เนื้อหาวันที่ : 2016-01-07 12:10:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3155 views

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

ayasanond@hotmail.com

 

 

“การขนส่งทางอากาศมีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศเพราะทำการขนส่งได้รวดเร็วกว่าการขนส่งประเภทอื่น ๆ ไม่เสียเวลาในการขนส่งนาน สะดวกและปลอดภัย เหมาะกับการขนส่งสินค้าประเภทที่สูญเสียง่าย หรือสินค้าต้องการความรวดเร็วในการใช้งาน ซึ่งการขนส่งประเภทนี้ทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้รวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ แต่ค่าใช้จ่ายแพงกว่าการขนส่งประเภทอื่น

 

 

          การขนส่งสินค้าโดยทางอากาศ (Air Transportation) เป็นการขนส่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ประเทศต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาสนามบินพาณิชย์ให้ทันสมัย เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้มาใช้บริการ บริษัทสร้างเครื่องบินไม่ว่าจะเป็น A-Bus หรือ Boeing ก็มีการสร้างเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และสมรรถภาพในการบินสูง สามารถบรรจุสินค้าและบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น มีเครื่องมือในการขนส่งอันทันสมัยครบครัน นอกจากนี้ยังมีการขยายและปรับปรุงบริเวณคลังสินค้าที่ท่าอากาศยานให้กว้างขวางทันสมัย เพื่อให้การขนส่งสินค้าดำเนินไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว จากผู้ส่งที่เมืองต้นทาง ไปยังเมืองผู้รับปลายทาง

 

          คุณลักษณะที่สำคัญของการขนส่งสินค้าทางอากาศ คือ

 

  1. ความรวดเร็ว
  2. ความแน่นอน โดยมีตารางการบินที่แน่นอน สม่ำเสมอ และตรงต่อเวลา

 

          ผู้ที่มีบทบาทในการขนส่งสินค้าทางอากาศ คือ

 

  1. ผู้ส่งสินค้า หรือ Shipper หมายถึง ผู้ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารกำกับสินค้า หรือ Air Waybill ที่จะทำการ หรือร่วมทำการขนส่งสินค้าภายใต้เงื่อนไขใน Air Waybill
  2. บริษัทการบิน หรือ Carrier หมายถึง บริษัทการบินต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งบริษัทการบินที่ออกเอกสารกำกับสินค้า Air Waybill ที่จะทำการหรือร่วมทำการขนส่งสินค้า ภายใต้เงื่อนไขใน Air Waybill
  3. ผู้รับสินค้า หรือ Consignee หมายถึง ผู้ที่มีนามระบุอยู่ใน Air Waybill ซึ่งบริษัทการบินจะต้องส่งมอบสินค้าให้เมื่อถึงเมืองปลายทางตามที่ระบุไว้
  4. บริษัทตัวแทน หรือ IATA CARGO AGENT หมายถึง บริษัทที่ได้รับรองจากสมาคมการขนส่งทางอากาศ และแต่งตั้งโดยบริษัทการบินให้ดำเนินการรับและออกเอกสารกำกับสินค้า Air Waybill พร้อมทั้งเก็บค่าขนส่งที่เกี่ยวข้องในนามของบริษัทการบิน
  5. ศุลกากร (Customs)

 

          ข้อดีของการขนส่งทางอากาศ คือ

 

  1. ใช้เวลาในการขนส่งน้อย
  2. สินค้าแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะสินค้าประเภทแฟชั่น สามารถส่งไปยังตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกได้ในเวลาที่รวดเร็ว

 

          ข้อเสียของการขนส่งทางอากาศ คือ

 

  1. เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง เพราะมีอัตราค่าขนส่งสินค้าสูงกว่าอัตราค่าขนส่งประเภทอื่น ๆ
  2. การขนส่งขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง หากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย

 

          สมาคมการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Cargo Association: TIACA) ได้ประมาณการณ์ไว้ว่า ในปัจจุบันกว่าร้อยละ 34 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ต้องอาศัยการขนส่งสินค้าทางอากาศ ยิ่งไปกว่านั้นการขนส่งสินค้าทางอากาศยังมีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่ปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศได้ขยายเกือบเท่าตัวในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะประสบกับภาวะตกต่ำในบางช่วงก็ตาม แต่ธุรกิจการบินที่บริการขนส่งสินค้าทางอากาศสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศที่สำคัญมี 6 ประการ คือ

 

  1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาทั้งทางด้านเกษตรเเละอุตสาหกรรมของโลก ได้ก่อให้เกิดประเภทของสินค้าต่าง ๆ หลากหลายขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง แต่มีขนาด ปริมาตร และน้ำหนักไม่มาก ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องอาศัยระบบการขนส่งที่รวดเร็วปลอดภัย เเละมีการดูแลสภาพของสินค้าอย่างดีที่สุด เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องมือเเละอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีมูลค่าสูง อัญมณีเเละเครื่องประดับ
  2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของปริมาณการค้าของโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณเเละประเภทของสินค้าที่ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)
  3. ธุรกิจเเบบครบวงจร เป็นธุรกิจที่ต้องการด้านการขนส่งที่เชื่อถือเเละวางใจได้ เพื่อนำสิ่งต่าง ๆ ที่กิจการต้องการมาให้ในสภาพที่ดีเเละตามกำหนดเวลา เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเก็บเเละบำรุงรักษา การขนส่งสินค้าทางอากาศจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมของธุรกิจนี้
  4. แนวทางการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่เรียกว่า Just-in-Time Concept  แนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นการบริหารสินค้าคงเหลือเเละปริมาณสต็อกสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงานภายใต้วิธีการบริหารจัดการแบบ Just-in-Time Concept นี้ผู้ประกอบการในธุรกิจระหว่างประเภทจะมีสต็อกสินค้าในปริมาณต่ำที่สุดหรือเฉพาะในปริมาณเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่แนวทางการบริหารดังกล่าวจะประสบผลได้ ก็จะต้องอาศัยระบบการจัดส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้ขายเเละสู่ตลาดที่มีความรวดเร็วตรงเวลา ถูกต้อง เเละเเม่นยำ
  5. การผ่อนปรนกฎเเละข้อบังคับของประเทศต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจการบินสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น
  6. นโยบายเปิดเสรีทางการบินพาณิชย์ ทำให้ธุรกิจการบินต่าง ๆ ทั้งขนส่งผู้โดยสารเเละขนส่งสินค้า สามารถขยายบริการไปยังน่านฟ้าประเภทต่าง ๆ ได้เสรีมากขึ้น ธุรกิจการบินจึงหันมาเพิ่มบทบาทในบริการขนส่งสินค้าทางอากาศกันมากขึ้น โดยการจัดตั้งธุรกิจการบินรับส่งสินค้าขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น DHL, FedEX, UPS เป็นต้น
  7. การผลิตเครื่องบินรุ่นใหม่ จะเป็นเครื่องบินที่ได้พัฒนาเเละปรับปรุงให้มีสมรรถนะเเละประสิทธิภาพสูง สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นเเละบินได้ระยะทางที่ไกล ทำให้การส่งสินค้าทางอากาศขยายตัวได้มากขึ้น
  8. ท่าอากาศยาน และระบบพื้นฐานของท่าอากาศยานในปัจจุบัน ที่สร้างหรือปรับปรุงใหม่ล้วนเอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเชื่อมโยงระบบขนส่งทั้งทางรถไฟ รถยนต์ เรือ เเละเครื่องบินเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมีระบบสื่อสารที่ทันสมัยไว้บริการ
  9. น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยสำคัญที่ดำเนินการเเละกำหนดราคาค่าขนส่งถ้าหากปราศจากน้ำมันเชื้อเพลิงก็ไม่สามารถดำเนินงานขนส่งสินค้าทางอากาศ

               

          จะเห็นได้ว่าการขนส่งทางอากาศ (Air Transportation) เป็นอุตสาหกรรมที่มีโซ่อุปทานเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันกับหลายธุรกิจ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry) อันเป็นภาพใหญ่

 

          อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry) เป็นอุตสาหกรรมการบริการประเภทหนึ่ง ที่แสดงถึงศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศชาติในหลากหลายมิติของธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน เช่น อุตสาหกรรมสายการบิน (Airline Business) อุตสาหกรรมการท่าอากาศยาน (Airport Management Service) อุตสาหกรรมการบริการ จราจรทางอากาศ (Air Traffic Control Service) อุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงเครื่องบิน อุตสาหกรรมโภชนาการสายการบิน (Catering Services) และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Industry) ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่อาศัยการคมนาคมทางอากาศ โดยรวมธุรกิจการบินต่าง ๆ ในบริบทการบินเป็นองค์ประกอบหนึ่งของอุตสาหกรรมแห่งชาติที่ทำรายได้ GDP ปีละหลายแสนล้านบาท

 

 

 

รูปที่ 1 ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

(Source: IATA, Oxford Economics/www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)

 

 

          อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ (Air Transportation) เป็นอุตสาหกรรมที่มีโซ่อุปทานเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันกับหลายธุรกิจ ที่ส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ดังสามารถแสดงได้ในรูปที่ 2

 

 

 

 

รูปที่ 2 โซ่อุปทาน และผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมการบิน การขนส่งทางอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคม

(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)

 

 

          ในการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ ใช่ว่าจะไม่มีคู่แข่งขัน อุปสรรคและความท้าทายของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ เกิดขึ้นจากทั้ง Internal Factors และ External Factors โดยเฉพาะ External Factors ที่เกิดจากการเปิดเสรีทางการบิน (Open Sky) การเปิดเสรีการค้าการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ โลจิสติกส์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง การขยายส่วนแบ่งตลาด การแข่งขัน และอำนาจต่อรองของธุรกิจในอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศในภูมิภาคอาเซียน

 

 

 

รูปที่ 3 ความท้าทายต่ออุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคอาเซียน

(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)

 

 

          โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำทั้งขนาดขนาดกลางและใหญ่ (Low Cost Carrier: LCC) จากประเทศในกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในปี 2555 ซึ่งยังไม่รวมถึงสายการบินต้นทุ่นต่ำจากยุโรปและอเมริกา ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นผลมาจากนโยบายการเปิดเสรีทางการบิน (Open Sky)

 

 

รูปที่ 4 การเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุ่นต่ำ

(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)

 

 

 

รูปที่ 5 การขยายตัวของเส้นทางบินในภูมิภาคอาเซียน

(ที่มา: http://image.slidesharecdn.com/sustainabletourismplanninglastlectureapr2015-150422201323-conversion-gate02/95/sustainable-tourism-planning-last-lecture-apr-2015-37-638.jpg?cb=1429733929)

 

 

          แม้ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน การขนส่งทางอากาศ จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่อุตสาหกรรมนี้ก็มีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวในอนาคตที่มีตัวเลขสูงขึ้น รวมทั้งสัดส่วนปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศทั้งในภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และอเมริกา

 

 

รูปที่ 6 แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวในอนาคต

(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)

 

 

 

รูปที่ 7 สัดส่วนปริมาณสินค้าขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้น

(ที่มา: www.NESDB.go.th/8 มีนาคม 2556)

  

 

          จากข้อมูลดังกล่าว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศให้มีความหลากหลาย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นโจทย์ที่ท้าท้ายสำหรับภาครัฐและเอกชนที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เพราะโอกาสในการขยายตลาดการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเป็นลำดับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยาน (Airport) และพัฒนาคุณภาพบริการของท่าอากาศยาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศให้ทันสมัย เป็นระบบ Real Time เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยสำหรับผู้มาใช้บริการ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินเป็น Aerotropolis หรือ Airport City เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจที่รองรับการเดินทางและการท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น Medical Hub การมีระบบเชื่อมโยงคมนาคมที่ทันสมัย สะดวกสบาย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ เพื่อดึงดูดนักลงทุน และนักท่องเที่ยว ล้วนเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันในโซ่อุปทานการขนส่งทางอากาศทั้งสิ้น ซึ่งจะขอบรรยายและขยายความในบทความฉบับหน้า โดยจะขอฝากแผนภาพความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันของธุรกิจในโซ่อุปทานการขนส่งทางอากาศไว้เป็นแนวคิด

 

 

(ที่มา: http://www.sealandlogistic.com/wp-content/uploads/2013/10/Supply-Chain-Experts.jpg)

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด