R&D Show Update

มจธ. เดินหน้าวิจัยเซลล์ต้นแบบ เปิดตัว โครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ (ATK) แห่งแรกของไทย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 

 

               ในการสัมมนา KMUTT Special Seminar on “Regenerative Medicine Opportunities in Thailand and Japan” เพื่อแนะนำ โครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ หรือ Automated Tissue Kulture (ATK) ซึ่งจัดโดยหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบถึงสภาวะปัจจุบันของการนำเซลล์ไปใช้ในการรักษา และข้อกำหนดของการรักษาในประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นการให้ความรู้ในเรื่องรูปแบบของการผลิตเซลล์ และกฎหมายควบคุมการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในประเทศญี่ปุ่น โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ.ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน ภายในงานนอกจากมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการเลี้ยงเซลล์ รายแรกของไทย ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

 

 รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.

 

                รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.กล่าวถึงการจัดตั้ง โครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ หรือ Automated Tissue Kulture (ATK) ว่า เนื่องจากวงการแพทย์ทั่วโลกมีเทคโนโลยีใหม่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการรักษาอย่างไม่หยุดนิ่ง เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) นับเป็นศาสตร์การรักษาใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน โดยการนำเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่มีประสิทธิภาพมาซ่อมแซมอวัยวะที่เสียหายจากโรคภัยหรือสภาวะเสื่อมสภาพตามอายุ เพื่อให้อวัยวะนั้นสามารถทำงานได้เหมือนเดิม เป็น “วิทยาการทางการแพทย์แห่งอนาคต” โดยวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการใช้เซลล์ของผู้ป่วยมาสร้างเนื้อเยื่อเพื่อปลูกถ่ายกลับสู่ผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อกระตุ้น เสริมสร้าง และฟื้นฟูร่างกายด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ แต่องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จได้ คือ คุณภาพและปริมาณของเซลล์ที่จะนำไปรักษา ขณะที่ปัจจุบันการแยกเซลล์และเลี้ยงเซลล์ส่วนใหญ่จะทำโดยนักเทคนิคที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการซึ่งในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถแยกและเลี้ยงเซลล์มนุษย์สำหรับปลูกถ่ายนอกจากนั้นคุณภาพของเซลล์ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเทคนิค ดังนั้น เรื่องของความปลอดภัยและการควบคุมคุณภาพจึงทำได้ยาก เป็นเหตุให้การรักษาตามแนวทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในประเทศยังมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ 

               “ทางคณะทำงานมองว่าการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในการเลี้ยงเซลล์ในประเทศ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากสำหรับการพัฒนาการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตเซลล์และเนื้อเยื่อถูกลง คนไทยก็จะสามารถเข้าถึงการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมได้มากยิ่งขึ้น  โดยโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจาก Professor Masahiro Kino-oka จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า และ บริษัท ชิบูย่า โคเกียว ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในการเลี้ยงเซลล์ และได้รับความร่วมมือจากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช , คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ร่วมวิจัย โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติมูลค่ามากกว่า 44 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะช่วยผลักดันและกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยและธุรกิจทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อมขึ้นในประเทศ รวมทั้งจัดทำข้อกำหนด และมาตรฐานตามข้อกำหนดสากล เพื่อควบคุมการผลิตและคุณภาพของเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยต่อผู้ป่วยในการรักษาโรคต่าง ๆ”

 

 

 

               รศ.ดร.ขวัญชนก กล่าวอีกว่า “การเลี้ยงเซลล์โดยใช้ระบบอัตโนมัติจะทำให้ผู้ป่วยและแพทย์รู้สึกสบายใจในการรักษา เพราะเซลล์ที่ใช้จะได้รับการควบคุมคุณภาพและผลิตด้วยกระบวนการตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้การขยายขนาดการผลิตเซลล์โดยใช้ระบบอัตโนมัติจะทำให้การรักษามีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น และหวังอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะได้เห็นการรักษาโดยใช้เซลล์บำบัดเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคสำหรับผู้ป่วยทุกคน”

 

ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูก คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

                ด้าน ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูก คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยมีความต้องการงานวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นแบบอย่างมาก เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายหรือการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ที่ต้องได้รับการยืนยันจากผลงานวิจัยเสียก่อน เพราะที่ผ่านมาได้มีการนำเซลล์ต้นแบบไปใช้รักษาอย่างไม่ถูกต้องจากภาคเอกชนที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการฉีดเซลล์ต้นแบบจะช่วยทำให้เป็นหนุ่มเป็นสาวและอายุยืนยาวซึ่งเป็นไปไม่ได้ ที่ผ่านมาการใช้เซลล์เหล่านี้เราควบคุมได้เพียงระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถควบคุมได้เหมือนเซลล์ในร่างกาย เพราะการนำเซลล์มาเพาะเลี้ยงภายนอกเมื่อถูกนำไปฉีดกลับเข้าสู่ร่างกาย ๆ ก็จะต่อต้านเซลล์นั้นกลายเป็นเนื้องอกและอาจกลายเป็นเซลล์ชนิดอื่นที่เราไม่ต้องการได้ ฉะนั้นต้องมีการทำงานวิจัยเพื่อให้เกิดความแน่ใจก่อนถึงจะนำมาใช้

                “ขณะนี้ไทยเรามีเพียงการผลิตเซลล์เม็ดเลือดหรือที่เรียกว่าการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน แต่ล่าสุดเริ่มมีการพัฒนาเซลล์ที่เกี่ยวกับเนื้อเยื่อในระบบอื่น ๆ โดยเฉพาะเนื้อเยื่อกระดูก ข้อ และเอ็น แม้ยังอยู่ในงานวิจัยระยะที่ 1 และ 2 จากทั้งหมดที่มีอยู่ 4 ระยะ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีนมีการพัฒนางานวิจัยนี้มาใช้กับผู้ป่วยจริงแล้ว ดังนั้นโครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ที่จัดขึ้น ถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศ เพราะนอกจากที่จะทำให้เกิดความร่วมมือของบุคลากรหลากหลายสายงาน ความร่วมมือจากต่างประเทศที่จะเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วยังก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อที่จะได้พัฒนาการนำเซลล์ต้นแบบมารักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญคือเป็นการยกระดับมาตรฐานการรักษาในประเทศเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยต่อผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ”

 
          ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)

 

                นอกจากนี้ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ยังกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่มีบทบาทในการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย การให้ทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าวเพราะเล็งเห็นว่าการดำเนินการต่อไปทั่วโลกจะเป็นเรื่องของอัตโนมัติ ประกอบกับเรื่องการต่อยอด พัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมไทยถือเป็นบทบาทของ TCELS โดยตรง และเรื่องการเลี้ยงเซลล์และหุ่นยนต์ยังเป็นโครงการที่เราริเริ่ม แต่ประเด็นที่ให้ความสนใจคือ เรื่องของความปลอดภัย และความสำเร็จ เพราะเรื่องของการเลี้ยงเซลล์เป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะตัว ผลที่ออกมาเป็นเรื่องยากมากที่จะให้เกิดความสม่ำเสมอ และให้ได้มาตรฐาน จึงต้องใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยซึ่งต้องป้อนด้วยงานวิจัยเพื่อให้เข้าสู่การผลิตได้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และได้มาตรฐานซึ่งเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมไทยต้องการ เพื่อจะไปเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด