความรวดเร็ว  เช่น การทำตัวเป็นแผ่นสะท้อนลูกบอลที่นักกีฬาโยนมากลับไปให้ (https://www.youtube.com/watch?v=3CR5y8qZf0Y) และพัฒนาการที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือการออกแบบ Drone รุ่นใหม่ให้มีกำลังในการยกของที่หนัก (Construction Robot) เช่น วัสดุก่อสร้างต่าง ๆ มีแบตเตอรี่ที่เบาแต่ให้พลังงานในการใช้งานเป็นเวลานาน ๆ เช่น 1 ชั่วโมง และการออกแบบซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้งานสามารถโปรแกรมและสั่งการควบคุมแบบไร้สาย เพื่อกำหนดภารกิจ โดยมีกล้องที่มีความสามารถในการตรวจรู้ประเภทของสิ่งของและเป้าหมายในการหยิบ บิน และขนส่งวัสดุไปยังปลายทาง เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้ง DFA, Juggling Quadcopter และ Construction Robot กำลังได้รับการพัฒนาและปรับปรุงโดยสถาบันระบบและการควบคุมเชิงพลวัตร (Institute for Dynamic Systems and Control) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของภาควิชาเครื่องกลและกระบวนการทางวิศวกรรม มหาวิทยาลัย ETH Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (http://www.idsc.ethz.ch/research-dandrea.html)

 

 

เทคโนโลยี Distributed Flight Array (DFA)

 

 

เทคโนโลยี Juggling Quadcopter

 

เรื่องราวของเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ยุคใหม่ ทั้ง Smart Home, VR และ AR รวมถึง Drone ก็คงจะจบลงเพียงเท่านี้ บทความในตอนต่อไปอันจะเป็นตอนสุดท้ายของมินิซีรีย์เรื่องนี้จะนำเสนอเรื่องราวของพัฒนาการหุ่นยนต์อัจฉริยะ และกระบวนการรวมถึงแนวทางในการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบ (Prototype) ฮาร์ดแวร์ให้ไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้อย่างก้าวกระโดดให้กับนักพัฒนา พบกันได้ในบทความตอนต่อไปครับ

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด