เนื้อหาวันที่ : 2016-07-25 18:37:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3827 views

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

 

จากบทความฉบับที่แล้ว ในเรื่องของการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Transportation) แม้ว่าจะเป็นที่ได้รับความนิยม แต่ใช่ว่าจะเหมาะสมกับการขนส่งสินค้าในทุกประเภท ซึ่งจุดอ่อนของการขนส่งสินค้าทางอากาศคือ ไม่สามารถทำการบริการแบบ Door to Door ได้ การขนส่งสินค้าทางอากาศยังคงต้องเชื่อมโยงกับการขนส่งสินค้าในรูปแบบอื่น ๆ หลายรูปแบบ และมีความต่อเนื่องของการขนส่ง (Multimodal Transport/MT) จนสินค้านั้นถึงจุดหมายปลายทาง

 

          การขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ เป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าด้วยวิธีการผสมผสานการขนส่งหลายรูปแบบจากสถานที่หนึ่ง หรือจากผู้ส่งสินค้าต้นทางไปสู่สถานหนึ่ง หรือต่อเนื่องไปจนถึงสถานที่ หรือผู้รับสินค้าปลายทาง โดยการส่งมอบนั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการขนส่งรายเดียว หรือภายใต้สัญญาขนส่งเพียงฉบับเดียว เป็นลักษณะการขนส่ง ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค หรือการขนส่งระหว่างประเทศ โดยการผสมผสานการขนส่งสินค้า จากที่หนึ่งที่ใด (One Point) หรือจากประเทศหนึ่งประเทศใด ไปสู่อีกที่หนึ่ง หรืออีกประเทศหนึ่งซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่เป็นจุดพบสุดท้าย (Interface Final Point) โดยใช้รูปแบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป ภายใต้การบริหารจัดการของผู้ขนส่งรายเดียว และมีสัญญาขนส่งฉบับเดียว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระยะเวลาของการขนส่ง (Just In Time) ลดต้นทุน (Reduce Transport Cost) เพิ่มประสิทธิภาพให้มีศักยภาพการแข่งขัน (Core Competitiveness) และให้สินค้ามีและความปลอดภัยที่ดีกว่า (More Cargoes Security) หรือเป็นวิธีการขนส่งสินค้าแบบเบ็ดเสร็จที่ครอบคลุมการขนส่งทุกประเภท โดยผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการสนองความต้องการของกระบวนการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Logistics และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ Supply Chain ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของคลังสินค้า ต้นทุนที่เกี่ยวกับการผลิต และการกระจายสินค้า

 

องค์ประกอบของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ มีดังนี้ คือ

 

          1. เป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าหรือเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีลักษณะการขนส่งหลายรูปแบบมาผสมผสานกัน ภายใต้ผู้ให้บริการขนส่งรายเดียว ซึ่งจะต้องรับผิดชอบตั้งแต่สินค้าต้นทางไปถึงผู้รับปลายทาง

 

          2. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพด้านต้นทุน เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางถนน โดยการขนส่งประเภทนี้จะให้ความสำคัญต่อประเภทการขนส่งหลัก ได้แก่ การขนส่งทางรถไฟ หรือการขนส่งทางน้ำ โดยจำกัดระยะทางในการขนส่งทางถนนให้น้อยที่สุด รวมถึงการใช้ในระยะทางสั้น ๆ ในช่วงต้นทางหรือในช่วงการส่งมอบสินค้าปลายทาง

 

          3. จะเป็นลักษณะของการขนส่งที่เรียกว่า Door to Door Delivery คือ การขนส่งจากประตูจนถึงประตู หรือ การขนส่งจากต้นทางไปถึงผู้รับปลายทาง

 

          การขนส่งหลายรูปแบบจะมีลักษณะเป็นการขนส่งที่เน้น Door to Door Delivery เป็นลักษณะการจัดส่งสินค้าที่ต้องมีการขนส่งต่อกันเป็นทอด ๆ หรือ MODE ของการขนส่งต่าง ๆ การขนส่งประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับการขนส่งเชื่อมโยงภูมิภาค หรือการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนั้น การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการขนส่งซึ่งมีการส่งมอบจากสินค้าต้นทาง จนกระทั่งสินค้าได้มีการส่งมอบให้กับผู้รับปลายทาง บางครั้งจึงเรียกการขนส่งแบบนี้ว่า Origin to Origin ซึ่งโลจิสติกส์ให้ความสำคัญต่อระยะเวลาการส่งมอบจะต้องเป็นไปตามกำหนดที่ได้มีการตกลงกันที่เรียกว่า Just in Time และระบบโลจิสติกส์ได้กลายเป็น Global Logistics จึงได้นำระบบการส่งมอบที่เป็น Door to Door Delivery มาใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาค และการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกับการขนส่งภายในประเทศ ซึ่งจะมีลักษณะการขนส่งที่เป็นแบบการขนส่งแบบเดียว เช่น จากรถบรรทุกรับสินค้าจากต้นทางก็สามารถส่งไปได้ถึงผู้รับ แต่เนื่องจากรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องใช้บริการขนส่งหลายรูปแบบซึ่งต้องอาศัยโหมดการขนส่งทั้งจากรถบรรทุก รถไฟ และเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางเรือ หรือทางอากาศ จนสินค้าถึงมือ ผู้รับปลายทาง โดยผู้ให้รับบริการการขนส่งทอดแรกนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อตัวสินค้าตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงผู้รับปลายทาง ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องมีทักษะและเครือข่ายเนื่องจากจะมีความซับซ้อน เส้นทางและพาหนะที่ใช้ในการขนส่งแต่ละโหมดโดยต้องเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศุลกากรในแต่ละประเทศ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของเส้นทาง การที่จะต้องเข้าใจในรูปแบบการขนส่งของแต่ละประเทศ การขนส่งแบบ Door to Door Service จำเป็นต้องมีพันธมิตรในต่างประเทศในการรับจัดการขนส่งสินค้าจนไปถึงมือผู้รับปลายทาง จึงต้องมีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและเชื่อมโยงการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในลักษณะการเชื่อมต่อในระหว่างโหมดการขนส่งในหลาย ๆ ทอด จนสินค้าไปจนถึงผู้รับ ซึ่งเจ้าของสินค้าจะต้องสามารถที่จะติดตามสถานะของสินค้าในระหว่างการขนส่ง ซึ่งจะต้องนำระบบการติดตามที่เรียกว่า Trace and Track เพื่อให้ทั้งลูกค้าต้นทางและปลายทางสามารถติดตามสถานะสินค้าโดยผ่านระบบ Internet

 

          การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ จะปรากฏอยู่ในเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศที่เรียกว่า “Incoterm 2000” เช่น CPT, CIP, DDU และ DDP เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการมอบความรับผิดชอบให้ผู้ขนส่งที่เรียกว่า “Carriage” ซึ่งโดยทางปฏิบัติจะมีการทำหน้าที่ในการเชื่อมวิธีการขนส่งของที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน เพราะว่าโดยธรรมชาติของการขนส่งของระหว่างประเทศแล้ว จำต้องใช้รูปแบบการขนส่งอย่างน้อยสองรูปแบบขึ้นไปเชื่อมต่อกัน เช่น เรือเชื่อมกับรถ ซึ่งตามสภาพความเป็นจริงไม่มีรูปแบบการขนส่งใดที่จะมีศักยภาพในการเชื่อมต่อแหล่งกำเนิดของกับแหล่งความต้องการบริโภคให้เข้าถึงกันได้โดยไม่ต้องใช้รูปแบบการขนส่งอื่น แหล่งกำเนิดและจุดหมายปลายทางของของมิได้อยู่ริมทะเลหรือท่าเรือเสมอไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการขนส่งอื่นเพื่อขนส่งของเข้ามาเชื่อมต่อ เช่น ทางบกเชื่อมต่อจากท่าเรือ เพื่อให้ของเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้รับภายในประเทศ การเชื่อมต่อรูปแบบการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการเชื่อมต่อเส้นทางเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเชื่อมการประสานงานด้านการจัดการขนส่ง การควบคุมของความรับผิด ตลอดจนการเชื่อมต่อระบบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยอาศัยลักษณะเด่นของแต่ละรูปแบบการขนส่งที่รวมเข้าด้วยกัน การเชื่อมต่อรูปแบบการขนส่งก่อให้เกิดระบบการทำงานที่เป็นระเบียบและเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

 

รูปแบบของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

 

สาระสำคัญของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ คือ

 

          1. เป็นการขนส่งสินค้าที่ใช้การขนส่งตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไป และจะเป็นการขนส่งต่อเนื่องระหว่างการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางทะเลหรืออาจเป็นการขนส่งทางทะเลกับการขนส่งทางอากาศ

 

          2. เป็นการขนส่งทั้งในประเทศและหรือระหว่างประเทศ การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาจถูกนำมาใช้กับการขนส่งของทั้งการขนส่งภายในประเทศ (Domestic Multimodal Transport) และการขนส่งของระหว่างประเทศ (International Multimodal Transport) แต่โดยทั่วไปแล้ว การขนส่งของที่จำเป็นต้องใช้รูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปขนส่งของต่อเนื่องกันไป มักเป็นการขนส่งที่มีระยะทางไกล ๆ จึงนิยมนำเอาการขนส่งต่อเนื่องดังกล่าวไปใช้กับการขนส่งของระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

 

          3. เป็นการขนส่งของตามสัญญาฉบับเดียว ในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างประเทศนี้ ผู้ส่งของกับผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเพียงผู้เดียวเป็นผู้รับผิดชอบโดยจะออกเอกสารการขนส่งฉบับเดียวสำหรับการขนส่งของ และมีการคิดอัตราค่าขนส่งเดียวตลอดเส้นทาง (Single Rate) ตลอดจนผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจะเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการขนส่งตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง 

 

 

รูปแบบของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

(http://www.transit-t.com/img/modal_en.gif)

  

          การขนส่งสินค้าภายในประเทศไทยของเราใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก ในขณะที่การขนส่งรูปแบบอื่นไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางราง มีปริมาณการขนส่งสินค้าค่อนข้างน้อย อาจจะกล่าวได้ว่าน้อยเกินไป เพราะการขนส่งทางถนนเป็นรูปแบบการขนส่งที่สามารถเข้าถึงได้ทุกสถานที่ได้ดีกว่าทุกรูปแบบการขนส่ง ไม่มีรางรถไฟ และท่าเรืออยู่ทุกสถานที่รับ-ส่งสินค้า ดังนั้นแม้ว่าจะใช้รูปแบบการขนส่งสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การขนส่งทางถนนก็ต้องเชื่อมต่อกับการขนส่งทางถนนเพื่อให้การขนส่งสินค้าบรรลุตามความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างสมบูรณ์

 

          ภูมิประเทศของไทยเรา สามารถนำการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมาใช้ในการขนส่งสินค้าได้ โดยต้องวางแนวทางของการขนส่งสินค้าในแต่ละภาคให้ชัดเจน อาทิเช่น ภาคเหนือ และภาคอีสานควรเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างทางถนนและทางราง ในขณะที่ภาคใต้ซึ่งมีทรัพยากรน้ำ บริเวณอ่าวไทย ที่พร้อมควรจะเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างทางถนนและทางน้ำ แต่การจะนำการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมาใช้ขนส่งสินค้าภายในประเทศไทยนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการในสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

 

  1. สถานที่ต้นทางและปลายทาง (Terminal) ต้องสร้างสถานีรถไฟและท่าเรือทั้งต้นทางและปลายทาง ให้มีความพร้อมที่จะรับปริมาณสินค้าขนส่ง และต้องเชื่อมโยงกับการขนส่งทางถนนได้อย่างราบรื่น ไม่มีข้อจำกัดในการเชื่อมโยง รวมถึงต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนถ่ายเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งให้พร้อม
  2. ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ต้องได้รับการวางตำแหน่งที่ตั้งและถูกออกแบบให้เข้ากับลักษณะของสินค้าและรูปแบบการขนส่ง
  3. พาหนะในการขนส่ง ทั้งรถไฟและเรือขนส่งสินค้า ต้องได้รับการผลักดันให้มีจำนวนเพียงพอกับปริมาณการขนส่งในแต่ละพื้นที่ และต้องสร้างพาหนะในการขนส่งที่สอดรับการประเภทสินค้าในแต่ละพื้นที่
  4. ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นมากและหลากหลายตั้งแต่สินค้าออกจากแหล่งผลิต หรือคลังสินค้าต้นทาง จนกระทั่งสินค้าถึงปลายทาง ดังนั้นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต้องถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติการตลอดทุกกิจกรรม เพื่อให้สามารถประเมินและติดตามการเคลื่อนย้ายสินค้าได้ตลอดเวลา
  5. เส้นทางการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางรถไฟต้องได้รับการพัฒนาให้พร้อมใช้งาน และความลึกของร่องน้ำต้องได้รับการขุดลอกให้เหมาะกับปริมาณการขนส่งสินค้า ที่สำคัญต้องสร้างความไว้วางใจในการใช้บริการให้เกิดขึ้นให้ได้
  6. ค่าภาระการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่ง ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้สามารถเกิดแรงจูงใจสำหรับผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ
  7. การให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) การให้บริการขนส่งสินค้าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ใช้บริการไม่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องติดต่อกับหลายจุดเพื่อให้เกิดการบริการขึ้น แต่ควรจะมีผู้ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นโดยเป็นผู้ประสานงานกับทุกส่วนกิจกรรมตลอดการเคลื่อนย้ายสินค้า และผู้ใช้บริการสามารถติดต่อกับผู้ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จนี้แล้วสามารถได้รับการสนองตอบความต้องการที่ครบถ้วน

 

          การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบสำหรับขนส่งสินค้าภายในประเทศ น่าจะเป็นหนึ่งในแนวทางในการพัฒนาเพื่อยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศทั้งในมุมมองการเงิน (Financial Perspective) และมุมมองที่ไม่ใช่การเงิน (Non-financial Perspective) แต่ยังคงต้องได้รับพัฒนาอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน จึงจะทำให้การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบสำหรับขนส่งสินค้าภายในประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นรูปแบบการขนส่งหนึ่งที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศ

 

 

การขนส่งสินค้าภายในประเทศด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบ

(http://www.freightmaxad.com/magazine/wp-content/uploads/2011/07/34.jpg)

 

สำหรับพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ก็ได้ผ่านรัฐสภามานานพอควรแล้ว การเตรียมการในการออกเป็นกฎกระทรวงในการที่จะนำมาบังคับใช้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยก็จะเป็นผู้นำในอาเซียนในการที่จะนำกฎหมายนี้มาใช้เป็นประเทศแรก ในการประกาศตัวที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นประโยชน์ที่ประเทศจะได้ก็จะต้องมีการพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการขนส่งจะต้องมีความรับผิดชอบและมีความเข้าใจในเรื่องของการส่งมอบที่เป็น Multimodal Transport ซึ่งผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของคนไทยส่วนใหญ่ ยังไม่มีขีดความสามารถในการให้บริการ และมีความเสียเปรียบเนื่องจากผู้ประกอบการไทยจะขาดเครือข่าย Network ซึ่งภาครัฐเมื่อผลักดันกฎหมายนี้ออกมาแล้วสิ่งที่จะต้องทำเร่งด่วน คือ ต้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ประกอบการของของบริษัทข้ามชาติด้วย มิเช่นนั้น พ.ร.บ. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่มีเนื้อความที่สวยหรู ก็คงจะไม่สัมฤทธิ์ผล หากมองอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นคำถามที่ว่า “เรามาถึงไหนกันแล้ว”

 

 

เอกสารอ้างอิง
http://3.bp.blogspot.com/-YXrY7Kdk5Hc/Uud-YGUBKII/AAAAAAAAAus/3RmacLRwkZY/s1600/multimodal-transport.PNG
http://image.slidesharecdn.com/multimodaltransport3miridomemichellepedro-140828212937-phpapp01/95/multimodal-transport-5-638.jpg?cb=1409261534
http://www.freightmaxad.com/magazine/?p=1896
http://www.freightmaxad.com/magazine/wp-content/uploads/2011/07/34.jpg
http://www.htl.vn/upload/images/en/Services/thumb/Multimodal-E.jpg
http://www.kyokurei.com/english/service/images/sv_7_1.png)
http://www.tanitsorat.com/view.php?id=52
http://www.transit-t.com/img/modal_en.gif

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด