เนื้อหาวันที่ : 2011-03-10 10:31:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2893 views

ฟิลด์บัสควบคุมวาล์วมอเตอร์ด้วยมาสเตอร์สเตชั่น

BERNARD CONTROLS เปิดตัวอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของวาล์ว แบบกันระเบิดได้ รวมทั้งระบบควบคุมฟิลด์บัส ที่อาศัยสถานีหลักแบบใหม่

 

BERNARD CONTROLS เปิดตัวอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของวาล์ว แบบกันระเบิดได้ รวมทั้งระบบควบคุมฟิลด์บัส ที่อาศัยสถานีหลักแบบใหม่

หลังจากที่ได้เปลี่ยนชื่อและโลโก้ของบริษัทตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนมิติความเป็นผู้นำระบบควบคุมการทำงานของวาล์ว (actuation) ระดับโลก  ล่าสุด ทางบริษัท BERNARD CONTROLS ก็ได้เปิดตัวอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของวาล์ว (actuator) แบบกันระเบิดได้รุ่นใหม่ รวมทั้งระบบควบคุมฟิลด์บัส (fieldbus) ที่อาศัยสถานีหลักแบบใหม่ออกสู่ท้องตลาด

ระบบดังกล่าวของ BERNARD CONTROLS  ได้รับการออกแบบให้สามารถสั่งการและควบคุมวาล์วต่างๆ จำนวนมากที่ควบคุมด้วยมอเตอร์ได้อย่างง่ายดาย โดยใช้ฟิลด์บัสแบบสถานีหลักหรือมาสเตอร์สเตชั่น (Master Station)   ซึ่งเป็นระบบสมบูรณ์แบบที่ช่วยสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับการติดตั้งระบบ

เมื่อเปรียบเทียบกับการเชื่อมต่อแบบจุดต่อจุดในแบบเดิมแล้ว ระบบฟิลด์บัสจะช่วยให้เราได้ข้อมูลที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้การวางสายในไซท์งานมีประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอีกด้วย ในหลายกรณี สถาปัตยกรรมการควบคุมได้มีการอินทิเกรดสิ่งที่เรียกว่าสถานีหลัก ซึ่งอยู่ระหว่างระบบควบคุมแบบกระจาย (DCS) และตัวควบคุมการทำงานและการปิด-เปิดของวาล์ว

มาสเตอร์สเตชั่น (Master Station) ของ BERNARD CONTROLS มีข้อได้เปรียบใน 3 ด้านหลัก ที่ปกติแล้วจะได้รับความสำคัญในระดับสูงสำหรับวิศวกรประจำสถานี แต่มักถูกละเลยในขั้นตอนการออกแบบของหลายๆ แบรนด์

ความได้เปรียบหรือจุดแข็งของระบบมาสเตอร์สเตชั่นของ  BERNARD CONTROLS มีดังนี้
ความยืดหยุ่นในการทำงาน
ในการจัดการการควบคุมการสื่อสารระหว่างฟิลด์บัส จะมีบัสอยู่สองชนิด คือ ระบบปฎิบัติการแบบปิด (proprietary system) ที่จะบังคับให้ลูกค้าใช้อุปกรณ์ของผู้ผลิตเดียวกัน ในขณะที่ระบบเปิด (open system) จะอนุญาตให้เชื่อมต่อตัวควบคุมการปิด-เปิดของวาล์ว หรือเซนเซอร์ (sensor) หลากหลายยี่ห้อเข้ากับฟิลด์บัสได้

ลูกค้าจึงสามารถเลือกซื้ออุปกรณ์จากบริษัทผู้ผลิตได้อย่างอิสระ ดังนั้นการเลือกระบบเปิดจึงทำให้การติดตั้งสำหรับผู้ใช้มีความยืดหยุ่นมากกว่าและการบริหารสถานีทำได้ง่ายกว่า นั่นเป็นเหตุผลที่บริษัท BERNARD CONTROLS ใช้โปรโตคอลเปิดแบบ PROFIBUS DVP1 สำหรับโซลูชั่นฟิลด์บัสทุกชนิด

ความน่าเชื่อถือ
ระบบฟิลด์บัสส่วนใหญ่จะมีระดับความน่าเชื่อถืออยู่ในเกณฑ์ดีอย่างชัดเจน  กล่าวคือ อัตราความพร้อมใช้งาน (Availability rate) ที่สูงกว่า 99.99% เป็นที่พบโดยทั่วไปในระบบการสื่อสารของฟิลด์บัสที่ใช้ตัวควบคุมลอจิกที่โปรแกรมได้ (PLC) ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับกระบวนการที่ซับซ้อน

ดังนั้นในบางกรณีเราจึงจำเป็นที่จะยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้นโดยใช้ระบบการสื่อสารแบบเครือข่ายคู่ขนานสมบูรณ์แบบ (full redundant communication) ระหว่างสถานีหลักและสถานีลูกข่าย (โดยการเพิ่มสายและอินเตอร์เฟสฟิลด์บัสขึ้นอีกเท่าตัว) อย่างไรก็ตาม อาจจะมีกรณีที่ความต่อเนื่องของสายทั้งคู่อาจโดนรบกวนในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อตัวควบคุมการปิด-เปิดของวาล์วตัวหนึ่งกำลังถูกถอดออกมาจากฟิลด์เพื่อทำการบำรุงรักษา ระบบทั้งหมดจะถูกกระทบเนื่องจากสัญญาณไม่สามารถหมุนเวียนได้อีกต่อไป

ดังนั้น ระบบที่สามารถรับประกันความต่อเนื่องของสาย (line continuity) จึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง มาสเตอร์สเตชั่นของ BERNARD CONTROLS ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับความสามารถดังกล่าวนี้ทั้งหมด ด้วยการผนวกเทคโนโลยี PLC เข้ากับระบบการสื่อสารแบบ full redundancy และการควบคุมความต่อเนื่องของบัส

ประสิทธิภาพ
การสื่อสารแบบดิจิตัลช่วยให้ผู้ใช้สามารถดึงข้อมูลจำนวนมากออกมาจากหน่วยฟิลด์ และยิ่งมีประสิทธิภาพสูงสุดในกรณีมาสเตอร์สเตชั่นของ BERNARD CONTROLS ที่มีความสามารถในการสื่อสารด้วยความเร็วสูง โดยใช้เวลาเพียง 1-3 วินาทีในการสแกนการติดตั้งทั้งระบบ และยังสามารถส่งคำสั่งได้มากมายในขณะเดียวกันสถานีหลัก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ใกล้กับหน่วยฟิลด์ เป็นจุดที่จะเข้าถึงข้อมูล MOV ที่ดีสำหรับวิศวกรฝ่ายซ่อมบำรุง

ความพร้อมของข้อมูล อาทิเช่น กราฟแสดงทอร์กของวาล์ว (valve torque curve) จำนวนการเดินทาง เวลาในการทำงาน (running time) ล็อกของสัญญาณเตือน (log of alarms) สถานะของการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องมือ ล้วนแล้วมีประโยชน์ในการบริหารจัดการการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน และยังช่วยลดช่วงการหยุดชะงักของกระบวนการ และเพิ่มช่วงเวลาความพร้อมใช้งานของโรงงานในท้ายที่สุด