เนื้อหาวันที่ : 2017-02-28 16:19:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8575 views

กองบรรณาธิการ

 

 

INDUSTRY 4.0 หรือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นั้น เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งในปัจจุบัน แต่สำหรับประเทศไทย คำนี้ได้ถูกหยิบยกมาใช้และปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรกในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12 ซึ่งเป็นแผนพัฒนา 5 ปี แรกของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาประเทศไทย โดยคาดหวังว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีฐานะร่ำรวย (High Income Countries) โดยจะยกระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี เพิ่มจากปัจจุบัน 5,281 เหรียญสหรัฐฯ ให้กลายเป็น 15,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนของประเด็นดังกล่าวนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องสัมพันธ์สอดคล้องกับการสร้างนวัตกรรม การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มมูลค่าของสินค้าในภาคอุตสาหกรรมนั่นเอง

 

     INDUSTRY 4.0 หรือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เริ่มเป็นที่กล่าวขานจากนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติของประเทศเยอรมนีซึ่งประกาศไว้ในปี พ.ศ.2556 (ค.ศ.2013) โดยระบุว่าอุตสาหกรรมของเยอรมนีในปี พ.ศ.2576 (ค.ศ.2033) จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และเข้าสู่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยอุตสาหกรรมใหม่จะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติควบคู่ไปกับหุ่นยนต์อัจฉริยะและเชื่อมโยงกับเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) ทำให้ระบบการผลิตยกระดับจากกระบวนการผลิตแบบลีน (Lean Production) ไปสู่ Cyber-Physical Production นอกจากนี้หุ่นยนต์ในอนาคต จะพัฒนาไปสู่การควบคุมเครื่องจักรที่สามารถคิดเอง เชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ และตอบสนองการทำงานได้อย่างรวดเร็วเหนือกว่ามนุษย์ เทคโนโลยีดังกล่าวนี้เอง ที่จะทำให้รูปแบบการผลิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ก็เพื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ให้ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค

 

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีตจนถึงปัจจุบัน

       

          ยุคสมัยของอุตสาหกรรมเริ่มก่อกำเนิดขึ้นมากว่า 230 ปีก่อน ซึ่งมีการเปลี่ยนผ่านจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน โดยสามารถแบ่งยุคของการเปลี่ยนแปลงซึ่งเรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ดังต่อไปนี้

         การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 (Industrial Revolution 1.0) เป็นยุคของการใช้พลังงานไอน้ำ (Hydro-Steam Power) (ค.ศ.1784-1869) โดยการเปลี่ยนแปลงของยุคเริ่มต้นนี้ เกิดขึ้นจากการที่ เจมส์ วัตต์ ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรกลไอน้ำขึ้นชิ้นแรกซึ่งมีชื่อเรียกว่า นิวโคแมน เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้าโดยใช้พลังงานไอน้ำจากถ่านหิน รวมทั้งรถจักรไอน้ำ เป็นการปฏิวัติระบบขนส่ง สามารถขนส่งคนและสินค้าได้เป็นจำนวนมากและรวดเร็วด้วยต้นทุนต่ำ อีกทั้งเรือขนส่งสินค้าด้วยไอน้ำ ทำให้เรือมีขนาดใหญ่สามารถข้ามมหาสมุทรเป็น Ocean Steamship ซึ่งมีบทบาทต่อการขนส่งสินค้าและคนทางเรือข้ามโลกมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ขณะเดียวกันเครื่องจักรไอน้ำยังนำมาใช้ในการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ ทำให้ได้สินแร่ต่าง ๆ รวมทั้งน้ำมันดิบ ยุคนี้ตลาดการค้าขยายไปทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่โลกไม่เคยมีมาก่อน กล่าวได้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ ทำให้เกิดยุคขยายอาณานิคมของชาติตะวันตกเพื่อหาวัตถุดิบป้อนโรงงานและเปิดตลาดใหม่

         การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 (Industrial Revolution 2.0) เป็นยุคของการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrical Power) (ค.ศ.1870-1969) การเปลี่ยนแปลงของยุคนี้เริ่มขึ้นหลังจากยุคพลังงานไอน้ำ 85 ปี โดยเริ่มต้นมาจากการที่ โทมัส เอดิสัน ได้ประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นพร้อมกับก่อตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้โรงงานสามารถผลิตสินค้าได้ 24 ชั่วโมง พลังงานไฟฟ้ายังก่อให้เกิดการผลิตมอเตอร์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ กลายเป็นกลไกสำคัญของภาคอุตสาหกรรม

         ความเจริญของยุคนี้ยังเกิดจากการที่ เฮนรี่ ฟอร์ด ได้มีการนำเอาระบบสายพานมาใช้ในสายการผลิตรถยนต์ จนกลายเป็นต้นแบบของการผลิตที่เรียกว่า Fordism Manufacturing ซึ่งเป็นต้นแบบของการผลิตอุตสาหกรรมแบบสายพานที่สามารถผลิตสินค้าได้คราวละมาก ๆ ที่เรียกว่า Mass Production และมีคุณภาพที่เทียบเท่างานหัตถกรรม และที่สำคัญคือ สินค้าราคาไม่แพง ทุกคนสามารถบริโภคได้

         ในยุคสมัยนี้ ระบบโทรคมนาคมได้มีการพัฒนาไปอย่างมากจากการที่ นายแซมมวล มอร์ส ได้นำเอาโทรเลขเข้ามาใช้ในปี ค.ศ.1832 และพัฒนาไปสู่การประดิษฐ์โทรศัพท์ ซึ่ง นายอเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ได้จดสิทธิบัตรในปี ค.ศ.1876 อีกทั้งการสื่อสารทางวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ นี้เอง ทำให้เกิดการแข่งขัน ประชาชนผู้บริโภครู้จักสินค้าผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ ทำให้อุตสาหกรรมมีการขยายตัวนำไปสู่การแข่งขัน ส่งออก และการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปสู่แหล่งผลิตต้นทุนต่ำ การผลิตสินค้ากลายเป็นการผลิตเพื่อการบริโภค ทำให้เกิดกระแสบริโภคนิยมไปทั่วโลก

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 (Industrial Revolution 3.0) เป็นยุคคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Computerize & Information Technology) (ค.ศ. 1970-2016) การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ใช้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากยุคที่ 2 ประมาณ 99 ปี เป็นยุคของการใช้สมองกลในธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยระบบคอมพิวเตอร์ได้มีการเริ่มคิดค้นมาตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 และบริษัทไอบีเอ็มมีการนำ   ระบบแผ่นการ์ดเจาะรูหรือ Punch Card เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือประมวลผลในช่วงสงครามเวียดนามก่อนที่จะนำเข้ามาใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรม

           นวัตกรรมคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการประมวลผล และเข้ามาเป็นอุปกรณ์สั่งการทำงานให้เครื่องจักรเป็นระบบอัตโนมัติ (Automation) มีการปรับปรุงการผลิตและการบริหารจัดการด้านคุณภาพ มีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิต แทนที่การใช้แรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง

           นอกจากนี้การผสมผสานเครื่องจักรเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์และไอที ยังได้มีการเชื่อมโยงไปสู่ระบบโซ่อุปทาน (Supply Chain) และโลจิสติกส์ การบรรจุหีบห่อ ระบบการค้าปลีกค้าส่ง เข้าด้วยกัน และในสำนักงาน มีการนำระบบอินเทอร์เน็ตผ่านระบบลีดไลน์และระบบอีดีไอ (EDI) ทำให้การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อมการให้บริการกับหน่วยงานราชการ เช่น NSW: National Single Window และระบบ E-government เป็นต้น

          ทั้งนี้การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 3 นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ในช่วงต้นของยุค 1970 นวัตกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ทำให้ดาวเทียมเป็นกลไกเชื่อมโยงข้อมูลในแบบเรียลไทม์ ทั้งเสียง ข้อมูลและภาพ นำมาสู่ระบบ Electronics Online เมื่อนำเข้ามาในสายการผลิตก่อให้เกิดการเชื่อมโยงโซ่อุปทานการผลิต นำไปสู่การลดต้นทุนทั้งด้านการขนส่งและสินค้าคงคลัง เป็นยุคของการผลิตแบบลีน (Lean Production) ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่ให้ความสำคัญกับการผลิตที่ไม่มีส่วนเกินในทุกกระบวนการผลิต เป็นการผสมผสานการผลิตระหว่างมนุษย์ เครื่องจักรอัจฉริยะ หุ่นยนต์ฉลาดคิด (Intelligent Robotic) นวัตกรรมการจัดการโซ่อุปทานการผลิตและโลจิสติกส์ ยุคสมัยนี้เป็นการปฏิวัติการผลิตอย่างสิ้นเชิง

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industrial Revolution 4.0) ยุคอุตสาหกรรมอัจฉริยะและสังคมดิจิทัล (Smart Industrial & Digital Society) (ค.ศ.2013-2033) เป็นยุคของการต่อยอดการผลิตแบบลีนสู่การผลิตแบบ Cyber Physical Production ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งคือสามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง พูดง่าย ๆ ก็คือโรงงานในยุคที่ 3 สามารถผลิตสินค้าแบบเดียวกันจำนวนมากในเวลาอันสั้น แต่โรงงานในยุคที่ 4 นี้ จะสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละรายเป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรในแบบ Smart Factory โดยคาดว่าโลกจะเข้าสู่อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่นี้อย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.2033

 

 

INDUSTRY 4.0 พลิกโฉมหน้าการผลิต สู่โลกอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

             การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะเป็นการบูรณาการโลกของการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ ‘Internet of Things (IoT)’ โดยทุกหน่วยของระบบการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์หน่วยต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกติดตั้งระบบเครือข่ายเพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยน ข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างอิสระ เพื่อการจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมด

            จุดเด่นของอุตสาหกรรม 4.0 คือการที่เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติสามารถเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเครือข่ายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จึงสามารถแบ่งปันข้อมูลข่าวสารถึงกันหมด รวมทั้งสามารถใช้ทรัพยากรบางส่วนร่วมกันได้ เครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 จะมีความสามารถที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านการทำงานด้วยตนเอง ความยืดหยุ่นและการปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขการผลิต มีความสามารถในการตรวจสอบและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ นอกจากนี้ เครื่องจักรในอนาคตจะมีโปรแกรมสำหรับตรวจสอบและดูแลสุขภาพของเครื่องจักร เพื่อยืดอายุการทำงานของเครื่องจักร อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนการผลิตและประเมินประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร กล่าวคือ เครื่องจักรจะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นนั่นเอง

 

          นอกจากตัวเครื่องจักรที่เป็นอัจฉริยะแล้ว โรงงานในยุค 4.0 ก็จะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นด้วย โดยที่โรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory จะสามารถกำหนดระบุกิจกรรมเงื่อนไขรวมทั้งสภาพแวดล้อมของการผลิต สามารถสื่อสารกับหน่วยอื่น ๆ ได้อย่างอิสระแบบไร้สาย สามารถผลิตสินค้าตามคำสั่งโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น เวลา ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง การรักษาความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ เป็นระบบการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด 

         เนื่องจากเทคโนโลยีของ Industry 4.0 ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือการผสมผสานเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบรับความต้องการของตลาดได้ สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โลกอนาคต จะต้องปรับสู่ Industry 4.0 โดยมีแนวทางองค์ประกอบ 9 ด้าน อันประกอบด้วย

  1. หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Robots) มาเป็นผู้ช่วยในการผลิต
  2. การสร้างแบบจำลอง (Simulation) เช่น การพิมพ์แบบ 3D เสมือนจริง
  3. การบูรณาการระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (System Integration)
  4. การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things) ที่ทำให้เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ
  5. การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Cybersecurity)
  6. การประมวลและเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ (Cloud Computing)
  7. การขึ้นรูปชิ้นงานด้วยเนื้อวัสดุ Additive Manufacturing เช่น การขึ้นรูปชิ้นงานในเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
  8. เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนโดยผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ทีวี 3 มิติ เครื่องเล่นเกม
  9. ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) คือชุมนุมของชุดข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน มีทั้งการบันทึกและจัดเก็บ การค้นหา การแบ่งปัน และการวิเคราะห์ข้อมูล

           ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหลัก ๆ ของอุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วยสองส่วนสำคัญ คือ ด้านฮาร์ดแวร์ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ และระบบคอนโทรลต่าง ๆ แต่อีกส่วนที่สำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 คือ ด้านซอฟต์แวร์ซึ่งคาดกันว่า Internet of Things (IoT) และ Cyber-Physical Production Systems (CPPS) จะทำให้เกิดข้อมูลในระบบการผลิตขึ้นอย่างมหาศาลซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการ นี่จะเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพราะว่าเรามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ไม่น้อย ดังนั้นหากเรามีความเข้าใจและเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่น เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และรักษาสถานะการเป็นประเทศผู้ผลิตที่สำคัญของภูมิภาคและของโลกไว้ได้

   

อุตสาหกรรมในอนาคต จะประกอบด้วย

  1. อุตสาหกรรมแบบดิจิทัล (Digital Demand) การผลิตและการจัดส่งสินค้าจะเป็นแบบเรียลไทม์ช่องทางจำหน่ายผ่านทางสมาร์ทโฟน
  2. อุตสาหกรรมเชื่อมโยงอวกาศและดาวเทียม (Space & Satellite) อุตสาหกรรมในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าดาวเทียมและอวกาศจะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  3. อุตสาหกรรมสะอาด (Green Industry) การให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัจจัยพื้นฐานของสินค้าและอุตสาหกรรม เกี่ยวข้องกับข้อมูล การตรวจสอบย้อนกลับของผู้บริโภค
  4. โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) อุตสาหกรรมในอนาคตจะขับเคลื่อนจากความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง (Unique) ทำให้การจัดส่งและโลจิสติกส์มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สมาร์ทโลจิสติกส์ ในสายการผลิตภายใต้อุปสงค์แบบยูนิค และการขาดแคลนแรงงาน เครื่องจักรจะต้องเป็นเครื่องจักรอัจฉริยะแบบอัตโนมัติ (Autonomous) ควบคุมโดยหุ่นยนต์ (Mechatronics & Robotic Industry)
  5. อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-technology) โลกแห่งอนาคตมนุษย์จะอายุยืนขึ้น โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญต่ออาหารและสินค้าเพื่อสุขภาพ ขณะเดียวกันความต้องการสินค้าที่ปลอดสารพิษจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์และวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมไบโอ-พลาสติก (Bio-plastic) จะเป็นโอกาสเพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
  6. อุตสาหกรรมย้อนกลับ (Reverse Manufacturing) อุตสาหกรรมในอนาคตภายใต้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กอปรทั้งระบบโลจิสติกส์ซึ่งมีต้นทุนต่ำจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำกว่าในปัจจุบันมาก อีกทั้งเทคโนโลยีเหล่านี้มาจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น อาจไม่ต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก โอกาสที่บางอุตสาหกรรมอาจย้ายฐานการผลิตย้อนกลับไปประเทศพัฒนาแล้ว

INDUSTRY 4.0 บทบาทสำคัญ ขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

 

           นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ถูกผลักดันขึ้นในช่วงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีความสอดคล้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในสองทศวรรษหน้า เป็นการปฏิรูปแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยแบ่งยุคการปฏิวัติหรือแบ่งยุคเศรษฐกิจเป็น 4 ยุค ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวโดยแบ่งเป็น 4 ช่วง สิ้นสุดในปี พ.ศ.2579 ซึ่งจะสอดรับกับแนวคิด อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่โดยคาดการณ์ว่าโลกในอนาคตจะเป็นสังคมดิจิทัล (Digital Society) ซึ่งอุตสาหกรรมที่แข่งขันได้จะต้องยกระดับเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ หรือเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 โดยกำหนดว่าในปี พ.ศ.2576 (ค.ศ.2033) จะเข้าสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรม

          นอกจากนี้ ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นการปฏิรูปขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจซึ่งมีมูลค่า (Value Based Economy) เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลแห่งอนาคต และไม่ใช่เฉพาะด้านอุตสาหกรรมแต่ต้องครอบคลุมไปถึงบริการในทุกสาขา รวมไปถึงภาคเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งจะเป็นแรงงานและผู้ประกอบการใหม่แห่งอนาคตอีกด้วย

สำหรับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 เท่าที่ปรากฏอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมจะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอุตสาหกรรมอันประกอบด้วย

  1. อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพ (Bio-based Industry Cluster) เช่น กลุ่มอาหาร เกษตรแผนใหม่ เทคโนโลยีชีวภาพ
  2. อุตสาหกรรมใหม่ (Renewable Industry) เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีสมองกล
  3. อุตสาหกรรมวิศวกรรมและการออกแบบ (Engineering & Design Industry) เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฮเทคอัจฉริยะ และหุ่นยนต์ประเภทโรโบติก
  4. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness Industry Cluster) ทั้งด้านสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวและเครื่องทุ่นแรงในบ้าน
  5. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ทางปัญญา (Wisdom Creative Economy) เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน งานด้านศิลปกรรม วัฒนธรรม

 

10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

           สำหรับแนวคิดในการก้าวข้ามจากกับดักของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีฐานะร่ำรวย (High Income Countries) ด้วยการสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งการจะก้าวไปถึงจุดเปลี่ยนได้นั้น ประเทศไทยจำเป็นจะต้องสร้างธุรกิจ และอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งภาครัฐได้ผลักดันประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการผลักดันศักยภาพของประเทศไทย ด้วยการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย10 อุตสาหกรรม ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ประกอบด้วย การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ ปัจจัยการผลิต ซึ่งการลงทุนชนิดนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และระยะกลาง 5 อุตสาหกรรม ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์
    2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
    3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
    4. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
    5. อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

            และเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ โดยมองว่าการจะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจำเป็นต้องมีการพัฒนา New S-Curve ควบคู่ไปด้วย เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
    2. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
    3. อุตสาหกรรมขนส่ง และการบิน
    4. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง และเคมีชีวภาพ
    5. อุตสาหกรรมดิจิตอล

             โดยภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม และผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าว ผ่านแนวคิดของการสร้างคลัสเตอร์ในแต่ละอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี (SME) ในอุตสาหกรรมเดียวกันในลักษณะคลัสเตอร์ เกื้อหนุน และผลักดันต่อไป

 

 

อุตสาหกรรม 4.0 ไทยพร้อมรับมืออย่างไร 

 

          อุตสาหกรรม 4.0 กับไทยแลนด์ 4.0 มีความสอดคล้องกันเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตซึ่งเริ่มจากการผลักดันของประเทศเยอรมนีโดยการประกาศเป็นนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ไว้ในแผนพัฒนาประเทศ (ค.ศ.2013-2033) ขณะที่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เป็นกรอบและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใน 2 ทศวรรษหน้า จากตารางเปรียบเทียบที่ 1 จะเห็นถึงพัฒนาการในแต่ละยุค โดยอุตสาหกรรม 4.0 จะเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ

          อุตสาหกรรมในแต่ละช่วงจะมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจของไทย และจะเห็นชัดเจนได้จากยุคที่ 2 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดีภายใต้แผนการขับเคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ หลายประเทศได้กำหนดแนวทางต่างกันเริ่มจากการผลักดัน นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศเยอรมนี (2013-2033) ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดทิศทางประเทศไปสู่ Nation of Makers โดยทำเนียบขาวผลักดันนโยบายเป็นผู้นำแห่งเทคโนโลยีและโรงงานแห่งอนาคต สำหรับประเทศอังกฤษซึ่งกำลังจะออกจากสหภาพยุโรป ประกาศนโยบาย Design of Innovation ประเทศจีนประกาศนโยบายอุตสาหกรรมยุคใหม่ Made in China 2025 ที่จะผลักดันให้จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้า อีกทั้งประเทศเกาหลีใต้ ชูนโยบาย Creative Economy อินเดียผลักดันเป็นโรงงานของโลกด้วยนโยบาย Made in India และประเทศมาเลเซียประกาศนโยบาย Development Country 2020 มาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว

          สำหรับประเทศไทยซึ่งต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรม 4.0 การประกาศนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุกด้านเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล เน้นส่งเสริมการขยายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งเสริม E-Commerce, E-Documents และ E-Learning สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นการวางพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้ไทยก้าวเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังเป็นการปูทางรองรับ Industry 4.0 อีกด้วย

 

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบพัฒนาการในแต่ละยุคระหว่างอุตสาหกรรม 4.0 และไทยแลนด์ 4.0

 

 

 

ภาคธุรกิจกับการเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0

 

         การเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่เป็นวิสัยทัศน์ธุรกิจระยะยาว เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ ผู้บริหาร ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม แทบจะทุกราย จำเป็นต้องประเมินขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรม 4.0 ความคิดริเริ่มมาจากชาติตะวันตกและประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะตระหนกจนเกินเหตุ เพราะในแต่ละยุคของการเปลี่ยนแปลงใช้เวลาพอสมควร ทำให้การปรับตัวของผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมจะมีช่วงหน่วงหรือช่วงรอยต่อของการปรับตัวเกี่ยวกับการวางแผนให้สอดคล้องกับธุรกิจ

         การนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ไม่มีสูตรสำเร็จ เทคโนโลยีชั้นสูงล้วนเริ่มต้นจากประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตร ต้องยอมรับความจริงว่าอุตสาหกรรมไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ไม่ใช่เป็นผู้พัฒนาและผลิต ดังนั้นการได้มาของเทคโนโลยีใหม่จึงเป็นเรื่องของการนำเข้า และหรือบริษัทแม่ต่างชาติที่ยังเห็นประโยชน์การลงทุนในประเทศไทยนำเข้ามาลงทุน เพียงแต่ว่าต้องรู้จักเลือกนำเข้าเทคโนโลยีที่มีต้นทุนที่สูงให้เหมาะสมกับลักษณะของอุตสาหกรรมและตลาด

         การปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับแต่ละช่วงของการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมใหม่และไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นการพัฒนาการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าแข่งขันทางธุรกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดในชั่วข้ามคืน ประเด็นสำคัญเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรทั้งเสริมจุดแข็งและแก้ปัญหาจุดด้อย เพื่อให้ยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในแต่ละช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง

         เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม การปรับตัวต่อการก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรมอัจฉริยะและภูมิศาสตร์ธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ภายใต้องค์ประกอบของเศรษฐกิจในปี ค.ศ.2033 เกี่ยวข้องกับการปรับตัวระยะยาวของธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่ กลางเล็ก หรือวิสาหกิจประเภทไมโครจะต้องเตรียมพร้อมด้วยการจัดทำแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะต้องแปลงเป็น ยุทธศาสตร์เชิงธุรกิจ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่จากอดีตในแต่ละยุค พบว่ามีเวลาของการปรับตัวที่จะเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจและลักษณะการผลิต การนำเข้าเทคโนโลยีล้ำยุคมีต้นทุนสูง หากลงทุนเร็วไปขณะที่ตลาดยังไม่ตอบสนองอาจเกินความจำเป็นไม่คุ้มค่าและมีภาระของต้นทุนเงิน อีกทั้งเทคโนโลยีในช่วงการเปลี่ยนถ่ายอาจยังไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว จึงควรเลือกที่เหมาะสมกับการแข่งขันและเหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา

         การพัฒนาคนคือหัวใจของการก้าวสูเศรษฐกิจแห่งอนาคต การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ.1784 คือการก้าวผ่านจากการใช้แรงงานคนและสัตว์มาเป็นเครื่องจักรไอน้ำ คาดว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ.2033 เครื่องจักรอัจฉริยะภายใต้การควบคุมของหุ่นยนต์ฉลาดคิด ขณะที่ไบโอ-เทคโนโลยี, เทคโนโลยีอวกาศเชิงพาณิชย์, นาโนเทคโนโลยี รวมทั้งสังคมดิจิทัล ซึ่งเชื่อมโยงด้านระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกสรรพสิ่ง (IOT : Internet of Things) ทั้งหมดเป็นสิ่งประดิษฐ์จากมนุษย์ ดังนั้นโลกในอนาคตจึงต้องการคนทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริหาร รวมทั้งแรงงานที่เป็นอัจฉริยะ (Smart Employee)

         ทั้งนี้การพัฒนาคนอาจทำเป็นแบบเหมารวมไม่ได้ คงต้องแบ่งกลุ่มและช่วงเวลาให้เหมาะสม เช่น ระยะยาวอาจต้องปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่หมด ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม อาชีวะ และมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการผลิตบุคลากร ครู อาจารย์ที่เป็นอัจฉริยะเพื่อถ่ายทอดความเป็นอัจฉริยะให้คนรุ่นใหม่ อีกทั้งการพัฒนาข้าราชการแห่งอนาคตซึ่งจะเป็น Smart Government จะมีวิธีอย่างไรเพราะคนกลุ่มนี้เป็นส่วนสำคัญในการกำกับและขับเคลื่อนทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับระเบียบและกฎหมาย รวมทั้งควบคุมคนในสังคม ประเด็นคือจะมีแนวทางอย่างไรในการขับเคลื่อนคนในหน่วยงานรัฐให้สามารถเดินหน้าเคียงข้างกับภาคเอกชน เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งใน 10-15 ปีข้างหน้าจะยกระดับเป็น Smart & Digital Society

          การก้าวสู่ยุค อุตสาหกรรม 4.0 คือประเด็นใหญ่ของวงการอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตอย่างสิ้นเชิง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค อาทิ เครื่องจักรกลที่คิดได้และสื่อสารเป็น เทคโนโลยี 3D Printing ที่สามารถเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นวัตถุของจริงที่จับต้องได้ หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์เสมือนเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง นอกนั้นยังมีเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT ที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางทำให้การสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักร และระหว่างเครื่องจักรด้วยกันเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ภายใน 20 ปีข้างหน้านี้ อาจทำให้หลายประเทศมีการตื่นตัวกับผลกระทบที่จะตามมาด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจาก ปัจจุบันทุกประเทศบนโลกมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนในทุกมิติ ทั้งความร่วมมือทางการค้า ความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า ในอีกมุมหนึ่ง ย่อมเกิดการแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ด้วยเหตุผลประการหลังนี้เอง หลายประเทศจำเป็นต้องปรับตัวสู่การพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ตามกันไป เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองในการแข่งขันในเวทีของตลาดโลกนั่นเอง 

 

เรียบเรียงข้อมูลจาก
• เอกสารประกอบการบรรยาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม 4.0...การปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ วันที่ 10 สิงหาคม 2559 (http://www.tanitsorat.com)
• เอกสารประกอบการบรรยาย ‘การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ ประเทศไทย 4.0’ โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
• เอกสารประกอบการบรรยาย ‘การพัฒนาผลิตภาพแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์’ โดย ดร.สุรัส ตั้งไพฑูรย์ วันที่ 13 ธันวาคม 2559
• http://www.applicadthai.com/articles/พลิกโฉมหน้าการผลิต-ปฏิวัติโลกอุตสาหกรรมครั้งที่-4-industry-4-0/industry-4-0/

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด