เนื้อหาวันที่ : 2012-02-21 17:25:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6601 views

Fluke 115

หากคุณต้องการมัลติมิเตอร์ที่เล็ก ทนทาน ใช้งานคุ้มค่า นี่อาจคือคำตอบที่คุณกำลังค้นหา

ลาด มากสลุง

          หากคุณต้องการมัลติมิเตอร์ที่เล็ก ทนทาน ใช้งานคุ้มค่า นี่อาจคือคำตอบที่คุณกำลังค้นหา

          มัลติมิเตอร์เครื่องมือวัดพื้นฐานที่คนในสายงานหรือผู้ที่รักงานทางด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีไว้ใช้ประจำตัวกันแทบทุกคน เพราะปริมาณทางฟิสิกส์อย่างพลังงานไฟฟ้านั้นไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การทดสอบปริมาณทางไฟฟ้าจึงต้องอาศัยเครื่องมือวัดทางไฟฟ้าเข้ามาช่วยในการวัดและทดสอบ

สำหรับประเภทของมัลติมิเตอร์นั้นแบ่งแบบง่ายๆ ตามที่เห็นกันในท้องตลาดนั้นจะมีสองแบบใหญ่ๆ คือ มัลติมิเตอร์แบบอะนาลอกและแบบดิจิตอลซึ่งทั้งสองแบบก็มีข้อดีข้อเด่นในการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบและลักษณะงานที่ใช้

          แต่ถ้าหากเรามองมายังตลาดของมัลติมิเตอร์ชนิดดิจิตอลแล้วจะพบว่า มีตัวสินค้าให้เลือกมากมายทั้งงานจากฝั่งตะวันตกหรือของญี่ปุ่นเอง และยังมีงานจากเมืองจีนให้เลือกอีกหลากหลายยี่ห้อ เรียกว่ามีให้เลือกจัดหามาใช้ได้ตามงบประมาณที่มีกันได้อย่างดี

หลายคนอาจมองว่าเราจะซื้อของที่แพงกว่าไปทำไม ในเมื่อของถูกก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน หลายคนคิดเช่นนี้จนบางครั้งอาจละเลยเกี่ยวกับความปลอดภัยและอายุการใช้งานของอุปกรณ์ที่ตัวเองซื้อมาใช้ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายในการใช้งานและเป็นเหตุให้สูญเสียทรัพย์มากขึ้นจากของที่ขาดคุณภาพในการผลิตที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

การพิจารณาซื้อมัลติมิเตอร์โดยทั่วๆ ไป
          การเลือกซื้อเครื่องมือวัดอย่างดิจิตอลมัลติมิเตอร์มาใช้งานนั้น โดยส่วนใหญ่ก็มักจะมีหลักกว้าง ๆ ดังนี้คือ

          - รูปแบบหรือลักษณะงานที่ต้องการใช้งาน ต้องการวัดอะไรบ้าง ต้องการความแม่นยำมากแค่ไหน

          - สภาำพแวดล้อมที่ตัวมัลติมิเตอร์ถูกนำไปใช้งานนั้นเป็นเช่นไร สภาพแวดล้อมปกติหรืออยู่ภายใต้สภาพงานหนักที่ต้องทนทานหรือกันน้ำกันฝุ่นได้

          - ตัวหรือโครงสร้างมัลติมิเตอร์ที่ถูกผลิตภายใต้ความปลอดภัยทางไฟฟ้ากับผู้ใช้งาน

          - ความทนทานทางด้านโครงสร้าง วัสดุการผลิตที่ดีและมีรูปทรงที่ใช้งานได้อย่างสะดวกมีความสวยงามน่าใช้

          - การบริการหลังการขายที่ดี เมื่อเสียมีระบบรับประกันการใช้งานมีศูนย์ซ่อมหรือสอบเทียบที่ได้มาตรฐาน

          จากที่กล่าวมาก็เป็นแนวทางที่เชื่อว่าทุกคนใช้พิจารณาในการเลือกซื้อเครื่องมือวัดทางไฟฟ้ากันอยู่แล้วซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเลือกรุ่น ขีดความสามารถการวัดต่างๆ ให้เหมาะสมกับงานและงบประมาณที่ต้องจ่ายออกไปได้เป็นอย่างดี

แกะกล่อง Fluke 115 
          หากพูดถึงมัลติมิเตอร์ของ Fluke เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเครื่องมือที่ไว้ใจได้ยี่ห้อหนึ่งและเป็นบริษัทที่ทำเครื่องมือวัดในรูปแบบต่างๆ ออกมาตอบสนองงานทางด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างครอบคลุมลักษณะงานต่างๆ ในหลายสาขา

 รูปที่ 1 สายโพรบคุณภาพสูงและคู่มือการใช้งานอย่างละเอียดแถมมาให้พร้อมในชุด

          สำหรับดิจิตอลมัลติมิเตอร์ Fluke รุ่น 115 จัดเป็นมัลติมิเตอร์รุ่นเล็ก ราคาประหยัดเมื่อพิจารณาจากคุณภาพของงานผลิตและฟังก์ชันการวัดที่เรียกได้ว่าครอบคลุมการใช้งานที่ผู้ทำงานทางด้านนี้ที่จำเป็นต้องใช้มาให้ค่อนข้างครบเครื่อง เมื่อลองจับดูจะรู้สึกได้ถึงงานผลิตที่ได้มาตรฐานของมัลติมิเตอร์ที่ดี เนื่องจากโครงสร้างที่ให้ความหนักแน่น ไม่ใช่พลาสติกเกรดถูกๆ ที่ให้ความรู้สึกบอบบาง

          ตัวเครื่องมีเกราะยางสีเหลืองอันเอกลักษณ์ของค่ายนี้หุ้มอยู่บนลำตัว ที่ให้ประโยชน์ในแง่ของการป้องกันการกระทบกระแทก เป็นฉนวนทางไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ช่วยให้จับถือตัวมัลติมิเตอร์ได้ง่ายและถนัดมือในขณะใช้งาน อีกทั้งเป็นสีที่สังเกตได้ง่ายในการหยิบจับใช้งาน  ตัวเครื่องมาพร้อมสายโพรบมาตรฐาน ที่สายวัดมีขนาดใหญ่แข็งแรงจับได้ถนัดมือ จุดต่อสำหรับเสียบสายโพรบให้ความรู้สึกแน่นหนา เสียบได้ง่ายไม่มีอาการหลุดหลวมให้น่ารำคาญ สายโพรบมีความยาวพอที่จะใช้งานสำหรับงานวัดทางไฟฟ้าและทดลองต่างๆ ได้อย่างสะดวก

          ฝาครอบแบตเตอรี่ด้านหลังใช้เป็นขาตั้งได้ สำหรับการวางและทำงานกับตัวมัลติมิเตอร์บนโต๊ะทดลอง  ตำแหน่งการเอียงให้มุมมองสำหรับการอ่านค่าการวัดได้สะดวก สวิตช์เลือกย่านการวัดถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้แม้สวมถุงมือในขณะปฏิบัติงานและสามารถใช้มือข้างเดียวในการเลือกย่านการวัดได้

จอภาพแสดงผล
          จอภาพแสดงผลนับเป็นจุดที่ติดต่อกับผู้ใช้งานมากที่สุดส่วนหนึ่งในการใช้งานดิจิตอลมัลติมิเตอร์  สำหรับจอแสดงผลในรุ่นนี้มีขนาดกำลังเหมาะจัดว่าไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไปนัก สามารถสังเกตผลการวัดทางไฟฟ้าได้ง่าย มีบาร์กราฟที่แสดงสเกลอะนาลอกให้ใช้งาน มีไฟส่องสว่างอ่านผลการวัดในพื้นที่แสงน้อยเป็นแสงสีขาวให้ความสว่างชัดเจน

รูปที่ 2 จอภาพแสดงผลอ่านง่ายมีไฟส่องสว่างสำหรับใช้งานในพื้นที่แสงน้อย

          การแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ ในการวัดทางไฟฟ้าสื่อความหมายได้ชัดเจนมีข้อความแจ้งเตือนเมื่อต้องการวัดในย่านที่ต้องสลับการเสียบสายโพรบให้ถูกต้องกับจุดต่อสายโพรบที่ำกำหนดไว้ นอกจากนี้จอภาพ LCD ยังเป็นจอภาพที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานต่างจาก มัลติมิเตอร์ราคาำไม่แพงมากนักที่มักลดคุณภาพตัวอุปกรณ์ต่างๆ ลงไปตามราคาทำให้อายุการใช้งานสั้นและมีโอกาสเสียได้ง่ายกว่ามาก

ฟังก์ชันในการวัดทางไฟฟ้า

รูปที่ 3 ย่านการวัดที่ครอบคลุมการใช้งานทั่วไป

          หากพูดถึงฟังก์ชันรูปแบบต่างๆ ที่ให้มากับดิจิตอลมัลติมิเตอร์รุ่นนี้เรียกได้ว่า ครบและครอบคลุมสำหรับการใช้งานซ่อมบำรุงและงานทดลองต่างๆ ได้สบายๆ ด้วยย่านการวัดทั้งแรงดันไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ ย่านการวัดแรงดันในระดับมิลลิโวลต์ที่แยกออกมาต่างหาก ที่ทำให้สะดวกในการวัดและอ่านค่าแรงดันไฟฟ้าในปริมาณน้อยๆ ได้ง่ายขึ้น

          สำหรับงานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็ฟังก์ชันการวัดความต้านทาน วัดและทดสอบไดโอดตลอดจนตัวเก็บประจุมาให้ใช้งานด้วย โดยสามารถวัดตัวเก็บประจุค่าน้อยๆ ตั้งแต่ 1 นาโนฟารัดไปจนถึงความจุมากๆ ที่ 9999 ไมโครฟารัด

          ในโหมดการวัดแรงดันและกระแสของไฟฟ้ากระแสสลับสามารถกดปุ่มเพื่อสวิตช์ไปดูความถี่ทางไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ยังมีระบบคงค่าการวัด การวัดค่าสูงสุด-ต่ำสุดและค่าเฉลี่ย เพื่อนำมาวิเคราะห์ซึ่งเหมาะสำหรับการอ่านค่าการวัดที่แรงดันไฟฟ้ามีเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลา

รูปที่ 4 รูเสียบสายโพรบที่แข็งแรง


รูปที่ 5 ฝาปิดแบตเตอรี่ด้านหลังที่สามารถใช้เป็นขาตั้งได้ในตัว

ประสิทธิภาพในการวัด
          ความเร็วในการตอบสนองการวัดถือว่าดีมากๆ ในการทดสอบใช้งานในย่านการวัดตัวเก็บประจุ เทียบกับดิจิตอลมัลติมิเตอร์ทั่วๆ ไปในท้องตลาด ค่าที่อ่านได้จาก Fluke115แสดงผลได้รวดเร็ว ต่างจากดิจิตอลมัลติมิตเตอร์ทั่วๆ ไปที่ต้องใช้ระยะเวลาในการวัด คำนวณ ก่อนนำแสดงผลซึ่งใช้เวลาที่มากกว่า ยิ่งเห็นผลชัดเมื่อใช้วัดค่ากับตัวเก็บประจุที่มีค่าความจุมากๆ

          และที่สำคัญระบบการผลิตที่มีการสอบเทียบที่ได้มาตรฐาน ก็สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานที่ต้องการเครื่องมือวัดทางไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการนำค่าทางไฟฟ้าต่างๆ ที่วัดได้มาวิเคราะห์และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการซ่อมบำรุงหรือการทดลองได้อย่างถูกต้องและตรงจุดมากขึ้น ซึ่งสามารถลดต้นทุนทางด้านเวลาและงบประมาณในการจัดการงานต่างๆ ได้อย่างเห็นผลทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวของการดำเนินงานต่างๆ
 
ความคุ้มค่าในการเลือกใช้งาน
          ถ้าหากมองกันในแง่ของประสิทธิภาพที่ได้เทียบกับราคาหรือความคุ้มค่าในการใช้งานแล้วดิจิตอลมัลติมิเตอร์รุ่นนี้เหมาะมากสำหรับงานซ่อมบำรุงหรืองานทดลองทั่วไป ที่ต้องการดิจิตอลมัลติเตอร์ที่ทนทานและไว้ใจได้และยังให้ประสิทธิภาพการวัดทางไฟฟ้าตลอดจนฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบสนองงานได้ทั้งไฟฟ้ากำลังแรงดันต่ำและงานตรวจซ่อมทางอิเล็กทรอนิกส์

          การใช้งานถือว่าใช้งานได้ง่าย แทบไม่ต้องการการฝึกอบรมเพิ่มเติม การดูแลรักษาไม่ต้องพิถีพิถันมากนัก ทนการตกหล่นหรืออุบัติเหตุในการทำงานได้บ้าง อีกทั้งมีศูนย์บริการที่สามารถส่งซ่อมได้เมื่อจำเป็น และที่สำคัญมาตรฐานการผลิตที่ทำให้ผู้ใช้ปลอดภัยในขณะปฏิบัติงานอย่างแท้จริง เพราะว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่มีคุณภาพนั้น เมื่อมีงบประมาณย่อมจัดหาจัดซื้อได้ แต่ถ้าเสียคนที่มีคุณภาพในการปฏิบัติงานไป การหาใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายใช่มั๊ยล่ะครับ

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมัลติมิเตอร์และเครื่องมือวัดคุณภาพสูงอื่นๆ ได้ที่ บริษัท เมเชอร์โทรนิกซ์ จำกัด เลขที่ 2425/2 ถ.ลาดพร้าว ระหว่างซอย 67/2-69 แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310 โทรศัพท์ 0-2514-1000, 0-2514-1234  โทรสารเบอร์ 0-2514-0001, 0-2514-0003 ทางเว็บไซต์  http://www.measuretronix.com หรือทางอีเมล์ได้ที่ info@measuretronix.com

Meter Tips 
          การระบุว่าสายไฟสายใดภายในบ้านเป็นสายเส้นที่มีไฟ (สายเฟส) หรือสายใดเป็นไม่มีไฟ (สายนิวทรัล) นั้น สามารถใช้อุปกรณ์ง่ายๆ อย่างไขควงวัดไฟทำการตรวจวัดก็จะสามารถทราบได้ทันที แต่ในบางครั้งจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่เราหาไขควงวัดไฟไม่ได้ แต่ถ้าเรามีมัลติมิเตอร์อยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นแบบดิจิตอลหรืออะนาลอกก็ตาม เราก็สามารถใช้มัลติมิเตอร์เหล่านี้ทดสอบได้ง่ายๆ แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัดทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฎิบัติงานเป็นสำคัญก่อนเป็นลำดับแรก

โดยตามปกติเมื่อเรานำสายโพรบของมัลติมิเตอร์ที่ตั้งย่านการวัดไฟฟ้ากระแสสลับ ทำการวัดลงในรูปลั๊กไฟเราจะอ่านค่าได้จากแรงดันไฟกระแสสลับที่ 220-230 โวลต์ ในกรณีนี้เราสามารถบอกได้ว่าจุดที่ทำการวัดปลั๊กไฟตัวนี้มีไฟอยู่ แต่ยังไม่ทราบว่าสายใดเป็นสายมีไฟหรือสายใดเป็นสายไม่มีไฟ เมื่อต้องการทราบให้ทำตามขั้นตอนโดยเคร่งครัดดังนี้

ขณะทำการวัดควรสวมรองเท้ายางหรือยืนอยู่บนวัสดุที่เป็นฉนวนทางไฟฟ้าที่ดี

          - ตั้งย่านการวัดของมัลติมิเตอร์ไปที่ย่านการวัดแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) หรือถ้าตั้งอยู่แล้วตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้ง หากไปตั้งการวัดย่านอื่นที่ผิดจากนี้อาจเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะการตั้งย่านการวัดผิดไปเป็นย่านการวัดกระแสไฟฟ้าที่อาจทำให้มีอันตรายจากไฟฟ้าดูดถึงขั้นเสียชีวิตได้

          - สำหรับมัลติมิเตอร์อะนาลอกควรตั้งย่านการวัดไปที่ย่านสูงสุดที่วัดได้สำหรับไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้ระบุไว้ในมัลิติมิเตอร์เครื่องนั้น

          - นำสายโพรบเส้นใดเส้นหนึ่งตรวจวัดไปที่จุดปลั๊กไฟเหมือนวัดแรงดันไฟปกติ (อย่าลืมจับส่วนที่เป็นฉนวนของสายโพรบขณะทำการตรวจวัด)  ส่วนสายโพรบอีกข้างนั้นให้ใช้มือเปล่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะของปลายสายโพรบ ใช้นิ้วแตะเบาๆ ก็ได้ครับ

          - อ่านค่าที่ได้จากการแสดงผลจากหน้าจอแสดงผลหรือจากเข็มชี้ในกรณีใช้มัลติมิเตอร์แบบอะนาลอก

          เปรียบเทียบแรงดันที่วัดได้จากรูปลั๊กทั้งสองรู ถ้ารูปลั๊กใดทำการวัดแล้วอ่านค่าแรงดันได้มากกว่า สรุปได้ว่ารูปลั๊กนั้นเป็นสายที่มีไฟหรือสายเฟส

          ที่สำคัญอย่าลืมทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยที่สูงสุดเสมอนั่นเองครับ

รูปที่ 6 การทดสอบว่าสายใดเป็นสายมีไฟหรือไม่มีไฟ

รูปที่ 7 รูปลั๊กที่มีแรงดันต่ำจะเป็นสายไม่มีไฟ (สายนิวทรัล)

รูปที่ 8 รูปลั๊กที่มีแรงดันไฟสูงกว่าจะเป็นสายที่มีไฟ (สายเฟส)