เนื้อหาวันที่ : 2017-03-29 12:45:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2284 views

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

ในปี 2559 นี้ต้องยอมรับว่า เป็นปีที่สภาพภูมิอากาศของโลกแปรปรวนมากที่สุดอีกปีหนึ่ง ซึ่งสอดรับกับการพยากรณ์ขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (The National Oceanic and Atmospheric Administration-NOAA) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซ่า) ที่ว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดและสภาพอากาศแปรปรวนที่สุด

 

 

       ประเทศไทยสามารถรับรู้ได้ถึงผลกระทบนี้ได้เป็นอย่างดี จากปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งและแม้แต่วิกฤติอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยได้ร่วมมือกันเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เชื่อว่า เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคโรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย และเอกชน องค์กรหันมาให้ความสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยองค์กรมีชื่อต่าง ๆ ก้าวออกมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือแม้แต่ ห้างค้าปลีกรายใหญ่อย่าง เทสโก้ โลตัส

 

ไทยร่วมมือนานาชาติลดภาวะโลกร้อน

 

        ทั้งนี้ ‘ก๊าซเรือนกระจก’ (Greenhouse Gas) เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดได้ดี ถือเป็นก๊าซที่มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ เพราะหากบรรยากาศโลกปราศจากก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศแล้ว จะทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันร้อนจัดและหนาวจัดในเวลากลางคืน เนื่องจากก๊าซเหล่านี้ดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อย ๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

        มีก๊าซอยู่จำนวนไม่น้อยในบรรยากาศโลกที่มีคุณสมบัติดูดซับคลื่นรังสีความร้อนได้และถูกจัดอยู่ในกลุ่มก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีทั้งก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญเช่น ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน มีเทนและไนตรัสออกไซด์ สารซีเอฟซี เป็นต้น

        แต่ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมโดยพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกที่มุ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลกลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมปี 1990 ในช่วงปี พ.ศ.2551-2555 (ค.ศ.2008-2012) มีอยู่ 6 ชนิด โดยเป็นก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เท่านั้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6)

        การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกนั้นส่งผลให้ชั้นบรรยากาศมีความสามารถในการกักเก็บรังสีความร้อนได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือ อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นด้วย สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิเฉลี่ยและอุณหภูมิสูงสุดในที่ต่าง ๆ สูงขึ้น ทำให้มีจำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มขึ้น คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น เกิดภัยพิบัติเนื่องจากภูมิอากาศเพิ่มขึ้น รุนแรงขึ้น  เช่น มีฝนตก พายุ น้ำท่วมอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

        จากผลการศึกษาปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยหน่วยงาน IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุชัดว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมในบรรยากาศของโลกมากที่สุดในบรรดาก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าก๊าซชนิดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งหมายความได้ว่า จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุณหภูมิของผิวโลก

        ในปี 2558 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ 195 ประเทศได้ลงนาม ‘สนธิสัญญาปารีส’ (Paris Agreement) ตราสารกฎหมายที่รับรองภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ต่อจากพิธีสารเกียวโตและข้อแก้ไขโดฮาที่มุ่งควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมให้เร็วที่สุด โดยกำหนดให้แต่ละประเทศจะต้องส่งเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำมาทบทวนถึงมาตรการการแก้ปัญหาเป็นประจำ

        สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากประเทศที่ลงสัตยาบันทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันอย่างน้อย 55% และจะเริ่มดำเนินการตามพันธะสัญญากันในปี 2020  

        สำหรับไทยเป็นหนึ่งในภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศบนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (COP21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปี 2558 ว่าไทยจะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 111 ล้านตัน โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40 ล้านตันในช่วงแรก และเพิ่มเป็น 60 ล้านตัน, 90 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นจนครบ 111 ล้านตันตามลำดับ

 

ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 2 ของอาเซียน

 

         ทั้งนี้ไทยถือได้ว่า เป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากพอควร โดย ดร.ทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ คณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กกร.) กล่าวในการเสวนา 'ธุรกิจโลว์คาร์บอน กับการตอบโจทย์ไม่เกิน 2 องศา'  ซึ่งจัดโดย บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องนาว 26 ว่า ใน 100 อันดับประเทศแรกของโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 23

         ขณะเดียวกัน ไทยยังอยู่ในลำดับ 2 ของอาเซียนด้วย โดยข้อมูลปี 2555 พบว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ปล่อยมากที่สุดคือ ประเทศอินโดนีเซีย 433,989 ล้านตัน เนื่องจากมีการผลิตและใช้ถ่านหินเป็นจำนวนมาก  ไทย 295,282 ล้านตัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยมาเลเซียอันดับ 3 ปล่อยก๊าซ  216,804 ล้านตัน ส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซต่อคนต่อปี อันดับ 1 ได้แก่ บรูไน 22.22 ตันต่อคนต่อปี มาเลเซีย 7.41 ตันและไทย 4.45 ตัน  

         สำหรับข้อมูลการศึกษาของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พบว่า ในปี พ.ศ.2555 (ค.ศ. 2012) ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 350.68 ล้านตัน เมื่อพิจารณาปริมาณการดูดกลับในภาคเกษตร ป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เท่ากับ 122.95 ล้านตัน ส่งผลให้ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับ 227.73 ล้านตัน 

         ภาคพลังงานจัดเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเท่ากับ 256.44 ล้านตัน หรือเป็นคิดร้อยละ 73.13 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ รองลงมาคือภาคเกษตร และภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 55.71 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.89

         ภาคที่มีการปล่อยก๊าซเป็นอันดับที่ 3 ได้แก่ ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มีการปล่อยเท่ากับ 33.50 ล้านตันคิดเป็นร้อยละ 9.55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ

         ส่วนภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดคือ ภาคการจัดการของเสียโดยมีการปล่อยเท่ากับ 5.03 ล้านตันหรือเท่ากับร้อยละ 1.43 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

         แนวโน้มในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า ไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มประมาณ 555 ล้านตัน

 

กรมโรงงานผนึก สผ.-อบก. ขับเคลื่อนผู้ประกอบการรายงานข้อมูลปล่อยก๊าซ

 

        สำหรับท่าทีภายหลังจากนายกฯรัฐมนตรีประกาศบนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (COP21) ณ กรุงปารีส เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมาว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573  โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลง ใน 3 ภาคส่วนเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสียจากอุตสาหกรรมนั้น หลายภาคส่วนขานรับและเคลื่อนไหวเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยล่าสุด ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จับมือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘การบูรณาการด้านการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ปีพุทธศักราช 2559-2563’ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมจัดทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรแบบบูรณาการ เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการและกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม

 

 

       ซึ่งหมายความว่า ต่อไปโรงงานต่าง ๆ ที่อยู่ในการดูแลของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมราว 1.2 แสนโรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ประมาณ 8 หมื่นโรงงานนั้นจะจัดทำข้อมูลรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรของตัวเองส่งต่อให้กับทางกรมโรงงานเพื่อนำส่งส่วนกลางอีกต่อหนึ่ง โดยเบื้องต้นจะให้เป็นไปโดยสมัครใจ

       โดยนายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เพื่อผลักดันการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐ และจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

       ด้าน นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์และภาคของเสียจากอุตสาหกรรม กรมโรงงานฯ เป็นหน่วยงานหลักที่จะรวบรวมข้อมูลกิจกรรมเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการกลั่นกรองข้อมูลให้มีความถูกต้อง และเป็นไปตามกระบวนการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ เพื่อส่งให้กับทาง สผ.จัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศ

       นายมงคล ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมโรงงานฯ ได้มีมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสะอาด โครงการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโรงงาน โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยการนำวิศวกรรมคุณค่าไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนในประเทศไทย โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นต้น  

       แต่ที่ผ่านมาไม่มีข้อกำหนดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละอุตสาหกรรม ในเบื้องต้นการเก็บข้อมูลในภาคอุตสาหกรรมจะต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการก่อน และในอนาคตการได้ข้อมูลอาจจะเป็นภาคบังคับและอาจต้องออกเป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายมา

       แต่ที่ผ่านมาไม่มีข้อกำหนดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละอุตสาหกรรม ในเบื้องต้นการเก็บข้อมูลในภาคอุตสาหกรรมจะต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการก่อน และในอนาคตการได้ข้อมูลอาจจะเป็นภาคบังคับและอาจต้องออกเป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายมา ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ และภาคของเสีย

       กรมโรงงานฯ มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ภาคส่วน คือ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสีย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูล  โดยมีคณะทำงานฯ เป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลให้มีความถูกต้องและเป็นไปตามกระบวนการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบด้วยระบบ ก่อนส่งต่อมายัง สผ. เพื่อคำนวณและจัดทำรายงานเสนอต่อ UNFCCC ต่อไป

       นางรวีวรรณ ยังกล่าวอีกว่า สผ. ได้พัฒนาระบบจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย (พ.ศ.2558-2561) ร่วมกับ กรมสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียด้วย เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการจัดทำระบบบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Thailand Greenhouse Gas Emission Inventory System   ซึ่งเป็นการคำนวณก๊าซเรือนกระจกตามแนวทาง IPCC 2006 หากการดำเนินการดังกล่าวสำเร็จ จะช่วยให้ไทยได้ระบบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

       นางรวีวรรณ ยังกล่าวอีกว่า สผ. ได้พัฒนาระบบจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย (พ.ศ.2558-2561) ร่วมกับ กรมสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียด้วย เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการจัดทำระบบบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Thailand Greenhouse Gas Emission Inventory System   ซึ่งเป็นการคำนวณก๊าซเรือนกระจกตามแนวทาง IPCC 2006 หากการดำเนินการดังกล่าวสำเร็จ จะช่วยให้ไทยได้ระบบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

       ด้าน นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี พ.ศ.2554 มีทั้งสิ้น 305.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมาจากกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 65.92 ล้านตันหรือร้อยละ 21.57 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ

       โดยภาคอุตสาหกรรมมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 3 ภาคส่วนหลัก คือ ภาคการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม 44.52 ล้านตัน หรือร้อยละ 14.57 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ ภาคกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม 18.23 ล้านตัน หรือร้อยละ 5.96 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ และภาคของเสียจากการบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม 3.17 ล้านตัน หรือร้อยละ 1.03 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานมากที่สุด 

       ดังนั้น ระบบการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความถูกต้องแม่นยำเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การกำหนดและดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมรู้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของตน ผลที่ได้จะนำมากำหนดเป้าหมายและมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งปล่อยให้เกิดผลสำเร็จในเชิงปริมาณได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศในระยะยาวด้วย 

 

ภาครัฐ-ภาคเอกชน ตื่นตัวปลูกป่า หันใช้พลังงานสะอาดลดปล่อยก๊าซ

 

        ด้านหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านมามีการตื่นตัวและหันมาใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันเพิ่มขึ้น การดำเนินการมีทั้งกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปลูกป่าเพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกและด้านพลังงาน  ซึ่งสามารถช่วยได้มาก โดยนางประเสริฐสุข ผู้อํานวยการ อบก. กล่าวว่า จากการประเมินในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปได้ถึง 34 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยส่วนใหญ่เกิดจากภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม

        ในภาคป่าไม้นั้น จากมาตรการเพิ่มพื้นที่ป่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้น้อยลง จึงช่วยเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ประกอบกับมีการดึงภาคเอกชนเข้ามาปลูกป่าด้วย โดยเฉพาะการปลูกป่าในพื้นที่ของเอกชนเอง ซึ่งป่าช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้มากถึงร้อยละ 20 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 

        สำหรับในภาคพลังงาน การหันมาใช้พลังงานที่สะอาด เป็นทางออกสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ความเคลื่อนไหวที่เห็นเด่นชัดขึ้นอย่างหนึ่งคือ หลายหน่วยงานลงทุนติด ‘แผงพลังงานแสงอาทิตย์’ หรือ ‘โซลาร์เซลล์’ เพื่อลดใช้พลังงานไฟฟ้าของภาครัฐ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไปได้มาก

        ตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยโครงการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารมหาวิทยาลัย ศูนย์รังสิต มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัยในเอเชียและเป็นอันดับ 4 มหาวิทยาลัยของโลกที่ผลิตไฟฟ้าใช้ภายในมหาวิทยาลัย โดยตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 15 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 ซึ่งจะช่วยทางมหาวิทยาลัยลดการใช้ไฟฟ้าปัจจุบันลงได้ร้อยละ 30-40 มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน (Sustainable University)

 

          ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมและพลังงานเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกตระหนักและร่วมกันหาหนทางแก้ไข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาจึงมีนโยบายมุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ การเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง อาทิ โครงการไบค์แชร์ริ่งอัตโนมัติ สวนสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์ ร้านกาแฟพลังงานแสงอาทิตย์ ธนาคารขยะ การผลิตไบโอแก๊สจากเศษอาหาร เป็นต้น  แต่โครงการนี้ถือว่า ใหญ่ที่สุด          

 

 

          ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ.กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีสาเหตุสำคัญที่สุดมาจากการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน ที่ปล่อยคาร์บอนออกสู่อากาศ อันเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกและนำมาซึ่งปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะนี้

         “ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลประมาณร้อยละ 70 การใช้ไฟฟ้าของเราทุกครั้งจึงเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ ทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ไม่เกิดคาร์บอนที่เป็นสาเหตุ ของสภาวะเรือนกระจก โดยภายในปี 2559 นี้จะติดตั้งโซลาร์รูฟที่ผลิตไฟฟ้าได้ 6 เมกะวัตต์ และภายในปี 2560 ซึ่งจะติดตั้งได้อีก 9 เมะวัตต์ รวมเป็น 15 เมกะวัตต์”

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา ยังกล่าวอีกว่า “ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด 3 อันดับแรกเป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ Colby College 30 เมกะวัตต์ Arizona State University 24 เมกะวัตต์ และ University of California 16 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะผลิตได้ 15 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 4 ของโลก และจะเป็นอันดับ 1 ของเอเชียที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมากกว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของ ประเทศสิงคโปร์ ที่เป็นอันดับ 1 ของเอเชียในปัจจุบัน จากที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ 5 เมกะวัตต์ โครงการนี้จะช่วยมหาวิทยาลัยประหยัดไปได้มาก โดยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ใช้ไฟฟ้าปีละประมาณ 70 ล้านหน่วย เฉลี่ยเท่ากับวันละประมาณ 190,000 หน่วย ดังนั้น โครงการนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยวันละ 75,000 หน่วย ซึ่งถือเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในมหาวิทยาลัยได้ถึง 30-40%”      

 

 

แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

         ทั้งนี้ นอกจากการติดตั้งโซลาร์รูฟที่ศูนย์รังสิตแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแผนขยายพื้นที่การติดตั้งหลังคาโซลาร์ไปยังศูนย์ต่าง ๆ ทั้งหมด ด้วยได้แก่ ท่าพระจันทร์ ศูนย์พัทยา และศูนย์ลำปาง ตามลำดับ พร้อมบูรณาการองค์ความรู้ด้านพลังงานและความยั่งยืน ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและการวิจัย โดยมุ่งหวังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับประเทศในอนาคต

         ด้าน บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์  (ประเทศไทย) เพิ่งรายงานมาเช่นกันว่า ได้ดำเนินการติดตั้งแผงพลังงานแ

 

สงอาทิตย์ บนหลังคาดาดฟ้าของอาคารและลานจอดรถโรงงานทั้ง 4 แห่งของบริษัทเช่นกัน โดยโครงการเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 และติดตั้งแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลังงานแสงอาทิตย์นี้ คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 793 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) และจะนำไปจ่ายกระแสไฟเพื่อป้อนใช้งานในโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู

 

เทสโก้ โลตัส’ ทุ่ม 450 ล้านบาท ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 13 สาขาทั่วไทย

  

         สำหรับห้างค้าปลีกใหญ่อย่าง ‘เทสโก้ โลตัส’ เป็นอีกรายที่ทุ่มลงทุนในโครงการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งมั่นเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกที่ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 50 ในปี 2020 

         นายเกษมสุข บุญเจริญ รองประธานกรรมการฝ่ายบริหารอสังหาริมทรัพย์และพลังงาน เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเทสโก้ โลตัส มีโครงการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานสะอาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2547 ได้ผุด ‘กรีนสโตร์’ แห่งแรกที่ สาขาพระราม 1 ด้วยการนำพลังงานทดแทนคือ พลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผ่านแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคา

         ปี พ.ศ.2551 เปิดกรีนสโตร์แห่งที่ 2 สาขา ศาลายา จังหวัด นครปฐม โดยนำพลังงานลมมาใช้ รวมถึงการรีไซเคิลในรูปของไบโอแก๊ซและไบโอดีเซลมาใช้อย่างคุ้มค่า

         ปี พ.ศ.2554 เปิด “สโตร์ปลอดคาร์บอนฯ” สาขาบางพระ จ.ชลบุรี ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิ ภาคเอเชีย ที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า และชดเชยปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่เหลือด้วยพลังงานทดแทนที่ได้จากแหล่งผลิตภายในสาขา จนมีค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เทียบเท่ากับศูนย์

         ปี พ.ศ.2558 เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขาถนนนวมินทร์ กรุงเทพ ได้ลงทุนปรับเปลี่ยนระบบจนได้การรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ว่า เป็นสโตร์ ‘คาร์บอนนูทรัล’ หรือเครื่องหมายรับรองการชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์

 

 

 

 แผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกติดตั้งบนหลังคาของห้างเทสโก้ โลตัส

 

         สำหรับก้าวต่อไปของเทสโก้ โลตัส ในการเป็นผู้นำค้าปลีกสีเขียว คือ การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ช่วยผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในสาขาและศูนย์กระจายสินค้าเพื่อลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในปี 2559 นี้ ได้มีการลงทุนประมาณ 450 ล้านบาท เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาร้านค้าทั้งหมด 8 สาขาและศูนย์กระจายสินค้าทั้งหมด 5 สาขา รวม 13 สาขา ประกอบด้วย สาขาบ้านบึง, อุดรธานี 1, อุดรธานี 2 นาดี, ขอนแก่น 2, ปากช่อง, อรัญประเทศ, ปราจีนบุรี, สระบุรี  และศูนย์กระจายสินค้า 5 แห่งคือ วังน้อย,สามโคก, บางบัวทอง, ลำลูกกา, ขอนแก่น

         แผงพลังงานที่ติดตั้งในครั้งนี้มีพื้นที่รวมทั้งหมดกว่า 65,000 ตารางเมตรหรือเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 52 สระ และมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 15 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าสำหรับกว่า 30,000 ครัวเรือน ซึ่งจะสามารถประหยัดไฟฟ้าจากทางการได้มากถึง 56 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 7,925 ตันต่อปี  

         กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ สามารถช่วยประหยัดพลังงานให้กับแต่ละสาขาและศูนย์กระจายสินค้าที่ติดตั้ง โดยเฉลี่ยร้อยละ 20 โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกนำมาใช้เพื่อให้พลังงานในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น โดยพลังงานที่ได้ นำมาใช้กับตู้แช่เย็นร้อยละ 40 เครื่องปรับอากาศร้อย 30 และใช้ด้านแสงสว่างร้อยละ 15

         แน่นอนว่า ‘เทสโก้ โลตัส’ จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ ยังคงมีแผนเดินหน้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ต่อไปที่ 1,800 สาขาและศูนย์กระจายสินค้าทั้ง 6 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่หลังคารวมกันถึง 1,000,000 ตารางเมตร หากติดตั้งหลังคาโซลาร์เต็มพื้นที่จะสามารถมีกำลังผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 150 เมกะวัตต์

         ส่วนแผนการสำหรับปี 2560 คือ จะติดตั้งบนหลังคา 35 สาขาทั่วประเทศ โดยมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ 20 เมกะวัตต์

 

แนวโน้มเทคโนฯ โซลาร์เซลล์ถูกลง มีประสิทธิภาพเพิ่ม เปิดโอกาสติดตั้งแพร่หลาย

 

          นายเกษมสุข รองประธานกรรมการฝ่ายบริหารอสังหาริมทรัพย์และพลังงาน เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า “สิ่งที่เทสโก้ โลตัสดำเนินการนับว่าสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ เราต้องการเป็นผู้นำในตลาดก่อน เพื่อให้สามารถเดินสู่เป้าหมายลดก๊าซร้อยละ 50 ได้ดีขึ้นและจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการเจริญรอยตาม โดยคาดว่าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 8-9 ปี แต่ในอนาคตน่าจะเร็วขึ้นเป็น 7-8 ปีเนื่องจากราคาของแผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกลง ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์

         “ผลพลอยได้ไม่ใช่แค่พลังงาน แต่ได้ทุกอย่างโดยรอบ” นายเกษมสุขกล่าว ซึ่งหมายถึงการได้สภาพแวดล้อมภายในองค์กรที่สะอาดขึ้น อีกทั้งช่วยสร้างความตระหนักแก่เหล่าพนักงานและประชาชน ธุรกิจในท้องถิ่นให้หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน

         นอกเหนือจากนี้ทางเทสโก้ โลตัส ยังมีโครงการอีกมากมายเพื่อส่งเสริมการลดใช้ถุงพลาสติกและใช้ถุงผ้าที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่แก่ลูกค้า อีกทั้งการรณรงค์พนักงานจิตอาสาประหยัดพลังงาน มีโครงการปลูกต้นไม้ 9 ล้านต้นในอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ทั่วประเทศระหว่างปี 2550-2558 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 225,000 ตันต่อปีหรือราว 9 ล้านตันใน 40 ปี

         ด้าน ศ.ดร.ดุสิต เครืองาม กรรมการ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โซลาร์ตรอน เป็นผู้ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับทางเทสโก้ โลตัส โดยโรงงานนี้เป็นแห่งแรกในไทยที่มีการผลิตต้นน้ำ คือ นำแผ่นซิลิกอนมาทำโซลาร์เซลล์ โดยมีคุณภาพในการแปลงแสงเป็นกระแสไฟฟ้าร้อยละ 17-18 แผงโซลาร์เซลล์ 1 ตรม. ให้พลังงาน 5 กิโลวัตต์/ชม. มีอายุการใช้งานได้นานกว่า 30 ปี

         ศ.ดร.ดุสิต ยังกล่าวอีกว่า ไทยมีทรัพยากรมีค่าอย่างแร่ควอทช์ ที่เป็นวัตถุดิบในการทำโซลาร์เซลล์อยู่เป็นจำนวนมาก หรือไม่น้อยกว่า 30 ล้านตัน หากนำมาถลุงใช้จะเป็นประโยชน์มหาศาลกับประเทศชาติ

         “ถ้าเรามีโรงงานถลุงแร่เอง เพื่อให้ได้ซิลิกาออกมาผลิตแผ่นซิลิกอนมาใช้ในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์เอง จะสามารถผลิตพลังงานได้มากถึง 5 แสนเมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน สำหรับการติดตั้งตามบ้านเรือนประชาชน ในปัจจุบันมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ใช้แล้วประมาณ 20,000 หลัง โดยลงทุนประมาณ 200,000 บาทก็สามารถติดตั้งได้แล้ว ใช้งาน 7-8 ปีคืนทุน ใช้งานไป 25 ปี ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นมูลค่าราว 800,000 บาท โดยกลางวันใช้ไฟฟรี ซื้อไฟหลวงเฉพาะในเวลากลางคืน”

         ทั้งนี้ราคาที่ถูกลงของเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีทางด้านนี้ถูกลงและมีการติดตั้งแพร่หลายขึ้น  โดย ดร. กล่าวว่า ปัจจุบันราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแสงแดดด้วยแผงโซลาร์เซลล์มีราคาตกลงถึง 50% เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่  2.5 แสนบาทต่อกิโลวัตต์ โดยปัจจุบันหากติดตั้งบนหลังคาบ้าน ราคาจะอยู่ประมาณ 7-8 หมื่นบาท ต่อ 2-10 กิโลวัตต์ คืนทุนใน 9 ปี หากติดตั้งเป็นโซลาร์รูฟท็อป อาคารธุรกิจจะอยู่ที่ 6-7 หมื่นบาทต่อ 10 กิโลวัตต์ถึง 1 เมกะวัตต์ สามารถคืนทุนได้ใน 7-8 ปี

         ในส่วนผู้ผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเช่นกัน จากปัจจุบันมีอยู่อย่างน้อย 5 โรงงาน มีกำลังการผลิตมากกว่า 200 เมกะวัตต์ โดยคาดว่า จะทยอยเพิ่มขึ้นทั้งโรงงานและกำลังการผลิตประมาณปีละหลัก 100 เมกะวัตต์

นอกเหนือจากนี้ความก้าวหน้าในการผลิตและศักยภาพของเทคโนโลยีทางด้านนี้ จะส่งผลต่อการนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มอีกทางหนึ่ง ดังรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัท Rayton Solar ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้ปฏิวัติการผลิตโซลาร์เซลล์ด้วยเทคนิคใหม่ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการผลิตแผงโซลาร์เซลล์มาตรฐานถึง 60%

         โดยบริษัท Rayton Solar ได้คิดค้นระบบตัดแผ่นซิลิคอนซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของแผงโซลาร์เซลล์โดยใช้เครื่องเร่งอนุภาค ด้วยเทคนิคพิเศษ  ทำให้ต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์ต่ำลงจน สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้

ทั้งนี้ในแผงโซลาร์เซลล์มีแผ่นซิลิกอนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้ซิลิกอนชนิด Czochralski Process Silicon (CZ) ซึ่งจะตัดเป็นแผ่นที่ความหนาราว 200 ไมครอน และในกระบวนการตัดมีเศษเหลือทิ้งถึงครึ่งหนึ่งของวัตถุดิบ แต่ทางบริษัท Rayton Solar ใช้ซิลิกอนชนิด Float Zone Silicon (FZ) ที่บริสุทธิ์กว่าและแพงกว่า แต่ตัดได้ที่ความหนาเพียง 3 ไมครอน และไม่เหลือเศษซากทิ้ง ด้วยการใช้เครื่องเร่งอนุภาค

         เทคนิคดังกล่าวของ Rayton Solar ทำให้ใช้ซิลิกอนน้อยลงกว่าที่ใช้ในแผงมาตรฐานทั่วไป 50–100 เท่าตัว ซึ่งซิลิกอนเป็นส่วนประกอบที่แพงที่สุดของแผงโซลาร์เซลล์ การไม่เหลือเศษซากซิลิกอนเลยจึงเท่ากับการช่วยประหยัดต้นทุนได้เป็นอย่างมากที่สำคัญ เทคนิคดังกล่าวยังทำให้ได้แผงโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็น 24% ขณะที่ประสิทธิภาพในปัจจุบันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17% เรียกว่า ได้ทั้งของถูกและดีกว่าเดิม

         ด้านบริษัทโซลาร์ฟรอนเทียร์ของญี่ปุ่นที่มาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์  (ประเทศไทย) นั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเช่นกัน โดยเป็นระบบแผงโซลาร์เซลล์ชนิดที่ทำจากสารกึ่งตัวนำ คอปเปอร์อินเดียมไดเซเลไนด์ หรือ CIS ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีเยี่ยมภายใต้แสงแดดแรงและแม้กระทั่งในฤดูฝน จึงทำให้ระบบสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งปี

         มร.ยูอิชิ คูโรดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโซลาร์ ฟรอนเทียร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายมุ่งที่จะเพิ่มการติดตั้งระบบโซลาร์ที่มีกำลังการผลิต 6 GW (กิกะวัตต์) ภายในปี ค.ศ.2036 และมีศักยภาพสูงในการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ แผงพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดที่ทำจากสารกึ่งตัวนำ CIS ของ โซลาร์ ฟรอนเทียร์ จะสามารถผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้า (kWh/kilowatt-peak) ได้มากกว่าเมื่อเทียบกับแผงเซลล์ชนิดผนึกซิลิกอน นอกจากนี้แผงเซลล์ยังทนทานสูงและมีประสิทธิ ภาพแม้ในฤดูฝน ซึ่งกินเวลานานถึง 6 เดือนของกรุงเทพมหานครฯ

         จากความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทำให้พอจะมองเห็นภาพรวมในอนาคตได้ว่า ต่อไปหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีชื่อเสียงจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีการลงทุนติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นผู้นำสังคม สร้างความตระหนักในสังคมไทย เป็นแบบอย่างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มต้นทุนการติดตั้งที่ถูกลงกว่าเดิม ในขณะที่ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีชนิดนี้ดีขึ้น

         อนาคตเราอาจจะได้เห็นโรงงานต่าง ๆ บ้านเรือนประชาชน ห้างร้านต่าง ๆ  ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กันเพิ่มขึ้น  เป็นความร่วมมือกันเพื่อลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถช่วยชาติลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้...ความสำเร็จอยู่ไม่ไกล ถ้าทุกฝ่ายรวมพลังกัน

 

ขอบคุณข้อมูล
• องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
• กรีนพีซ ประเทศไทย
• http://www.takieng.com
• http://www.environnet.in.th/
• https://en.wikipedia.org
• http://www.greenintrend.com/

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด