Product Review

DIR-885L ส่งสัญญาณสุดแรง และ DWA-192 ตัวรับสัญญาณดีเยี่ยม ใช้ดีจนลืมของเก่า

กองบรรณาธิการ

 

 

ไม่ใช่แค่ดีไซน์ที่โดดเด่น แต่ทั้ง DIR-885L ซึ่งเป็นเราเตอร์ และ DWA-192 ที่เป็นไวร์เลสยูเอสบีอะแดปเตอร์ต่างก็มาพร้อมเทคโนโลยีชั้นนำสมัยใหม่ที่จะช่วยให้การใช้งานของคุณ ไม่ว่าจะเล่นเกม ทำงาน ดูวิดีโอสตรีมมิ่งเป็นไปได้ดั่งใจ ไม่มีสะดุดติดขัด!!

 

     หากถามถึงรูปทรงของเราเตอร์ มั่นใจว่าส่วนใหญ่ต้องคิดถึงรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ธรรมดา หน้าตาพื้นๆ แต่ผู้เขียนอยากจะบอกว่าเราเตอร์ที่ผู้อ่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้เป็นเราเตอร์ที่มีการออกแบบที่โดดเด่นมาก ออกแนวสมัยใหม่ในชนิดที่เราเตอร์แบบเก่าไม่มี นอกจากเราเตอร์แล้วในรีวิวนี้ยังมี Wireless AC USB Adapter ร่วมทดสอบด้วย ดังนั้นในรีวิวนี้จึงกล่าวถึงทั้งตัวส่งสัญญาณและตัวรับสัญญาณในคราวเดียว

 

 

          DIR-885L เป็นเราเตอร์ที่มองภายนอกแล้วเหมือนกับยานบินหลุดมาจากภาพยนตร์เรื่องทรานส์ฟอร์เมอร์ยังไงยังงั้น ตัวเครื่องมาพร้อมกับสีแดงเงาดุดัน คาดกลางด้วยแถบสีเงิน ซึ่งเป็นส่วนของไฟแสดงสถานะ ประกอบไปด้วย Power, Internet, Wireless LAN 2.4 GHz และ 5 GHz และยูเอสบี บริเวณด้านหลังเครื่องจะเป็นส่วนของปุ่มและพอร์ตต่างๆ เช่นเดียวกับเราเตอร์ทั่วไป ประกอบด้วย Router/Extender Switch, Reset Hole, WPS Button, Gigabit Ethernet x 5 (สงวนไว้ 1 พอร์ตสำหรับอินเทอร์เน็ต), Power Button และ DC In ส่วนเสาส่งสัญญาณในรุ่นนี้ให้มามากถึง 4 เสา แบ่งเป็น 2 เสาหน้า 2 เสาหลัง ที่สำคัญเลยคือขั้วสัญญาณชุบทองช่วยให้นำสัญญาณได้ดีขึ้น (รูปที่ 1)

 

 

รูปที่ 1 ช่องต่อทางด้านหลังของ DIR-885L

 

          ในเมื่อมีตัวส่งก็ต้องมีตัวรับ ตัวรับสัญญาณที่ผู้เขียนเกริ่นไปตอนต้นก็คือ DWA-192 เครื่องนี้แน่นอนว่าย่อมต้องเป็นมาตรฐานไร้สายแบบใหม่ AC เช่นเดียวกัน โดยมีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 1900 Mbps ซึ่งมาจาก 600 Mbps จากคลื่น 2.4 GHz + 1300 Mbps จากคลื่น 5 GHz ความพิเศษของเครื่องนี้คืออุปกรณ์รับสัญญาณไร้สายแบบพกพา ซึ่งมีดีไซน์แบบทรงกลมคล้ายกับลูกบอล (ถ้าเด็กๆ มาเห็นก็อาจคิดไปว่าเป็น Poke Ball ที่เอาไว้จับโปเกมอนก็เป็นได้) โดยจะใช้ไฟเลี้ยงและรับส่งข้อมูลผ่านทางพอร์ต USB 3.0 ในเครื่องนี้นอกจากพอร์ตยูเอสบีแล้ว จะมีปุ่มเล็กๆ 2 ปุ่ม คือสำหรับเปิด/ปิดไฟ LED และปุ่ม WPS สำหรับเชื่อมต่อเข้ากับเราเตอร์ (รูปที่ 2)

 

 

รูปที่ 2 รับส่งข้อมูลผ่านทางสาย USB 3.0

 

          ก่อนจะว่ากันถึงเรื่องของการทดสอบ ผู้เขียนขอพามาดูฟีเจอร์การทำงานที่น่าสนใจซึ่งมีในเราเตอร์ DIR-885L มองจากดีไซน์ภายนอกโดดเด่นแบบนี้ เดาได้ไม่ยากว่ารุ่นนี้ถูกออกแบบมาให้กับเกมเมอร์ รวมไปถึงผู้ที่ชื่นชอบการดูวิดีโอสตรีมมิ่งเป็นหลัก ดังนั้นตัวเครื่องจึงเน้นความง่ายในการตั้งค่าและฟีเจอร์ที่ไม่ได้ปรับแต่งแบบลงลึก ทว่าจะไปเน้นในเรื่องของความเร็วสูงสุด ความเสถียร การจัดการเส้นทางข้อมูลแทน ซึ่งรุ่นนี้ทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 3150 Mbps จากคลื่นความถี่ 2.4 GHz ที่ 1000 Mbps + คลื่นความถี่ 5 GHz ที่ 2167 Mbps ฟีเจอร์ทางด้านไร้สายที่น่าสนใจคือรุ่นนี้รองรับการทำ Guest Zone ที่จะแบ่งแยกสัญญาณออกมาจากเครือข่ายหลัก เหมาะสำหรับแขกไปใครมา แต่ขอแนะนำว่าให้ใช้คลื่น 2.4 GHz ในการทำ เพราะรองรับทั้งอุปกรณ์เก่าและอุปกรณ์ใหม่ ส่วนทางด้านรูปแบบรหัสความปลอดภัยจะคงเหลือแต่แบบ WPA/WPA2-Personal ซึ่งเป็นรูปแบบการป้องกันการแฮกที่ดีที่สุดในขณะนี้ (รูปที่ 3)

 

 

รูปที่ 3 การตั้งค่า Wireless LAN

 

          นอกจากจะเอาใจในการเล่นเกมและวิดีโอสตรีมมิ่งผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว การเล่นไฟล์มีเดียในเครือข่ายเดียวกันในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ทุกวันนี้ล้วนเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายได้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุดเครื่องเสียงหรือทีวี ดังนั้นระบบ DLNA หรือการแชร์ไฟล์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายเดียวกันจึงมีความสำคัญขึ้นมา DIR-885L รุ่นนี้รองรับการทำ DLNA และแชร์ไฟล์ คราวนี้ขอเพียงนำ NAS หรือ External Hard Drive มาเชื่อมต่อหลังเราเตอร์ แล้วตั้งค่าเปิดการใช้งาน เพียงเท่านี้ก็สามารถเปิดเล่นไฟล์วิดีโอบนทีวี หรือฟังเพลงบนชุดเครื่องเสียงสุดโปรดได้ทันที (รูปที่ 4)

 

 

รูปที่ 4 รองรับการทำ DLNA

 

          ด้านระบบการจัดการข้อมูลจะยังคงใช้รูปแบบเดิมซึ่งเป็นระบบที่ดีลิ้งค์เพิ่งจะพัฒนาขึ้นมา โดยผู้ใช้สามารถกำหนดได้ทั้งอัตราอัปโหลด อัตราดาวน์โหลดสูงสุด รวมไปถึงยังสามารถกำหนดความสำคัญในการรับข้อมูลก่อนใครให้แต่ละเครื่องได้ ซึ่งการกำหนดตรงนี้ก็ไม่ยาก แค่ลากแล้วปล่อยแค่นั้น (รูปที่ 5)

 

 

รูปที่ 5 การจัดการ QoS

 

          คราวนี้ก็มาถึงการทดสอบกันบ้าง หากเป็นการรับสัญญาณแบบปกติด้วยการ์ด Wireless LAN จากบนโน้ตบุ๊กก็ดี พีซีก็ดีคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเกิดว่าต้องการใช้ DWA-192 ในการรับสัญญาณ ผู้ใช้จะต้องทำการ Disable การ์ด Wireless LAN ทั้งหมด เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะใช้ DWA-192 ในการรับสัญญาณไม่ได้ (คือมันจะตีกันนั่นเอง) จากการทดสอบเรื่องการรับ-ส่งสัญญาณก่อนถือว่าได้ผลดีมากกว่าการ์ดไวร์เลสที่ติดมากับเครื่องอยู่เกือบ 40% ถือว่าดีมาก ส่วนสำคัญอาจเพราะมาจากเทคโนโลยี Advance AC SmartBeam ทำให้ระหว่างตัวส่งสัญญาณอย่าง DIR-885L กับตัวรับอย่าง DWA-192 คุยกันได้โดยตรง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น (รูปที่ 6)

 

 

รูปที่ 6

 

          ในเมื่อรับ-ส่งสัญญาณได้ดีก็ไม่ต้องห่วงเรื่องความลื่นไหลในการเล่นเกมหรือเสียอรรถรสเวลาชมวิดีโอสตรีมมิ่งทั้งหลาย ผู้เขียนได้มีโอกาสทดสอบกับการเล่นไฟล์วิดีโอสตรีมมิ่งความละเอียด 4K หรือ Ultra High Definition ซึ่งถือว่ามีความละเอียดภาพมากกว่า Full HD ถึง 4 เท่าด้วยกัน การเล่นไฟล์ประเภทนี้จะต้องมีความเร็วอินเทอร์เน็ตขั้นต่ำ 20 Mbps ขึ้นไป โชคดีที่แพ็กเกจความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ผู้เขียนใช้อยู่มากกว่านิดหน่อยพอดี จึงได้ใช้ทดสอบสักหน่อย ผลคือน่าพอใจมาก แม้ว่าความเร็วจะประมาณ 22 – 27 Mbps แกว่งบ้างนิดหน่อย แต่ก็สามารถรับชมได้ลื่นไหล แสดงว่าตัวเราเตอร์สามารถดึงข้อมูลมาได้อย่างทันท่วงทีแม้ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ใช้จะต่ำไปหน่อยก็ตาม (รูปที่ 7 และ 8)

 

 

รูปที่ 7 ทดสอบเล่นวิดีโอความละเอียด 4K บน YouTube

 

          คือต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ดีไซน์ที่โดดเด่น แต่เป็นการใช้งานและฟีเจอร์ภายในที่สามารถทำให้ผู้ใช้รู้สึกได้ถึงความ “ต่าง” เมื่อเปลี่ยนจากของเดิมมาใช้ของใหม่แบบนี้ ความแรง อำนาจการทะลุทะลวงของสัญญาณดีกว่ากันเยอะมาก แถมความเร็วของสัญญาณก็สูงมาก เหมาะกับคนที่ชอบความแรงและความเสถียรในการจัดการข้อมูลจริงๆ นอกจากนี้ตัวส่งสัญญาณก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะมี AC Router แต่ตัวรับยังเป็นแบบเก่าก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้นผู้อ่านที่สนใจทั้ง DIR-885L และ DWA-192 ก็สามารถไปลองสัมผัสตัวจริงกันได้ที่ตัวแทนจำหน่ายดีลิ้งค์ทั่วประเทศ

 

 

รูปที่ 8 ผลทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตจาก Netflix

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด