เนื้อหาวันที่ : 2016-07-21 16:26:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2701 views

ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการตรวจสอบ สำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

 

ปัจจัยที่ทำให้ฟิลิปปินส์หลุดพ้นจากสเปนกลับไม่ใช่ขบวนการภายในประเทศ หากแต่เป็นการเข้ามาของ สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 โดยสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับสเปนในคิวบา และเมื่อสหรัฐฯ ชนะ อาณานิคมของสเปนจึงตกเป็นของอเมริกาด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ฟิลิปปินส์จึงรับ “ส้มหล่น” สามารถขับไล่สเปนออกไปได้ แต่แอกอันใหม่ที่มาใส่ คือ แอกอเมริกัน

 

 

          ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายเรื่องนะครับ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พรรคประชาชนปฏิวัติลาว (Laos People’s Revolution Party) พรรครัฐบาลพรรคเดียวที่ปกครอง สปป.ลาว  มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 ได้เลือก พันเอกบุนยัง วอละจิด เป็นเลขาธิการพรรครับไม้อำนาจต่อจากพลโทจูมมะลี ไชยะสอน 

 

 

พันเอกบุนยัง วอะจิด (ซ้าย) เลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาวคนล่าสุด และ พลโทจูมมะลี ไชยะสอน ผู้ซึ่งเพิ่งลงจากตำแหน่งดังกล่าวไป (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

          ตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์นับว่ามีความหมายมาก เนื่องจาก ตำแหน่งนี้คือผู้กุมอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ส่วนพลโทจูมมะลี ขยับขึ้นไปเป็นประธานประเทศแทน นายคำไต สีพันดอน

 

          ขณะที่เมื่อปลายเดือนมีนาคม สหภาพเมียนมา เพิ่งได้ประธานาธิบดีที่เป็นพลเรือนในรอบ 50 ปี หลังจากที่พรรค National League for Democracy (NLD) ของ นางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย

 

          นางซูจีไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ ทำให้ นายทีนจอ (Htin Kyaw) เพื่อนสนิทของนางซูจีขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก พลเอกเต็ง เส่ง

 

          โปรไฟล์ของนางทีนจอนับว่าน่าสนใจมาก พื้นเพของเขาเกิดที่ย่างกุ้ง เป็นบุตร นายมิน ทู หวุ่น (Min Thu Wun) กวีปัญญาชน...ทีนจอ สำเร็จการศึกษาชั้นสูงทางด้านเศรษฐศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมียนมา และเป็นโปรแกรมเมอร์ยุคแรก ๆ อีกด้วย

 

 

นางอองซาน ซูจี และ นายทีน จอ สองผู้นำจากฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้รับเลือกตั้งให้ขึ้นมาบริหารประเทศเมียนมายุคประชาธิปไตย

(ภาพจาก http://static.dnaindia.com/)

 

 

          นอกจากนี้ ทีนจอ เคยรับราชการในรัฐบาลเผด็จการทหาร ผ่านงานสำคัญ ๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการคลัง

 

          ในปี ค.ศ.2000 เขาถูกจับในฐานะนักโทษการเมือง ข้อหาพยายามช่วยนางซูจีหลบหนีจากการกักบริเวณ

 

          วันนี้ ทีนจอ กลายเป็นผู้นำสูงสุดของเมียนมาไปแล้ว เขากลายเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในรอบ 50 ปี หลังจากที่กองทัพแทรกแซงการปกครองประเทศมาตั้งแต่สมัย นายพลเน วิน ยึดอำนาจเมื่อปี ค.ศ.1962

 

          ขยับกลับไปที่ฟิลิปปินส์บ้างครับ ปีนี้ฟิลิปปินส์กำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ หลังจากที่รัฐบาลของ นายเบนิกโญ่ อาควิโน่ เดอะเทิร์ด (Benigno Aquino III) หรือ “นอย นอย” หมดวาระลง

 

          การเลือกตั้งครั้งนี้มีตัวเต็ง 3 คน คือ นายมานูเอล โรฆาส ที่สอง (Manuel Roxas II) หรือ Mar ซึ่งเป็นเพื่อนของนอย นอย...Mar นับเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่มีโปรไฟล์ดูดีมีชาติตระกูล การศึกษาสูง เขาเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา เคยทำงานในภาคการเงินในนิวยอร์ก

 

          ครอบครัวโรฆาส เป็นตระกูลการเมืองใหญ่ในฟิลิปปินส์ คุณพ่อของ Mar เป็นวุฒิสมาชิก ส่วนคุณปู่ของเขา Manuel Roxas เป็นอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 5 (เป็นคนแรกหลังได้รับเอกราชแล้ว)

 

          Mar ถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนชั้นนำ (Elite) ที่มีความพร้อมมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เขาดูเข้าถึงได้ยากสำหรับกลุ่มชาวบ้านทั่วไป

 

          ตัวเต็งคนที่สอง คือ นางเกรซ โพล (Grace Pole) วุฒิสมาชิกหญิง ลูกสาวบุญธรรมของอภิมหาดาราซูเปอร์สตาร์ของฟิลิปปินส์ เฟอร์นานโด โพล หรือ FPJ (Fernando Pole)

 

          เกรซ โพล เป็นนักการเมืองหญิงที่มีเสน่ห์ เฉลียวฉลาดไม่แพ้ผู้นำหญิงที่ผ่านมา อย่าง นางคอราซอน อาควิโน่ หรือ นางกลอเรีย อาร์โรโย่ ด้วยเหตุนี้โพลจึงเป็นอีกแคนดิเดทหนึ่งที่น่าจับตามอง มีฐานการเมืองเหนียวแน่นจากแฟนภาพยนตร์ของพ่อ

 

          สำหรับตัวเต็งคนสุดท้าย คือ นายเจโจมาร์ ปิเนย์ (Jejomar Binay) นักการเมืองวัยดึก มีความเจนจัดทางการเมืองสูง ปิเนย์เป็นนักการเมืองที่มีวาทศิลป์คมคาย เข้าถึงผู้คนรอบข้างได้ง่าย เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครมากาติ (Metro Makati) ซึ่งเป็นที่ตั้งของย่านการเงินของฟิลิปปินส์

 

          อย่างไรก็ดี ปิเนย์ มีชื่อเสียงไปในทางลบ โดยเฉพาะภาพลักษณ์การเป็นนักการเมืองโบราณ น้ำเน่า มีปัญหาพัวพันกับเรื่องคอร์รัปชั่นเสมอ

 

          ทั้งสามคนนี้ คือ แคนดิเดทสำคัญที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศฟิลิปปินส์คนต่อไป

 

 

สามแคนดิเดทตัวเต็งตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ปี 2016

นายโรฮาส (ซ้ายสุด) นายปิเนย์ และ นางโพล

(ภาพจาก http://media.philstar.com/)

 

          อัพเดตสถานการณ์รอบอาเซียนมาพอสมควร ขอวกกลับเข้ามาสู่ประวัติศาสตร์การเมืองเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์กันต่อ ในตอนนี้ จะกล่าวถึง บทบาทสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาปกครองฟิลิปปินส์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ครับ

 

ฟิลิปปินส์...ก้าวย่างด้วยความมั่นใจ เดินไปด้วยความมั่นคง: ยุคอเมริกัน

 

          การต่อสู้เรียกร้องเอกราชฟิลิปปินส์เป็นการต่อสู้ที่ยาวนานและมีต้นทุนสูงมาก นักสู้จำนวนมากจบชีวิตจากการถูกปราบปรามในข้อหากบฏ พวกเขาไม่มีกองกำลังเพียงพอ ขาดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ไม่สามารถต่อสู้กับสเปนเจ้าอาณานิคมได้

 

          แต่จนแล้วจนรอด ฟิลิปปินส์หลุดจากแอกสเปนด้วยเหตุผลจากสงครามภายนอกประเทศระหว่าง สหรัฐอเมริกาและสเปน (Spanish-American War)

 

          ปัญหาแย่งชิงผลประโยชน์ในคิวบาระหว่างสเปนเจ้าอาณานิคมเดิมกับสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาใหม่ ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องต่อสู้ห้ำหั่นกัน

 

          แรกเริ่มเดิมที กลุ่มกบฏชาวพื้นเมืองคิวบาต้องการเรียกร้องเอกราชจากสเปนจึงลุกขึ้นสู้ แต่เมื่อสเปนปราบปรามกบฏกลับไปกระทบผลประโยชน์ของสหรัฐเข้าด้วย

 

          ท้ายที่สุด เมื่อเรือรบเมนของสหรัฐถูกโจมตีจากกองเรือสเปน ทำให้สหรัฐรีบกระโจนเข้าสู่สงครามโดยทันที

 

          สงครามสหรัฐกับสเปน ไม่ได้เกิดแค่ในคิวบา ทะลแคริบเบียน เพียงที่เดียวนะครับ เพราะสหรัฐสบโอกาสเปิดศึกกับสเปนที่ฟิลิปปินส์ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย

 

          กองเรือสหรัฐเข้าโจมตีมะนิลาและทำลายกองเรือสเปนได้ทั้งหมด ช่วงเวลานั้น นายพลเอมิลิโอ อากินัลโด (Emilio Aguinaldo) ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการชาตินิยมกู้ชาติฟิลิปปินส์ที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ได้ช่วยเหลือกองทัพสหรัฐฯ จนได้รับชัยชนะ

 

          สหรัฐอเมริกาสัญญาว่าจะให้ฟิลิปปินส์ปกครองตนเอง

 

          อย่างไรก็ดี กลับกลายเป็นว่าเมื่อสเปนถอนกำลังออกไป สหรัฐแสดงตัวเป็นเจ้าอาณานิคมใหม่แทนที่สเปน

 

 

Battle of Manila Bay ภาพวาดการรบทางเรือระหว่างกองทัพสเปนและอเมริกันในอ่าวมะนิลา (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

          สหรัฐปกครองฟิลิปปินส์ตาม สนธิสัญญาปารีส ค.ศ.1898 (Paris Treaty) เหตุผลที่สหรัฐยึดครองฟิลิปปินส์เพราะต้องการใช้เกาะนี้เป็นฐานทางการค้า คมนาคม เพื่อขยายฐานอำนาจสู่เอเชียตะวันออก

 

          การปกครองของรัฐบาลอเมริกันในฟิลิปปินส์ เริ่มด้วยการปฏิรูปที่ดิน จัดสรรที่ดินให้กับประชาชน เน้นการสร้างระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง วางระบบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยสากล

 

          นอกจากนี้รัฐบาลยังมอบสิทธิเสรีภาพแก่ชาวพื้นเมือง ชาวปินอยสามารถเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ 6 ปี มีการตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐมากขึ้น

 

          การปกครองโดยเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทำให้ฟิลิปปินส์ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

 

          การพัฒนาเศรษฐกิจมีทิศทางชัดเจนมากขึ้น มีการปรับปรุงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า โดยฟิลิปปินส์ต้องส่งผลผลิตทางการเกษตรไปยังสหรัฐประเทศเดียว

 

          ยุคสมัยอเมริกันในฟิลิปปินส์เริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 20 ฟิลิปปินส์กลายเป็น “เครือจักรภพของสหรัฐอเมริกา”

 

          อย่างไรก็ดี ก่อนที่ฟิลิปปินส์จะได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพากลับเป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ชะลอการได้รับเอกราชของฟิลิปปินส์ออกไป

 

          กองทัพญี่ปุ่นบุกยึดมะนิลาละสร้างความเสียหายให้กับฟิลิปปินส์อย่างมาก ในช่วงนั้นเองจึงเกิด ขบวนการชาตินิยมขึ้นมาอีกครั้ง

 

          ขบวนการชาตินิยมนี้เรียกตัวเองว่า Hukbalahap หรือ ขบวนการฮุค พวกเขารวมตัวกันอยู่บริเวณตอนกลางของเกาะลูซอน ต่อต้านการยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น

 

 

ธงสัญลักษณ์ของ ขบวนการฮุค หรือ Hukbalahap ขบวนการชาตินิยมใหม่ที่ถือกำเนิดในช่วงที่ญี่ปุ่นรุกรานฟิลิปปินส์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

(ภาพจาก http://1900.ethnia.org/)

  

          ขบวนการฮุคต่อสู้กับกองทหารญี่ปุ่นแบบกองโจร ต่อมาพวกเขาเข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ บวกความช่วยเหลือจากกองทัพสหรัฐ

 

          ท้ายที่สุด เมื่อหลายแรงแข็งขัน ทำให้กองทัพสหรัฐกลับมายึดฟิลิปปินส์คืนจากญี่ปุ่น และญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามเมื่อสิงหาคม ค.ศ.1945

 

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิลิปปินส์จึงได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ นำรัฐธรรมนูญตนเองมาเป็นต้นแบบในการร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ฟิลิปปินส์

 

 

นายมานูเอล โรฆาส ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของฟิลิปปินส์ และนับเป็นผู้นำคนแรกหลังจากที่ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราช (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

 

          นายมานูเอล เอ โรฆาส (Manuel A. Roxas) ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรก หลังจากได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1946

 

          น่าสังเกตว่า สหรัฐมอบเอกราชให้ฟิลิปปินส์ในวันเดียวกับวันชาติอเมริกัน

 

          นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1946 เป็นต้นมา ประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตลอดระยะเวลา 70 ปี พวกเขามีผู้นำประเทศที่ถูกจดจำในฐานะตำนานคนดีอย่าง นายรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay) และผู้นำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการทรราชย์อย่างนายเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส (Ferdinand Marcos)

 

          เรื่องราวฟิลิปปินส์จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ...ติดตามได้ตอนต่อไปครับ 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด