News Print

เดลล์เผยผลศึกษานวัตกรรมไอทีและผลลัพธ์ทางธุรกิจขององค์กรในเอเชียแปซิฟิกยังไปได้สวย

 

อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) และผู้จัดการทั่วไป เดลล์ อินโดจีน

 

การศึกษาจัดทำขึ้นโดยบริษัทวิจัยไอดีซี มีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,500 คน จาก 11 ประเทศทั่วโลก เน้นให้เห็นถึงการปรับปรุงธุรกิจที่วัดผลได้เป็นผลจากการนำระบบไอทีที่พร้อมรองรับอนาคตมาใช้ โดยติดตามผล 3 ปีตั้งแต่ปี 2555-2558 ได้จัดให้ 16% ของบริษัททั้งหมดเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นเฉพาะปัจจุบันด้วยการใช้ระบบไอทีดั้งเดิมหรือยังอยู่ในช่วงแรกของการเดินทางสู่เทคโนโลยี ส่วนอีก 32% เป็นองค์กรที่ตระหนักถึงอนาคต โดย 1 ใน 3 ของกลุ่มนี้เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นอนาคต ที่เหลือ 18% เป็นองค์กรผู้สร้างอนาคตซึ่งเป็นองค์กรที่พร้อมรับอนาคตมากที่สุดและเป็นผู้นำการใช้แพลตฟอร์มที่ให้ความคล่องตัว

 

 

          อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) และผู้จัดการทั่วไป เดลล์ อินโดจีน กล่าวว่าดัชนีองค์กรที่พร้อมสำหรับอนาคตชี้ว่าองค์กรที่พร้อมรับอนาคตมากที่สุดสามารถนำระบบโครงสร้างแบบควบรวม (Converged Infrastructure) คลาวด์ โซลูชั่นบิ๊กดาต้า และระบบวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยเพิ่มความคล่องตัว ขยายขีดความสามารถระบบงาน รวมถึงเรื่องสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจได้ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ตามเอกสารไวต์เปเปอร์ได้มีการจับคู่ 4 ขั้นตอนในการเดินทางสู่ความพร้อมสำหรับอนาคต โดยเน้นให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า “องค์กรที่เป็นผู้สร้างอนาคต” ในเอเชียแปซิฟิกมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างเด่นชัด ในขณะที่ “องค์กรที่เน้นเฉพาะปัจจุบัน” มีข้อได้เปรียบน้อยกว่า การให้ความใส่ใจกับขั้นตอนของการเดินทางและนำวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมมาใช้ในบริบทที่ตรงความต้องการสำหรับธุรกิจย่อมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการลงทุนด้านเทคโนโลยี

 

          1. กลยุทธ์บิ๊กดาต้าสร้างข้อมูลธุรกิจเชิงลึก องค์กรธุรกิจต้องมองความเป็นไปในธุรกิจได้ทันท่วงทีในแบบเรียลไทม์เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่ผลสำเร็จทางธุรกิจ ปัจจุบันมีหลายช่องทางและวิธีใหม่ในการเข้าถึงลูกค้า ช่วยให้ทำธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ องค์กรจำนวนมากจึงมองหาโซลูชั่นที่จะมาช่วยเชื่อมโยงแหล่งที่มาของข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อมูลหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน เพื่อให้มีข้อมูลพร้อมใช้อยู่ใกล้เพียงปลายนิ้ว ดัชนีองค์กรที่พร้อมสำหรับอนาคตพบว่าองค์กรที่มุ่งเน้นเฉพาะปัจจุบันไม่มีกลยุทธ์ด้านบิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (BDA) หรือมีแต่น้อยมาก ข้อมูลที่ได้จากบีดีเอแทบไม่ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น องค์กรผู้สร้างอนาคตได้นำกลยุทธ์บีดีเอมาใช้ทั่วทั้งองค์กรและให้ความสนใจผลวิเคราะห์ที่ได้จากข้อมูลบิ๊กดาต้า ส่วนใหญ่ 98% ของผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถเข้าถึงบีดีเอเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญได้ทันทีเมื่อเทียบกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่มุ่งเน้นเฉพาะปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 58% เท่านั้น

 

          2. คลาวด์ช่วยให้การใช้โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรด้านข้อมูลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในไวต์เปเปอร์ยังพบว่าหน่วยงานด้านธุรกิจที่อยู่ในองค์กรที่มุ่งเน้นเฉพาะปัจจุบันไม่สามารถใช้กลยุทธ์ด้านไอทีบนคลาวด์ได้ แต่ใช้ซอฟต์แวร์เชิงการบริการ (SaaS) รวมถึงแพลตฟอร์มเชิงการบริการ (PaaS) และระบบโครงสร้างพื้นฐานเชิงการบริการ (IaaS) เป็นส่วนๆ แทน กลับกันองค์กรผู้สร้างอนาคตกว่า 50% สามารถเก็บรักษาแคตาล็อก รวมถึงตรวจสอบ รักษาความปลอดภัยและควบคุมข้อมูลผ่านคลาวด์ได้ หลายองค์กรพบว่าใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรด้านข้อมูลได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถติดตามการใช้งานจนนำไปสู่การเพิ่มผลิตผลทางธุรกิจและได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นทั่วทั้งองค์กร ตัวอย่างขององค์กร “ผู้สร้างอนาคต” ที่ประสบความสำเร็จในการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรไอทีและข้อมูลได้เต็มประโยชน์ก็คือโรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ ให้บริการดูแลสุขภาพในประเทศไทย โดยมีเครือข่ายด้านการอำนวยความสะดวกและมืออาชีพด้านการดูแลสุขภาพจำนวน 3,000 คนไว้คอยให้บริการ

 

          3. โครงสร้างพื้นฐานแบบควบรวมช่วยให้การใช้สินทรัพย์เต็มประสิทธิภาพ องค์กรหลายแห่งมองว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบผสมผสานเป็นเรื่องที่ซับซ้อน นำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงขึ้น เสียเวลาในการบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบ เมื่อองค์กรขยายตัว เทคโนโลยีใหม่มักทำงานไม่เข้าขากับระบบเดิมที่ใช้อยู่ ต้องอัปเกรดแบบรื้อถอนหรือเปลี่ยนใหม่ ต้องเรียนรู้ระบบใหม่ และระบุช่วงเวลาคืนทุนที่แน่นอนไม่ได้ แต่ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น “ผู้สร้างอนาคต” เน้นให้เห็นถึงประโยชน์หลัก 4 ประการที่องค์กรได้รับจากการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวิร์จ ได้แก่ การใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มขีดความสามารถ พนักงานไอทีทำงานได้ผลิตผลดียิ่งขึ้น รวมถึงเรื่องความคล่องตัวและความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานตามการเปลี่ยนแปลงในตลาด

 

          4. มุมมองเชิงลึกพัฒนาสู่ความพร้อมสำหรับอนาคต การนำเทคโนโลยีล้ำหน้าที่ให้ความพร้อมสำหรับอนาคตมาใช้ช่วยให้ได้รับประโยชน์ทางธุรกิจ องค์กรที่วางโครงสร้างเพื่อให้พร้อมสำหรับอนาคตมากที่สุดก็คือองค์กรที่เป็นผู้สร้างอนาคต ซึ่งจะได้รับประโยชน์มากที่สุดเช่นกัน การนำเทคโนโลยี เช่น คลาวด์ ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบควบรวมและระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้จะทำให้องค์กรทุกขนาดธุรกิจเปลี่ยนไอทีให้กลายเป็นกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจได้ในเชิงรุก ได้รับผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น

           

          เดลล์ยังเผยผลการศึกษาเรื่องคนทำงานแห่งอนาคต (The Future Workforce Study) ที่เดลล์และอินเทลร่วมสนับสนุนการจัดทำ ผลการศึกษาระบุว่าแนวโน้มเทคโนโลยีโลกกำลังเปลี่ยนโฉมสถานที่ทำงานสมัยใหม่ให้การใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีล่าสุดเกิดประสิทธิภาพ เนื่องจากหลายคนมองว่าการทำงานนอกสถานที่เป็นการให้ประโยชน์ทั้งในแง่คุณภาพชีวิตและผลิตผลของงาน เทคโนโลยีแห่งอนาคตจะเป็นเครื่องมือเปลี่ยนโฉมทั้งสำนักงานและคนทำงาน ช่วยในการประสานการทำงานร่วมกัน เช่น Collaborative Tools ต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่ให้นวัตกรรมใหม่ เช่น IoT เทคโนโลยีเสมือนจริงจำพวก VR (Virtual Reality) จะกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสถานที่ทำงานในอนาคตอันใกล้ดังตัวอย่างของ “โครงการแสนสุขสมาร์ทซิตี้” ที่นำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้โดยเริ่มต้นจากการให้บริการผู้สูงอายุผ่านอุปกรณ์ Wearable เพื่อจับการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพังหรือที่นอนติดเตียง หากมีสิ่งผิดปกติก็จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปที่ศูนย์ควบคุม โดยทำงานประสานร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อเข้ามาดูแลได้ในทันที ซึ่งเดลล์ได้ทำเรื่องระบบหลังบ้านทั้งหมด

           

          การวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาส่งผลกระทบอย่างจริงจังต่อคนทำงาน “สถานที่ทำงานกำลังมาถึงจุดเปลี่ยน” คนทำงานปัจจุบันคาดหวังว่านายจ้างจะนำเทคโนโลยีล่าสุดเหล่านี้มาผสานรวมเข้ากับชีวิตการทำงานได้อย่างลื่นไหลและให้ความปลอดภัย นายจ้างได้รับประสบการณ์ตรงโดยพบว่าเทคโนโลยีใหม่ช่วยให้งานดีขึ้นเมื่อนำนำความก้าวหน้าใหม่ๆ เหล่านี้มาเพิ่มประสิทธิผลของงาน เรื่องนี้อาจนับเป็นความกังวลใจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจในการที่จะทำให้บริษัทก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในการเป็นสถานที่ทำงานแห่งอนาคตและสร้างคนทำงานแห่งอนาคตได้

 

 

          “การเป็นผู้นำถือเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะหมายถึงการปรับวิสัยทัศน์ที่มีอยู่ให้เกิดขึ้นจริงในทุกๆ การเปลี่ยนแปลง ความท้าทายของทุกองค์กรคือต้องเข้าใจทิศทางตลาดที่จะมุ่งไป เราจะต้องเป็นผู้นำที่มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ทั้งสององค์กรที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นรูปธรรม ยิ่งถ้าเป็นลูกค้าองค์กรในกลุ่ม Future Creator จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการเป็นผู้นำเพื่อก้าวเข้าสู่ยุค Digital Transformation ได้อย่างแท้จริง” อโณทัยกล่าวสรุป

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด