เนื้อหาวันที่ : 2017-02-03 17:07:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1644 views

กองบรรณาธิการ

 

 

มร.เดวิด ออกาซ (ซ้าย) รองประธานอาวุโส ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ชไนเดอร์ อิเล็คทริค และ มร.แมทธิว กอนซาเลซ (ขวา) รองประธาน หน่วยธุรกิจอุตสาหกรรม ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย

 

การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงความต้องการในการปรับปรุงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยในเศรษฐกิจที่เติบโต นับเป็นการสร้างโอกาสครั้งสำคัญไปสู่การเติบโต สิ่งที่ควบคู่กันมาก็คือ องค์กรขนาดใหญ่ต่างมองหาวิธีการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานตลอดทั่วทั้งองค์กร พร้อมกับการปรับปรุงเรื่องของความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานรวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน

 

     ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จัดงาน ‘Connect 2016’ งานแสดงนวัตกรรมโซลูชันด้านความปลอดภัย และระบบควบคุม รวมถึงกระบวนการอัตโนมัติ ที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำทางความคิด และนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม นับเป็นการพลิกโฉมวงการ มาสู่ยุค Industry 4.0 ได้อย่างล้ำหน้าก่อนใคร ด้วยเทคโนโลยี IIOT (Industry Internet of Things) ที่ช่วยประสานการทำงานระหว่างระบบปฏิบัติการ และไอทีมารวมกัน ช่วยให้สามารถบริหารจัดการสินทรัพย์ได้ทั้งหมด และใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความแม่นยำ รวดเร็ว และคาดการณ์ได้ นำโดย มร.เดวิด ออกาซ (ซ้าย) รองประธานอาวุโส ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ชไนเดอร์ อิเล็คทริค และ มร.แมทธิว กอนซาเลซ (ขวา) รองประธาน หน่วยธุรกิจอุตสาหกรรม ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนมิราจ บีช รีสอร์ท

 

ระบบออโตเมชั่นสำหรับอุตสาหกรรม
การปฏิวัติครั้งที่ 4 ของวงการอุตสาหกรรม

 

          การเปลี่ยนโฉมทางดิจิทัล มาสู่ Industry 4.0 ยังเป็นที่รับรู้ว่า เป็นการปฏิวัติครั้งที่ 4 ของวงการอุตสาหกรรม ซึ่งช่วงเวลาของการเปลี่ยนถ่ายครั้งนี้ สิ่งสำคัญก็คือ การผสานรวมระบบควบคุมและข้อมูล ในการควบคุมกระบวนการทำงานแบบเรียลไทม์ และสภาพแวดล้อมการบริหารจัดการข้อมูลทางธุรกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชไนเดอร์กำลังเปลี่ยนอนาคตของระบบออโตเมชั่น (Future of Automation) โดยการเปลี่ยนโฉมไปสู่ดิจิทัลนั้น จำเป็นต้องอาศัยการผสานรวมระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และเทคโนโลยีระบบปฏิบัติการ (OT) เข้าด้วยกันกลายเป็น IIoT ก็คืออินเทอร์เน็ตออฟธิงส์สำหรับภาคอุตสาหกรรมนั่นเอง

 

          สำหรับมูลค่าการตลาดโดยรวมทั่วโลกของ IIoT นั้น ประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 14 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนศักยภาพของผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมเข้าสู่ความเป็น IIoT นั้น จากผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก 84% พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ IIoT และระบุว่า IIoT จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า แต่จากการสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบการที่แท้จริงแล้ว มีเพียงแค่ 7% เท่านั้นที่มีความพร้อมจริง ๆ มีโร้ดแม็ปที่ชัดเจน ส่วนที่เหลือนั้น ยังมีความรู้สึกว่าไม่ได้มีความเร่งด่วนมากนักในการเข้าสู่ความเป็น IIoT แต่ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว ความต้องการของผู้ประกอบการนั้น นอกจากเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพในการกระบวนการให้ดีขึ้นแล้ว ยังมีอีกหลายมิติที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากในอนาคตนั้นรูปแบบทางด้านธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หรือแม้แต่ความต้องการทางตลาดที่มีความหลากหลายขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันในโลกอนาคต

 

          ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันคือ ภายในโรงงานจะมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อหรือเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้ แต่ไม่สามารถที่จะนำข้อมูลไปสังเคราะห์หรือนำข้อมูลไปใช้ได้ ดังนั้นหน้าที่ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค คือทำให้ระบบซอฟต์แวร์ที่เป็นอนาไลติกเป็นระดับที่จะตัดสินใจได้เลย ช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น สามารถควบคุมได้แบบเรียลไทม์ บนแพลตฟอร์มแบบโอเพ่น ที่สามารถใช้งานกับผลิตภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาดได้

               

          ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จะช่วยให้ลูกค้าและคู่ค้ามีความได้เปรียบมากขึ้นจากการเปลี่ยนโฉมไปสู่ดิจิทัล ด้วยการนำเอาไอโอทีมาปรับใช้ในเชิงรุก ซึ่งจากเดิมผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสามารถเชื่อมต่อและมอนิเตอร์ได้แค่บางสินทรัพย์ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไอโอที จะทำให้สินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ในโรงงานสามารถเชื่อมต่อ และบริหารจัดการได้ทั้งหมด และใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งจะช่วยสร้างโอกาสหรือธุรกิจใหม่ที่นำเสนอคุณค่าใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าได้

 

          เทคโนโลยีของชไนเดอร์ อิเล็คทริค จะช่วยให้ลูกค้าตระหนักถึงคุณค่าทางธุรกิจอย่างแท้จริง จากการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีระบบปฏิบัติการ อีกทั้งช่วยให้ได้รับผลกำไรจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากความสามารถเหล่านี้ ได้แก่ การควบคุมแบบอัจฉริยะ (Smart Control for Operational Efficiency & Business Profitability) การเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน (Empowered Workforce) การใช้สินทรัพย์ได้เกิดประโยชน์สูงสุด (Optimized Assets/Asset Performance)

 

          ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้แผ่ขยายครอบคลุมในส่วนของกระบวนการทำงานอัตโนมัติ (Process Automation) มีฐานผู้ใช้งานที่แข็งแกร่งในส่วนของการวัดคุมและระบบควบคุมการทำงานแบบกระจายศูนย์ (Distributed Control Systems & Instrumentation) ซึ่งรู้จักกันดีภายใต้แบรนด์สินค้า Foxboro และ Safety Systems (อยู่ภายใต้แบรนด์ Triconex) รวมถึงซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งเพื่อการบริหารจัดการส่วนปฏิบัติการด้านการผลิต (Wonderware) เพื่อการจำลองการทำงาน/รูปแบบการทำงาน (SimSci) รวมถึงการบริหารจัดการสินทรัพย์ (Avantis) ในส่วนโซลูชั่นด้านพลังงาน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค สามารถรองรับได้เกือบทุกกลุ่มของอุตสาหกรรม รวมไปถึง อุตสาหกรรมโรงกลั่น ปิโตรเคมี น้ำมันและก๊าซ

 

          โดยผลิตภัณฑ์ทุกตัวของชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีจุดแข็งก็คือการออกแบบด้วยความปลอดภัยนับตั้งแต่วันแรกที่ทำการผลิต โดยได้รับการรับรองความปลอดภัย จากสถาบันรับรองความปลอดภัย TUV ของประเทศเยอรมัน

 

สนับสนุนนโยบายภาครัฐ ไทยแลนด์ 4.0

 

          เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ประกาศวิสัยทัศน์ ‘Life is On’ ที่เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานทางด้าน IOT อย่างชาญฉลาด และเป็นวิธีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนวิถีการบริโภคพลังงานของผู้คนและองค์กร ไปสู่กระบวนการอุตสาหกรรมที่เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น และนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพในเรื่องการตัดสินใจทางธุรกิจ พร้อมกับสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนได้ทุกที่ทุกเวลา

               

          “สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศไทยที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งวิสัยทัศน์ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค มุ่งเน้นใน 3 เสาหลักนั่นก็คือ Smart Industry, Smart Building, Smart People ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเราจะสามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างดีมาก” มร.แมทธิว กอนซาเลซ กล่าว

               

          นอกจากชไนเดอร์ อิเล็คทริค จะทำงานร่วมกับลูกค้าแล้ว ปัจจุบันยังทำงานร่วมกับรัฐบาลและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิเช่น กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีสัญญาร่วมกัน 5 ปีในการที่จะพัฒนาบุคลากรที่อยู่ภายใต้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าไปฝึกอบรมให้กับบุคลากรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง หรือเข้าไปสนับสนุนและฝึกอบรมให้กับทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยทำการฝึกอบรมให้กับอาจารย์หรือนักศึกษาในทุก ๆ ปี โดยจะเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัย 1 มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

 

อุตสาหกรรมไทยมีความพร้อมเข้าสู่ IIoT

 

          แม้ว่าเทคโนโลยี IIoT จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งทำความเข้าใจ ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ โดยเลือกใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง ค่อยเป็นค่อยไป ทำทีละขั้นตอน และเลือกใช้พาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ผู้ประกอบการเองจะต้องเรียนรู้และแบ่งปันให้กับสังคม

               

          “ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมไทยที่จะก้าวไปสู่ IIoT ซึ่งที่จริงแล้วประเทศไทยมีได้เปรียบถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเพราะเราเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมทางด้านเกษตร แม้ว่าการจะนำเอาระบบออโตเมชั่นมาใช้ในกระบวนการผลิตจะกระทบต่อแรงงานอยู่บ้าง แต่ผลกระทบดังกล่าว มองว่าจะช่วยยกระดับความสามารถของแรงงานได้มากกว่าการแย่งงาน เพราะว่าถ้ายิ่งงานในระดับพื้นฐาน เราควรต้องปล่อยให้เครื่องจักรทำแทน ส่วนคนก็สามารถเข้าไปทำงานในระดับที่ใช้ความสามารถสูงขึ้น ทำให้มีการสร้างงานใหม่ ๆ ขึ้นมา เพราะด้วยเทคโนโลยีทั้งหลาย นำมาซึ่งข้อมูลที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เปลี่ยนเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถวิเคราะห์ แล้วสามารถนำไปสร้างเป็นบริการ สินค้าหรืองานใหม่ ๆ ได้อีก แทนที่จะเป็นงานเดิม ๆ ที่ใช้แรงงานปกติทั่วไป เทคโนโลยีทางด้าน IIoT เหล่านี้จะช่วยให้สามารถเราทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” มร.เดวิด ออกาซ กล่าว

 

 

โชว์เคสนวัตกรรมทั้งอุปกรณ์ - ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ควบคุมด้วยระบบออโตเมชั่น

 

บรรยากาศงาน CONNECT 2016

 

          ภายในงาน Connect 2016 ได้จัดแสดงนวัตกรรมโซลูชันด้านความปลอดภัย และระบบควบคุมรุ่นล่าสุด ที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำทางความคิดในอุตสาหกรรมของชไนเดอร์ อิเล็คทริค รวมถึงการดำเนินธุรกิจด้านกระบวนการอัตโนมัติ (Process Automation) เพื่อนำเสนอคุณค่าให้แก่ลูกค้าได้แข็งแกร่ง และมั่นคงยิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ภายในงานยังได้เชื่อมโยงมืออาชีพ ลูกค้า พันธมิตร พนักงาน รวมถึงนักวิเคราะห์และสื่อ ที่หลากหลายในวงการ Process Automation เพื่อมาร่วมถกประเด็นพร้อม ต่อยอดความรู้ แลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันมุมมองเชิงลึกและประสบการณ์จริงในการทำงานระดับโลก การเชื่อมต่อ ยังได้อ้างถึงสายผลิตภัณฑ์ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่มีทั้งความโดดเด่นและผสมผสานได้อย่างลงตัว โดยช่วยปรับปรุงในเรื่องของความปลอดภัย ความเสถียร และประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการทำธุรกิจของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

 

          นอกจากนี้ยังมีห้อง Control Room ที่จัดสาธิตขึ้นเฉพาะสำหรับนักอุตสาหกรรม 3 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้า (Power Industry) อุตสาหกรรมน้ำมัน (Oil & Gas Industry) อุตสาหกรรมน้ำและบำบัดน้ำเสีย (Water & Waste Water Treatment) ที่ได้ผสานการทำงานด้วยระบบ Automation Control System อย่างเต็มรูปแบบ

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด