เนื้อหาวันที่ : 2017-03-27 12:12:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2823 views

ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ayasanond@hotmail.com

 

บทความฉบับนี้เป็นเรื่องที่ต่อจากฉบับที่แล้ว ในเรื่องของ 4.0 ที่ปัจจุบันเราได้ยินอยู่บ่อยครั้งในหลากหลายมิติ ทั้ง Thailand 4.0, 4G, Logistics 4.0, Marketing 4.0, Branding 4.0 หรือแม้แต่ Active Learning Education 4.0 ซึ่งล้วนแต่มีบ่อเกิดมาจากยุคของอุตสาหกรรมที่พัฒนามาจากยุคเกษตรกรรม จนกลายมาเป็นยุค Industry 4.0 ปัจจุบัน ที่ได้นำเอาไอซีทีเข้ามาพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในแต่ละภาคส่วนของธุรกิจ

 

        4G คือ คำย่อของระบบการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 4 (Fourth-Generation Wireless) เป็นอีกขั้นของการสื่อสารเคลื่อนที่แบบ Broadband ที่จะออกตามหลังระบบ 3G การพัฒนาเทคโนโลยี 4G เป็นผลมาจากจุดอ่อนของระบบ 3G โดยที่ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกได้ลงทุนเป็นจำนวนเงินสูงถึงหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อใบอนุญาตใช้สิทธิ์ในการประกอบการโทรคมนาคมเครือข่าย 3G เพียงเพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่สามารถสื่อสารแบบมัลติมีเดียแบบเคลื่อนที่ได้ แต่การนำมาใช้จริงกลับกลายเป็นทำได้ยากกว่าที่คาดไว้ และยังมีการลงทุนทางด้านเครือข่ายและการบำรุงรักษาเครือข่ายที่สูง จึงสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ประกอบกิจการที่กำลังจะพัฒนาระบบจาก 2.5G สู่ 3G

 

 

        ยุค 1G เป็นยุคที่ใช้ระบบอะนาลอกคือ ใช้สัญญาณวิทยุในการส่งคลื่นเสียง โดยไม่รองรับการส่งผ่านข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสามารถใช้งานทางด้าน Voice ได้อย่างเดียว คือ โทรออก-รับสายได้เท่านั้น ไม่มีการรองรับการใช้งานด้าน Data ใด ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่การรับ-ส่ง SMS ก็ยังทำไม่ได้ในยุค 1G แต่จริง ๆ แล้วในยุคนั้นผู้บริโภคก็ยังไม่มีความต้องการในการใช้งานอื่น ๆ นอกจากเสียง (Voice) อยู่แล้ว โดยปริมาณผู้ใช้โทรศัพท์มือถือยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัดมาก และจะพบว่าผู้ใช้มักจะเป็นนักธุรกิจที่มีรายได้สูงเสียเป็นส่วนใหญ่ ยุค 1G จึงเป็นยุคแรกของการพัฒนาระบบโทรศัพท์แบบเซลลูลาร์ วิธีการมอดูเลตสัญญาณ อะนาลอกเข้าช่องสื่อสาร โดยใช้การแบ่งความถี่ออกมาเป็นช่องเล็ก ๆ วิธีการนี้มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนช่องสัญญาณ และการใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ติดขัดเรื่องการขยายจำนวนเลขหมาย และการขยายแถบความถี่โทรศัพท์เซลลูลาร์ยังมีขนาดใหญ่ ใช้กำลังงานไฟฟ้ามาก ในภายหลังจึงมีการเปลี่ยน

        ยุค 2G จะเปลี่ยนจากการส่งคลื่นวิทยุแบบล็อกมาเป็นการเข้ารหัสดิจิทัลแทน เป็นการส่งคลื่นทางไมโครเวฟ ซึ่งในยุคนี้เองที่เราเริ่มใช้งานทางด้านดาต้าได้ นอกเหนือจากการใช้เสียงเพียงอย่างเดียว ยุคนี้เราสามารถรับ-ส่ง ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจนมีการกำหนดเส้นทางการเชื่อมกับสถานีฐาน หรือที่เข้าใจว่า Call Site การติดต่อจากสถานีลูกกับสถานีเบสใช้วิธีการสองแบบคือ การแบ่งช่องเวลาออกเป็นช่องเล็ก ๆ แบ่งกันใช้ทำให้ช่องสัญญาณความถี่เพิ่มขึ้นจากเดิม เกิดระบบ GSM (Global System for Mobilization) ซึ่งโทรศัพท์เครื่องเดียวสามารถใช้ได้ทั่วโลก เรียกว่าการโรมมิ่ง (Roaming) 

        ยุค 2.5G เป็นยุคก้ำกึ่งระหว่าง 2G และ 3G ซึ่งก็คือ 2.5G ซึ่ง 2.5G นี้เป็นยุคที่กำเนิดเทคโนโลยี GPRS (General Packet Radio Service) เพื่อเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลให้มากกว่ายุค 2G ซึ่งตามหลักการแล้ว เทคโนโลยี GPRS นี้สามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วสูงสุดถึง 115 Kbps แต่เอาเข้าจริง ๆ ความเร็วของ GPRS จะถูกจำกัดให้อยู่ที่ประมาณ 40 kbps เท่านั้น ซึ่งในยุค 2.5G นั้นจะเป็นยุคที่เริ่มมีการใช้บริการในส่วนของข้อมูลมากขึ้น และการส่งข้อความก็พัฒนาจาก SMS มาเป็น MMS โทรศัพท์มือถือก็เริ่มเปลี่ยนจากจอขาวดำมาเป็นจอสี เสียงเรียกเข้าจากเดิมที่เป็นเพียง Monotone ก็เปลี่ยนมาเป็น Polyphonic รวมไปถึง True Tone ต่าง ๆ ด้วย

 

 

 การจัดการการขนส่งโดยเทคโนโลยีเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในยุค 2.5G

(http://www.energysavingmedia.com/news/page.php?a=10&n=114&cno=6717)

 

        ยุค 2.75G ก่อนจะมาถึงยุค 3G เราก็ยังมี 2.75G ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการใช้เทคโนโลยี EDGE (Enhanced Data Rates for Global Evolution) นั่นเอง EDGE นั้นถือเป็นเทคโนโลยีต่อยอดของ GPRS และถูกเรียกกันว่าเทคโนโลยียุค 2.75 G อย่างไม่เป็นทางการ ลักษณะการทำงานของ EDGE นั้นจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพความเร็วจากพื้นฐานของ GPRS ให้มีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลได้สูงขึ้นแต่ว่า ยุค 2.75G ของ EDGE นั้น ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการ เพียงแค่ยกขึ้นมาเปรียบเทียบช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุค 2.5G และ 3G เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

        ยุค 3G หรือ Third Generation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 จุดเด่นที่สุดของ 3G นั้น เป็นเรื่องของความเร็วในการเชื่อมต่อและการรับ-ส่งข้อมูลโดยเน้นการเชื่อมต่อแบบไร้สายด้วยความเร็วสูง ทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลต่าง ๆ รวดเร็วมากขึ้น พร้อมทั้งสามารถใช้ บริการ Multimedia ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และมีประสิทธิภาพแบบมากยิ่งขึ้น เช่น การรับ-ส่ง File ที่มีขนาดใหญ่, การใช้บริการ Video/Call Conference, Download เพลง, ดู TV Streaming ต่าง ๆ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบเทคโนโลยี 2G กับ 3G แล้ว 3G มีช่องสัญญาณความถี่ และความจุในการรับส่งข้อมูลที่มากกว่า คุณสมบัติหลักที่เด่น ๆ อีกอย่างหนึ่งของระบบ 3G ก็คือ Always On คือ มีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของ 3G ตลอดเวลาที่เราเปิดโทรศัพท์ด้วย 3G เป็นยุคแห่งอนาคตอันใกล้ โดยสร้างระบบใหม่ให้รองรับระบบเก่า และเรียกว่า Universal Mobile Telecommunication Systems (UMTS) การเข้าถึงเครือข่ายแบบไร้สายสามารถกระทำได้ด้วยอุปกรณ์หลากหลาย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ระบบยังคงใช้การเข้าช่องสัญญาณเป็นแบบ CDMA ซึ่งสามารถบรรจุช่องสัญญาณได้มากกว่า แต่ใช้แบบแถบกว้าง ระบบนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า WCDMA มีแนวโน้มเชื่อมโยงกับระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์

        ยุค 4G หรือ 4G (Forth Generation) เทคโนโลยี 4G เป็นเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงชนิดพิเศษ หรือเป็นเส้นทางด่วนสำหรับข้อมูลที่ไม่ต้องอาศัยการลากสายเคเบิล โดยระบบเครือข่ายใหม่นี้ จะสามารถใช้งานได้แบบไร้สาย รวมถึงคุณสมบัติการเชื่อมต่อเสมือนจริงในรูปแบบสามมิติ (Three-Dimensional) ระหว่างผู้ใช้โทรศัพท์ด้วยกันเอง นอกจากนั้น สถานีฐาน ซึ่งทำหน้าที่ในการส่งผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง ที่มีต้นทุนในการติดตั้งค่อนข้างสูง และมีให้เห็นกันอย่างแพร่หลาย 4G จะสามารถส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สายด้วยระดับความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้นถึง 100 เมกะไบต์ ต่อวินาที ซึ่งห่างจากความเร็วของชุดอุปกรณ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่ระดับ 10 กิโลบิตต่อวินาที

 

 

รูปภาพพัฒนาการตั้งแต่ยุค 1G มาจนถึงยุค 4G

(http://datacommunicationand.blogspot.com/)

 

 

ภาพ 4G ที่เกิดจากการรวม WiMax เข้ากับ 3G

(http://datacommunicationand.blogspot.com/)

          การนำเทคโนโลยี 4G มาประยุกต์ในธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยี 3G นอกจากเรื่องของคลื่นความถี่ ความครอบคลุม ความสามารถ ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีก เช่น คุณภาพของการบริการ QoS (Quality of Service) รูปแบบการใช้งานระบบเคลื่อนที่ที่มากขึ้น และการสนับสนุนด้านความปลอดภัย

 

               ตารางเปรียบเทียบระหว่าง 3G กับ 4G

 

 

(http://datacommunicationand.blogspot.com/2013/01/4g-forth-generation.html)

 

 

           ปัจจุบัน ICT 4.0 ได้ถูกประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ Logistics และ Supply Chain นับตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในหลายธุรกิจ ดังแสดงในแผนภาพด้านล่างนี้

 

 

(http://image.slidesharecdn.com/8huelsmann11945-151122194047-lva1-app6891/95/logistics-40-and-the-internet-of-things-5-638.jpg?cb=1448221544)

 

           ICT 4.0 ทำให้สังคมในบ้านเราย่างก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy หรือ DE) ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดินรวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการเฉพาะด้านทำหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ชี้นำทิศทางของการพัฒนาให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และกำหนดนโยบายสนับสนุนด้านการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) นวัตกรรม (Innovation) จัดหาตลาดให้แก่เอกชน เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข็มแข็ง และพัฒนาคนไทยที่มีความสามารถ ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้วางกลยุทธ์ ตามนโยบาย IT ตั้งแต่ ปี2010 และก็มีการดำเนินงานต่อเนื่องเสมอมา 

 

 

(http://www.mict.go.th/assets/portals/1/images/picture/DE.png)

 

 

(http://www.bangkokbanksme.com/wp-content/uploads/2016/06/info_Thailand-4.0-_V1.png)

 

 

 

  http://4.bp.blogspot.com/-Y0PR6dmnV5U/UwHrICshmPI/AAAAAAAAAKw/MPCU2npENQM/s1600/5.jpg)

 

         ปัจจุบันจะเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้แพร่ขยายไปอย่างมากในธุรกิจต่าง ๆ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการบริหารโซ่อุปทาน ต้องคำนึงถึง 4 ส่วนคือ 1.ฮาร์ดแวร์ 2.ซอฟต์แวร์ 3.การลงทุนด้านเครือข่าย และ 4.การออกแบบระบบ ทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีจะทำให้สามารถเตรียมข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้ในสถานการณ์และสถานที่ที่ถูกต้องได้ และยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การทำงานของโซ่อุปทานเป็นไปอย่างโดยรวมได้ดี ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในโซ่อุปทานที่ชัดเจน คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange: EDI) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญที่ทำให้ระบบเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน องค์กรที่ใช้ EDI จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการเชื่อมโยงข้อมูลที่ดีต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ขององค์กร ทั้งนี้ต้องพิจารณาไปถึงความสามารถของเทคโนโลยีสารสนเทศในแต่ละองค์กรอีกด้วย

           การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน ต้องคำนึงถึงลักษณะขององค์กร ตั้งแต่กลยุทธ์ในการบริหาร จนถึงกลยุทธ์การดำเนินงานและสิ่งแวดล้อมในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในระบบ นอกจากนี้บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานออกไปสู่ระดับโลก (Global Supply Chain) ประสบความสำเร็จในการบริหารจะต้องประกอบไปด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้

  • ต้องสามารถสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงได้
  • เทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องช่วยในการแปลวิสัยทัศน์มาเป็นหลักการที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้
  • เทคโนโลยีสารสนเทศต้องช่วยในการทำงานเป็นทีม และสามารถให้ข้อมูลเพื่อช่วยการตัดสินและประมวลความสามารถของระบบได้
  • เทคโนโลยีสารสนเทศต้องสามารถมีส่วนช่วยในการวางแผนและควบคุมการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพถึงแม้ว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจะมีประโยชน์อย่างมากในการจัดการโซ่อุปทาน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและต้องการการศึกษาวิจัยต่อเนื่องยังปรากฏอยู่ดังเช่น การศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความคลาดเคลื่อนของเวลาระหว่างการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในโซ่อุปทาน การศึกษาถึงจุดเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในโซ่อุปทาน และบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะเข้ามาแก้ปัญหา การศึกษาการวัดความสามารถของการเชื่อมโยงข้อมูลโดยเทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึงการพัฒนาตัววัดความสามารถของเทคโนโลยีสารสนเทศในโซ่อุปทาน การศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการตัดสินใจในโซ่อุปทานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

          ในการจัดการโซ่อุปทานนั้น หนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ การเชื่อมโยงกระบวนการในองค์กรหรือระหว่างองค์กรเข้าด้วยกัน การเชื่อมโยงกระบวนการนั้น ทำได้โดยการเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกัน ไม่มีการปกปิดการทำงานระหว่างกัน การทำให้กระบวนการแต่ละฝ่ายหรือแต่ละองค์กรเชื่อมโยงกันได้นั้น แต่ละฝ่ายต้องรับรู้สถานะการทำงานของอีกฝ่ายเสมอ นั่นก็คือการมองเห็นข้อมูลซึ่งแสดงสถานะของอีกฝ่ายได้ เรียกว่า การเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน (Data Interchange) ในการกระทำ ดังนี้จำต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้แก่การจัดการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ มีเครื่องมืออุปกรณ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์หลาย ๆ แบบ ถือกำเนิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ยิ่งอุปกรณ์หรือโปรแกรมจำพวกนี้สร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้มากเท่าไร ประสิทธิภาพของโซ่อุปทานก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะข้อมูลจะถูกส่งผ่านและไหลเวียนให้ทุก ๆ ฝ่ายรู้สถานะของตน และฝ่ายอื่น ๆ โดยภาพรวมในโซ่อุปทานได้

          หากศึกษาและดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ธุรกรรมโลจิสติกส์ กับไอซีที 4.0 ไม่ใช่เรื่องใหม่ และที่จริงก็เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ในยุคแรก ๆ เราจะเรียกและคุ้นเคยกับคำว่า E-Commerce/ e-Logistics ซึ่งพัฒนามาจาก ICT: Information Communication Technology โดยปัจจุบันก็เพิ่มคำว่า “นวัตกรรม” (Innovation) เข้าไปอีกหนึ่งคำ

 

เอกสารอ้างอิง
• http://datacommunicationand.blogspot.com/
• http://datacommunicationand.blogspot.com/2013/01/4g-forth-generation.html
• http://image.slidesharecdn.com/8huelsmann11945-151122194047-lva1-app6891/95/logistics-40-and-the-internet-of-things-5-638.jpg?cb=1448221544
• http://www.bangkokbanksme.com/wp-content/uploads/2016/06/info_Thailand-4.0-_V1.png
• http://www.energysavingmedia.com/news/page.php?a=10&n=114&cno=6717
• http://www.mict.go.th/assets/portals/1/images/picture/DE.png
• http://www.mict.go.th/view/1/Digital%20Economy
• http://www.logisticscorner.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1716:2010-03-06-01-15-58&catid=41:supply-chain&Itemid=89
• http://4.bp.blogspot.com/-Y0PR6dmnV5U/UwHrICshmPI/AAAAAAAAAKw/MPCU2npENQM/s1600/5.jpg

 

 

 

 

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด