เนื้อหาวันที่ : 2016-05-23 13:37:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2037 views

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

 

 

 

 

คำว่า “ต่างมุม” มักมองในทางขัดแย้งหรือคิดต่างกัน แต่มักมีคำที่เสริมอีกเพื่อให้เกิดความปรองดอง นั่นคือ คิดต่าง แต่เป้าหมายเดียวกัน การทำงานในองค์กรนั้นพนักงานทุกคนล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการสรรหาในระดับที่ดี จึงมักจะมีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรมที่ดี มีจิตใจที่พร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับองค์กร แต่ปัญหาก็มักจะตามมากับคนหมู่มาก นั่นคือมุมมองที่แตกต่างกันไป

 

 

          มุมมองที่แตกต่างกันไปนั้นส่งผลโดยตรงต่อการทำงานและการประเมินผลงาน พนักงานหลายคนเสียกำลังใจเพราะถูกมองในมุมที่ต่างออกไปจากผู้บริหารหรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานด้วยกันก็อาจมองการทำงานในมุมที่ต่างออกไป ซึ่งจริง ๆ แล้วทัศนคติในการทำงานสามารถปรับเป็นแนวทางเดียวกันได้ แม้ว่าวิธีการอาจต่างกันไปบ้างซึ่งก็ไม่แปลกถ้าคิดในทางสร้างสรรค์ก็คือนี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของวิธีการทำงานที่ใครก็เอาไปใช้ได้หรือต่อยอดปรับแต่งนำไปใช้ได้ดีกว่า ปัญหาที่ต้องแก้ไขและปรับแนวคิดหรือมุมมองของพนักงานทุกคนก็คือจะทำอย่างไรให้ดีพอสำหรับการทำงานร่วมกันเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง

 

 

ดีพอเมื่อทำได้ตามมาตรฐาน

 

          การทำงานย่อมต้องมีการประเมินผลงาน เกณฑ์ประเมินผลงานทุกครั้งจึงเป็นตัวช่วยให้คำว่า “ดีพอ” เกิดขึ้น แต่ก็บ่อยครั้งที่คำว่า “ดีแต่แค่พอใช้” เกิดขึ้นเช่นกัน คำว่าดีจึงยังไม่หมายความว่าดีมากน้อยขนาดไหน แต่เป็นคุณภาพงานที่ดีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พนักงานส่วนมากทำงานผ่านเกณฑ์มาตรฐานจึงเป็นพนักงานที่มีคุณภาพการทำงานระดับปกติ เมื่อไรที่พนักงานทำงานได้ต่ำกว่าเกณฑ์ย่อมหมายถึงเกิดปัญหาในการทำงานที่อาจเป็นความสามารถในการทำงานลดลงอันเป็นผลมาจากอาการป่วย ดื่มสุรา มีปัญหาครอบครัว หรืออาจมีปัญหาจากความสามารถในการทำงานที่มีความยากต่างไปจากงานเดิม ๆ ที่เคยทำ ดังนั้นเมื่อไรที่เกิดการประเมินคุณภาพงาน เบื้องต้นต้องปรับพื้นฐานความสามารถของพนักงานให้มีความชัดเจนในเรื่องของตำแหน่งหน้าที่งาน ความต้องการในการเรียนรู้งานเพิ่มเติม นโยบายการพัฒนาบุคลากรและเป้าหมายขององค์กร เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนการทำงาน ความเข้าใจและกำลังในการทำงานของพนักงาน

               

          การนำมาตรฐานหรือเกณฑ์การทำงานมาวัดเพื่อกำหนดระดับคุณภาพงานว่าดีหรือไม่ดีนั้นเป็นมุมมองที่มักจะเกิดปัญหาว่าทำให้ดีแค่ไหนจึงจะเรียกว่าดี หรือดีพอหรือยัง เพราะพนักงานบางคนทำงานอย่างทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ แต่เมื่องานออกมากลับถูกมองว่าทำงานอย่างหนักใช้เวลามากแต่งานออกมาแล้วไม่แตกต่างกับอีกคนที่ทำงานใช้เวลาน้อยกว่า หรือการทำงานบางอย่างต้องใช้คนมากเกินไป ผู้บริหารมักมีความคิดรวมยอดและมองปัญหาอย่างคิดวิเคราะห์ แยกแยะ ว่าอันไหนต้องแก้ก่อน ต้องคิดก่อนทำ เป็นอีกมุมมองที่ต่างไปจากพนักงานที่ยังขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ ผลที่ตามมาคือความน้อยเนื้อต่ำใจเบื่องาน ลาออก ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาทั้งกับงานโดยตรง และภาพลักษณ์ของผู้บริหาร

               

          แนวทางการทำงานและวิธีการที่ชัดเจนและผลการทำงานที่ตั้งเป้าหมายไว้จะสร้างความสุขให้กับพนักงานและผู้บริหาร ดังนั้นถ้ามีการสร้างเสริมทักษะในการทำงาน มีการอบรม ชี้แจงวิธีการทำงานเพื่อให้ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะช่วยลดเวลาสิ้นเปลือง ลดความขัดแย้งทางความคิดการทำงาน และช่วยให้เกิดความสามัคคีในการทำงาน เข้าใจตรงกันทุกเรื่อง งานเดินไปในทิศทางเดียวกัน เพียงเท่านี้ทุกคนก็มองมุมเดียวกันแต่มีมุมมองที่ช่วยแนะนำชี้ทางให้โดยฝ่ายบริหาร ดีกว่าการมองและตำหนิด้วยมุมที่ต่างกันไปกลายเป็นความขัดแย้งมากกว่าการการมีมุมมองที่สร้างสรรค์

 

 

ดีเพื่อให้ดีกว่าไม่ใช่อย่างนี้ดีกว่า

 

          คำว่า “ดีกว่า” เป็นคำที่มีมุมมองต่างกันแต่เป็นทางบวก นั่นคือ ถ้าทำอย่างนี้ดีกว่าหรือไม่ทำอย่างเดิมทำอย่างนี้ดีกว่า แต่ปัญหาจะเกิดเมื่ออีกคนทำอย่างหนึ่งแล้วอีกคนมาบอกให้ทำอีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า “ทำอย่างนี้ดีกว่า” หลายคนทำงานอย่างมีความสุขเพราะมีทีมงานที่คอยช่วยเหลือแนะนำกัน อาจเป็นหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานที่คอยทำงานอย่างระมัดระวัง คอยคิดแก้ไขปรับปรุง งานก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ใครมาทำงานด้วยก็มีความสุข โอกาสในการก้าวหน้าก็มีตลอดเวลาเพราะทำงานดี ศึกษาปัญหางานตลอด ซึ่งจะตรงข้ามกับทีมงานที่ต่างคนต่างทำ คอยตำหนิชิงดีชิงเด่นกันตลอดเวลา ด้วยคำพูดเดียวกันแต่คิดในทางลบหรือมองในมุมที่สร้างสรรค์แต่ขาดเทคนิคในการนำมาพัฒนางาน

 

 

การทำงานร่วมกันเป็นศิลปะในการจูงใจให้ทุกคนนำความสามารถ ความคิดในทางบวกมาผสานกัน ทั้งจากผู้บริหารกับพนักงาน หรือกับพนักงานด้วยกันก็ตาม ความขัดแย้งจะลดลงถ้าทุกคนมองในมุมบวก มองในมุมที่ต่างกันออกไปแต่คิดที่จะสร้างสรรค์งาน เพียงแต่หลายคนอาจลืมนำศิลปะหรือวิธีการที่แยบยลในการโน้มน้าวจิตใจของอีกฝ่ายให้เห็นถึงความหมายที่ต้องการสื่อสาร คำว่าดีพอหรือดีพอหรือยังจึงต้องอาศัยทัศนคติที่ดีต่อกันมาเป็นตัวประสาความคิด พร้อมกันกับความจริงใจที่แสดงออก จึงจะเกิดคำว่า “ดีพอแล้วจริง” ในองค์กร

 

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด