เนื้อหาวันที่ : 2017-02-03 11:52:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2919 views

สิริรัตน์ วารีรำพึงเพลิน

 

 

ต้องยอมรับว่า ในห้วงเวลานี้ปวงชนชาวไทยต้องเผชิญกับสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม2559 ที่ผ่านมา สร้างความโศกเศร้าทั้งแผ่นดิน ผู้คนหลั่งไหลไปถวายสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ที่ศาลาสหทัยสมาคมและถวายบังคับพระบรมศพ ในพระบรมมหาราชวังอย่างไม่ขาดสาย ด้วยความมุ่งมั่น รอคอย แม้ต้องรอนานหลายชั่วโมง ไม่หวั่นแม้ต้องฝ่าฝูงคนที่เนืองแน่นและต้องทนสู้กับสายฝน หรือแม้ในวันที่แสงแดดแผดจ้า

 

     อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางแห่งความเศร้าโศกอาลัยนี้ ยังมีแง่มุมดี ๆ ให้เราได้เห็น การได้เห็นคนไทยรักกัน ช่วยเหลือกัน มีกลุ่มจิตอาสาทำงานด้านต่าง ๆ มากมายหลายด้าน ในที่นี้รวมถึงจิตอาสาช่วย “เก็บขยะ” ด้วยเช่นกัน ซึ่งเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติเมื่อมีการรวมกลุ่มฝูงชนจำนวนมากนับหลายหมื่นคน จนถึงหลักแสนคนบริเวณสนามหลวงและรอบพระบรมมหาราชวัง แต่ความจริงแล้ว ไทยเป็นชาติหนึ่งที่สะสมขยะไว้มหาศาล ทั้งขยะบนบกและขยะในทะเล โดยเฉพาะ “ขยะในทะเล” นั้น ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะมากที่สุดในโลก เป็นชื่อเสียที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขด้วยสติปัญญาอย่างเต็มกำลัง นับจากการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชน สร้างพฤติกรรมการทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง ไปจนถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดขยะ หรือนำขยะไปผันใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป

 

 

ขยะโลก-ขยะไทยมหึมารอสะสาง

 

          ทั้งนี้ที่ผ่านมากล่าวได้ว่า ปริมาณขยะทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนที่เป็นขยะบนบกนั้น จาก รายงานของธนาคารโลก ปี 2555 พบว่า ทั่วโลกสร้างขยะมากกว่า 3.5 ล้านตันต่อวัน ในปี 2553 พร้อมประเมินว่าในปี 2568 ขยะจะเพิ่มขึ้นอีกราว 70% เป็นมากกว่า 6 ล้านตันต่อปี

 

          ในปี 2556 เมืองต่าง ๆ สร้างขยะใส่รถบรรทุกเรียงต่อกันได้ยาวกว่า 5,000 กิโลเมตรต่อวัน และเมื่อมีขยะมากมายดังกล่าว โลกจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเฉพาะในปี 2553 มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 205 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะไต่ขึ้นเป็น 375 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 โดยเฉพาะในชาติพัฒนาแล้วต่าง ๆ 

 

          สำหรับปริมาณขยะในไทยนั้น จากเว็บไซต์กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการศึกษาพบว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ประเมินจากข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พบว่า ในปี 2556 มีปริมาณถึง 20,715 ล้านตัน หรือมีขยะเกิดขึ้น 56,753 ตันต่อวัน ส่วนขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครนั้น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเมินว่ามีราว 4.137 ล้านตัน หรือประมาณ 11,334 ตันต่อวัน  

 

          ส่วนในปี 2557 ขยะมูลฝอยทั้งประเทศมีประมาณ 26.19 ตัน หรือคนไทยทิ้งขยะกันเฉลี่ย 1.11 กิโลกรัมต่อคนต่อวันเลยทีเดียว

 

 

ขยะในทะเลไม่แพ้บนบก ไทยซิวอันดับ 6 ใน 10 อันดับโลก

 

          สำหรับปริมาณขยะในทะเลและมหาสมุทรนั้น มีอยู่จำนวนมหาศาลไม่แพ้กัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก โดยในการวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Science ช่วงต้นปี 2015 ผลงานของทีมนักวิจัย นำโดย เจนน่า แจมเบ็ค วิศวกรสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์เจีย เป็นการสำรวจ 192 ประเทศติดชายฝั่งทะเลปี 2553 เพื่อคำนวณปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปี พบว่า มหาสมุทรไม่ต่างจากถังขยะขนาดมหึมารองรับขยะพลาสติกประมาณ  8 ล้านตันต่อปี และตัวเลขนี้คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 155 ล้านตันต่อปีภายในปี 2568

 

 

          แจมเบ็ค เปรียบเทียบขยะกว่า 8 ล้านตันต่อปี ให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่า เท่ากับเวลาที่เราเดินเท้าไปรอบโลก โดยแต่ละย่างก้าวได้ทิ้งถุงพลาสติกไปด้วย 5 ถุง และจะเพิ่มเป็น 10 ถุง ในปี 2568 ส่วนภาพรวมของ 129 ประเทศ ทิ้งขยะพลาสติกกันมากถึง 275 ล้านตัน โดยที่แต่ละประเทศทิ้งกันระหว่าง 4.8-12.7 ล้านตัน

 

          ทั้งนี้ ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้พลาสติกสูงที่สุดของโลกด้วย โดยจีนทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลราว 8.82 ล้านตันต่อปี อันดับ 2 อินโดนีเซียปริมาณ 3.22 ล้านตัน อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ปริมาณ 1.88 ล้านตัน อันดับ 4 เวียดนามปริมาณ 1.83 ล้านตัน และอันดับ 5 ศรีลังกา 1.59 ล้านตัน

 

          ด้านประเทศไทยที่มีประชากรเพียง 65 ล้านคนติดอันดับที่ 6 ของประเทศปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรด้วยปริมาณ 1 ล้านตัน แซงหน้าประเทศที่มีประชากรหนาแน่นกว่า 1,000 ล้านคนอย่างอินเดียเสียอีก โดยอินเดียอยู่ในอันดับ 12

 

          ในขณะที่สหรัฐอเมริกาปล่อยขยะลงสู่ทะเลเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ทั้งที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีประชากรตามชายฝั่งทะเลหนาแน่น และเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ เหตุผลเพราะมีศักยภาพในการกำจัดขยะได้ดี

อย่างไรก็ตามขยะพลาสติกมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยในรายงานของแจมเบ็คระบุว่า ในปี 2555 อุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกใช้พลาสติกกันมากถึง 288 ล้านตัน

 

          ด้านผลการศึกษาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยกาดิซ ประเทศสเปน นำโดยอันเดรส โกซาร์ ที่มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2553 พบว่า ขยะพลาสติกในทะเลเปิด เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดการปนเปื้อนในมหาสมุทร ในสัดส่วนที่สูงถึง 8% ของตัวอย่างน้ำทะเล จำนวน 3,070 ตัวอย่างที่ทีมวิจัยเก็บจากมหาสมุทรต่าง ๆ ทั่วโลก 

 

          ทีมของโกซาร์ยังพบอีกว่า บริเวณน่านน้ำบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก มีการปนเปื้อนโดยขยะพลาสติกในสัดส่วนสูงที่สุดในโลกถึงราว 12.4 ตัน และมีปริมาณขยะพลาสติกสูงกว่ามหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือที่พบขยะพลาสติกราว 6.7 ตันถึงเท่าตัว 

 

          ส่วนมหาสมุทรอินเดียกลายเป็นน่านน้ำที่มีปริมาณขยะพลาสติกน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับน่านน้ำแห่งอื่น ๆ ของโลก โดยมีปริมาณขยะพลาสติกเพียงประมาณ 5.1 ตันเท่านั้น

 

นอกจากขยะพลาสติกแล้ว ขยะในทะเลยังเป็นวัสดุจำพวกแก้วหรือกระเบื้อง กระดาษ โลหะ ไม้ และอื่น ๆ อีกมากมาย

 

 

 

ขยะในทะเลมาจากไหน ?

 

          หากถามว่า ขยะในทะเลมาจากไหน ? คำตอบส่วนหนึ่ง มาจากพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทยที่ไม่เปลี่ยนนั่นเอง โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แม้ว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้จะเปลี่ยนไปแล้ว จากวัสดุธรรมชาติ มาเป็นพวกโฟมใส่อาหาร แก้วพลาสติก และอื่น ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่ามากกว่าร้อยปีด้วยกัน  

 

          อย่างไรก็ดีขยะในทะเลสามารถแบ่งได้กว้าง ๆ มาจาก 2 แหล่ง คือ ในทะเลและชายฝั่ง โดยในทะเลได้แก่ มาจากการขนส่งทางเรือ เรือสำราญและเรือท่องเที่ยว การประมงชายฝั่ง แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ

 

          ส่วนแหล่งชายฝั่งได้แก่ มาจากอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่ง การขนส่งจากแม่น้ำบริเวณชายฝั่ง นอกจากนี้ยังมาจากบ้านเรือนบริเวณชายฝั่งและการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่ง

 

          ตัวอย่างขยะที่เกิดจากภาคการท่องเที่ยว เช่น บุหรี่ ก้นบุหรี่ ขวดเครื่องดื่มและน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม รวมอุปกรณ์ทางการแพทย์ กระดาษหนังสือพิมพ์/ใบปลิว หลอดเครื่องดื่ม ถ้วย จาน ช้อน ส้อมและมีด 

 

          ส่วนขยะจากการประมง ได้แก่ เศษชิ้นส่วนเชือก อวน ที่ล่องลอยอยู่ในทะเลหรือเกาะติดตามหินและปะการังใต้ทะเล

 

          ขยะในทะเลเหล่านี้ใช้เวลาย่อยสลายต่างกัน บางชนิดต้องใช้เวลาในการย่อยสลายยาวนาน บางชนิดใช้เวลานานมาก เช่น  กระดาษชำระใช้เวลาในการย่อยสลาย 2-4 สัปดาห์ หนังสือพิมพ์ 6 สัปดาห์ เปลือกและเศษผลไม้ 2 เดือน ไม้อัด 1-3 ปี ถุงพลาสติก 10-20 ปี กระป๋องบรรจุอาหาร 50 ปี กระป๋องเครื่องดื่ม 200 ปี ขวดน้ำพลาสติก 450 ปี ผ้าอ้อมเด็ก 450 ปี เอ็นตกปลา 600 ปีและขวดแก้ว ใช้เวลา 1 ล้านปีขึ้นไป

 

ตาราง แสดงระยะเวลาการย่อยสลายของขยะ

 

 

ขยะบดบังความสวยงามของท้องทะเล-อันตรายต่อสัตว์

 

          เมื่อขยะแต่ละประเภทต้องใช้เวลาในการย่อยสลายแตกต่างกัน ตั้งแต่ย่อยสลายได้ง่ายไปจนถึงยาวนานนับล้านปี ขยะที่ล่องลอยอยู่ในทะเลจึงย่อมส่งผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสามารถสร้างปัญหาให้ต้องตามแก้หลายอย่างดังนี้

 

          • บดบังความสวยงามของพื้นที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ

 

          ผลกระทบเบื้องต้นที่เชื่อว่า ทุกคนรู้สึกได้ตั้งแต่แรกเห็น คือ ขยะในท้องทะเลทำลายความสวยงามของทะเล ทำให้ไม่เจริญตา ซึ่งจะกลายเป็นมลภาวะของแหล่งท่องเที่ยวและทำลายการท่องเที่ยวตามมาได้ เช่น ทำให้หาดทรายสกปรกหรือแนวปะการังสกปรกเสียหาย ไม่เหมาะสำหรับการพานักท่องเที่ยวลงไปดื่มด่ำกับธรรมชาติใต้น้ำอีกต่อไป

 

          ตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวไทยที่ประสบปัญหานี้ ได้แก่ บริเวณชายหาดท่องเที่ยวสำคัญ  ๆ อย่าง เกาะลันตา จ.กระบี่, หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต, ชายหาดพัทยา ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี เป็นต้น ซึ่งบริเวณชายหาดมีขยะที่พัดมาจากทะเลกองสะสมอยู่เป็นปริมาณมาก โดยเฉพาะพวกเศษพลาสติก ทำให้นักท่องเที่ยวลดจำนวนลง มีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงระบบเศรษฐกิจของแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้

 

          • สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ได้

 

          ขยะที่มีคมและขยะพิษที่ถูกทิ้งลงในทะเล สามารถไปสะสมความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศได้ ซึ่งมนุษย์ได้รับผลกระทบผ่านการสัมผัสหรือจับสัตว์น้ำมาบริโภค

 

          นอกจากนี้ยังมีสัตว์น้ำจำนวนไม่น้อยต้องจบชีวิตจากการกินขยะในทะเลเข้าไป เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร หรือต้องบาดเจ็บจากเศษแหอวน เชือกรัดพัน จนขาดอากาศหายใจ

 

          อันเดรส โกซาร์ จากมหาวิทยาลัยกาดิซ ประเทศสเปน เปิดเผยว่า นกทะเลสายพันธุ์ต่าง ๆ ต้องตายเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพราะกินชิ้นส่วนขยะพลาสติกเข้าไป

 

          ส่วนพลาสติกที่แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก็ตกเป็นอาหารสัตว์ขนาดเล็กอีกเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่า ขยะในทะเลสามารถส่งผลกระทบได้ตั้งแต่สัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างแพลงก์ตอน ไปจนถึงสัตว์น้ำขนาดใหญ่อย่างวาฬได้

 

 

อนาคต 34 ปีข้างหน้าเสี่ยง พบขยะมากกว่าปลา

 

          นอกเหนือจากนั้น ขยะในท้องทะเลยังส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง ซึ่งแนวปะการังของไทยนั้นถือเป็นพื้นที่ที่มีฝูงปลาอาศัยอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงมักจะมีเรือประมงมาหาปลา และทิ้งร่องรอยอวนคลุมปะการังไว้เป็นขยะอีกประเภทหนึ่ง โดยจากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า ขยะที่พบบริเวณปะการังมากสุดได้แก่พวกเครื่องมือทำประมงที่พบมากเป็นสัดส่วนถึง 46% รองลงมาได้แก่ โลหะ 21% และอื่น ๆ เช่น ยางรถยนต์ 20%

           

          โกซาร์ เตือนว่า การล้มหายตายจากของสัตว์น้ำ จะส่งผลกระทบต่อ “ห่วงโซ่อาหาร” ของมนุษย์ในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสอดพ้องกับงานวิจัยของ มูลนิธิเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมเอลเลน แมคอาร์เธอร์ ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษจากพลาสติกจำนวน 180 คนและได้ให้ข้อมูลสอดพ้องกันว่า ขยะพลาสติกที่พบอยู่ในทุกวันนี้เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง พร้อมคาดว่า ในปี 2593 (2050) หรือในอีก 34 ปีข้างหน้า ขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะมีมากกว่าจำนวนปลาเสียอีก หากมนุษย์ยังมีพฤติกรรมดังกล่าว

 

          โดยงานวิจัยของมูลนิธิฯ นี้ ได้ถูกนำเสนอในที่ประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วย ระหว่างวันที่ 20-23 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา

 

          งานวิจัยยังระบุอีกว่า 32% ของขยะพลาสติกไม่ได้รับการกำจัดอย่างเหมาะสม โดยมีขยะพลาสติกบนโลกเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ส่วนที่เหลือถูกปล่อยทิ้งในสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงในมหาสมุทรด้วย

 

ขจัดปัญหาขยะมูลฝอย เริ่มที่ต้นตอ

 

          สำหรับการสะสางขยะที่สะสมอยู่ปริมาณมหาศาลแล้วในปัจจุบัน จำเป็นต้องรีบแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงตามมา ซึ่งต้องเริ่มนับจากต้นเหตุที่ก่อให้เกิดขยะมูลฝอย ได้แก่ ประชาชนหรือผู้สร้างขยะ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งรณรงค์สร้างความตระหนัก พร้อมจิตสำนึกที่ถูกต้องแก่ประชาชน ต้องทิ้งให้เป็นที่เป็นทางในถังขยะ แม้อยู่ระหว่างเดินทางในทะเลก็สามารถเก็บขยะเพื่อไปทิ้งและกำจัดบนบกได้

 

          ขณะเดียวกันยังต้องส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่นักเรียน เยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อให้ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมในทะเล ชี้ให้เห็นคุณค่าของ ทะเลที่สะอาด ช่วยให้มีอาหารทะเลไว้บริโภคได้อย่างยั่งยืน ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม

 

          นอกเหนือจากนั้นจำต้องใช้วิธีรณรงค์สร้างเครือข่ายเก็บขยะ ทั้งบนชายฝั่งและทะเล ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีได้อีกทางหนึ่งด้วย ที่ผ่านมามีกิจกรรมณรงค์เก็บขยะในหลายท้องถิ่น และบางกิจกรรมยังเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตามวาระสำคัญ ซึ่งน่าภูมิใจที่ในไทยมีกิจกรรมเหล่านี้ให้เห็นอยู่ ทั้งภายใต้การนำโดยหน่วยงานของราชการและในรูปของการรวมกลุ่มโดยจิตอาสา เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรณรงค์ ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะในทะเลที่นับวันจะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นทั้งต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตของผู้คน ได้มีแนวคิดดำเนินการเก็บขยะชายหาดตามกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดสากล (International Coastal Cleanup) อย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2551 โดยยึดแนวทางปฏิบัติและวิธีการดำเนินงานตามกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดสากล มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และสร้างเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับขยะในทะเลและขยายพื้นที่การเก็บขยะในทะเล

 

          ข้อมูลของขยะที่ได้จะถูกส่งไปที่หน่วยงานอนุรักษ์ชายฝั่งสากล (Ocean Conservancy) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ริเริ่มกิจกรรมนี้และรวบรวมข้อมูลจากการเก็บขยะจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก มาไว้วิเคราะห์และเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกกฎหมายใหม่ ๆ ป้องกันการทิ้งขยะลงในทะเล และส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณชน และเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนที่ทำให้เกิดขยะให้หมดไป

 

          ในไทยกิจกรรมเก็บขยะมีการตื่นตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตามเมืองท่องเที่ยวริมฝั่งทะเลทั่วไป เช่น จ.ระยอง จ.ชลบุรี จ.สตูลและ จ.ภูเก็ต ซึ่งจะจัดทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือนกันยายน ของทุกปี ตามที่กำหนดให้เป็น “วันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล”   

 

          ในส่วนการเก็บขยะในทะเลก็มีตัวอย่างให้เห็นหลายกลุ่ม เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีกิจกรรมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดชุมพรและระนอง จับมือผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว นักดำน้ำจิตอาสา ได้แก่ กลุ่มจิตอาสาโลกสีคราม อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ชุมพร บริษัท ชาวเกาะไดฟ์วิ่ง ชุมพร กลุ่มนักดำน้ำจิตอาสาอีกจำนวนมากที่ส่วนใหญ่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร และ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มาร่วมทำกิจกรรม “ทำดีเพื่อพ่อ เก็บขยะ ตัดอวนใต้ทะเล” ที่บริเวณรอบๆ เกาะร้านเป็ด เกาะร้านไก่ ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยหวังรักษาความสวยงามทางธรรมชาติเอาไว้และถวายเป็นพระราชกุศลช่วงปลายเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา

 

 

นำแนวคิดบริหารจัดการขยะใช้ พร้อมพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ

 

          นอกเหนือจากการมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปลูกฝังจิตสำนึกประชาชนและการลงมือเก็บขยะโดยตรงแล้ว ยังสามารถนำแนวทางบริหารจัดการขยะมาใช้ได้ เพื่อมุ่งลดขยะในทะเลลง หรือ ขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste Management)  ด้วยแนวคิดที่ว่า “ขยะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้” และคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยกำจัดขยะ

 

          แนวทางดังกล่าวนี้ได้นำมาใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เยอรมนี ออสเตรีย อังกฤษ ไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ นามิเบีย สวิตเซอร์แลนด์และบราซิล

 

          หลักการคือ วัตถุที่ผลิตสามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ได้มากที่สุด แม้จะไม่ทั้งหมด เพื่อช่วยลดปริมาณของเสียที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด เช่น ในปัจจุบันมีการพัฒนาพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ก้าวหน้าไปมากแล้ว ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้จากธรรมชาติ อย่าง ข้าวโพด, มันสำปะหลัง, มันฝรั่ง, ข้าว, และอ้อย เป็นต้น ย่อยสลายได้เร็วและยังสามารถเป็นอาหารของสัตว์น้ำในทะเลได้อีกด้วย โดยนำมาทำผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น แก้วน้ำ ถ้วยชาม กล่องบรรจุอาหาร กล่องเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ และตู้ลิ้นชักเก็บเสื้อผ้า ทดแทนพลาสติกที่ย่อยสลายยากได้

 

          สำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยกำจัดขยะ หากทำได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ้าง เช่น การนำขยะมาใช้ผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงอื่น ๆ ใน โครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะชุมชน ของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ทดแทนถ่านหิน นับว่า เป็นวิธีกำจัดขยะที่เป็นประโยชน์ได้ทั้งการกำจัดขยะและลดใช้ถ่านหิน โดยนำขยะจากภายในโรงงานและจากชุมชนรอบโรงงานในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและใกล้เคียงมาผ่านกระบวนการคัดแยก เฉพาะส่วนที่เป็นพลาสติกหรือเป็นเชื้อเพลิงมาใช้ ซึ่งสามารถกำจัดขยะได้สูงสุดถึงวันละ 4,000 ตัน

 

          ผลงานนี้คว้ารางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) จากการประกวด Thailand Energy Awards 2014 และยังได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวด ASEAN Energy Awards 2014 จากการเป็นตัวแทนของประเทศไทยครองอีกด้วย

 

          แนวคิดแปลงขยะเป็นพลังงาน เวลานี้หลายหน่วยงานสนใจนำมาใช้ รวมถึงทางกรุงเทพมหานครเช่นกัน โดยได้จ้างเหมาเอกชนให้ช่วยกำจัดขยะของกรุงเทพฯตั้ง “โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเขตหนองแขม” บนเนื้อที่ 30 ไร่ ซึ่งจะสามารถเผาขยะได้ไม่น้อยกว่า 300–500 ตันต่อวันและมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าได้  9.5 เมกะวัตต์ โดยบริษัท ซีแอนด์ จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มีสำนักงานใหญ่อยู่ฮ่องกง บริษัทเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ได้สัมปทาน 20 ปี ดำเนินการในรูปแบบ BOT คือ Build Operate Transfer (ก่อสร้าง ดำเนินงาน โอนสิทธิ) โดยจะโอนสิทธิ ให้ กทม. หลังระยะเวลาสัมปทานหมดลง  

นอกจากนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแล้ว นักวิจัยไทยยังสร้างสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นไบโอดีเซลคุณภาพสูงได้ด้วย โดยพัฒนา "เครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากขยะพลาสติก" ผลงานความร่วมมือของ นายคณพจ นิจสิริภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.อีสเทิร์น เอเนอร์จี พลัส จำกัด และทีมงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

 

          เครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากขยะพลาสติกที่ทางจุฬาฯ เป็นผู้ออกแบบให้ เป็นเครื่องไพโรไลซิสแบบ 2 ห้องปฏิกรณ์ โดยส่วนแรกมีทำหน้าที่ ปั่นแยกชีวมวลพวกเศษดินเศษหินออกจากขยะพลาสติก ซึ่งขยะชีวมวลถูกนำไปหมักทำไบโอแก๊ส ส่วนที่เป็นพลาสติกสภาพดี ถูกนำไปขายรีไซเคิล

 

          ส่วนที่เป็นพลาสติกชั้นเลวเริ่มผุพังคือ ส่วนที่นำมาใช้ผลิตไบโอดีเซลโดยหลังจากแยกเสร็จพลาสติกเหล่านั้นจะถูกนำไปผ่านความร้อนเป็นของเหลวที่มีอุณหภูมิประมาณ 400 องศาเซลเซียสและส่งไปยังห้องปฏิกรณ์ที่ 2 เพื่อเร่งปฏิกิริยาให้ระเหยเป็นไอน้ำมันและควบแน่นออกมาเป็นไบโอดีเซลและแก๊ส

 

นวัตกรรมอนาคต “อุปกรณ์ทำความสะอาดมหาสมุทรใหญ่สุด”

 

          สำหรับอีกผลงานที่เป็นความหวังว่า ในอนาคตจะช่วยกำจัดขยะในทะเลและมหาสมุทรโลกได้ เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ของ Boyan Slat นักศึกษาด้านอากาศยานในโครงการ Ocean Cleanup Project วัย 20 ปีของเนเธอร์แลนด์

 

          อุปกรณ์ดังกล่าวออกแบบเป็นทุ่นลอยน้ำอยู่กับที่ โดยใช้กระแสน้ำและกำลังลมช่วยพัดพาขยะพลาสติกเข้าสู่แขนรูปตัว V ยาว 100 กิโลเมตร ทำให้สามารถดักจับขยะจากระดับผิวน้ำได้ถึง 3 เมตร โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ จากนั้นขยะจะเข้าไปสู่แพลตฟอร์มส่วนกลางที่จะทำหน้าที่แยกขยะและเก็บไว้รอคอยขนส่งไปกำจัดอีกต่อหนึ่ง

 

          Slat เปิดเผยว่า อุปกรณ์ของเขาจะสามารถกำจัดขยะในมหาสมุทรโลกได้ภายใน 5 ปี ช่วยทำความสะอาดได้เร็ว 7,900 เท่าและถูกกว่า 33 เท่าเมื่อเทียบกับเทคนิคอื่น ๆ ซึ่งทำให้เขาได้รับการสนับสนุนเงินทุนและผู้ร่วมทีมนับร้อยคน

               

          ในปี 2014 Slat และทีมงานสามารถพัฒนาเครื่องกำจัดขยะรุ่นทดสอบ เครื่องแรกขนาด 40 เมตรและนำทดสอบลอยตัวสู่ผิวน้ำ ใกล้หมู่เกาะ Azores ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ก่อนจะเขียนรายงานเผยแพร่ ซึ่งทำให้ได้รับทุนสนับสนุนอีกจำนวนมาก จากนักลงทุนกว่า 38,000 คนจาก 160 ประเทศทั่วโลก เป็นเงินทุนสูงถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์

 

          หลังจากนั้น เขาและทีมงานได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น  เป็นขนาด 2 กิโลเมตร ที่ญี่ปุ่นและคาดว่า จะดำเนินการเต็มรูปแบบได้ราวปี 2020 ถูกนำมาใช้งานได้จริงในมหาสมุทรต่าง ๆ รวมถึงในเขตน่านน้ำของไทย

ความเป็นอัจฉริยะของ Slat ทำให้เขาได้รับรางวัลหลายอย่าง ทั้ง London’s Design Museum’s Design of the Year Awards, รางวัล Fast Company’s 2015 Innovation by Design Award และสิ่งประดิษฐ์ของเขายังได้รับเลือกเป็น 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์ในปี 2015 ของนิตยสาร TIME อีกด้วย

 

          ผลงานที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวทางและนวัตกรรมเพื่อช่วยกำจัดขยะเท่านั้น แต่การแก้ปัญหาให้เห็นผลชัดเจน คงต้องดำเนินการหลายอย่างควบคู่กันไป ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

 

Boyan Slat นักศึกษาด้านอากาศยานในโครงการ Ocean Cleanup Project วัย 20 ปีของเนเธอร์แลนด์

 

 

 

 

 

ผลงานสิ่งประดิษฐ์ของ Boyan Slat ที่มีแนวคิดเพื่อสร้างความสะอาดให้ทะเล

 

          อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือ หากสามารถลดขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งหมายถึง ทุกคนร่วมมือกัน  “ไม่ทิ้งขยะ” น่าจะเป็นวิธีช่วยลดขยะในทะเลโลก ที่ ได้ผลดีที่สุด และยังช่วยให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ ในการจัดเก็บหรือกำจัดได้อีกด้วย

 

ขอความเป็นจิตอาสา ทำดี เพื่อพ่อหลวงของเรา อีกเรื่องหนึ่ง เชื่อว่า อีกไม่นานเราอาจจะได้เห็นไทยหลุดจากอันดับโลก ในฐานะ ชาติที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดก็เป็นได้

 

 

ขอบคุณข้อมูล
• สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
http://preapilaitoon.blogspot.com/
https://www.iurban.in.th
http://warningdisasters.blogspot.com/
http://www.rakluke.com/
http://www.greenpeace.org/
www.dede.go.th (เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ)
http://www.worldbank.org/
http://local.environnet.in.th/
http://www.isranews.org/

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด